xs
xsm
sm
md
lg

“แฉไปไถไป 2” มโนนิติกรรมอำพราง-แบล็กเมล์ “แสนสิริ” ความจริงที่จะฆ่า “ชูวิทย์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สนธิ” เปิดโปง “แฉไปไถไป” ภาค 2 “ชูวิทย์” มโน “แสนสิริ” ทำนิติกรรมอำพรางเลี่ยงภาษีที่ดิน หวังด้อยค่า “เศรษฐา” ที่กำลังถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ แต่โดนข้อเท็้จริงตอกหน้าหงาย ซ้ำโดนแฉกลับเบื้องหลังคือการแบล็กเมล์ หลังติดต่อขายที่ดินให้แสนสิริ 2 พันล้าน แต่แสนสิริยังไม่ซื้อ ให้ไปเคลียร์กับไรมอนแลนด์คู่เจรจาเจ้าเดิมก่อน แถมโกหกซ้ำซาก อ้างไม่เคยติดต่อขายดินให้แสนสิริ เพราะขายให้ไรมอนแลนด์ไปเรียบร้อยแล้ว แต่มีภาพยืนจับมือ “เศรษฐา” ติดต่อขายที่ดินเมื่อ 1 ปีก่อน หลังการขายให้ไรมอนด์ติดปัญหาจนฝ่ายชูวิทย์แจ้งขอยกเลิกสัญญาเอง



ในรายการ  “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” วันศุกร์ที่ 11 สิงหาคม 2566 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงกรณีนายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ อดีตนักการเมืองและเจ้าของธุรกิจอาบอบนวด เปิดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 กล่าวหา นายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย และ บริษัทแสนสิริ ว่าทำนิติกรรมอำพรางเลี่ยงภาษีคิดเป็นเงินกว่า 521 ล้านบาท จากการซื้อขายที่ดินย่านถนนสารสินที่มีมูลค่าประมาณ 1,570 ล้านบาทเมื่อปี 2562 ตามที่นายชูวิทย์เคยขู่ นายเศรษฐา เอาไว้ว่า หากพรรคเพื่อไทยเสนอชื่อนายเศรษฐาเป็นนายกฯ ตนเองซึ่งกำความลับของนายเศรษฐาอยู่ก็พร้อมจะเปิดให้สาธารณชนได้รับรู้

นายชูวิทย์กล่าวอ้างว่า ที่ออกมาแฉเรื่องนี้ ส่วนตัวไม่ได้โกรธเคืองกับเศรษฐา แต่เป็นการแฉเพื่อชาติ ซึ่งตัวเองรับไม่ได้กับพฤติการณ์เล่นแร่แปรธาตุของนายทุน และ เพราะป่วยเป็นมะเร็งตับ มีเวลาเหลืออยู่บนโลกใบนี้ไม่มากเท่าไร ไม่มีต้นทุนอะไรจะเสีย


ทว่า สิ่งที่นายชูวิทย์อ้างว่ามีหลักฐานกล่าวหานายเศรษฐา ปรากฎว่า มีผู้รู้กฎหมายภาษี นักวิชาการ และ ผู้เชี่ยวชาญอสังหาริมทรัพย์ ออกมาให้ความเห็นได้อธิบายด้วยเหตุด้วยผล ลงความเห็นตรงกันว่า งานนี้“ชูวิทย์ ปล่อยไก่ สอบตกเรื่องภาษี” เอาข้อมูลมาบิดเบือน โกหกให้คนเขาจับได้อีกแล้ว

มโนนิติกรรมอำพรางเศรษฐา-แสนสิริ

ถามว่าชูวิทย์โกหกบิดเบือนอย่างไร ? มาว่ากันไปทีละประเด็น

ประเด็นที่ 1 นายชูวิทย์ กล่าวหาว่า นิติกรรมอำพราง คือ การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงนี้ ใช้วิธีโอนแบ่งเป็น 12 วัน จากผู้ขายทั้งหมด 12 คน หรือโอนวันละ 1 คนจนครบ ทำให้เสียภาษีให้กับกรมที่ดินเพียง 59 ล้านบาทเท่านั้น

