xs
xsm
sm
md
lg

ราว ‘อาทิตย์อัสดง’ โรยลงสู่ห้วงมหานที หลากเรื่องเล่าหลายเรื่องราว “เสด็จเตี่ย” ในความทรงจำ ‘ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ เสด็จเตี่ย และ ภาพมุมขวาด้านล่างคือ ม.ร.ว.อภิเดช อาภากร
บทนำ

“ตอนเสด็จในกรมฯ ท่านสิ้นพระชนม์ ท่านอาน้อย (หมายเหตุ : หม่อมเจ้าสุริยนันทนา สุริยง พระธิดาองค์รองในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส และหม่อมเรณี สุริยง ณ อยุธยา) ท่านอยู่บนเรือ อยู่กับพี่ชายท่านที่เรือเจนทะเล ท่านบอกว่าประมาณตี 5 ก่อนรุ่งเช้า ท่านบอกว่ามีเสียงอึกทึกบนเรือ ทุกคนวิ่งพล่าน บอกว่าเห็นดวงไฟใหญ่อย่างกับพระอาทิตย์ ค่อยๆ ลอยลงทะเล ท่านบอกว่า สวยก็สวย แต่จะมองว่าน่ากลัวก็น่ากลัว แล้วดวงไฟที่เหมือนดวงอาทิตย์นั้นก็ค่อยๆ จมน้ำหายไป…

“เสด็จในกรมฯ ท่านสิ้นใกล้ต้นหูกวาง ท่านสิ้นที่นั่น เดิมทีเขาจะส่งเรือมารับท่านกลับ แต่ท่านไม่ยอมกลับ ปัจจุบันต้นหูกวางนี้ก็ตายไปแล้ว แต่ยังเหลือตออยู่ ที่หาดทรายรี คุณไปดูได้”

“ก่อนท่านสิ้นพระชนม์สัก 2-3 วัน ชาวบ้านเขาจัดหนังตะลุงถวายตอนค่ำๆ ท่านโปรดนะ ท่านก็ไปทอดพระเนตร แล้วก็เรียกใครๆ ไปดู แล้วท่านถูกน้ำค้าง หรืออะไรอย่างนี้ แล้วเริ่มประชวร เขาเล่นหนังตะลุงไปได้ไม่กี่ฉาก ท่านก็ประชวรกลับมา แล้วก็ประชวรหนักขึ้นๆ กระทั่งหมอที่ไปด้วย ต้องเรียกแพทย์ที่เก่งที่สุดจากกรุงเทพฯ ไป แต่ไปไม่ทันถึง ท่านก็สิ้นพระชนม์ไปก่อน ท่านสิ้นตอน 11 โมงเช้า”

“ผมได้ยินจากย่าทองสุข ที่เป็นน้องหม่อมแฉล้ม เค้าอยู่ในห้องที่เสด็จในกรมท่านสิ้นพระชนม์ ว่าท่านมีพระอาการหอบ แล้วท่านเจ้าจอมมารดาโหมดประคองท่านนั่ง ก็คาดว่าท่านน่าจะเป็นปอดบวม”

คือถ้อยความที่ถ่ายถอดเรื่องราวได้อย่างเห็นภาพแห่งความอาลัย ณ ห้วงเวลานั้น
ผ่านคำบอกเล่าของ‘คุณชาย’ หรือ ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร ผู้เป็น “หลานปู่” ของ “เสด็จเตี่ย” หรือกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ พระเจ้าลูกยาเธอลำดับที่ 28 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเจ้าจอมมารดาโหมด

คุณชายผู้เป็นหลานปู่ คุ้นชินกับการเรียกเสด็จเตี่ย หรือกรมหลวงชุมพรฯ ว่า 'เสด็จในกรมฯ'

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ เสด็จเตี่ย
ไม่เพียงตัวอย่างเรื่องราวปาฏิหาริย์, ช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตในความดูแลใกล้ชิดของพระมารดา ความรักใคร่ในวิถีอันเรียบง่ายของชาวบ้านที่เปี่ยมด้วยมิตรไมตรี

เรื่องราวของ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือเสด็จเตี่ยในความรับรู้ของผู้คนในสังคมนั้น นับว่าเปี่ยมด้วยสีสันอันเจิดจ้าเฉิดฉาย


พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ เสด็จเตี่ย
ทรงเป็นอัจริยภาพในศาสตร์หลายแขนง เป็นหมอที่ชาวบ้านให้ความเคารพรัก ลูกศิษย์ นักเรียนนายเรือล้วนรักใคร่นับถือ อีกทั้ง เรื่องราว อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ที่ผู้คนร่ำลือไปทั่วทั้งพระนคร ด้วยทรงเป็นศิษย์มีครูจากหลายสำนัก อาทิ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก เป็นต้น

มิพักต้องเอ่ยถึงเรื่องเล่าขานเกี่ยวกับปั้นเหน่งแม่นากหรือนางนากพระโขนง
หลากหลายเรื่องราวเหล่านั้น ล้วนมีการเผยแพร่ผ่านหนังสือและสื่อหลากแขนง ที่ล้วนศรัทธาในแนวคิด วิถีชีวิต และความสามารถของท่าน

แต่ในแง่มุมที่อาจไม่ถูกรับรู้เท่าวิชาอาคมและความเก่งกาจรอบด้านที่ท่านมีมากนัก นั่นคือเรื่องราวความหวัง ความใฝ่ฝันอันเรียบง่าย ที่ปรารถนาอยากเป็นเกษตรกร ทำไร่ ทำสวน ใช้ชีวิตบั้นปลายที่หาดทรายรี

