“สนธิ” เปิดโปงนิติกรรมอำพราง บริษัทครอบครัวชูวิทย์ขายที่ดินในซอยสุขุมวิท 24 เลี่ยงภาษีนิติบุคคล แบ่งซอยเป็น 4 แปลงขายให้ลูกๆ 4 คน ในราคารวม 111 ล้านบาท แต่ในวันเดียวกันลูกๆ ทั้งสี่พร้อมใจกันขายต่อให้บริษัทของครอบครัวอีกบริษัทหนึ่งในราคารวมกว่า 2,000 ล้าน ทำรัฐเสียรายได้จากภาษีรวมค่าปรับกว่า 900 ล้านบาท งานนี้หากสอบย้อนหลังเอาผิดได้ทั้งพ่อทั้งลูก
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2566 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการขายที่ดินของครอบครัวนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ในซอบสุขุวิท 24 ว่า น่าจะเป็นนิติกรรมอำพรางของแท้ มากกว่ากรณีการซื้อที่ดินของบริษัทแสนสิริ ที่ย่านถนนสารสิน ที่นายชูวิทย์พยายามกล่าวหา เพื่อลดความชอบธรรมของนายเศรษฐา ทวีสิน ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในฐานะแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทย
ทั้งนี้ ทีมงาน “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” ตรวจสอบพบว่า ธุรกรรมการโอนซื้อขายที่ดินของครอบครัวนายชูวิทย์นั้น เกิดขึ้นในเดือนกันยายนของปี 2562 หรือเมื่อเกือบ 4 ปีที่แล้ว ซึ่งบังเอิญเป็นช่วงเวลาเดียวกับการซื้อที่ดินของแสนสิริ ตามที่นายชูวิทย์กล่าวหา ที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายน ปี 2562 เช่นกัน
โดยธุรกรรมซื้อขายดินที่ดินของครอบครัวกมลวิศิษฏ์นั้น แตกต่างอย่างสิ้นเชิง กับกรณีของ บ.แสนสิริ และข้อกล่าวหาที่นายชูวิทย์อ้างว่ามีการทำนิติกรรมอำพรางเลี่ยงภาษีนั้น เข้าตัวเองทั้งสิ้น
นิติกรรมอำพรางดังกล่าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 900 ล้าน มากกว่าความเสียหายตามที่นายชูวิทย์ไปกล่าวหาบริษัทแสนสิริฯ
เรื่องนี้มีที่มา เริ่มจาก บริษัทสมบัติเติมตระกูล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ นายชูวิทย์ ตั้งขึ้นมา เอาตัวเองและลูกๆ 4 คนมาถือหุ้น คือ นายต้นตระกูล, นายต่อตระกูล, นายเติมตระกูล และ น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฎ์ โดยที่ นายชูวิทย์ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท หรือ คือผู้รับผิดชอบตามกฎหมายของบริษัทนี้
ช่วงปี 2542 บริษัทสมบัติเติมตระกูล จำกัด ของนายชูวิทย์ได้ครอบครองที่ดินบริเวณด้านหลังโรงแรม เดอะเดวิส บางกอก มีเนื้อที่ทั้งหมด 557 ตารางวา หรือ ไร่กว่า ๆ เดิมทีแบ่งโฉนดออกเป็น 2 แปลง ๆ ละ 278.5 ตารางวา ต่อมาแบ่งจาก 2 เป็น 4 แปลง หรือ แปลงละ 139.3 ตารางวา ประกอบไปด้วยโฉนดหมายเลข 1778 หมายเลข 1779 หมายเลข 3538 และ หมายเลข 3539