แต่ถ้าโอนทั้งหมด 12 คนในวันเดียวกัน จะทำให้เข้าเงื่อนไขเป็นคณะบุคคล หรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่ไม่ต้องจดทะเบียน และต้องจ่ายภาษีให้กรมสรรพากรในอัตราก้าวหน้า 35% อีก 521 ล้านบาท รวมภาษีทั้งหมดที่ต้องจ่ายอยู่ที่ 580 ล้านบาท

ข้อเท็จจริง – สัญญาการซื้อขายที่ดินแปลงนี้ได้กำหนดให้ผู้ขายเป็นผู้รับผิดชอบการจ่ายภาษี ค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายการโอนกรรมสิทธิทั้งหมด และยังเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ขายในการเสียภาษี

ตามหลักกฏหมาย กฎหมายไม่ได้บังคับ หรือ ห้าม ผู้ขายทั้ง 12 คน ในภาษานักภาษี เรียกว่า “การวางแผนภาษี” ซึ่งกรมสรรพากรระบุว่า เป็นไปตามขั้นตอนและข้อกฎหมาย ขณะที่กรมที่ดินไม่มีข้อสงสัยในประเด็นนี้จึงให้ดำเนินการได้ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ นิติกรรมอำพราง แต่อย่างใด


ประเด็นที่ 2 นายชูวิทย์ กล่าวหาว่า
  • การซื้อที่ดินดังกล่าวเป็นไปตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการบริษัท แสนสิริ โดยมีนายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง เป็นผู้รับรองการประชุม
  • นายชูวิทย์ ยังตั้งข้อสังเกตถึงสำเนารายการประชุมดังกล่าวที่มีการคัดลอกออกเป็น 12 ฉบับ แยกตามชื่อผู้ขาย เพื่อนำไปแยกวันโอนที่สำนักงานที่ดิน ทำให้เสมือนว่าต่างคนต่างขายทั้งที่เป็นที่ดินแปลงเดียวกัน

ข้อเท็จจริง - ที่ประชุมคณะกรรมการของบริษัทแสนสิริ ได้พิจารณาและมีมติอนุมัติการซื้อที่ดินดังกล่าวทั้งแปลง โดยแยกราคาส่วนกรรมสิทธิ์ของผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าวตามที่ผู้ขายแจ้งความประสงค์ ซึ่งกรณีนี้เป็นการลงมติอนุมัติเป็นมติที่ประชุมเพียงมติเดียว

ส่วน นายเศรษฐา ทวีสิน เมื่อครั้งเป็นผู้บริหารสูงสุดและกรรมการแสนสิริ มีส่วนร่วมเฉพาะในขั้นตอนอนุมัติซื้อที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำสัญญา จ่ายเงิน และการโอน

ขณะเดียวกัน บ.แสนสิริ เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ การดำเนินงานแต่ละขั้นตอนของบริษัทมหาชน นอกจากตรวจสอบภายในบริษัทแล้ว จะต้องผ่านการตรวจสอบจาก คณะกรรมการตรวจสอบ และมีผู้สอบบัญชีตามที่กฏหมายและข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด เพราะฉะนั้น การดำเนินงานให้ถูกต้องและเป็นไปตามธรรมาภิบาลย่อมเป็นเรื่องที่ตรวจสอบกันได้ตลอดเวลา

นายชูวิทย์ กล่าวหาด้วยว่า บริษัทแสนสิริ ยังมัดจำที่ดินในสัดส่วน 50-52% ของราคา ซึ่งเป็นเงินมัดจำที่สูงกว่าปกติและไม่ใช่ตัวเลขกลม ๆ ส่วนตัวจึงเชื่อว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินบวมหรือเงินทอนที่เข้ากระเป๋าคนที่ไม่ใช่เจ้าของที่ดิน


