“ออมชอบระบำใต้น้ำ เพราะออมรู้สึกเหมือนเราบินได้ เพราะเวลาว่ายน้ำ เราไม่มีแรงโน้มถ่วง ตอนเป็นเด็กออมรู้สึกอย่างนั้นเลยค่ะ เป็นพื้นที่ที่ทำให้เราได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระ…”
“…หัวใจสำคัญของกีฬาชนิดนี้คือการทำงานร่วมกับทีม เพราะระบำใต้น้ำเราแข่งกันเป็นทีม มันคือการที่เราทำ Synchronize ไปด้วยกันกับเพื่อนร่วมทีม…เหมือนเป็นการสื่อกันด้วยใจ เหมือนเราคุยกันในน้ำเลยค่ะ”
ออมบอกเล่าถึงตัวอย่างของการฝึกฝนอย่างหนักซึ่งอยู่เบื้องหลังความสวยงามที่ผู้ชมได้พบเห็น
นอกจากประสบการณ์การเป็นนักกีฬาระบำใต้น้ำทีมชาติ เป็นโค้ชระบำใต้น้ำแล้ว เธอยังก้าวเข้าสู่การเป็นนักศิลปะบำบัดด้วย
หากถามว่าการทำงานศิลปะบำบัดของคุณ เป็นแนวทางไหน
ออมกล่าวว่า เธอใช้แนวทาง Somatic Art Therapy ซึ่งเป็นการทำงานกับ Sensation หรือความรู้สึกในร่างกาย
“ออมเชื่อว่า กาย ( Body ) และจิตใจ (mind) ของเรา เป็นอะไรที่เชื่อมโยงกัน แยกออกไม่ได้ อะไรที่เกิดขึ้นกับร่างกายแล้วย่อมกระทบถึงจิตใจ อะไรที่เกิดขึ้นกับจิตใจแล้วย่อมกระทบถึงร่างกาย”
‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘ออม-ณัชนาถ กระแสร์ชล’ ผู้เป็นทั้งอดีตนักกีฬาระบำใต้น้ำทีมชาติ เป็นโค้ชระบำใต้น้ำ และเป็นนักศิลปะบำบัดในแนวทาง Somatic Art Therapy
ถ้อยความข้างต้นเป็นเพียงบางส่วนเสี้ยวของบทสนทนา
นับจากนี้ คือเรื่องราวแห่งแรงบันดาลใจ ที่เธอได้ถ่ายทอดไว้ผ่านแต่ละบทบาทที่ล้วนเชื่อมโยงและเชื่อมประสานกันอย่างสวยงามในความทรงจำ
คือ “ผู้อำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้อื่นได้เติบโต”
เริ่มบทสนทนาด้วยความประทับใจที่มีต่อประสบการณ์สำคัญในชีวิต ไม่ว่าการเป็นนักกีฬาระบำใต้น้ำ โค้ชสอนระบำใต้น้ำรวมทั้งนักศิลปะบำบัดผู้นำกระบวนการเยียวยาจิตใจผู้คน
ออมเล่าถึงความประทับใจในแต่ละส่วนว่า สำหรับเธอแล้ว ชอบทั้งการเป็นโค้ชสอนระบำใต้น้ำและเป็นนักศิลปะบำบัด
ออมเปรียบเปรยถึงความรู้สึกดังกล่าวว่า เปรียบเสมือนกับการเป็นผู้อำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้อื่นได้เติบโต
“สำหรับการเป็นโค้ช คือการเป็นครูสอนนักกีฬา สอนระบำใต้น้ำ ตัวออมเองในฐานะครู ออมจะมีความสุขทุกครั้งที่ได้เห็นเด็กๆ เขาสนุกและเคลื่อนไหวอย่างมีอิสระ เพราะว่ามันไม่ใช่แค่การว่ายน้ำปกติ ที่อาจจะเรียนท่าต่างๆ เป็นขั้นตอน 1-2-3-4 แต่ว่าระบำใต้น้ำจะต่างออกไป แม้จะมีท่าเบสิคก็จริง แต่สุดท้ายแล้วจะต้องนำแต่ละท่าไปรวบกับการเคลื่อนไหวในแบบที่เขาอยากจะทำ คือเป็นการสร้างสรรค์ในแบบของเขา เช่นเขาอาจจะไปตีลังกาในน้ำ เสร็จแล้วก็ยื่นขาไปข้างหน้า แล้วทำท่าต่างๆ ออกมา ซึ่งมันทำให้เขาได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระและปลอดภัยด้วยค่ะ เพราะเขาได้รับการซัพพอร์ตในน้ำด้วย ทำให้ไม่มีการล้มเหมือนอยู่บนบก
