xs
xsm
sm
md
lg

เจาะแก่นความคิดเกษตรยั่งยืน ‘นคร ลิมปคุปตถาวร’ ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง ‘บ้านเจ้าชายผัก’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘นคร ลิมปคุปตถาวร’ ฉายา เจ้าชายผัก ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง บ้านเจ้าชายผัก
“ถ้าเราสังเกตให้ดี ‘พืช’ เป็นสิ่งมีชีวิตที่ตรงไปตรงมาที่สุด เขาจะเติบโตเข้าหาแสง ถ้าใบเขาไม่ตั้งชัน รับแสงแดดได้ไม่ดี ก็แสดงว่าเขาเริ่มมีปัญหาภายใน ดิน น้ำที่อยู่ในตัวเขามากเกินไปไหม ดินที่เราดูแล น้ำที่เรารดมากไป หรือว่ามีบางอย่างที่เข้าไปรบกวนเขาหรือเปล่า…”

“…เราได้กลับไปเจอต้นธารของเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรยั่งยืนเหล่านี้ ซึ่งในระดับสากลจะเรียกเกษตรแบบนี้ว่า
‘ไบโอไดนามิก (Biodynamic)’… ”


“ไบโอไดนามิก (Biodynamic) คือการเกษตรที่ให้ความสำคัญกับจังหวะหรือพลังของชีวิต เราจะปลูกพืชอย่างไรให้พืชคล้อยตามจังหวะ ตามพลังของธรรมชาติ ตามจังหวะพลังชีวิตของพืชเหล่านั้น”

“จุดสำคัญคือ เราจะทำงานกับธรรมชาติยังไง ถ้าเราเอาความต้องการของเราเป็นตัวตั้ง โดยไม่ได้เอาความต้องการของต้นไม้เป็นตัวตั้ง ถ้าคิดแค่นี้ก็จบ…สิ่งสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่า เราจะปลูกพืชยังไงให้พืชแข็งแรงตามกระบวนการธรรมชาติ”

‘นคร ลิมปคุปตถาวร’ ฉายา เจ้าชายผัก ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง บ้านเจ้าชายผัก
…องค์ความรู้ที่สั่งสมมานับแต่เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษา การมีโอกาสได้ศึกษาดูงานเกษตรยั่งยืนในหลายประเทศทั่วโลก
เหนืออื่นใด คือการนำความรู้ที่มีมาลงมือทำ ทดลอง ทดสอบ เรียนรู้ ฝึกฝน สังเกต จดจำ
กระทั่งในที่สุด เขาได้ก่อตั้ง ‘ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง บ้านเจ้าชายผัก’ ขึ้น ซึ่ง ณ วันนี้ กล่าวได้ว่าศูนย์เรียนรู้ฯ แห่งนี้ได้ก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 2 แล้ว พร้อมด้วยกิจกรรมน่าสนใจมากมายที่ขับเคลื่อนด้วยพลังใจอันเชื่อมโยงกับพลังชีวิต พลังธรรมชาติ พลังจักรราศี อันส่งผลต่อพืชผลการเกษตร และความเชื่อมั่นอย่างยิ่งในศักยภาพของธรรมชาติ

กิจกรรมเรียนรู้ ‘การทำเกษตรกรรมพลังชีวิต ทำนา ทำสวน ทำไร่ กับดิน น้ำ ฟ้า ดาว’ เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ยืนยันได้อย่างดีถึงการเชื่อมโยงพลังที่อิงอาศัยกันอยู่อย่างเป็นระบบอันกว้างไกลไพศาล

ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์พิเศษ ‘นคร ลิมปคุปตถาวร’ ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง ‘บ้านเจ้าชายผัก’ และเป็นผู้ที่ได้รับฉายาจากเพื่อนๆ ในแวดวงเกษตรยั่งยืนว่า ‘เจ้าชายผัก’

ทัศนคติ วิสัยทัศน์ ภูมิปัญญา องค์ความรู้ด้านเกษตรยั่งยืนที่เขาถ่ายทอด ล้วนน่าสนใจ น่ารับฟัง และเชื้อชวนให้ริเริ่มลงมือทำด้วยตนเอง เพื่อให้ธรรมชาติเผยถึงศักยภาพอันควรค่าแก่การตระหนักถึง


สั่งสมองค์ความรู้ การเกษตรแบบยั่งยืน

เมื่อครั้งศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาเทคโนโลยีการเกษตร ทั้งในระดับปริญญาตรี และปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เขาได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สำคัญมากมายเกี่ยวกับการเกษตรแบบยั่งยืน

