xs
xsm
sm
md
lg

เด็กไทยวัย 1-6 ปีขาดสารอาหาร “ไมโครนิวเทรียนส์” ห่วงพัฒนาการไม่สมบูรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ในช่วงเวลาที่เด็กๆ กำลังวิ่งเล่น เติบโต เราอาจจะคิดว่าพวกเขายังคงแข็งแรงเป็นปรกติ แต่แท้จริงแล้วมีเด็กในช่วงวัยตั้งแต่ 1-6 ขวบ มากกว่าครึ่ง ประสบปัญหาการขาดสารอาหารรองหรือไมโครนิวเทรียนส์ (Micronutrients) ซึ่งเป็นภัยเงียบที่ไม่สามารถแยกแยะได้จากการดูภายนอก ซึ่งจากงาน ประชุมวิชาการด้านโภชนาการแห่งชาติครั้งที่ 16 หัวข้อ “การแก้ปัญหาช่องว่างทางโภชนาการในเด็กเล็ก” จัดโดยสมาคมผู้ผลิตอาหารทารกและเด็ก ที่ผ่านมาบรรดานักโภชนาการ แพทย์ และนักวิจัย ต่างระบุตรงกันว่าเด็กไทยกำลังประสบปัญหาขาดสารอาหารรองที่มีส่วนในการเสริมสร้างพัฒนาการสำหรับเด็ก




สารอาหารรอง ของจำเป็นต่อพัฒนาการเด็ก
สารอาหารรอง (Micronutrients) คือสารอาหารในกลุ่ม วิตามินและเกลือแร่ แม้จะเป็นสารอาหารที่ไม่ให้พลังงาน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และโปรตีน ที่เป็นกลุ่มสารอาหารหลัก แต่ก็มีความจำเป็นต่อร่างกาย จำเป็นต่อระบบประสาทสมอง การเผาพลาญพลังงาน ข่วยให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานเป็นปรกติ สำหรับเด็กเล็กสารอาหารรองมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสมอง เสริมการเจริญเติบโต และพัฒนาการร่างกายและสมองสำหรับเด็ก


รศ.นพ.สังคม จงพิพัฒน์วณิชย์ อดีตประธานชมรมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย และอาจารย์พิเศษ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ความสำคัญของโภชนาการในช่วงเริ่มแรกของชีวิตลูกน้อยว่าเป็นช่วงวัยที่ระบบภายในร่างกาย ยังพัฒนาไม่เต็มที่ มีการเจริญเติบโตที่รวดเร็วและเปลี่ยนแปลงมากที่สุด โภชนาการจึงมีความสำคัญต่อการเจริญเติบโต พัฒนาการร่างกาย การเผาผลาญอาหาร และสุขภาพโดยรวมของเด็ก โดยเฉพาะพัฒนาการทางสมองในช่วงเวลา 1-3 ปีแรก หากได้รับการดูแลด้านโภชนาการที่ดีพอ จะเป็นการวางรากฐานชีวิตที่ดีสำหรับเด็กทั้งปัจจุบันและอนาคต


แต่ในปัจจุบันไม่น่าเชื่อว่าเราพบว่าเด็กไทย มีการขาดสารอาหารหลายอย่าง โดยเฉพาะ วิตามินดี ที่ร่างกายเราสามารถสังเคราะห์ได้จากแสงแดด ในเมืองร้อนที่มีแดดตลอดทั้งปี สะท้อนให้เห็นว่ารูปแบบการใช้ชีวิตและการเลี้ยงดูบุตรเปลี่ยนแปลงไป จนส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก 

การติดตามดูการเจริญเติบโต หรือพัฒนาการ ของลูกว่าปกติหรือผิดปกติจากเกณฑ์มาตรฐานหรือไม่ เช่น น้ำหนัก ส่วนสูง และพัฒนาการที่สามารถทำได้ในแต่ละช่วงวัย และมีลักษณะ อาการแสดงการขาดสารอาหารหรือไม่ เช่น เด็กมีอาการเบื่ออาหาร ซึมเศร้า ไม่ร่าเริง น้ำหนักน้อย ส่วนสูงต่ำกว่าปกติ ตาลึก แก้มตอบ ผิวหนังแห้ง ผมร่วงมากกว่าปรกติฯ หรือมีพัฒนาการล่าช้ากว่าปกติ หากพบอาการผิดปรกติที่อาจบ่งบอกถึงการขาดสารอาหาร พัฒนาการที่ล่าช้า หรืออาการเจ็บป่วยเหล่านี้ หรือ ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อวินิจฉัยหาทางรักษาอย่างถูกต้อง