ข้อเท็จจริง - บ.แสนสิริ ได้ชำระราคาที่ดินแปลงดังกล่าวเกือบทั้งหมดโดยเช็คและแคชเชียร์เช็ค และได้ชำระเป็นเงินสดจำนวน 301,000 บาท ซึ่งไม่ได้ชำระเงินสดจำนวนมากตามที่นายชูวิทย์กล่าวอ้าง

นี่คือเรื่องที่นายชูวิทย์หน้าแหกด้วยหลักกฏหมายและข้อเท็จจริง ทุกอย่างที่เอามาบิดเบือนและปั่นว่า นิติกรรมอำพรางนั้นพิสูจน์ชัดว่า นายชูวิทย์มโนไปเอง

วาระซ่อนเร้นของ “จอมแบล็กเมล์”

ภาพนายเศรษฐา และนายชูวิทย์ ในการเจรจาซื้อขายที่ดินของนายชูวิทย์ที่บริษัท แสนสิริ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2565

ด้วยความสงสัยว่า ทำไมชูวิทย์จึงหยิบเรื่องนี้มาด้อยค่าให้ร้าย นายเศรษฐา ? เพราะจากนิสัยที่แก้ไม่หายหรือสันดานมหาโจรอย่างชูวิทย์ เรื่องที่ว่า “แฉเพื่อชาติ” โดยอ้างตัวเองป่วยใกล้ตายนั้น ถ้าบอกว่า “แฉไปไถไป” ชั่วโมงนี้ดูจะน่าเชื่อมากกว่า

เพราะอะไร? ทีมงาน “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” ไปพบว่า ระหว่างนายชูวิทย์ กับ บ.แสนสิริ หรือ นายเศรษฐา เคยติดต่อเจรจาซื้อขายที่ดินกันเมื่อปีที่แล้ว โดยนายชูวิทย์เป็นผู้เสนอขายที่ดินให้กับ บ.แสนสิริ เจรจาคุยกันในระดับที่มีความต้องการของทั้งสองฝ่าย มีหลักฐานยืนยัน เป็นภาพการจับไม้จับมือกันระหว่าง นายชูวิทย์ กับ นายเศรษฐา เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 ที่คุยกันในหลักการได้แล้ว

ภาพนายเศรษฐา และนายชูวิทย์ ในการเจรจาซื้อขายที่ดินของนายชูวิทย์ที่บริษัท แสนสิริ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 8 กันยายน 2565
เพราะฉะนั้นเรื่องจริง ๆ ก็คือ เมื่อ 11 เดือนที่แล้ว เดือนกันยายน 2565 นายชูวิทย์ ได้เสนอขายที่ดินผืนหนึ่ง 500 กว่าตารางวา ซึ่งอยู่บริเวณด้านหลังโรงแรม เดอะ เดวิส บางกอก ให้กับ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ในช่วงที่ นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานอำนวยการ และกรรมการผู้จัดการใหญ่

ฝั่ง บ.แสนสิริ เองก็มีความสนใจ เพราะ ต้องการที่ดินย่านใจกลางเมืองเพื่อพัฒนาเป็นอาคารชุด และ คอนโดมิเนียม อยู่แล้ว ราคาที่ชูวิทย์อยากจะขายคือ 2,000 ล้านบาท แสนสิริขอต่อรองราคา จนราคามาอยู่ที่ 1,800 ล้านบาท แต่การซื้อขายไม่สำเร็จลุล่วง

เพราะ ก่อนหน้านี้ชูวิทย์ ไปมีภาระผูกพันจะซื้อจะขายที่ดินผืนนี้ให้กับ บริษัทอสังหาฯ อีกรายเมื่อปี 2564 ในราคา 2,000 ล้านบาท วางมัดจำกันไปแล้ว 400 ล้านบาท ที่เหลือผู้ซื้อระบุว่าจะผ่อนชำระ แต่ยังไม่มีการชำระเงินส่วนที่เหลือ และต่อสัญญาตกลงซื้อขายกันมาแล้ว 4 ครั้ง

