xs
xsm
sm
md
lg

อ.เจษฎ์ไขดรามา เลข 810/808 บนทิชชูจีน ยันคือรหัสอุตสาหกรรม ไม่ใช่กระดาษรีไซเคิล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หลังพบคำเตือนระวังทิชชูจีนใช้แล้วนำกลับมารีไซเคิลฟอกขาว ไม่เหมาะจะนำมาเช็ดปากเช็ดมือหรือนำมาสัมผัสกับผิว พบรหัสบนซองลงท้ายด้วย 810 /808 ชี้เป็นเพียงรหัสมาตรฐานอุตสาหกรรมจีน และยันไม่ใช่กระดาษชำระที่ใช้แล้วมารีไซเคิล

จากกรณีดรามาโซเชียลฯ แห่แชร์หลังมีข้อความเตือนภัยเกี่ยวกับกระดาษทิชชูที่ราคาถูกและขายดี คือกระดาษทิชชูที่ใช้แล้ว และนำกลับมารีไซเคิลฟอกขาว ไม่เหมาะจะนำมาเช็ดปากเช็ดมือหรือนำมาสัมผัสกับผิว แต่เหมาะกับการเช็ดโต๊ะเช็ดสิ่งของที่เปื้อน โดยให้ดูเลขรหัสบนซอง ถ้าลงท้ายด้วย 810 คือกระดาษทิชชูที่นำกลับมารีไซเคิล หรือถ้าลงท้ายด้วย 808 จะใช้เช็ดปากเช็ดผิวหรือร่างกายได้

วันนี้ (13 ก.ย.) เพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์อจษฎ์” หรือ ศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ได้โพสต์ข้อความถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุข้อความว่า "GB/T 20810 คือ มาตรฐานกระดาษชำระในห้องน้ำ GB/T 20808 คือมาตรฐานกระดาษทิชชูทั่วไป" ของประเทศจีน แค่นั้นครับ ใจเย็นๆ ก่อนจะแตกตื่นกันโดยใช่เหตุ ถึงมันจะมีเลข 810 มันก็ไม่ได้จะทำจากกระดาษทิชชูที่ใช้แล้ว

โดยเลขรหัส 810/808 นี้คืออะไรกันแน่ข้อความที่แชร์กันเตือนเรื่องให้ดูเลขรหัส 810 หรือ 808 บนซองกระดาษทิชชูนั้น จริงๆ แล้วมาจากตัวรหัสเต็มๆ คือ GB/T 20810-2018 และ GB/T 20808-2022

ซึ่งมันคือเลขรหัสตามมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศจีน ที่เรียกว่า Guo Biao Standards (หรือ GB standards) โดยประเทศจีนได้กำหนดมาตรฐานไว้ 2 ขั้น คือ ขั้นบังคับ (Mandatory) ตามที่กฎหมายบังคับให้ทำตามเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ และขั้นแนะนำ (Recommended) ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ไม่ได้มีการบังคับด้วยกฎหมาย โดยสามารถดูได้จากตัวรหัส ถ้าขึ้นต้นด้วย "GB" จะเป็นมาตรฐานบังคับ แต่ถ้าเป็น GB/T จะเป็นมาตรฐานแนะนำ)

และเมื่อเราเข้าไปตรวจสอบเลขรหัส GB standards แล้ว จะพบว่า GB/T 20810-2018 เป็นมาตรฐานของกระดาษชำระในห้องน้ำ Toilet tissue paper (including toilet tissue base paper) ขณะที่ GB/T 20808-2022 เป็นมาตรฐานของกระดาษทิชชูทั่วไป tissue (เลข 2018 และ 2022 เป็นปี ค.ศ.ที่ปรับปรุงมาตรฐานนั้นล่าสุด)

สำหรับมาตรฐาน GB/T 20808 นั้น ก่อนนี้ เคยระบุว่าเป็นกระดาษทิชชูสำหรับใบหน้า Facial tissue (GB/T 20808-2011) และ ทิชชูม้วนไว้สำหรับเช็ดของเปียก Toweling paper (including wet wipes) (GB/T 20808-2006)

