xs
xsm
sm
md
lg

จากท้องทรายสู่การ์ยา เปิดวิสัยทัศน์ ‘ธนกร ฮุนตระกูล’ The Owner แห่ง ‘Garrya Tongsai Bay’ กับจุดยืนด้านการอนุรักษ์ที่ไม่เคยเปลี่ยน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘ธนกร ฮุนตระกูล’ The Owner แห่ง ‘Garrya Tongsai Bay Samui’
วันที่เราพบกันเพื่อสนทนา เขาอยู่ในรูปลักษณ์เรียบง่ายอย่างที่สุด แทบไม่เป็นจุดสนใจใดๆ เสื้อยืด รองเท้าแตะ
กางเกงสีเบจสบายๆ เป้สะพายหลังใบกะทัดรัด แต่เปลือกนอกหรือสิ่งใดๆ ย่อมไม่สำคัญเท่าเนื้อแท้ส่วนหนึ่งที่เขาเปิดเผย บอกกล่าว ถ่ายทอด สะท้อนแก่เราในหลายแง่มุมของประสบการณ์ชีวิตและทัศนคติที่น่าสนใจ

...เมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา เขาแจ้งให้ทราบว่า รออยู่ในงานรำลึก ‘33 ปี สืบ นาคะเสถียร’ ซึ่งจัดขึ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร


‘ธนกร ฮุนตระกูล’ The Owner แห่ง ‘Garrya Tongsai Bay Samui’
น่าแปลก…ที่ในท่ามกลางผู้คนไม่น้อย เราจำเขาได้ทันที อาจเพราะเขาเป็น Celeb คนหนึ่งของเมืองไทยที่ปรากฏหน้าสื่อบ่อยครั้งหรือไม่? ไม่แน่ใจนักว่าเพราะเหตุผลนี้ หรืออาจเพราะครั้งหนึ่งนานมา เคยพบปะสัมภาษณ์กันเมื่อราวสิบปีก่อนจึงทำให้จดจำได้? ก็ไม่ชัดเจนอีกเช่นกัน

เหตุผลที่ชัดที่สุดอาจเพราะ…เขาแตกต่าง ในแง่ที่ว่า ไม่เพียงเป็นทายาทคนเดียวของชมภูนุทและอากร ฮุนตระกูล อดีตเจ้าของกิจการโรงแรมเครืออิมพีเรียลอันเป็นตำนานเล่าขาน และเป็นเจ้าของโรงแรมห้าดาว นามบ้านท้องทราย บนเกาะสมุย
จ. สุราษฎร์ธานี ซึ่งเคยคว้ารางวัลโรงแรมยอดเยี่ยม 1 ใน 100 แห่งของโลกหลายปีติดต่อกัน 

กระทั่งการมาถึงของวิกฤติโควิด ที่ส่งผลกระทบต่อโรงแรม ทำให้เขาใคร่ครวญ ขบคิดอย่างถี่ถ้วน ตัดสินใจเลือกให้ Chain Banyan Tree เข้ามาบริหารโรงแรมที่เขารักและเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อราวต้นปีที่ผ่านมา

แต่เขาคนนี้ยังมีหมวกอีกใบเป็นอนุกรรมการ และรองประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียรที่ทำงานด้านการอนุรักษ์ผืนป่าและธรรมชาติมายาวนาน

อีกทั้งข้อมูลที่แทบจะกลายเป็นสารานุกรมประจำตัว ว่าเขาเคยมอบที่ดินถึง 5,000 ไร่บนเกาะสมุยให้แก่ทางราชการเพื่ออนุรักษ์ไว้เป็นป่าธรรมชาติ ก็ยังคงเป็นตำนานที่มีชีวิต

จึงย่อมแตกต่างในแง่ที่ว่า ตามหน้าสื่อสังคมแทบทุกสำนัก การปรากฎตัวของเขาเมื่อวัน Grand opening Garrya Tongsai Bay Samui ภายใต้การบริหารของ Banyan Tree นั้น เขาอาจฉายแสงเป็นจุดสนใจ

แต่วันที่เราพบกันเพื่อสนทนา เขาอยู่ในรูปลักษณ์เรียบง่ายแสนธรรมดา…ทว่า เปลือกนอกใดๆ ย่อมไม่สำคัญเท่าวิสัยทัศน์อันน่ารับฟัง

‘ธนกร ฮุนตระกูล’ The Owner แห่ง ‘Garrya Tongsai Bay Samui’
‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘กบ-ธนกร ฮุนตระกูล’ ถึงแนวทางการบริหารงานโรงแรม, การตัดสินใจครั้งสำคัญในการให้ Banyan Tree เข้ามาบริหารโรงแรมบ้านท้องทราย 
ภายใต้แบรนด์ Garrya Tongsai Bay Samui ( ซึ่งแน่นอนว่าเขายังคงเป็น The Owner), 
การข้ามผ่านวิกฤติโควิดระลอกเล่า, การเรียนรู้ระบบการทำงาน การบริหารของเครือข่ายโรงแรมระดับโลก


สำคัญที่สุด คือ ไม่ลืมพูดคุยถึงจุดยืนที่เขามีต่อแนวทางการอนุรักษ์ธรรมชาติ ทั้งชวนคุยถึงอีกบทบาทในการเป็นคนของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร


แม้หลายถ้อยคำของเขาสะท้อนถึงความถ่อมตัวในบทบาทของตน แต่หลายประเด็นทางสังคมและแง่มุมการบริหารก็ยังคงหนักแน่น ชัดเจน และตรงไปตรงมา


ถ้อยความเหล่านี้ คือบทสนทนาที่เขาได้ถ่ายทอดไว้...