อีก 20 ปีต่อมา เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2562 บริษัทสมบัติเติมตระกูล จำกัด โอนขายที่ดิน 4 แปลงดังกล่าวให้แก่ลูก 4 คนของนายชูวิทย์ ในราคาแปลงละ 27.86 ล้านบาท หรือตารางวาละ 2 แสนบาท
รวม 4 โฉนด เนื้อที่รวม 557 ตารางวา คิดเป็นเงิน 111.4 ล้านบาท
ในวันเดียวกันนั้น วันที่ 27 กันยายน 2562 ลูก ๆ ทั้ง 4 คนของนายชูวิทย์ก็โอนขายที่ดินทั้ง 4 แปลงต่อไปยัง บริษัทเดวิส ไรมอน แลนด์ ทเวนตี้โฟร์ จำกัด ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท เดวิส 24 จำกัด ในราคาแปลงละ 502 ล้านบาท หรือ ตารางวาละ 3.6 ล้านบาท รวมเป็นเงินที่ขายทั้งสิ้น 2,008 ล้านบาท
บริษัท เดวิส 24 จำกัดที่มาซื้อนี้ ถือหุ้นโดย นายต้นตระกูล, นายต่อตระกูล, นายเติมตระกูล และ น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฎ์
คำถาม ก็คือ จากนิติกรรมนี้ จะเห็นว่าบริษัทของครอบครัวชูวิทย์ คือบริษัทสมบัติเติมตระกูล โอนขายให้ลูกๆ ที่เป็นผู้ถือหุ้น โดยพ่อคือนายชูวิทย์เป็นผู้ลงนามอนุมัติขายถูก ๆ ตารางวาละ 2 แสนบาท แล้วลูก ๆ ขายต่อให้บริษัทครอบครัวอีกบริษัทในราคาแพงถึง 2 พันล้านบาท หรือตกตารางวาละ 3.6 ล้านบาท
ที่สำคัญคือ กระบวนการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายในวันเดียวคือ 27 กันยายน 2562!!
นิติกรรมอำพรางของตระกูลกมลวิศิษฎ์ จริง ๆ ต้องเสียภาษีเท่าไหร?
ถามว่านี่คือ “นิติกรรมอำพราง” หรือไม่? ผู้ที่พอรู้กฎหมายลองพิจารณากันตามหลักกฎหมายประมวลรัษฏากรได้ และ ถ้ามีผู้ไปร้องกรมสรรพากรให้สอบ เจ้าพนักงานประเมินกรมสรรพากรต้องออกหมายเรียก และ ประเมินภาษีเงินได้และภาษีเฉพาะจากบริษัทสมบัติเติมตระกูล ทันที
เพราะว่า บริษัทสมบัติเติมตระกูล ไม่สามารถเสียภาษีเงินได้จากการโอนที่ดินทั้ง 4 แปลงในราคาแปลงละ 27.86 ล้านบาทให้แก่ลูกทั้ง 4 ของนายชูวิทย์ในราคาที่เชื่อว่าเป็นราคาประเมินของกรมที่ดิน แต่บริษัทสมบัติเติมตระกูล จะต้องเสียภาษีเงินได้จากการโอนขายที่ดิน ไม่ว่าขายให้ผู้ถือหุ้นหรือบริษัทในเครือ ในราคาตลาดของที่ดินในวันที่โอนที่ดินตามกฎหมาย ซึ่งราคาตลาดก็เกิดขึ้นในวันเดียวกันนี้ที่ลูกๆ ทั้ง 4 คนของนายชูวิทย์โอนขายให้บริษัทเดวิส 24 คือ แปลงละ 502 ล้านบาทหรือรวม 2,008 ล้านบาท