ซื่งมาตรฐานเหล่านี้จะมีเอกสารระบุอย่างละเอียดถึงข้อกำหนดต่างๆ ตั้งแต่วัตถุดิบ คุณสมบัติ ไปจนถึงระดับการอนุญาตให้มีสารต่างๆ ปนเปื้อน ถ้าใครสนใจดูรายละเอียด สามารถจ่ายเงินเข้าไปดาวน์โหลดไฟล์ pdf ที่มีข้อมูลของมาตรฐานทั้งหมดมาดูได้ครับ (เป็นภาษาอังกฤษ)

สำหรับประเทศไทยเราเองก็มีเลขรหัสมาตรฐานสำหรับกระดาษทิชชูแบบต่างๆ มอก 214-2560 สำหรับกระดาษชำระ, มอก 215-2560 สำหรับกระดาษเช็ดหน้า, มอก 239 กระดาษเช็ดมือ  มอก 240 กระดาษเช็ดปาก และ มอก 2925 กระดาษอเนกประสงค์

ความแตกต่างระหว่างกระดาษทิชชูตามมาตรฐาน GB/T20810 และ GB/T20808
ตามที่เขียนมาข้างต้น ถ้ากระดาษทิชชูจากประเทศจีน ห่อไหนบอกว่าผลิตตามมาตรฐาน GB/T 20810-2018 แสดงว่ามันผลิตบนมาตรฐานสำหรับ "กระดาษชำระในห้องน้ำ" และถ้าเขียนว่าผลิตตามมาตรฐาน GB/T 20808-2022 แสดงว่ามันใช้มาตรฐานสำหรับ "กระดาษทิชชูทั่วไป"

ซึ่งแน่นอนว่าการนำไปใช้งานก็จะต่างกันด้วย คือ กระดาษชำระในห้องน้ำ ก็ไม่ได้จะมีคุณสมบัติสูงเท่ากับกระดาษที่ทำมาสำหรับเช็ดมือ เช็ดปาก เช็ดหน้า โดยเฉพาะในแง่ของมาตรฐานสุขอนามัย (hygiene standards)

โดยตามมาตรฐานของประเทศจีนนั้น กระดาษทิชชูทั่วไปจะผลิตจากเยื่อกระดาษชนิด "เยื่อบริสุทธฺ์ (Virgin Pulp)" เท่านั้น ไม่อนุญาตให้ใช้เยื่อกระดาษชนิด "เยื่อเวียนใหม่ (Recycled Pulp)" ... ในขณะที่กระดาษชำระในห้องน้ำ สามารถใช้เยื่อเวียนใหม่เป็นวัตถุดิบในการผลิตได้

เยื่อกระดาษที่เป็นเยื่อบริสุทธิ์จะเป็นเยื่อใหม่ 100% ทำให้เนื้อกระดาษมีสัมผัสนุ่มละมุน มักนำไปทำกระดาษเช็ดหน้า และไม่มีสารเรืองแสงตกค้าง หรือในขณะที่เยื่อเวียนใหม่ หรือเยื่อรีไซเคิลจะทำมาจากกระดาษที่ใช้งานแล้ว เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ นิตยสาร กระดาษพิมพ์เขียน หรือกล่องกระดาษ เอากำจัดหมึกออกและขึ้นรูปใหม่ จึงมีสีขาวขุ่น ผิวขรุขระ มีคุณภาพต่ำลงและราคาถูก รวมถึงมีสารเรืองแสงหรือสารฟอกนวลตกค้าง

นอกจากนี้ ยังมีเยื่อกระดาษชนิดเยื่อผสม ที่เอาทั้งเยื่อบริสุทธิ์และเยื่อรีไซเคิลมาผสมกัน ก่อนนำไปผลิตเป็นกระดาษทิชชู ทำให้มีคุณภาพดีกว่า กระดาษทิชชูที่ทำจากเยื่อรีไซเคิล 100% แต่ส่วนใหญ่จะมีสารเรืองแสงตกค้าง เพราะมีส่วนผสมของเยื่อรีไซเคิล

