xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมต้องเป็น “แลนด์บริดจ์” แทนที่จะเป็น “คลองไทย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดข้อมูล “แลนด์บริดจ์” ชุมพร-ระนอง ต้นทุนน้อยกว่า ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม-สภาพสังคมน้อยกว่า แต่ผลตอบแทนสูงกว่า ใช้เวลาก่อสร้างเร็วกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับ “คลองไทย” ที่จีนเข้ามาหนุนหลังตามยุทธศาสตร์ BRI “สนธิ” ชี้ หากขุดคลองตามการผลักดันของจีน ประเทศมีปัญหาแน่ เสี่ยงแบ่งแยกดินแดน และไทยจะกลายเป็นจุดปะทะใหม่ ที่มหาอำนาจฝ่ายต่างๆ เข้ามารุม ย้ำแม้ตนสนับสนุนจีนสู้อเมริกา แต่เรื่องนี้ผลประโยชน์ชาติต้องมาก่อน จึงเห็นควรสร้างแลนด์บริดจ์มากกว่าขุดคลองไทย




เป็นที่ถกเถียงกันมาระยะหนึ่งแล้วว่า ในการเชื่อมโยงการขนส่งทางเรือระหว่างฝั่งทะเลอ่าวไทยกับฝั่งอันดามัน โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกาและอ้อมแหลมมะลายูนั้น ควรจะขุดคลองเชื่อมเส้นทางเดินเรือหรือสร้าง “แลนด์บริดจ์” ดี

โดยแนวคิดเรื่องการขุดคลองนั้นมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ยุคสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงมีพระราชดำริจะขุด “คอคอดกระ” เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเคลื่อนกองทัพเรือจากฝั่งอ่าวไทยไปฝั่งทะเลอันดามัน แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการ มาจนสมัยรัชกาลที่ 4 ฝรั่งเศสคิดจะขุดคอคอดกระเพื่อร่นระยะทางในการเดินเรือจากฝั่งทะเลอันดามันข้ามมายังฝั่งอ่าวไทย แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการเช่นกัน


จนกระทั่งในปี 2544 วุฒิสภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของ “โครงการขุดคอคอดกระ” แต่ไม่ได้ขุดในบริเวณนั้นเนื่องจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นหินและภูเขา โดยบริเวณคอคอดกระอยู่ที่ชายแดนพม่าปากแม่น้ำกระบุรี จะมีปัญหาเรื่องความมั่นคง จึงขยับบริเวณที่จะขุดที่มีความเป็นไปได้ และเกิดประโยชน์สูงสุด คือเส้นทาง 9Aผ่านจังหวัดกระบี่ ตรัง พัทลุง นครศรีธรรมราช และสงขลาระยะทาง 120 กิโลเมตรให้เรียกชื่อคลองว่า “คลองไทย” แต่แนวคิด “คลองไทย” นี้เกิดขึ้นได้ยาก ด้วยหลาย ๆ เหตุผลด้วยกัน




ด้วยอุปสรรค และข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้เมื่อเวลาผ่านไปหลายสิบปีก็ยังไม่สามารถสร้าง “คลองไทย” ได้ จึงมีความพยายามจะริเริ่มทำ โครงการแลนด์บริดจ์ (Landbridge) ขึ้นมาแทนคือแทนที่จุดขุดคลองตัดแผ่นดินก็ใช้วิธีการขนส่งที่ผสมผสานประกอบด้วยทางหลวงแผ่นดินและทางรถไฟเชื่อม 2 ฝั่งมหาสมุทร เข้าด้วยกันแทน ซึ่งวิธีนี้จะใช้งบประมาณน้อยกว่าและไม่ต้องตัดแบ่งแผ่นดินออกจากกัน

โดยที่ผ่านมามีความพยายามผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์หลายพื้นที่ เช่น สมัยรัฐบาล “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ(ช่วงปี 2539-2540) จะทำแลนด์บริดจ์ระหว่างรัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย กับจังหวัดสงขลา ประเทศไทยแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ทำ


หรือจะเป็นโครงการเซาท์เทิร์นซีบอร์ด เชื่อมระหว่างจังหวัดกระบี่ กับ อ.ขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช มีการตัดถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 44 หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “ถนนเซาท์เทิร์น” เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ปี 2546 โดยเกาะกลางถนนเว้นพื้นที่เอาไว้ เพื่อก่อสร้างท่อส่งน้ำมันและทางรถไฟ เนื้อที่ประมาณ 15,000 หมื่นไร่ ยาวประมาณ 133 กิโลเมตร