ถามว่า นายชูวิทย์ ที่เป็นกรรมการผู้มีอำนาจรู้เห็นมั้ย คำตอบคือ รู้เห็นอยู่แล้ว และต้องรับผิดชอบเต็มๆ นายชูวิทย์คงคำนวณแล้วว่า หากทำนิติกรรมตรงไปตรงมา โดยบริษัทสมบัติเติมตระกูล เจ้าของที่ดิน ขายตรงให้ บริษัทเดวิส 24 โดยไม่ผ่านลูกๆ ทั้งสี่เสียก่อน ก็ต้องเสียภาษีบานเบอะ
จากราคาขาย 2,008 ล้านบาท ถ้าคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ต้องจ่ายอย่างต่ำ 359.55 ล้านบาท เจอเบี้ยปรับอีก 1 เท่า คือ 359.55 ล้านบาท ค่าดอกเบี้ยเงินเพิ่ม 1.5% ตั้งแต่มิถุนายน 2563 - กรกฎาคม 2566 อีก 204.94 ล้านบาท ทำให้ธุรกรรมการโอนที่คราวนี้มีภาษีที่ต้องจ่าย หรือ รัฐควรต้องมีรายได้จากบริษัทของนายชูวิทย์และครอบครัวรวมแล้ว 924 ล้านบาทโดยประมาณ
นี่เป็นเหตุที่ว่าทำไม บริษัทสมบัติเติมตระกูล จึงซอยที่ดินแยกเป็น 4 โฉนด อำพรางขายให้ลูกๆ 4 คนในราคาถูกๆ เจตนาเพื่อทำให้ฐานภาษีต่ำ จะได้จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างมากคำนวณแล้ว ขายไป 111.4 ล้านบาท ภาษีแค่ 11 ล้าน
ในขณะเดียวกัน ในแง่ของบริษัทเดวิส 24 ที่รับซื้อต่อจากลูกๆ ของนายชูวิทย์ โดยซื้อมาในราคา 2,008 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้ขายออก หรือ ขายไปในราคาตลาดก็คือเท่า ๆ กัน ถือว่าไม่ได้ไม่เสีย เสมอตัว เพราะตามกฎหมายไม่มีกำไรก็ยกประโยชน์ให้ไม่ต้องคำนวณภาษี
กระบวนการนี้นายชูวิทย์ดีดลูกคิดรางแก้วแล้วว่ามีแต่ได้กับได้ !
แต่ความจริงประเด็นก็คือ นี่เป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นแล้วในรอบบัญชีปีนั้น คือ ปี 2562 ดังที่วิเคราะห์ให้เห็น
การที่ชูวิทย์ที่ยกประมวลรัษฎากร มาตรา 37 กล่าวหา นายเศรษฐา ทวีสิน กับ บ.แสนสิริ มาถึงตอนนี้ตัวเองต้องท่องให้ขึ้นใจว่า ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถืง 7 ปี และ ปรับตั้งแต่สองพันบาทถือสองแสนบาท
1.โดยเจตนาแจ้งข้อความเท็จ หรือ ให้ถ้อยคำเท็จ หรือ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จหรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรหรือเพื่อขอคืนภาษีอากรตามลักษณะนี้ หรือ
2.โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบายหรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน หลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร หรือ ขอคืนภาษีอากรตามลักษณะนี้
ทั้งนี้ ประเด็นคือ กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม และ รับผิดชอบ บริษัทสมบัติเติมตระกูลเวลานั้น คือ นายชูวิทย์เอง