มีอาจารย์ที่ท่านมาถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่นักเรียนควรต้องเรียนรู้ทั้งหมด ทั้งการผลิตพืชและสัตว์แบบผสม
อีกทั้งมีการบรรจุวิชาบังคับเลือกให้เป็นเรื่องการเกษตรยั่งยืน ซึ่งนครกล่าวว่า การเกษตรที่สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยทั่วไปในช่วงนั้น มักเป็นการเกษตรกระแสหลัก เป็นการเกษตรแบบอุตสาหกรรม

“แต่การเกษตรที่ผมเรียน คือเป็นการเกษตรแบบยั่งยืน เราเน้นเรื่องธรรมชาติ และการพึ่งพาตนเอง ซึ่งทำให้รู้ว่ามีเกษตรแบบนี้อยู่ด้วยนะ ที่เน้นไปในทางบังคับธรรมชาติให้เป็นไปตามความต้องการของเรา แต่เกษตรแบบยั่งยืนเราจะเน้นการทำงานร่วมกับธรรมชาติ รักษาดิน น้ำ ป่า พืชพันธุ์สัตว์ ต่างๆ เอาไว้ ไม่ให้มันถูกทำลายไป

“ผมก็เลยสนใจว่า เมื่อมีการเกษตรแบบนี้ ก็อยากให้สังคมไทยได้รับรู้ว่ามันมีเกษตร 2 กระแสแบบนี้อยู่ แต่เกษตรยั่งยืนยังเป็นเพียงกระแสรอง” นคร ระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า
การเกษตรในสังคมไทยมีอยู่ 2 กระแส คือเกษตรที่เราทำกันมาแต่ดั้งเดิม อาศัยภูมิปัญญาชาวบ้าน แบบนี้ เป็นการเกษตรที่ไม่บังคับธรรมชาติ เป็นเกษตรที่ทำงานกับธรรมชาติ แต่ว่า การเกษตรกระแสหลักที่เป็นอุตสาหกรรม เราจะบังคับธรรมชาติ

“ซึ่งการเกษตรกระแสหลักนี่แหละครับ ที่ทำให้เราบังคับธรรมชาติ ซึ่งไม่ควรทำแบบนี้มากเกินไปนะ เราต้องทำเกษตรแบบที่รักษาธรรมชาติเอาไว้ด้วย ซึ่งก็คือเกษตรแบบยั่งยืนที่ผมสนใจ”

นครอธิบายเพิ่มเติมว่า เกษตรยั่งยืนที่เขาสนใจนั้น ริเริ่มขึ้นหรือมีแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งจากการที่มีโอกาสได้ไปดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ การดูงานด้านการเกษตรในประเทศเหล่านั้น ทำให้นครได้เห็นและได้เปรียบเทียบว่า เราไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีก็ได้ แต่ในสังคมไทย ยังขาดคนที่เชื่อมั่นในสิ่งนี้ ยังขาดคนที่พัฒนาองค์ความรู้เรื่องพวกนี้ขึ้นมา


เปิดโลกกว้าง เปิดมุมมอง

“จนกระทั่ง ผมมีโอกาสได้ไปฝึกงานในต่างประเทศ มีโอกาสได้ไปประเทศที่เขาเติบโตในด้านเกษตรยั่งยืน ทั้งในออสเตรีย ญี่ปุ่น เยอรมัน สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ฝรั่งเศส ซึ่งประเทศเขาก็ไม่ได้ใหญ่มาก หลายประเทศเล็กกว่าบ้านเราเสียอีก แต่ว่าสัดส่วนโดยพื้นที่ของคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ ปัจจุบันก็มีมากกว่า 25% แล้วครับ”
เจ้าของฉายา “เจ้าชายผัก” บอกเล่าอย่างเห็นภาพ ก่อนกล่าวเพิ่มเติมว่า ทำไม ประเทศเหล่านั้น จึงให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ 

เมื่อนครได้ไปเรียนรู้ ไปอยู่ที่นั่น จึงได้เห็นว่า เมื่อธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เราก็มีชีวิตที่ดี

“เพราะคนที่นั่น พวกเขาได้เรียนรู้ว่า ถ้าเขารักษาสิ่งแวดล้อมไว้ให้ดี เขาก็ได้รับธรมชาติที่ดี มีอากาศบริสุทธิ์” นครระบุ
อดถามไม่ได้ว่า แต่ละแห่งที่คุณไปดูงานด้านเกษตรยั่งยืน ล้วนเป็นประเทศพัฒนาแล้วทั้งสิ้น