ผลของการขาดสารอาหารรองในแม่และเด็ก
ด้าน รศ.พญ.สุภาพรรณ ตันตราชีวธร นายกสมาคมโภชนาการเด็กแห่งประเทศไทย และ รองคณบดี คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช
เสริมว่า จากข้อมูลการสำรวจภาวะโภชนาการในทารกและเด็กอายุ 6 เดือนถึง 12 ปี ของ SEANUTS II ซึ่งเป็นการประชุมข้อมูลเชิงลึกใหม่เกี่ยวกับภาวะโภชนาการ และสุขภาพของเด็กในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่าเด็กไทยมีภาวะ Triple burden of malnutrition ได้แก่ ตัวเตี้ย น้ำหนักเกิน/อ้วน และภาวะความหิวซ่อนเร้น (การขาดสารอาหารรอง) โดยมีภาวะตัวเตี้ย ประมาณร้อยละ 6.2 ภาวะน้ำหนักเกิน/ อ้วน ในเด็กวัยเรียนร้อยละ 30-32 และภาวะขาดสารอาหารรอง ไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร 6 ชนิด ได้แก่ แคลเซียม สังกะสี ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินซี และวิตามินดี โดยได้รับวิตามินดีไม่เพียงพอร้อยละ 94 แคลเซียม สังกะสี วิตามินซี และวิตามินเอ ร้อยละ 76, 72, 67 และ 54 ตามลำดับ


การขาดสารอาหารเหล่านี้มีผลต่อการเจริญเติบโต และพัฒนาการของเด็ก โดยเฉพาะการขาดธาตุเหล็กและสังกะสี ทำให้เด็กมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคโลหิตจาง มีผลต่อพัฒนาการสมองและภูมิคุ้มกันของร่างกาย การขาดแคลเซียมมีผลต่อการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของกระดูก การขาดแคลเซียมพบมากในเด็กอายุ 4 ขวบขึ้นไป เนื่องจากเด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ควรดื่มนมวันละ 2 แก้วหรือกล่อง แต่เด็กมักดื่มนมเพียงวันละ 1 กล่องเท่านั้น


ผศ.ดร.อุไรพร จิตต์แจ้ง ที่ปรึกษาสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กรรมการมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย และ กรรมการมูลนิธิส่งเสริมโภชนาการในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระเทพฯ​ เสริมว่า จากการศึกษาเรื่องคุณภาพของนมแม่ เราพบว่านมแม่ ของคุณแม่ในแต่ละภูมิภาค มีสารอาหารบางตัวไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับอาหารที่คุณแม่รับประทาน เพราะอาหารที่คุณแม่รับประทานไป จะมีผลต่อการสร้างสารอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิตามิน และกรดไขมันในน้ำนมให้กับเด็กแรกเกิด เช่น คุณแม่ที่อาศัยอยู่ ทางภาคใต้ จะมีปริมาณสารอาหาร DHA หรือกรดไขมันในตระกูลโอเมก้า 3 ในนมแม่ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการเจริญเติบโตของสมองเด็ก
มากกว่าในนมแม่ของคุณแม่ในจังหวัดอื่น เพราะคุณแม่อาศัยอยู่ในจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ริมทะเล จึงมีโอกาสได้รับประทานอาหารปลาทะเลที่มีปริมาณโอเมก้า 3 สูง แสดงให้เห็นว่าคุณภาพของน้ำนมแม่นั้น สามารถมีคุณภาพที่ยิ่งดีมากขึ้นได้ ขึ้นอยู่กับสารอาหารที่คุณแม่รับประทานเข้าไปในแต่ละวัน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ตัวคุณแม่จะต้องรับประทานอาหารที่มีความหลากหลาย ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน เพื่อให้นมแม่มีสารอาหารสำคัญเพียงพอต่อความต้องการของลูก