ความอึดอัดกับตำแหน่งสูงสุดระดับเสนาธิการ ที่ทำให้รู้สึกว่าผู้ที่เข้าพบ ล้วนเคารพท่านอย่างเป็นการเป็นงานจนขาดความใกล้ชิดดังเดิม

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ เสด็จเตี่ย
อะไร คือ สาเหตุที่ทำให้คนๆ หนึ่ง เป็นที่รักของผู้คนมากมายถึงเพียงนี้ ไม่เพียงทรงได้รับถวายพระสมัญญาจากกองทัพเรือว่าเป็น “องค์บิดาของทหารเรือไทย” แต่ยังเป็นหมอพร เป็นเสด็จเตี่ย และเป็นท่านพ่อของลูก ที่เมื่อลูกอยากเห็นแม่นาก ท่านก็มีวิธีที่จะช่วยให้เห็น ทั้งกล่าวด้วยว่า ‘แม่นากมาหาลูกแล้ว แต่ลูกกลัว เลยไม่ให้เห็น’

'ผู้จัดการออนไลน์' มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ ‘ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร’ ผู้เป็น “หลานปู่” ของ “เสด็จเตี่ย” หรือกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทำให้ได้รับรู้เรื่องราวที่น่าสนใจในบริบทต่างๆ ที่แสดงถึงทั้งความรัก ความอบอุ่น ความมุ่งมั่นตั้งใจ ความเรียบง่าย สมถะ ที่อาจไม่ได้ยินได้ฟังบ่อยครั้งนัก และอีกหลายเรื่องราวที่น่าสนใจและน่าชื่นชม


‘ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร’

‘ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร’


เรื่องเล่า ‘เสด็จในกรมฯ’ ในความรับรู้ของ ‘หลานปู่’

ถามว่ามีเรื่องราวอะไรบ้าง ที่คุณชายพอจะแบ่งปันให้ฟังได้ เกี่ยวกับเรื่องราวของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
( เสด็จเตี่ย ) ที่คนอื่นอาจจะไม่รู้ หรือรู้เฉพาะคุณชาย

ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร ตอบว่า “ผมก็เกิดไม่ทันนะครับ ผมเกิดปี 2491 ท่านสิ้นปี 2466 เพราะฉะนั้น เรื่องราวของท่านผมจะได้ยินจากทางญาติ บ้านทางพ่อ ฝั่งวังนางเลิ้ง มีหม่อมย่าชื่อแฉล้ม แล้วท่านก็มีน้องที่อายุห่างกันอีก 2 คน ชื่อ ย่าทองคำคนนึง ย่าทองสุขคนนึง ย่าทองคำเป็นพี่ ผมก็จะได้ยินจากทั้งสองท่านนี่แหละครับที่เล่าให้ฟัง เป็นเรื่องเล่าจากสมัยที่ทั้งสองคนยังเด็ก แต่หม่อมย่าท่านจะเล่าน้อย เพราะท่านเป็นคนพูดน้อย”

ทั้งนี้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เป็นเสด็จปู่ของ ม.ร.ว. อภิเดช โดยหม่อมย่าของท่านคือ หม่อมแฉล้ม อาภากร ณ อยุธยา

พ่อของ ม.ร.ว. อภิเดชคือ พันเอก นายแพทย์ หม่อมเจ้าดำแคงฤทธิ์ อาภากร เสกสมรสกับหม่อมอรุณ อาภากร ณ อยุธยา (สกุลเดิม สารสิน)

“ท่านพ่อผม คือหม่อมเจ้าดำแคงฤทธิ์ อาภากร เป็นโอรสของหม่อมแฉล้ม อาภากร แม่ผมเป็นหม่อมอรุณ อาภากร นามสกุลเดิม สารสิน แม่ผมเป็นน้องคุณพจน์ สารสิน” คุณชาย หรือ ม.ร.ว. อภิเดช ฉายให้เห็นภาพความเกี่ยวพันของสายเลือดวงศ์ตระกูลและเชื้อสายที่สืบต่อจากเสด็จเตี่ย ในฐานะ “หลานปู่” โดยคุณชาย ติดปากเรียกกรมหลวงชุมพรฯ ว่า “เสด็จในกรมฯ”


ทรงดุอย่างเสือ…ด้วยรักและเกรงขาม

ก่อนจะบอกเล่าเพิ่มเติมอย่างอารมณ์ดีว่า โดยทั่วไปแล้ว คนที่ไม่รู้ อาจจะคิดว่า “เสด็จในกรม” ท่านดุ เด็กๆ ในบ้าน เช่นน้องๆ ของหม่อมย่าจะกลัวท่านมาก ก็พยายามจะอยู่ห่างๆ ไกลๆ แต่ปรากฏว่าเสด็จในกรมฯ ท่านทรงพระดำเนินเบามาก กว่าจะรู้ตัวก็มาถึงตัวแล้ว (หัวเราะ) แต่จริงๆ แล้ว ไม่มีอะไร เป็นแค่ความรู้สึกแบบที่เด็กเกรงผู้ใหญ่”

คุณชายเล่าว่า ในส่วนของหม่อมย่าแฉล้มนั้น ท่านเป็นคนพูดน้อย จึงมีเรื่องเล่าน้อย แต่เรื่องที่ท่านเล่าเชื่อถือได้ ดังที่คนพูดตรงกันอย่างนึงคือเสด็จในกรมท่าน เป็นคนดุมาก