เจ้าชายผักตอบว่า “ครับ แต่ในอาเซียนผมก็ไปนะครับ ในลาว พม่า เวียดนาม มาเลเซีย ผมก็ไปมาแล้ว ซึ่งเราก็จะได้เห็นว่าพื้นฐานของคนที่คิดและสนใจในสิ่งเดียวกันก็มีอะไรคล้ายๆ กัน เพียงแต่มีบริบท มีความแตกต่างในแต่ละประเทศ

“สาเหตุที่เราต้องให้ความสำคัญกับการเกษตร เพราะมันเป็นเรื่องของปากท้อง จริงๆ บ้านเรา เมื่อมีการพัฒนามากขึ้น ก็สวนทางกับคนที่สนใจหันมาทำเกษตรยั่งยืน ก็เลยขาดฐานทางเศรษฐกิจและสังคม คือต้องรักษาฐานของคนทำการเกษตรเอาไว้”
นครเน้นย้ำ

‘นคร ลิมปคุปตถาวร’ ฉายา เจ้าชายผัก ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง บ้านเจ้าชายผัก
มองเกษตรยั่งยืน ในกระแสสากลและสังคมไทย

ถามว่า คุณไปดูงานที่ต่างประเทศ เห็นแนวโน้มอะไรบ้าง เกี่ยวกับแนวคิดของสากลที่มีต่อเกษตรกรรมแบบยั่งยืน
นครตอบว่า “ในมุมมองผม อาจจะแบ่งเป็นยุคแบบนี้ก็ได้นะครับ ในยุคแรกๆ การเกษตรยั่งยืน เกิดขึ้นมาท่ามกลางปัญหาที่การเกษตรไม่อาจจะยั่งยืนได้ ดังนั้น ในยุคแรก คือ ประมาณ 30-40 ปีที่แล้วนะครับ หมายถึงในสังคมไทยของเรานะ
แต่ในสังคมโลก เกษตรกรรมยั่งยืนเกิดมาเกือบร้อยปีแล้วครับ"

“คือเราต้องมองว่าการเกษตรที่พัฒนาแบบอุตสาหกรรม มันมาพร้อมกับการปฏิวัติอุตสาหกรรม ดังนั้น มันก็เกิดขึ้นมานานแล้ว แต่ก็มีคนที่รู้ตัวก่อน ว่ามันเป็นการ ‘ปฏิวัติเขียว’ ( หมายเหตุ : ปฏิวัติเขียว หรือ GREEN REVOLUTION คือการเปลี่ยนแปลงระบบเกษตรกรรมจากแบบดั้งเดิมมาสู่การเกษตรแผนใหม่ที่ให้ผลผลิตสูง ใช้ปุ๋ยเคมี ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร เป็นต้น โดยการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการเกษตรเกิดขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมก่อนประเทศอื่นๆ จากนั้นจึงแพร่ขยายออกไปยังประเทศต่างๆ )


“มีคนที่รู้ว่ามันทำลายธรรมชาติ มันทำให้ดินเสื่อมลง ทำให้น้ำเสื่อมลง ทำให้พันธุกรรมอ่อนแอ คนที่เขารู้เรื่องนี้ เขาก็พยายามหาแนวทางที่จะฟื้นฟูการเกษตรขึ้นมาได้ ซึ่งก็ต้องทำการเกษตรอย่างรักธรรมชาติ ต้องฟื้นฟู และกลับไปหาภูมิปัญญาชาวบ้าน แล้วก็พัฒนาแบบแผนขึ้นมา เพื่อให้ภูมิปัญญาชาวบ้านได้ถูกยกระดับขึ้น ซึ่งจุดนี้เอง ถือเป็นช่วงแรกๆ ของการเกิดขึ้นของเกษตรกรรมยั่งยืน”

“ดังนั้น ในช่วงแรกๆ ในสากล กับในสังคมไทยก็มีกระแสต่อต้าน เพราะว่าถ้าเราบอกว่า ‘เราไม่ต้องใช้สารเคมี’ มันก็จะมีคนเสียผลประโยชน์ แล้วก็จะมีคนไม่เชื่อ ช่วงแรกก็จะเป็นประมาณนี้
แต่ช่วงสิบปีให้หลัง กระแสต่อต้านน้อยลง กระแสเกษตรแบบยั่งยืนที่ทำลายธรรมชาติน้อยกว่า เริ่มกลายเป็นที่ต้องการของคนบนโลก

“ในมุมกลับกัน ก็มีการฉกฉวยวาทกรรม ฉกฉวยแนวคิดมาเป็นของตนเอง ภาษาสมัยใหม่เราเรียกว่า ‘ฟอกเขียว’ ซึ่งเป็นเกษตรอีกแบบหนึ่งที่เขาก็อ้างว่า เขาก็ยั่งยืน อาจจะใช้สารเคมีที่อันตรายน้อยลง หรือว่ายืมวิธีการแบบยั่งยืนมาประดับไว้สักหน่อยนึง

