xs
xsm
sm
md
lg

กรมวังผู้ใหญ่ประจำพระองค์เจ้าฟ้าฯพัชรกิติยาภา ติดตามการดำเนินงานโครงการกำลังใจฯสานต่อแนวพระดำริ พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังอย่างต่อเนื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมวังผู้ใหญ่ประจำพระองค์เจ้าฟ้าฯพัชรกิติยาภา ติดตามการดำเนินงานโครงการกำลังใจฯสานต่อแนวพระดำริ พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังอย่างต่อเนื่อง

พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ประจำพระองค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และรองประธานคณะกรรมการกองทุนกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เดินทางไปติดตามการดำเนินงานโครงการกำลังใจฯ เพื่อสานต่อแนวพระดำริในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่ทรงต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ต้องขังในเรือนจำเป้าหมายทั่วประเทศไม่หวนกลับมาทำความผิดซ้ำหลังจากที่พ้นโทษไปแล้ว ณ เรือนจำกลางระยอง อ.เมือง จ.ระยอง และเรือนจำจังหวัดจันทบุรี อ.เมือง จ.จันทบุรี ระหว่างวันที่ 24-25 สิงหาคม 2566 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐส่วนที่เกี่ยวข้องและสถานประกอบการเอกชนในพื้นที่เข้าร่วมประชุม

พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ประจำพระองค์908 และรองประธานคณะกรรมการกองทุนกำลังใจในพระดำริ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา กล่าวถึงการลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานโครงการกำลังใจฯว่า ด้วยพระปรีชาสามารถของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่พระราชทานแนวพระดำริ เกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศไว้แล้วในหลายด้าน โดยเฉพาะการฝึกอบรมวิชาชีพให้แก่ผู้ต้องขังให้มีความรู้ติดตัวออกไปประกอบอาชีพเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวหลังจากพ้นโทษ เพื่อไม่ให้กลับมาทำผิดซ้ำ หลังพ้นโทษ และในต้นปี 2565 เมื่อครั้งที่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ เสด็จเปิดเรือนจำ จ.น่าน ได้พระราชทานแนวทาง ในการสนับสนุน ให้ผู้ต้องขังที่พ้นโทษแล้ว ให้ทำงานในสถานประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ ดังนั้นคณะกรรมการกองทุนกำลังใจฯ จึงสานต่อแนวพระดำริ เพื่อให้โครงการดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ได้เดินหน้าทำความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนรวมถึงผู้ประกอบการต่างๆที่เกี่ยวข้องร่วมกันปฎิบัติภารกิจโครงการกำลังใจฯ สร้างสรรค์งานใหม่ๆให้เกิดขึ้นแก่เรือนจำ ทัณฑสถานและผู้ต้องขังทั่วประเทศ ซึ่งตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงตอนขณะนี้ได้เดินทางไปติดตามการดำเนินงานมาแล้วถึง 20 แห่ง

“เรือนจำกลางจังหวัดระยองถือเป็นเรือนจำแห่งแรกๆที่เข้าร่วมโครงการกำลังใจในพระดำริฯ ซึ่งในทุกวันนี้อัตราผู้พ้นโทษไปแล้ว และกลับมาทำผิดซ้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะได้บูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนมาให้ความรู้ฝึกอาชีพให้แก้ผู้ต้องขัง รวมถึงการสร้างความยอมรับจากภายนอกจึงทำให้ในปัจจุบันนี้สามารถลดอัตราผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำมากถึงร้อยละ70ก็ว่าได้ เช่นเดียวกับที่เรือนจำจังหวัดจันทบุรี ที่แม้จะเพิ่งได้รับคัดเลือกจากกรมราชทัณฑ์ให้เป็นพื้นที่ขยายผลการดำเนินงานโครงการกำลังใจในพระดำริฯได้ไม่นานแต่ก็สามารถบูรณาการกับทุกภาคส่วนในการพัฒนาพฤตินิสัยผู้กระทำผิด สนับสนุนการประกอบวิชาชีพของผู้ใกล้จะพ้นโทษให้พวกเขามีพลังกายและใจเข็มแข็งในการประกอบสัมมาชีพเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวด้วยความภาคภูมิใจ จึงไม่หวนกลับมากระทำสิ่งผิดกฎหมายอีกก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน นับเป็นพระกรุณาธิคุณของพระองค์ที่ทรงวางรากฐานอย่างมั่นคงจนถึงทุกวันนี้อย่างแท้จริง” พลอากาศเอก สมคิด สุขบาง กรมวังผู้ใหญ่ประจำพระองค์908 และรองประธานคณะกรรมการกองทุนกำลังใจฯ กล่าว