“หม่อมย่าแฉล้ม บอกว่า ‘ดุอย่างกับเสือ ดุตะพึด’ ” คุณชายบอกเล่าอย่างตรงไปตรงมาและเปี่ยมอารมณ์ขัน

“ท่านทั้งดุ ทั้งใจดี ท่านป้า (หม่อมเจ้าหญิงหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร) บอกว่าเคยถูกตีด้วย ( หัวเราะ ) แต่เสด็จในกรมท่านมาโอบหลัง สองสามทีก็หาย ( หัวเราะ )”

‘ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร’

ภาพ ม.ร.ว.อภิเดช อาภากร กับท่านหญิงเริงจิตรแจรง อาภากร ณ วังท่านหญิง ซอยอารีย์สัมพันธ์ เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2529 (ที่มา หนังสือหลวงปู่ศุข กับ กรมหลวงชุมพรฯ พิมพ์ครั้งที่ 2 ผู้เขียน ม.ร.ว.อภิเดช อาภากร)



ม.ร.ว.อภิเดช อาภากร ถ่ายกับ พลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์ (กลาง) และดร.กระจ่าง พันธุมนาวิน บุตรของพลเรือตรี พระยาหาญกลางสมุทร (บุญมี พันธุมนาวิน) ศิษย์ผู้ใกล้ชิดของเสด็จในกรมฯ

ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร ถ่ายกับพี่ชาย คนกลาง ม.ร.ว.สิทธิ อาภากร คนขวา ม.ร.ว.อิทธินันท อาภากร


ท่านชอบเรียนวิชา ครูบาอาจารย์มากหลาย

คุณชายกล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่องราวที่ผู้คนมักเคยได้ยินได้ฟังเกี่ยวกับเสด็จเตี่ยในแง่มุมที่ท่านเป็นผู้มีวิชาอาคม โดยเล่าว่า

“เสด็จในกรมฯ ท่านชอบเรียนวิชา ครูบาอาจารย์ท่านเยอะ ทั้งในหลายเรื่อง คงพอรู้ใช่ไหมครับ ท่านเป็นหมอ เป็นนักวาดรูป เรียนนาฏศิลป์ โขน มวย ไสยศาสตร์ ดนตรี และอีกหลายอย่าง ( หัวเราะ ) ท่านเรียนเยอะมาก แล้วความจำท่านดีมาก ท่านเป็นอัจฉริยะ ก็มีไหว้ครูทุกปี ไหว้แบบโบราณ ท่านเป็นคนที่เก่งมาก”

ถามว่า คุณชายเคยเขียนหนังสือเกี่ยวกับทั้งหลวงปู่ศุข, หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอกและกรมหลวงชุมพร ซึ่งนับเป็นหนังสือทรงคุณค่าอย่างยิ่ง อยากให้เล่าถึงกระบวนการทำงาน ว่าใช้เวลาเก็บข้อมูลนานเพียงใด และนำข้อมูลมาจากไหนบ้าง

คุณชายตอบว่า “ข้อมูลที่เขียนนั้น จริงๆ แล้ว ก็เป็นเรื่องที่ผมได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ผมก็เก็บเป็นข้อมูลมา แล้วก็อ่านหนังสือด้วยครับ โดยทั่วไป จาก ประวัติบ้าง จากคนที่วังมาเล่าบ้าง ประกอบกัน แล้วก็เก็บข้อมูลจากการที่ผมเดินทางไปถึงที่วัดหลวงปู่ศุขซึ่งอยู่ที่ชัยนาท ผมก็ไปถึงชัยนาท

ผมไปเมื่อสมัย 30-40 ปีมาแล้ว ดังนั้น ก็ทันได้พบเห็นคนที่เคยเจอ เคยพบเห็นท่าน ก็นำมาเขียนลงในหนังสือ บางอย่างก็มีคนเขียนก่อนหน้านั้นแล้ว ก็นำมาประมวลกันเข้า แล้วก็หาภาพที่หายากๆ มารวมไว้ครับ หนังสือหลวงพ่อพริ้งก็เหมือนกัน
แต่หลวงพ่อพริ้งนั้น ข้อมูลอาจน้อยหน่อย เพราะคนที่เราไปพบเจอ ไม่ค่อยเล่าเรื่องมากนัก เราไม่ได้เจอคนที่บันทึกเรื่องของท่านไว้มากนัก ไม่เหมือนเรื่องของหลวงปู่ศุขที่เราได้ไปเจอตัวคนที่เล่าเลย เช่น ได้เจอลูกหลานเขา ว่าตาเขาเล่าให้ฟัง อะไรแบบนี้ก็มีครับ” คุณชายบอกเล่าถึงขั้นตอนกระบวนการรวบรวมข้อมูลหนังสือที่ได้รับการยอมรับว่ามีคุณค่าอย่างยิ่ง










