เด็กสาววัย 18 ปีเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของ Pfizer เกิดอาการผิดปกติต่อร่างกาย รากประสาทที่กระดูกไขสันหลังอักเสบจากการฉีดวัคซีนโควิด เจ้าตัวเดินทางรักษาหลายโรงพยาบาลเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ก่อน ทำเรื่องขอเงินชดเชยเบื้องต้นกรณีแพ้วัคซีน ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก่อนได้รับคำตอบจากทาง สปสช. เรื่องไม่ผ่านเกณฑ์การแพ้วัคซีนโควิด-19 วอนชาวเน็ตช่วยเหลือ
วันนี้ (16 ส.ค.) ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้โพสต์ข้อความเผยเรื่องราวของเด็กสาวรายหนึ่งที่แพ้วัคซีนโควิด-19 จนมีปัญหาทางร่างกายต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังโดนปฏิเสธที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นจากทางภาครัฐ โดยทางผู้โพสต์ได้ระบุข้อความเล่าว่า
"น้องแพ้วัคซีนโควิด-19 จนมีปัญหาทางร่างกายต่อเนื่องครับ แต่รัฐบาลปฏิเสธที่จะจ่ายค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น ตอนนี้น้องพยายามจะยื่นอุทธรณ์อยู่ แต่หมอที่รับเคสน้องตอนแรกย้ายโรงพยาบาลไปแล้วกำลังพยายามติดต่อ แล้วก็ทั้งๆ ที่หลักฐานชัดเจนขนาดนี้แล้วกลับยังโดนปฏิเสธการรักษา ผมเลยไม่ค่อยมั่นใจว่ายื่นอุทธรณ์ไปแล้วจะทำอะไรได้มั้ยครับ อยากจะขอความช่วยเหลือจากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ว่ามีใครที่จะพอแนะนำได้ว่าน้องควรจะทำยังไงบ้าง ช่วยคอมเมนต์มา กดไลก์ กดแชร์กันไปได้เลยนะครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับผม
Timeline อย่างย่อ :
6 พ.ค. 2565 : ฉีดวัคซีน Pfizer มีอาการขาอ่อนแรงในวันเดียวกัน
9 พ.ค. 2565 : แอดมิตเนื่องจากเดินไม่ได้
2 มิ.ย. 2565 : โรงพยาบาลยืนยันเส้นประสาทอักเสบจากการฉีดวัคซีนโควิด
3 มิ.ย. 2565 - 30 มี.ค. 2566 : อาการดีขึ้นช่วงหนึ่งและกลับมาเป็นซ้ำต่อเนื่อง
30 มี.ค. 2566 : แจ้งเรียกค่าชดเชยจากการแพ้วัคซีนโควิด-19
11 ส.ค. 2566 - สปสช.ปฏิเสธเงินชดเชย เนื่องจาก "ไม่พบความผิดปกติของร่างกาย" และ "อาการที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19"
พื้นฐานน้องมีอาการแพ้ฝุ่น แพ้ขนแมว แพ้ปู ในระดับที่คันหรือเป็นผื่น และมีอาการแพ้กุ้งในระดับหายใจไม่ออก แต่ไม่เคยไปตรวจหรือมีใบรับรอง นอกนั้นปกติดีครับ (ตอนฉีดวัคซีนโควิดครั้งแรกอายุ 18 ปี)
Timeline โดยละเอียด :
14 ส.ค. 2564 - ฉีดวัคซีน AstraZeneca มีอาการข้างเคียงเป็นไข้วันเดียวหาย
6 พ.ย. 2564 - ฉีดวัคซีน AstraZeneca ไม่มีอาการข้างเคียง
6 พ.ค. 2565 - ฉีดวัคซีน Pfizer ช่วงเวลาโดยประมาณ 15.30 น. จากนั้นช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. เริ่มมีอาการขาอ่อนแรงและใจสั่นเล็กน้อย
7-8 พ.ค. 2565 - อาการขาอ่อนแรงหนักขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมีเดินแล้วล้มเป็นระยะ
