“สนธิ” ชี้ “ONE-ลุมพินี” คือจุดเปลี่ยนวงการมวยไทย ที่มุ่งสู่การเป็น “ซอฟท์เพาเวอร์” ล้ำค่าในตลาดโลก ด้วยชื่อเสียงระดับตำนานของสนามมวยเก่าแก่ เครือข่ายที่แข็งแกร่งของ “วัน แชมเปียนชิพ” และนโยบายกองทัพบกที่ยืนยันให้สนามมวยปลอดการพนันอย่างแท้จริง และน่าจะถึงเวลาที่สปอนเซอร์แบรนด์ไทยเจ้าใหญ่ต้องปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์เข้ามาสนับสนุนอย่างจริงจัง
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” วันศุกร์ที่ 22 กันยายน 2566 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการสนับสนุนซอฟท์เพาเวอร์ หรือ Soft Powerของประเทศไทย โดยรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน ได้มีมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันพุธที่ 13 กันยายน 2566 ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์เพาเวอร์แห่งชาติ ซึ่งก็มีการดึงคนจากหลายภาคส่วนเข้ามาเป็นกรรมการ ซึ่งถือว่ามากจนเกินควร จนอาจจะทำให้การลงมติเห็นพ้องต้องกันในเรื่องต่างๆ เป็นไปได้ยาก เพราะแต่ละคนมีความคิดไม่เหมือนกัน
จริง ๆ แล้ว เคยพูดเรื่องนี้มานานแล้วว่า ขณะที่ทุกวันนี้กระแสวัฒนธรรมเกาหลีนั้นฮิตกันทั่วบ้านทั่วเมือง หรือ ญี่ปุ่น-จีน เองก็เช่นกันไม่ว่าจะเป็นบันเทิง ละคร อาหาร การท่องเที่ยว ไทยเราต้องใช้ “ซอฟท์เพาเวอร์” ของเราเป็นอำนาจละมุน เป็นแนวรุกทางด้านวัฒนธรรมเช่นเดียวกัน
ตอนนั้น ในปี 2564 เคยเปิดเผยข้อมูลให้ฟังด้วยว่า เว็บไซต์ U.S. News & World Report ได้ประกาศรายชื่อการจัดอันดับ "ประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก" โดยเป็นการร่วมมือกับ BAV Group หน่วยงานของบริษัทสื่อสารการตลาดระดับโลก และ The Wharton School โรงเรียนสอนการบริหารธุรกิจ แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งได้ทำการสำรวจผู้คนมากกว่า 17,000 คน จาก 4 ภูมิภาค พบว่า 10 อันดับ ประเทศที่ร่ำรวยมรดกทางวัฒนธรรมมากที่สุดในโลก” ประจำปี 2021 ได้แก่ 1. สเปน 2. อิตาลี 3. กรีซ 4. ฝรั่งเศส 5. เม็กซิโก 6. อินเดีย 7.ไทย(อันดับ 3 ของเอเชีย และ อันดับ 1 ในอาเซียน) 8. อียิปต์ 9. ตุรกี และ 10. ญี่ปุ่น
ส่วน “เกาหลีใต้” นั้นไม่ติดอันดับ Top 10 โดย อยู่อันดับที่ 42 เสียด้วยซ้ำ
ทั้งนี้ทั้งนั้น หากจะเอ่ยถึง หนึ่งใน “ซอฟท์เพาเวอร์” ที่ทรงพลังที่สุดของไทย นอกเหนือจาก แหล่งท่องเที่ยวไทย, อาหารไทย, ประวัติศาสตร์, สถาบันพระมหากษัตริย์ รวมไปถึง ยิ้มสยาม และความน่ารักของคนไทยแล้วศิลปะการต่อสู้อย่าง “มวยไทย” ก็ถือเป็น ซอฟท์เพาเวอร์ที่โด่งดัง และได้รับการยอมรับไปทั่วโลกมาอย่างยาวนาน
อย่างไรก็ตาม ความคุ้นเคย และทัศนคติของสังคมไทยที่มีต่อมวยไทยก็ยังมองว่า “มวยไทย” เป็นกีฬาสกปรก ที่คู่กับการพนัน มีเซียนพนัน มีเจ้าพ่อ มีมาเฟีย มีกรณีจ้างกรรมการ จ้างล้มมวย
ขณะที่ตัวนักมวยไทยก็เป็นนักกีฬาที่อาภัพ มาจากคนที่ยากจน ปากกัดตีนถีบ ต้องต่อสู้ดิ้นรน เจ็บตัว เหนื่อยยากแสนสาหัส แต่ค่าตัวถูกแสนถูก อุปมาอาชีพนักมวยเหมือนหมาล่าเนื้อ สุดท้ายปั้นปลายชีวิตไม่สามารถสร้างเนื้อสร้างตัวได้
นั่นก็เป็นความเชื่อ หรือ ทัศนคติที่ไม่ผิดนัก เพราะ ที่ผ่านมา“ซอฟท์เพาเวอร์ที่ทรงพลัง”นี้เป็นเช่นนั้นจริง ๆ และ วงจรอุบาทว์อย่างเรื่อง ล้มมวย กรรมการรับงาน นักมวยชกไม่สมศักดิ์ศรี ก็ยังเกิดขึ้นในวงการมวยไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดังปรากฏเป็นข่าวอยู่เรื่อย ๆ
ทว่า วันนี้วงการ มวยไทย เปลี่ยนไปจากเดิมเยอะมาก เปลี่ยนไปชนิดที่แม้แต่คนไทยที่คุ้นเคยกับมวยไทยก็อาจจะคาดไม่ถึง
ONE-ลุมพินี จุดเปลี่ยนวงการมวย
วันนี้วงการมวยไทยเปลี่ยนไปอย่างไร? และ ทำไมจึงจะต้องเร่งผลักดันให้กลายเป็น ซอฟท์เพาเวอร์อันล้ำค่า ควรค่าแก่การสนับสนุนให้เผยแพร่ไปสู่ตลาดโลกให้มากที่สุด ?