บ.แสนสิริ แม้ต้องการซื้อแต่เมื่อทราบเรื่องดังกล่าว จึงมีเงื่อนไข ขอให้นายชูวิทย์ไปจัดการยกเลิกสัญญาซื้อขายที่ดินกับบริษัทผู้ซื้อดังกล่าวให้สิ้นสุดทางกฎหมายเสียก่อน ซึ่งหาก บ.แสนสิริ เข้าซื้อที่ดินจากนายชูวิทย์อาจเกิดปัญหาฟ้องร้องตามมาได้ โดยที่นายชูวิทย์ อ้างกับ บ.แสนสิริว่า “เคลียร์ได้”

ที่ว่า “เคลียร์ได้” นั้น นายชูวิทย์อ้างว่า ได้ทำหนังสือขอยกเลิกสัญญาไป พร้อมกับริบเงินค่ามัดจำ 400 ล้านบาท

แต่ในความเป็นจริง ก็คือ นายชูวิทย์กลับยัง “ไม่เคลียร์” นอกจากนั้น ยังพบด้วยว่า ที่ดินของนายชูวิทย์ที่เสนอขายมีราคาเฉลี่ยตารางวาละ 3 ล้านบาท นั้นสูงกว่าราคาที่ดินในย่านนั้นเกือบ 1 ถึง 2 เท่าตัว โดยชูวิทย์ ได้ใช้วิธีการขายพ่วงกับใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสูง และ อาคารขนาดใหญ่พิเศษ พื้นที่ใช้สอย 60,000 ตารางเมตร มีใบอนุญาตก่อสร้างตั้งแต่ปี 2540 เป็นเวลา 20 กว่าปีและมีการต่อใบอนุญาตมาตลอด โดยอ้างว่า ได้มีการลงรากฐานไปแล้ว จึงทำให้ที่ดินมีมูลค่าสูงกว่าปกติ ซึ่งทาง บ.แสนสิริขอไปตรวจสอบอีกครั้งว่า ใบอนุญาตดังกล่าวยังมีสภาพบังคับหรือไม่อย่างไร


สรุปว่า การจะซื้อจะขายที่ดินกันระหว่าง แสนสิริ กับ ชูวิทย์ ติดปัญหาสัญญาซื้อขายที่ยังมีอยู่กับรายเดิม และกรณีใบอนุญาตก่อสร้างที่นายชูวิทย์พ่วงมายังต้องมีการตรวจสอบอีกครั้ง

มิหนำซ้ำ มีกระแสข่าวว่าชูวิทย์ ช่วงหลังการเงินฝืดเคือง พยายามขอเงินมัดจำหลักร้อยล้านบาทจาก นายเศรษฐา และ บ.แสนสิริในทันทีหากมีการตกลงซื้อขายกันได้ ส่งผลให้ บ.แสนสิริ หรือ นายเศรษฐา เลือกที่จะไม่ตัดสินใจตกลงซื้อที่ดินของชูวิทย์ในตอนนั้น

ถึงตรงนี้ก็คงถึงบางอ้อกัน ทำไมผู้ที่เรียกตัวเองว่าเป็น “มหาโจร” อย่างนายชูวิทย์ จึงพยายาม ปั่นเรื่องของนายเศรษฐาขึ้นมา ตั้งแต่มีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรคเพื่อไทยแล้ว


หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 เมื่อ นายเศรษฐา มีชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ และ สถานการณ์ทางการเมืองไทย เดินมาถึงจุดที่พรรคเพื่อไทยมีโอกาสในการเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้มีโอกาสสูงยิ่งที่ นายเศรษฐาจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 มหาโจรอย่างนายชูวิทย์ จึงสบช่อง หยิบเอาเรื่องนี้มา “แบล็กเมล์” งัดมุกละครลิงตามถนัดมาโจมตีนายเศรษฐา เพื่อบีบให้ บ.แสนสิริ ควักกระเป๋าจ่ายเงินซื้อที่ดินของตัวเอง 1,800 ล้านบาทให้ได้ ตามที่ตนเองประสงค์ไว้ตั้งแต่แรก

