“สนธิ” มองรัฐประหารไนเจอร์ สะท้อนการเปลี่ยนสู่โลกหลายขั้วอำนาจ และการสิ้นสุดลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกที่เข้าไปกอบโกยทรัพยากรมีค่าในแอฟริกาไปสร้างความมั่งคั่งให้ตัวเอง ขณะที่รัสเซียเข้าไปมีอิทธิพลแทนด้วยการประกาศยกหนี้ให้ประเทศเหล่านั้นร่วม 7 แสนล้านบาท และกลุ่มวากเนอร์เข้าไปช่วยต่อสู้กับผู้ก่อการร้าย เป็นเรื่องที่น่าสะพรึงกลัวสำหรับชาติตะวันตกที่จะไม่สามารถกลับไปยึดครองแอฟิกาได้อีก
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” หรือ “สนธิทอล์ก” วันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2566 นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการรัฐประหารในประเทศสาธารณรัฐไนเจอร์ หรือ นีแชร์ ประเทศไม่มีทางออกสู่ทะเล บริเวณทางใต้ของทะเลทรายซาฮาราในแอฟริกาตะวันตก เมื่อวันพุธที่ 26 กรกฎาคม 2566 โดยกลุ่มทหารได้ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ระงับการดำเนินงานของสถาบันทางการเมืองต่างๆ และปิดพรมแดนทั้งหมดของประเทศ
เหตุการณ์ดังกล่าว ประธานาธิบดีโมฮาเหม็ด บาซูม (Mohamed Bazoum) ถูกทหารหน่วยอารักขาประธานาธิบดีควบคุมตัวไว้ หลังจากนั้น พลเอก อะมาโด อับดราเมน พร้อมกับนายทหารในเครื่องแบบอีก 9 นาย ตามภาพ ได้ออกแถลงการณ์ถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ ว่า พวกเราฝ่ายกลาโหม และกองกำลังรักษาความมั่นคง ตัดสินใจยุติระบอบที่พวกคุณรู้จัก และพวกเขาให้เหตุผลว่า การตัดสินใจนี้เป็นผลจากสถานการณ์ความมั่นคงที่ย่ำแย่ลง รวมทั้งเศรษฐกิจ สังคม และหลักธรรมาภิบาลที่เลวร้าย
นายสนธิ กล่าวว่า รัฐประหารในประเทศไนเจอร์เป็นเหตุการณ์เล็กๆ ของการเปลี่ยนแปลงโลกครั้งใหญ่ไปสู่โลกหลายขั้วอำนาจ และที่สำคัญ เป็นการสิ้นสุดลัทธิล่าอาณานิคมของฝรั่งเศสที่มุ่งกอบโกย ขุดแร่ยูเรเนียมอันมีค่า ไปสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง และนี่คือประเทศฝรั่งเศส ที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ภูมิอกภูมิใจนักหนา
ประเทศไนเจอร์ต้องเข้าร่วมโครงการประเทศผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวของไอเอ็มเอฟ ในปี 2543 อยู่ในภาวะล้มละลาย ทำให้ไอเอ็มเอฟต้องยกหนี้ทั้งหมดให้ไนเจอร์เมื่อปี 2548
หลังรัฐประหารซึ่งเกิดโดยการนำของ พลเอก อับดุลราห์มาน ทะเชียนิ ซึ่งเป็นอดีตผู้บัญชาการกองอารักขาประธานาธิบดี ได้กลายเป็นประธานสภาแห่งชาติเพื่อการปกป้องมาตุภูมิ หรือหัวหน้า คสช.ของไนเจอร์
ก่อการรัฐประหารของนายโมฮาเหม็ด บาซูม ที่เป็นรัฐบาลหุ่นเชิดของประเทศฝรั่งเศส ท่ามกลางการสนับสนุนของกองทัพที่ประกาศว่า พวกเราจะไม่ยิงชาวไนเจอร์ของเราเพื่อผลประโยชน์ของฝรั่งเศส
ประชาชนที่สนับสนุนออกมาเดินบนท้องถนน แสดงความยินดีโห่ร้องกับการปฏิวัติปลดปล่อยไนเจอร์จากฝรั่งเศสที่กดขี่มานาน จนกลายเป็นความคับแค้นใจ บุกเผาธงชาติฝรั่งเศส หน้าสถานทูตฝรั่งเศสประจำกรุงนีอาเม (Niamey) และที่ทำการพรรครัฐบาล แต่พวกเขาได้รับบาดเจ็บจากการสลาย