ก่อนอื่น สำหรับคอมวยในกรุงเทพฯ หรือ แฟนมวยทั่วประเทศที่ติดตามรับชมจาก “มวยจอตู้” (คือมวยที่มีการถ่ายทอดทางธทรทัศน์) มักจะคุ้นเคยกับ สนามมวยลุมพินี และ สนามมวยราชดำเนิน ที่เป็นสังเวียนการต่อสู้ระดับตำนาน
ในที่นี้เราจะพูดถึงสนามมวยลุมพินีเพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับหนึ่งในสนามมวยระดับตำนานนี้ ปัจจุบันพูดได้ว่า เป็นจุดเปลี่ยนของวงการ
จุดเปลี่ยนที่ว่า เริ่มต้นมาเมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่ผ่านมา แล้วตอนนี้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน ภายใต้รายการการแข่งขันชกมวย ชื่อ “ONE ลุมพินี”
คำว่า ONE มาจาก “วัน แชมเปียนชิพ” ซึ่งเป็นองค์กรศิลปะการต่อสู้ที่วันนี้กล่าวได้ว่าใหญ่ที่สุดในโลก มีเครือข่ายเผยแพร่ไปหลายประเทศ และ ฐานคนดูหลายสิบล้านคนทั่วโลก มีผู้ร่วมก่อตั้งที่เป็นคนไทย ชื่อ “ชาตรี ศิษย์ยอดธง” เดิมมีฐานอยู่ที่สิงคโปร์
ส่วน “ลุมพินี” ก็คือ สนามมวยลุมพินีที่อยู่ในการบริหารจัดการของกองทัพบก
ต้องบอกว่า ONE ลุมพินี เกิดขึ้นมาได้ มีเบื้องหลังที่ไปที่มาที่น่าสนใจมาก
ถ้าจำกันได้ สนามมวยของทหารนี้ได้ย้ายจากย่านลุมพินี มาที่ย่านรามอินทราเมื่อหลายปีก่อน ตลอดหลายปีที่ผ่านมาก็ลุ่ม ๆ ดอน ๆ จนมีวิกฤติโควิดช่วงปี 2563 ชื่อของ “สนามมวยลุมพินี” ที่เป็นตำนานแย่หนักไปอีก เมื่อเกิดคลัสเตอร์โควิด-19 ที่ “สนามมวยลุมพินี” ทำคนในสังคมเดือดร้อน ภาพลักษณ์ของกองทัพบกก็เสียหายจนสนามมวยแห่งนี้ถูกสั่งปิดชั่วคราว 8 เดือน
กระทั่งมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการ ได้ คนมีวิชั่นเข้ามาจัดการ ชื่อ พล.อ.สุชาติ แดงประไพ ประธานที่ปรึกษาศูนย์พัฒนากีฬากองทัพบกหรือมวยไทยลุมพินี ซึ่งเป็นอดีตนายสนามมวยลุมพินี เข้ามาจัดการเปลี่ยนทัศนคติใหม่ โดยตั้งเป้าหมาย อยากให้สนามมวยลุมพินี ไม่ใช่แค่สวัสดิการกองทัพ แต่ต้องบริการกำลังพลและครอบครัว รวมทั้งข้าราชการเกษียณ และประชาชนได้ด้วย ซึ่งควรเป็นสวัสดิการเชิงธุรกิจที่เป็นมืออาชีพและสากล และพัฒนาไปเป็นศูนย์อุตสาหกรรมด้านกีฬาและ สร้างระบบนิเวศแบบใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของสังคม
เรียกว่า ระบบมวยจะถูกเปลี่ยนระบบนิเวศน์ทั้งหมดในที่สุด เพราะจริงๆแล้วในบรรดาศิลปะการต่อสู้บนโลก หากพูดถึง “มวยยืน” ต้องนับว่า “มวยไทย” สนุกที่สุด
สนามมวยลุมพินีจึงอยากเป็นสะพานที่จะเชื่อมคำว่า “มวยยืนที่สนุกที่สุดในโลก” แล้วเป็น ซอฟท์เพาเวอร์สร้างให้ไทยได้รับความนิยมต่อชาวโลก สร้างศิลปะของโลกในโซนเอเชีย ให้ไทยเป็นบ้านของมวยไทยให้ได้ กลายเป็นเรื่องของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับมวยไทย นักมวย และผู้เกี่ยวข้อง สร้างมูลค่าให้กับประเทศไทยและคนไทยต่อไป
ทว่า การจะไปตรงนั้นได้ และ กว่าจะมาเป็น ONE ลุมพินี มีอุปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องต่อสู้กับคนในวงการมวยด้วยกัน เพราะ ด้วยเป้าหมายที่ต้องการเปลี่ยนระบบนิเวศน์มวยใหม่ โจทก์แรกสุด คือ รายการมวยที่จัดในสนามมวยลุมพินีต้อง “ไม่มีพนัน”
“ไม่มีพนัน”นี่คืออุปสรรคใหญ่ที่สุด เพราะ มวยอยู่คู่กับ “การพนัน” มานาน หรือ มวยต้องพึ่งเซียนมวย เมื่อ ONE ลุมพินี เกิดขึ้นมาจึงมีคำถามว่า“บ้าหรือเปล่ามาจัดมวยแบบไม่มีพนัน มันมีที่ไหนในโลกบ้าง?”
