xs
xsm
sm
md
lg

ชนวนสงคราม! มะกันเชิดปินส์ใช้ “ซากเรือ” หาเรื่องจีน ป่วนทั้งภูมิภาค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จับตาชนวนสงครามทะเลจีนใต้ เมื่อสหรัฐฯ ใช้ฟิลิปปินส์เป็นหุ่นเชิด ยกเอากรณีซากเรือเก่าบนพื้นที่พิพาทแนวปะการังเหรินอ้าย กล่าวหาจีนคุกคาม ประกาศส่งเรือรบ-เครื่องบินรบมาคุ้มครองฟิลิปปินส์ โดยมีประเทศลูกน้องอย่างออสเตรเลีย-ญี่ปุ่นขานนรับกันเป็นพรวน พร้อมเดินเกมทางการทูตดึงสมาชิกอาเซียนเข้าเป็นพวก ขณะที่จีนก็ไม่ยอมเช่นกัน จนยากที่ประเทศในอาเซียนจะวางตัวเป็นกลาง ไม่ยืนข้างใดข้างหนึ่ง



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม 2566 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงความขัดแย้งที่อาจจะกลายเป็นชนวนสงครามในทะเลจีนใต้เรื่อยไปจนถึงเกาะไต้หวัน จากกรณีที่ฟิลิปปินส์โดนการยุยงของสหรัฐอเมริกาใช้ซากเรือรบผุพังไปจอดเพื่ออ้างกรรมสิทธิ์ในแนวปะการังที่จีนตั้งชื่อว่า เหรินอ้าย เจียว (Ren'ai Jiao) ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทในทะเลจีนตอนใต้


พฤติกรรมของอเมริกา และฟิลิปปินส์ ทำให้รัฐบาลจีนตอบโต้ โดยทวงสัญญาในอดีตที่ฟิลิปปินส์เคยรับปากว่าจะถอนซากเรือนี้ออกไป และจีนก็ประณามสหรัฐฯ ที่แทรกแซงเรื่องทะเลจีนใต้ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง เหมือนกับอเมริกาแทรกแซงเรื่องแม่น้ำโขง ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องเลย


เรื่องของเรื่องคือ บริเวณหมู่เกาะสแปรตลีย์ ในทะเลจีนใต้ มีแนวปะการังเล็กๆ แห่งหนึ่งมีความยาวเหนือจรดใต้เพียง 20 กิโลเมตร มีชื่อในทางสากลเรียกว่า สันดอนโทมัสที่ 2 ภาษาอังกฤษเรียกว่า Second Thomas Shoal ภาษาจีนเรียกว่า เหรินอ้าย ฟิลิปปินส์เรียกว่า อายุนกิน อยู่ห่างจากเกาะปาลาวันของฟิลิปปินส์ 105 ไมล์ทะเล หรือ 194 กิโลเมตร ห่างจากไต้หวันประมาณ 200 กิโลเมตร


พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่พิพาทฟิลิปปินส์ จีน ไต้หวัน มาเลเซีย บรูไน และ เวียดนาม ต่างอ้างกรรมสิทธิ์ ฟิลิปปินส์อ้างว่าแนวปะการังนี้อยู่ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์ ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ขณะที่ฝ่ายจีนอ้างว่าแนวปะการังนี้เป็นส่วนหนึ่งของหมู่เกาะหนานซา สังกัดมณฑลไห่หนาน

ปี 2542 หรือยี่สิบสี่ปีที่แล้ว ฟิลิปปินส์รุกคืบแสดงสัญลักษณ์อ้างสิทธิ์ในพื้นที่ โดยนำซากเรือเก่าสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ที่ชื่อว่า BRP Sierra Madre มาจอดทิ้งเกยตื้นบนแนวปะการังเหรินอ้าย พร้อมยังส่งนาวิกโยธินฟิลิปปินส์จำนวนหนึ่งมาประจำการบนซากเรือนี้ แต่ฟิลิปปินส์ต้องใช้เรือขนส่งอาหาร น้ำ และเชื้อเพลิง มาให้นาวิกโยธินที่อยู่บนซากเรืออยู่เป็นประจำ และหลายครั้งก็เกือบจะปะทะกับกองเรือตระเวนของจีนที่อยู่ในพื้นที่