“ปัจจุบัน เกษตรที่ทำดีด้วยตัวเองไม่ได้ ก็จะไปยืมความดีของคนอื่น พูดง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น การซื้อคาร์บอนเครดิต ก็ไม่สามารถที่จะสร้างคาร์บอนของตัวเองได้ ก็ไปซื้อคาร์บอนของคนอื่น ก็ถือว่าได้ทำความดีแล้ว ซึ่งมันเป็นสงครามทางความคิดนะเท่าที่ผมรู้สึก ถ้าเราเป็นคนทำเกษตรจริงๆ แล้ว เราควรคิดถึงคนอื่น คิดถึงประโยชน์ต่อสังคม ประโยชน์ต่อโลก

“ที่ผมสนใจคือเราเข้าใจขั้วความคิดแบบนี้ แต่เราต้องไปให้พ้นขั้วความคิด คือ เราเน้นเอาประโยชน์รอบด้าน ประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้ง

“การทำเกษตร เราต้องไปพ้นขั้วความคิดแบบนี้ เช่น ยกตัวอย่างว่า เรื่องใช้สารเคมี กับ ไม่ใช้สารเคมี อันนี้ จริงๆ แล้ว สุดท้ายแล้ว มันก็ขึ้นอยู่กับว่า เรานิยามว่าอะไรเป็นสารเคมี แต่จริงๆ แล้วนั้น จุดสำคัญคือตรงที่ว่าเราจะทำงานกับธรรมชาติยังไง ถ้าเราเอาความต้องการของเราเป็นตัวตั้ง โดยไม่ได้เอาความต้องการของต้นไม้เป็นตัวตั้ง ถ้าคิดแค่นี้ก็จบ

“สิ่งสำคัญมันอยู่ตรงที่ว่า เราจะปลูกพืชยังไงให้พืชแข็งแรงตามกระบวนการธรรมชาติ เราจะทำยังไงให้ดินดีขึ้น ไม่ใช่ดินแข็ง” นครสะท้อนภาพอย่างชัดเจน


Biodynamic อีกพันธกิจของศูนย์เรียนรู้ฯ บ้านเจ้าชายผัก

ถามว่า สิ่งที่คุณเล่า ช่วยให้มองเห็นภาพการปะทะกันของเกษตรสองกระแส ทั้งกระแสหลัก และกระแสแบบยั่งยืน แล้วศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมืองบ้านเจ้าชายผัก มีพันธกิจ ภารกิจสำคัญอะไรบ้าง
นับแต่ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2551 จวบจนปัจจุบัน มีอะไรที่อยากเพิ่มเติมอีกบ้าง

นครตอบว่า “ศูนย์เรียนรู้ฯ บ้านเจ้าชายผักก็คือบ้านผมนี่แหละครับ ทำตามกำลังทำตามสภาพที่เรามี ขยับขยายมา จากแปลงผักสวนหลังบ้านที่เราตั้งใจปลูกไว้กินเอง เปิดให้ผู้ที่สนใจเรียนรู้การปลูกแบบธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี

“เมื่อทำมาเรื่อยๆ เราก็ยกระดับความคิดเราขึ้น จากแรกเริ่มเดิมที ความคิดของเราก็คือ ทำอะไรก็ได้เพื่อทดแทนสารเคมี แล้วก็เอามาปลูกผัก แต่ในช่วง 7 ปีหลัง ผมก็เปลี่ยนความคิดว่าเราจะไม่ทำแทนธรรมชาติแล้ว

“คือตอนนี้ แนวคิดที่ว่ามา มันกลายเป็นกับดักบางอย่างของคนทำเกษตรอินทรีย์ หรือที่ไม่ใช้สารเคมี นั่นก็คือพอเรามีความรู้ มีเทคโนโลยี มีวิธีการที่ทดแทนสารเคมี แต่เรายังไม่ได้คิดว่า ‘จะทำอย่างไร ให้พืชเติบโตขึ้นมาได้ด้วยตัวของเขาเอง แข็งแรงด้วยตัวของเขาเองโดยที่เราไม่ต้องใช้สารอื่นๆ มาทดแทน’