เส้นสีแดง คือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 44 หรือ ถนนเซาท์เทิร์น
แต่สุดท้ายก็ไม่ได้ก่อสร้าง เพราะจุดที่จะก่อสร้างท่าเรือและคลังน้ำมันอยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว และถูกกระแสต่อต้านจากประชาชนในพื้นที่ จึงให้ศึกษาเส้นทางใหม่ ปัจจุบันเกาะกลางถูกทิ้งร้าง แถมมีชาวบ้านบางคนบุกรุก เอาที่ดินหลวงไปทำสวนปาล์มน้ำมัน สวนยางพารา เกิดข้อพิพาทกับเจ้าหน้าที่รัฐ


อีกโครงการหนึ่ง คือเส้นทางแลนด์บริดจ์ระหว่างท่าเรือปากบารา จังหวัดสตูล กับท่าเรือจะนะ จังหวัดสงขลา แต่ก็มีการรวมตัวกันของชาวบ้าน คัดค้านท่าเรือน้ำลึกปากบารา และโครงการแลนด์บริดจ์สตูล-สงขลา เพราะกระทบกับกลุ่มประมงพื้นบ้าน และทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล มีการชุมนุมประท้วงเกิดการกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่ สุดท้ายกรมเจ้าท่าเซ็นสัญญายุติโครงการท่าเรือปากบาราเมื่อปี 2563


แลนด์บริดจ์ยุค “ประยุทธ์ จันทร์โอชา”

มาถึงยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีการศึกษาโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) เริ่มต้นจากแหลมริ่ว อำเภอหลังสวน จังหวัดชุมพร สิ้นสุดที่บ้านอ่าวอ่าง จังหวัดระนอง โดยโครงสร้างพื้นฐานของการเชื่อมโยงประกอบด้วย
-ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทย ที่จังหวัดชุมพร
-ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามัน ที่จังหวัดระนอง
-สร้างถนนมอเตอร์เวย์ 6 ช่องจราจร กับ รถไฟทางคู่ ระยะทางประมาณ 94 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมกับท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่ง
-ใช้งบประมาณราว 1 ล้านล้านบาท


รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์คาดว่า เมื่อโครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง แล้วเสร็จ ก่อให้เกิดประโยชน์ดังนี้คือ
-ช่วยลดระยะเวลาขนส่งสินค้า จากช่องแคบมะละกาแต่เดิม 9 วัน เหลือเพียง 5 วัน
-รองรับเรือบรรทุกสินค้าได้ประมาณ 400,000 ลำต่อปี
-เพิ่มผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในพื้นที่ภาคใต้จาก 2% เป็น 10% อย่างน้อย 10 ปี
-สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจราว 5 แสนล้านบาทต่อปี


ทั้งนี้ประโยชน์ดังกล่าว ไม่นับรวมกับการเพิ่มการจ้างงาน สร้างอาชีพใหม่ให้กับชุมชน โดยในเชิงพาณิชย์จะเกิด อาคารสำนักงาน, อาคารพาณิชย์, โรงแรมให้เช่า, สถานีบริการต่าง ๆ

ที่อยู่อาศัยจะก่อเกิด การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนานใหญ่ ทั้งบ้านพัก คอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนต์ให้เช่า ไม่นับรวมกับองค์ประกอบอื่น ๆ ที่จะตามมากับการสร้างชุมชนที่อยู่อาศัยขนาดใหญ่มโหฬาร เนื่องจากโครงการนี้เป็นเมกะโปรเจ็กต์ขนาดล้านล้านบาท และต้องรองรับเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่กว่า 4-5 แสนลำต่อปี

ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมบริการไม่ว่าจะเป็น ร้านอาหาร, ร้านค้าปลีก, ร้านค้าส่ง, สถานบันเทิง, โรงพยาบาล, การเงิน-การธนาคาร, การสื่อสาร, การประกันภัย

นอกจากนี้ย่อมจะส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมเบาต่าง ๆ เช่น การประกอบชิ้นส่วน, ยานยนต์, อาหาร, โลจิสติกส์ ฯลฯ