‘ธนกร ฮุนตระกูล’ The Owner แห่ง ‘Garrya Tongsai Bay Samui’
การเปลี่ยนแปลงที่ไม่เปลี่ยนไป

เริ่มต้นสนทนา ด้วยคำถามว่า ปรัชญาในการทำงานและการดำเนินชีวิตของคุณเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด นับแต่วันที่คุณตัดสินใจเข้ามาบริหารโรงแรมบ้านท้องทราย บนเกาะสมุย จ. สุราษฎร์ธานี ด้วยแนวทางเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติและระบบนิเวศ กระทั่งถึงวันที่ตัดสินใจครั้งใหญ่ เลือกให้ Chain Banyan Tree เข้ามาบริหาร 
มีอะไรบ้างที่เปลี่ยนไป อะไรบ้างที่ยังคงเดิม ในแง่ใดบ้าง

ธนกรตอบว่า “ปรัชญาในการดำรงชีวิตผมก็ไม่ได้เปลี่ยน ยังเหมือนเดิม สำหรับปรัชญาในการทำงาน ผมคิดว่าผมอาจจะไม่ได้มีปรัชญาในการทำงานสูงส่งอะไรมากมาย การที่จะนำเอา Banyan Tree เข้ามา
เหตุผลก็เพราะว่าผมกับ ‘กอหญ้า’ ( กอหญ้า-สายสิริ ชุมสาย ณ อยุธยา-ภรรยาของ กบ ธนกร ) อยากจะมีเวลามากขึ้น คือเราทำงานที่ท้องทรายมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2000-2022 เป็นเวลา 22 ปี ที่เดิม ที่เดียว ดังนั้น มันก็นานเพียงพอ จึงอาจจะพูดก็ได้ว่า หมดไฟ ไฟหมด ไฟมอด อะไรก็แล้วแต่

“แต่ในฐานะที่เราเป็นเจ้าของ เราก็ยังมีหมวกอีกใบคือความที่เราเป็นเจ้าของอยู่ ก็คิดกันว่ายังมีเจ้าของโรงแรมอีกหลายแห่งในเมืองไทย ที่เขาไม่เห็นจำเป็นต้องเข้ามาบริหารเอง เราก็เลยมองหาทางเลือกว่าในช่วงวิกฤติโควิด-19 มันก็เป็นช่วงที่ไม่มีรายได้เข้ามา มีแต่รายจ่าย เราก็พอมีเวลาในช่วงที่เราพยายามจะลดร่ายจ่ายในแต่ละเดือนนั้น เราจะเปลี่ยนแปลงมันยังไง ใช้โอกาสนี้ในการศึกษา Option อะไรใหม่ๆ บ้าง ก็เลยลองที่จะศึกษาเชนแต่ละเชนว่าเขาแตกต่างกันยังไง แล้วการที่เราจะไปจ้างเชนเข้ามาบริหาร เราได้อะไร เราเสียอะไร เชนได้อะไร เชนเสียอะไร ซึ่งเราก็ได้เริ่มทำการคัดเลือก เราคุยกับหลายเชนนะครับ ประมาณ 4-5 เชน แต่มาลงตัวที่ Banyan Tree เพราะความ Flexible ของ Banyan Tree

“แล้วเราได้เจอกับเจ้าของ Banyan Tree คือคุณ ‘เคพี โฮ’ ด้วย” ( KP Ho : Ho Kwon Ping- Executive Chairman-The founder of Banyan Tree Group-ประธานบริหารกลุ่มบันยันทรี ผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารของเครือบันยันทรีโฮลดิ้งส์ )


ธนกรเล่าว่า ในการพบกันครั้งแรก ระหว่างเขาและคุณเคพี โฮ ทำให้เขาตระหนักว่า การที่เราก็ได้เจอกับเจ้าของเชนโดยตรง ความเข้าใจในการได้เจอกับเจ้าของเหมือนกันนั้นก็มีส่วนช่วยให้การตัดสินใจเลือก Banyan Tree นั้น ง่ายขึ้น ในมุมของธนกร เขาเห็นว่า Banyan Tree ไม่ได้เป็น Corporate ขนาดนั้น เมื่อเทียบกับเชน อื่นๆ โดยเฉพาะเชนอเมริกันที่มีความเป็น Corporate สูงมาก เวลาที่คุยกัน ก็จะคุยกับ Business Development manager Director ของเขา แทบไม่มีโอกาสได้คุยกับเจ้าของ มีโอกาสน้อยมากที่จะได้คุยกับเจ้าของ

“แต่คุณเคพี รู้จักกับท้องทราย รู้จักพ่อผม คือเขามีความนับถือให้ในฐานะคนทำโรงแรมด้วยกัน ผมได้ยินชื่อเสียงของเขามานานแล้ว แล้วเขาก็เคยมาพักที่ท้องทรายด้วย
ในขณะที่ผมเองก็จำได้ว่า ผมก็เคยได้ไปที่ Banyan Tree ตอนที่พ่อผมยังมีชีวิต แล้วพ่อก็พาไปพักที่ Banyan Tree แล้วมีความประทับใจกับโรงแรม Banyan Tree ที่ภูเก็ต


