xs
xsm
sm
md
lg

จัด ครม.เพื่อพ่อ(แม้ว) “เพื่อไทย” แพ้ แต่ชั่วคราว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สนธิ” ให้ฉายา “เศรษฐา 1” ครม.เพื่อพ่อ โดยพรรคเพื่อไทยต้องยอมยกเก้าอี้กระทรวงสำคัญให้พรรคร่วมที่เป็นขั้วอำนาจเก่า เพื่อตั้งรัฐบาลให้ได้ และกุมสภาพกระทรวงยุติธรรมเอาไว้ เพื่อช่วย “ทักษิณ” เรื่องอิสระภาพและความเป็นอยู่ ต้องถือว่าพรรคเพื่อไทยแพ้ เพราะเสียทั้งมหาดไทย พลังงาน เกษตรฯ แต่น่าจะชั่วเคราว เป็นรัฐบาลสักระยะน่าจะปรับ ครม.



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” วันศุกร์ที่ 1 กันยายน 2566 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการจัดตั้งคณะรัฐมนตรี(ครม.)รัฐบาล “เศรษฐา 1” ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ว่าในภาพรวมจะเห็นได้ว่า นายทักษิณ ชินวัตร ได้วางหมากล้อมนายเศรษฐาไว้หมดแล้ว โดยการวางคนใกล้ชิดของตัวเองอย่างเช่น นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช ที่จะมาเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งนี่คือด่านที่จะคุมเกมเรื่องที่จะเข้าสู่ ครม. เรื่องไหนที่นายทักษิณไม่อยากให้เข้า ครม.หรืออยากเร่งให้เข้า ครม. นพ.พรหมมินทร์ก็จะเป็นคนดำเนินการ

 นพ.พรหมมินทร์ เลิศสุริยเดช
หรือคนอย่าง “ผู้กับกับหนุ่ย” พ.ต.อ.วิทัญญู วิทยผโลทัย ซึ่งเคยติดตามนายทักษิณและ น.ส.ยิ่งลักษณ์มาโดยตลอด และมีความซื่อสัตย์อย่างมาก แม้กระทั่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์หนีไปแล้วก็ยังไปเฝ้าบ้านให้อยู่ระยะหนึ่ง คนพวกนี้พร้อมจะรับใช้นายทักษิณแบบสุดลิ่มทิ่มประตู


นายสนธิกล่าวว่า มีข้อสังเกตเกี่ยวกับคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ซึ่งขอตั้งฉายาว่า “ครม.เพื่อพ่อ” ซึ่งรัฐมนตรี 35 คน การจัดสรรก็เป็นไปตาม “คณิตศาสตร์ทางการเมือง” ตามโควต้าเก้าอี้ ส.ส. คือ 9-10 ส.ส. ต่อ 1 เก้าอี้รัฐมนตรี

ข้อสังเกตที่ 1
ภาพการจับมือกันระหว่างนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนใหม่ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนเก่า นั้น เป็นตัวแทนระหว่าง 2 ขั้วคือ พรรคเพื่อไทย กับ พรรครวมไทยสร้างชาติ และสมาชิกวุฒิสภาอีกร้อยกว่าเสียงที่โหวตเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ทำให้นายเศรษฐาขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแบบผ่านฉลุยด้วยคะแนนเสียง 482 เสียงจากสมาชิกรัฐสภา เกินกว่า 375-376 เสียงที่ต้องการเป็นร้อยเสียง


การลงคะแนนแบบนี้เป็นการต่อรองระหว่าง พรรคเพื่อไทยที่มีนายทักษิณ ชินวัตร เป็นหัวเรือ และฝั่งกลุ่มอำนาจเก่าคือ พรรครวมไทยสร้างชาติ(รทสช.) เป็นให้ รทสช.ได้รับตำแหน่งรัฐมนตรีสำคัญ ๆ คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (เป็นโควต้ากลุ่มทุนพลังงานของพรรครวมไทยสร้างชาติ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ปัญหาก็คือ ถ้านายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ควบ รมว.พลังงาน ซึ่งนายพีระพันธ์นั้นเป็นนักกฎหมาย เป็นอดีตผู้พิพากษา และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมาก่อน แต่มานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานก็จะมีปัญหาในการดำเนินนโยบายปฏิรูปพลังงานเรื่องลดค่าไฟฟ้า ลดค่าน้ำมัน ปฏิรูปพลังงานแสงอาทิตย์-พลังงานทางเลือกต่าง ๆ อย่างแน่นอน

นายพีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค
นโยบายพลังงานพรรคเพื่อไทย ที่หาเสียงเอาไว้คือ ลดราคาน้ำมัน ไฟฟ้า แก๊ส ทันที คือ จะปรับลดราคาพลังงาน น้ำมัน ไฟฟ้า และแก๊ส ทันที เพื่อลดภาระในการเข้าถึงแหล่งพลังงานในชีวิตประจำวันให้ประชาชน เร่งเจรจาพื้นที่ทับซ้อนเพื่อเพิ่มแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูกและสามารถสร้างรายได้ให้ภาครัฐจากค่าภาคหลวง สนับสนุนพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือกเพื่อลดการพึ่งพิงพลังงานแบบดั้งเดิม เพิ่มความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


ขณะที่นายพีระพันธ์นั้นก็มาจากพรรคที่มีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนพลังงาน ดังนั้น หากนายพีระพันธ์นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานจริง ราคาพลังงานก็จะยังมีแนวโน้มที่มีราคาแพงต่อไป หรือหากจะมีการลดราคาก็จะไม่มีการปรับโครงสร้างทางพลังงานแต่อาจจะลดได้ชั่วครั้งชั่วคราวเพราะว่าหากลดนานจะกระทบต่อภาษีของรัฐ และรวมถึงการเปิดเสรีและการปฏิรูปด้านพลังงานต่าง ๆ เพื่อเอื้อให้กับประชาชนก็น่าจะมีอุปสรรคต่อไป

ยกเว้นว่านายพีระพันธ์ มีความคิดจากฝากผลงานเพื่อยกระดับเป็นผู้นำทางการเมืองคนใหม่ หากยอมหักกับกลุ่มทุนพลังงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน


ข้อสังเกตที่ 2 ภูมิใจไทยที่เดิมที่ครองกระทรวงคมนาคมอยู่ และประสงค์จะได้กระทรวงนี้ต่อต้องแลก เพราะกระทรวงคมนาคมมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์จำนวนมาก หลายโครงการทีมีผู้รับเหมาแล้วที่เหลือก็เดินหน้า แต่พอนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เข้ามาคุมกระทรวงคมนาคม ก็อาจจะมีการทบทวนโครงการ แล้วเรียกผู้รับเหมามาคุยใหม่ ซึ่งนายสุริยะนั้นมีความชำนาญว่าจะจัดการอย่างไรกับโครงการที่อนุมัติไปแล้ว ถือเป็นทักษะส่วนตัวที่ไม่มีใครเลียนแบบนายสุริยะได้


คำถามคือ ทำไมนายสุริยะ ซึ่งเพิ่งย้ายขั้วมาจากพรรคพลังประชารัฐ แถมไม่ได้มี ส.ส.ในมุ้งมากมาย จึงมีบทบาทมากจนได้นั่ง รมว.คมนาคม ก็น่าเป็นไปได้ว่า เป็นดีลระหว่างหลานนายสุริยะ ก็คือ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ กับนายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเพิ่งบินไปพบกันเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ฮ่องกง


สังเกตไหมว่า เรื่องของนายทักษิณที่บินกลับเมืองไทยแล้ว พอเข้าคุกกลับได้รับอภิสิทธิ์ต่าง ๆ จนคนตำหนิติเตียนว่าเป็น VVIP ทำตัวเป็นนักโทษเทวดา ทั้ง ๆ ที่เรื่องนี้ถือว่า “เหลื่อมล้ำ” ชัดเจนและทำให้กระบวนการยุติธรรม “บิดเบี้ยว” อย่างมาก แต่พรรคก้าวไกลที่อ้างว่าต่อสู้เรื่องความเหลื่อมล้ำ ปรากฏว่าตัวจี๊ดของพรรคก้าวไกลทุกคนกลับไม่พูดสักคำ ช่อไม่พูด, วิโรจน์ไม่พูด, รังสิมันต์ โรม ไม่พูด, เจี๊ยบ อมรัตน์ที่ปากเก่งทุกเรื่องก็ไม่พูด พูดแต่เรื่องเศรษฐา