เชื่อหรือไม่ว่า เงินหมุนเวียนในวงพนันมวยแต่ละปีมีจำนวนเท่าไหร่? มีการประเมินกันว่า สูงถึง หนึ่งหมื่นล้านบาทต่อปีทีเดียว
พอไม่มีการพนันในสนาม ผลปรากฏว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันมวย โปรโมเตอร์ หรือ ผู้จัดการแข่งขันหลายรายต่างก็พากัน “วอล์กเอาท์” ไม่เห็นด้วย กับ แนวทางของสนามมวยก็จะไม่จัด บรรดาเซียนพนัน คนดูที่ชอบพนันก็จะไม่มา เพราะเขาเชื่อว่าไม่ใช่วิถีของมวยไทย
จากนั้นลุมพินีก็เริ่มเดินตามนโยบายเป็นสนามมวยปลอดการพนัน โดย "ภายในสนามมวย" ต้องไม่มีพนัน
มีการจัดระเบียบใหม่ทั้งระบบ อันดับแรกทำรูปแบบของการจัดการแข่งขันที่ยุติธรรม มวยต่อยสนุก และ ทำให้คนดูทั้งในและนอกสนามเห็นว่ามวยไทยเป็นกีฬาอาชีพอย่างแท้จริง ต้องไม่จัดเพื่อนักพนัน
แน่นอนว่า การแข่งขันที่ยุติธรรมต้องเกิดจากการตัดสินที่มีความยุติธรรม ดังนั้น กรรมการของสนามแห่งนี้ถูกติวเข้มเรื่องนี้มา 8 เดือนเต็ม ๆ มีการจัดระเบียบเรื่องการให้คะแนนใหม่ทั้งหมด จากเดิมที่การตัดสินจะใช้ภาพดุลยพินิจ เปลี่ยนเป็นตามภาพที่เห็น ให้คะแนนที่มีรายละเอียดครบ ใครออกอาวุธมากกว่า รุนแรงกว่า เข้าเป้าหมายสำคัญกว่า กระทำให้คู่ต่อสู้บอบช้ำกว่า คู่ต่อสู้มีอาการกว่า ไม่กระทำผิดกติกา ผู้นั้นชนะในยกนั้น ซึ่งในแต่ละยกเราจะไม่ดูแค่ภาพรวม ดูการออกอาวุธทั้งเชิงรุก และเชิงรับ
ขณะเดียวกัน บรรดาค่ายมวยทั้งหลายที่จะส่งนักมวยขึ้นชก จะถูกกำชับว่านักมวยของค่ายต้องต่อยให้เร้าใจ และเต็มที่ในทุก ๆ ยก เพื่อไม่ให้ยืดเยื้อน่าเบื่อหน่าย จึง เปลี่ยนมาใช้รูปแบบของ “การชก 3 ยก” แต่ต้องใส่ให้เต็มที่มากที่สุด จะไม่มีดูเชิงยกหนึ่ง ยกสอง แล้วมาออกอาวุธยกสาม ยกสี่ พอถึงยกห้าก็วิ่งหนี แบบนั้นจะไม่มีอีก
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อให้มวยไทยเกิดมาตรฐาน และ ทำให้กลายเป็นกีฬาอาชีพให้ได้
แรก ๆ ของการเปลี่ยนแปลง ปรากฏว่า ผลการดำเนินงานเป็นไปอย่างทุลักทะเล กระท่อนกระแท่น
ทว่าจากวิกฤติกลับเป็นโอกาส ก่อนที่จะไปสู่การจับมือกับ ONE เพราะ ความพยายามดิ้นรนเพื่อไปสู่เป้าหมายทำให้สนามมวยลุมพินีเป็นสังเวียนมวยไทยที่เป็นกีฬาอาชีพ จำเป็นที่สนามมวยต้องเฟ้นหาค่ายมวย และ โปรโมรเตอร์ที่มีทัศนคติเดียวกัน มาทดแทนโปรโมเตอร์ หรือ ค่ายมวยที่ตีจาก
แล้วจากการค้นหาก็พบว่า ที่เห็นเป็นประจักษ์ และ ได้รับการยอมรับกันในวงการมวยมาตลอดหลายสิบปี ก็คือ ค่ายมวย “แฟร์เท็กซ์” ภายใต้การบริหารงานของ เปรม บุษราบวรวงษ์ เป็นตัวเลือกที่เหมาะสม
ดังนั้นเอง แฟร์เท็กซ์จึงถูกทาบทามให้เช้ามาช่วยเหลือสนามมวยลุมพินี ในช่วงเวลาที่ยากลำบากของลุมพินี แต่การทาบทามเปรม บุษราบวรวงษ์ ก็ไม่ใช่งานง่าย เพราะ บิดา คือ “เฮียบรรจง” บรรจง บุษราบวรวงษ์ ไม่อยากปล่อยให้ลูกชายมาเผชิญหน้าบนความขัดแย้งของวงการมวย แต่ด้วย “Mindset” ของลูกชาย คือ “เปรม” ไม่มีเรื่องพนันมาก่อน แต่ต้องการเห็นมวยไทย ถูกยกระดับเป็นกีฬา สร้างเงิน สร้างรายได้ให้นักมวย ในที่สุด “เฮียบรรจง” จึงอนุญาต
