xs
xsm
sm
md
lg

หลังม่านการเมือง ต่อรองเดือดก่อนโหวตนายกฯ “เศรษฐา” ฝ่า 3 ด่าน คาด 22 ส.ค.อาจต้องเลื่อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สนธิ” คาดโหวตนายกฯ อาจเลื่อนจาก 22 ส.ค. เหตุเจรจาโควตา รมต.ยังไม่ลงตัว ขณะ “เศรษฐา” ต้องเจอ 3 ด่าน ถ้าเคลียร์พรรคร่วมไม่จบ อาจพลาด หากจะดัน “อุ๊งอิ๊ง” ขึ้นมาแทนต้องถามครอบครัวชินวัตรจะยอมหรือไม่ ถ้าพ้นจากตัวเลือกของเพื่อไทย ก็ถึงคิว “อนุทิน” หรือ “พล.อ.ประวิตร”



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม 2566 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล หลังจากเมื่อวันพุธที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินที่ขอให้วินิจฉัยกรณีรัฐสภามีมติว่าการเสนอชื่อบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรีถือเป็นญัตติ ไม่สามารถเสนอชื่อนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ซ้ำอีกได้ และนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา ได้นัดประชุมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกฯ ใน วันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2566 นี้

อย่างไรก็ตาม นายสนธิ กล่าวว่าการเมืองหลังเลือกตั้งต้องดู “คณิตศาสตร์” เป็นตัวตั้งควบคู่ไปกับเงื่อนไขทางการเมืองและการต่อรอง และเป็นตัวกำหนดเกมการตั้งรัฐบาล และสถานการณ์ขณะนี้ การ์ตูนการเมืองของ บัญชา/คามิน เมื่อวานนี้ 17 สิงหาคม 2566 สามารถอธิบายเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี


ประการแรก ณ วันนี้ เป็นที่ชัดเจนแล้วว่า มติพรรคก้าวไกล ซึ่งมี ส.ส. จำนวน 151 เสียง รวมถึงพรรคไทยสร้างไทย 6 เสียง และพรรคเป็นธรรม 1 เสียง ซึ่งเป็นฝ่ายค้านยืนพื้นรวมจำนวน 158 เสียง ได้ประกาศแล้วว่าจะไม่ลงคะแนนให้กับแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

ทั้งนี้ เนื่องจากพรรคที่เป็นฝ่ายค้านยืนตรงที่ 158 เสียง แปลว่าต่อให้สมมุติว่าสถานการณ์ดีที่สุดคือ ส.ส.พรรคที่เหลือทั้งหมดรวมตัวกันลงคะแนนให้แคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ก็ยังจะได้ 342 เสียง (500 - 158)


นี่เป็นตัวเลขในอุดมคติ ยังจะขาดอีก 34 เสียงที่ต้องได้จาก ส.ว.อยู่ดีจึงจะได้ 376 เสียงขึ้นไป แปลว่าในท้ายที่สุดตัวแปรที่สำคัญที่สุดก็ยังคงเป็น“พรรค ส.ว.”

ประการที่สอง ในความเป็นจริง พรรคเพื่อไทย ก็จะยังไม่ได้คะแนนจาก ส.ส. มากถึงถึง 342 เสียง เพราะต่างฝ่ายต่างติดเงื่อนไขกับประชาชน ที่สำคัญคือการต่อรองเก้าอี้ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และความไม่ไว้วางใจ ทำให้สถานการณ์ทางการเมืองที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีวันอังคารที่ 22 สิงหาคม 2566 ยังมีความไม่แน่ไม่นอนต่อไป

ย้อนกลับไปเมื่อ วันที่ 7 สิงหาคม 2566 พรรคเพื่อไทย 141 เสียง และพรรคภูมิใจไทย 71 เสียง รวมเป็น 212 เสียง ได้ประกาศจับมือกันเป็น “สารตั้งต้น” ในการจัดตั้งรัฐบาล แลัวให้พรรคก้าวไกลให้ไปเป็นฝ่ายค้าน


ต่อมาพรรคเพื่อไทย ก็รวมเสียงจากพรรคขนาดเล็ก และขนาดกลางอื่นๆ ได้อีก 26 เสียง รวมเป็น 238 เสียง ทำให้ยังขาดเสียงขั้นต่ำอีก 12 เสียง จึงจะเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรคือ 250 เสียงขึ้นไป