ล่าสุด เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2566 เกิดการปะทะกัน เมื่อเรือฟิลิปปินส์นำเสบียง อาหาร น้ำ และเชื้อเพลิง ไปส่งให้ทหารบนซากเรือ BRP Sierra Madre แล่นเข้าไปใกล้พื้นที่ที่กองเรือยามฝั่งของจีนลาดตระเวนอยู่ เรือยามฝั่งของจีนจึงประกาศเตือน แล้วก็ฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าใส่เรือของฟิลิปปินส์ เหตุที่เกิดขึ้นเรือฟิลิปปินส์ไม่ได้รับความเสียหาย ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ แต่ฟิลิปปินส์กลับโหมประโคมข่าวใหญ่โต อ้างว่าเรือจีนทำเกินกว่าเหตุและก้าวร้าว


ขณะเดียวกัน ลูกพี่ใหญ่ของฟิลิปปินส์ คือ อเมริกา และลูกพี่รองอย่างออสเตรเลีย ออกมาเด้งรับลูกทันที บอกว่า จีนละเมิดเสรีภาพในการเดินเรือ ทะเลจีนใต้เป็นน่านน้ำสากลที่ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะใช้ประโยชน์ โดยจากเหตุการณ์นี้ อเมริกาส่งเครื่องบินรบและเรือรบไปคุ้มครองเรือของฟิลิปปินส์ และยกสนธิสัญญาว่าด้วยการป้องกันประเทศร่วมกัน ระหว่างอเมริกา กับ ฟิลิปปินส์ เข้ามาข่มขู่จีน

ส่วนญี่ปุ่นก็ไม่น้อยหน้า หลังเกิดเหตุ สถานทูตญี่ปุ่นประจำฟิลิปปินส์ประกาศว่าจะมอบเรือลาดตระเวน 12 ลำ ให้ฟิลิปปินส์ พร้อมทั้งจะช่วยอัปเกรดระบบสื่อสารให้กับหน่วยยามฝั่งของฟิลิปปินส์


ประเด็นเรื่องนี้ ถ้าเราติดตามข่าวจากสื่อตะวันตกอย่างเดียว รวมทั้งสื่อไทยใจฝรั่งที่เน้นแปลข่าวจากสื่อตะวันตก รับรองว่าจีนเป็นผู้ร้ายแน่นอน เป็นผู้คุกคามเสรีภาพในการเดินเรือในน่านน้ำสากลอย่างแน่นอน แต่เบื้องหลังที่สื่อไทยไม่ค่อยพูดถึงก็คือ เหตุการณ์ทั้งหมดนี้เป็นแผนการของสหรัฐอเมริกาในการใช้ประเทศฟิลิปปินส์เพื่อเป็นชนวนยุยงให้เกิดความขัดแย้งในทะเลจีนตอนใต้

หลักฐานที่สำคัญคือจีนได้เชิญผู้สื่อข่าวต่างชาติเดินทางไปกับเรือขนส่งเสบียงด้วย เพื่อบันทึกการตอบโต้ของหน่วยยามฝั่งจีน แต่หลังจากนั้นฟิลิปปินส์ก็แจกจ่ายภาพถ่ายเหตุการณ์ให้กับสื่อมวลชนเอาไปเผยแพร่เพื่อสร้างภาพว่าจีนคุกคามเรือของฟิลิปปินส์


อย่างไรก็ดี ฟิลิปปินส์การละคร ถูกแฉกลับโดยหลักฐานของหน่วยยามฝั่งของจีนที่เผยแพร่สภาพมุมสูงให้เห็นระยะห่างของเรือ 2 ลำ เพื่อชี้่ว่าจีนได้ตอบโต้อย่างมืออาชีพและสมเหตุสมผลต่อสถานการณ์

จีนยังพูดเลยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ฝ่ายจีนยินยอมให้เรือของฟิลิปปินส์นำเสบียงอาหาร น้ำ และเชื้อเพลิง ให้กับหน่วยนาวิกโยธินที่ประจำการบนซากเรือที่แนวปะการังเหรินอ้ายด้วยเหตุผลทางมนุษยธรรม แต่ว่าในระยะหลังฟิลิปปินส์เริ่มขนวัสดุก่อสร้างไปด้วย ทั้งปูนซีเมนต์ คอนกรีต เหล็ก เพื่อซ่อมแซมเรือที่ทรุดโทรมหนัก ไม่ให้จมลงสู่ใต้ทะเล และยังมีแผนที่จะถมทะเลเพื่อยึดซากเรือไว้เป็นแนวปะการังอย่างถาวร