แสดงว่าเป็นไปได้อย่างสูงที่นายธนาธรบินไปฮ่องกงรอบที่แล้ว นายทักษิณได้คุยกันกับนายธนาธรเรียบร้อยแล้วว่า เมื่อเขากลับมาไม่ให้พรรคก้าวไกลโจมตีเขาเรื่องอภิสิทธิ์พวกนี้ เพื่อแลกกับการเอานายสุริยะ อาของนายธนาธร ที่เพิ่งข้ามห้วยมาจากพรรคพลังประชารัฐไปนั่งกระทรวงคมนาคม ซึ่งทุกคนตะลึงกันหมด ไม่คิดว่านายสุริยะจะได้นั่งกระทรวงคมนาคม อย่างดีที่สุดก็น่าจะเป็นอุตสาหกรรม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ-นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อยู่พลังประชารัฐ ย้ายขั้วมาไม่นานแถมจำนวน ส.ส. ที่ย้ายมาไม่ได้มีนัยสำคัญ แต่ได้นั่งคมนาคม ส่วนของนายสมศักดิ์เนื่องจากตำแหน่งหมดแล้วก็เลยนั่งรองนายกฯ แต่เป็นที่รับทราบและรับรู้กันมานานแล้วว่า ทั้งสองคนไปไหนไปด้วย และทำมาหากินด้วยกันมาตลอด ถ้านายสุริยะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม นายสมศักดิ์ก็เปรียบเหมือนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเงานั่นเอง


ข้อสังเกตที่ 3 จากข้อสังเกตที่ 2 นี้เอง จึงอธิบายต่อได้ว่าพรรคเพื่อไทยต้องยอมยก "กระทรวงมหาดไทย" ให้พรรคภูมิใจไทย ทั้งที่ได้วางตัวนายภูมิธรรม เวชชชัย เอาไว้แล้ว แต่ต้องกระชากคืนจากคนของพรรคตัวเอง เอาไปให้ภูมิใจไทย เพื่อทดแทนการที่พรรคภูมิใจไทยไม่สามารถกลับไปคุมกระทรวงคมนาคมได้

ซึ่งกระทรวงมหาดไทยก็มีความสำคัญมาก ด้านการปกครอง ด้านมวลชน และมีความสำคัญยิ่งกับการจัดการเรื่องฐานเสียง แต่ต้องยกให้พรรคภูมิใจไทย โดยนอกจาก นายอนุทิน ชาญวีรกูล จะได้นั่งควบตำแหน่งรองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย แล้ว รมช.มหาดไทย ก็เป็นของภูมิใจไทย


กระทรวงมหาดไทยเป็นอีกกระทรวงที่มีงบประมาณมาก เงินที่ลงท้องถิ่นก็มีจำนวนมาก มิหนำซ้ำมหาดไทยยังกุมเรื่องกฎหมายหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโรงไฟฟ้าขยะ หรือนโยบายพลังงานบางอย่าง ถ้าไม่ได้รับไฟเขียวจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพลังงานก็เดินหน้าต่อไม่ได้ ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าขยะถือว่าเป็นเมกะโปรเจ็กต์ที่ซ่อนอยู่ ไม่นับการกุมสภาพการเมืองท้องถิ่น อบต. อบจ. ทั่วประเทศ คุมตรงนี้ก็เท่ากับคุมการเมือง


แต่เรื่องนี้ถ้าภูมิใจไทยรู้ คิดว่า เพื่อไทยไม่รู้หรือ? ดังนั้นโอกาสปรับ ครม.หลังจากนี้ก็มีเช่นกัน และภูมิใจไทยอาจจะต้องหลุดออกไป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่านายทักษิณมีความสุขสบายดีอยู่หรือไม่ ถ้าสุขสบายดีก็จะออกฤทธิ์อาละวาดได้

ข้อสังเกตที่ 4 “ท้อป” วราวุธ ศิลปอาชา พรรคชาติไทยพัฒนา หลังจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกยึดไปให้ พล.ต.อ.พชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ก็โดนลดระดับมานั่ง รมว.กระทรวงพัฒนาสังคม ทั้ง ๆ ที่จากความรู้ ความสามารถ คุณวุฒิ วัยวุฒิแล้ว “ท้อป วราวุธ” เหมาะจะนั่งกระทรวงต่างประเทศ


แต่อย่างว่า การเมืองเรื่องตัวเลข เก้าอี้ ส.ส.ของพรรคชาติไทยพัฒนาที่มีแค่ 10 ที่นั่ง การได้นั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหนึ่งก็ถือว่าดีแล้ว

ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่างที่เคยอธิบายเรื่อง “คณิตศาสตร์การเมือง” ให้ฟังไปแล้ว การที่รัฐบาลบวกให้มีเสียง ส.ส. 314 เสียง แปลว่าถึงที่สุดแล้ว ถ้าพรรคเพื่อไทยจะอาละวาด ก็สามารถตัดออกได้ 3 พรรคเลย หรือตัดพรรคใดพรรคหนึ่งออกโดยที่ไม่กระทบต่อการจัดตั้งรัฐบาล เพราะขอให้ได้เกิน 250 เสียง ก็พอ เช่น
-สามารถตัดพลังประชารัฐออกได้เลย(40 ที่นั่ง)
-หรือว่าจะตัดรวมไทยสร้างชาติออกก็ได้ถ้าคุณโวยวายมาก (36 ที่นั่ง)
-หรือชาติไทยพัฒนายิ่งแล้วไปใหญ่ (10 ที่นั่ง)


ส่วนของภูมิใจไทยมีอำนาจต่อรองสูงกว่าเพราะมี 71 ที่นั่ง ถ้าจะตัดก็ต้องเอาประชาธิปัตย์มาแทนเท่านั้น งูเห่า 16 เสียงของพรรคประชาธิปัตย์ที่โหวตเห็นชอบนายกฯ ก็คงกระสันอยากมาร่วมรัฐบาล แต่ก็ยาก เพราะต้องเป็นมติพรรค ต้องถูกขับออก ถ้าออกมาเฉย ๆ ก็จะสิ้นสภาพ สส. เพราะไม่สังกัดพรรคการเมือง ซึ่งพรรคก็คงไม่ยอมขับออก เพื่อให้ผูกโยงเป็นฝ่ายค้านไปด้วยกัน

ดังนั้น 16 คนนี้ต้องหาทางดิ้น อาจจะออกมาในรูปลงมติขับตัวเองออกจากพรรคก็เป็นได้ หรือในทางตรงกันข้ามก็คือการขับผู้อาวุโสของพรรคแทน เช่น นายชวน หลีกภัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน เพราะเสียงของกลุ่ม 16 คุมเสียงข้างมากใน ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ถ้าเขาออกมาได้ก็ต้องหาที่สังกัดใหม่ ที่เดียวที่ไปได้ก็คือภูมิใจไทย

นายชวน หลีกภัย นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน
ถ้า 16 สส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาไปอยู่พรรคภูมิใจไทยซึ่งมีอยู่ 71 เสียง จะทำให้ภูมิใจไทยมี ส.ส. มากถึง 88 เสียง ซึ่งจะทำใหภูมิใจไทยและกลุ่ม 16 มีสถานภาพใหม่ที่มั่นคงที่สุด ที่ไม่มีใครจะสามารถตัดทิ้งได้เลย

ข้อสังเกตที่ 5 พลังประชารัฐ ตามที่เป็นข่าว ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ได้กระทรวงเกรดเอ ก็คือกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


การที่พรรคเพื่อไทย
1.สูญเสียกระทรวงมหาดไทยไปเป็นเรื่องใหญ่มาก
2.สูญเสียกระทรวงพลังงานไปก็เรื่องใหญ่มาก ดีไม่มีค่าไฟฟ้า ค่าพลังงานอาจจะไม่ลงตามที่หาเสียงด้วย
3.สุดท้ายคือสูญเสียกระทรวงเกษตรฯ ที่เป็นฐานรากหญ้าที่จะได้ครองเสียงประชาชน แล้วยังสูญเสียกระทรวงคมนาคมให้นายสุริยะ ซึ่งข้ามฟากมาจากพลังประชารัฐ

พรรคเพื่อไทยไม่มีทางเลือก เพราะว่าคนที่ยืนข้างหลังพรรคพลังประชารัฐคือ พล.อ.ประวิตร และน้องชาย คือ พล.ต.อ.พัชรวาท สองพี่น้องนั้นมีอำนาจบารมีสูงในองค์กรอิสระทั้งหลาย ที่สำคัญคือ ป.ป.ช. เพราะฉะนั้นพรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องประนีประนอมในจุดนี้