เส้นทางการเดินเรือในปัจจุบันที่ไม่มี แลนด์บริดจ์

เส้นทางการเดินเรือหลังจากมีแลนด์บริดจ์


ท่าที่ของ รมว.คมนาคมปัจจุบัน

ในช่วงขึ้นมา ดำรงตำแหน่งใหม่ๆ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เคยกล่าวถึงโครงการแลนด์บริดจ์ ชุมพร-ระนอง ว่า “เป็นโครงการใหญ่ที่มีมูลค่าลงทุนสูงมาก อีกทั้งยังมีประเด็นผลกระทบสิ่งแวดล้อม ความคุ้มค่าในการลงทุน การหาผู้ประกอบการร่วมลงทุน จึงเห็นว่าค่อนข้างยากและต้องใช้เวลา”

ทำให้มีกระแสข่าวว่า นายสุริยะจะไม่สานต่อโครงการแลนด์บริดจ์ที่ “รัฐบาลประยุทธ์” เคยสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาจัดทำโครงการดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ขณะที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ประกาศว่าจะเดินหน้าผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ ในพื้นที่ภาคใต้อย่างเต็มที่ เพราะเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในภาคใต้ และเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ


นอกจากนี้ ยังมีท่าทีจาก ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ภาคใต้ ซึ่งเคยเป็นเจ้ากระทรวงคมนาคมสมัยรัฐบาลที่แล้ว ออกมาเคลื่อนไหว อย่าง นายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง ส.ส.กระบี่ แถลงข่าวเรียกร้องให้นายสุริยะทบทวนเรื่องนี้ เพราะจะสูญเสียประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ และ ไม่อยากให้มีข่าวออกไปว่า รัฐบาลลดโครงการแลนด์บริดจ์เพื่อชดเชยในนโยบายบางเรื่องแทน

ภายหลัง นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ปรึกษา รมว.คมนาคม โพสต์ข้อความหัวข้อ "ท่านสุริยะไม่เคยพูดเรื่องยกเลิกโครงการแลนด์บริดจ์" โดยระบุว่า แลนด์บริดจ์ เป็นโครงการขนาดใหญ่ มีวงเงินลงทุนสูง ต้องร่วมทุนกับนักลงทุนต่างชาติ จึงจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ และตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลเฉพาะเพื่อให้มั่นใจว่าประเทศไทยจะเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด


ในปัจจุบันโครงการแลนด์บริดจ์อยู่ในไทม์ไลน์ของการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบเบื้องต้น ประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และวิเคราะห์รูปแบบโมเดลการพัฒนาการลงทุน โดยสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ซึ่งจะมีการเสนอให้ ครม.เห็นชอบหลักการในเดือนตุลาคม 2566 อนุมัติ EHIA ปลายปี 2567 เปิดประมูลใน ช่วงกลางปี 2568


จีนหนุนขุด “คลองกระ” หวังเชื่อมนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง”

สำหรับกระแสการขุด “คลองไทย” นั้น แม้จะเงียบหายไปช่วงหนึ่ง แต่ในช่วงไม่กี่ 10 ปีที่ผ่่นมาก็มีการปลุกขึ้นมาอีก จนถึงขั้นมีการตั้งพรรคการเมืองชื่อ พรรคคลองไทยที่ผลักดันเรื่องนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะ ?


โดยเฉพาะการผลักดันจากประเทศจีน ที่เล็งเห็นประโยชน์ในการเชื่อมต่อนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” หรือ BRI ซึ่งจะลดค่าใช้จ่าย ลดความเสี่ยงในการขนส่งพลังงานและสินค้าผ่านทางช่องแคบมะละกา

นอกจากนี้ยังหวังจะสร้าง “จุดยุทธศาสตร์ใหม่” เพื่อคานอำนาจกับสหรัฐอเมริกาและอินเดีย รวมทั้งยึดกุมความได้เปรียบต่อบรรดาประเทศอาเซียน ที่มีปัญหาพื้นที่พิพาทในทะเลจีนใต้กับจีน

ทั้งนี้ ตามยุทธศาสตร์ 2 มหาสมุทรของจีนหรือ Two-Ocean Strategy ซึ่งหมายถึงมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดีย นั้น การขุด “คลองไทย” หรือ “คลองกระ (Kra Canal)” เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ดังกล่าว


