จากพื้นดินน้ำท่วมขังในฤดูฝนไร่นาเสียหายเก็บเกี่ยวผลผลิตไม่ได้ตามฤดูกาล สัตว์เลี้ยงตายยกคอกขายไม่ได้ ราษฎรไร้ที่อยู่อาศัย ถนนหนทางภายในหมู่บ้านถูกน้ำท่วมขัง เคราะห์ร้ายในฤดูแล้งขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ แต่วันนี้บ้านกูแบสีราหมู่บ้านเล็กๆใน ตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี กลายเป็นพื้นดินสมบูรณ์ พืชผลนานาพันธ์เขียวขจีเต็มท้องทุ่ง น้ำท่าอุดมสมบูรณ์มีกินมีใช้อย่างเพียงพอในครัวเรือน สมดังคำว่า “ข้าวอยู่ในนาปลาอยู่ในน้ำ”
ความทุกข์แสนสาหัญของชาวกูแบสีรา หมู่บ้านในตำบลกอลำ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2544 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร โดยเสด็จสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส เพื่อทรงเยี่ยมราษฎรพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทรงรู้ว่าราษฎร ณ หมู่บ้านแห่งนีได้รับความทุกข์ยากแร้นแค้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ด้อยคุณภาพ ทุกชีวิตเหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เพราะบ้านกูแบสีราเป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีราษฎรอยู่เพียงไม่กี่หลังคาเรือน เป็นชาวไทยมุสลิมทั้งหมด ครั้นความทราบยังฝ่าละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ทรงศึกษาข้อมูลและทรงสอบถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ โดยเสด็จฯขึ้นไปบนบ้านของนายดอเลาะ บือแน ชาวมุสลิม ทำให้ทรงรับทราบปัญหาด้วยภาษายาวีผ่านล่ามว่า ราษฎรที่นี่ขาดแคลนน้ำดื่ม และเมื่อถึงฤดูฝนก็ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง เพราะไม่มีคูน้ำช่วยในการระบายน้ำ จึงพระราชทานคำแนะนำ และแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้หน่วยงานราชการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันบูรณาการแก้ไขปัญหาทั้งระบบพร้อมทั้งทรงรับโครงการพัฒนาพื้นที่บ้านกูแบสีราไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ
นายวันสุกรี แวะมามะ นายอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ย้อนภาพในอดีตความเดือดร้อนของชาวบ้านกูแบสีรา ว่าเป็นหมู่บ้านที่ยากจนที่สุดใน จ.ปัตตานีเลยก็ว่าได้ เพราะสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่ม ดินเป็นดินร่วนปนทราย ทางเข้าหมู่บ้านเป็นดินลูกรัง ราษฎรส่วนใหญ่ทำนาเป็นอาชีพหลัก และมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้นอย่างมาก ในช่วงฤดูฝน น้ำฝนจะไหลมาจากเขาตูมและเขาลานควาย ไหลทะลักเข้าสู่บริเวณพื้นที่การเกษตรของหมู่บ้าน ที่ถูกปิดกั้นโดยถนนและคันคูส่งน้ำ จึงทำให้น้ำเอ่อล้นทะลักเข้าสู่หมู่บ้าน เกิดน้ำท่วมขังบริเวณหมู่บ้าน นาข้าว พืชผักและไม้ผลได้รับความเสียหาย ไม่สามารถเก็บเกี่ยวพืชผลได้ตามฤดูกาล สัตว์เลี้ยงตายชาวบ้านไม่มีที่อยู่อาศัย ถนนหนทางภายในหมู่บ้านถูกน้ำท่วมขัง ยิ่งไปกว่านั้น ในฤดูแล้งไม่มีน้ำกินน้ำใช้ บ่อน้ำมีสนิมไม่สามารถใช้ดื่มกินได้ ราษฎรใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากเป็นอย่างมาก
เพื่อสานต่อแนวพระราชดำริ คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของราษฎร สามารถดำเนินชีวิตอย่างมีความสุขยั่งยืนบนความพอเพียงพออยู่พอกิน ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง จึงได้ผสานกำลังร่วมกันแก้ไขปัญหาทั้งระบบ ทำให้ราษฎรมีที่อยู่อาศัย และที่ทำการเกษตร โดยไม่ประสบปัญหาน้ำท่วมขัง และมีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคอย่างพอเพียง รวมถึงส่งเสริมอาชีพในการทำงานศิลปาชีพ ทำให้ราษฎรมีรายได้เสริม มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ยังประโยชน์แก่ราษฎรในพื้นที่บ้านกูแบสีรามาจนถึงปัจจุบันนี้