"ดังนั้น ในฐานะของคนเป็นโค้ช ออมมีความสุขที่เห็นเด็กๆ ได้สร้างสรรค์ท่าทางและเคลื่อนไหวอย่างมีอิสระค่ะ” ออมบอกเล่าถึงความสุขที่ได้รับจากการเป็นโค้ช
Miracle แห่งศิลปะบำบัด
แล้วความสุข ความประทับใจนั้น แตกต่างอย่างไรกับงานในด้านศิลปะบำบัด
ออมตอบว่าทั้งการเป็นโค้ชและการเป็นนักศิลปะบำบัด เธอมองว่าใกล้เคียงกัน
“เพราะมันเป็นการเฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงและเติบโตของผู้อื่น
“แล้วเราได้มีโอกาสเหมือนทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของเขา เพื่อให้กระบวนการเล็กๆ เหล่านี้ได้เกิดขึ้น ถ้าเป็นความประทับใจของศิลปะบำบัด ออมว่าความประทับใจนั้นเกิดขึ้นทุกครั้งที่ทำค่ะ เพราะความเป็นศิลปะบำบัด แต่ละคนจะแสดงออกไม่เหมือนกัน แต่ละคนย่อมมีเรื่องราว มีการเลือกสัญลักษณ์ มีการใช้วิธีเล่าที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น เราจึงรู้สึกว่าทุกงานศิลปะของเขา เป็นชิ้นงานที่พิเศษค่ะ
“และออมมองว่าการทำงานศิลปะบำบัด มันค่อนข้างเป็น Miracle เหมือนกันค่ะ มันสามารถทำงานกับภายในได้ ผ่านการที่เขาวาดหรือสร้างสรรค์งานศิลปะด้วยตัวของเขาเอง” ออมบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพ
ความทรงจำประทับใจ ในฐานะนักกีฬาระบำใต้น้ำทีมชาติ
เมื่อขอให้เล่าย้อนกลับไปในฐานะนักกีฬาระบำใต้น้ำทีมชาติบ้าง ว่ามีประสบการณ์ใดที่คุณประทับใจเป็นพิเศษ
ออมตอบอย่างอารมณ์ดีว่า “ออมว่าน่าจะเป็นการได้ออกไปเปิดหูเปิดตาค่ะ สำหรับออม ออมคิดว่าความสุขของการเป็นนักกีฬาทีมชาติก็คือการได้ออกไปเที่ยวฟรีค่ะ ( หัวเราะ )
"เพราะว่าด้วยตัวเราเอง คงไม่สามารถมีเงินไปเที่ยวได้หลายๆ ประเทศแบบนั้น แต่การไปเที่ยวเมื่อครั้งที่เป็นนักกีฬาทีมชาติที่ออมพูดถึงนั้น นอกจากสนามแข่ง อย่างมากที่สุดก็คือการเข้าซูเปอร์มาเก็ตค่ะ ( หัวเราะ ) นอกจากนั้น ออมรู้สึกว่า มันทำให้ออมได้เห็นโลกกว้างขึ้น ไม่ใช่แค่โลกของกีฬา แต่ยังได้ไปเห็นวิถีชีวิตผู้คนในประเทศอื่นๆ ได้เห็นโครงสร้างสถาปัตยกรรม ได้เห็นการใช้ชีวิต หรือวัฒนธรรมของเขาด้วยค่ะ” ออมถ่ายทอดถึงความประทับใจเมื่อครั้งเป็นนักกีฬาทีมชาติ