จีนศึกษาเรื่องการขุด “คลองกระ”หรือ ในภาษาจีนคือ เค่อลายุ่นเหอ (克拉运河) มานานแล้ว โดย อดีตประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน เคยพูดไว้ 20 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ปี 2546 ว่า หากขุดคอคอดกระสำเร็จจะช่วยแก้ปัญหา “วิกฤตมะละกา (Malacca Dilemma)” ที่จีนเผชิญอยู่ เพราะจีนต้องพึ่งพาเส้นทางช่องแคบมะละกาในการนำเข้าน้ำมันถึง 80% และวัตถุดิบต่างๆ เพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าจีนไปทั่วโลก

แต่การจราจรในช่องแคบมะละกาค่อนข้างหนาแน่น แต่ละปีมีเรือกว่า 84,000 ลำขนส่งสินค้า 30% ของสินค้าทั่วโลกสัญจรผ่าน และจำนวนเรือได้เพิ่มขึ้นจนมากกว่า 122,000 ลำ ซึ่งเกินความสามารถสูงสุดในการรองรับของช่องแคบมะละกา จีนจึงต้องมองหาเส้นทางใหม่ทดแทน โดยถ้าขุดคลองที่คอคอดกระ จะสามารถร่นระยะเวลาเดินทางอ้อมแหลมมลายูได้ 1-2 วัน


นอกจากความสำคัญทางเศรษฐกิจและการค้าแล้ว คอคอดกระยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการทหาร จีนหวั่นว่าวันหนึ่งช่องแคบมะละกาอาจถูกปิดหากสถานการณ์ความขัดแย้งในอินโดแปซิฟิกทวีความตึงเครียดขึ้น เพราะด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งแล้ว จีนเสียเปรียบในหลายด้านคือ

สหรัฐอเมริกา : มีฐานทัพอยู่ที่สิงคโปร์ ถ้าหากเกิดความขัดแย้งกับจีน ก็สามารถปิดช่องแคบมะละกา ตัดเส้นทางขนส่งน้ำมันของจีน โดยที่จีนไม่สามารถส่งเรือรบไปคุ้มครองกองเรือจีนได้ทันเพราะไกลเกินไป

อินเดีย : ที่มีปัญหากับจีนที่พรมแดนเทือกเขาหิมาลัย สามารถปิดฝั่งตะวันตกของช่องแคบมะละกา ตัดเส้นทางเดินเรือของจีนได้ง่ายๆ

ทั้งนี้ หากขุด “คลองกระ” เชื่อมอ่าวไทย ในมหาสมุทรแปซิฟิก กับทะเลอันดามัน ในมหาสมุทรอินเดียได้ กองทัพเรือของจีนจะสามารถย่นระยะทางเดินเรือข้ามจากทะเลจีนใต้ไปยังมหาสมุทรอินเดีย เนื่องจากปัจจุบันจีนได้เข้าไปเช่าฐานทัพเรือเรียม ในกัมพูชา เป็นระยะเวลา 30 ปี เพื่อเตรียมการเรื่องนี้ไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว


ทั้งนี้ จีนเริ่มกระตือรือร้นผลักดันเรื่องคอคอดกระอย่างเป็นจริงเป็นจัง ภายหลังจากประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ประกาศแนวคิด “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI)” โดยวางพื้นที่นี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของเส้นทางสายไหมทางทะเล

ในปี 2558 สถานีโทรทัศน์ซีซีทีวี สื่อทางการของรัฐบาลจีน เคยเผยแพร่รายงานพิเศษเรื่อง เส้นทางสายไหมสู่อนาคต ตอนที่ 2 (Silk Road to the Future)โดยเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับการขุดคลองกระ เพื่อให้เรือเดินสมุทรสามารถตัดผ่านจากมหาสมุทรอินเดียข้ามไปยังอ่าวไทยได้อย่างสะดวก โดยร่นระยะทางได้กว่า 3 วัน