ประเด็นต่อมา อาจจะไม่จบแค่นายชูวิทย์ เพราะตามประมวลกฎหมายอาญา หมวด 6 ตัวการและผู้สนับสนุน มาตรา 83 ระบุว่า ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนทั่วไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
งานนี้ต้องถือว่า นายชูวิทย์ลากลูก ๆ มาร่วมกระบวนการนิติกรรมอำพรางมีสิทธิที่จะต้องโทษไปด้วยกัน
นอกจากประเด็นเลี่ยงภาษี กระบวนการนิติกรรมอำพรางนี้ ยังมีข้อสงสัยในอีกหลายประเด็น บริษัทสมบัติเติมตระกูล โอนขายที่ดินให้ลูก ๆ นายชูวิทย์ทั้ง 4 คน โดยที่ผู้ซื้อระบุว่า “ซื้อไว้เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย”
แต่ขายออกภายในวันเดียว ให้บริษัทเดวิส 24 ซึ่งแจ้งว่า “ซื้อไว้เพื่อพัฒนาอสังหาริมทรัพย์”
การโอนซื้อขายระหว่างกัน ไม่มีหลักฐานการชำระค่าที่ดิน แต่ระบุว่า ผู้ขายได้รับชำระเงินครบถ้วนแล้ว
ตามสัญญาซื้อขายทั้ง 4 ฉบับ ระบุขายที่ดินไม่มีสิ่งปลูกสร้าง แต่นายชูวิทย์ แถลงข่าว ว่า ที่ดินทั้ง 4 แปลงนี้ได้ทำฐานรากไว้แล้ว ซึ่งเจตนาเพื่อทำให้ราคาที่ดินขายต่อสูงขึ้นนั่นเอง
มีข้อสังเกตคนในวงการอสังหาฯ ว่ากันถึงราคาขายที่ดินบริเวณด้านหลังโรงแรม เดอะเดวิส บางกอก มีเนื้อที่ทั้งหมด 557 ตารางวา ที่นายชูวิทย์ระบุว่า ตกลงขายในราคา 2 พันล้านบาทนั้น ตกตารางวาละ 3.6 ล้านบาท สูงกว่าราคาประเมินที่ดินในย่านเดียวกันถึง 2-3 เท่าตัว
โดยมีการเจรจาซื้อขายในช่วงปี 2562 ช่วงเดียวกับที่ บมจ.แสนสิริ ซื้อที่ดิน เนื้อที่ 1 ไร่ หรือ 399.7 วา ย่านถนนสารสิน ในราคา 1.57 พันล้านบาท ตกตารางวาละ 4 ล้านบาท ที่ถือเป็นราคาที่ดินแพงที่สุดในไทย โดยนายชูวิทย์ กล่าวหาว่า เป็นนิติกรรมอำพราง และมีการสมรู้ร่วมคิด เพราะที่ดินย่านถนนสารสินช่วงนั้น มีราคาประเมินเพียง 1 ล้านบาทต่อตารางวา แต่กลับมีการซื้อขายถึง 4 ล้านบาทต่อตารางวา
จะว่าไปแล้ว ในวงการอสังหาริมทรัพย์เชื่อว่า ราคาที่ดินย่านสารสินของแสนสิริ มีราคาสมเหตุสมผลกว่าราคาที่ดินบริเวณด้านหลังโรงแรม เดอะเดวิส บางกอก ของชูวิทย์ ที่เป็นที่ดินที่อยู่ในซอยสุขุมวิท 24 ไม่ได้ติดถนนใหญ่แน่นอน
ปัจจุบันนี้ (ณ วันที่ 3 สิงหาคม2566) สถานะของบริษัท สมบัติเติมตระกูล นายชูวิทย์ได้ให้ลูก ๆ ทั้ง 4 คนเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ส่วนตัวเองลาออกไปแล้ว ซึ่งแน่นอนถ้ามีปัญหากับบริษัทฯ นายชูวิทย์ก็จะอ้างได้ว่า ไม่เกี่ยวข้องแล้ว
ใบอนุญาตก่อสร้างขอไว้ 20 ปีก่อนส่อมีปัญหา
อีกเรื่องหนึ่ง นายชูวิทย์ขายที่ดินพ่วงใบอนุญาตก่อสร้าง แต่เป็นใบอนุญาตที่ขอไว้เมื่อ 20 ปีที่แล้ว และต่ออายุทุกปี เพราะไม่ได้สร้างอะไร