ความผูกพันระหว่างศิษย์กับอาจารย์


ถามว่า มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับความผูกพันใดระหว่างกรมหลวงชุมพรฯ กับหลวงปู่ศุขอีกบ้างที่คุณชายอยากบอกเล่า
คุณชายตอบว่า เสด็จในกรมฯ ท่านเป็นลูกศิษย์หลวงปู่ศุข ท่านนับถือหลวงปู่ศูขมาก ไปหาหลวงปู่ศุขทุกปี ไปทางเรือ เอาเรือไป มีเรือจูงไป ท่านถือว่าไปพักผ่อนด้วย ไปปิคนิค แล้วมีชาวบ้านไปเจอท่าน ก็เล่าว่าท่านเป็นคนสนุก ร้องรำทำเพลง เล่นดนตรี เรียกว่า ‘แอ่ว’ ไปแอ่ว แล้วคนที่เล่าเขาก็เล่าด้วยหน้าตาที่มีความสุข เขาดีใจที่ได้เล่าให้ฟัง คนสมัยนั้น เขาเล่าว่าเจ้าเมืองก็ชอบมาที่นี่ เป็นที่ครื้นเครง แล้วเสด็จในกรมท่านชอบคลุกคลีกับชาวบ้านโดยทั่วไป ชอบเสวยสุราพื้นบ้าน ชาวบ้านเขาก็กินด้วยกันกับท่าน เขาใช้กะลาดื่ม ท่านก็ใช้กะลาดื่มเหมือนกับเขา

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง ผมไปวัดมะขามเฒ่า มีคนนึง อายุเยอะแล้วนะ เข้ามาหาผมแล้วบอกว่า พ่อเขาเนี่ย เสด็จในกรมฯ เป็นคนทำคลอดให้ ดังนั้น ท่านก็เป็นหมอตำแยด้วย ( หัวเราะ ) เสียดายว่าผมไม่ได้จดชื่อเขาไว้ในตอนนั้น ก็เสียดายนะ
นอกจากนั้น ที่วัดก็ยังมีรูปที่ท่านวาดไว้ ภาพนั้นก็ยังมีอยู่” คุณชายบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพความรักที่ผู้คนมีต่อเสด็จเตี่ยทั้งได้เห็นว่าท่านเข้ากับคนได้ง่าย มีเมตตาและมีความเรียบง่ายในวิถีชีวิต

อดถามคุณชายไม่ได้ว่า กรมหลวงชุมพรฯ ท่านไปรู้จักกับหลวงปู่ศุขได้อย่างไร
คุณชายตอบว่า “เรื่องนี้ ตามที่ลูกศิษย์ทหารเรือท่านเล่านะครับ ลูกศิษย์คนนี้ชื่อ พระยาหาญกลางสมุทร (บุญมี พันธุมนาวิน)” จากคำบอกเล่าของคุณชาย คุณชายมีโอกาสได้รู้จักกับ ดร.กระจ่าง พันธุมนาวิน ซึ่งเป็นลูกของพระยาหาญกลางสมุทร ซึ่งเป็นนักเรียนนายเรือ ทำให้สืบทราบได้ว่า เขาเรียนอะไร จบชั้นอะไร 
"และเขาบันทึกไว้ว่าเมื่อปีสุดท้าย ได้ไปพักผ่อนกัน ไปยิงสัตว์ แล้วผ่านบริเวณหน้าวัดหลวงปูศุข แล้วจะยิงสัตว์ ปรากฏว่ายิงไม่ออก ก็ไปสืบมาก็พบว่ามีอาจารย์ท่านนึงขลัง เสด็จกรมหลวงชุมพรฯ ท่านก็เลยขึ้นไปทำความรู้จัก เขาเล่าไว้อย่างนี้ครับ
เมื่อเราสืบว่าพระยาหาญกลางสมุทร เรียนนายเรือเมื่อไหร่ เราก็ค้นได้ว่าอยู่ในปลายรัชกาลที่ 5 ราวปี พ.ศ.2447” คุณชายระบุ


กะโหลกและปั้นเหน่ง นางนากพระโขนง

นอกจากเรื่องราวความรัก เคารพ ศรัทธาที่เสด็จเตี่ยมีต่ออาจารย์ของท่านแล้ว ยังมีอีกเรื่องราวหนึ่งที่เล่าขานสืบต่อกันมาเคียงคู่กับเรื่องราวของพระองค์ท่าน นั่นก็คือ กะโหลกของนางนากพระโขนง ที่ถูกนำมาทำเป็นปั้นเหน่งนั้น อยู่กับเสด็จเตี่ยจริงหรือไม่

ม.ร.ว.อภิเดช หยิบยกเนื้อหาตอนหนึ่งคือ เสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ กับปั้นเหน่งหน้าผากแม่นาคพระโขนง ( บางแห่งสะกดว่า “แม่นาก” ) จากหนังสือหลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก กับ กรมหลวงชุมพรฯ ซึ่งเขียนโดย ม.ร.ว.อภิเดช อาภากร ที่ถ่ายทอดเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

“มีเรื่องหนึ่งเป็นที่กล่าวขานกันมากคือ เรื่องเสด็จในกรมกลวงชุมพรฯ ทรงมีปั้นเหน่งหรือกะโหลกหน้าผากแม่นาคพระโขนง ตามเรื่องที่เล่ากันมีสองกระแส กระแสหนึ่งว่า พระองค์ทรงได้มาจาก สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ( เจริญ ) วัดระฆังโฆสิตาราม อีกกระแสว่าพระองค์ทรงได้มาจาก หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก

ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรแน่ ผู้เขียนได้ทูลถามหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตรแจรง ( เมื่อประมาณ พ.ศ.2527 ) พระธิดาของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ด้วยตนเอง พระองค์ทรงยืนยันว่า เสด็จพ่อทรงมีหน้าผากปั้นเหน่งแม่นาค คาดไว้ที่บั้นพระองค์จริง แต่เมื่อถามว่าทรงได้มาจากผู้ใด ท่านหญิงทรงตอบว่า “ไม่รู้ว่าใครนำมาถวาย”