ทั้งนี้เรือนจำกลางระยองเข้าร่วมโครงการกำลังใจในพระดำริฯ เมื่อปีพุทธศักราช 2553 โดยมีการจัดตั้งฐานมุมโครงการกำลังใจไว้ภายในแดนต่างๆของเรือนจำกลางระยอง อาทิคลินิกกฎหมาย อบรมให้ความรู้และให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่ผู้ต้องขังเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การฝึกอบรมอาชีพต่างๆของผู้ต้องขังโดยผู้เชียวชาญจากด้านต่างๆมาให้ความรู้ อาทิการอบรมเย็บซ่อมรองเท้า การปั้นตุ๊กตาด้วยดินญี่ปุ่น โครงการอบรมหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุขั้นเบื้องต้น 18 ชั่วโมง ฝึกวิชาชีพด้านศาสตร์พยากรณ์ขั้นพื้นฐาน การวาดภาพ การทำเบเกอรี่ การฝึกอบรมพัฒนากาย พัฒนาจิต พัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยโยคะ เพื่อให้ผู้ต้องขังมีพลังกายและพลังใจเข้มแข็งจากภายในสู่ภายนอก

ด้วยความร่วมมือกันเป็นอย่างดีจากทุกภาคส่วนจึงทำให้ “ผ้าหมักโคลนพิมพ์ลายใบไม้” อันเป็นฝีมือของผู้ต้องขังเรือนจำกลางระยองภายใต้ผลิตภัณฑ์ในโครงการกำลังใจฯผ่านการลงทะเบียนOTOP จากกรมพัฒนาชุมชนถึง 3 ผลิตภัณฑ์ ได้แก่ผ้าคลุม ผ้าพันคอ,กระเป๋าพิมพ์ลายใบไม้ และเสื้อพิมพ์ลายใบไม้จากธรรมชาติ
ส่วนเรือจำจังหวัดจันทบุรี ได้รับคัดเลือกจากกรมราชทัณฑ์ให้เป็นพื้นที่ขยายผลการดำเนินงานโครงการกำลังใจในพระดำริฯ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2562 เพื่อให้ภารกิจของโครงการดำเนินการอย่างลุล่วง ให้ทุกฝ่าย อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขอีกครั้ง

จึงดำเนินการ 5 ด้าน ดังนี้ 1.ให้ความรู้ด้านกฎหมายจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้ต้องขังเข้าใจในกฎหมาย 2.ฝึกอบรมอาชีพให้แก่ผู้ต้องโทษทั้งชายและหญิงให้มีทักษะความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพเมื่อพ้นโทษ อาทิ แดนหญิงมีการอบรมด้านพยากรณ์ศาสตร์ การดูแลผู้สูงอายุ สปากระเป๋า ช่างแต่งหน้า ปลูกแคทตัส การปรุงอาหาร เบเกอรี่ เป็นต้น ซึ่งส่งผลให้เรือนจำจังหวัดจันทบุรีเปิดร้านอาหารและเครื่องดื่ม ในชื่อ ร้านเรือนจันทน์ครัวไทย ร้านอินสไปร์คาเฟ่ บริการอาหารและเครื่องดื่มประชาชนทั่วไปในราคาย่อมเยาอีกทั้งส่งเสริมให้ผู้ต้องโทษมีทักษะการประกอบอาชีพได้ลงมือปฏิบัติจริงและนำไปใช้หลังพ้นโทษ ส่วนแดนชายมี การฝึกอบรมวิชาชีพหลักสูตรระยะสั้น เรือนจำได้ลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ร่วมกับวิทยาลัยสารพัดช่างจันทบุรี โดยมีวิทยากรจากภายนอกเข้ามาให้ความรู้อาทิ การฝึกวิชาชีพช่างไฟฟ้า ช่างเชื่อมโลหะ ช่างไม้ช่างแกะลายรองเท้า การอนุรักษ์อาชีพทอเสื่อกกจันทบูร เป็นต้น 3.การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย 4.ด้านนวัตกรรม และ 5.ด้านปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

พระเมตตาในสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่ทรงต้องการเติมเต็มในสิ่งที่คนอยู่หลังกำแพงให้ขาดให้ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความภาคภูมิใจเมื่อพ้นโทษออกไปใช้ชีวิตภายนอก

ตลอดระยะเวลา16 ปี ที่โครงการกำลังใจฯดำนินการ มาอย่างต่อเนื่อง จึงได้บูรณาการหน่วยงานทั้งภาครัฐและสถานประกอบการเอกชน ให้ความร่วมมือและพร้อมให้โอกาสผู้ต้องขังที่พ้นโทษรับเข้าทำงาน เพื่อให้อดีตผู้ต้องขังหลายคนมีความภาคภูมิใจในวิชาชีพของตัวเองสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ซึ่งผู้แทนจากสถานประกอบการเอกชนในพื้นที่ อาทิ บริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด(มหาชน)GPSC ผลิตไฟฟ้าผลิตไอน้ำและน้ำเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม ก็ได้ให้ความสนับสนุนฝึกอบรมหลักสูตรระยะสั้นการติดตั้งโซลาเซลล์อันเป็นธุรกิจแห่งอนาคตให้แก่ผู้ต้องขังได้นำความรู้ออกไปรับจ้างติดตั้งโซลาเซลล์ เช่นเดียวกับนายเด่นศักดิ์ ศรบัณฑิต เจ้าของร้านฝากจันทร์และ Orbit Pup แห่ง จ.จันทบุรี ซึ่งรับผู้เคยถูกต้องขังเข้าทำงานที่ร้านอาหารทั้ง2 แห่งมาโดยตลอด เพราะบุคคลกลุ่มนี้ล้วนเป็นแรงงานที่มีฝีมือมีระเบียบวินัยและมีความกระตือรือร้นในการทำงาน

ส่วนผู้ต้องขังหญิงเรือจำกลาง จ.ระยอง ที่มีโอกาสเข้าร่วมในโครงการกำลังใจในพระดำริฯ เมื่อปี 2558 กล่าวว่าเธอได้รับคัดเลือกจากเรือนจำกลางระยองให้ไปอบรมโยคะหลักสูตร6 เดือนที่เรือนจำ จ.ราชบุรี เพื่อนำทักษะและความรู้ที่ได้รับมาพัฒนาและสอนผู้ต้องขังหญิงในเรือนจำจากรุ่นสู่รุ่น และการฝึกโยคะนี้เองที่ทำให้เธอได้มีโอกาสได้เฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ ซึ่งพระองค์ทรงมีรับสั่ง”ไม่ให้เธอหยุดเล่นโยคะ เพราะพระองค์เป็นผู้นำเข้ามาเพื่อให้ผู้ต้องขังทุกคนมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง”

แม้เวลาจะผ่านมาเนิ่นนานแต่เธอยังคงจดจำสุรเสียงที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตาได้อย่างไม่มีลืมเลือน
ขณะที่ณัฐวุฒิ ยะฝั้น บุคคลต้นแบบจากเรือนจำ จ.จันทบุรี ที่เพิ่งพ้นโทษออกจากเรือนจำไปเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 บอกว่าจากการที่เขามีโอกาสได้ฝึกอาชีพระหว่างที่เป็นผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำ เมื่อเขาพ้นโทษออกไปแล้วจึงไม่รู้สึกโดดเดี่ยว ทุกวันนี้เขายึดแาชีพเป็นพ่อค้าขายขนมจีบซาลาเปาตามตลาดนัด แม้จำนวนเงินจะไม่มาก แต่ก็พอมีเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้อย่างภาคภูมิใจ




















กำลังโหลดความคิดเห็น