ซีซีทีวีระบุว่า จีนกำลังเป็นผู้นำในการทำการศึกษาข้อเสนอเพื่อก่อสร้างและให้เงินสนับสนุนโครงการ ปัจจุบันมีการศึกษา ทางเลือกความเป็นไปได้ในการขุดคอคอดกระจำนวน 13 เส้นทาง โดยเส้นทางที่จะใช้งบประมาณมากที่สุดนั้น ใช้งบสูงถึง 28,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 1 ล้านล้านบาท (ข้อมูลเมื่อปี 2558) หากโครงการก่อสร้างดังกล่าวได้รับการอนุมัติให้ดำเนินการจริง ก็ต้องใช้เวลาการก่อสร้างนานถึง 10 ปี พร้อมให้ความเห็นด้วยว่า การขุดคลองกระนั้นอาจมีความสำคัญกับโลกพอ ๆ กับเมื่อครั้งมี “การขุดคลองสุเอซ” ในอียิปต์ช่วงกลางศตวรรษที่ 19 และ “คลองปานามา” เพื่อเชื่อมมหาสมุทรแปซิฟิกกับมหาสมุทรแอตแลนติกเข้าด้วยกันเมื่อช่วงต้นศตวรรษที่ 20

แผนที่โลกเส้นทางสายไหมยุคใหม่ทั้งทางบกและทางทะเล ระบุที่ตั้งคลองสุเอซ, คลองปานามา และคลองกระ - รายงานของซีซีทีวี เรื่องคลองกระเมื่อเดือนตุลาคม 2558
ในปี 2559 ทีมวิศวกรชาวจีนได้ลงพื้นที่สำรวจความเป็นไปได้ในการขุดคลองลัดผ่านคลองกระเชื่อมมหาสมุทรอินเดียเข้ากับทะเลจีนใต้ โดยจีนได้จัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank หรือ AIIB) ขึ้นเพื่อสนับสนุนเมกะโปรเจคของนโยบายดังกล่าว

นอกจากนี้ ฝ่ายจีนยังให้การสนับสนุนจัดตั้ง ศูนย์วิจัยเส้นทางสายไหมทางทะเลไทยจีนที่คลองกระ, จัดสัมมนาเชิญนักวิชาการจากจีนมาพูดเรื่องผลประโยชน์ที่จะได้จากการขุดคอคอดกระ, ให้งบประมาณสนับสนุนหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง, มีการจัดตั้ง “สมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา” , ตั้งพรรคการเมืองชื่อ “พรรคคลองไทย” โดยมี ดร.สายันห์ อินทรภักดิ์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เป็นหัวหน้าพรรค และยังมีการล็อบบี้ผ่านบุคคลที่ติดต่อกับฝ่ายจีนทั้งทหาร ข้าราชการ และนักการเมือง

ทั้งนี้ กรณีที่ฮือฮามากที่สุด คือ อดีตนายกรัฐมนตรีและองคมนตรี นายธานินทร์ กรัยวิเชียร ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เสนอให้ฟื้นโครงการขุดคอคอดกระขึ้นมาอีกครั้งหนึ่งถึง 2 ครั้ง 2 ครา และโดยเฉพาะครั้งที่สองที่แนะนำด้วยว่าให้ปรึกษากับทางจีนได้ ทั้งยังทิ้งวาทะด้วยว่า หากคอคอดกระถูกขุดขึ้นจริงก็จะเป็นการ“พลิกแผ่นดินให้เป็นแผ่นทอง”

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร
และยังมีข่าวถึงขนาดที่ว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมลงนามในเอ็มโอยูกับฝ่ายจีนที่เมืองกวางโจวในศึกษาโครงการขุดคอคอดกระ แต่ต่อมาทั้งคนใกล้ชิดบิ๊กจิ๋ว, กระทรวงการต่างประเทศไทย และทางการจีนปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง เป็นเพียงปล่อยข่าวลวงเท่านั้น

ท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สนับสนุนการขุดคลองกระ โดยให้สัมภาษณ์ว่า “ต้องหารือกันก่อนว่ามีข้อดีข้อเสียอะไร โดยเฉพาะในเรื่องของความมั่นคง จะมองแต่ประโยชน์ด้านเดียวไม่ได้ ต้องดูด้วยว่าโทษมีอะไรบ้าง ซึ่งประเด็นความมั่นคงที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปว่าหากแบ่งแยกดินแดนออกเป็น 2 ตอน จะคุ้มค่าหรือไม่ และจะควบคุมดูแลได้มากน้อยอย่างไร”

ด้านนักวิชาการที่เชี่ยวชาญเรื่องจีน ก็ระบุว่า ตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมาที่มีราชการไปจีนนั้น หลายครั้งหลายครามักได้รับการกระตุ้นจากเจ้าหน้าที่จีนในระดับต่าง ๆ ให้ช่วยเสนอรัฐบาลไทยฟื้นโครงการขุดคลองกระขึ้นมาให้ได้