ใบอนุญาตก่อสร้างนี้ไม่รู้นายชูวิทย์ได้มาอย่างไร ในซอยที่แคบมาก แต่อนุญาตให้สร้างได้ถึง 60,000 ตารางเมตร ซึ่งใบอนุญาตสมัยนั้นยังไม่มีเงื่อนไขต้องผ่าน EHIA ไม่รู้ว่าทาง กทม.ต่ออายุให้อย่างไร ตั้ง 20 ปีต่อแล้วต่ออีก ไม่อยากจะพูดว่ามีเจ้าหน้าที่ กทม.รู้เห็นเป็นใจด้วยหรือไม่
เพราะฉะนั้น ใบอนุญาตให้ก่อสร้างได้ 60,000 ตารางเมตรในซอยแคบๆ แบบนั้น หากตรวจสอบให้ดีๆ ทาง กทม.อาจจะบอกว่าเป็นใบอนุญาตที่ใช้ไม่ได้แล้ว แม้จะต่ออายุแล้วก็ตาม เพราะพื้นที่แบบนั้น 500 กว่าตารางวา อยู่ในซอยลึก สร้างได้จริงๆ ก็ไม่เกิน 10,000 ตารางเมตร ดังนั้นราคาที่จะขาย 3 ล้านกว่าบาทต่อตารางวาต้องลดลงอย่างมหาศาล ไม่รู้ว่าหลังจากใบอนุญาหมดอายุในปีนี้แล้ว หากจะไปต่ออีก เจ้าหน้าที่ กทม.จะกล้าต่อให้หรือไม่ ลักษณะจึงคล้ายคอนโดแอชตัน ที่ทางเข้าออกเล็กมาก แต่แอบไปก่อสร้าง เรื่องนี้จึงไม่ง่ายสำหรับนายชูวิทย์
นายสนธิ กล่าวอีกว่า จริงๆ นายชูวิทย์อาจจะอ้างว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องภายในครอบครัว แล้วพยายามหยิบประเด็นที่ตัวเองป่วยเป็นมะเร็งกำลังเข้าระยะสุดท้ายมีชีวิตอีกไม่นานมาดราม่า ทำให้คนเชื่อว่า คนใกล้จะตายจะไม่โกหก แฉเรื่องนายเศรษฐาเป็นการแฉเพื่อชาติ รับไม่ได้กับการเล่นแร่แปรธาตุของนายทุน แต่ถ้าสรรพากรตรวจสอบการเสียภาษีของบริษัทเติมตระกูล เชื่อว่าต้องเสียภาษีตามที่ตนชี้แจง อันนี้จะถือว่านายทุนเล่นแร่แปรธาตุหรือไม่
มีข้อสงสัยจริง ๆ ว่า วันพฤหัสบดีที่ 3 สิงหาคม ที่นายชูวิทย์อ้างว่าช่วงเช้าไปทำคีโมเพื่อรักษามะเร็งแล้ว บ่ายจึงมาแถลงข่าว กระโดดโลดเต้นเลย ถามว่าคนเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เพิ่งทำคีโมมาจะมากระโดดโลดเต้น เล่นละครลิงได้ทันทีเลยหรือ หรือ นายชูวิทย์เป็นซูเปอร์แมน?
นายสนธิ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องออกมาฟาดฟันกับนายชูวิทย์ในช่วงปีที่ผ่านมา ก็เพราะพบว่านายชูวิทย์โกหกซ้ำๆ มาตลอดตั้งแต่เรื่องถุงเงิน 3 ล้านบาท ที่เอาไปบริจาคให้ รพ.ศิริราช กับ รพ.ธรรมศาสตร์ จนโรงพยาบาลต้องคืนเงินให้
ออกมาแฉรถไฟสายสีส้ม ปฏิเสธยืนกรานไม่ได้รับงานใคร? แต่ต่อมาถูกจับได้ ก็พูดไปแบบหน้าด้านๆ ว่า “รับงานแต่ไม่ได้รับเงิน”
กล่าวหาว่า มีคนรับเงินทอน 30,000 ล้านบาท กรณีประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม พูดเป็นตุเป็นตะว่า มีการจ่ายผ่านธนาคาร HSBC สิงคโปร์ รู้กระทั่งเลขบัญชี แต่พอถึงเวลาจริง ๆ ไม่มีหลักฐานมาให้ดู แล้วอ้างไปว่า ยังประมูลไม่เสร็จ ก็เลยไม่มีเงินทอน !?!