เพราะรู้ว่าที่ดินผืนนี้ หาก บ.แสนสิริไม่ซื้อก็จะหาคนมาซื้อยากแน่ เนื่องจาก บ.แสนสิริ เป็น บ.อสังหาริมทรัพย์ใหญ่ที่มีศักยภาพด้านการเงินเพียงพอ และ มีความต้องการพัฒนาที่ดินซึ่งอยู่ในเขตใจกลางเมืองอยู่เพียงรายเดียวในปัจจุบัน

หาก นายชูวิทย์ พลาดครั้งนี้เท่ากับรอไปอีกกี่ปีไม่รู้ หรือ บางทีสังขารอาจจะหมดสภาพไปก่อนใครจะไปรู้ อย่างที่ นายชูวิทย์ออกมาตีหน้าเศร้า เล่าดราม่ายอมรับว่าตัวเองเป็นมะเร็ง โดยอ้างหมอบอกว่า ตนอาจจะมีชีวิตอยู่เพียงแค่ 8 เดือนเท่านั้น เพราะฉะนั้น นายชูวิทย์จึงหน้าด้าน หน้าทน โกหกรู้ว่าเป็นรถด่วนชบวนสุดท้าย ทำเป็นแฉเพื่อชาติ แต่เข้าอีหรอบเดิม “แฉไปไถไป” ตามสโลแกนที่ “ทนายตั้ม” ศิทรา เบี้ยบังเกิด เคยออกมาเปิดโปงนายชูวิทย์เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ว่า เบื้องหน้าของนายชูวิทย์นั้นออกมาแฉเรื่องเว็บพนัน แต่ลับหลังก็ไถเงินเจ้าของเว็บพนัน โดยสร้างภาพว่าเอาเงินไปบริจาคโรงพยาบาล ทั้ง ๆ ที่ตัวเองรู้ดีกว่าเป็นเงินสกปรก เงินสีเทาจากการพนัน!

กรณี แฉนายเศรษฐา กับ บ.แสนสิริว่าเลี่ยงภาษีคราวนี้ของนายชูวิทย์ก็ไม่แตกต่างกัน ... ผิดกันตรงนี้ นายเศรษฐา กับ บ.แสนสิริ นั้นไม่ใช่เจ้าของเว็บพนัน แต่คนที่อยู่ในที่สว่าง เป็นแคนดิเดตที่มีโอกาสจะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์

จับโป๊ะ “ชูวิทย์” โกหกออกสื่อ ความจริงมีหนึ่งเดียว เมื่อไหร่จะรู้จักจำ?

ทีนี้เมื่อมีคนจับได้ไล่ทันจนทำให้ นายชูวิทย์ ยอมรับว่า เคยมีการเจรจาขายที่ดิน ให้กับ บริษัท แสนสิริ จํากัด จริง แต่ไม่ได้ตกลงซื้อขายกัน นายชูวิทย์อ้างว่า ได้ขายไปให้กับบริษัทอื่นแล้ว เมื่อ 3 ปีที่แล้วให้กับ บริษัท ไรมอนแลนด์ ซึ่งการที่กล่าวหาที่ดินจะขายให้กับ บ.แสนสิริ แต่ขายไม่ได้ถึงโกรธนั้นไม่เป็นความจริง


ในข้อเท็จจริงแล้ว ทันทีที่นายชูวิทยืได้จับมือกับนายเศรษฐา ทวีสิน ตามภาพ และตกลงซื้อขายกันในราคา 1,800 ล้าน นายชูวิทย์ก็ตัดสินใจให้สำนักงานทนายความที่ตนเองใช้อยู่ส่งจดหมายขอยกเลิกสัญญากับไรมอนแลนด์ แล้วก็ยึดเงินมัดจำไปด้วย ซึ่งอันนี้ก็เป็นการจับโกหกของนายชูวิทย์ เพราะตัวจดหมายขอยกเลิกสัญญาที่ส่งไปให้ไรมอนแลนด์นั้น มีระบุชัดเจนว่าส่งไปหลังจากที่จับมือกับนายเศรษฐาแล้ว