กระทรวงการต่างประเทศจีน ออกแถลงการณ์ทวงสัญญาที่ฟิลิปปินส์เคยระบุไว้ว่าจะลากซากเรือออกจากแนวปะการังเหรินอ้าย โดยอ้างอิงถึงปี 2542 ของอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ นายโจเซฟ เอสตราดา รับปากทางการจีนว่าจะลากซากเรือออกไป อีก 4 ปีต่อมา ในปี 2546 นางกลอเรีย อาร์โรโย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนต่อมา ก็รับรองคำสัญญาของนายเอสตราดา ว่าจะลากเรือไปจากแนวปะการังเหรินอ้าย แต่ผ่านไป 24 ปีแล้ว ฟิลิปปินส์ไม่เพียงแต่ไม่ได้ลากเรือรบออกไปเท่านั้น ยังพยายามบูรณะ สร้าง ต่อเติม ต่อเรือรบที่เกยตื้น แสดงเจตนาอย่างชัดเจนว่าต้องการจะยึดแนวปะการังเหรินอ้ายนี้เอาไว้

จีนปล่อยให้ฟิลิปปินส์ใช้ซากเรือเก่ายึดพื้นที่แนวปะการังถึง 24 ปี และเรียกความสงสารจากนานาชาติ ทั้งๆ ที่ถ้าเป็นอเมริกาแล้ว คงจะลากเรือออกไป ทำลายเรือทิ้งไปตั้งนานแล้ว เหมือนที่อเมริกาเคยยิงสิ่งที่อ้างว่าเป็นบอลลูนสอดแนมของจีนที่ล่วงล้ำเข้าไปในน่านฟ้าอเมริกา มิหนำซ้ำฟิลิปปินส์ยังเคยตกลงกับจีนเพื่อคลี่คลายข้อพิพาทในทะเลจีนตอนใต้ ร่วมลงนามในคำประกาศแนวทางปฏิบัติต่อปัญหาทะเลจีนตอนใต้


แต่มาครั้งนี้ ประธานาธิบดีมาร์กอส จูเนียร์ ซึ่งเป็นบุตรชายของอดีตเผด็จการ เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส กลับทำไม่รู้ไม่ชี้ มิหนำซ้ำยังถามผู้สื่อข่าวกลับว่า มีการรับปากเช่นนั้นตั้งแต่เมื่อไร ถ้ามีจริงก็ต้องยกเลิกไปทันที การเป็นผู้นำประเทศๆ หนึ่งแล้วจะต้องสับปลับกับคำสัจจะวาจาหรือข้อตกลงกันในอดีตนั้น ต้องถือว่าเป็นคนที่ใช้ไม่ได้ แต่ที่มาร์กอส จูเนียร์ ทำอย่างนั้นได้เพราะเขามั่นใจว่ามีอเมริกาหนุนหลัง

ผู้นำฟิลิปปินส์คนนี้เป็นคนชักศึกเข้าบ้าน อนุญาตให้อเมริกาตั้งฐานทัพ จาก 5 แห่ง เป็น 10 แห่ง ทำไมอเมริกาต้องมาตั้งฐานทัพที่ฟิลิปปินส์ ? เพราะอเมริกาต้องการที่จะล้อมจีนเอาไว้ เพราะฉะนั้นฟิลิปปินส์ก็เลยเป็นสุนัขรับใช้ของอเมริกาอย่างเต็มที่ เต็มตัว


หลังจากที่นายบองบอง มาร์กอส จูเนียร์ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เขาเลือกข้างสหรัฐฯ อย่างชัดเจน เปิดทางให้ไปใช้ฐานทัพเพิ่มอีก 4 แห่ง ของเดิมมีอยู่ 5 แห่ง ตอนนี้ฐานทัพอเมริกาในฟิลิปปินส์มี 9 แห่ง

นอกจากนี้แล้ว จะมีการเจรจาเพิ่มฐานทัพอีกเป็น 10 แห่ง ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือกัน เพื่อจะร่วมฝึกซ้อม นำอาวุธไปเก็บไว้ล่วงหน้า และสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น รันเวย์ คลังจัดเก็บเชื้อเพลิง และค่ายพักทหาร แต่การเข้ามาของทหารอเมริกานั้นอยู่ในลักษณะหมุนเวียน ไม่ใช่ประจำการอย่างถาวร ปัจจุบันอเมริกามีทหารประจำการแบบหมุนเวียนในฟิลิปปินส์ราวๆ 500 คน