"เพราะฉะนั้น คำตอบของคำถามนี้ก็คือ ไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ว่าในเรื่อง แนวทางการอนุรักษ์ธรรมชาติในโรงแรมก็มีการตกลงกัน เราก็บอกว่าในแบรนด์ สแตนดาร์ดของ Garrya (การ์ยา) ที่จะเอามาใส่ที่บ้านท้องทราย ถ้าเกิดว่า You ทำน้อยกว่า I ถ้าแบบนั้น I ขอไม่เปลี่ยนนะ” ธนกรระบุ และอธิบายเพิ่มเติมว่าถ้าหากนโยบายในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของบ้านท้องทราย เข้มข้นกว่า เขาก็ตัดสินใจจะทำแบบเดิมต่อไป แต่ถ้าอันไหน นโยบายของ Garrya เข้มข้นกว่า เขาก็พร้อมจะทำและปรับให้เป็นแบบของ Garrya ได้เพื่อให้มีความ Flexible เพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการที่จะดำเนินกิจการในด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันก็เป็นไปตามที่ตกลงกันแบบนี้


จากบ้านท้องทรายสู่ ‘Garrya Tongsai Bay Samui’

ถามว่าสาเหตุใดที่คุณเลือกใช้แบรนด์ Garrya ของ Banyan Tree อาจเป็นเพราะแบรนด์ดังกล่าวเป็นมิตรกับธรรมชาติใช่หรือไม่ และเป็นแบรนด์ใหม่ที่เพิ่งมีแค่ 3 แห่งในโลก ยังมีเหตุผลอะไรอีกบ้าง แบรนด์นี้ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านของบ้านท้องทรายอย่างไร

ธนกรตอบว่า “ Garrya ก็เป็น Brand หนึ่งในเครือ Banyan Tree ที่เขามีหลายแบรนด์นะครับ
สาเหตุที่เราเลือกแบรนด์ Garrya ของ Banyan Tree ประการแรกคือ
เราเลือกไม่ได้ เพราะมี Banyan Tree อยู่ที่สมุยอยู่แล้ว ส่วนอีกแบรนด์นึง ของ Banyan Tree ที่อาจรองลงมา แต่ยังไม่มีในสมุย ก็คือ อังสนา (Angsana) แต่อังสนา เมื่อเราได้คุยกับคุณเคพีแล้ว คุณเคพี ยังบอกเลยว่า ‘You มันไม่น่าจะเข้ากับบ้านท้องทรายนะ เพราะว่าอังสนา เป็นแบบที่เขาเรียกว่า Box Hotel คือมีจำนวนห้องเยอะ แล้วก็ค่อนข้าง Mass หน่อย แล้วก็ขายแฟมิลี่ เราก็ ‘อ๋อ เราเข้าใจผิด ว่าอังสนาเป็น Wellness เพราะเคยได้ยิน ชื่อ อังสนาสปา แต่มันไม่ใช่เลย ดังนั้น เราก็ไม่คิดถึงอังสนา 

"จากนั้น ก็มีแบรนด์ในเครืออีกที่ชื่อ โฮม (Homm) , ดาหวา Dhawa แต่เราเห็น Garrya ของเขาแล้ว เรารู้สึกว่าน่าจะเข้ากับเราได้ เพราะ Garrya เน้นเรื่อง Peaceful Atmosphere เรื่องความเป็น เซน (Zen) ความเป็นธรรมชาติ ความเงียบ เรามีสิ่งเหล่านี้ ดังนั้น เราน่าจะผ่านเกณฑ์ได้ไม่ยากเลย เพราะว่าบ้านท้องทรายก็มีสิ่งเหล่านี้อยู่แล้ว เมื่อเราคุยผ่านไปสักระยะ ก็ทราบว่า Garrya ที่เซ็นสัญญาแล้ว ก็มีไม่มาก มีอยู่ที่จีนที่กำลังสร้าง แต่ยังไม่เปิดให้เราเห็น จนกระทั่งเมื่อเราเลือกแล้ว เซ็นสัญญากันแล้ว เราถึงได้เห็นว่า ‘อ๋อ มี Garrya ที่เกียวโตด้วย’

“ซึ่งหากมองในแง่มาร์เก็ตติ้ง ผมเห็นว่ามันเป็นความได้เปรียบสำหรับบ้านท้องทรายหน่อยๆ นะครับว่า ถ้าเราได้เป็น Garrya แรกในเมืองไทย การโปรโมทก็น่าจะเข้มข้นกว่าถ้าเราเป็น Garrya ที่สอง ที่สาม ที่สี่ ดังนั้น กรณีนี้ก็น่าจะมีส่วนที่ช่วยให้ได้รับการโปรโมทมากยิ่งขึ้น แต่ผมก็คิดว่า ท้ายที่สุดแล้ว Banyan Tree เอง ก็อาจได้รับอานิสงส์จากการที่บ้านท้องทรายเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว แล้วมาเปลี่ยนชื่อเป็น Garrya ทำให้คนสงสัยว่า ทำไม? เกิดอะไรขึ้นกับบ้านท้องทราย? ขายไปแล้วเหรอ? แล้วการ์ยาคืออะไร? แล้วก็เป็นการโปรโมทแบรนด์ Garrya ในเมืองไทยอีกทางนึงด้วย ผมว่าก็สมประโยชน์กันครับ” ธนกรระบุ


Feedback ที่ได้รับ หลังการเข้ามาของเชน

ถามว่าเมื่อบ้านท้องทรายกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งหลังจากช่วงวิกฤติโควิด ในช่วงเดือนธันวาคม ปี 2022 ในชื่อ Garrya Tongsai Bay Samui ( ก่อนจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการ Grand Opening ราวปลายเดือนมีนาคมปี 2023) อะไรคือตัวชี้วัดสำหรับคุณ ว่าลูกค้ากลับมาแล้ว Feedback เป็นอย่างไร หลังมีเชนเข้ามาบริหาร