การกระตุ้นนี้เกิดขึ้นต่างกรรมต่างวาระและต่างบุคคล เกิดขึ้นโดยเจ้าหน้าที่จีนทั้งในและนอกวงวิชาการ และเกิดขึ้นโดยชักแม่น้ำทั้งห้าว่า ประโยชน์จะมีมากมายเพียงใดหากคอคอดกระถูกขุดขึ้นจริง ประโยชน์นี้ใช่แต่เฉพาะไทยเท่านั้นที่จะได้รับ แม้นานาประเทศก็จักได้รับด้วยเช่นกัน

นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ กล่าวในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก”เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมาว่า มีความพยายามที่จะด้อยค่าโครงการแลนด์บริดจ์ รับงานเชียร์“คลองไทย”พยายามสร้างวาทกรรมผิด ๆ ขึ้นมาอีกหลายอย่างด้วยว่า สำหรับ การขนส่งทางเรือ ถ้าผ่านช่องแคบมะละกา หรือ หากขุดคลองไทย จะใช้เรือลำเดียวไม่ต้องเสียเวลาขนถ่ายและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการขนถ่ายใด ๆ แต่ถ้าหากเป็นแลนด์บริดจ์ ต้องใช้เรือสองลำ ทั้งยังจะต้องยกของลง และขึ้น รถไฟ-รถบรรทุก สองรอบ เสียเวลาอีก เพื่อไปยังอีกท่าเรืออีกฝั่งหนึ่ง โดยย้ำอีกว่า“นี่คือความฉิบหายแห่งชาติที่จะเกิดขึ้นจากการหลอกลวงไม่พูดความจริงกัน”


“อยากจะบอกว่า ใครกันแน่ที่ไม่พูดความจริง มาอ้างนู่นอ้างนี่ว่า “แลนด์บริดจ์” ต้องยกสินค้าขึ้นลง ต้องใช้เรือสองลำ ไม่คุ้มค่าเท่า “ขุดคลองไทย” ที่ใช้เรือแค่ลำเดียว โลกมันไปถึงไหนแล้ว คุณคิดว่าเรื่องพวกนี้คนออกแบบโครงการเขาไม่คิด เขาไม่คำนวณไว้แล้วเหรอว่าจะคุ้มทุนหรือไม่คุ้มทุน ? แล้วจะทำยังไงให้ มูลค่าโครงการและอุตสาหกรรม-ภาคเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องมันสามารถเดินหน้าไปได้ เขาคำนวณไว้หมดแล้ว

“ที่สำคัญเขาคำนวณ และวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาตร์เอาไว้แล้วด้วยว่า ไอ้เมกะโปรเจ็กต์ที่ใช้เงินลงทุนมหาศาลอาจจะถึง 5 ล้านล้านบาท ทั้งยังก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม มากมายมหาศาลอย่างไม่มีวันคืนทุนได้เลยก็คือการขุด“คลองกระ-คลองไทย”ที่คุณกำลังเชียร์อยู่นั่นเอง”
นายสนธิกล่าว


ทำไมต้อง “แลนด์บริดจ์” ไม่ใช่ “คลองไทย” ?

ในช่วงหลายเดือนหลังมานี้มีนักวิชาการ นักวิชาเกิน หรือ บางทีก็คนที่อุปโลกน์ตัวเองว่าเป็นอาจารย์ เป็นกูรูออกมา รับลูกนโยบายของจีนแบบไม่ดูตาม้าตาเรือ โดยออกมาต่อต้าน ให้ล้มโครงการ “แลนด์บริดจ์”และเชียร์ให้กลับไปขุด “คลองไทย”


“ท่านผู้ชมที่กล่าวหาผมมาตลอดเวลาว่าผมเชียร์จีนมาตลอดเวลานั้น ท่านผู้ชมเข้าใจผิดแล้ว ผมเชียร์จีนในการสู้กับอเมริกา แต่อะไรถ้าเป็นผลประโยชน์ของประเทศไทย ผมยืนข้างประเทศไทยตลอด” นายสนธิกล่าว