ถ้าเอ่ยชื่อ ค่ายแฟร์เท็กซ์ คอมวยทุกคนก็ต้องมีภาพของ “เฮียบรรจง” เป็นภาพจำ เพราะถือเป็นเจ้าของค่ายมวยที่เป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจ
สำหรับ คุณบรรจง ขอเล่าประวัติคร่าวๆเพราะ ชีวิต ของคน ๆ นี้ต้องบอกว่า โลดโผนโจนทะยานอยู่ในยุทธจักรหมัดมวยมาทุกรูปแบบ
“เฮียบรรจง แฟร์เท็กซ์” จากคนจีน ลูกพ่อค้าขายผ้า สู่ตำนานวงการมวยไทย
“เฮียบรรจง” เป็นคนจีนที่เกิดประเทศจีนแล้วก็มาเปลี่ยนสัญชาติเป็นไทย
เตี่ยของ “เฮียบรรจง” อพยพจากจีนมาอยู่ย่านสุรวงศ์ มาแบบมีเงิน เอาเงินมาทำค้าขาย สมัยเป็นเด็กค่อนข้างเกเร ไม่ชอบเรียนหนังสือ ชอบมวยไทยมาก ตอนอายุ 9-10 ขวบถูกส่งไปเรียนที่ฮ่องกง โรงเรียนที่ดังที่สุด ภาษาจีนเขาเรียกว่า “กุ่ยเจ็ง” บรรจงก็แบกกระสอบทรายไปด้วย เพราะ ใจรักในมวยไทย
ส่วนตัวของ “เฮียบรรจง” เป็นคนที่ชอบแฟชั่น เพราะ ตั้งแต่เด็กชอบแต่งตัว พอค้าขายก็คิดทำธุรกิจสิ่งทอ และ แฟชั่น อย่างเช่น เสื้อยืด “เฮียบรรจง”เป็นคนแรกในประเทศไทยที่เอาเสื้อยืดเข้าห้างได้
ปกติแล้วสมัยนั้น เสื้อยืดเมื่อ 40-50 ปีก่อน ต้องสั่งมาจากนอกทั้งนั้น ไม่มียี่ห้อของคนไทย เสื้อใน กางเกงใน ถ้าเสื้อใส่เที่ยวเป็นไปไม่ได้ที่จะเข้าไปในห้างขายได้ แต่“เฮียบรรจง”ทำได้
แม้พื้นฐานครอบครัวจะเป็นพ่อค้า และ พ่อก็อยากให้บรรจงค้าขาย แต่บรรจงที่รักมวยไทยมากก็เปิดค่ายมวยไปด้วย บรรจงบอกว่า มวยไทยทำให้มีความมั่นใจตัวเอง ไปถึงไหนไม่โดนเขารังแก แล้วเราก็บอกกับตัวเอง วันหนึ่งจะตอบแทนบุญคุณของมวยไทย
โดยเมื่ออายุแค่ 18-19 ปี เพราะเพื่อตอบแทนบุญคุณมวยบรรจงเลยขอพ่อเปิดค่ายมวยที่โรงงานเล็ก ๆ แห่งเดียว เปิด 1 เวที อยู่ที่สวนพลู
จริงๆ ตอนแรก พ่อเป็นคนจีน ไม่ยอม แต่เขาบอกพ่อ ถ้าไม่ยอม กลางคืนไม่รู้จะทำอะไร ออกไปเที่ยว ไปจีบผู้หญิง ไปกินเหล้า ไปอะไร อาจจะทำให้ผู้หญิงท้องแล้วต้องเอาลูกมาเลี้ยงที่บ้าน กับเขาอยู่บ้านคุมมวย พ่อจะเอาอันไหน ก็ต้องเลือกให้อยู่บ้านคุมมวย เลยยอมให้เปิด
ดังนั้นค่ายแฟร์เท็กซ์ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับ “โรงงานทำสิ่งทอ” ของครอบครัว บรรจง ก็เริ่มเปิดค่ายมวยมาตั้งแต่ 50-60 ปีที่แล้ว เหตุการณ์สำคัญ ๆ และ คนในตำนานของวงการมวยไทย เช่น “เฮียแคล้ว” แคล้ว ธนิกุล , “โหงว ห้าพลัง” ชัยวัฒน์ พลังวัฒนกิจ อดีตนายกสมาคมมวยอาชีพแห่งประเทศไทย เฮียบรรจง ล้วนแล้วแต่เคยสัมผัสคลุกคลีผ่านร้อนผ่านหนาวในวงการมวยมาทุกรูปแบบ
เมื่อลูกชายของ “เฮียบรรจง” คือ เปรม ถูกขอให้มาช่วยสนามมวยลุมพินีกู้วิกฤติ และ กำลังเปลี่ยนแปลง โดยที่ ลุมพินีมีนายสนามที่แข็งมาก ไม่ยอมการพนัน พวกเซียนมวย โปรโมเตอร์ต่อต้าน ไม่มีคนเลย สุดท้ายต้องเรียกลูกชายไปเป็นโปรโมเตอร์ ซึ่งเฮียบรรจงก็บอกเปรมว่า ถ้าเปรมปฏิเสธ ลุมพินีก็จะไม่มีใครแล้วอาจจะเลิกทำมวย ซึ่งก็เสียดาย เพราะ ลุมพินีมีชื่อเสียงทั่วโลก