ส่วน ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ก็เป็นนักการเมืองที่เก๋าเกม กลุ่มต่างๆ ในพรรคพลังประชารัฐมีอยู่ 9 กลุ่ม แต่ ร.อ.ธรรมนัสรวบอำนาจ โดยเอาตัวเองเป็นประธานวิป แล้วเข้าไปเจรจาในนาม พล.อ.ประวิตร พอพรรคเพื่อไทยแสดงเจตนาที่จะไม่เอา พล.อ.ประวิตรเข้ามา คนแรกที่ยืนอยู่หัวแถวที่พร้อมจะรับใช้พรรคเพื่อไทยก็คือ ร.อ.ธรรมนัส ด้วยเหตุนี้ ร.อ.ธรรมนัสจึงมีโอกาสได้นั่งกระทรวงเกรดเอ

ด้วยเหตุนี้ การจัด ครม.รอบนี้ คนที่แพ้ตัวจริงคือเพื่อไทย
แต่ก็น่าจะเป็นแค่การแพ้ “ชั่วคราว” เพราะเหตุการณ์เฉพาะหน้าตอนนี้คือการให้นายเศรษฐาได้เป็นนายกรัฐมนตรี และสามารถกุมสภาพ “กระทรวงยุติธรรม” เอาไว้ เพราะเกี่ยวพันกับความเป็นอยู่และอิสระภาพของนายทักษิณ


เหตุผลสำคัญของการกุมสภาพกระทรวงยุติธรรมไว้ให้ได้ ก็คือ นายทักษิณ ชินวัตรที่ต้องคำพิพากษาโทษจำคุกอยู่ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ตามข่าว ก็คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นลูกน้องเก่าของทักษิณ เพราะฉะนั้นเนรมิตได้ทุกอย่าง ดังนั้นตอนนี้เพื่อไทยไม่ขออย่างอื่น ขอให้ตั้งนายกได้ เป็นมิตรกับทุกคน รักษาเสถียรภาพ คุมกระทรวงยุติธรรม ส่วนกลาโหม พล.อ.ประยุทธ์จะคุมก็แล้วแต่ กระทรวงพลังงาน คมนาคม มหาดไทย เกษตรฯ เสียไปหมดก็ไม่เป็นไร

ข้อสังเกตที่ 6 ส่วนรวมไทยสร้างชาติ ที่ได้กระทรวงพลังงาน กับ กระทรวงอุตสาหกรรมเหมือน เป็นรางวัลตอบแทน

ตั้งแต่ที่ นายทักษิณ ชินวัตร กลับมา นอนใน รพ.เรือนจำ 1 คืน แผนเดิมจะได้ออกมารักษาตัวที่ รพ.เอกชนขนาดใหญ่ แต่กลัวกระแสสังคม ก็เลยเปลี่ยนเป็น รพ.ตำรวจ


มีข่าววงในบอกว่าจริง ๆ แล้วดีลลับของนายทักษิณ ไม่ใช่ พล.อ.ประวิตร แต่เป็น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ตอนนั้นยังมีอำนาจตามกฏหมาย

ถ้ายังจำได้ก่อนเลือกตั้ง วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 นายทักษิณ ชินวัตร ทวิตข้อความว่า “ไม่ต้องกังวลว่าผมจะเป็นภาระพรรคเพื่อไทย ผมจะเข้าสู่กระบวนการกฎหมายและวันที่ผมกลับยังเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ ทั้งหมดคือการตัดสินใจของผมเองด้วยความรักผูกพันกับครอบครัว/แผ่นดินเกิดและเจ้านายของเรา”


ซึ่งมีการวิเคราะห์ไว้อย่างมีเหตุผลว่า เป็นไปได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ในเวลานั้นมีข้อตกลงกับทักษิณว่าต้องกลับมาช่วยกันปกป้องสถาบัน และเป็นเกราะป้องกันคนก้าวไกลที่จ้องจะล้มสถาบัน จึงเป็นที่มาของ สว.125 คนโหวตให้นายเศรษฐา ทวีสิน พรรคเพื่อไทย ภายใต้ข้อตกลงคือ นายทักษิณได้กลับบ้าน เข้า รพ.เรือนจำ 1 คืนแล้วออกมารักษาตัวที่ รพ.ข้างนอกและยื้อยาวไม่กลับคุก รออภัยโทษ, ไม่ต้องใส่ชุดนักโทษ, ไม่ต้องกล้อนผม โดยให้ครอบครัวทำเรื่องขอพระราชทานอภัยโทษ และพล.อ.ประยุทธ์ทำหนังสือเห็นด้วยไม่คัดค้านประกอบคำวินิจฉัย จากนั้นนอนรักษาตัวด้วยโรคประจำตัว ที่โรงพยาบาลยาวไปจนครบกำหนดพักโทษ