ซึ่งพรรคที่มีเสียงเกิน 12 เสียงขึ้นไป คือ พรรคพลังประชารัฐ 40 เสียง พรรครวมไทยสร้างชาติ 36 เสียง พรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง จึงจะทำให้เสียงเกินกึ่งหนึ่งคือ 250 เสียง และจะทำให้มี ส.ว.โหวตเพิ่มตามให้ด้วย เพราะรวมไทยสร้างชาติ และพลังประชารัฐ เป็นของ 2 ลุง ถึงแม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะไม่อยู่แล้ว แต่ ส.ว.สาย พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังอยู่ เช่นเดียวกับ สว.สาย พล.อ.ประสิทย์ วงษ์สุวรรณ

ประการที่สาม ปัญหาคือ ณ ขณะนี้ สถานการณ์ทางการเมืองมีความอึมครึม เหมือนกับว่าให้เลือกนายกรัฐมนตรีไปก่อน แล้วค่อยไปกว่ากันเรื่องการจัดสรรเก้าอี้ในคณะรัฐมนตรีภายหลัง


วันศุกร์ที่แล้ว วันที่ 11 สิงหาคม 2566 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ได้แถลงข่าวว่าเมื่อเลือกนายกรัฐมนตรีได้แล้วเราถึงจะดำเนินการจัดสรรเก้าอี้ในคณะรัฐมนตรีภายหลัง

และให้สัมภาษณ์กับนักข่าวอีกด้วยว่า ใครเลือกแคนดิเดตจากเพื่อไทยก็อยู่ในเงื่อนไขที่ต้องคุยกันว่าจะมีส่วนร่วมกันได้ขนาดไหน ถ้าไม่เลือกก็ชัดเจนว่า ไม่เอาเราไม่เป็นไร ถือว่าเราไม่มีพรรคเหล่านั้นในสมการ

ความหมายของการแถลงข่าวครั้งนี้ คือการส่งสัญญาณ “ขู่” ว่าใครเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย จึงจะได้สิทธิได้รับการพิจารณาว่าจะให้ตำแหน่งรัฐมนตรีอะไรบ้าง ใครไม่เลือกก็ไม่มีสิทธิ ส่วนจะเลือกหรือไม่เล์อกก็ยังไม่ชัดเจนอีก

นี่คือความพยายามกดอำนาจ ปิดการเจรจาต่อรองตำแหน่งต่างๆ ของพรรคที่จะมาร่วมการจัดตั้งรัฐบาล


ไม่กี่วันถัดมา วันที่ 15 สิงหาคม 2566 นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ให้สัมภาษณ์ว่าที่ผ่านมาเป็นการเจรจาโควตาสัดส่วนจำนวน ส.ส.ต่อตำแหน่งรัฐมนตรี แต่ควรเจรจาจัดสรรตำแหน่งรัฐมนตรีให้เสร็จสิ้นก่อนลงมติให้กับแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี

วันที่ 16 สิงหาคม 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ตรงกับนายวราวุธ ศิลปอาชา เมื่อนักข่าวถามนายอนุทินว่า “เป็นไปได้หรือไม่ว่าต้องโหวตนายกฯ ให้ก่อน ถึงจะมีการตกลงเรื่องแบ่งกระทรวง”


วันที่ 16 สิงหาคม 2566 นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ตรงกับนายวราวุธ ศิลปอาชา เมื่อนักข่าวถามนายอนุทินว่า“เป็นไปได้หรือไม่ว่าต้องโหวตนายกฯ ให้ก่อน ถึงจะมีการตกลงเรื่องแบ่งกระทรวง”

นายอนุทินกล่าวว่า“คงไม่ถึงขั้นนั้น เพราะต้องคุยกันก่อน ควรจะคุยให้จบก่อนการโหวตเลือกนายกฯ ส่วนท่าทีของพรรคเพื่อไทยนั้น ไม่เคยยืนยันว่าจะต้องโหวตนายกฯ ก่อน น่าจะมีการนัดพูดคุยกันอีกใน 2-3 วัน”

สรุป : ในสถานการณ์การเมืองเช่นนี้ ที่ไม่ว่าใครที่ต้องการจะจัดตั้งรัฐบาล ก็ต้องพึ่ง เสียง ส.ว. ที่ถือเป็นเสียงชี้ขาดการเลือกนายกรัฐมนตรี