ท่านหญิงจารุพัตรา อาภากร หรือท่านหญิงใหญ่ ( พระธิดาในกรมหลวงชุมพรฯ กับหม่อมกิม ) อีกพระองค์หนึ่ง ทรงเล่าให้คุณภากร ศุภชลาศัย (ลูกชาย) ฟังว่า คราวหนึ่งท่านทูลเสด็จพ่อว่า อยากเห็นแม่นาค
เสด็จในกรมฯ รับสั่งว่า ได้ ให้เอาปั้นเหน่งแม่นาคไปไว้ที่นอน โดยต้องนอนองค์เดียว จากเที่ยงคืนถึงตีสอง ตอนดึกๆ จะให้เขาไปหา เมื่อถึงตอนกลางคืนเข้าจริงๆ ( ตั้งแต่สองทุ่มถึงเที่ยงคืน ) ท่านหญิงใหญ่เกิดความกลัวมาก จนบรรทมไม่หลับ ตอนเช้าเวลาประมาณตีห้า เสด็จในกรมฯ ทรงมาหาที่ห้องนอนแต่เช้า และรับสั่งว่า แม่นาคเขาบอกว่า เขาเข้ามาหาลูกแล้ว มายืนปลายเตียง แต่เห็นว่าลูกกลัวมาก จึงไม่ปรากฏร่างให้เห็น”

“ปั้นเหน่งแม่นาคนี้ ภายหลังทราบว่าพระองค์ชายกลาง ( พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิฆัมพร ) ได้ทรงนำไปจากวังหม่อมเจ้าครรชิตพล อาภากร เมื่อคราวมีการสร้างภาพยนตร์แม่นาคพระโขนง
ผู้เขียนเคยทูลถามท่านผู้หญิงดวงทิพยโชติแจ้งหล้า อาภากร ( พระธิดาของกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระชายาของหม่อมเจ้าครรชิตพล ซึ่งพระองค์ยืนยันว่าเป็นความจริง”
( หมายเหตุ : ที่มาจากหนังสือหลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก กับ กรมหลวงชุมพรฯ โดย ม.ร.ว.อภิเดช อาภากร)

ที่มา หนังสือหลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก กับกรมหลวงชุมพรฯ โดย ม.ร.ว.อภิเดช อาภากร

ที่มา หนังสือหลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก กับกรมหลวงชุมพรฯ โดย ม.ร.ว.อภิเดช อาภากร
แม้นปัจจุบัน เหลือเพียงตำนานเล่าขาน แต่เรื่องราวของกะโหลกและปั้นเหน่งแม่นากพระโขนง กับกรมหลวงชุมพรฯ ก็ยังคงเป็นเรื่องราวที่ผู้คนทุกยุคสมัยให้ความสนใจ

แต่มากไปกว่านั้น ชีวิตในด้านอื่นๆ ของเสด็จเตี่ย หรือ กรมหลวงชุมพรฯ ก็น่าสนใจอย่างยิ่ง


นักเรียนอังกฤษกับวิชาอาคม

ดังถ้อยความที่ถามไถ่คุณชายว่า กรมหลวงชุมพรฯ ท่านไปศึกษาถึงที่อังกฤษ สะท้อนว่าท่านเป็นคนหัวสมัยใหม่ ความรู้ความสามารถในทางการแพทย์ท่านก็รักษาคนมากมาย เป็นที่มาของคำเรียกขานอย่างเคารพนับถือว่า ‘หมอพร’
แล้วเหตุใด ทำไมท่านจึงให้ความสนใจใจเรื่องไสยเวท ไสยศาสตร์ คาถาอาคม มากมาย ไยท่านจึงให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้ ทั้งที่ท่านจบจากอังกฤษ

คุณชายตอบว่า “ผมว่าท่านอัจฉริยะนะ ท่านล้ำยุค สมัยท่าน เรื่องคาถาอาคม คนก็ไม่เชื่อแล้วนะ รัชกาลที่หกท่านก็เคยเขียนว่าเป็นเรื่องล้าสมัยไปแล้ว แต่เสด็จในกรมฯ ท่านเข้าถึง"


"ผมว่า วิชาพวกนี้อยู่ที่พลังจิต ความเชื่อ และต้องมีพรสวรรค์ ท่านศึกษาได้ พิสูจน์ได้ ไม่งั้นท่านไม่เชื่อหรอกครับ เพราะท่านเก่งวิชาสมัยใหม่มากนะ ท่านสำเร็จการศึกษา วิชาการทหารเรือ จากประเทศอังกฤษ ซึ่งเค้าไม่สอนวิชาตอร์ปิโดนะครับ แต่เสด็จในกรมท่านได้รางวัลออกแบบยิงท่อตอร์ปิโดนะครับ น่าแปลกไหม แต่เรื่องนี้ก็มีคำตอบ รัชกาลที่ห้าเคยส่งท่านไปดูโรงงานผลิตตอร์ปิโด แล้วท่านเป็นคนสมัยใหม่ ท่านเข้าถึงวิชาพวกนี้ซึ่งมีน้อยคน มีไม่กี่คนที่จะเข้าถึงได้

"แล้วท่านล้ำไปข้างหน้าอีกนะ ท่านสักยันต์นะครับ ยันต์คงกระพันเลยนะ เมื่อก่อนเขาไม่ค่อยสักกัน แต่ตอนนี้ คนหันกลับมาสักกันเต็มเลยนะ ( หัวเราะ ) จริงๆ แล้วท่านสักหลายอย่างครับ”