ดังนั้น ข้อแนะนำการบริโภคสำหรับแม่ในช่วงให้นมลูก ตาม “ธงโภชนาการสำหรับแม่ให้นมลูก” จึงเป็นเรื่องสำคัญ หากแม่ขาดสารอาหารอย่างรุนแรง เด็กก็จะไม่ได้รับสารอาหารที่สำคัญอย่างครบถ้วนและเพียงพอ


การสังเกตและแนวทางการแก้ไข
รศ.พญ.สุภาพรรณ ได้ให้แนวทางแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร 3 วิธี เป็นแนวทางให้กับคุณพ่อ คุณแม่ ในการจัดเมนูอาหารสำหรับลูกเพื่อป้องกันการขาดสารอาหารดังนี้

1.รับประทานอาหารตามธรรมชาติ ให้ครบ 5 กลุ่ม ได้แก่ ข้าว-แป้ง ผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ และนม แต่ละกลุ่มให้หลากหลาย เป็นประจำทุกวัน เพื่อให้เด็กได้รับสารอาหารครบถ้วน เพียงพอ

2.รับประทานอาหารที่เสริมสารอาหาร (Fortified Food) เช่น ข้าวเด็กหุงสุกเร็วมีการเสริมธาตุเหล็ก สังกะสี แคลเซียม และวิตามินบี 1 น้ำปลาและซีอิ๊วมีการเสริมธาตุเหล็กและไอโอดีน และนมสำหรับเด็กเล็กเติมสารอาหาร เช่น ธาตุเหล็กและวิตามินดี ช่วยให้เด็กได้รับสารอาหารเพิ่มขึ้น

3.รับประทานเสริมในรูปยา
วิธีนี้เหมาะสำหรับรายที่ขาดสารอาหาร หรือในประชากรกลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหาร อาทิ การให้ยาธาตุเหล็กเสริมในทารกเกิดก่อนกำหนด ทารกอายุ 6 เดือน – 2 ปี หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร 

“ปัญหาการขาดสารอาหารรอง เกิดจากพฤติกรรมการเลี้ยงดูลูก การให้อาหารตามวัยและวิถีชีวิตที่ไม่เหมาะสม เช่น ให้ลูกกินอาหารหยาบหรืออาหารที่ไม่เหมาะสมก่อน เด็กทารกอายุ 6 เดือน ซึ่งมีผู้ปกครองจำนวนไม่น้อย ที่ให้ลูกกินช่วงเวลาอันควร ในขณะที่ลูกยังมีระบบทางเดินอาหารและน้ำย่อยทำงานได้ไม่เต็มที่ จึงย่อยและดูดซึมอาหารได้ไม่ดีและรู้สึกอิ่มนาน ทำให้เด็กกินนมแม่ได้น้อยลง


อีกทั้งการให้ลูกกินอาหารตามวัยที่ไม่เหมาะสม ไม่หลากหลาย ไม่ครบ 5 หมู่ ไม่เพียงพอ ทำให้ลูกได้รับพลังงานและสารอาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ส่วนวิตามินดีเป็นสารอาหารที่พบน้อยในอาหารที่ทารกและเด็ก ได้รับ ในภาวะปกติร่างกายสามารถสังเคราะห์วิตามินดีได้จากแสงแดด แต่ปัจจุบันเด็กไม่ค่อยเล่นกลางแจ้ง จึงทำให้ขาดวิตามินดี วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาการขาดสารอาหาร คือ ให้ความรู้ที่ถูกต้องด้านโภชานาการกับทุกคน โดยเฉพาะคุณพ่อ คุณแม่ทุกคน ถึงความสำคัญของการรับประทานให้ครบ 5 กลุ่ม อย่างหลากหลายและเพียงพอ ดื่มนมวันละ 2 แก้ว ติดตามการเจริญเติบโต โดยชั่งน้ำหนักและวัดส่วนสูงเป็นประจำ เพื่อให้มั่นใจว่าเด็กมีการเจริญเติบโตอย่างเหมาะสม ถึงจะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างยั่งยืน” รศ.นพ.สังคม ให้ความเห็นถึงสาเหตุการขาดสารอาหารรองในเด็ก

p
กำลังโหลดความคิดเห็น