ตำรวจหน้าแตกยับ ศาลปกครองกลางพิพากษารูปแบบใบสั่งจราจรที่ออกเมื่อปี 2563 ผิดกฎหมาย มีผลย้อนหลังถึงวันออกประกาศ ตร.ยังมีสิทธิอุทธรณ์ ส่อวุ่นแน่หากศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตาม ค่าปรับ 3 ปีต้องจ่ายคืนประชาชน แถมอาจถูกฟ้อง แนะ “บิ๊กต่อ” ลงมาดูด้วยตัวเอง
จากกรณีเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่าประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่องกำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร ปี 2563 และเรื่องการกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจร พ.ศ. 2522 และ 2563 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2563 เป็นประกาศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอนประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติทั้งสองฉบับ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกประกาศ เนื่องจากเป็นการกำหนดแบบใบสั่งโดยทำให้ผู้ได้รับใบสั่งเข้าใจว่าตนเป็นผู้มีความผิดและต้องชำระค่าปรับโดยมิอาจจะโต้แย้งหรือดำเนินการประการอื่นใด และยังมีลักษณะยืนยันว่าผู้ฟ้องคดีเป็นผู้กระทำความผิด ขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 29 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ประกาศฯ ดังกล่าวจึงเป็นการออกกฎที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้แล้ว ใบสั่งจราจรแบบใหม่ยังกำหนดด้วยว่า ถ้าเจ้าของรถไม่จ่ายค่าปรับตามกำหนด เมื่อไปชำระภาษีประจำปี จะได้รับเพียงเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีชั่วคราว 30 วัน เมื่อ 30 วันไปแล้วยังไม่จ่ายค่าปรับ หากนำรถไปใช้จะมีความผิดฐานใช้รถที่ไม่ติดเครื่องหมายที่นายทะเบียนออกให้ ทำให้การไม่ติดเครื่องหมายเสียภาษีเป็นความผิดเพิ่มอีกข้อหานั้น
นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ กล่าวในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม ที่ผ่านมา ให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่า การที่คำพิพากษามีผลย้อนหลังไปถึง 3 ปีก่อน จึงมีคำถามถึงการทำหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า จะเอาอย่างไรกับเงินค่าปรับที่ประชาชนได้ชำระไปก่อนหน้านี้ แม้ว่าคำพิพากษาดังกล่าวยังไม่ถือว่าสิ้นสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถอุทธรณ์ได้ภายใน 30 วัน ซึ่งเมื่อดูท่าทีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว คงใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์สู้คดีในชั้นศาลปกครองสูงสุดต่อไป ระหว่างนี้ก็ยังให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมทุกประการ
“งานนี้ ผมอยากให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ ลงมาดูด้วยตัวเอง เพราะเรื่องใบสั่งค่าปรับจราจรเป็นเรื่องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนกันมาก ทุกวันนี้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาน้ำมันแพง ประชาชนเดือดร้อนมากอยู่แล้ว แล้วยังมาเจอความไม่เป็นธรรมกับค่าปรับจราจรอีกด้วย” นายสนธิกล่าว
ทั้งนี้ ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่า ตำรวจต้องการค่าปรับจราจรเพื่อเอาเงินส่วนแบ่งไปเป็นรายได้พิเศษ โดยส่วนแบ่งใบสั่งแต่ละใบตาม พ.ร.บ.จราจร ระบุไว้ว่า จะคำนวณส่วนแบ่งให้เทศบาล 50 เปอร์เซ็นต์ของเงินค่าปรับ ซึ่งกรณีตำรวจนครบาลเงินส่วนนี้ตกเป็นของกรุงเทพมหานคร ส่วนที่เหลืออีก 50 เปอร์เซ็นต์ จะคำนวณเป็นเงินรางวัลจราจร 47.5 เปอร์เซ็นต์ ของเงินค่าปรับ เงินกองทุนเพื่อการสืบสวนฯ 2.48 เปอร์เซ็นต์ ของเงินค่าปรับ และอีก 0.02 เปอร์เซ็นต์ตกเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก
ยกตัวอย่างเช่น ค่าปรับ 2,200 บาท เข้าเทศบาล/กทม. 1,100 บาท เงินรางวัลจราจร 1,045 บาท เงินกองทุนเพื่อการสืบสวน 54.45 บาท เงินเข้ารายได้แผ่นดิน 55 สตางค์
มีการแก้เกี้ยวว่า ได้กำหนดเพดานให้ตำรวจจราจรแต่ละนายจะได้เงินส่วนแบ่งจากใบสั่งไม่เกินเดือนละ 10,000 บาท แต่ก็มีคำถามว่าเงินส่วนที่เหลือไปอยู่ที่ไหน ?
ส่วนแบ่งค่าปรับตามหลักการและเหตุผลเหมือนจะดี อ้างว่าเมื่อตำรวจจราจรมีรายได้ถูกกฎหมาย ก็จะลดศาลเตี้ยข้างถนน หรือการรีดไถผู้ขับขี่ยวดยานแลกกับการไม่ออกใบสั่ง เพราะการไถตามด่านเป็นโมเดล วิน-วิน อยู่คู่เมืองไทยมานาน เรียกว่า "เจอ จ่าย จบ" One Stop Service แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ผู้ขับขี่รถยนต์โดนมัดมือชกด้วยใบสั่งมหาโหดที่กำหนดราคาตายตัว ไม่สนใจพฤติการณ์แห่งการกระทำนั้นเป็นการจงใจ หรือสุดวิสัย หรือไม่ได้ตั้งใจก็ตาม
“ผมไม่อยากพูดว่าเรื่องใบสั่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นผลมาจากความโลภของตำรวจชั้นผู้ใหญ่ อยากจะทำมาหารับประทานอย่างเดียว ส่วนประชาชนก็อยู่ด้วยความหวาดกลัวต่อไป ผมจะเตือนสำนักงานตำรวจแห่งชาตินิดนะครับ การอุทธรณ์ อุทธรณ์ได้ แต่ถ้าศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนว่าคุณทำผิดกฎหมาย คราวนี้คุณต้องตั้งโจทย์ให้กับตัวคุณเองแล้ว เมื่อผิดกฎหมายแล้ว เด็ดขาดแล้ว ขณะนี้คุณยังบอกว่าให้ใช้กฎใหม่ต่อไปได้ ถ้าถึงวันนั้นแล้ว ประชาชนเขาฟ้องร้องคุณ เรียกเงินคืน เงินที่คุณแบ่งไปเรียบร้อยแล้ว เข้ากระเป๋าคุณไปเรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเข้ากระเป๋าผู้ใหญ่เท่าไร เข้ากระเป๋าตำรวจชั้นผู้น้อยเท่าไร คุณต้องควักเอามาจ่ายคืนประชาชนเขานะ
“แล้วกรณีแบบนี้ถ้าศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่าตำรวจทำไม่ได้ ยืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ก็อาจจะมีคนที่หัวหมอ ฟ้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรียกค่าเสียหาย ประชาชนที่โดนใบสั่งทุกคนสามารถที่จะเข้าชื่อกันแล้วฟ้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” นายสนธิกล่าว