“สนธิ” เตือนนายกฯ เศรษฐา และ รมว.พลังงานเตรียมรับมือวิกฤติขาดแคลนน้ำมันเฉียบพลันทั่วโลก หลังรัสเซียและซาอุฯ ขยายเวลาลดกำลังผลิตต่อไป ทำให้สต๊อกน้ำมันลดลงอย่างรวดเร็ว องค์การพลังงานระหว่างประเทศคาดปลายปีนี้จะเกิดการขาดแคลน 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่งผลราคาน้ำมันดิบพุ่งเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” วันศุกร์ที่ 29 กันยายน 2566 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการได้กล่าวเตือนรัฐบาล ทั้งนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเกี่ยวกับการจัดการเรื่องน้ำมัน ที่ต้องระมัดระวังอย่างมากไม่เช่นนั้นจะเกิดปัญหาวิกฤติตามมา ซึ่งรัฐบาลเพิ่งแก้ปัญหาด้วยการลดราคาน้ำมัน ใช้กลไกลดภาษีสรรพสามิตและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาบริหารจัดการ โดย คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 2.50 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มต้นแต่วันที่ 20 กันยายน จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม2566
แต่มาตรการดังกล่าวเป็นการแก้ปัญหาชั่วคราว เป็น“ภาพลวงตา”เพราะการที่รัฐบาลแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการลดภาษีสรรพสามิต เอาเงินกองทุนน้ำมันมาโปะนั้น เป็นการบรรเทาชั่วคราว แต่เมื่อลดภาษีสรรพสามิตก็ทำให้รัฐบาลขาดรายได้ ขณะที่กองทุนน้ำมันของไทยก็จะอยู่ในสภาวะติดลบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
โดยตัวเลข ณ วันที่ 24 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา สถานะกองทุนน้ำมันติดลบอยู่ที่ 64,400 กว่าล้านบาทอีกไม่นานน่าจะทะลุเกินแสนล้านบาท และรัฐบาลก็จะต้องเอาเงินมาใส่ให้ เมื่อผสมกับการลดภาษีสรรพสามิตเพื่อแก้ผ้าเอาหน้ารอดไปก่อน ทำให้ดูเหมือนว่านรกกำลังจะมาเยือนเร็วๆ นี้ อาจไม่เกินสิ้นปีนี้
นายสนธิกล่าวว่า การลดราคาน้ำมัน ทำให้สถานะกองทุนฯ ต้องติดลบเพิ่มขึ้นถึงเดือนละกว่า 16,000 ล้านบาท ติดลบไปอีก 3 เดือนบวกกับอีก 64,000 ล้านก็เป็น 1 แสนล้าน
ปัญหาน้ำมันนั้นคนทั่วไปและสื่อมวลชนอาจจะยังไม่ค่อยรู้ แต่คนที่อยู่ในแวดวงพลังงานนั้นขนหัวลุกกันทุกคน เพราะรู้ว่า เรื่องที่เลวร้ายที่สุดกำลังจะเกิดขึ้น นั่นคือภาวะ Oil Shock ที่รุนแรงที่สุดภายในรอบ 10 ปี ภายในช่วงสิ้นปีนี้
จับตาปลายปี โลกเกิดภาวะ Oil Shock
วันที่ 13 กันยายน 2566 วันเดียวกับที่มีการประชุม ครม.เศรษฐา นัดแรก องค์การพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA รายงานว่าภายในปี 2567 สินค้าคงคลังน้ำมันดิบจะลดลงอย่างมาก จนทำให้ตลาดน้ำมันอาจเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนอุปทานที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่าทศวรรษ ในช่วงสิ้นปี 2566 นี้ เนื่องจากการลดกำลังการผลิตโดยผู้ผลิตรายใหญ่อย่างซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย
คาดว่าตลาดน้ำมันจะเผชิญกับการขาดแคลน 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงครึ่งหลังของปี หลังจากที่มอสโกและริยาดประกาศแผนการที่จะขยายการลดการส่งออก และการผลิตในช่วงปี 2566
วันที่ 12 กันยายน 2566 องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก หรือ OPEC ระบุในรายงานอีกฉบับว่า ปริมาณการขาดแคลนอาจสูงถึง 3.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในไตรมาสที่ 4 หากผู้นำของกลุ่ม OPEC+ คงการลดกำลังการผลิตไว้
เมื่อสัปดาห์ที่แล้วยัง รัสเซียประกาศว่า จะขยายเวลาการลดการส่งออกน้ำมันโดยสมัครใจอีก 300,000 บาร์เรลต่อวัน โดยการที่รัสเซียประกาศระงับส่งออกน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซินทั่วโลกก็เพื่อรักษาเสถียรภาพภายในประเทศ แต่ยกเว้นให้สามารถส่งออกไปยัง 4 ประเทศสมาชิกสหภาพโซเวียต ได้แก่ เบลารุส, คาซัคสถาน, อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน
ด้วยเหตุนี้จึงมีนักวิเคราะห์ออกมาแสดงความกังวลว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้การประเมินสถานการณ์น้ำมันโลก เป็นไปได้ยาก พร้อมเตือนว่าหลายประเทศอาจได้รับผลกระทบในการจัดหาเชื้อเพลิงให้ทันก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว และอาจเกิดการขาดแคลนที่รุนแรงขึ้นในไตรมาส 4 ได้
การการห้ามส่งออกดังกล่าวของรัสเซีย สอดคล้องกับการที่ซาอุดิอาระเบียปฏิบัติตามและขยายเวลาการลดการผลิตโดยสมัครใจ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จนถึงธันวาคม 2566
ตัวเลขประเทศผู้ส่งออกน้ำมันมากที่สุดของโลกในปี 2565 โดย ซาอุดิอาระเบียส่งออกน้ำมันดิบมากเป็นอันดับที่ 1 ส่วนรัสเซียนั้นเป็นอันดับที่ 3
นอกจากการลดกำลังการผลิต และห้ามการส่งออกของประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันสำคัญของโลกระดับ Top 3 อย่าง ซาอุฯ และรัสเซียแล้ว IEA ยังเตือนด้วยว่า จากสาเหตุข้างต้นจะส่งผลให้ สต็อกน้ำมันดิบจะหมดลงอย่างรุนแรงภายในปี 2567 ส่งผลให้ราคาน้ำมันตกอยู่ในภาวะตกตะลึง หรือ Oil Shock นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจีนจะไม่มีปัญหาเพราะซื้อน้ำมันจากรัสเซียตุนไว้ทุกวัน โดยที่รัสเซียไม่ได้แซงชั่น จีนจึงจะรอด แต่กลุ่มประเทสอาเซียนจะเจ็บเนื้อเจ็บตัว
ถ้าเรามีสายสัมพันธ์กับอิหร่านและกับรัสเซียอย่างดี เพราะสองประเทศนี้ชอบประเทศไทยมาก อยากเป็นมิตรกับเรา แต่เรากลับทำตามฝรั่งวอชิงตันและอียูที่ให้บอยคอตทั้งรัสเซียและอิหร่าน
เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว วันที่ 22 กันยายน 2566 ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ทั่วโลก พุ่งสูงทะลุ 93 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสอินเตอร์มีเดียต (WTI) ของสหรัฐฯ ก็พุ่งขึ้นไปทะลุ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเช่นกัน เพราะฉะนั้น อาจจะสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า ราคาน้ำมันดิบอาจจะเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยอาจจะสูงถึง 120 ดอลลาร์ อย่างแน่นอน
ด้วยเหตุนี้ บริษัทวิเคราะห์อย่าง JPMorgan Chase & Co. และ RBC Capital Markets จึงคาดการณ์ว่า จากราคาน้ำมันปรับตัวขึ้นมากกว่า 25% นับตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2566 ท่ามกลางความต้องการเชื้อเพลิงทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น และอาจพุ่งขึ้นมาเหนือ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอาจจะพุ่งขึ้นไปถึง 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ภายใน 3 ปี ด้วยซ้ำ
ปัญหาด้านราคาน้ำมันดังกล่าว จะเข้ากระทบ และซ้ำเติมเศรษฐกิจของไทย และของโลก โดย
1.เศรษฐกิจของประเทศจีนยังประสบปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนที่มีการก่อสร้างมากเกินความต้องการเป็นจำนวนมาก อีกทั้งปัญหาหนี้เสีย ทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงอย่างมาก และอาจจะต้องใช้เวลาอีกพักใหญ่ในการแก้ไข
2.การที่เศรษฐกิจจีนชะลอตัว จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภูมิภาคเอเชีย โดยเฉพาะเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาเศรษฐกิจจีนค่อนข้างมาก ทั้งการส่งออกและการท่องเที่ยว
3.นอกจากนี้ จากการเลือกตั้งและการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ทำให้การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ลดลง 4.3% ต่อเนื่องจากการลดลง 6.3% ในไตรมาสก่อนหน้า
4.ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ค่อนข้างย่ำแย่ และน่าจะขยายตัวต่ำกว่าการคาดการณ์ของแบงก์ชาติ หลังจากที่ไตรมาสที่สองของปีนี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 1.8% เท่านั้น
5.ที่สำคัญการส่งออกในปีนี้ก็จะติดลบ โดยตั้งแต่ต้นปีการส่งออกติดลบไปแล้ว -5.5% และการท่องเที่ยวที่จะต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้จะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยลดลงมาก ด้วยเหตุนี้รัฐบาลเศรษฐาจึงต้องกระตุ้นการท่องเที่ยว การยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยวจากจีน และคาซัคสถาน ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อวันจันทร์ที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา
จากปัญหาด้านภาวะการขาดแคลนน้ำมันอย่างเฉียบพลัน ราคาน้ำมันที่จะพุ่งสูงขึ้นในช่วงปลายปี 2566 นี้ และอาจจะสูงขึ้นต่อเนื่องไปถึงปีหน้า 2567 ซึ่งแน่นอนว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นมีผลโดยตรงต่ออัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากน้ำมันเป็นต้นทุนหลักในการขนส่ง การผลิตสินค้าต่าง ๆ ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่ภาวะที่ส่งผลต่อราคาสินค้าและค่าครองชีพที่จะเพิ่มขึ้นอีกอย่างแน่นอน
เหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด และเตรียมตัวรับมือไว้แต่เนิ่นๆ