คนที่ต่อต้านแลนด์บริดจ์นั้น อ้างว่าแลนด์บริดจ์ไม่คุ้มค่า และคลองไทยจะทำให้เศรษฐกิจไทยรุ่งโรจน์อีกครั้ง บอกประเทศโน้นประเทศนี้ก็มีเกาะ แยกออกไปอย่างโน้นอย่างนี้ อย่างเพื่อนบ้านมาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ก็มีเกาะแก่งไม่เห็นจะมีปัญหา แต่นั่นเป็นเกาะแก่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ ขณะที่เรากำลังจะสร้างเกาะแก่งขึ้นมาใหม่


นอกจากนั้น คนเหล่านี้ที่โจมตีโครงการแลนด์บริดจ์ แต่ไม่กล่าวถึง “จุดอ่อน-จุดตาย” ของโครงการคลองไทย หรือ คลองกระ เลยก็คือ

1.การขุดคลองไทย จะงบประมาณมากมายมหาศาล โดยจากการศึกษาเบื้องต้นคือ อย่างต่ำ 2 ล้านล้านบาทหรืออาจบานปลายถึง เกือบ 4.7 ล้านล้านบาท! (ตามผลการศึกษาของจุฬาเมื่อปี 2565)

2.งบประมาณดังกล่าวไม่คิดรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมต่าง ๆ ดังที่กล่าวไปแล้วว่าจะต้องมีการเวนคืนที่ดิน และเคลื่อนย้ายประชากรอีกจำนวนมาก เนื่องจากคลองไทยจะมีระยะทางร้อยกว่ากิโลเมตร, กว้าง 300 - 400 เมตร, ความลึก 25 - 35 เมตร

3.ที่สำคัญก็คือ “การขุดคลองไทย” จะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตของประชาชนอย่างมากมาย กล่าวคือ

-ผลกระทบต่อเส้นทางไหลของน้ำทั้งน้ำบนบก และน้ำในมหาสมุทร

-ผลกระทบต่อภาคการประมง การจับสัตว์น้ำ และเลี้ยงสัตว์น้ำต่าง ๆ

-เทคโนโลยีที่นำมาใช้ขุดคลองที่เคยศึกษาเมื่อหลายสิบปีก่อนคือ ถ้าขุดแบบเครื่องจักรกล ต้นทุนจะแพงมาก แต่หากขุดโดยใช้เทคโนโลยีนิวเคลียร์ต้นทุนจะอยู่ราวครึ่งหนึ่ง

-ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว ที่เมื่อมีการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจ็กต์ระดับล้านล้าน ระหว่างการก่อสร้างเป็นเวลาสิบกว่าปี จะทำลายภาคการท่องเที่ยวของไทยโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งใกล้เคียงกับการก่อสร้าง ไปโดยปริยาย

-ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าว่าแต่การขุดคลองไทยเลย แม้แต่การสร้างท่าเรือน้ำลึก หรือ นิคมอุตสาหกรรมริมชายฝั่งทะเลหลาย ๆ แห่งก็มีเสียงต่อต้านจากชาวบ้านอยู่บ่อย ๆ

ที่สำคัญก็คือการตัด “คลองไทย” นั้นในเชิงสัญลักษณ์เท่ากับ การตัดแบ่งแยกแผ่นดินออกจากกัน ทำให้อาจส่งผลกระทบต่อประเด็นด้านความมั่นคง โดยเฉพาะปัญหาการแบ่งแยกดินแดน

นักวิชาการชาวไทย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องจีน อย่าง อ.วรศักดิ์ มหัทธโนบล เองก็ยังระบุว่า การขุดคอคอดกระไม่ได้ช่วยร่นระยะเวลาในการขนส่งลงได้มากนัก แต่ที่สำคัญคือ คอคอดกระจะกลายเป็นปัญหาความมั่นคง ทำให้ “แผ่นดินทอง” อาจลุกเป็น “แผ่นดินเพลิง” ไปก็ได้ ทั้งจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้

ทั้งนี้ ไม่เพียงจีนเท่านั้นที่ต้องการเข้ามาแผ่อิทธิพลผ่านนโยบายหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) แต่สหรัฐอเมริกา และชาติตะวันตกก็รุกหนักเช่นเดียวกัน

เสี่ยง “แบ่งแยกดินแดน”