นับแต่แรกสัมผัส มนต์เสน่ห์แห่งระบำใต้น้ำ
เมื่อบทสนทนาดำเนินมาถึงมนต์เสน่ห์ของระบำใต้น้ำ เช่นนั้นแล้วไม่ถามคงไม่ได้ ว่าเพราะเหตุใดคุณจึงสนใจกีฬาประเภทนี้และเริ่มฝึกตั้งแต่กี่ขวบ
ออมตอบว่าเธอเริ่มฝึกฝนกีฬาระบำใต้น้ำ ตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ในช่วงนั้นเธอเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยแรกเริ่มเดิมที เนื่องจากลูกพี่ลูกน้องที่อยู่บ้านเดียวกันชวนไปฝึก กระทั่งเมื่อเธอได้เล่นกีฬาระบำใต้น้ำแล้ว ก็หลงรักในทันที
“ออมคิดว่า ออมชอบ เพราะออมรู้สึกเหมือนเราบินได้ ( หัวเราะ ) เพราะเวลาว่ายน้ำ เราไม่มีแรงโน้มถ่วง ตอนเป็นเด็กออมรู้สึกอย่างนั้นเลยค่ะ เป็นพื้นที่ที่ทำให้เราได้เคลื่อนไหวอย่างอิสระ แต่ว่าตอนนั้น ตอนเริ่มแรก เราแค่ไปเพื่อไปเล่นให้เป็น ในช่วงนั้น ไม่ได้มีการแข่งขันเยอะมากนัก ตอนเป็นเด็กออมก็จะได้แค่ไปแข่งว่ายน้ำ แล้วเปิดโชว์ระบำใต้น้ำก่อนแข่ง หรือโชว์ตามงานอีเวนท์ มีไปโชว์งานอีเวนท์ต่างๆ”
‘ทักษะ’ ที่มากกว่าความงาม
ถามว่า ผู้คนจำนวนไม่น้อย ชื่นชอบการชมกีฬาระบำใต้น้ำเพราะความสวยงาม ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีทักษะหรือหัวใจสำคัญใดบ้างที่นักกีฬาระบำใต้น้ำต้องมี นอกจากความสวยงามที่ปรากฏ
ออมตอบว่า “หัวใจสำคัญของกีฬาชนิดนี้คือการทำงานร่วมกับทีมค่ะ เพราะระบำใต้น้ำเราแข่งกันเป็นทีม มันคือการที่เราทำ Synchronize ไปด้วยกันกับเพื่อนร่วมทีม”
"เพราะฉะนั้น กีฬาระบำใต้น้ำจึงอาศัยการซ้อมด้วยกันหนักมาก ไม่ว่าทีม 8 คน หรือ 10 คน เราจะซ้อมกันเป็นร้อยๆ เป็นพันๆ รอบ จนความแม่นยำนั้นเข้าไปอยู่ใน Muscle Memory ของเรา
“อาทิ ขาที่ตีในน้ำต้องมีองศาการตีระดับไหน ขาเราต้องไม่ตีกันเองกับคนในทีมด้วย และเมื่อเราต้องอยู่ใกล้กันมากๆ การใกล้กันหรือห่างกันก็มีผลต่อคะแนนทั้งสิ้น สมาชิกทุกคนในทีมจึงต้องซ้อมด้วยกันโดยที่ร่างกายของเราจดจำและรับรู้ว่าเราต้องไม่เตะเพื่อนเรา เหมือนเป็นการสื่อกันด้วยใจ เหมือนเราคุยกันในน้ำเลยค่ะ (หัวเราะ)”
ออมบอกเล่าถึงตัวอย่างของการฝึกฝนอย่างหนักซึ่งอยู่เบื้องหลังความสวยงามที่ผู้ชมได้พบเห็น
เส้นทางนักกีฬา นำพาสู่โลกกว้าง
ทั้งนี้ แม้จะเริ่มฝึกระบำใต้น้ำนับแต่เยาว์วัย แต่ออมก็ก้าวเข้าเป็นนักกีฬาระบำใต้น้ำทีมชาติ เมื่อช่วงอายุ 17-18-19 ปี โดยในช่วงนั้น การแข่งขันส่วนใหญ่จะเป็นแมทช์โอเพ่นทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ
“ประเทศที่ไปบ่อยคือจีน อาจเพราะตอนนั้นโค้ชของทีมเป็นโค้ชชาวจีนด้วยค่ะ แล้วก็มีไปแข่ง SEA Games, Asian Games, World Championship”
หากถามว่าการแข่งขันครั้งไหนที่ประทับใจเป็นพิเศษ
ออมเล่าว่า ประทับใจ Asian Games ปี 2010 ที่กวางโจ
( การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 16 หรือ กวางโจวเกมส์ 2010 ) เพราะเป็นครั้งแรกที่ได้ไปแมทช์ใหญ่ระดับนั้น และเมื่อเป็น Asian Games ก็ย่อมมีหมู่บ้านนักกีฬา ซึ่งประเทศเจ้าภาพได้สร้างหมู่บ้านดังกล่าวขึ้นมาเพื่อรองรับนักกีฬาจากประเทศต่างๆ ในเอเชีย
“สำหรับออม ออมรู้สึก ‘ว้าว’ มากๆ เพราะทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ในหนัง Star Wars ที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติค่ะ มีคนหลากหลายรูปร่าง ทั้งคนตัวใหญ่คนตัวเล็ก แต่ละประเภทกีฬาก็มีลักษณะของนักกีฬาแตกต่างกันไปค่ะ เป็นการเปิดโลกสำหรับเราเลยค่ะ” ออมระบุ
ถามว่า การเป็นนักกีฬาทีมชาติ การที่เริ่มฝึกตั้งแต่ 8 ขวบ กระทั่งถึงวันนี้ มีประสบการณ์ ทักษะหรือแง่มุมใด ที่คุณมองว่าสามารถนำมาปรับใช้กับชีวิตประจำวันได้บ้างหรือไม่
ออมตอบอย่างน่าสนใจว่า สิ่งที่เธอได้รับจากการเป็นนักกีฬาคือ ทำให้เธอรู้จัก Connect กับร่างกายตัวเอง มีความตระหนักรู้ มี Body awareness ( ความสามารถในการตระหนักรู้ของร่างกาย ) ซึ่งออมมองว่าคุณสมบัตินี้ เชื่อมโยงกับการทำงานศิลปะบำบัดของออมด้วย
“ถ้าออมไม่ได้เป็นนักกีฬา ออมคงไม่รู้ว่าตอนนี้ มีส่วนไหนในร่างกายของเรากำลังตึงอยู่ แต่ด้วยความที่เป็นนักกีฬา เมื่อออมใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ ออมก็จะรู้แล้วว่า ช่วงไหนที่เรารู้สึกว่าร่างกายเราไม่ฟิต เพราะเรารู้สึกว่ากล้ามเนื้อเราเหลวๆ” ออมบอกเล่าได้อย่างเห็นภาพ
ไม่เพียงประสบการณ์และความประทับใจ ในช่วงชีวิตของการเป็นนักกีฬา และการเป็นโค้ชที่ใช้หัวใจขับเคลื่อนส่งเสริมศักยภาพของเด็กๆ ทว่า ยังมีอีกบทบาทหนึ่ง ที่ออมให้ความสำคัญและมอบความประทับใจไม่แพ้กัน นั่นคือ การเป็น ‘นักศิลปะบำบัด’
บนหนทางของการเป็นนักศิลปะบำบัด
ออมเล่าย้อนกลับไป เมื่อแรกเริ่มที่ก้าวเข้ามาเป็นนักศิลปะบำบัดว่าเริ่มขึ้นเมื่อประมาณ 3-5 ปีที่ผ่านมา
“ตอนนั้น ออมเป็น Panic attack เป็นช่วงที่ออมโฟกัสเรื่องการทำงานที่แรกหลังจากเรียนจบ แล้วมีหลายๆ เรื่องเกิดขึ้นในช่วงนั้น ทั้งที่บ้าน ทั้งที่ทำงาน แล้วเหมือนเราก็เป็น Panic ออมก็ถูกหามเข้าโรงพยาบาล”
( หมายเหตุ : Panic attack เป็นอาการทางร่างกายหลาย ๆ อย่าง เกิดขึ้นมาพร้อม ๆ กัน อาทิ ใจสั่น ,