“ผมก็เปลี่ยนวิธีใหม่ ซึ่งมันก็เหมือนเราย้อนกลับไปหาวิธีเดิม เพียงแต่เราสังเกตให้มากขึ้น คือความรู้ดั้งเดิมนั้น เวลาชาวนาปลูกข้าว เขาก็ไถกลบ แล้วก็ไม่เห็นมีแมลงอะไรเลย แล้วก็ได้ผลผลิตดี ซึ่งผลผลิตก็ไม่ต่างจากปัจจุบันด้วย ผมก็ได้ความรู้ใหม่นี้มา แล้วก็ประกอบกับผมได้ที่ดินมาเพิ่มด้วย”

นครกล่าวว่า “เราไม่ได้ปลูกแค่ในบ้านเราอย่างเดียวแล้ว เราก็มีไร่นาเพิ่มขึ้น ผมก็มีที่ที่ต่างจังหวัด มีแปลงที่หลายคนอยากให้ผมไปทดลองทำ ผมก็มาทดลองดู ปรากฏว่า เราก็ได้กลับไปเจอต้นธารของเกษตรอินทรีย์ หรือเกษตรยั่งยืนเหล่านี้ ซึ่งในระดับสากลจะเรียกเกษตรแบบนี้ว่า ไบโอไดนามิก (Biodynamic)

“ถ้าเป็นเกษตรอินทรีย์ เราก็ใช้คำว่าออร์แกนิค แต่สำหรับไบโอก็คือ เราสนใจการเกษตรที่ให้ความสำคัญกับชีวิตนั้น ว่าเป็นยังไง
“ไบโอไดนามิก (Biodynamic) ก็คือ การเกษตรที่ให้ความสำคัญกับจังหวะหรือพลังของชีวิต คือเราจะปลูกพืชอย่างไรให้พืชคล้อยตามจังหวะ ตามพลังของธรรมชาติ ตามจังหวะพลังชีวิตของพืชเหล่านั้น

“พืชเหล่านั้น สามารถเติบโตได้ด้วยตนเอง เมื่อเราไถดินแล้วปลูก พืชก็เติบโตได้เอง โดยไม่ต้องไปใช้สารเคมีอะไรเลย มันก็โตขึ้นมาเอง

“ดังนั้นจึงกลายเป็นว่า ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา เราพบว่า ปัญหาคือมนุษย์เราไปคิดแทนต้นไม้ เราคิดแทนพืชแทนสัตว์ ว่ามันต้องการอย่างนี้ มันต้องกินอย่างนี้ ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว สิ่งเหล่านี้ บดบังความเป็นจริง ถ้าเราสังเกต พืชตามธรรมชาติ ไม่เห็นมีใครไปฉีดสารเคมีให้มันเลย ทำไมมันยังเติบโตอย่างแข็งแรงได้” เจ้าชายผักระบุ และกล่าวเพิ่มเติมว่า
เพราะเราบดบังความจริงบางอย่าง ด้วยความคิดของเราเองนี่แหละ นครพบว่า ปัญหาคือการที่เราไปคิดทำแทนธรรมชาติ เช่น ถ้าเราทิ้งให้เศษซากพืชที่เราใส่ลงดินไป หรือปุ๋ยอินทรีย์อะไรต่างๆลงไปในดินด้วยกันก่อน แล้วปลูกพืช ก็จะไม่มีโรคแมลงเลย หรือระหว่างที่เราปลูกพืช เราไม่ต้องใส่ปุ๋ยอะไรเลย เราแค่พรวนดิน แค่นี้ก็ไม่มีโรคแมลงแล้ว

“แต่ปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการไปเติมน้ำหมัก ไปเพิ่มน้ำหมัก เพื่อที่อยากให้มันโตเร็วอย่างที่เราต้องการ เราไปรบกวนชีวิตต้นไม้บางอย่าง เพื่อให้มันเป็นไปอย่างที่เราต้องการ สิ่งเหล่านี้ ทำให้เราต้องกลับมามองตัวเองมากขึ้น และเพื่อให้เข้าใจธรรมชาติ

“ดังนั้น แนวคิดในช่วง 7 ปีหลังของผมก็คือ เราให้ความสำคัญกับการทำงานกับธรรมชาติ เรื่องการส่งเสริมการเกษตร” นครระบุ


ส่งเสริมพื้นที่การเกษตรในเขตเมือง

ส่วนเรื่องเกษตรในเมือง นครกล่าวว่าความคิดนี้มีมาพอสมควรแล้ว หลายสิบปี
คนก็เห็นว่า ถ้าเราปลูกผักกินเองได้ในเมือง มันไม่ใช่ว่าเราได้แค่อาหาร แต่เราได้พื้นที่เยียวยาความเครียด เยียวยาจิตใจอะไรบางอย่าง พื้นที่เรียนรู้ สำหรับครอบครัว สังคม โรงเรียน ชุมชน องค์กร ต่างๆ รวมถึง แนวคิดที่ขยายขอบเขตออกไปว่า เราจะเริ่มบทบาทของพื้นที่การเกษตรในเขตเมืองได้อย่างไร