อเมริกาต้องการใช้ฟิลิปปินส์รับมือ ถ้าเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินในไต้หวัน เนื่องจากที่ตั้งฟิลิปปินส์นั้นอยู่ใกล้เกาะไต้หวัน การประกาศร่วมของสองประเทศไม่ได้ระบุว่าฐานทัพฟิลิปปินส์จะเปิดให้สหรัฐฯ เข้าไปอยู่ที่ใดบ้าง แต่อดีตผู้บัญชาการทหารของฟิลิปปินส์เปิดเผยว่า อเมริกาขอเข้าถึงฐานทัพบนเกาะลูซอน ซึ่งเป็นส่วนที่ใกล้ไต้หวันมากที่สุด และบนเกาะปาลาวัน ที่หันหน้าเข้าสู่หมู่เกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้


นับตั้งแต่นายมาร์กอส จูเนียร์ เป็นประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เขาได้พบประธานาธิบดีโจ ไบเดน มาแล้ว 2 ครั้ง และย้ำว่า อนาคตของฟิลิปปินส์และเอเชียแปซิฟิกต้องมีอเมริกา

รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ นางกมลา แฮร์ริส เคยเดินทางมาเยือนฟิลิปปินส์เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปีที่แล้ว และย้ำขณะที่เดินทางไปที่ฐานทัพบนเกาะปาลาวัน ว่า วอชิงตันจะเคียงข้างฟิลิปปินส์หากมีการข่มขู่คุกคามในทะเลจีนตอนใต้ ซึ่งเป็นวาทกรรมสวยหรูของอเมริกาในทุกๆ เขต ทุกๆ แห่ง ที่อเมริกายุยงให้คนอื่นรบแทนตัวเอง


“ก็จะบอกว่าจะอยู่เคียงข้างตลอดเวลา แต่คุณออกหน้าไปนะ คุณไปรบนะ เราจะคอยขายอาวุธให้อยู่ข้างหลัง และเราก็จะคอยส่งแรงเชียร์ไปให้ สู้ๆ สู้ๆ สู้ไม่ไหว อาวุธสู้ไม่ได้ เดี๋ยวเราขายอาวุธให้ นี่คือสันดานของอเมริกา แต่ก่อนเป็นเช่นนี้ ตอนนี้ก็เป็นเช่นนี้ และต่อไปในอนาคตข้างหน้าก็จะเป็นเช่นนี้ต่อไป” นายสนธิกล่าว

พล.อ.ลอยด์ ออสติน (Lloyd Austin) รัฐมนตรีกลาโหมอเมริกา พูดกับรัฐมนตรีกลาโหมฟิลิปปินส์ ว่า อเมริกายังคงให้ความช่วยเหลือก่อสร้าง ปรับปรุงแสนยานุภาพกองทัพฟิลิปปินส์ให้ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างสองประเทศ


นิวยอร์กไทมส์รายงานว่า นายบองบอง มาร์กอส จูเนียร์ ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์คนปัจจุบัน ต้องการฟื้นฟูภาพลักษณ์ของตัวเองและครอบครัว ที่ถูกตราหน้าว่าเป็นเผด็จการโกงชาติ แม้แต่นายโจ ไบเดน ก็เคยเอ่ยปากประณามตระกูลมาร์กอส แต่วันนี้เพื่อต่อต้านจีน นายไบเดน กลับลืมน้ำคำตัวเอง ต้อนรับนายบองบอง อย่างอลังการที่ทำเนียบขาว


อเมริกาเป็นคนเขียนบทให้ฟิลิปปินส์ถูกรังแก ยุยงให้เกิดความขัดแย้งในพื้นที่ทะเลจีนตอนใต้ แต่บทละครนี้แสดงให้เห็นถึงความบ้อท่าของอเมริกา ขนาดต้องใช้ซากเรือบุโรทั่งเป็นเครื่องมือ จีนใช้บทสุภาพบุรุษ อดทนทุกอย่างถึงจะถูกยั่วยุอย่างไรก็ตาม

แล้วสมาชิกอาเซียนจะถูกดึงเข้าร่วมในความขัดแย้งที่อาจจะหลีกเลี่ยงไม่ได้หรือเปล่า ?