ธนกรตอบว่า “ก็เป็นไปตามตัวเลขครับ ตามที่บอกอยู่แล้วต่อเดือน ว่าแขกมาพักเท่าไหร่ กี่เปอร์เซ็นต์ ออกมาเป็นตัวเงินเท่าไหร่ มันก็วัดกันตรงนั้นแหละครับ ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น ซึ่งมันโอเคครับ เพราะปีนี้ เป็นปีที่โควิดมันจบ เราโอเคหมด แล้ว Demand จากต่างประเทศก็กลับมา ตั้งแต่เริ่มเดินทางได้ กรุงเทพก็ดีขึ้น พัทยา ก็ดีขึ้น” ธนกรสะท้อนความเห็น ก่อนอธิบายเพิ่มเติมว่า

หากถามในมุมมองของเขา ว่าจะชี้วัดได้ไหมว่านี่คือผลงานที่เรานำเชน Banyan Tree เข้ามาบริหาร หรือว่ามันเป็นผลงานของเราอยู่แล้ว เพราะว่า โรงแรมก็โรงแรมเดิม เรารีโนเวทไปก็จริง โดยรีโนเวทภายใต้ Guideline ของ Banyan Tree แต่ว่ามีการพูดคุยกันว่า จะตกลงกันที่รูปแบบไหน เหล่านี้ก็ทำร่วมกัน

“แต่แขกเองก็ไม่รู้หรอกครับ บางทีเป็นแขกเก่าเรากลับมา เขาก็คิดว่า มีการเปลี่ยนผู้บริหาร มีเชนเข้ามา เขาก็อาจไม่มั่นใจว่าจะเหมือนเดิมไหม สิ่งที่จะทำให้มั่นใจ ถ้าอยากจะรู้คือเข้าไปดูใน Tripadvisor ( หมายเหตุ : แพลตฟอร์มรีวิวท่องเที่ยวรายใหญ่ของโลก ) ซึ่งเราพบว่าแขกชมพนักงานเหมือนเดิม แล้วเราขึ้นมาเป็นอันดับสองในสมุย และก็อยู่อันดับสองมาหลายเดือนแล้วครับ สำหรับผม นี่เป็นสิ่งที่ดีมากๆ ผมรู้สึกว่าการ Operate โรงแรมให้ดีได้ขนาดนี้ ต้องให้เครดิต GM (General Manager) ที่ทาง Banyan Tree คัดมาให้เราเลือก แล้วเราก็เลือกจาก 1 ใน 3 ซึ่งคนที่เราเลือกมาเป็น GM คนปัจจุบัน ถือว่าเขาปรับตัวได้เร็วมาก คนเก่าคนแก่ยังอยู่ครบเท่าเดิม ทำงานร่วมกับเขาได้ แล้วเขาก็ขยัน เขามีไอเดียใหม่ๆ เข้ามาเสริม ไม่ใช่ทิ้งของเดิม แล้วเอาแต่ของใหม่เข้ามา แต่เขาเสริมในสิ่งที่มีอยู่เดิมแล้ว ให้มันดีขึ้นไป การสื่อสารกับเจ้าของก็ดีกว่า GM คนที่ผ่านมาที่ไม่ได้อยู่ภายใต้เชน

“ดังนั้น ผมคิดว่า โรงแรมจะ Run ดีหรือไม่ดี แขกชอบหรือไม่ชอบ ที่ผมบอกว่าให้ดูใน Tripadvisor ผมว่าต้องดูจาก GM ถ้าคุณมี GM ที่ดี คุณจะได้รับรีวิวที่ดี” ธนกรระบุและบอกเล่าเพิ่มเติมว่า
GM เขาเป็นชาวต่างชาติ แต่ทำงานในเมืองไทยมานานแล้ว ทั้งหัวหิน เกาะกูด พัทยา ภูเก็ต แล้วก็มีบ้านอยู่ในสมุยด้วย 
ดังนั้น เขาเป็นคนเยอรมันที่รู้จักเมืองไทยดีและน่าจะเข้าใจคนไทยและวัฒนธรรมไทยดีในระดับหนึ่ง แม้จะพูดไทยไม่ได้ก็ตาม


ประสบการณ์ข้ามผ่านวิกฤติโควิดแต่ละระลอก

อดถามไม่ได้ว่า มีประสบการณ์ใดบ้างที่คุณอยากแบ่งปันว่า สามารถผ่านวิกฤติโควิดแต่ละระลอกมาได้อย่างไร

ธนกรตอบว่า ช่วงที่เกิดโควิดระลอกแรก ในช่วงนั้น 3 เดือนแรก มีประกันสังคมช่วยจ่ายเงินเดือนพนักงาน แล้วหลังจาก 3 เดือนนั้น เขาตัดสินใจปิดโรงแรม เงินที่เหลือก็เป็นค่าใช้จ่าย ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสัญญาต่างๆ แต่หลักๆ คือเงินเดือน ซึ่งตอนนั้น ไม่มีใครรู้ว่าวิกฤติโควิดมันจะยาวนานแค่ไหน มีแต่การคาดเดา บางสำนักบอกสองปี บางคนบอกสามถึงสี่ปี