ถ้าเรามองในแง่ของสังคม ในแง่ของสิ่งแวดล้อม มีมิติเชิงคุณค่าอีกมากมาย ที่รอให้สังคมเข้าไปเรียนรู้
นครกล่าวว่า “ในทางประวัติศาสตร์ของประเทศที่เขาพัฒนาทางเศรษฐกิจมามากแล้ว เขาผ่านเรื่องนี้มาเยอะ หลังสงคราม ในหลายประเทศมีการปลูกผักกินเองในเมือง ในชุมชน เป็นเครื่องมือเยียวยาจิตใจ ข้าวยากหมากแพงก็สามารถเข้าถึงอาหารได้ด้วยตนเอง

“ช่วงยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมยุโรป คนที่เป็นชนชั้นแรงงาน ต้องถูกจับให้เข้าไปอาศัยอยู่ในอพาร์ทเม้นท์ ในคอนโด คนเหล่านี้เขาก็เรียกร้องให้มีพื้นที่เล็กๆ สำหรับการผลิตอาหาร

“สวนเกษตรในเมืองที่สวิตเซอร์แลนด์ หรือในไต้หวัน ก็เกิดแนวคิดแบบนี้ทั้งนั้น คือ เกิดการแบ่งสันปันส่วนพื้นที่กันคนละเล็กคนละน้อย เพื่อเข้าถึงอาหารด้วยตนเอง แม้เขาจะเป็นคนใช้แรงงานในเมือง

“แนวคิดเหล่านี้ ผมคิดว่าสังคมไทยยังไปไม่ถึง เรายังมองเห็นปัญหาไม่ชัด
ทำไมสังคมไทยจึงเกิดปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีที่ดินขึ้นมา ก็เพราะว่าเราเป็นสังคมที่มือใครยาวสาวได้สาวเอา เป็นสังคมที่เหลื่อมล้ำ” นครระบุ


ทำงานกับธรรมชาติ

ถามว่า ก้าวย่างนับจากนี้ มีสิ่งใดที่ตั้งเป้าไว้ว่าศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง บ้านเจ้าชายผัก ต้องทำให้สำเร็จอีกบ้าง
นครตอบว่า “จริงๆ แล้ว ที่ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง บ้านเจ้าชายผัก เราปักธงเรื่องธรรมชาติ เรื่องการทำงานกับธรรมชาติ และเรื่องสุขภาพ

“เราปักธงเรื่องสุขภาพ เพื่อให้เราไม่ต้องเจ็บป่วยอะไรร้ายแรง เมื่อไม่คอขาดบาดตาย เราก็ไม่ได้พึ่งหมอ เมื่อปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้ ถ้าเราดูแลตัวเองได้ ปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้ ถ้าเราทำเองได้ โดยใช้วิธีธรรมชาติได้ ไม่ว่าโควิด หรือไข้หวัดใหญ่ เราก็เปิดห้องเรียนเรื่องการดูแลสุขภาพ เรียนรู้ตามแนวทางของครูบาอาจารย์เราทั้งคนไทยและคนญี่ปุ่น เราก็เรียกศาสตร์ของเราว่า ศาสตร์บำบัด คู่มือการดูแลด้วยธรรมชาติแบบมือเปล่า

“ส่วนเรื่องการเกษตรและอาหาร เรามองว่าแก่นของมันคือ ‘พลังชีวิตในอาหาร’ สาเหตุอย่างนึงที่คนในปัจจุบันมีลูกยาก ไม่ใช่แค่ว่าเขาไม่อยากมี แต่เพราะเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีได้ยาก โดยเฉพาะอาหาร ปัจจุบัน เรากินอาหารที่ไม่มีศักยภาพในการให้กำเนิดชีวิต เรากินพืชที่เก็บเมล็ดพันธุ์ต่อไม่ได้ เรากินสัตว์ที่มันออกลูกด้วยตัวเองไม่ได้ แล้วเราจะเอาพลังที่ไหนไปออกลูกของเรา

“นี่คือ เรื่องของอาหารที่เราพยายามกลับมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และเราพบว่า คนที่ตั้งใจอยากจะมีลูก แต่มีลูกไม่ได้ ด้วยปัญหาทางสุขภาพ เราช่วยให้เขาเปลี่ยน โดยเปลี่ยนมาดูแลอาหาร เมื่อเราเอาอาหารที่มีพลังชีวิตมาให้เขากิน เขามีลูกได้ทุกคน การมีลูก นับเป็นเรื่องยอดสุดทางสุขภาพของมนุษย์แล้วนะครับ เมื่อเขามีลูกได้ โรคภัยต่างๆ ก็จะหายไป ในวัยที่เขามีลูกได้นะ แต่ถ้าเขาอยู่ในวัยที่มีลูกไม่ได้แล้ว เขาก็ยังดูแลสุขภาพแบบนี้ได้"

