โรงพยาบาลบ้านกลางเผยเคสแมวป่วย ชักเกร็ง หลังเจ้าของป้อนยาพาราเซตามอล ชี้สุดอันตราย วอนช่วยแชร์ให้ทาสแมวรู้ เนื่องจากยาพาราเซตามอลมีพิษต่อแมว โดยในแมวโตที่มีน้ำหนักประมาณ 4-5 กิโลกรัม การป้อนยาพาราฯ เพียงแค่ครึ่งเม็ดก็เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
วันนี้ (23 ส.ค.) เพจ "โรงพยาบาลบ้านกลาง" ได้โพสต์คลิปวิดีโอเพื่อเตือนภัยเหล่าทาสแมว โดยระบุข้อความว่า “อย่าให้ยาพารากับแมว หมอขอรบกวนท่านที่เห็นโพสต์นี้ทุกท่านแชร์ไปให้เจ้าของแมวทุกท่านทราบครับ น้องสลอธมาหาหมอด้วยอาการชักเกร็ง ไม่มีสติ หลังซักประวัติ พบว่าก่อนหน้านี้ประมาณ 2 ชั่วโมงเจ้าของรู้สึกว่าน้องตัวร้อน ด้วยความไม่รู้เจ้าของจึงได้ป้อนยาพาราเซตามอล (500 มิลิกรัม) ให้กิน 1 เม็ด หลังจากนั้นน้องเริ่มมีอาการดวงตาเบิกโพรง น้ำลายไหลยืด และเริ่มมีอาการตัวกระตุก จึงรีบพามาหาหมอ
ตอนนี้หมอได้ให้ยาต้านพิษยาพาราเซตามอล และให้ยาดักจับสารพิษกับน้องทั้งหมดแล้ว ตอนนี้น้องยังคงต้องรอดูอาการ ดูการตอบสนองต่อยาอย่างใกล้ชิดในความดูแลของหมอ ขอให้ทุกๆ คนช่วยเป็นกำลังใจและช่วยส่งแรงใจให้น้องสลอธด้วยนะครับ
ปล. เจ้าของน้องแมวมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษา ตอนแรกจะให้หมอดูอาการให้เฉยๆ โดยให้หมอทำการรักษาแค่เบื้องต้นและจะพาน้องกลับ แต่หมอเห็นอาการน้องแล้วไม่สามารถปล่อยน้องกลับไปได้จริงๆ ครับ หมอเลยขอช่วยเจ้าของเคสนี้ดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายนะครับ
ปล.2 ขอขอบพระคุณทุกความเมตตา ที่ทักมาหาหมอทั้งหน้าเพจและหลังไมค์ ที่ต้องการช่วยเหลือดูแลค่ารักษาน้อง หมอขอแจ้ง ณ ที่นี้นะครับ เคสน้องสลอธ หมอช่วยดูแลน้องเองครับ และไม่ได้เปิดรับบริจาคแต่อย่างใดนะครับ ระวังมิจฉาชีพด้วยนะครับ
ปล.3 ทุกท่านที่เข้าเห็นโพสต์นี้ อย่าว่าเจ้าของน้องสลอธเลยครับ ด้วยใจจริงเจ้าของน้องก็เป็นห่วงน้อง แต่ด้วยความไม่รู้ จึงทำให้ทำพลาดด้วยการป้อนยาพาราฯ ให้น้อง และหมอเชื่อเหลือเกินว่ายังมีคนเลี้ยงน้องแมวอีกหลายคนที่ไม่รู้ว่าแมว ไม่สามารถให้ยาพาราฯ ได้ เรามาช่วยกันแก้ไข และช่วยรณรงค์ไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกดีกว่าครับ ขอบพระคุณครับ”
อย่างไรก็ตาม ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรืออีกชื่อหนึ่งคือ อะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เป็นยาแก้ปวดที่นิยมใช้ในคน หาซื้อง่าย ราคาถูก แต่รู้หรือไม่ว่ามีพิษต่อน้องแมวถึงแก่ชีวิตได้ ในแมวโตที่มีน้ำหนักประมาณ 4-5 กิโลกรัม การป้อนยาพาราฯ เพียงแค่ครึ่งเม็ดก็เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากแมวขาดเอนไซม์ที่ใช้เปลี่ยนแปลงยา ไม่สามารถขจัดยาดังกล่าวออกจากร่างกายทางตับได้ ทำให้เกิดการสะสมสารที่เป็นพิษในร่างกายแล้วยังแพร่กระจายทางกระแสเลือดไปทำลายเม็ดเลือดแดงและเซลล์ตับ เนื่องจากหน้าที่ของตับโดยตรงคือการขจัดสิ่งที่มีพิษออกจากร่างกาย และเนื่องจากเซลล์เม็ดเลือดแดงของแมวไวต่อการเกิดพิษจากยานี้เป็นอย่างมาก ทำให้เกิดการทำลายของเซลล์เม็ดเลือดแดงจนกระทั่งเกิดเม็ดเลือดแดงแตก ทำให้ร่างกายไม่สามารถขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ที่สำคัญของร่างกายได้
คลิกชมคลิปวิดีโอต้นฉบับ