“แต่เวลาที่เราอยู่ตรงนั้น ในช่วงเริ่มต้น เราก็คิดว่า ไม่แน่หรอก แค่ปีเดียวมันอาจจะดีก็ได้ เราไม่ปิดดีกว่า ดังนั้น เราก็เก็บคนไว้ส่วนนึง แล้วพอผ่าน 3 เดือนแรกไป เราก็ตัดสินใจว่า ‘เอาวะ ลองดู’ เปิดบ้านท้องทราย ขายตลาดเมืองไทย ลองดูสักตั้ง เพราะเราก็รู้ว่าเราไม่ใช่โรงแรมที่ Popular ในตลาดไทยสักเท่าไหร่ เมื่อเทียบกับโรงแรมอื่น เราก็คิดว่า ‘เอาเข้าจริงน่าจะพอไหววะ’ อย่างน้อยก็ ขาดทุนน้อยที่สุด หรือ ให้มันเท่าทุน คือ ไม่ได้คิดถึงกำไรด้วยซ้ำ คิดแค่ว่าทำยังไงให้มีรายได้เข้ามาบ้าง เพราะยังไงๆ รายจ่ายมันยังมีอยู่”


ธนกรเล่าเพิ่มเติมว่า ช่วงนั้น แต่ละโรงแรมต่างก็ลดแลกแจกแถมผ่านโปรโมชั่นต่างๆ โรงแรมบ้านท้องทรายของเขาก็เช่นกัน แต่รายได้ก็ยังไม่พอ ท้ายที่สุดแล้ว จึงมาดูว่าจำนวนพนักงานที่มีอยู่ตอนนั้น 200 กว่าคน กับโรงแรมที่เปิดเดือนหนึ่ง มีแขกสิบห้องต่อวัน จาก 80 กว่าห้อง ท้ายที่สุดแล้วก็ต้องปิดห้องระดับสามไปประมาณ 20 ห้อง เหลือทั้งหมดประมาณ 60 ห้อง คือฝั่งพูลวิลล่า ที่ขายง่าย เขาลดราคา ทำให้คนไทยก็อยากมาอยู่ ส่วนห้องที่ไกล operate ยาก ก็ปิดไป ใช้วิธีลดจำนวนห้องลงมา เหมือนทำให้โรงแรมเล็กลง พนักงานก็เล็กลงตามไปด้วย


“นอกจากนั้น เราก็ให้พนักงานเลือกว่าคุณอยากอยู่หรือคุณอยากไป ปรากฏว่า คนที่มาลงชื่อว่าอยากไปมีถล่มทลายกว่าที่เราคิดไว้เยอะมาก คนที่ทำงานร่วมกันมา 10 กว่าปี 20 ปี หรือ 30 ปี คนที่เขามี อายุ 50 กว่าปีแล้ว อายุใกล้เกษียณอยู่แล้ว เขาบอกว่าไม่รู้จะรอไปทำไม เอาเงินก้อนมา แล้วเขาไปทำอาชีพอื่นเลย หรือกลับบ้านไปเลี้ยงหลาน ดีกว่า

“ผมก็แล้วแเต่ ดังนั้น เราก็มีพนักงานประมาณครึ่งนึง ออกไป แต่ก็มีส่วนนึง ที่เราบอกเขาว่า ‘เฮ้ย แต่เราไม่ให้คุณไปนะ เพราะว่าคุณสำคัญ’ คุณคือ คนสำคัญที่เราอยากจะมีไว้ เพราะเมื่อวันนึงที่เรากลับมา คุณคือกำลังสำคัญ นั่นก็คือจุดหักเหจุดใหญ่ คือจ่ายคนออกไปครึ่งนึง ที่เหลือก็มีพนักงานอยู่ประมาณ 100 คน

“หลังจากนั้น ก็มีคนลาออกไปเองด้วย เพราะโควิดมันนานมาก โรงแรมเปิดมาได้สักพักก็มีระลอกใหม่มา เกิดการปิดกรุงเทพ เครื่องบินบินไม่ได้ ก็มาปิดโรงแรมกันใหม่ ปิดแล้ว ก็เปิดอีก เปิดแล้ว ก็มาเจอคลัสเตอร์สงกรานต์ก็ต้องปิดอีก”


“ที่หนักๆ เลย คือปี 2021 มีช่วงที่ปิดโรงแรมนานมากคือ หลังจากสงกรานต์ปี 2021 ถึงเดือนธันวาคมเลย ช่วง 6-7 เดือนนั้นมีแต่รายจ่าย ไม่มีรายรับอะไรเข้ามาเลย มันก็เป็นช่วงเดียวกับที่เราศึกษาเรื่องการนำเอาเชนเข้ามาบริหารนี่แหละครับ จนกระทั่งปลายปี 2021 เราก็ได้เซ็นสัญญา แล้วก็เข้าสู่ปี 2022 ซึ่งได้เซ็นสัญญากับ Banyan Tree แล้วนะ แต่ยังเป็น Garrya ไม่ได้ เพราะว่าเรายังไม่ได้รีโนเวท ปี 2022 คือปีที่เรารีโนเวท แล้วเป็นปีที่โควิดเริ่มผ่อนคลายลง นักท่องเที่ยวเริ่มกลับมาตั้งแต่ต้นปี ไม่เยอะ แต่โอเค เห็นผล อย่างน้อยเราก็ไม่ขาดทุน มันก็รู้สึกว่า ‘เออ เฮ้ย! โอเค แบบนี้น่าจะรอดแล้ว’ แล้วเมื่อถึงปี 2023 เราก็ไม่ขาดทุนแล้ว” ธนกรบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพ


กระบวนการทำงานร่วมกับเชน

ปัจจุบัน หลังจากรีแบรนด์แล้ว ตอนนี้บ้านท้องทรายซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็น Garrya Tongsai Bay Samui มีพนักงานประมาณ 150 คน จากเดิมที่เคยมีประมาณ 230 คน

นอกจากนั้น ธนกร ยังเล่าเพิ่มเติม ถึงกระบวนการทำงานด้านต่างๆ ร่วมกับเชน ที่ส่งผลดีต่อโรงแรม