เรื่องพิพาททะเลจีนตอนใต้ยืดเยื้อมานานแล้ว แนวทางของจีนคือให้เจรจาทวิภาคี ถ้าพื้นที่นี้ ประเทศไหนก็ตามคิดว่าเขามีสิทธิ์ มีส่วน ก็มานั่งคุยกันว่าจะแก้ปัญหานี้กันได้อย่างไร แต่อเมริกาซึ่งอยู่ไกลโพ้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรเลยสักนิด เข้ามาปั่นป่วน อ้างถึงเสรีภาพในการเดินเรือ ยุยงให้ประเทศอาเซียนรวมตัวกันเพื่อต่อต้านจีน เรื่องนี้จึงเกี่ยวพันกับประเทศอื่นด้วย รวมทั้งประเทศไทย แม้ว่าจะไม่มีปัญหาพื้นที่พิพาทกับจีนก็ตาม


ความเกี่ยวข้องนี้เห็นได้จากการที่นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน เดินทางเยือนสิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา ในสัปดาห์นี้ นายหวัง อี้ กล่าวว่า สถานการณ์พื้นที่ทะเลจีนตอนใต้ในปัจจุบันหลายปีมานี้ ด้วยความพยายามร่วมกันของจีนและกลุ่มอาเซียน สถานการณ์บริเวณทะเจีนตอนใต้จึงมีความสงบโดยรวม นำมาสู่สภาพแวดล้อมที่ดี การพัฒนาตัวเองทั้งสองฝ่าย แต่กลุ่มอำนาจต่างๆ ที่สหรัฐฯ เป็นหัวโจก มุ่งที่จะสร้างความวุ่นวายบริเวณทะเลจีนตอนใต้อยู่เสมอ เมื่อเร็วๆ นี้ได้ยั่วยุให้เกิดความขัดแย้งระหว่างจีน กับ ฟิลิปปินส์ โดยปัญหาอยู่ที่แนวปะการังเหรินอ้าย เป็นข้ออ้างทำลายสันติภาพและความสงบของน่านน้ำทะเลจีนตอนใต้ เพื่อจะเป็นประโยชน์ต่อยุทธศาสตร์ภูมิรัฐศาสตร์ของตัวเอง

นายหวัง อี้ เดินทางไปเยือนชาติสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วย สิงคโปร์ มาเลเซีย กัมพูชา ภายหลังเกิดเหตุทะเลจีนใต้ได้ไม่นาน เป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศว่า เขาอาจจะเดินทางไปเยือนเวียดนามในเวลาสั้นๆ คาดว่าไบเดน จะเร่งรัดข้อเสนอของประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ที่จะให้เวียดนามมาร่วมข้อตกลงทางทะเลเพื่อปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน และรับมือกับการเผชิญหน้ากับกองเรือจีน

ทั้งสหรัฐฯ และจีนต่างเดินเกมหาพวก เพื่อพิทักษ์ภูมิรัฐศาสตร์ตัวเอง นายโจ ไบเดน ประกาศชัดเจน การกระชับความสัมพันธ์กับชาติอาเซียนมีความสำคัญอันดับแรกเพื่อต่อต้านอิทธิพลจีน และรัสเซีย ส่วนนายหวัง อี้ ก็เดินทางไปเยือนสมาชิกอาเซียนเช่นกัน ประกอบด้วย สิงคโปร์ กัมพูชา มาเลเซีย


ผู้สื่อข่าวในกัมพูชาระบุว่า หวัง อี้ มาเยือนกัมพูชาเพื่อ หนึ่ง ประเมินท่าทีรัฐบาลใหม่ที่นำโดย ฮุน มาเนต บุตรชายนายฮุน เซน และรัฐมนตรีกว่า 20 คน ซึ่งล้วนแต่เป็นคนรุ่นใหม่ คนเหล่านี้แม้จะเป็นลูกหลานของรัฐมนตรีเดิม แต่เติบโต ได้รับการศึกษาในชาติตะวันตก ฝ่ายจีนเลยอยากหยั่งเชิงว่ารัฐบาลใหม่ของกัมพูชามีจุดยืนอย่างไร

ข้อที่สอง ประเทศจีนขอเจรจาเรื่องท่าเรือเรียม ซึ่งขณะนี้กัมพูชาอนุญาตให้ใช้งานอยู่ แต่ยังปฏิเสธว่าไม่ใช่ฐานทัพ นายไบเดน บอกว่า จะให้กัมพูชาเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ทำให้ประเทศจีนไม่ไว้วางใจบทบาทของรัฐบาลนายฮุน มาเนต


“สถานการณ์ปัจจุบัน อเมริกา และจีน แบ่งขั้วกันอย่างชัดเจน ขณะที่ประเทศอาเซียนล้วนหวังจะวางตัวเป็นกลาง เหยียบเรือสองแคม ไม่เลือกยืนข้างใดข้างหนึ่ง อาจจะเป็นจุดยืนที่ปฏิบัติได้ยากขึ้นๆๆ ทุกวัน” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น