เบื้องหลังผู้เป็นพ่อได้บอกกับลูกว่า ลองกัดฟันช่วย อดทน เพราะมองว่า มีอนาคตที่ดีรออยู่ ขณะเดียวกันตอนนั้น ONE เริ่มดัง โดยที่“เปรม”กับ“ชาตรี”ค่ายแฟร์เท็กซ์ก็สนิทกับ ONE จึงเป็นที่มาของการพูดคุยกันระหว่าง สนามมวยลุมพินี เปรม และ ชาตรี เพื่อดึง ONE เข้ามาจัดที่ลุมพินีด้วยกัน ซึ่งทุกคนต่างเชื่อว่า ถ้า ONE เข้ามาลุมพินี ทุกอย่างจะดีขึ้น สุดท้ายก็เป็นความจริงในเวลาต่อมา
นี่เป็นเหตุผลที่ไปที่มาของการจับมือกับ ONE และ เพราะการแข่งขัน “วัน แชมเปียนชิพ” ก็เป็นวิธีการพัฒนามวยไทยในรูปแบบใหม่ที่ได้เห็นไปทั่วโลกว่าเป็นสากลยุติธรรมแล้ว การสร้าง ONE-ลุมพินี จึงก้าวกระโดด
ขณะเดียวกัน ชาตรี ศิษย์ยอดธง ผู้ร่วมก่อตั้ง ONE เขาเป็นลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น เรียนรู้มวยไทยมาตั้งแต่เด็ก ไปเรียนหนังสือต่างประเทศ ทุกวันนี้ ชาตรี ก็ยังฝึกซ้อมมวยมาอย่างยาวนาน เขารักในมวย และทำมวยจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก ยิมมวยใหญ่ๆ ทั่วโลกก็อยู่ในมือของเขามากมาย
การจับมือครั้งนี้ของลุมพินีกับ ONE ไม่ใช่เรื่องที่ยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่าย ชาตรี บอกว่าเขาเป็นคนไทย ก็อยากจะตอบแทนประเทศไทย การมาร่วมมือกับลุมพินีซึ่งถือเป็นต้นตำรับมวยไทยที่เกิดมา 66 ปีแล้ว
เขามองว่า เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เห็นคนไทย ต่อสู้กับคนต่างชาติในเวทีแห่งนี้ นอกจากนี้จะยังเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ นักมวยทุกคนได้มีอาชีพ
เบื้องหลังที่ชาตรีตัดสินใจนำ ONE มาร่วมกับลุมพินีนั้น น่าสนใจมาก
เพราะชาตรีเคยได้รับการทาบทามมาหลายครั้งจากหลายเวทีแล้วว่าให้มาจัด ONE ที่เมืองไทย แต่เมื่อเห็นสภาพเซียนพนันและมาเฟียครองเวทีแล้ว ครอบครัวเขาทุกคนต่างห้ามชาตรีกันทุกคน เพราะกลัวโดนยิงตาย ถ้ามาแล้วไปขัดผลประโยชน์กลุ่มคนเหล่านี้เข้า
จุดเปลี่ยนของเรื่องนี้คือ ชาตรีได้รับการรับประกันจาก ท่าน อดีต ผบ.ทบ.“บิ้กบี้” พล.เอก ณรงพันธ์ จิตต์แก้วแท้ ว่ากองทัพรับประกันความปลอดภัยให้ทุกอย่าง จะไม่มีมาเฟียนักเลง หรือทหารมาเฟียคนไหนมาแทรกแซงอย่างเด็ดขาด
และนี่คือข้อมูลในทางลับที่อยากจะให้เห็นความตั้งใจของกองทัพในเรื่องนี้ และทุกฝ่ายก็ฝ่าฟันมาจนสำเร็จ
วันของมวยที่ไม่มีพนัน
มาดูกันว่า ผ่านไปกว่า 9 เดือนสำหรับการจัดการรายการ หลังเปิดตัวรายการ ONE ลุมพินี อะไรเกิดขึ้นบ้างในวงการมวยไทย
ในแง่ชองซอฟท์เพาเวอร์ “วัน แชมเปียนชิพ” เป็นที่รู้จักในไทยเพิ่มมากขึ้น จากที่มีการถ่ายทอดสดทุกสัปดาห์เมื่อต้นปี ผลวิจัยของ มิลยู อินไซต์ (Milieu Insight) บริษัทวิจัยผู้บริโภคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า หนึ่งในสองคนของคนไทยที่มีอายุระหว่าง 18 – 45 ปี ต่างรู้จัก ONE
การรับรู้แบรนด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของ ONE เป็นผลมาจากการผลักดันรายการ ONE ลุมพินี หรือชื่อที่ใช้เผยแพร่ในประเทศอื่นว่าONE Friday Fights (OFF)ซึ่งเป็นรายการแข่งขันมวยไทยและศิลปะการต่อสู้หลากหลายแขนงที่เผยแพร่สัญญาณสดไปยัง 180 ประเทศทั่วโลก