โกหกว่า กรรมการ ป.ป.ช. คนหนึ่ง คือ นายสุชาติ ตระกูลเกษมสุข ขาดคุณสมบัติ ทั้ง ๆ ที่ไม่เป็นจริง อ้างว่ามีสวนกุหลาบคอนเนกชั่น ทั้ง ๆ ที่ในข้อเท็จจริงแล้ว นายสุชาตินั้นจบจาก รร.สาธิตรามคำแหง ไม่ได้จบจาก รร.สวนกุหลาบ
“ไม่นับเรื่องที่คุณโกหก เกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวผมอีกหลายเรื่อง ทั้งเรื่องตอนที่ผมกับคุณอยู่ในเรือนจำ เรื่องสุขภาพของผม ที่คุณโกหกอย่างหน้าด้าน ๆ ซึ่งผมคงไม่ย้อนไปเล่าให้ฟัง เพราะตัวคุณคงรู้อยู่แก่ใจดีว่า เรื่องไหนที่คุณพูดโกหกออกมาแบบหน้าตาย แต่พอถูกจับโกหกก็เลือกที่จะเงียบ” นายสนธิกล่าว
การจับโกหกข้อนี้ต้องบอกเลยว่าเป็นเหมือนสุภาษิตไทยโบราณคือ “คาหนังคาเขา” บอกว่าคัดค้านนโยบายกัญชา ไม่สนับสนุนกัญชาเสรี แต่กลับ เปิดบาร์กัญชา Chuweed ในโรงแรมเดอะเดวิส แถมยังให้ร้านกัญชาที่ชื่อ Dispensary 24 เช่าพื้นที่เปิดในโรงแรมอีกด้วย
นอกจากนี้ หลายเดือนหลังจากออกมาต้านกัญชา ร้านกัญชาในโรงแรมของนายชูวิทย์ก็ยังคงเปิดขายกัญชาเพื่อสันทนาการต่อไปอีก แบบไม่สนใจอะไรเลย
บิดเบือนข้อมูลสมุนไพร เรื่องนโยบายกัญชา แต่พอนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ท้าดีเบตออกรายการโหนกระแส ก็ไม่กล้าดีเบต อ้างไปว่าอาจารย์ปานเทพเป็นเด็กเมื่อวานซืน แต่ความจริงคือ ไม่กล้าดีเบตเพราะตัวเองไม่รู้จริง แค่รับงานมา
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอีกว่าจากที่ก่อนเลือกตั้งนายชูวิทย์ออกมาเดินสายรณรงค์ต้านกัญชา ต้านพรรคภูมิใจไทยทุกวัน จัดอีเวนต์ถี่ ๆ บุกไปถึงที่ทำการพรรคภูมิใจไทย ด่าภูมิใจไทยเสียผู้เสียคน แต่ทำไมวันนี้ นายชูวิทย์ถึงไม่พูดถึงพรรคภูมิใจไทยเลยแม้แต่แอะเดียว หรือว่าตกลงกันได้แล้ว
นายชูวิทย์ป่าวประกาศกับคนไปทั่วว่า ใกล้ตายแล้วจึงต้องออกมา “แฉเพื่อชาติ”, สร้างดราม่าว่าคนใกล้ตายไม่โกหกหรอก แต่ วันนี้ก็พิสูจน์แล้วว่า “ไม่จริง”
“ผมต้องยกว่าคุณเป็นคุณพ่อตัวอย่างเพราะคุณรักลูกคุณทั้ง 4คนมากคุณต้องการจะทิ้งสมบัติพัสถานให้ลูกๆทั้ง 4คนหลังจากที่คุณตายไปแล้วไม่ผิดน่าชื่นชมในฐานะที่เป็นหัวหน้าครอบครัวเป็นพ่อที่ดีของลูกทั้งสี่แต่ผมถามคุณว่าคุณคิดดีแล้วหรือที่คุณลากลูกๆมาร่วมกระบวนการสมรู้ร่วมคิดกับนิติกรรมอำพรางนี้อย่างนี้ถือว่าเป็นการโกหกลูกไหม ?ที่สำคัญคุณจะทำให้ลูกของคุณอย่างไรก็แล้วแต่ไม่มีใครว่าอะไรแต่คุณไม่มีสิทธิ์ที่จะไปทำร้ายคนอื่นเพื่อลูกของคุณเองไม่มีสิทธิ์
“เรื่องที่คุณทำมาตลอดโกหกตลอดความจริงนั้นไม่เกี่ยวกับความตายเพราะความจริงนั้นเมื่อตายไปแล้วความจริงก็ยังคงอยู่เพราะความจริงนั้นมีหนึ่งเดียวเป็นเรื่องกรรมที่คุณชูวิทย์เริ่มต้นจากการค้ามนุษย์ค้าน้ำกามอาบอบนวดจนร่ำรวยคุณอาจจะไม่เชื่อในหลักกรรมหลักพุทธศาสนาแต่นี่ล่ะครับทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วผมเชื่อครับเวรกรรมเริ่มตามคุณทันแล้วนะคุณชูวิทย์“ นายสนธิกล่าว