นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามประกาศกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ฉบับที่ 13/256 เรื่อง เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโขง จากการติดตามสถานการณ์น้ำแม่น้ำโขง พบว่ามีปริมาณฝนตกหนักสะสมในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และบริเวณแขวงบอลิคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ทำให้ระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ประกอบกับอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนและประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่แม่น้ำโขงตอนล่างมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงวันที่ 10-15 สิงหาคม 2566 ในพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี โดยมีจุดเฝ้าระวังพิเศษในเขตพื้นที่จังหวัดนครพนม ปัจจุบันมีระดับน้ำ 9.46 เมตร ต่ำกว่าระดับตลิ่ง 2.54 เมตร คาดการณ์ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้น 2.50-3.50 เมตร และคาดการณ์ระดับน้ำจะมีแนวโน้มล้นตลิ่งในช่วงวันที่ 11-15 สิงหาคม 2566 นั้น
กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจมีผลกระทบต่อพื้นที่ ในเขตสำนักงานชลประทานที่ 2, 5 และ 7 ที่มีพื้นที่อยู่ติดกับแม่น้ำโขง เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด โดยจัดเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งาน บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ และเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ รถแบ็กโฮ/รถขุด รถเทรลเลอร์ เครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ เครื่องผลักดันน้ำในพื้นที่เสี่ยงให้สามารถนำไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที รวมถึงกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ
นอกจากนี้ยังได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 ควบคู่กับการติดตามการพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา และติดตามภาพรวมสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งบูรณาการร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ฝ่ายความมั่นคง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณริมแม่น้ำโขงได้รับทราบสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง