xs
xsm
sm
md
lg

“หยู คนบ้าบิ่น” เบื้องหลัง “หัวเว่ย” คว้าชัยศึกสมาร์ทโฟน?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผยโฉม “หยู เฉิงตง” เจ้าของฉายา Crazy Yu ซีอีโอผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ “หัวเว่ย” ในตลาดสมาร์ทโฟน และล่าสุดเอาชนะสงครามเทคโนโลยี เปิดตัวมือถือรุ่นใหม่ ใช้ชิปไฮเทคที่จีนผลิตเองได้ หลังถูกสหรัฐฯ แบนอย่างหนักหน่วงมาหลายปี



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” วันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2566 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงบุคคลที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของของหัวเว่ย ยักษ์ใหญ่ในแวดวงโทรคมนาคมของจีนและของโลกที่ล่าสุดได้เปิดตัวสมาร์ทโฟนรุ่น Huawei Mate 60 Pro โดยใช้ชิปขนาด 7 นาโนเมตรที่จีนผลิตได้เอง ถือเป็นการพลิกเกมด้านเทคโนโลยีของจีน หลังจากสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรแบนการส่งชิปไฮเทคให้จีนมาตั้งแต่ปี 2562


ทั้งนี้ คนที่อยู่เบื้องหลัง Mate 60 Pro สมาร์ทโฟนสะเทือนโลกนั้นมีชื่อว่า หยู เฉิงตง (余承东) หรือ ริชาร์ด หยู มีตำแหน่งเป็น ซีอีโอของ กลุ่มหัวเว่ย คอนซูเมอร์ บิสเนส (Huawei Consumer Business Group) ที่ดูแลผลิตภัณฑ์ไอทีฝั่งผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ จอมอนิเตอร์ สมาร์ทวอทช์ และหูฟังไร้สาย นั้นเขามีฉายาว่า “หยูคนบ้าบิ่น (Crazy Yu)” หรือหยู จอมเพี้ยน

เพราะ “หยู เฉิงตง” ถือเป็นตัวตึงในบริษัทที่มักจะคิดไอเดียแหกคอก และสร้างความเปลี่ยนแปลงที่น่าตื่นเต้นตกใจให้กับคนใน Huawei อยู่เสมอ

แต่สำหรับคนภายนอก หยู เฉิงตงเป็นผู้บริหารหัวเว่ยที่ชัดเจน กล้าทำกล้าพูด จนได้ฉายาว่า“หยูปากดี (Big Mouth)” ที่มีความมั่นใจสูงและกล้าประกาศต่อหน้าสาธารณชนในงานเปิดตัวหัวเว่ย P6 ด้วยวลีเด็ด "Far ahead หรือ แปลเป็นไทยก็คือ ล้ำหน้าสุดๆ" เพื่ออธิบายความเฉียบขาดของสมาร์ทโฟน Huawei


คำของพ่อที่เคยสอนเขาเสมอ ๆ ตั้งแต่เด็กว่า “จั้วเหรินจิ้วเย่าเซี่ยงไม่ซุ่ย, สื่อจงตีเจอะโถว (做人就要像麦穗,始终低着头) แปลเป็นไทยก็คือ “เกิดเป็นคน จงใช้ชีวิตให้ถ่อมตัวและระมัดระวังเหมือนข้าวสาลี ยิ่งรวงข้าวโน้มต่ำลง แสดงว่าเมล็ดข้าวเต็ม” หรือกล่าวสั้น ๆ ก็คือ “ยิ่งอยู่สูงยิ่งต้องนอบน้อม”

คำสอนจากพ่อดังกล่าว หยู เฉิงตง กลับเดินสวนทางเลย เพราะคติพจน์ชีวิตที่ เขาเชื่อนั้นคือ “ตราบใดที่ศีรษะของเขายังเชิดได้อยู่ แสดงว่าชีวิตยังคงทระนงอยู่"

หยู เฉิงตง เกิดเมื่อปี 2512 ปัจจุบันอายุ 54 ปี ในครอบครัวชนบทของเขตฮั่วชิว (霍邱) มณฑลอันฮุย ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นมณฑลหนึ่งของประเทศจีนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นมณฑลที่ยากจนอดีตประธานาธิบดีจีนอย่าง หู จิ่นเทา และอดีตนายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ก็เกิดที่มณฑลนี้ อาจเป็นเพราะว่าเด็กในมณฑลนี้เกิดมายากจนจึงต้องสู้ชีวิตให้ถึงที่สุด


เขาขาดสารอาหารตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และมักจะหิวเมื่อไปโรงเรียน แต่มุ่งมั่นการเรียนจนสามารถเข้าวิทยาลัย Northwestern Polytechnical University สาขาวิทยาศาสตร์ได้คะแนนสูงสุด และ จบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชิงหัว ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีอันดับ 1 ของจีน เปรียบได้กับ MIT ของสหรัฐอเมริกา

หยู เฉิงตง เริ่มทำงานกับหัวเว่ยในปี 2536 (เท่ากับว่าปีนี้ทำงานกับบริษัทมาครบ 30 ปีพอดี)ด้วยวัย 24 ปีในตำแหน่งช่างเทคนิค โดยมีเงินเดือนเพียง 800 หยวน (ราว 4,000 บาท) ไม่มีใครคาดคิดว่าหนุ่มที่พูดสำเนียงเหน่อ ๆ บ้าน ๆ ของอันฮุย จะกลายเป็นผู้บริหารคนสำคัญของหัวเว่ยที่ผลิตสินค้าที่พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินได้

เขาพัฒนาตัวเองในฝ่ายวิจัยและพัฒนาระบบควบคุมโปรแกรม ดิจิทัลรุ่นแรกของหัวเว่ย และในเวลานั้น เหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้งหัวเว่ยได้ใช้ “ยุทธศาสตร์เมืองล้อมชนบท” โดยส่งพนักงานหัวเว่ยจากเซินเจิ้นเดินสายไปขยายตลาดตามหมู่บ้านในเมืองต่างๆ ทาง หยู เฉิงตงทำงานเข้าตา ผลงานดี ได้รับเลื่อนตำแหน่งขึ้นมาเรื่อย ๆ

 เหริน เจิ้งเฟย
แต่หยูมีความทะเยอทะยานมากกว่านั้น ในปี 2541 เขาเสนอโครงการการสื่อสารไร้สาย โดยรับผิดชอบธุรกิจ 3G ซึ่งเป็นธุรกิจใหม่ที่หัวเว่ยไม่เคยทำและไม่มั่นใจ

ประการแรก อุตสาหกรรมโทรคมนาคมจีนขณะนั้นยังเพิ่งเริ่มต้น มีอุปสรรคทางเทคโนโลยีสูง และตลาดจีนส่วนใหญ่ถูกครอบงำโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านโทรคมนาคมจากประเทศที่พัฒนาแล้ว

ประการที่สอง การวิจัยและพัฒนานี้ต้องใช้เงินลงทุน 6 พันล้านหยวนเทียบเท่ากับหนึ่งในสามของงบประมาณวิจัยของ Huawei ซึ่งมีเสียงคัดค้านรุนแรงจากผู้บริหารอื่นๆในบริษัท แต่ นายเหริน เจิ้งเฟย นายใหญ่ของหัวเว่ย ที่มีวิสัยทัศน์ได้ให้โอกาสและสนับสนุนคนหนุ่มอย่าง หยู เฉิงตง เต็มที่ แต่งตั้งเขาเป็นผู้อำนวยการแผนกสื่อสารไร้สายของหัวเว่ยที่มีเป้าหมายธุรกิจ 3G ในปี 2546 หลังจากที่ เหริน เจิ้งเฟย ตัดสินใจลงทุน 1 พันล้านหยวน เพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมผลิตสมาร์ทโฟน แม้ว่า Huawei จะครองตำแหน่งที่โดดเด่นในภาคธุรกิจผู้ให้บริการ แต่ก็เป็นผู้มาใหม่ในธุรกิจสมาร์ทโฟน

ในปี 2546 หยู เฉิงตง ได้นำผลิตภัณฑ์ธุรกิจให้บริการ 3G ของหัวเว่ย ไปยังยุโรปเพื่อสำรวจตลาด แต่ในเวลานั้น Huawei ไม่มีชื่อเสียงและไม่มีใครสนใจเรื่องนี้ หลังจากการทำงานหนักเป็นเวลาหลายเดือน ในที่สุดผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายเล็กของฝรั่งเศสก็ร่วมมือกับ Huawei

ภาพสถานีฐานแบบแยกส่วนของหัวเว่ย
แต่ระหว่างการเจรจา หยู เฉิงตง พบว่าสถานีฐาน 3G ของบริษัทต่างประเทศขนาดใหญ่มีน้ำหนักมากและบำรุงรักษายากค่าใช้จ่ายสูง เขาจึงตัดสินใจรวดเร็ว เปลี่ยนทำสถานีฐานแบบแยกส่วนที่น้ำหนักเบา แต่ต้องเผชิญกับการต่อต้านภายในบริษัท เพราะลงทุน 3G ยังไม่ทันไร ยังไม่ได้ผลตอบแทนคืนเงินลงทุน 6,000ล้านหยวนเลย จะไปเสี่ยงกับการลงทุนรอบใหม่อีก และถูกตั้งคำถามว่าในโลกนี้ใครเขาออกแบบสถานีฐานแบบนี้หรือไม่? ใช้งานได้ดีหรือเปล่าและทำไมเราต้องเปลี่ยนมันด้วย? หยู เฉิงตงเริ่มหงุดหงิดและตบโต๊ะระหว่างประชุมว่า เราต้องทำ ไม่งั้นจะตามหลังอีริคสัน

ในที่สุด เหริน เจิ้งเฟย เจ้าของบริษัทก็ตัดสินใจเสี่ยงอีกครั้ง และพิสูจน์แล้วว่าเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง เพราะในเวลาเพียงหกเดือน การพัฒนาสถานีฐานแบบแยกส่วนให้สัญญาณที่แรงกว่า

นวัตกรรมนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก และ Huawei ได้รับคำสั่งซื้อมูลค่า 25 ล้านดอลลาร์จากบริษัทสัญชาติดัชต์ ทำให้หัวเว่ยสร้างชื่อเสียงในยุโรป และยังคงต่อยอดความสำเร็จนี้ต่อไปในปี 2550 หัวเว่ยได้พัฒนาสถานีฐานรุ่นที่สี่ซึ่งสามารถแบ่งปัน 2G, 3G และ 4G ได้ ซึ่งทำให้สถานะของ Huawei แข็งแกร่งขึ้น


ในปี 2555 Huawei ได้ลงนามสัญญากับผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ของยุโรป 12 แห่งจากทั้งหมด 15 รายที่มีส่วนแบ่งการตลาด 33% ในตลาดการสื่อสารไร้สายของยุโรป ไม่ต้องสงสัยเลยว่า Huawei มาถึงจุดสูงสุดแล้ว ณ จุดนั้น

ผลงานนี้เกิดขึ้นหลังจากที่ หยู เฉิงตง บุกตลาดยุโรปและอเมริกาสำเร็จ และในปี 2554 ทาง เหริน เจิ้งเฟย ได้ออกคำสั่งโอนเขากลับมาบริหารดูแลธุรกิจเรือธงสมาร์ทโฟน Huawei ที่จีน เพราะผลประกอบการยอดขายและกำไรของธุรกิจสมาร์ทโฟนของ Huawei ภายใต้ผู้บริหารคนเก่า 3 คนไม่มีความคืบหน้า

เหริน เจิ้งเฟย รู้นิสัยของหยูดีกว่าใคร ๆ ว่าเมื่อเขารับปากตั้งใจจะทำอะไรสักอย่าง เขาจะทุ่มสุดตัวและหยุดทำอะไรไม่ได้เลย จนกว่าจะบรรลุเป้าหมาย

จากเดิมที่ Huawei รับจ้างผลิต โดยส่วนใหญ่ผลิต OEM และฟีเจอร์โฟนคือมือถือระดับกลาง แต่เมื่อการสื่อสารไร้สาย 3G เริ่มแพร่หลาย และมีสมาร์ทโฟนแบรนด์ประสิทธิภาพสูงจากต่างประเทศ เช่น Motorola ,Ericsson, Sharp ,Nokia เข้าสู่ตลาดจีน ยอดขายสมาร์ทโฟนของ Huawei ก็ลดลงทุกปี


ด้วยเหตุนี้ เมื่อหยู เฉิงตง ที่ได้รับฉายาว่า "Crazy Yu" เข้ามามีอำนาจบริหารธุรกิจโทรศัพท์มือถือของหัวเว่ย เขาตัดสินใจเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่อย่างรุนแรง คือ

- เขาตัดธุรกิจฟีเจอร์โฟน และธุรกิจมือถือโทรศัพท์ระดับล่างออกไป90%

- มุ่งเน้นตลาดระดับไฮเอนด์ โดยตั้งเป้าหมายว่า “อย่างน้อยเราควรจะเป็น Audi หรือ Porsche ของอุตสาหกรรมสมาร์ทโฟน” ท่ามกลางเสียงหัวเราะเยาะของคนในวงการเพราะในปี 2554 นั้น สถานการณ์ตกต่ำของโทรศัพท์มือถือ Huawei ดูน่าสังเวช

-ปรากฏว่าการตัดสินใจครั้งนี้ของหยู เฉิงตง ส่งผลให้ยอดขายโทรศัพท์มือถือของ Huawei ลดลง 30 ล้านเครื่อง รายได้ลดฮวบ คนในบริษัทเริ่มประท้วง ต่อต้านแนวทางของเขาอย่างรุนแรง บางคนถึงกับเขียนจดหมายร้องทุกข์กล่าวโทษหยู วางบนโต๊ะทำงานของท่านประธาน เหริน เจิ้งเฟย ซึ่งยังยืนอยู่ข้างหยู เฉิงตง และประกาศว่า “การไม่สนับสนุนหยู เฉิงตง ก็หมายความว่าไม่สนับสนุนผมเช่นกัน”


ปี 2555 หยู เฉิงตง และทีมของเขาเปิดตัว Huawei Ascend P1 สมาร์ทโฟนเครื่องแรกของ Huawei ราคาเครื่องละ 305 เหรียญสหรัฐ ไม่ประสบผลสำเร็จทางการตลาด ขายได้เพียง 500,000 เครื่องเท่านั้น เพราะโทรศัพท์เครื่องนี้ใช้งานยากและการเกิดปัญหาบ่อยครั้งจากเครื่องช้าและร้อนเกินไป เหตุนี้ทำให้ เหริน เจิ้งเฟยรู้สึกหงุดหงิดมากจนเขาขว้างโทรศัพท์ใส่หน้าของหยู เฉิงตง และสั่งตัดโบนัสประจำปีของหยู เฉิงตง

ปีถัดมา พฤษภาคม 2556 หยู เฉิงตงไม่ยอมแพ้ เขายังคงไล่ตามความฝันและเปิดตัว Huawei Ascend P2 สมาร์ทโฟน ราคา 525 เหรียญสหรัฐ แต่ก็พบกับชะตากรรมเดียวกัน คือประสบของความล้มเหลว ทำให้เกิดข่าวลือภายใน Huawei ว่า หยู เฉิงตง อาจถูกปลดออกจากตำแหน่ง หลังจากผลกำไรทั้งหมดของธุรกิจสมาร์ทโฟนหัวเว่ยที่เขาดูแลนั้นลดลงต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคาร

แม้จะล้มเหลวซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่หยู เฉิงตง ยังไม่ยอมแพ้ เขาเริ่มใช้ปัญญาแก้ไขในสิ่งผิด โดยเรียนรู้ศึกษาวิธีของ เหลย จุน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Xiaomi โดยเริ่มจากสร้างบัญชี Weibo ของเขาเองเพื่อสื่อสารโดยตรงกับลูกค้า และส่งพนักงานด้านออกแบบและวิจัยพัฒนาลงไปสำรวจตลาดและรับฟังปัญหาการใช้โทรศัพท์หัวเว่ยของลูกค้าด้วยตัวเอง

เขาทุ่มเทผลักดันพนักงานของเขาอย่างไม่ลดละ บางครั้งโทรหาพนักงานตอนดึกเพื่อหารือเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสมาร์ทโฟน และรับผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทอย่าง Nokia และ Samsung มาทำงานด้วย


จนกระทั่ง เดือนมิถุนายน 2556 ผลงานจากความมานะพยายามของทีมงาน ก็ประสบความสำเร็จ เปิดตัวสมาร์ทโฟน Huawei Ascend P6 ราคาเครื่องละ 600 เหรียญสหรัฐฯ ที่มีความบางที่สุดในโลกเพียง 6.18 มิลลิเมตร

หยู เฉิงตงมั่นใจมากๆกับโทรศัพท์เครื่องนี้ได้เตรียมขายไว้ถึง 3 ล้านหน่วย แต่ปีนั้น Huawei P6 ขายได้ถึง 4 ล้านเครื่อง นับเป็นชัยชนะน่าประทับใจของหยู เฉิงตง

ความสำเร็จของ Huawei Ascend P6 กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับธุรกิจสมาร์ทโฟนของ Huawei หลังจากนั้น Huawei ได้เปิดตัวรุ่นใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับชิป Kirin ของตัวเอง และเริ่มต้นเข้าสู่ยุคทอง ยอดขายโทรศัพท์มือถือเติบโตอย่างรวดเร็วและมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2561 ยอดขายโทรศัพท์มือถือของ Huawei ทะลุ 200 ล้านเครื่องแซงหน้า Apple หัวเว่ยขึ้นเป็นอันดับสองของโลก

และใน ปี 2562 แซงหน้า Samsung และหัวเว่ยครองอันดับหนึ่ง!

ในช่วงเวลานี้ หยู เฉิงตง แสดงความมั่นใจมากในงานแถลงข่าวหลายครั้ง โดยบอกว่าเขาจะเหนือกว่า Apple ภายในสองปีและ Samsung ภายในห้าปี!คำพูดที่ยโสโอหังของเขาสร้างความอึ้งและประทับใจชาวเน็ตอย่างชัดเจน ทำให้เขาได้รับฉายาว่า “หยู ต้าจุ่ย (余大嘴)” หรือ “หยูขี้โม้ "


ในปี 2562 ตอนที่ธุรกิจโทรศัพท์มือถือของ Huawei อยู่ในจุดสูงสุด จู่ๆ สหรัฐฯ ก็บังคับใช้การควบคุมการส่งออกชิป ซอฟท์แวร์ และอุปกรณ์ต่าง ๆ ส่งผลให้ Huawei พังทลายกลายเป็นเทวดาตกสวรรค์ เพราะขาดแคลนชิป ผลประกอบการโทรศัพท์มือถือของ Huawei ในปี 2563 ก็หลุดออกจาก 5 อันดับแรกของโลก ดูเหมือนว่าอนาคตของโทรศัพท์มือถือของ Huawei จะมืดมนหลังจากที่สหรัฐอเมริกาคว่ำบาตรจีนเต็มพิกัด ไม่สามารถนำเข้าชิประดับไฮเอนด์จากต่างประเทศ และไม่สามารถใช้ระบบ Android ของกูเกิลได้


“แม้ในอนาคตเราจะถูกแบนไม่ให้ใช้ Android ก็ไม่เป็นไร Huawei เตรียมพร้อม และเรามีแผนสำรองไว้แล้ว..” หยู เฉิงตง ผู้บริหารหัวเว่ยกล่าว

ในปี 2564 หัวเว่ยเปิดตัวสมาร์ทโฟน Mate50 หยู เฉิงตงไม่กล่าวคำว่า ล้ำหน้ากว่าใคร (Far ahead) อีก แต่เขาพูดว่า “อย่างที่ทุกคนรู้ๆ กันอยู่ว่า การคว่ำบาตรของสหรัฐ 4 รอบ เราใช้ชิป 5G ของเราในลักษณะของชิป 4G” และพูดเสริมว่า “และชิปใหม่ที่เราใช้ยังคงใช้ได้ดีอยู่และก็ไม่เป็นไร”


ช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2565 Huawei ได้เปิดตัว P50 Pro อย่างเงียบๆ โทรศัพท์เครื่องนี้เป็นโทรศัพท์เครื่องแรกของ Huawei ที่ไม่มีระบบ Android และกล่าวไว้อย่างมีนัยสำคัญว่า

จากใจแม่ทัพหัวเว่ย “หยู เฉิงตง” ที่นำโทรศัพท์มือถือ Huawei กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง หลังจากตกลงสู่เหวของการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ เป็นการกลับคืนมาของทั้งชิปและ 5G ที่หยู เฉิงตง นำทัพสู้กลับอย่างไม่ย่อท้อ เพราะหัวเว่ยเป็นบริษัทที่ครอบครองสิทธิบัตร 5G จำนวนมากมายที่สุดในโลก

โทรศัพท์มือถือ Huawei ต้องเผชิญกับความขึ้น ๆ ลง ๆ มากเกินไปในช่วง 30 ปี หยู เฉิงตงได้ร่วมทัพจับศึกฝ่าข้าศึกศัตรู และอยู่ในกระบวนการเติบโตอย่างน่าทึ่งของ Huawei และยืนหยัดเคียงข้างบริษัทในยามวิกฤติต่าง ๆ มากมาย บางคนชื่นชมเขา ในขณะที่บางคนเกลียดเขา แต่เขาไม่เคยหยุดวิ่ง วิ่งไม่ได้ก็เดิน เดินไม่ได้ก็คลาน และในทุก ๆ การตัดสินใจ เขาได้แสดงความชัดเจน ความมุ่งมั่นแน่วแน่ และการปฏิเสธที่จะประนีประนอมโดยสิ้นเชิง

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา หลังจากอเมริกาคว่ำบาตรขึ้นบัญชีดำหัวเว่ยและบริษัทสัญชาติจีน 70 แห่งโดยสหรัฐฯ อ้างความกังวลต่อความมั่นคงแห่งชาติ กิจการของหัวเว่ยและ หยู เฉิงตง ผู้บริหารระดับสูงของหัวเว่ยต้องประสบกับช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดในชีวิตของเขา แต่เขาไม่ยอมจำนนหรือยอมแพ้ ยิ่งกดดัน ยิ่งแข็งแกร่งดุจเพชร

“สมาร์ทโฟนเรือธง Huawei ของเราอยู่บนเส้นทางแห่งการฟื้นคืนกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง เมื่อมองย้อนกลับไปเมื่อสี่ปีที่ผ่านมา เราได้เอาชนะความยากลำบากนับไม่ถ้วน และเมื่อเรามองย้อนกลับไป เรือธงของเราได้แล่นผ่านภูผานับพัน”


นี่คือคำพูดที่ลึกซึ้งของ หยู เฉิงตง ในวันที่ ที่หัวเว่ยเปิดตัว Mate 60 Pro ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์การพัฒนาสมาร์ทโฟนของ Huawei ที่พึ่งพาเทคโนโลยีของจีนเองทั้งหมด

ภาพ สมาร์ทโฟนหัวเว่ย Mate 60 Pro รุ่นล่าสุดที่สร้างประวัติศาสตร์ให้โลกฮือฮา
หยู เฉิงตง ในฐานะผู้บริหารระดับสูงของหัวเว่ย ยืนอยู่บนเวทีด้วยความรู้สึกปิติที่เอ่อล้นออกมาเป็นน้ำตาครั้งแรก เขากล่าวด้วยเสียงสั่นเครือว่าการวิจัยและพัฒนาโทรศัพท์มือถือรุ่นนี้อาศัยฝีมือและความทุ่มเทของชาวจีนล้วน ๆ

ซีอีโอหัวเว่ย หยู เฉิงตงได้อธิบาย ความสำเร็จของสมาร์ทโฟนที่เขาภาคภูมิใจในชัยชนะของความเป็นสมาร์ทโฟนแห่งชาติจีน หลังจากที่เขาอยู่ภายใต้ความกดดันอย่างมากในช่วงเวลาที่มืดมนหลายปี นอนไม่หลับในเวลากลางคืน ต้องออกไปเดินข้างนอกเพียงลำพังบนถนน และผมสีดำของเขาก็กลายเป็นสีขาวอย่างรวดเร็วในช่วงสองปีที่ผ่านมา จนกระทั่งเขาทำได้สำเร็จ

มันเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่สำหรับจิตวิญญาณแห่งนวัตกรรมที่เป็นอิสระของ Huawei แม้จะมีความยากลำบากมากมาย และฝ่าอุปสรรคปัญหาไปได้ นับเป็นการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือและการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่พึ่งพาตัวเองของจีน 100%




กำลังโหลดความคิดเห็น