xs
xsm
sm
md
lg

เลื่อนส่งดาวเทียมของไทย THEOS-2 กระแสไฟเกินเกณฑ์ ย้ำความปลอดภัยต้องมาก่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผยสาเหตุที่เลื่อนส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ของไทย ขึ้นสู่วงโคจรเพราะพบค่ากระแสไฟฟ้าเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด ที่อุปกรณ์ความปลอดภัยของจรวดนำส่ง รอกำหนดใหม่อีกครั้ง

วันนี้ (7 ต.ค.) เฟซบุ๊ก GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) โพสต์ข้อความกรณีการส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ของไทยขึ้นสู่วงโคจร ที่กำหนดไว้ในช่วงเช้าของวันนี้ ที่ท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา แต่ระบบมีการแจ้งเตือนปัญหาจากอุปกรณ์บางอย่าง จึงต้องเลื่อนการนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรออกไปก่อน

โดยระบุว่า "กรณีเลื่อนการนำส่งดาวเทียม เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ความปลอดภัยต้องมาก่อน ทั้งนี้ รอติดตามความคืบหน้าจากทาง Airbus และ GISTDA จะประกาศกำหนดการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ให้ทราบต่อไปครับ"

ต่อมาได้โพสต์ข้อความระบุว่า "‘Scrub’ สำหรับวงการเทคโนโลยีอวกาศ มีความหมายมากกว่าแค่ “ระงับ” กำหนดการที่กำลังเกิดขึ้น แต่ความหมายและที่มาที่ไปจริงๆ ของมันคืออะไร เรามีคำอธิบายครับ

คำว่า Scrub ในวงการอากาศยานแปลว่า การระงับอย่างกะทันหัน แตกต่างกับคำว่า Delay ตรงที่การ Delay หรือเลื่อนกำหนดการออกไปก่อนมักใช้เวลาตัดสินใจล่วงหน้าเป็นหลักปี เดือน หรือวัน แต่การ Scrub มักเป็นการตัดสินใจที่กระชั้นชิดกับเวลาปล่อยตัว

ในวงการอากาศยานแล้ว การจะ Scrub การบินได้จำเป็นต้องมีเงื่อนไขตรงตามข้อกำหนดขององค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ Federal Aviation Administration (FAA) โดยแบ่งเป็นสองหมวดหลักๆ คือ ปัญหาที่เกิดจากสภาพอากาศ และปัญหาทางเทคนิค

ปัญหาที่เกิดจากสภาพอากาศนั้นเป็นได้ทั้งมีเมฆหนาเกินไป มีพายุฝนฟ้าคะนองหรือมีฟ้าฝ่าในรัศมี 10 ไมล์ทะเลในช่วงเวลาภายใน 30 นาทีก่อนการปล่อยยาน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อตัวยานหรือนักบินได้

ส่วนปัญหาทางเทคนิคนั้นนับรวมตั้งแต่การขัดข้องของอุปกรณ์ภาคพื้นดินที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยยานไปจนถึงความเสียหายของชิ้นส่วนยานที่มีความเสี่ยงต่อการปล่อยตัวเช่นกัน

แต่ในการนำส่งเช้านี้ จะเป็นการส่งจากฐานปล่อยที่ French Guiana ที่เป็นมลรัฐหนึ่งของสาธารณรัฐฝรั่งเศส ดังนั้น จะยึดข้อกำหนดของศูนย์แห่งชาติเพื่อการศึกษาอวกาศ (CNES) เป็นหลัก ซึ่งหากวิเคราะห์จากข้อมูลที่ได้รับ ณ ปัจจุบัน จะสามารถคาดการณ์ได้ว่าสาเหตุของการเลื่อนนำส่งในเช้าวันนี้เกิดจากความไม่สมบูรณ์ทางเทคนิค โดยกำหนดการปล่อยยานอีกครั้งจะขึ้นอยู่กับระดับความไม่สมบูรณ์ที่ตรวจพบ ส่วนใหญ่มักกำหนดหลังจากทำการซ่อมแซมและทดสอบการทำงานของอุปกรณ์นั้นๆ ก่อน

ถึงแม้การนำส่งจะต้องล่าช้าออกไป แต่ความปลอดภัยต้องมาก่อน เพราะทุกก้าวของวงการเทคโนโลยีอวกาศต้องระมัดระวังอยู่เสมอครับ

สำหรับกำหนดการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 จะเป็นอย่างไร รวมถึงสาเหตุเชิงลึกของการเลื่อนนำส่ง ทางทีมงานจะรีบประสานรวบรวมความคืบหน้าและสรุปมาให้ท่านผู้อ่านโดยเร็ว รอติดตามกันนะครับ"

นอกจากนี้ยังระบุว่า "เลื่อนส่ง THEOS-2 เบื้องต้นพบสาเหตุจากระบบตรวจสอบพบสัญญาณผิดปกติของอุปกรณ์ในจรวดนำส่ง

กรณีการส่งดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 ของไทยขึ้นสู่วงโคจรในช่วงเช้าของวันที่ 7 ต.ค.ที่ ท่าอวกาศยานเฟรนช์เกียนา ทวีปอเมริกาใต้ และปรากฏว่าระบบมีการแจ้งเตือนว่าพบปัญหาจากอุปกรณ์บางอย่างจึงเลื่อนการนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรออกไปก่อนนั้น

น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยหลังจาก Arianespace แจ้งเลื่อนการนำส่งดาวเทียม THEOS-2 ก่อนนับถอยหลังเพียง 14 วินาที เนื่องจากระบบตรวจสอบได้พบค่ากระแสไฟฟ้าเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนด (threshold) ที่อุปกรณ์ Safety Management Unit ของจรวดนำส่ง ระบบจึงตัดการทำงานทั้งหมดโดยอัตโนมัติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบอย่างละเอียดจาก Arianespace ซึ่งคาดว่าจะทราบผลในช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค. (ตามเวลาท้องถิ่น) หรือคืนนี้ตามเวลาในประเทศไทย ส่วนกำหนดการส่งใหม่อีกครั้งจะเป็นวันและเวลาใด ทาง GISTDA จะแจ้งให้ทราบต่อไป"

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า สำหรับดาวเทียมสำรวจโลก THEOS-2 วงโคจรแบบสัมพันธ์กับดวงอาทิตย์ (Sun Synchronous Orbit) น้ำหนัก 425 กิโลกรัม อายุการใช้งานขั้นต่ำ 10 ปี มูลค่าโครงการ 7,800 ล้านบาท โคจรในระดับความสูง 621 กิโลเมตร รอบการโคจร 26 วัน สามารถบันทึกภาพที่มีความละเอียดระดับสูงมาก และส่งข้อมูลลงมาที่สถานีภาคพื้นดิน เพื่อนำมาสนับสนุนการพัฒนาประเทศทั้งการจัดทำแผนที่ที่มีความจำเป็นแก่นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ การจัดการเกษตร การจัดการน้ำแบบองค์รวม การจัดการภัยแล้ง น้ำท่วม การจัดการภัยธรรมชาติทุกรูปแบบ การจัดการเมือง และทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะการวางแผนเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจ ซึ่งจะครอบคลุมตั้งแต่ระดับตำบล อำเภอ จังหวัด










กำลังโหลดความคิดเห็น