หัวใจเต้นแรงหรือเร็วมาก / หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่ออก และรู้สึกอึดอัด )
ออมเล่าว่า เหตุการณ์นั้นเอง ทำให้เธอตระหนักว่า ‘จิต’ ของคนเราสามารถป่วยได้ ไม่ต่างจากร่างกายเรา ครั้งนั้น เป็นครั้งแรกที่ออมสัมผัสได้ว่า มีจิตที่สั่งร่างกายได้ถึงเพียงนี้และทำให้ป่วยได้ขนาดนี้
ออมจึงลองศึกษาศาสตร์ด้านนี้ แล้วก็พบว่ามีศิลปะบำบัดที่ช่วยเยียวยาได้ ประกอบกับมีรุ่นพี่คณะเดียวกับออม คือ ‘ครุศิลป์ จุฬา’ หรือคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาศิลปศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“รุ่นพี่ของออมคนนี้ เป็นนักศิลปะบำบัดและเป็นเจ้าของ Studio Persona ด้วยค่ะ ( หมายเหตุ : Studio Persona เป็นพื้นที่สำหรับการสำรวจ, เรียนรู้ และดูแล ‘จิตใจ’ของตัวเองผ่านกระบวนการศิลปะบำบัดและกิจกรรมสร้างสรรค์หลากหลายรูปแบบ)
"ออมก็ไปขอฝึกงาน แล้วพี่เขาก็ชวนไปฝึกงานที่โรงพยาบาลศิริราช ทำกระบวนการกับผู้ป่วยมะเร็ง ออมก็ได้ไปทำงานกับผู้ป่วย ซึ่งทำให้เราได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลง ภายใน 1 Session เลยค่ะ แล้วเราก็รู้สึก ‘ว้าว!’ มาก เราก็เลยรู้สึกว่าสิ่งนี้แหละที่เราอยากจะทำ เพราะจริงๆ แล้ว ออมก็เป็นคนที่ชอบงานศิลปะแล้วก็ชอบศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว
“คือออมเป็นคนที่สนใจทั้งสองอย่าง ทั้งระบำใต้น้ำและศิลปะ สนใจมาตั้งแต่เด็กเลยค่ะ” ออมบอกเล่าถึงความเป็นมาของการเป็นนักศิลปะบำบัดและกล่าวถึงความน่าสนใจของการทำศิลปะบำบัดร่วมกับผู้ป่วยโรคมะเร็งในคราวนั้น
กิจกรรมที่จัด จะแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ ประมาณ 4-6 คน
แล้วก็ทำงานศิลปะบำบัดเล็กๆ กัน โดยแต่ละครั้งมี Theme ที่แตกต่างกันไป
ออมยกตัวอย่างกิจกรรมหนึ่ง เช่น การให้วาดมือ คือ ลากเส้นจากมือตัวเอง เหมือนที่เราเคยเล่นตอนเด็กๆ แล้วให้เขียนว่าเรามีพลังอะไรอยู่ในตัวบ้าง
ทำให้ออมได้พบกับพลังของศิลปะบำบัดว่า มีส่วนอย่างยิ่งในการช่วยคลี่คลายแรงกดดันหรือความอึดอัดระหว่างผู้ป่วย กับผู้ดูแล เช่น พ่อแม่ของผู้ป่วย ให้เข้าใจกันได้มากขึ้น ได้พูดคุยกันถึงสิ่งที่ต่างฝ่ายรู้สึกอึดอัด
“การที่มีงานศิลปะเป็นสื่อกลาง ดังนั้น จึงไม่มีแรงกระแทกต่อกัน แล้วทำให้คำพูดของแต่ละคนดู Soft ไปหมดเลย ซึ่งสำคัญมากๆ สำหรับผู้ป่วยมะเร็ง การที่เราสามารถเชื่อมโยงเขากับผู้ดูแลได้ โดยที่ผู้ดูแลเองก็ต้องการการดูแลเหมือนกันค่ะ” ออมระบุ