ผ่านมาแล้ว 20 ปี ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยพสกนิกรทุกหมู่เหล่าโดยมิได้ทรงแบ่งแยกเชื้อชาติศาสนา ทำให้ทุกวันนี้ชาวหมู่บ้านกูแบสีราจากหมู่บ้านเล็กๆที่ยากจนที่สุดในจังหวัดปัตตานี มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสามารถทำนาได้ปีละ2 ครั้งจากทำได้เพียงแค่ปีละหนึ่งครั้ง ข้าวให้ผลผลิต 500-700 กิโลกรัมต่อไร่ ปลูกพืชผักปลอดสารพิษตามศาสตร์พระราชาส่งขายตามตลาดและพื้นที่ต่างๆ ส่งผลให้แต่ละครัวเรือนมีรายได้จากการทำนาและขายผักมากถึง 180,000 บาทต่อปี ราษฎรมีการศึกษาระดับปริญญาตรีเพิ่มมากขึ้นถึง 17 คน และกำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาตรีอีก8 คน ซึ่งเมื่อก่อนผู้คนในหมู่บ้านได้รับการศึกษาเพียงแค่ขั้นพื้นฐานเท่านั้น
แม้รายได้อาจจะไม่มากมายเท่าไรนักถ้าเทียบกับการเดินทางมาทำงานในเมืองระฟ้า แต่ก็สามารถหล่อเลี้ยงทุกชีวิตในครอบครัวให้กินอิ่มนอนหลับอยู่ในชายคาบ้านของตัวเองได้อย่างสุขใจและมั่นคง ไม่ต้องละทิ้งถิ่นฐานบ้านเกิดเมืองนอนไปทำงานต่างบ้านต่างเมือง
และภาพแห่งความซาบซึ้งใจได้จารึกอยู่ในหัวใจของชาวกูแบสีราอีกครั้ง โดยเมื่อวันที่ 27 ก.ย. ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปพระราชทานรางวัลการทดสอบการอัญเชิญพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานระดับประเทศ ครั้งที่ 16 ประจำปี 2566 ณ มัสยิดกลางจังหวัดปัตตานี อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี ระหว่างทอดพระเนตรนิทรรศการโครงการพัฒนาพื้นที่บ้านกูแบสีราอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ อยู่นั้นทรงมีพระราชปฏิสันถารกับอดีตนายอำเภอเมืองปัตตานี ที่เคยถวายงานโครงการในพระราชดำริฯ เมื่อ20 ปีที่แล้วอย่างเป็นกันเองและไม่ถือพระองค์ พระสุรเสียงนั้นตอกย้ำให้เห็นถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยในทุกข์สุขของราษฎรเสมอมา
ขณะเดียวกันชาวบ้านกูแบสีรา ที่พร้อมใจกันมาเฝ้าฯรับเสด็จทุกคนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันด้วยความซาบซึ้งและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณด้วยภาษาไทยอย่างง่ายๆว่า “ชาวกูแบสีรา รักในหลวงที่สุด”
นางรอปิโอ๊ะ บือแน บุตรสาวของนายดอเลาะ บือแน ราษฎรที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯขึ้นไปทรงเยี่ยมบนบ้าน ย้อนอดีตความซาบซึ้งใจอันแจ่มชัดเมื่อ20 ปีที่แล้วผ่านล่ามภาษายาวี ว่า ตอนนั้นเธออายุ 40 ปี วินาทีที่เห็นในหลวง ซึ่งขณะนั้นทรงดำรงพระอิสริยศักดิ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯขึ้นมาทรงพูดคุยกับพ่อเธอปลื้มปิติและประทับใจอย่างไม่รู้ลืมเพราะไม่เคยมีเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินพระองค์ไหนเสด็จฯมาถึงที่นี้มาก่อนเลย ซึ่งพ่อของเธอได้ทูลขอโทรทัศน์จากพระองค์เพื่อจะเอาไว้ติดตามข่าวในพระราชสำนัก และผ่านมาอีก2 ปี พระองค์ได้เสด็จฯมาทรงเยี่ยมที่บ้านอีกครั้งและพระราชโทรทัศน์ให้แก่พ่อนับเป็นความสุขและความประทับใจเป็นล้นพ้นต่อครอบครัวของเธออย่างหาที่สุดมิได้
ขณะที่นายดอรอนิง กาหลง ผู้นำชุมชนหมู่บ้านกูแบสีรา กล่าวด้วยความซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณว่า นับตั้งแต่เมื่อปี 2544 ที่ในหลวงเสด็จฯมาทรงเยี่ยมที่นี้และทรงรับโครงการพัฒนาพื้นที่บ้านกูแบสีรา ไว้เป็นโครงการในพระราชดำริ ทุกวันนี้ชาวบ้านมีรายได้จากการขายข้าวและขายวัตถุดิบทางการเกษตรมาเลี้ยงดูครอบครัว บางครอบครัวมีรายได้จากการขายผลผลิตมากถึงสองแสนบาทต่อปีก็มี สามารถมีเงินส่งลูกหลานเรียนหนังสือในระดับชั้นที่สูงขึ้นได้อย่างไม่เดือดร้อน
“พระองค์ท่านเสด็จฯมาจังหวัดปัตตานีครั้งนี้พวกเราชาวปัตตานีและชาวบ้านกูแบสีรทุกคนดีใจที่สุด เพราะพวกเราชาวกูแบสีรารักในหลวงที่สุด ที่พวกเรามีชีวิตที่ลืมตาอ้าปากได้ในวันนี้ก็เพราะในหลวง”
นับเป็นบุญของพสกนิกรชาวไทยอย่างแท้จริง ที่ในหลวง ทรงเอาพระทัยใส่ในทุกข์สุขของราษฎรด้วยพระราชหฤทัยห่วงใยที่จะทรงขจัดความเดือดร้อนทั่วทุกหนแห่งให้หมดสิ้นไป