ตำแหน่งที่ไม่ปรารถนา กับความฝันอยากทำไร่ ทำสวน เป็นเกษตรกร

คุณชายเล่าว่า "ที่ล้ำไปข้างหน้าอีกอย่าง แต่คนไม่เคยรู้หรือไม่ค่อยรู้ คือ ก่อนท่านสิ้นพระชนม์ ท่านเป็นเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ เป็นตำแหน่งสูงสุดแล้ว ซึ่งความจริง ท่านไม่อยากจะเป็น
มีจดหมายส่วนพระองค์ ท่านเขียนถึงลูกสาวเลยว่าท่านไม่อยากจะเป็น ถ้าท่านเป็น ท่านอยากจะลาออก ท่านให้เหตุผลคล้ายๆ ว่า เป็นตำแหน่งนี้แล้วเหงา ไม่ค่อยมีเพื่อน ใครเข้ามาพูดด้วย ก็พูดอยู่ไกลๆ เป็นทางการ"

“เห็นมั้ยครับ ท่านไม่ชอบชีวิตอย่างนั้น แล้วท่านก็คิดจะไปทำไร่ทำสวน ที่หาดทรายรี ( ชายหาดที่สวยงาม ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ จ.ชุมพร )

"ท่านคิดจะไป คิดจะลาออก ท่านไปซื้อที่ดินเตรียมไว้แล้ว ท่านเขียนเล่าไว้เลย คนที่หาดทรายรีก็เล่า ว่าเสด็จในกรมไปบุกเบิก ทำไร่ ทำสวน ไปกับ หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ( พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศรวรฤทธิ์ ที่ประสูติแต่หม่อมสุภาพ กฤดากร ณ อยุธยา ทรงได้รับการยกย่องเป็น บิดาแห่งการเกษตรแผนใหม่ ) ท่านไปด้วยกันทั้งคู่ ประมาณปี พ.ศ.2463-2464

"ท่านเอารถรถแทรกเตอร์ไป คนที่นั่นเล่านะครับ แต่ไม่นาน ท่านก็สิ้นพระชนม์ก่อน ถ้าท่านยังอยู่นานกว่านั้น ท่านคงไปทำไร่ทำสวนที่นั่นก็ได้ อันนี้คนไม่ค่อยรู้นะครับ อันนี้ท่านล้ำนะ ท่านมองว่าการเกษตรสำคัญสำหรับประเทศเรา แปลกนะ ผมว่าท่านเป็นอัจฉริยะ” คุณชายระบุ


เชี่ยวชาญยุทธวิธี มองการณ์ไกลเพื่อกองทัพเรือ

ม.ร.ว.อภิเดชกล่าวเพิ่มเติมว่า “อย่างเช่นวิชาทหารเรือ ท่านเก่งมากนะครับ ท่านเคยบรรยายเรื่องยุทธวิธี ท่านก็บรรยายด้วยปากเปล่าโดยย่อ แต่ถ้าบรรยายโดยละเอียดนะ สามเดือนก็ไม่จบ ท่านพูดอย่างนี้ ( หัวเราะ ) นี่มีในบันทึกเลยนะ แปลว่าท่านรู้เยอะ แล้วท่านก็มองการณ์ไกล ท่านขอพระราชทานที่ดินที่สัตหีบ เป็นฐานทัพเรือ ในปี พ.ศ.2465 แล้วตอนนี้ สัตหีบ-อู่ตะเภา เป็นที่ผืนทองเลย มีค่ามาก

"ท่านมองการณ์ไกลแล้วว่า แถวนั้นเหมาะ ท่านจึงมีพระคุณที่ทำให้มีการก่อตั้งฐานทัพเรือที่นั่น ผืนดินนั้นมีค่า
คำที่ยกย่องท่านว่า เป็น ‘องค์บิดาแห่งกองทัพเรือ’ จึงเป็นศัพท์ที่ถูกต้องอย่างยิ่ง” คุณชายระบุ

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ทรงฉายใน พ.ศ. 2460 (ภาพจากหนังสือหลวงปู่ศุขกับกรมหลวงชุมพรฯ โดย ม.ร.ว. อภิเดช อาภากร จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2546)
ห้วงสุดท้ายแห่งชีวิต

ขอให้คุณชายเล่าย้อนถึงห้วงเวลาแห่งความสูญเสีย ในห้วงแห่งการสิ้นพระชนม์ของกรมหลวงชุมพรฯ ว่าท่านสิ้นอย่างไร ที่หาดทรายรีใช่หรือไม่

คุณชายตอบว่า “ที่หาดทรายรีครับ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของชุมพร อย่างที่ผมบอกว่าท่านตั้งใจจะไปทำไร่ทำสวน คนที่นั่นก็เล่าไว้ว่าท่านไปสร้างกระต๊อบ ไปกับท่านแม่ด้วย คือเจ้าจอมมารดาโหมด ( เจ้าจอมมารดาโหมด บุนนาค เป็นเจ้าจอมมารดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และเป็นพระมารดาของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ หรือ ‘เสด็จเตี่ย’ ) ปกติท่านไม่เคยไปด้วยกันนะ แต่ครั้งนี้ไปด้วยกัน ผมเลยรู้เรื่องเยอะ เพราะข้าหลวงของเจ้าจอมมารดาโหมด ที่ตอนนั้นยังเด็ก แต่เขาอยู่ถึงยุคสมัยผม เขาเล่าให้ฟังว่าเสด็จในกรมท่านไป แล้วสร้างกระต๊อบพักอยู่บนนั้น แล้วเจ้าจอมมารดาโหมดอยู่บนเรือเจนทะเล