นายสรยุทธ สุทัศนจินดา ซึ่งเป็นเสมือนโฆษกประจำตัวของนายชูวิทย์ ได้เชิญนายชูวิทย์มาออกรายการ นายสรยุทธถามว่า มีข้อกล่าวหาว่านายชูวิทย์ไปแบล็กเมล์นายเศรษฐาหรือเปล่า นายชูวิทย์ตอบว่า “ผมไม่เคยครับ คุณเศรษฐา แสนสิริเคยมาถามผมจะขาย ก็เท่ากับว่าผมขายซ้ำขายซ้อน ผมก็จะกลายเป็นคนผิด เพราะว่าผมขายไม่ได้ ผมขายไปแล้วผมจะขายได้ไงอีกล่ะครับ”


อย่างไรก็ตาม จากคำพูดของนายชูวิทย์ดังกล่าวกลับขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับ ภาพเจรจาการซื้อที่ดินที่บริษัทแสนสิริ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 เป็นภาพที่นายชูวิทย์จับมือกับนายเศรษฐา

เมื่อฟังคำโกหก และคำแก้ตัวแบบข้าง ๆ คู ๆ ไปแล้วมาฟังความจริงที่มีหนึ่งเดียว ตามลำดับเหตุการณ์ Timeline ชัดๆ ดังนี้

เรื่องราวต่อเนื่องจาก ภาพสีหน้ายิ้มแย้มในการจับมือกันระหว่างนายเศรษฐา และนายชูวิทย์ เพื่อเจรจาซื้อที่ดินของนายชูวิทย์ ที่บริษัทแสนสิริ เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2565 แล้ว

วันที่ 29 กันยายน 2565 บุตร-ธิดา ของชูวิทย์ 4 คน ในนามครอบครัวกมลวิศิษฎ์ ประกอบด้วย นายต้นตระกูล กมลวิศิษฎ์, นายเติมตระกูล กมลวิศิษฎ์, น.ส.ตระการตา กมลวิศิษฎ์ และ นายต่อตระกูล กมลวิศิษฎ์ ได้ลงนามหนังสือ เรื่อง แจ้งสิ้นสุดสัญญาร่วมทุน และสัญญาซื้อขายหุ้น ถึง บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) บริษัทอสังหาริมทรัพย์ชื่อดัง สาระสำคัญเกี่ยวกับการขอยกเลิกสัญญาร่วมทุน และสัญญาซื้อขายหุ้นโครงการสุขุมวิท 24


หนังสือดังกล่าวที่ทำเป็นภาษาอังกฤษได้อ้างถึง
  • สัญญาร่วมทุนโครงการสุขุมวิท 24 ลงวันที่ 24 กันยายน 2562
  • สัญญาซื้อขายหุ้น ลงวันที่ 24 กันยายน 2562
  • ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 4 ของโครงการร่วมทุนสุขุมวิท 24
  • สัญญาซื้อขายหุ้น ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2565
โดยระบุว่า บมจ.ไรมอน แลนด์ ไม่ได้ปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายหุ้นฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 4 ครอบครัวกมลวิศิษฎ์ จึงมอบหมายให้ ทนายความ ส่งหนังสือเตือน บมจ.ไรมอน แลนด์ ลงวันที่ 20 กันยายน 2565 แต่ไม่ได้รับการตอบรับในเวลาที่กำหนด จึงขอใช้สิทธิในการบอกเลิกสัญญาร่วมทุน และสัญญาซื้อขายหุ้นโครงการสุขุมวิท 24 ณ วันที่ระบุในหนังสือฉบับนี้ คือ วันที่ 29 กันยายน 2565