“ตอนนี้ เราทำงานกับเชนร่วมกันมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เค้าไม่ได้เข้ามาเยอะ แต่เค้าก็เริ่มเข้ามาแล้ว GM เข้ามาปีที่แล้ว HR ก็มาช่วยเราปีที่แล้ว ก่อนหน้านี้ผมมองว่า HR เป็นส่วนหนึ่งที่ผมคิดว่าเป็นจุดอ่อนของบ้านท้องทราย แล้วเราก็ได้เชนเข้ามาช่วย อีกส่วนนึงก็คือเรื่องมาร์เก็ตติ้ง ซึ่งเราก็ต้องยอมรับว่า เราก็ทำได้ไม่ดีเด่อะไรนัก (หัวเราะ ) ก็ได้เค้าเข้ามาช่วย ประสบการณ์มาร์เก็ตติ้งของเชนเครือใหญ่ๆ แบบนี้ก็สอนผมหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องบัญชี, HR, การเงิน ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรที่เป็นระบบแบบที่เชนเขาใช้ ได้มากขึ้น

“ในฐานะเจ้าของ ผมก็เข้าใจว่า ‘เออ จริงๆ แล้วถ้าเราทำแบบนี้มาตั้งแต่ก่อนหน้านี้มันก็คงดีนะ’ แต่ว่าก่อนหน้านี้ เราก็ไม่ได้มีคนที่จะทำได้แบบนี้ แต่เชนเขามีคนที่พร้อมซัพพอร์ตให้กับ GM ในหลายๆ ด้าน ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่มี มันจบที่เรา

“เพราะฉะนั้น พอมีเชนเข้ามาก็มีข้อดีคือสิ่งเหล่านี้แหละครับ กฎระเบียบต่างๆ เค้าก็มีของเค้าอยู่แล้ว มาร์เก็ตติ้งก็โอเค แม้จะใช้เงิน แต่เค้าก็นำไปทำเพื่อเรา แล้วเราก็รอดูผลว่า เงินที่ลงไปกับมาร์เก็ตติ้ง มันได้ผลออกมากับแขกที่มาพักได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งเราก็จะได้เห็นว่า มันจะได้อะไรกลับมาเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมเยอะ” ธนกรถ่ายทอดถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเชนรายใหญ่


‘The Owner’ แห่ง ‘Garrya Tongsai Bay’

ถามว่า แม้จะสนทนากันมานาน แต่ตำแหน่งปัจจุบันอย่างเป็นทางการของคุณ ณ Garrya Tongsai Bay Samui คืออะไร มีกรอบหน้าที่อย่างไรบ้าง

ธนกรตอบว่า “ตอนนี้ ผมเป็นผู้ว่าจ้าง ‘การ์ยา’ ผมจ้างเขาบริหาร ผมคือ Owner เวลา GM เขา Refer ถึงผม เขาก็เรียกผมว่า Owner ผมไม่มีตำแหน่งอะไรมากไปกว่านี้ ผมเป็น Owner ผมจ่ายเงินเขา เขาทำงานให้ผม
รวมถึงเงินเดือนของพนักงานทุกคนก็ออกจากเรา ผมคิดว่านี่เป็นโมเดลทั่วๆ ไปของโรงแรมที่เจ้าของไม่ได้บริหารเอง แต่จ้างเชนมาบริหาร


"อย่างผมเองก็เป็นเจ้าของบริษัทท้องทรายเบย์ ที่จ้างบริษัท Banyan Tree ภายใต้แบรนด์ ‘การ์ยา’ มาบริหารโรงแรมให้ โดยที่มีภาระผูกพันสัญญากัน ซึ่งผมเปิดเผยไม่ได้ ( หัวเราะ ) แบบนี้เป็นต้นครับ คือ มันก็เป็นเบสิค ของการจ้างเชนมาบริหาร
แต่บางคนอาจจะไม่เข้าใจ เห็นเปลี่ยนชื่อ ก็เข้าใจว่า ‘อ้าว ขายไปแล้ว ?’ ส่วนใหญ่ไม่ใช่ครับ เจ้าของเดิมทั้งนั้น เพียงแต่เขาเปลี่ยนเชน แต่ก็มีเหมือนกันที่เขาขายไปเลย เปลี่ยนเชนด้วย เจ้าของใหม่ก็อาจเอาเชนใหม่เข้ามา แต่ก็มีเหมือนกันที่บางคน แม้จะขายโรงแรมไป เจ้าของใหม่เข้ามาแต่ก็ยังใช้เชนเดิมอยู่เพราะยังมีสัญญาอยู่ แบบนี้ก็มีครับ”


หากเปรียบชีวิตกับผืนป่าในห้วงใจ

เมื่อสนทนามาสักระยะ อดเปรียบเปรยไม่ได้ว่า ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 20-30 ปีที่คุณบริหารบ้านท้องทราย หากชีวิตในช่วงดังกล่าวเปรียบเป็นผืนป่าสักแห่ง ป่าผืนนี้จะมีสภาพอากาศ สภาพสิ่งมีชีวิต ภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมอย่างไร ผ่านร้อน ฝนหนาว หรือมีช่วงเวลาฤดูใบไม้ผลิเบ่งบานสักกี่มากน้อย