9 พ.ค. 2565 - เวลาประมาณตี 5 เริ่มเดินเองไม่ได้เลย นาฬิกาจับอัตราการเต้นของหัวใจผิดปกติ ผมรับไปโรงพยาบาลราชพิพัฒน์ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่น้องใช้สิทธิประกันสุขภาพอยู่ในเวลาประมาณบ่าย 2 หมอตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ, X-ray ปอด+หัวใจ ว่ามีอาการหัวใจ, เจาะเลือด, ดูรอยโรค ผลทุกอย่างเป็นปกติ หมอสั่งแอดมิตเพื่อตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติมเนื่องจากสงสัยว่ามีอาการรากประสาทอักเสบหลังได้รับวัคซีน จากนั้นช่วงค่ำหมอได้ตรวจพบว่าขาไม่มีแรงจริง เคาะแล้วมีการตอบสนองเพียงเล็กน้อย จึงสงสัยว่าเกิดจากกล้ามเนื้อหรือเส้นประสาท
11 พ.ค. 2565 - หมอที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ส่งไปทำ MRI ทั้งตัวที่โรงพยาบาลพญาไท 3
12 พ.ค. 2565 - ผล MRI ชี้ว่ารากประสาทในไขสันหลังส่วนที่ส่งไปที่ขามีอาการอักเสบ หมอสั่งเจาะน้ำในกระดูกไขสันหลังไปตรวจเพิ่ม และให้ยาสเตียรอยด์ Prednisolone ผ่านทางสายน้ำเกลือ
13-14 พ.ค. 2565 - ร่างกายมีการตอบสนองกับยา ขามีแรงมากขึ้น สามารถเดินได้โดยใช้อุปกรณ์ช่วย แต่มีอาการปวดหลังเพิ่มเติม โดยน่าจะมาจากการเจาะไขสันหลัง
15 พ.ค. 2565 - เริ่มเดินได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ช่วย
16 พ.ค. 2565 - จากผล MRI หมอสรุปว่าปัญหาเกิดจากรากประสาทที่กระดูกไขสันหลังอักเสบ ให้ยาแก้ปวดปลายประสาท Gabapentin และให้ออกจากโรงพยาบาล
2 มิ.ย. 2565 - ผลกระดูกไขสันหลังปกติ ยืนยันว่าเส้นประสาทอักเสบจากการฉีดวัคซีนโควิด
หลังจากนั้นมีนัดติดตามผลเป็นระยะ อาการดีขึ้นแต่ยังมีขาอ่อนแรงเดินแล้วทรุดอยู่บ้าง มีอาการปวดขา เดินได้ช้าและเดินได้ไกลน้อยลง แต่แนวโน้มดีขึ้น
28 ก.ค 2565 - ตรวจพบป่วยเป็นโควิด
5 ส.ค. 2565 - หายจากโควิด
12 ธ.ค. 2565 - ขาและแขนเริ่มอ่อนแรงลงเรื่อยๆ แต่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง ต้องใช้ไม้เท้าพยุงเดิน
27 ธ.ค. 2565 - อาการขาและแขนอ่อนแรงเริ่มแย่ลง เดินแล้วล้มบ่อยขึ้น เริ่มมีความรู้สึกเจ็บจากเสื้อผ้าที่โดนผิวหนัง มีอาการชาปลายเท้า ไปหาหมอที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์และต้องแอดมิตอีกครั้ง เบื้องต้นมีเจาะเลือด ได้ผลปกติ
28 ธ.ค. 2565 - หมอสั่งเจาะน้ำในกระดูกไขสันหลัง และทำนัดส่งตรวจกล้ามเนื้อที่โรงพยาบาลศิริราช
29 ธ.ค. 2565 - ไปตรวจกล้ามเนื้อ EMG ที่ศิริราช ผลออกมาว่ากล้ามเนื้อปกติ หมอที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ส่งยา Amitriptyline
20 ม.ค. 2566 - โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ส่งไป MRI ทั้งตัวรวมถึงสมองที่ศูนย์การแพทย์กาญจนา
24 ม.ค. 2566 - หมอที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์สรุปว่าผล MRI ปกติ จึงไม่ทราบสาเหตุของอาการและสั่งยาตามเดิม
26 ม.ค. 2566 - ถูกส่งตัวไปปรึกษาหมอศัลยกรรมระบบประสาทและสมอง เพราะเจอรอยน้ำในกระดูกไขสันหลัง ผลออกมาว่าเป็นปกติ
31 ม.ค. 2566 - เนื่องจากยังไม่ทราบสาเหตุของอาการ จึงพาน้องไปปรึกษาหมอที่ศูนย์การแพทย์กาญจนา หมอพบว่ามีอาการอ่อนแรงจริงจากการตรวจการตอบสนองของร่างกายแต่ยังไม่ทราบสาเหตุ หมอจึงแนะนำให้ไปตรวจที่ศิริราชและให้ใบส่งตัวเนื่องจากมีแพทย์และอุปกรณ์ครบกว่า
ได้ไปโรงพยาบาลศิริราชในวันเดียวกันนั้น และได้นัดมาเป็นวันที่ 8 พ.ค. 2566