“ก่อนท่านสิ้นพระชนม์สัก 2-3 วัน ชาวบ้าน เขาจัดหนังตะลุงถวาย ตอนค่ำๆ ท่านโปรดนะ ท่านก็ไปทอดพระเนตร แล้วก็เรียกใครๆ ไปดู แล้วท่านถูกน้ำค้าง หรืออะไรอย่างนี้ แล้วเริ่มประชวร เขาเล่นหนังตะลุงไปได้ไม่กี่ฉาก ท่านก็ประชวรกลับมา แล้วก็ประชวรหนักขึ้นๆ กระทั่งหมอที่ไปด้วย ต้องเรียกแพทย์ที่เก่งที่สุดจากกรุงเทพฯ ไป แต่ไปไม่ทันถึง ท่านก็สิ้นพระชนม์ไปก่อน ท่านสิ้นตอน 11 โมงเช้า

“ผมได้ยินจากย่าทองสุข ที่เป็นน้องหม่อมแฉล้ม เค้าอยู่ในห้องที่เสด็จในกรมท่านสิ้นพระชนม์ ว่าท่านมีพระอาการหอบ แล้วท่านเจ้าจอมมารดาโหมดประคองท่านนั่ง ก็คาดว่าท่านน่าจะเป็นปอดบวม

“ยังมีเรื่องมหัศจรรย์อีกเยอะ ก่อนท่านสิ้นพระชนม์ ท่านหญิงใหญ่ (ท่านหญิงจารุพัตรา ศุภชลาศัย) เล่าว่า มีนกเค้าแมว หรือนกแสก มาเกาะอยู่ต้นไม้ใกล้ๆ ที่ประทับ ก็มาร้องเสียงดังรำคาญ ก็เลยเอาไฟฉายไปส่องมันก็หล่นลงมาตายเลย หัวใจวายเลย”


เมื่ออาทิตย์....อัสดง

ม.ร.ว.อภิเดช เล่าว่า “แล้วตอนเสด็จในกรมฯ ท่านสิ้น ‘ท่านอาน้อย’ (หมายเหตุ : หม่อมเจ้าสุริยนันทนา สุริยง มีนามลำลองว่า ท่านหญิงน้อย เป็นพระธิดาองค์รองในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นไชยาศรีสุริโยภาส คุณชายเรียกท่านว่า ‘ท่านอาน้อย’ ) ท่านอยู่บนเรือ อยู่กับพี่ชายท่านที่เรือเจนทะเล ท่านบอกว่าประมาณตี 5 ก่อนรุ่งเช้า ท่านบอกว่ามีเสียงอึกทึกบนเรือ ทุกคนวิ่งพล่าน บอกว่าเห็นดวงไฟใหญ่อย่างกับพระอาทิตย์ ค่อยๆ ลอยลงทะเล ท่านบอกว่า สวยก็สวย แต่จะมองว่าน่ากลัวก็น่ากลัว แล้วดวงไฟที่เหมือนดวงอาทิตย์นั้นก็ค่อยๆ จมน้ำหายไป
แล้วก็เห็นครั้งเดียว นี่ท่านเล่าไว้เลย มีบันทึกไว้ด้วย

“เสด็จในกรมท่านสิ้นใกล้ต้นหูกวาง ท่านสิ้นที่นั่น เดิมทีเขาจะส่งเรือมารับท่านกลับ แต่ท่านไม่ยอมกลับ ปัจจุบันต้นหูกวางนี้ก็ตายไปแล้ว แต่ยังเหลือตออยู่ ที่หาดทรายรี คุณไปดูได้” คุณชายถ่ายถอดเรื่องราวในห้วงเวลานั้น ได้อย่างเห็นภาพและเปี่ยมด้วยความรู้สึกอาลัย

ถามว่า เหตุใด กรมหลวงชุมพรฯ จึงประทับใจหาดทรายรียิ่งนัก
คุณชายตอบว่า “คงเป็นเพราะที่ดินเหมาะสำหรับทำการเกษตรนะ และผมคิดว่า ท่านเคยไปฝึกรบที่นั่น ก่อนหน้านั้นหลายปี ท่านไปหลายหน แล้วครั้งสุดท้าย ท่านก็จับจองที่ไว้"


ฤๅคือ ‘ดวงไฟแห่งดวงจิต’

ถามว่าแล้วดวงไฟที่ลอยลงสู่ทะเล ที่คุณอาน้อยและคนบนเรือเห็นช่วงก่อนที่กรมหลวงชุมพรฯ จะสิ้นพระชนม์นั้น คุณชายคิดว่าคืออะไร

คุณชายตอบว่า “อันนี้ไม่รู้ครับ มหัศจรรย์ ผมไม่รู้ แต่เท่าที่ผมอ่านประวัติพระมา ไม่ว่า หลวงปู่ศุขก็ตาม หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอกก็ตาม ลูกศิษย์หลวงปู่ศุขด้วย ก่อนท่านสิ้นจะมีดวงไฟอย่างนี้เหมือนกันทุกคนเลย
แล้วผมเคยไปถามพระที่เป็นลูกศิษย์พระเหล่านี้ ท่านก็ตอบหน้าตาเฉยเลยนะว่า “โอ๊ย! พวกเรียนวิชา” ตอนท่านสิ้นเป็นแบบนี้ ผมก็เลยคิดว่า พวกที่เรียนวิชาของขลังแบบนี้ ท่านอาจเรียนเพ่งกสิณหรือเปล่า เพ่งไฟ ตอนนั้นท่านป่วยมาก อาจจะทุกข์ทรมาน แต่ท่านก็ใช้จิตเพ่งกสิณเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ แล้วทำให้เกิดสิ่งนั้นหรือเปล่า ผมไม่รู้นะ เรื่องนี้ผมไม่รู้ ผมแค่เดา ( หัวเราะ )” คุณชายให้มุมมองแง่คิดที่น่าสนใจ