ธนกรตอบอย่างน่าสนใจและตรงไปตรงมาว่า

“นามธรรมมากเลย (หัวเราะ ) คือผมก็ไม่ได้รู้จักผืนป่ามากพอที่จะมาตีแผ่ ว่า ‘เฮ้ย! ผืนป่าผืนนี้ต่างกับผืนป่าผืนนี้ยังไง’ ในเขาใหญ่เอง มันก็มีหลายส่วน ส่วนที่ติดกับปราจีนฯ ติดกับนครนายก ติดกับปากช่อง ไปถึงวังน้ำเขียว
ป่าตะวันตกก็มีห้วยขาแข้ง มีทุ่งใหญ่ตะวันออก ทุ่งใหญ่ตะวันตก มันเยอะ มันแตกต่างกันโดยความเป็นอยู่โดยธรรมชาติ บางที่ก็เป็นดิบแล้ง บางที่ก็เป็นป่าสนบ้าง ขึ้นอยู่กับว่าความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเท่าไหร่ 


"ดังนั้น ถ้าจะมาเทียบกัน…( เงียบครุ่นคิด ) ผมไม่เคยคิด ขอโทษที ผมว่าเป็นคำถามที่ต้องใช้เวลาแบบว่า ต้องพยายาม เพ้อฝันหน่อยว่าเป็นอย่างนี้ ( หัวเราะ ) แต่ว่าโรงแรมมันก็คือโรงแรมครับ ท้องทรายมันก็เป็นพื้นที่ส่วนนึงของเกาะสมุย เนื้อที่ประมาณ 100 ไร่ อยู่มาเป็นล้านปีแล้ว เราเข้ามาอยู่ มาเป็นเจ้าของมันแค่ 30 กว่าปี แล้วเราจะมาอะไรกันมากมาย ว่าเราเป็นเจ้าของมัน ผมไม่ได้มองมันอย่างนั้นครับ”


บทบาทด้านการอนุรักษ์

ถามว่า ห้วงขณะที่รอเวลาสัมภาษณ์ในห้องจัดงานครบรอบรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร ซึ่งเป็นจุดที่เรานัดพบกัน เมื่ออยู่ในห้องงานนั้น ช่วงท้ายของการกล่าวปาฐกถาโดยอาจารย์ศศิน เฉลิมลาภ ประธานกรรมการมูลนิธิสืบฯ ได้พูดถึงคุณในฐานะรองประธานมูลนิธิสืบฯ คุณมีอะไรที่อยากจะกล่าว ถึงบทบาทด้านการอนุรักษ์อื่นๆ บ้างไหม

ธนกรตอบว่า “คือตอนนี้ ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ก็มีการเปลี่ยนตามวาระ ทุกๆ สี่ปีจะมีการเลือกตั้งประธานกับเลขาธิการฯ ที่อาจจะเปลี่ยน แต่เขาสามารถดำรงวาระได้สองวาระ เมื่อครบสองวาระแล้วก็เป็นต่อไม่ได้ ต้องให้คนอื่นเป็นแทน อาจารย์ศศิน ในฐานะประธาน เป็นครบวาระแล้ว แปดปีแล้ว ก็ให้บอยขึ้นมาเป็น ( ภาณุเดช เกิดมะลิ – กรรมการและอดีตเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร)
กรรมการที่เป็นกรรมการในมูลนิธิก็เหมือนกัน หมดวาระไปด้วย ผมเองก็เหมือนเป็นอดีตกรรมการ เป็นอดีตรองประธานมูลนิธิไปด้วย

“ดังนั้น หากถามถึงผ่านมา ผมก็มิอาจมาเคลมว่าผมได้ทำนู่นทำนี่ ให้กับมูลนิธิขนาดนั้น เพราะมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีทั้ง อาจารย์ศศิน, บอย (ภาณุเดช เกิดมะลิ ) บัว ( อรยุพา สังขะมาน เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร) มีน้องๆ ในมูลนิธิ เป็นหลัก และมีอาจารย์รตยา ด้วยครับ” ( หมายเหตุ : อาจารย์รตยา จันทรเทียร ประธานที่ปรึกษามูลนิธิสืบนาคะเสถียร )


“ในปีนึง เราประชุมกัน 3 ถึง 4 ครั้ง สำหรับผมอยู่ในอนุกรรมการมูลนิธิ ที่เราเรียกกันว่า อนุกรรมการ CSR คือกึ่งๆ หารายได้ ทำยังไงให้คนบริจาค ซึ่งผมก็ไม่ได้เก่ง ไม่ได้ถนัดขนาดนั้น ที่จะไปคุยกับบริษัทนั้น บริษัทนี้ เพื่อให้เขาช่วยบริจาคเพื่อธรรมชาติ มันเป็นเรื่องที่อธิบายยากมาก ผมเคยพยายามจะทำ แม้กระทั่งกับคนใกล้ตัว ยังอธิบายยากเลย ว่ามูลนิธิสืบฯ ทำอะไร คือคุณต้องสนใจ คุณต้องให้เวลากับมันจริงๆ ว่าสุดท้ายแล้วการอนุรักษ์ป่า การอนุรักษ์ธรรมชาติมันคืออะไร

“มันไม่ใช่อะไรที่อธิบายให้จบภายใน 5 นาทีแล้วรู้เรื่อง เพราะ 5 นาทีอาจจะน้อยไป บทบาทของผมในมูลนิธิสืบฯ ไม่ได้เยอะ รองประธานมูลนิธิฯ ไม่ได้ทำเยอะ จริงๆ แล้ว ในระดับการวางกลยุทธ์ อาจารย์ศศิน เป็นคนจัดร่วมกับทีมงานภายใน ว่าช่วง 4 ปีข้างหน้าเราจะทำอะไรบ้าง แล้วก็เดินตามกลยุทธ์ที่ได้วางไว้ ซึ่งผมไปบ้างไม่ได้ไปบ้าง ไม่ได้มีส่วนเพียงพอที่จะเคลมครับ” 
ธนกรบอกเล่าอย่างถ่อมตัว


