กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ออกมาให้ความรู้เรื่องเต่าปูลู หรือ เต่าน้ำจืดกินเนื้อเป็นอาหาร เผยสามารถเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว ปีนต้นไม้ได้ ซ้ำยังเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า และเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
วันนี้ (20 ต.ค.)เพจ “ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” ได้โพสต์ภาพเต่าปูลู พร้อมข้อความระบุว่า “เต่าปูลู หรือ เต่าปากนกแก้ว (Big-headed Turtle) เป็นเต่าน้ำจืดกินเนื้อเป็นอาหารชนิดหนึ่ง มีรูปร่างที่แปลกไปจากเต่าชนิดอื่น ๆ กล่าวคือ มีการเคลื่อนไหวได้รวดเร็ว มีความสามารถในการปีนต้นไม้และก้อนหิน ขาและเท้าของเต่าปูลูมีขนาดใหญ่และแข็งแรงหดเข้ากระดองไม่ได้ ขาหน้าและขาหลังของเต่าปูลูมีเกล็ดหุ้มทั้งหมด ตั้งแต่โคนขามีเกล็ดขนาดใหญ่ ฝ่าเท้ามีเกล็ดขนาดเล็กลงมา นิ้วมีเกล็ดหุ้ม มีเล็บแหลม มีหางที่ยาวมาก และไม่สามารถหดหัวเข้ากระดองที่เรียวยาวได้
เต่าปูลูยังเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่าในพื้นที่นั้น ๆ และเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เนื่องจากถูกคุกคามถิ่นที่อยู่อาศัยและถูกจับเป็นสัตว์เลี้ยงและปรุงยาสมุนไพรด้วยเชื่อว่าเป็นยาที่ใช้บำรุงสมรรถนะทางเพศ นอกจากนี้แล้วยังมีการให้กัดกันเพื่อเป็นเกมการพนันอีกด้วย
สำหรับเต่าปูลู กฎหมายจัดให้เต่าปูลูเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎกระทรวง กําหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่า คุ้มครอง พ.ศ.2546 IUCN (2011) จัดสถานภาพการอนุรักษ์ (Conservation status) เป็น สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ (EN - Endangered) การคุ้มครองตามอนุสัญญา CITES (2011) จัดอยู่ในบัญชี 2 (Appendix II)
สำหรับนักท่องเที่ยวที่ไปท่องเที่ยวที่อุทยานแห่งชาติคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร อาจจะได้พบเห็นเต่าปูลู (ถ้าโชคดี) สามารถติดต่อสอบถามการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติคลองลานได้ที่ https://www.facebook.com/KhlongLanNationalPark หรือโทรสอบถาม 08 8407 9915
คลิกโพสต์ต้นฉบับ