23 ก.พ. 2566 - ติดตามอาการที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ หมอคาดว่าอาจเป็นอาการทางจิตเวชจึงได้จ่ายยา Fluoxetine และ Nortriptyline ให้
อาการไม่ดีขึ้นหลังจากนั้น
7 มี.ค. 2566 - ไปหาหมอนอกเวลาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ตามคำแนะนำของเพื่อน หมอตรวจร่างกายแล้วคาดว่าเกิดจากรากประสาทอักเสบกำเริบ และรอยโรคเล็กมากจนมองไม่เห็นในผล MRI
8-10 มี.ค. 2566 - หมอที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ทดลองให้ยา Prednisolone ดูการตอบสนองของร่างกาย
14 มี.ค. 2566 - ร่างกายมีการตอบสนองต่อยา อาการดีขึ้นและสามารถเดินได้มากขึ้น หมอสั่ง Pregabalin ให้ แต่ยังต้องใช้ไม้เท้าพยุงเดินอยู่
30 มี.ค. 2566 (ประมาณ 10 เดือนหลังจากฉีดวัคซีน Pfizer) - เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง จึงเดินทางไปยื่นเอกสารที่มีทั้งหมดขอเงินชดเชยเบื้องต้นกรณีแพ้วัคซีน ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แจ้งวัฒนะ
4 เม.ย. 2566 - ติดตามการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ดีขึ้นเล็กน้อยแต่ยังมีอาการปวดขา แขน หลัง และตามตัวเหมือนเดิม หมอสั่งยา Pregabalin เพิ่ม
6 เม.ย. 2566 - เพราะเหตุการณ์บางอย่าง จึงหยุดกินยา Amitriptyline, Fluoxetine และ Nortriptyline
8 พ.ค. 2566 - พบหมอที่ศิริราช หมอแนะนำให้ตรวจที่ใดที่หนึ่งจะดีกว่า จึงเลือกที่จะตรวจที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ต่อ
11 พ.ค. 2566 - ติดตามการรักษาที่โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ แจ้งเรื่องการหยุดยา Amitriptyline, Fluoxetine และ Nortriptyline ขอใบส่งตัวไปรักษาต่อในโรงพยาบาลจุฬาฯ
30 พ.ค. 2566 - ติดตามการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาณ อาการปวดตามร่างกายน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดหลังจากเพิ่มโดส Pregabalin
25 ก.ค. 2566 - ติดตามการรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาฯ อาการดีขึ้น ไม่ค่อยมีอาการทรุด มีปวดตามร่างกายบ้างแต่น้อยลงมาก หมอแนะนำให้กินยาต่อเนื่องและยังถือไม้เท้าเพื่อกันล้ม
11 ส.ค. 2566 - ได้จดหมายตอบรับจากทาง สปสช. เรื่องไม่ผ่านเกณฑ์การแพ้วัคซีนโควิด-19
อนึ่ง ผมโทร.ถามทาง สปสช.แล้วได้รับคำตอบว่าทางนั้นเองก็มีแพทย์ของเขาเหมือนกัน ถ้าไม่พอใจกับผลตัดสินก็ให้ยื่นอุทธรณ์มา
ตอนนี้น้องกำลังพยายามติดต่อหมอที่โรงพยาบาลแรกเพื่อขอความเห็นเพิ่มเติมจากแพทย์ (ต้องพยายามเนื่องจากหมอย้ายไปแล้ว) แต่ไม่สามารถหาหลักฐานอื่นเพิ่มเติมได้เพราะส่งไปหมดแล้ว ตอนนี้กำลังเครียดเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษากันมากเพราะถึงแม้ว่าจะได้ไปรักษาในเวลาตามใบส่งตัว แต่ยาที่ใช้แล้วอาการดีขึ้นก็เป็นยานอกบัญชีที่มีค่าใช้จ่ายสูงอยู่ มีใครที่พอจะแนะนำอะไรได้บอกเอาไว้ใต้คอมเมนต์เลยนะครับ หรือช่วยแชร์กันไปก็ได้ครับ ผมหวังว่าเผื่อน้องจะได้รับความเป็นธรรมบ้างครับ กราบขอบคุณทุกคนที่ช่วยเหลือล่วงหน้าไว้เลยครับ"