จุดยืนแห่งผืนป่า

คำถามสุดท้าย ที่ไม่ถามคงไม่ได้ เมื่อมีโอกาสได้พบปะกับเจ้าของโรงแรมหัวใจนักอนุรักษ์ผู้นี้ ว่ามีประเด็นด้านการอนุรักษ์ในประเด็นใดที่คุณสนใจอีกบ้าง

ธนกรตอบว่า “เรื่องการอนุรักษ์นั้น คนอาจจะคิดถึง กรณี PM 2.5 ที่ใกล้ตัว ที่มีผลกระทบกับเขา แต่เรื่องที่มันสำคัญจริงๆ ก็คือว่าพื้นที่ป่า ที่เราไม่ควรจะสูญเสียไปมากกว่านี้อีกแล้ว โดยเฉพาะถ้าป่าจะต้องสูญเสียไปเพราะโครงการที่เกิดจากรัฐ เช่น จากการสร้างเขื่อน สร้างอ่างเก็บน้ำทั้งหลายแหล่ ที่มีเยอะอยู่แล้ว ก็ยังมีให้เราจะต้องเหนื่อยกับการที่จะต้องมาอธิบายกันอีกเหรอเนี่ย! ว่าทำไมจะต้องมาเอาป่าไปอีก? เพราะว่าสร้างเขื่อนมาแล้ว มันก็อยู่ถาวร ไม่ได้ถูกทุบทิ้งไป ขณะที่ในต่างประเทศหลายๆ ประเทศ เขาไม่มีเขื่อนแล้ว แต่บ้านเรานี่ยังคิดแบบเดิมๆ คือจะต้องมีเขื่อน ไม่อย่างนั้น บริหารน้ำไม่ได้"



“แทนที่จะมีบ่อน้ำเล็กๆ อยู่ในชุมชน เพราะเมื่อสร้างเขื่อน มักอ้างว่า เพื่อความต้องการน้ำ เพื่อการชลประทาน คำว่า การชลประทาน ก็คือสำหรับเกษตรกร ทำนา ซึ่งบางพื้นที่ที่ไม่มีเขื่อน อาจจะเรียกว่าตามธรรมชาติเลย คือหน้าฝน อาจจะทำนาได้ครั้งถึงสองครั้ง ถ้าที่นั่นฝนตกชุก แต่บางที่ทำนาได้ปีละสามครั้ง เพราะเขามีระบบชลประทานเข้าไปถึง มันก็เกิดความเหลื่อมล้ำกันขึ้นมาว่า พื้นที่นี้ ทำนาได้เยอะ พื้นที่นี้ ทำนาได้ไม่บ่อยเท่า ทำนาได้ครั้งเดียว เช่น นาปี”


“ดังนั้น มันก็เลยกลายเป็นเหตุผลว่า ต้องทำให้คนที่ทำนาได้ปีละครั้ง มีเขื่อนด้วย เขาจะได้มีน้ำมาทำนา นี่คือคำอธิบายของกรมชลประทาน นี่คือคำอธิบายของคนที่อยากได้เขื่อน ไอ้ส่วนที่บอกว่าเขื่อนป้องกันน้ำท่วม มันเป็นแค่วาทกรรม มันไม่ได้ช่วยป้องกันหรอก เรามีน้ำท่วมใหญ่ปีนั้น เรามีตั้งกี่เขื่อน ทำไมมันยังท่วมหนักขนาดนั้น ท่วมนานด้วย”


“คือผมไม่ได้ว่าเขื่อนไม่ดีนะ เขื่อนที่มีอยู่แล้วนั้นมีประโยชน์และสำคัญต่อการมีชีวิตอยู่อย่างมั่นคงของประเทศก็มี แต่ตอนนี้ ป่ามันเหลือน้อยเกินกว่าที่เราจะเอาไอ้ความคิดเดิมๆ ที่ว่าสร้างเขื่อน แล้วยอมเสียป่านิดๆ หน่อยๆ คงไม่เป็นไรหรอกน่า คิดแบบนี้ไม่ได้ กรมชลฯ อาจมีการผุดโครงการออกมา จะสร้างเขื่อน ทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ทั่วไปหมดเลยนะ ท้ายที่สุด ป่าก็หายไปทีละนิดๆๆ เช่น ช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ ถามว่ามีการแอบไปสร้างเขื่อนที่ไหนบ้างหรือเปล่าในประเทศ ต้องไปศึกษาดูว่ามีตรงไหนบ้าง ในช่วงสิบปีที่ผ่านมานี้ ที่มีการสร้างอยู่ และกำลังจะเปิดก็มี แต่มันไม่เป็นข่าว หรือมันอาจเป็นข่าวแต่ไม่มีคนค้าน เพราะมีคนเอาด้วย”

‘ธนกร ฮุนตระกูล’ The Owner แห่ง ‘Garrya Tongsai Bay Samui’
“ผมก็อยากจะบอกว่า ผมเป็นห่วงมาก โดยเฉพาะในห้วงวาระ ปี สองปี สามปี ที่จะถึงนี้ มันจะมีแรงกดดันในเรื่องของการสร้างเขื่อนมากขึ้น มากกว่าบางช่วงที่ผ่านมาครับ”

เป็นคำตอบทิ้งท้ายที่สะท้อนถึงจุดยืนซึ่งชายคนนี้มีต่อธรรมชาติ ผืนป่า และการอนุรักษ์ที่ไม่เคยแปรเปลี่ยน หากยังคงมั่นเสมอมา

…………
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo : ธัชกร กิจไชยภณ