นายสนธิ คาดการณ์สถานการณ์วันที่ 22 สิงหาคม 2566 โดยสรุปไว้ดังนี้

1) หากพรรคเพื่อไทยเห็นว่าการเจรจาจัดสรรคณะรัฐมนตรียังไม่เสร็จสิ้นแล้วฝืนโหวตนายเศรษฐา ทวีสิน ไปก่อน รับรองได้ว่า นายเศรษฐา ก็จะถูกกำจัดเพราะแพ้ในสภาแน่นอน และจะไปแพ้เพราะเสียง ส.ว.ไม่ถึง พูดได้หรือไม่ว่านายเศรษฐาเป็นตัวหลอกของพรรคเพื่อไทย


2) หากการเจรจาจัดสรรคณะรัฐมนตรียังไม่เสร็จสิ้น แต่ยังต้องการให้นายเศรษฐา ทวีสินเป็น “นายกฯ ตัวจริง” พรรคเพื่อไทยจะต้องขอเลื่อนวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ออกไปจนกว่าการเจรจาจะเสร็จสิ้น ซึ่งโอกาสเลื่อนมีสูง เพราะเพียงแค่วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์นี้ คงเจราจากันไม่เสร็จ

3) หากสมมุติว่ามีการเจรจาจัดสรรโควตารัฐมนตรีกันเรียบร้อยแล้วนายเศรษฐา ทวีสิน ยังต้องเผชิญด่านสำคัญในข้อห่วงใยจาก ส.ว. อีก 3 ด่าน “ทางความคิด” ที่สำคัญ คือ

ด่านแรก การอภิปรายและการตอบคุณสมบัติส่วนตัวของนายเศรษฐา ทวีสิน ในฐานะนายกรัฐมนตรี ทั้งเรื่องธุรกิจที่ผ่านมา จริยธรรม และ จุดยืนเรื่องมาตรา 112

ด่านที่สอง ความไว้วางใจต่อนายเศรษฐา ทวีสิน ว่ารักษาสัจจะได้จริงในการจัดสรรคณะรัฐมนตรีหรือไม่ และรักษาสัจจะได้นานเท่าไหร่ เพราะการเจรจาระหว่างพรรคไม่ได้ผูกพันอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่เป็นผู้มีสิทธิ์เด็ดขาดในการเสนอชื่อคณะรัฐมนตรี


ด่านที่สาม คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนของพรรคเพื่อไทย ว่าจะกระทบหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ กระทบความมั่นคงแห่งรัฐหรือไม่ หรือแม้กระทั่งที่มาขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ

ดังนั้นถ้าไม่ผ่าน 3 ด่านนี้ ต่อให้ ส.ส.โหวตให้นายเศรษฐา ก็จะไม่มี ส.ว.โหวตให้อยู่ดี และทำให้เสนอชื่อนายเศรษฐาซ้ำไม่ได้อีก แต่ถ้านายเศรษฐาตอบได้ชัดเจน ก็จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ทันที


ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ตัวเลือกถัดไปก็จะเป็น “อุ๊งอิ้ง” แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งครอบครัวชินวัตรจะต้องตัดสินใจว่าจะยอมให้ “อุ๊งอิ้ง” เป็นเป็นตัวประกันด่านหน้าเผชิญความขัดแย้งกับการร่วมรัฐบาล 2 ลุงแน่ๆ หรือไม่ และยิ่งถ้านายทักษิณกลับมาติดคุกด้วย บทบาทของ “อุ๊งอิ๊ง” ก็จะมีผลประโยชน์ทับซ้อนหากให้การช่วยเหลือ แต่ถ้ายอมให้ “อุ๊งอิ้ง” ถูกเสนอชื่อและผ่านด่านทั้ง 3 นี้ได้ ก็เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ทันที

สุดท้าย ถ้าพ้นจากตัวเลือกพรรคเพื่อไทยแล้ว ลำดับถัดไปก็จะเป็น นายอนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย หรือไม่ก็ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ

การเมืองช่วงนี้ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะเป็นเรื่องการเจรจากันระหว่างนักการเมืองและอำนาจที่รออยู่





กำลังโหลดความคิดเห็น