xs
xsm
sm
md
lg

สิ้นหวัง! “อสส.นารี” 1 ปีในตำแหน่ง เดินทาง 132 วัน ใช้งบ 40 ล้าน 6 คดีฉาวเซ็นตั้ง กก.สอบ ไม่ปรากฏความคืบหน้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดข้อมูล 1 ปี “นารี ตัณฑเสถียร” นั่งตำแหน่งอัยการสูงสุด ใช้เวลาเดินทางทั้งในและต่างประทศ รวม 132 วัน เกินครึ่งวันทำงาน 240 วัน จนกระทั่งวันเกษียณยังเดินทาง ใช้งบรวมกว่า 40 ล้านบาท ขณะที่คดีอื้อฉาว 6 คดีที่เซ็นตั้งกรรมการตรวจสอบเอาไว้ ไม่ปรากฏความคืบหน้า



หลังการขึ้นดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดของ น.ส.นารี ตัณฑเสถียร ซึ่งเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ สังคมค่างคาดหวังว่า น.ส.นารี จะเข้ามาสะสางเรื่องราวอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในช่วงที่อัยการสูงสุดคนก่อนๆ ดำรงตำแหน่ง อาทิ ช่วงที่นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2562 ถึง ปี 2564 ที่เกิดกรณีนายเนตร นาคสุข ถูกคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) สั่งให้ออกจากราชการกรณีสั่งไม่ฟ้องฟ้อง นายวรยุทธ หรือ บอส อยู่วิทยา คดีขับรถสปอร์ตหรูชนตำรวจจราจรเสียชีวิต

นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์
ช่วงที่นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน ดำรงตำแหน่งระหว่างปี 2564 - 2565 ก็มีหลายคดี ที่เมื่อไปถึงมืออัยการแล้วกลับมีคำสั่งไม่ฟ้องอย่างน่าเคลือบแคลงสงสัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งคดี เกี่ยวกับเว็บไซต์พนันออนไลน์ยักษ์ใหญ่ 2 เจ้า คือนายแทนไท ณรงค์กูลและมาวินเบตซึ่งเมื่อคดีพ้นชั้นตำรวจ ไปสู่ชั้นอัยการสูงสุดในยุคนายสิงห์ชัย กลับมีคำสั่งไม่ฟ้อง

นายสิงห์ชัย ทนินซ้อน
เมื่อผนวกความไม่ชอบมาพากลในคดีอื่น ๆ เช่น คดีที่เชื่อมโยงกับกรณีทุนจีนสีเทาอย่างตู้ห่าว น.ส.นารี ตัณฑเสถียร จึงเหมือนถูกบีบให้ต้องทำการสะสางเรื่องอื้อฉาวที่เป็นเสมือนขยะใต้พรมในสำนักงานอัยการสูงสุดเหล่านี้


วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด มีคำสั่งที่ 420/2566 ตั้งคณะทำงานหลายคณะขึ้นตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีปรากฎเป็นข่าวตามสื่อมวลชน และที่มีผู้มาร้องเรียนเกี่ยวกับคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญา ที่ประชาชนให้ความสนใจและอาจมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของสำนักงานอัยการสูงสุด มี 5 คดี ประกอบด้วย
1.คดีเผาสวนงูภูเก็ตเชื่อมโยงกับกรณีตู้ห่าว และภรรยา
2.คดี ซี.พี.เค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กับพวก (บริษัทเครือเปรมชัย) ถูกกล่าวหารุกป่า
3.คดีนายแทนไท ณรงค์กูลกับพวก
4.คดีมาวินเบต ดอทคอมและ
5.คดียาเสพติดเมทแอมเฟตามีน 4 เเสนเม็ด ที่จังหวัดนนทบุรี

นอกจากนี้ยังพ่วงคดีที่ 6.นายกำพล วิระเทพสุภรณ์ กับพวกค้ามนุษย์ วิคตอเรีย ซีเคร็ท ตามหนังสือร้องเรียนของ นายชูวิทย์ กมลวิศิษฐ์ ฉบับลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงประธาน ก.อ.ด้วย