‘นคร ลิมปคุปตถาวร’ ฉายา เจ้าชายผัก ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง บ้านเจ้าชายผัก






“คือผมให้ความสำคัญว่า อาหารของเราต้องไม่มีพิษ อาหารจึงจะมีพลังชีวิต ทำให้ช่วยเยียวยาอาการเจ็บป่วยได้ ช่วยให้มีลูกได้ ข้อนี้เป็นประเด็นหนึ่ง”

“ส่วนเรื่องทางสังคม เศรษฐกิจ เราก็มีกลุ่มเพื่อนที่เรามาทดลองตั้งชุมชน ทดลองระบบเศรษฐกิจทางเลือกที่เกี่ยวกับอาหารขึ้นมา เป็นทางเลือกที่เราสร้างชุมชน สร้างอาหารขึ้นมา เราเคยสร้างตลาดนัดผู้บริโภค พบผู้ผลิต เกิดเป็นกิจการเป็นสหกรณ์เล็กๆ ที่บ้านเรา ก็จะเป็นเหมือนตลาดย่อมๆ


“ช่วงโควิดที่ผ่านมา เพื่อนๆ ที่เป็นเกษตรกร เขาไม่สามารถกระจายผลผลิตไปที่ไหนได้ เราก็อาศัยกลุ่มคนที่มาเรียนเรื่องเกษตรกับเรา ที่สนใจเรื่องเหล่านี้ สนใจอาหารที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม และให้พลังชีวิต เราก็ให้เขา Pre-order ก่อน ทุกสัปดาห์ แล้วก็มารับทุกวันอังคาร นอกจากนั้นก็มีงานที่เพิ่มขึ้นมา คือเป็นที่ปรึกษาทางการเกษตร พัฒนาที่ดิน ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือต่างจังหวัดก็สามารถเข้ามาขอคำปรึกษาให้ผมช่วยได้”

นครเล่าว่า ในส่วนของพื้นที่เมืองจะมีบริการจัดทำสวนเกษตรอินทรีย์ มีการประเมินพื้นที่ให้ ออกแบบพื้นที่ให้ แล้วก็จัดทำสวนให้เบื้องต้น พร้อม Workshop ให้ด้วย

“ส่วนใครที่มีพื้นที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย ล่าสุด ก็มีการทำนา ผมก็ทำด้วยวิธีธรรมชาติด้วยวิธีไบโอไดนามิก (Biodynamic) ก็มี”


เกษตรกรรมพลังชีวิต กับดิน น้ำ ฟ้า ดาว

ถามว่า เร็วๆ นี้ ศูนย์เรียนรู้ฯ บ้านเจ้าชายผัก มีกิจกรรม ‘เรียนรู้การทำเกษตรกรรมพลังชีวิต ทำนา ทำสวน ทำไร่ กับดิน น้ำ ฟ้า ดาว’ เป็นอย่างไรบ้าง

นครตอบว่า การทำเกษตรกรรมพลังชีวิตฯ เป็นคอร์ส แบบที่สอนไบโอไดนามิก

“แต่เมื่อแปลเป็นไทยแล้ว ผมก็อยากใช้คำนี้ หมายถึงว่าเราให้ความสำคัญกับพลังชีวิต ถ้าพูดถึงเรื่องนี้ มันก็จะมีความเชื่อมโยงไปมากกว่ามุมมองปกติโดยทั่วไป คือถ้าเราเข้าใจว่า ‘พลังชีวิต’ มาจากไหน เราจะตระหนักได้ถึงคุณค่าธรรมชาติ เราจะตระหนักได้ว่า จังหวะชีวิตในธรรมชาตินั้นมาจากไหน ยกตัวอย่างเช่น กลางวัน กลางคืน มาจากอะไร หรือต้นไม้ ถ้าเราไปเปิดไฟให้มันตลอดทุกเวลา มันก็ทรุดโทรมเร็ว ต้องมีกลางคืนให้มัน