ถามว่า กรมหลวงชุมพรฯ ศึกษาวิชาจากหลายอาจารย์ แล้วท่านมีของขลังอื่นใด ตกทอดมาถึงลูกหลานบ้างไหม นอกจากปั้นเหน่งนางนากพระโขนงที่คนมักนึกถึงซึ่งคาดว่าหายสาบสูญไปแล้วนั้น ยังมีอะไรที่ลูกหลานยังเก็บรักษาเอาไว้ในราชสกุลบ้าง

คุณชายตอบว่า “ถ้าที่ผมมีนะ ผมก็มีฤาษีหล่อโลหะองค์เล็กๆ ไม่ใหญ่มาก สูงสักห้านิ้ว ฤาษีนั่งบดยา หลวงปู่ศุขท่านสร้างไว้สำหรับไหว้ครูหมอยา แล้วก็มีลูกประคำหลวงปู่ศุข แล้วผมก็มีผ้ายันต์ผืนใหญ่ 3 ฟุต X 3 ฟุต”


‘นักเรียนก็เป็นลูกข้าทุกคน’

บทสนทนาดำเนินมาถึงปลายทาง ยังมีสิ่งใด เรื่องราวใดอีกบ้างที่คุณชายอยากบอกเล่าเกี่ยวกับ ‘เสด็จปู่’ ของท่าน ซึ่งท่านเรียกว่าเสด็จในกรมฯ หรือกรมหลวงชุมพรฯ นั่นเอง

คุณชายฝากไว้อย่างน่าคิดว่า “เสด็จในกรมฯ ท่านพูดกับลูกศิษย์ท่าน ท่านรับสั่งว่า ‘นักเรียนก็เป็นลูกข้าทุกคน’ รูปของท่านที่โรงเรียนนายเรือ ผมอยากให้มีคำนี้สลักไว้ คำว่า “นักเรียนเป็นลูกข้าทุกคน” ท่านรักนักเรียนของท่านมากนะครับ”

ม.ร.ว. อภิเดช อยู่ระหว่างรวบรวมทำหนังสือพระประวัติเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ร่วมกับพลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์ และทีมงาน


ม.ร.ว.อภิเดชกล่าวว่า “ท่านเป็นอัจฉริยะ ท่านเรียนอะไร ท่านรู้จริง และจำได้หมด
ท่านสิ้นในวัย 42 ปี วันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2466
แต่ผมมองว่า การที่ท่านสิ้นตอนนั้น ทำให้ท่านยังคงดูหนุ่มเสมอ ท่านไม่แก่ และขณะนั้นท่านได้อยู่ในจุดสูงสุด คือ เป็นเสนาบดี คนทั่วไป อาจจะมองว่าท่านน่าจะอยู่นานกว่านั้น ก็แล้วแต่มุมมมองนะครับ”


กายิราเจ กายิราเถนัง

คำถามสุดท้าย คุณชายประทับใจอะไรในกรมหลวงชุมพรฯ ที่สุด และมีสิ่งใดที่ยึดเป็นแบบอย่าง
ม.ร.ว.อภิเดชตอบว่า

“ผมว่าท่านเป็นคนเก่งจริงๆ ภาษิตของท่านที่เขียนไว้ กายิราเจ กายิราเถนัง ( กยิราเจ กยิราเถนํ ) แปลว่า จะทำสิ่งใด ควรทำจริง ทำเต็มที่ ทำให้ดีที่สุดครับ”
คุณชายผู้เป็น “หลานปู่” ของ “เสด็จเตี่ย” ระบุทิ้งท้ายอย่างชัดเจนและแหลมคม
………


Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : ม.ร.ว.อภิเดช อาภากร

-โครงการกรมหลวงชุมพรฯ 120 ปี นิวัตมาตุภูมิ สู่ราชนาวีสยาม (โดยมูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์)
-ศิลปวัฒนธรรม https://www.silpa-mag.com
-https://www.preechabooks.com
-Facebook Apidej Abhakara

หมายเหตุ : ผู้สนใจเรื่องราวของเสด็จเตี่ย ในความรับรู้ของ ม.ร.ว. อภิเดช สามารถติดตามเพิ่มเติมได้จาก
Facebook Apidej Abhakara หรือจากหนังสือหลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก กับกรมหลวงชุมพรฯ ซึ่งสามารถสั่งซื้อได้โดยตรงจาก ม.ร.ว.อภิเดช ที่หน้า Facebook เดียวกัน
นอกจากนั้น ปัจจุบัน ม.ร.ว. อภิเดช ยังอยู่ระหว่างรวบรวมทำหนังสือพระประวัติเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ร่วมกับพลเรือตรี กรีฑา พรรธนะแพทย์ โดย ม.ร.ว. อภิเดชช่วยหาข้อมูลเรื่องส่วนพระองค์ที่วังนางเลิ้ง
คาดว่าหนังสือพระประวัติดังกล่าวอาจมีความหนาราว 1,000 หน้า และอาจตีพิมพ์ช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2566 นี้
…………