Somatic Art Therapy เปิดกว้างอย่างหลากหลาย
ถามว่าการทำงานศิลปะบำบัดของคุณ เป็นแนวทางไหน
ออมกล่าวว่า เธอใช้แนวทาง Somatic Art Therapy ซึ่งเป็นการทำงานกับ Sensation หรือความรู้สึกในร่างกาย
ไม่ว่าความเจ็บปวด หรือความรู้สึกโหวงๆ หรือความรู้สึกว่างเปล่าก็ตาม
“ออมเชื่อว่า กาย ( Body ) และจิตใจ (mind) ของเรา เป็นอะไรที่เชื่อมโยงกัน แยกออกไม่ได้ อะไรที่เกิดขึ้นกับร่างกายแล้ว ย่อมกระทบถึงจิตใจ อะไรที่เกิดขึ้นกับจิตใจแล้ว ย่อมกระทบถึงร่างกาย
ยกตัวอย่างเช่น เมื่ออยู่ในพื้นที่ที่เรารู้สึกไม่ปลอดภัย เราจะห่อตัวเรา ทำให้ตัวเราเล็กลง เหมือนป้องกันร่างกาย ในทางกลับกัน เมื่อเราอยู่ในพื้นที่ที่เรารู้สึกปลอดภัย ร่างกายของเราก็จะผ่อนคลาย กล้ามเนื้อเราก็ผ่อนคลาย”
ออมกล่าวว่า Somatic Art Therapy เปิดกว้างให้สามารถนำศิลปะบำบัดหลากหลายแนวทางมาใช้ได้
ไม่เพียงเท่านั้น ออมสนใจในกระบวนการศิลปะบำบัดและพยายามพัฒนาแนวทางเฉพาะตัวขึ้นมา คือการนำเอาศิลปะบำบัดและระบำใต้น้ำมาใช้ด้วยกัน ซึ่งยังอยู่ในช่วงของการพัฒนาและทดลองด้วยตัวออมเอง และหวังว่าจะสามารถนำมาใช้เป็นศิลปะบำบัดอีกแนวทางหนึ่งได้ในอนาคต
“ศิลปะบำบัดไม่ใช่แค่การ Paints แต่ยังรวมถึงการเคลื่อนไหวและวิธีต่างๆ อีกมาก แม้แต่การใช้เสียง ก็นำมาใช้ได้ เพราะทั้งหมดนี้คือการแสดงออกจากภายใน ดังนั้นจึงสามารถทำงานด้วยกันได้หมดเลย แล้วการที่เรา Movement ในน้ำ ต่างจาก Movement บนบก เพราะมีน้ำคอยซัพพอร์ต
"แล้วเมื่ออยู่ในน้ำ เราต้องมีการควบคุมจังหวะการหายใจ ซึ่งออมว่ามันสามารถพัฒนาได้กับการทำงานศิลปะบำบัด ออมยังไม่ได้นำกระบวนการนี้ไปทดลองกับใคร แต่เป็นกระบวนการที่ออมทดลองกับตัวเองค่ะ”
ปัจจุบัน ออมเป็นนักศิลปะบำบัดประจำของ Studio Persona หากใครสนใจทำศิลปะบำบัดกับออมก็สามารถติดต่อมาที่ Studio Persona ได้เลย
ถามว่า มีคำแนะนำใดบ้าง สำหรับผู้สนใจอยากเป็นนักศิลปะบำบัด หรือผู้ที่อยากทำศิลปะบำบัดเอง
ออมตอบว่า “จริงๆ แล้ว ศิลปะบำบัดสามารถทำได้ทุกเพศวัย ทุกช่วงวัย เด็กเล็กๆ ก็ทำได้ การที่เขาขีดเขียนสิ่งต่างๆ ออกมา ก็ใกล้เคียงกับศิลปะบำบัดค่ะ แล้วสำหรับคนที่สนใจจะดูแลตัวเอง ดูแลภายในตัวเอง มีอุปสรรคในชีวิตก็อาจจะมาเจอนักศิลปะบำบัดอาชีพโดยตรง
“แต่หากไม่สามารถเข้าถึงนักศิลปะบำบัดได้ ออมอยากชวนให้ลองวาดรูป ลองเล่น ลองพาตัวเองกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ไม่มีถูก ไม่มีผิด อาจจะมีสีสักกล่อง กระดาษสักแผ่นแล้วลองวาดความรู้สึกออกมา