ขณะที่ Nielsen บริษัทวิจัยการตลาดที่มีชื่อยกให้ ONE เป็นสื่อกีฬายักษ์ใหญ่ติดอันดับท็อป 10 ของโลก ด้านผู้ติดตามทางโซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์ม (Social Followers) เติบโตขึ้น 6 เท่าจาก 14 ล้านบัญชี เป็น 82 ล้านแอกเคานต์ในปัจจุบัน ดันให้ยอดรับชมวิดีโอออร์แกนิก (Organic Video Views) พุ่งสูงขึ้น 30 เท่าภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี
ประเด็นสำคัญ : เรตติ้งผู้ชมของ ONE รายการมวยที่ไม่มีพนัน ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยเรตติ้ง ONE ที่ถ่ายทอสดในคืนวันศุกร์นั้น สำหรับเมืองไทยที่ละครน้ำเน่ามาอันดับหนึ่ง กลับโดน ONE Friday fight ทิ้งอย่างไม่เห็นฝุ่น สะท้อนให้จะเห็นว่า เรตติ้งของคนคอกีฬา ที่นิยมกีฬา มีมากกว่าคนที่นิยมการพนัน
ชกมวยก็รวยได้
สำหรับความคาดหวังว่า มวยไทย จะเป็นพื้นฐานของอาชีพที่สะอาด สมารถสร้างรายได้ และ สร้างครอบครัว ได้ วันนี้มีตัวอย่างที่ ตามข้อมูลเว็บไซต์ www.onefc.com ของ ชาตรี ศิษย์ยอดธง ผู้ก่อตั้ง
ONE ยืนยันว่า สำหรับ ONE ลุมพินี ได้พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นแล้วว่าชกมวยก็รวยได้ โดยมีนักกีฬามากหน้าหลายตาที่คว้าโบนัสติดต่อกันรวมทะลุหลักล้าน จนสามารถพลิกชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาและครอบครัวให้ดีขึ้น
เพราะถ้าหากใครมีหัวใจเป็นนักสู้ ออกอาวุธโดยการใช้ศิลปะการต่อสู้ในแขนงนั้น ๆ ได้อย่างสวยงามจนเกิดประสิทธิภาพ สร้างเกมการแข่งขันให้ดุเดือดเร้าใจและพร้อมปิดเกมตามจิตวิญญาณนักสู้ ก็มีสิทธิ์ที่จะได้โบนัสมูลค่า 3.5 แสนบาทไปครอง ซึ่งต่างจากเมื่อสมัยที่มวยไทยยังมีการพนันอยู่ ที่นักมวยเบอร์หนึ่งค่าตัวอย่างมากไม่เกินแสน
เหตุนี้จึงกลายเป็นแรงผลักดันให้นักกีฬาทุกคนพยายามมุ่งมั่นฝึกซ้อมอย่างหนัก และขึ้นสังเวียนด้วยความกระหายชัยชนะ เพราะนี่คือโอกาสครั้งยิ่งใหญ่ที่จะได้พลิกชีวิตให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
โดยตลอดการแข่งขันในช่วง 32 อีเวนต์ที่ผ่านมา มีนักกีฬาหลายคนที่คว้าโบนัสไปครองได้สำเร็จ บางรายสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ รวมยอดแล้วทะลุถึงหลักล้านเลยทีเดียว
ยกตัวอย่างเช่น
เสกสรร อ.ขวัญเมือง ฉายา “คนไม่ยอมคน” นักสู้จอมบู๊ วัย 34 ปี จากนครศรีธรรมราช ที่ครั้งหนึ่งเคยเกือบคิดจะแขวนนวม ก่อนจะได้รับโอกาสเข้ามาโชว์ฝีมือใน ONE ลุมพินี เพียงแค่ไฟต์เปิดตัวในนัดปฐมฤกษ์เขาก็ออกอาวุธสู้กับ “ไทสัน แฮร์ริสัน” ได้อย่างดุเดือดจนสามารถพิชิตโบนัสก้อนโตมูลค่า 1.75 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าจำนวนเงินมาตรฐานของ ONE ลุมพินี 3.5 แสนบาท รวมถึงไฟต์ที่เอาชนะคะแนน “นาธาน เบนดอน” นักสู้จากอังกฤษ ในศึก ONE ลุมพินี 22 เจ้าตัวก็คว้าโบนัสแบบยกกำลังสองเป็นเงินกว่า 7 แสนบาท