จากวันนั้น 28 กุมภาพันธ์ 2566 ถึงวันนี้ ผ่านไป 7 เดือน น.ส.นารี ตัณฑเสถียร เกษียณอายุไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2566 และมีนายอำนาจ เจตน์เจริญรักษ์ ขึ้นมาเป็นอัยการสูงสุดคนใหม่

แต่คดีทั้ง 6 คดี ที่ น.ส.นารีมีคำสั่งที่ 420/2566 ตั้งคณะทำงานขึ้นมาตรวจสอบ ประกาศก้องผ่านสื่อมวลชน ด้วยท่าทีขึงขัง บอกให้อำนาจคณะทำงานเต็มที่ 9 ข้อ พร้อมกับรายงานผลการตรวจสอบให้ น.ส.นารีทราบ ผ่านมา 7 เดือน กลับไม่เห็นมีการประกาศผลการตรวจสอบหรือข้อมูลการตรวจสอบให้ประชาชน หรือ สื่อมวลชนได้รับทราบแต่อย่างใด

ทั้งนี้ ข้อมูลจากรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” ดำเนินรายการโดยนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ เมื่อวันศุกร์ที่ 6 ตุลาคม 2566 ระบุว่า ช่วงเวลา 1 ปีที่ น.ส.นารี ตัณฑเสถียร ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2566 นั้น ได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการเดินทางทั้งต่างประเทศและในประเทศ


โดยในช่วง 1 ปี วันทำงาน 240 วัน น.ส.นารี ใช้เวลาเดินทางไปแล้วเกินครึ่ง เท่าที่ตรวจสอบได้ มีการเดินทางไปต่างประเทศ 90 วัน เดินทางในประเทศ 42 วัน รวมเป็น 132 วัน

สำหรับ การเดินทางไปต่างประเทศ จำนวน 90 วันนั้น น.ส.นารี ในฐานะอัยการสูงสุดอนุมัติตัวเองให้เดินทางไปต่างประเทศทั้งทวีปเอเชีย, ยุโรป, อเมริกาเหนือ, ตะวันออกกลาง รวม 14 ทริป ประกอบไปด้วยประเทศออสเตรีย, ไต้หวัน, ลาว, แคนาดา, เกาหลีใต้, ทูร์เคีย หรือ ตุรกี, ญี่ปุ่น, สหรัฐฯ, รัสเซีย, จอร์แดน, ฟินแลนด์, รัสเซีย (รอบที่ 2)และอังกฤษ

โดยทริปที่ 13 ไปอังกฤษคือ วันที่ 22-29 กันยายน 2566 น.ส.นารี ก็ไม่ได้อยู่เมืองไทยแม้แต่ในวันสุดท้ายก่อนเกษียณอายุราชการ

นอกจากนี้หลังจาก น.ส.นารีพ้นตำแหน่งอัยการสูงสุดไปแล้วยังมี ทริปที่ 14 อีก คือ การเดินทางไปประเทศฝรั่งเศส ช่วงวันที่ 1-11 ตุลาคม 2566 โดยเป็นการเดินทางไปกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และภูมิสารสนเทศ (GISTDA) แต่ยังเดินทางไปในนามของอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการสูงสุดอยู่

ลำดับการเดินทางของ นารี ตัณฑเสถียร ระหว่างการดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ช่วงตุลาคม 2565 - ตุลาคม 2566
สรุปแล้วในช่วงเวลา 1 ปี น.ส.นารี ใช้เวลาเดินทางทั้งในประเทศ และต่างประเทศรวม 30 ทริป ใช้งบประมาณไปมากมายกว่า 40 ล้านบาท เพราะเดินทางไปกับคนใกล้ชิด เครื่องบินก็นั่งชั้น First Class และ Business Class ตลอด จนได้เป็นสมาชิกระดับแพลทตินัมของการบินไทยไปเรียบร้อยแล้ว