ในช่วงหลังการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม 2566 มีความเคลื่อนไหวของขบวนการแบ่งแยกรัฐปาตานี ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แทรกซึมเข้าไปสู่กระบวนการนักศึกษา โดยอ้างว่าทดลองทำประชามติแบ่งแยกรัฐปาตานี โดยอ้างถึงสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตัวเอง (Self-Determination) ของสหประชาชาติ โดยเรื่องนี้เคยนำมาชำแหละอย่างละเอียดไปแล้วหลายตอน

นอกจากนี้ ยังมีการเผยแพร่ แผนที่ออกมาว่ารัฐปาตานีที่จะตั้งเป็นรัฐเอกราชครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด คือ พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ พื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาสและ4 อำเภอของจังหวัดสงขลา


แต่มีแผนที่อีกชิ้นหนึ่งซึ่ง เคยถูกเผยแพร่ออกมาก่อนหน้าเป็นแผนที่ที่ใหญ่กว่า เป็นแผนที่อาณาเขตของรัฐปัตตานี (Map of Patani State) ที่จัดทำขึ้นนานแล้ว โดย โดยขบวนการ ‘เบอซาตู’ (BERSATU) ซึ่งเป็นองค์การร่มหรือองค์การกลางของขบวนการแบ่งแยกดินแดน 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งประกอบด้วย 4 กลุ่มสำคัญ ๆ ได้แก่ บีอาร์เอ็น พูโล บีไอพีพี และ มูจาฮิดิน ปัตตานี พยายามอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนให้ขยายออกไปเหนือพื้นที่ของปัตตานีเดิม กล่าวคือ ได้อ้างพื้นที่ด้านบนสุดไปถึงไหนรู้ไหมครับ? ... ไปจนถึงจังหวัดระนอง - ชุมพร ซึ่งประจวบเหมาะกับจุดที่เป็น “คอคอดกระ” พอดิบพอดี !

ภาพจาก Lue History
ทั้งนี้ทั้งนั้น เห็นได้ชัดว่า “การขุดคลองไทย” หรือ “คลองกระ” ไม่ได้เป็นปัญหาภายในของไทยเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนโดยตรง เพียงเท่านั้น หากยังสร้างประเด็นปัญหาที่ไทยมิได้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง นั่นคือ “ปัญหาความขัดแย้งในทะเลจีนใต้” รวมไปถึง “ปัญหาทางจุดยุทธศาสตร์ทางภูมิศาสตร์รัฐศาสตร์ของการเมืองในระดับโลก” ด้วย

โดย อย่างที่ทราบกันดีคือ ปัญหาทะเลจีนใต้เรื้อรังมานานหลายสิบปีแล้ว โดยประเทศที่เป็นคู่พิพาทคือจีน เวียดนาม มาเลเซีย บรูไนฟิลิปปินส์ ไต้หวันซึ่งมีการเชื้อเชิญชาติตะวันตก คือสหรัฐอเมริกาเข้ามาพัวพันด้วย แต่ปัญหาดังกล่าว ในทางตรง “ประเทศไทย” ของเราไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใด

ทว่า หากมีการขุด “คลองไทย” ขึ้นมาจริง ๆ พื้นที่นี้ก็มีโอกาสสูงที่จะกลายเป็น “จุดปะทะใหม่” เหมือนกับช่องแคบมะละกาหรือคลองสุเอซที่ในยุคอดีต เคยเป็นทั้งเส้นทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ที่สำคัญ จนนักล่าอาณานิคมตะวันตกต่างแย่งชิง และรุมทึ้งเพื่อหวังจะยึดครองกันมาก่อน

“คลองไทย” จะกลายเป็นจุดที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกมหาอำนาจโจมตี

จีน รัสเซีย สหรัฐฯ อินเดีย ออสเตรเลีย จะรุมทึ้งไทย จะเป็นการชักศึกเข้าบ้าน จนทำให้เกิดเหตุการณ์ช้างสารชนกันเหนือจุดยุทธศาสตร์นี้ ซึ่งหากเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้นจริง “หญ้าแพรก” อย่าง “ไทย” ก็มีแต่จะแหลกลาญเท่านั้น !


“ผมสรุปเรื่องนี้ ท่านผู้ชมครับ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากแลนด์บริดจ์เท่านั้น แลนด์บริดจ์จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทยอย่างสูงสุด แต่คลองกระ หรือคอคอดกระนั้น จะก่อประโยชน์ให้จีนอย่างสูงสุด ประเทศไทยจะรับแต่ความพินาศฉิบหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอนที่สุด” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น