ด้วยสไตล์การชกที่เดินหน้าล่าคู่ต่อสู้อย่างดุดัน ทำให้เสกสรร อ.ขวัญเมือง คว้าชัยพร้อมกับรับโบนัสไปตลอดทั้ง 5 ไฟต์ที่ลงแข่งขัน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3.5 ล้านบาท ไม่รวมค่าตัว โดยเงินจำนวนนี้สามารถพลิกชีวิตให้ “เสกสรร” จากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะเจ้าตัวนำไปซื้อบ้านหลังใหม่ พร้อมทั้งเก็บไว้เพื่อเป็นทุนการศึกษาให้กับลูก
“ก้องไกล เอ็นนี่มวยไทย” วัย 24 ปี จากพิษณุโลก ประเดิมไฟต์แรกในศึก ONE ลุมพินี ด้วยการคว้าโบนัส รวมมูลค่ายอดรวมทั้งสิ้น 1.4 ล้านบาท ทำให้เจ้าตัวมีเงินไปต่อเติมบ้านได้อย่างที่ตั้งใจ
“ทองพูน พีเค.แสนชัยฯ” เจ้าของฉายา “โล้นทองคำ” จากมหาสารคาม วัย 26 ปี ที่ชีวิตการชกมวยไทยห้ายก ลุ่ม ๆ ดอน ๆ แต่พอได้โอกาสโชว์ฝีมือใน ONE ลุมพินี เขาก็สามารถพลิกบทบาทตัวเองกลายเป็นขวัญใจของแฟนๆจากสถิติชนะรวดตลอดทั้ง 3 ไฟต์ที่ขึ้นชก โบนัสที่รับ 1.05 ล้านบาท
-“เสือแบล็ค ท.พราน 49” มวยซ้ายอาวุธแกร่ง วัย 27 ปี จากจังหวัดเพชรบุรี ตัวแทนความภาคภูมิใจของชาวกะเหรี่ยงป่าเด็งเป็นนักกีฬารายล่าสุดที่คว้าโบนัสทะลุหลักล้าน จากการเอาชนะน็อก “ชินจิ ซูซูกิ” ในศึก ONE ลุมพินี คว้าชัยชนะและโบนัสติดต่อกันตลอด 3 ไฟต์ที่ขึ้นชกบนสังเวียนแห่งนี้ รวมยอดโบนัสเข้าบัญชีในตอนนี้เป็นเงินกว่า 1.05 ล้านบาท ซึ่งเจ้าตัวก็ไม่คาดคิดมาก่อนว่าชีวิตจะมาถึงจุดนี้ได้ หลังจากที่ได้เข้ามาชกใน ONE ลุมพินี ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงในทันที จนมีเงินหลักแสนมอบให้พ่อแม่ได้อย่างน่าภาคภูมิใจ พร้อมกับต่อยอดการทำค่ายมวยเล็ก ๆ โดยตั้งใจเปิดให้เป็นแหล่งเรียนรู้วิชามวยไทยของเยาวชนชาวปกาเกอะญอรุ่นต่อ ๆ ไป
และที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย ก็คือ “มวยหญิง” “แสตมป์ แฟร์เท็กซ์” ชื่อจริงคือ ณัฐวรรณ พานทอง วัย 25 ปี สาวแกร่งมากความสามารถ ดีกรีแชมป์ ONE เวิลด์ กรังด์ปรีซ์ (MMA) และ อดีตแชมป์โลก ONE มวยไทยและคิกบ็อกซิ่ง รุ่นอะตอมเวต พร้อมตามล่าเข็มขัดเส้นที่ 3 โดยจะขึ้นชิงแชมป์โลก ONE MMA รุ่นอะตอมเวตหญิง เฉพาะกาล น้ำหนัก 105-115 ปอนด์ กับ “ฮาม ซอ ฮี” สาวเก๋าเก่งชื่อดังจากเกาหลีใต้ ในศึก ONE Fight Night วันเสาร์ที่ 30 ก.ย.นี้
ทั้งนี้ “แสตมป์” จะเป็นนักกีฬาหญิงไทยคนแรกของ ONE ที่มีสิทธิ์ลุ้นค่าตัว 10 ล้านบาททันที หากสามารถเอาชนะ “ฮาม ซอ ฮี” คว้าแชมป์โลก ONE MMA รุ่นอะตอมเวตหญิงเฉพาะกาล มาคาดเอวได้สำเร็จ
อย่างไรก็ตาม กว่าจะมีวันนี้ เส้นทางของ “แสตมป์” ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เธอเป็นชาวระยอง เริ่มหัดชกมวยตั้งแต่อยู่ชั้นอนุบาลและอายุเพียง 5 ขวบ เนื่งอจากถูกเพื่อนที่โรงเรียนแกล้ง พ่อของแสตมป์เป็นอดีตนักมวยไทยชื่อ “วิสันต์เล็ก ลูกบางปลาสร้อย” ในขณะที่ลุงก็มีค่ายมวยเล็ก ๆ ของตัวเอง มาถึงวันนี้ “แสตมป์” ผ่านอุปสรรคและช่วงเวลาแห่งความผิดหวังมามากมาย ซึ่งเธอเองก็ไม่คิดไม่ฝันว่าเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่เคยได้ค่าตัวเพียงแค่หลักหมื่น กลายเป็นนักมวยไทยที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก และจะสามารถสร้างรายได้ทะลุเจ็ดหลัก และอาจก้าวกระโดดขึ้นหลัก 10 ล้านในเร็ววันนี้
