xs
xsm
sm
md
lg

เศร้า! "พลายตุลา" ลูกช้างพลัดหลงแม่ กลับดาวช้างอย่างสงบแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพจ "กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช" เผยเรื่องราวสุดเศร้าของ "พลายตุลา" ลูกช้างพลัดหลงแม่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี จากไปอย่างสงบแล้ว ก่อนหน้านี้สัตวแพทย์ตรวจพบว่าลูกช้างป่ามีอาการป่วยด้วยภาวะโรคกระดูกบาง

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. เพจ "กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช" โพสต์เรื่องราวสุดเศร้าของ "พลายตุลา" ลูกช้างพลัดหลงแม่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาวจ.จันทบุรี จากไปอย่างสงบแล้ว โดยทางเพจระบุข้อความว่า "อาลัย "ตุลา" ลูกช้างป่าพลัดหลง จากไปดาวช้างอย่างสงบแล้ว ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดของทีมสัตวแพทย์ ขอบคุณทีมสัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ดูแลน้องตลอดมา และขอขอบคุณกำลังใจจากแฟนเพจทุกคน ที่รักและเอ็นดูน้องเสมอมา"

ล่าสุดวันนี้ (14 ส.ค.) เพจ "ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช" ได้ออกมาโพสต์รายงานอาการของ "พลายตุลา" ก่อนกลับดาวช้าง ระบุว่า "14 สิงหาคม 2566 นายก้องเกียรติ เต็มตำนาน ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 2 เปิดเผยจากรายงานการดูแลช้างป่าตุลาว่า นายสัตวแพทย์ ไพโรจน์ พรมวัฒน์ ระบุว่า วานนี้ (13 สิงหาคม 2566 ) เวลา 04.00 น. สัตวแพทย์ และเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ช่วยเหลือสัตว์ป่าที่ 2 (กระบกคู่) เข้าช่วยเหลือลูกช้างป่าในการพยุงตัวลุกยืน โดยก่อนหน้านี้สัตวแพทย์ตรวจพบว่าลูกช้างป่า (ตุลา) มีอาการป่วยด้วยภาวะโรคกระดูกบาง (metabolic bone disease) จากนั้นสัตวแพทย์ได้ทำการรักษาโรคกระดูกบางรวมถึงเฝ้าระวังและติดตามอาการการใช้ขาของลูกช้างป่ามาอย่างต่อเนื่อง

ต่อมา พบว่าลูกช้างป่า (ตุลา) ไม่สามารถลุกยืนได้หลังจากการนอนของคืนวันที่ 13 ส.ค. เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าช่วยเหลือโดยการใช้เครนยกตัวเข้าช่วยพยุงตัวให้ยืนขึ้น จากนั้นสัตวแพทย์ได้ทำการตรวจร่างกายพบว่าขาหน้าทั้งสองข้างมีอาการอ่อนแรง บวม ข้อเท้าขาหน้าทั้งสองมีการงอ ไม่ขยับเดิน จึงได้ทำการให้ยาลดปวด ลดอักเสบ และพันขาลดการปวดการอักเสบ โดยตลอดทั้งวันพบว่าลูกช้างป่าไม่สามารถใช้ขาช่วยพยุงตัวให้ยืนขึ้นได้ จึงได้ทำการให้นอนพัก และให้เจ้าหน้าที่ติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง

กระทั่งเวลา 18.00 น.ของวันเดียวกัน พบว่าลูกช้างป่า (ตุลา) เริ่มมีอาการหายใจช้าลง ลิ้นเริ่มมีสีซีด และมีภาวะหัวใจหยุดเต้น สัตวแพทย์และเจ้าหน้าที่จึงได้เข้าช่วยเหลือปฐมพยาบาลอย่างเร่งด่วน ด้วยการทำ CPR เพื่อกระตุ้นการหายใจ แต่พบลูกช้างป่าไม่มีการตอบสนอง และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

สำหรับสาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นเกิดจากภาวะบาดเจ็บรุนแรงของกระดูกต้นขาหน้าทั้งสองขาหัก (Humerus fracture) ทำให้เกิดการช็อกตามมา (Pain shock) โดยหลังจากนี้สัตวแพทย์จะทำการชันสูตรเพื่อหาสาเหตุและเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางปฏิบัติการเพื่อยืนยันถึงสาเหตุการเสียชีวิตในวันนี้ (14 สิงหาคม 2566)"






กำลังโหลดความคิดเห็น