“มีคนตั้งข้อสงสัยว่า ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริง ถ้าไม่จริงผมก็ยินดีให้คุณนารีชี้แจง เขาบอกอย่างนี้ครับว่า ที่คุณนารีเดินทางตลอด เพราะไม่อยากจะทำงาน เพราะตัวเองไม่สามารถทำงานทางคดีได้ เลยเบียดบังเวลาราชการ ไม่อุทิศตนให้กับงานราชการมากอย่างที่ควร ทั้ง ๆ ที่ดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นถึง ทนายแผ่นดิน หรือ ในภาษาอังกฤษคือ Attorney General” นายสนธิกล่าว

นี่คือภาพบางส่วนของ น.ส.นารี ที่เดินทางไปต่างประเทศที่มีการเผยแพร่ออกสู่สาธารณะ



วันที่ 9 สิงหาคม 2566 -  น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด พร้อมคณะเข้าร่วมการประชุมหารือเกี่ยวกับความร่วมมือทางอาญาและรับฟังปัญหากรณีการทำงาน (เก็บเบอร์รี่) ของคนไทยในสาธารณรัฐฟินแลนด์ ใน ณ สำนักงานอัยการสูงสุด สาธารณรัฐฟินแลนด์

ระหว่างวันที่ 2 - 5 พฤษภาคม 2566 - นางสาวนารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด และคณะเข้าร่วมการประชุมสมาคมอัยการระหว่างประเทศ (IAP) ระดับภูมิภาคแพนยุโรป ครั้งที่ 1 ณ เมืองอิสตันบูล สาธารณรัฐตุรกี

ระหว่างวันที่ 17 - 21 ตุลาคม 2565 - น.ส.นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด ผู้แทนประเทศไทย เข้าร่วมการประชุมรัฐภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ สมัยที่ 11 พร้อมคณะพนักงานอัยการ ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
“คุณนารีกลับมาจากดูงานที่ฝรั่งเศส ช่วยออกมาชี้แจงให้ประชาชชนทั่วไป รวมทั้งผม ทราบหน่อยนะครับ ว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาที่คุณเป็นอัยการสูงสุด นอกจากเดินทางไปโน่นไปนี่ ออกงานโน้นออกงานนี้ ถ่ายรูปลงโชว์ในเฟซบุ๊ก ลงโซเชียล สุดท้ายแล้ว คุณนารีครับ คุณนารีมีผลงานอะไรที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ?


“แล้ว 5-6 คดีที่ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ ประชาชนรวมทั้งผมก็ตั้งหน้าตั้งตารอความยุติธรรมอยู่นั้น สุดท้ายแล้วได้ผลสรุปว่าอย่างไร คงจะไม่กล่าวเกินเลยความเป็นจริงนะครับว่า คุณนารี หนึ่งปีที่อยู่ในสำนักงานอัยการสูงสุดนั้น ไม่ได้ทำงานเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่ได้มีผลงานอะไรออกมาให้ประชาชนได้รับทราบ


“ที่สำคัญที่สุด การตั้งคณะกรรมการออกมาตั้งกี่ชุด เพื่อมาตรวจสอบคดีที่ไม่ชอบมาพากล ที่ประชาชนสงสัยนั้น ผ่านไปแล้ว 7 เดือน จนกระทั่งวันที่คุณนารีเกษียณอายุนั้น ไม่มีความคืบหน้าเลยแม้แต่นิดเดียว นี่ผมไม่ได้จ้องจะหาเรื่องกับคุณนารีนะครับ แต่ผมคิดว่าการเป็นข้าราชการนั้น ต้องทำงานให้กับชาติบ้านเมืองอย่างสูงสุด 


"การประชุมต่างประเทศนั้นมีความสำคัญ แต่ผมคิดว่าเวลา 1 ปี ที่เป็นอัยการสูงสุด มันเป็นเวลาที่สั้นมาก ผมคิดว่าน่าจะใช้เวลา 1 ปีนั้นตั้งใจทำงานเพื่อให้ประชาชนมีความอุ่นใจ และที่สำคัญที่สุด ทำงานให้กับคนที่อยู่ในสำนักงานอัยการสูงสุดมีความรู้สึกว่า คุณนารี ตัณฑเสถียร ได้ทำงานอย่างสมศักดิ์ศรี ทำงานอย่างเต็มที่ แต่นี่กลับไม่ใช่” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น