ปัญหาตอนนี้คือเมื่อกระทรวงสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงหลุดไปหมด จากนี้ นายทักษิณจะเจอสภาพความปั่นป่วนภายในพรรคเพื่อไทย สส.อีสานเกือบทั้งชุดไม่พอใจมากที่ยกกระทรวงสำคัญให้พรรคอื่น แล้วกลุ่มของตัวเองไม่ได้อะไรเลย

เพราะเมื่อกระทรวงเกรดเอไปหมด ในพรรคมีโอกาสขัดแย้งกันรุนแรง ดังนั้นเชื่อว่าหลังจากรัฐบาลเดินไปสักพัก ไม่เกินปี ต้องมีการปรับ ครม.แน่นอน


ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ได้ถือเป็นเรื่องเกินเลยไปนักที่มีคนตั้งฉายาคณะรัฐมนตรีชุดนี้ว่าเป็น "ครม.เพื่อพ่อ" โดย "พ่อ" ในที่นี้ก็พ่อของ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ก็คือ นายทักษิณ ชินวัตร นั่นเอง

สรุป : ครม.ชุดนี้ เป็นช่วงการต่อรองระหว่างนายทักษิณ กับกลุ่มอำนาจเก่า นำโดย พล.อ.ประยุทธ์

ซึ่งจริงๆ แล้ว หากวิเคราะห์อย่างถึงที่สุด นายทักษิณถือไพ่เหนือกว่าอำนาจเก่า แต่นายทักษิณทำพลาดเสียเอง

อำนาจเก่ากลัวก้าวไกลอยู่แล้ว ถึงอย่างไรเพื่อไทยมีอำนาจต่อรองอยู่แล้ว จากการเป็นพรรคอันดับ 2 มีอยู่ 141 เสียง หากสายอำนาจเก่าไม่โหวตให้นายเศรษฐา นายอนุทินก็คงไม่กล้าขึ้นมาเป็นนายกฯ เพราะถ้าขึ้นมาพรรคเพื่อไทยก็เอามีดจ่อหลังอยู่ ไม่ไว้ใจว่าจะหักหลังเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้นถ้านายทักษิณยอมเสียสละตัวเอง เข้าไปอยู่ในคุก ยอมลดอัตตาตัวเอง ทรมานตัวเองให้ได้ อำนาจเก่าจะทำอะไรนายทักษิณไม่ได้เลย

สถานการณ์ตอนนี้แต่ละพรรคต่างก็ต่างมีเชือกคล้องคอกันและกัน
-ภูมิใจไทย โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ก็โดนนายสุริยะเอาเชือกคล้องคอ เพราะหลายโครงการสามารถขุดคุ้ยขึ้นมาใหม่ได้


-พล.อ.ประวิตร พล.ตงอ.พัชรวาท คล้องคอนายทักษิณ ด้วยองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
-พล.อ.ประยุทธ์ คล้องคอนายทักษิณ ด้วยการที่นายทักษิณหวังพึ่งพาการประสานในขบวนการอภัยโทษ
- “ตู่ ป้อม ป๊อก” ก็ถูกคล้อง เพราะเพื่อไทยที่ไปเป็นรัฐบาล ก็พร้อมแฉเรื่องราวต่าง ๆ ระหว่างที่อยู่ในอำนาจของ 3 ป.ได้หมด
-ภูมิใจไทยก็ถูกเพื่อไทยคล้อง เพราะคมนาคมโดนดึงไปคุม แต่ขณะเดียวกันภูมิใจไทยก็คล้องเพื่อไทย ด้วยจำนวนเสียง 71 เสียง พร้อมทั้งคุมงานด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ

สถานการณ์ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นเพราะนายทักษิณไม่ลดอัตตาตัวเอง ไม่ยอมอดทน ทรมานตัวเองในคุก ในที่สุดแล้ว นายทักษิณก็ยังเป็นปัญหาของแผ่นดินเหมือนเดิม


กำลังโหลดความคิดเห็น