หากมองเฉพาะตัวหลัก 10 ล้าน แสตป์ จะถือเป็นรายล่าสุด ก่อนนี้ “รถถัง จิตรเมืองนนท์” แชมป์โลก ONE มวยไทย รุ่นฟลายเวต ก็ได้รับการอัพค่าตัวถึง 10 ล้านบาทเช่นกัน
เพราะฉะนั้น วันนี้ต้องถือเป็นยุคทองของนักกีฬามวย วงการมวยไทย นับตั้งแต่ ONE เข้ามาสนับสนุนและร่วมมือกับสนามมวยลุมพินี ด้วยชื่อเสียงระดับตำนานของสนามมวยเก่าแก่ เครือข่ายที่แข็งแกร่งของ ONE และ ด้วยพื้นฐานของนักมวยไทยที่มุมานะ ก็เชื่อว่า ONE-ลุมพินี เป็นจุดเปลี่ยนมวยไทย “ซอฟท์เพาเวอร์” ล้ำค่าที่ออกไปสู่ตลาดโลกให้คนไทยได้ภาคภูมิใจ และสามารถต่อยอดไปในเรื่องอื่น ๆ ได้อีกมากมายนับไม่ถ้วน
เรื่องนี้ต้องขอชมกองทัพบก ที่ยืนนโยบายสนามมวยปลอดการพนันอย่างเข้มแข็ง และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายที่ทำให้มวยไทยของลุมพินีก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ซึ่งใครที่ติดตามวงการมวยจะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องง่าย
แต่สิ่งที่น่าเสียดายคือ บรรดาสปอนเซอร์ไทยเจ้าใหญ่ ๆ กลับยังคงมีความคิดแบบเก่า ยกตัวอย่างเช่น บางเจ้าเคยสนับสนุนเวทีลุมพินี 10 ล้านบาทต่อปี กลับไปมองว่า เมื่อลุมพินีมีหลายศึกต่อย ก็จะแบ่งงบประมาณ 10 ล้านบาทก้อนเดิม เป็นส่วน ๆ เช่น สนับสนุนลุมพินี 3 ล้านบาท, ONE 3 ล้านบาท, ศึกอื่น 2 ล้านบาท รวมเป็น 10 ล้านบาท เป็นงบเท่าเดิม
ทีนี้ผมจะมาชำแหละให้ดูนะครับงบ 10 ล้านบาท ต่อปีนี้ เมื่อเฉลี่ยเป็นเดือน จะตกอยู่ที่เดือนละราว 8 แสนบาท ครับ เฉลี่ยเป็นอาทิตย์ก็จะเหลือแค่ อาทิตย์ละ 2 แสนบาท นี่คืองบในรูปแบบเดิมที่เขายังไม่คิดจะกระจายนะครับ 2 แสนบาท นี่ซื้อ spot โฆษณาฟรีทีวียังไม่ได้สัก spot เลย แล้วยิ่งคิดจะมาแยกงบนี้กระจายออกไปเป็นก้อนเล็ก ๆ ให้ลุมพินีบ้าง, ONE บ้าง, รายการอื่นบ้างอีก
สปอนเซอร์เหล่านี้ ไม่ได้มองว่าปัจจุบันนี้ลุมพินีและ ONE เขาไปถึงไหนต่อไหนแล้ว ไประดับโลกแล้ว ดูถูกกีฬามวยไทยที่เป็น soft power ที่ได้ผลักดันจนสำเร็จขึ้นมา นี่คือเรื่องน่าเศร้าที่สินค้าคนไทยด้วยกันคิดแบบกบในกะลา
สิ่งที่น่าปวดใจโดยเฉพาะช่วงที่กองทัพต้องต่อสู้กับวงการพนันมวย เม็ดเงินจากสปอนเซอร์หายเกลี้ยง ถือว่าสปอนเซอร์พวกนี้เห็นแก่ตัวมาก
“ถ้ามีสปอนเซอร์แบรนด์ไทยไหนสนับสนุนลุมพินีอย่างจริงจัง และ ONE อย่างจริงจัง ก็อยากเชิญชวนให้สนับสนุนกันเยอะ ๆ ครับ เพื่อส่งเสริมมวยไทยให้มีชื่อเสียง ให้สนามมวยลุมพินีเป็นสนามมวยไทยที่ไม่มีการพนันอย่างเด็ดขาด และนักมวยที่ขึ้นชกในรายการ ONE ลุมพินี จะเป็นนักมวยที่มีรายได้สมน้ำสมเนื้อ ไม่ใช่ถูกโปรโมเตอร์หรือค่ายมวย กดและเหยียบเอาไว้ใต้ฝ่าเท้า เหมือนในอดีต” นายสนธิกล่าว