“กว้างไปกว่านั้น มันก็เติบโตไปตามฤดูกาล ฤดูกาลเกิดจากอะไร เกิดจากโลกเราโคจรรอบดวงอาทิตย์ใช่ไหม เมื่อถึงฤดูหนาว โลกโคจรเราอยู่ในด้านที่อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มากหน่อย ความหนาวก็เกิดขึ้น สภาพแวดล้อม เหมาะสมต่อการออกดอกออกผลของพืชบางอย่าง พืชชนิดใด ชอบอากาศเย็น ก็จะออกดอกออกผลช่วงนี้ ถ้าเราเปิดฤดูกาลแบบนี้ พืชก็จะแข็งแรง

“ในแต่ละคืน ดวงจันทร์ก็จะมีตำแหน่งแตกต่างกัน แต่ละคืนดวงจันทร์อยู่ใกล้จักรราศีอะไร ก็ย่อมให้ผลต่อพืชแตกต่างกัน เหล่านี้ เป็นที่มาว่า ‘พลังชีวิต’ ‘จังหวะชีวิต’ ต่างๆ ของพืชมาจากไหน ทำให้คนรู้จักสังเกตธรรมชาติ"





“ถ้าเราสังเกตให้ดี ‘พืช’ จะเป็นสิ่งมีชีวิตที่ตรงไปตรงมาที่สุด
เขาจะเติบโตเข้าหาแสง ถ้าใบเขาไม่ตั้งชัน รับแสงแดดได้ไม่ดี ก็แสดงว่าเขาเริ่มมีปัญหาภายใน
ดิน น้ำที่อยู่ในตัวเขามากเกินไปไหม ดินที่เราดูแล น้ำที่เรารดมากไป หรือว่ามีบางอย่างที่เข้าไปรบกวนเขาหรือเปล่า”


‘นคร ลิมปคุปตถาวร’ ฉายา เจ้าชายผัก ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง บ้านเจ้าชายผัก
ที่มาฉายา ‘เจ้าชายผัก’

เมื่อขอให้ช่วยเล่าถึงตัวตนและที่มาของฉายา ‘เจ้าชายผัก’ ว่าได้มาอย่างไร เหตุใดจึงใช้ชื่อนี้ หนุนเสริมต่อกิจกรรมของคุณอย่างไรบ้าง

นครหรือเจ้าชายผักตอบว่า “ชื่อเล่นผมชื่อปรินซ์ (Prince) อยู่แล้ว แปลว่าเจ้าชาย แล้วเราปลูกผัก เมื่อเพื่อนๆ เราเห็น เขาก็เรียกเราว่า ‘เจ้าชายผัก’ เหตุผลง่ายๆครับ ( หัวเราะ ) และจริงๆ แล้ว เริ่มแรกเลย ผมไปใช้นามปากกาในเว็บบอร์ดแห่งหนึ่ง ผมใช้ชื่อว่า ‘Veggie Prince’ เพราะเมื่อก่อนมี Series ‘Coffee Prince’ ของเกาหลี เพื่อนๆ เห็น ก็บอกว่าใช้ชื่อภาษาไทยแล้วกันว่า ‘เจ้าชายผัก’ ง่ายๆ น่ารักดี”


คำถามสุดท้าย มีอะไรที่อยากฝากกับผู้สนใจเรียนรู้วิถีเกษตรแบบยั่งยืน หรือ ไบโอไดนามิก (Biodynamic) ว่าควรเริ่มต้นยังไง

เจ้าชายผักตอบว่า “เริ่มต้นด้วยตัวเองครับ การลงมือทำจะช่วยให้เราเกิดความเข้าใจมากที่สุด เรื่องที่เราพูดคุยกันมานี้ ฟังเผินๆ อาจดูเหมือนไม่เข้าใจ อาจสงสัยว่ามันอาจเป็นแค่ความเชื่อหรือเปล่า แต่การจะพิสูจน์ความเชื่อใดๆ มันต้องผ่านการปฏิบัติ การสังเกต การทำอะไรด้วยตัวเราเอง ซึ่งสำหรับผมแล้ว เมื่อเราได้ทดลอง เรียนรู้เรื่องพวกนี้ด้วยตัวเองแล้ว อยากมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่บ้านผมก็ยินดีครับ”

นครหรือเจ้าชายผัก ทิ้งท้ายอย่างอารมณ์ดี เปิดกว้าง และพร้อมต้อนรับ แลกเปลี่ยนความเห็น ต่อยอดองค์ความรู้แก่ทุกผู้คนที่สนใจ
………
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : นคร ลิมปคุปตถาวร, CITY CRACKER, Facebook ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง บ้านเจ้าชายผัก Veggie Prince City ( หมายเหตุ : ผู้สนใจกิจกรรมต่างๆ ของ ศูนย์เรียนรู้เกษตรในเมือง บ้านเจ้าชายผักฯ สามารถติดตามได้ที่ Facebook เดียวกัน )