พอวาดออกมาแล้ว ก็ลองเขียนถึงภาพนี้ว่าเราเห็นอะไร เราอยากบอกอะไรกับความเจ็บปวดนี้
ออมว่า Message ที่เราได้จากการทำงานศิลปะบำบัด คือ Message ที่เราอยากฟัง”
ศิลปะบำบัดกับชีวิต
ถามว่า ในมุมมองของคุณ ‘ศิลปะบำบัด’ ส่งผลต่อชีวิตด้านอื่นๆ อย่างไรบ้าง
ออมตอบว่า ศิลปะบำบัด ทำให้ออมรู้จักจัดการและเชื่อมโยงกับภายในของตนเอง ซึ่งก่อนหน้านี้ออมไม่เข้าใจว่า เราจะทำงานกับภายในของเราอย่างไร
เป็นการดูแลภายใน เป็นการ Re-check ว่าตอนนี้เราเป็นยังไงบ้าง หรือว่าเราจะจัดการอารมณ์โกรธ จัดการกับความเหนื่อยของเรายังไง
“เช่น ถ้าหากเราปวดตามร่างกาย เราอาจไม่รู้ว่าจะแก้ไขอย่างไร เช่น การใช้ชีวิตประจำวันแต่ละคนไม่เหมือนกัน
เราใช้กล้ามเนื้อคนละส่วน เกร็งคนละจุด คนถนัดซ้ายขวาก็จะใช้งานกล้ามเนื้อคนละข้าง
แต่ละคนมี Relationship กับ Body ของเรา ไม่เหมือนกัน มันเป็นความพิเศษ คล้ายกับงานศิลปะบำบัดเลยค่ะ เพราะทำให้เราได้รู้สึกและสัมผัสได้ว่าความเจ็บปวดในร่างกายเราเป็นแบบไหน
“แล้วเรามาลองทำให้เป็นรูปเป็นร่าง ผ่านการเพนท์ การปั้น การวาด หรืออะไรก็ได้ ทำให้เรากลายเป็นผู้มองดูความรู้สึกนั้น ไม่ใช่มันฝังอยู่ในตัวเรา การมองเห็นในมุมใหม่อาจนำไปสู่การตระหนักรู้ว่าจะดูแลมันยังไง ซึ่งสามารถนำไปสู่การทำโยคะหรือระบำใต้น้ำ หรือการออกกำลังกายในแบบต่างๆ เพื่อทำให้จุดเชื่อมโยงกับความเจ็บปวดนั้นๆ สามารถคลี่คลายไปได้”
ออมยังฝากทิ้งท้าย ถึงผู้ที่สนใจ รวมถึงผู้ที่เคยมีอาการ Panic attack เช่นที่ออมเป็น รวมทั้งผู้ที่เป็นซึมเศร้าซึ่งมีเพิ่มมากขึ้นในโลกยุคปัจจุบันว่า
“ทุกคนจะมีอาการทางกายทั้งนั้นเลยนะคะ เช่น Panic attack ก็จะมีอาการใจสั่น มือสั่น เหงื่อแตก ใจเต้นเร็วมาก กระวนกระวาย
“หากออมได้ทำงานกับพวกเขาเหล่านี้ ออมจะชวนเขา Express มันออกมา ใส่ลงในหน้ากระดาษ หรือด้วยวิธีต่างๆ เหมือนเราได้นำมันออกจากร่างกายของเรา แล้วมาพิจารณาดู ไม่ได้จมกับมันอยู่ภายใน แต่เพื่อให้เราได้ค่อยๆ แกะปม และนำมันออกมา เพื่อนำมาผ่านกระบวนการศิลปะบำบัดร่วมกัน เพื่อช่วยทำให้ภายในของเขาได้รู้สึกเบาขึ้น”
เป็นเสียงสะท้อนบางแง่มุมของกระบวนการศิลปะบำบัดที่เธอคนนี้ทุ่มเทอย่างใส่ใจ ไม่ต่างจากอีกบทบาทของเธอในการเป็นโค้ชระบำใต้น้ำที่แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เธอสร้างสรรค์ขึ้นนั้น ล้วนเป็นศิลปะอันเปิดกว้าง พร้อมเยียวยาจิตใจผู้คนที่ต้องการใครสักคนรับฟัง
………..
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : ณัชนาถ กระแสร์ชล, Studio Persona