หนังสือยังระบุด้วยว่า เมื่อ บมจ.ไรมอน แลนด์ ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไข แม้ว่า ครอบครัวกมลวิศิษฎ์ จะอนุญาตให้ขยายเวลาข้อตกลงร่วมทุนหลายครั้ง ทำให้ ครอบครัวกมลวิศิษฎ์ มีค่าใช้จ่าย ความเสียหาย และสูญเสียโอกาส จึงขอเรียกร้องค่าเสียหายจาก บมจ.ไรมอน แลนด์ เป็นจำนวนเงินเท่ากับราคาที่ตกลงภายใต้สัญญาซื้อขายหุ้น และที่แก้ไขเพิ่มเติมทั้งหมด


นอกจากนี้ยังมี หนังสือลงวันที่ 20 กันยายน 2565 จากบริษัท สำนักงานกฎหมายจักรกฤษณ์ แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด ในฐานะตัวแทนทางกฎหมายของครอบครัวกมลวิศิษฎ์ ทำถึง บมจ.ไรมอน แลนด์ เพื่อแจ้งการยกเลิกสัญญาร่วมทุน และสัญญาซื้อขายหุ้นโครงการสขุมวิท 24 เนื่องจาก บมจ.ไรมอน แลนด์ ไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขและดำเนินการตามข้อตกลงร่วมทุนได้

พร้อมกันนี้ยังระบุว่า ครอบครัวกมลวิศิษฎ์ ขอใช้สิทธิตามข้อ 3.1 ของสัญญาร่วมทุนในการเรียกร้องค่าเสียหาย โดยให้ บมจ.ไรมอน แลนด์ ชำระเงินที่ยังชำระไม่ครบตามสัญญาจำนวน 597,463,416.00 บาท พร้อมดอกเบี้ย ให้แก่ ครอบครัวกมลวิศิษฎ์ ทั้ง 4 รายจำนวนเท่า ๆ กัน ภายใน 7 วันนับตั้งแต่วันที่ของหนังสือฉบับนี้


ประเด็น - หนังสือสองฉบับดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การที่นายชูวิทย์ให้สัมภาษณ์แก้ตัวว่า ได้ขายที่ดินบริเวณด้านหลังโรงแรม เดอะเดวิส บางกอกให้กับบริษัทอื่นแล้ว จึงไม่ได้เสนอขายให้กับ บ.แสนสิรินั้นเป็น การโกหกคำโต เพราะ การขายที่ดินให้กับบมจ.ไรมอน แลนด์ ยังไม่ลุล่วง และกรรมสิทธิ์ที่ดินยังเป็นของ บริษัท เดวิส ไรมอน แลนด์ ทเวนตี้ โฟร์ จำกัด ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนระหว่าง เดวิส กรุ๊ป ของครอบครัวกมลวิศิษฎ์ กับ บมจ.ไรมอน แลนด์ เท่านั้น

จำชื่อบริษัทนี้เอาไว้ให้ดี ๆบริษัท เดวิส ไรมอน แลนด์ ทเวนตี้ โฟร์ จำกัด

ส่วนการติดต่อให้ บมจ.แสนสิริ มาซื้อที่ดินบริเวณด้านหลังโรงแรม เดอะเดวิส บางกอก ภายในซอยสุขุมวิท 24 ที่เรียกมูลค่ากว่า 2,000 ล้านบาทนั้น เป็นการติดต่อให้ซื้อในช่วงกลางปี 2565 คาบเกี่ยวกับที่ ครอบครัวกมลวิศิษฎ์ จะขอยกเลิกสัญญาร่วมทุนและสัญญาซื้อขายกับ บมจ.ไรมอน แลนด์ จึงพยายามหาผู้ซื้อรายใหม่ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้เนื่องจากยังไม่ได้ยกเลิกสัญญากับ บมจ.ไรมอน แลนด์ และทาง บมจ.แสนสิริ ติดใจในราคาที่ดิน และสถานะขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคารสูงพิเศษ ที่มีการเสนอขายพ่วงมา ตลอดจนมีการเรียกเงินมัดจำทันทีเป็นจำนวนหลายร้อยล้านบาทด้วย

เรื่องนี้ชัดพอหรือยังชูวิทย์?


กำลังโหลดความคิดเห็น