ดังนั้น กระดาษทิชชูที่ผลิตต่างมาตรฐานกัน อย่างมาตรฐาน GB/T 20810 และ GB/T 20808 ก็จะมีทั้งวัตถุดิบที่ต่างกัน มีคุณสมบัติที่ต่างกัน รวมทั้งสารปนเปื้อนด้วย ซึ่งก็ควรนำมาพิจารณาในการเลือกซื้อเลือกใช้

ตัวอย่างเช่น กระดาษทิชชูมาตรฐาน GB/T 20808 ก็จะไม่มีพวกสารเรืองแสง (Fluorescent agent) ปนอยู่เลยเนื่องจากใช้เยื่อกระดาษใหม่ และจะมีความขาว ความสว่าง ต่ำกว่าด้วย เนื่องจากไม่ได้เติมสารเรืองแสงลงไป

หรืออย่างสารอาครีลาไมด์ตกค้าง (Acrylamide monomer residue) ซึ่งทำให้เกิดอาการระคายเคืองผิวและดวงตา รวมถึงอาการแพ้ได้ ก็จะถูกควบคุมให้มีปริมาณน้อยกว่าหรือเท่ากับ 0.5 มิลลิกรัม/กิโลกรัมกระดาษ

กระดาษทิชชูยังถูกควบคุมเรื่องสุขอนามัยอีกด้วย ซึ่งมีการกำหนดเอาไว้อย่างเข้มงวดถึงประมาณจำนวนโคโลนีทั้งหมดของเชื้อแบคทีเรียบนกระดาษ ... ซึ่งถ้าซื้อกระดาษจากประเทศจีน จะเห็นเลขรหัส GB15979-2002 อีกตัวด้วย (เพิ่มจาก GB/T 20808 ) ซึ่งก็คือ มาตรฐานสุขอนามัยของผลิตภัณฑ์อนามัยที่ใช้แล้วทิ้ง "Hygiene Standards for Disposable Hygiene Products" ซึ่งกำหนดให้มีเชื้อจุลินทรีย์ได้ไม่เกิน 200 cfu/กรัม ขณะที่กระดาษชำระในห้องน้ำจะมีได้ไม่เกิน 600 cfu/กรัม (จาก https://j.021east.com/p/1645263548040780)

สรุป เรื่องเลข 810/808 บนกระดาษทิชชูนั้น เป็นแค่รหัสมาตรฐานอุตสาหกรรมของประเทศจีน ใช้พิจารณากับกระดาษทิชชูจากจีนเท่านั้น โดยถ้ามีเลข 808 จะหมายถึงกระดาษทิชชูทั่วไป ขณะที่ 810 จะหมายถึงกระดาษชำระในห้องน้ำ ซึ่งคุณภาพและความสะอาดจะต่ำกว่า มีสารเจือปนได้มากกว่า แต่ไม่ใช่ว่า เอากระดาษชำระที่ใช้แล้วมารีไซเคิลทำนะครับ

แถมเรื่อง "วิธีการเลือกซื้อกระดาษทิชชูให้เหมาะสม"

- ควรเลือกซื้อกระดาษทิชชูชนิดต่างๆ ตามลักษณะงานที่จะใช้ ไม่ใช่เลือกเพราะราคาถูก และควรเลือกยี่ห้อที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี

- สังเกตรายละเอียดของผลิตภัณฑ์จากฉลาก พิจารณาถึงวัตถุดิบ วิธีการผลิต และระดับความพรีเมียมของสินค้า

- กระดาษทิชชูที่ดี เนื้อต้องนุ่มละเอียด เวลาลองถูแล้วไม่มีเศษผง ขุยกระดาษ หรือผงแป้งออกมา ลองทดสอบความเหนียวของเนื้อกระดาษ โดยการใช้มือจับกระดาษแล้วลองดึงดูว่าขาดง่ายหรือไม่

- ลองดมกลิ่นของกระดาษ ซึ่งต้องไม่ได้กลิ่นของสารเคมีปนมาด้วย (ถ้าเป็นไปได้ จึงไม่ควรซื้อกระดาษทิชชูที่ใส่กลิ่นหอมมากลบ) และเวลานำไปเช็ดปาก ต้องไม่ได้รสชาติอะไรปนมา ซึ่งอาจมาจากสารเคมีปนเปื้อน

คลิกโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น