ปรากฏว่าสหรัฐอเมริกา และฝรั่งเศส ซึ่งมีฐานทัพตั้งอยู่ในประเทศไนเจอร์ และมีกองกำลังทหารนับพันคนคอยรักษาผลประโยชน์ยูเรเนียม ขู่ตัดความช่วยเหลือหลายล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่เจอคำพูดสวนกลับของผู้นำรัฐประหารพูดใส่หน้ารัฐบาลอเมริกาทันที ว่า เงินช่วยเหลือต่างๆ ที่คุณชอบอวดอ้างนั้น ก่อนอื่นควรจะเอาเงินนั้นไปช่วยบ้านตัวเองก่อนดีไหม อเมริกาควรจะส่งเงินความช่วยเหลือนี้ไปให้องค์กรการกุศลของอเมริกา เพื่อช่วยคนไร้บ้านหลายล้านคนในอเมริกา
นอกจากนี้แล้ว กองทัพไนเจอร์ยังออกแถลงการณ์เตือนกองทัพต่างชาติ อย่าเข้ามาแทรกแซงทางการทหาร และห้ามเครื่องบินทหารต่างชาติลงบนสนามบินไนเจอร์ ซึ่งล่าสุดนั้นเครื่องบินลำเลียงของอเมริกาได้ขนกำลังทหารมาจากฐานทัพอเมริกาที่อยู่ในเยอรมนี ที่จะบินลงไนเจอร์ แต่ถูกสั่งห้ามไม่ให้ลง ถ้าขัดขืนก็จะถูกจรวดสอยให้ตก จึงต้องบินกลับไปที่เยอรมนีเหมือนเดิม
อเมริกาใช้เครื่องบินโบอิ้ง 47A Globe Master ซึ่งเคยขนคนอพยพหนีตายจากอัฟกานิสถานมาแล้ว ครั้งนี้บินขึ้นมาจากฐานทัพอากาศแรมสไตน์ในเยอรมนี มุ่งมาสู่ไนเจอร์ พอมาเจอคำเตือนว่าถ้าเข้ามาจะโดนขีปนาวุธยิง ก็เลยกลับไปที่บ้านเหมือนเดิม
ล่าสุด รัฐบาลประเทศเพื่อนบ้านอย่างกินี บูร์กินาฟาโซ มาลี แอลจีเรีย และลิเบีย ต่างประกาศสนับสนุน คสช.ไนเจอร์ และไม่คว่ำบาตร แม้จะถูกกดดันจากชาติทางตะวันตก เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งที่ไร้มนุษยธรรมและผิดศีลธรรม
ตลอดเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมาทวีปแอฟริกาที่ใหญ่กว่ายุโรปหลายเท่า มีประชากร ทรัพยากรมากกว่า แต่ต้องตกเป็นทาส ถูกกดขี่ ไร้มนุษยธรรมจากชาติยุโรป
ประวัติศาสตร์อันขมขื่นของแอฟริกาที่ถูกสูบทรัพยากรโดยชาติตะวันตก
ประวัติศาสตร์อันขมขื่นยุคอาณานิคมระหว่างแอฟริกา กับชาติตะวันตก ในศตวรรษที่ 18 ที่แอฟริกากลายเป็นศูนย์กลางค้าทาส ปัจจุบันถูกฝรั่งตักตวงผลประโยชน์จากแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มากมายมหาศาลของโลก เช่น ก๊าซธรรมชาติ 8 เปอร์เซ็นต์ น้ำมัน 12 เปอร์เซ็นต์ ทองคำ 40 เปอร์เซ็นต์ โครเมียม ทองคำขาว 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นศูนย์กลางของแร่โคบอลต์ เพชร และยูเรเนียม ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
แต่แอฟริกาต้องสูญเสียความสมบูรณ์นี้แก่ชาติตะวันตก คณะรัฐประหารไนเจอร์จึงสั่งระงับการส่งออกทองคำ และยูเรเนียม ไปฝรั่งเศส เมื่อวันอาทิตย์ที่ 30 กรกฎาคม ที่ผ่านมานี้ ซึ่งส่งผลกระทบรุนแรงต่อปริมาณสำรองยูเรเนียม เป็นฐานความมั่นคงด้านพลังงานของฝรั่งเศส
ฝรั่งเศสขุดแร่ยูเรเนียมเพื่อไปป้อนโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ของฝรั่งเศส 70 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในผู้นำโลกอุตสาหกรรมผลิตพลังงานนิวเคลียร์ หัวรบนิวเคลียร์ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2566 สำนักข่าวรอยเตอร์เผยแพร่รายงานชี้ให้เห็นว่า ประเทศไนเจอร์มีทรัพยากรยูเรเนียมมหาศาล จากข้อมูลสมาคมนิวเคลียร์โลก ถือเป็นแหล่งผลิตยูเรเนียมรายใหญ่ที่สุดอันดับ 7 ของโลก
ในปี 2565 ไนเจอร์ซึ่งมีแร่ยูเรเนียมเกรดสูงสุดของแอฟริกา ผลิตยูเรเนียมได้ 2,020 เมตริกตัน หรือประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ ของผลผลิตการขุดทั่วโลก ขณะที่ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุด 3 รายของโลก ได้แก่ คาซัคสถาน แคนาดา และ นามิเบีย
ไนเจอร์มีเหมืองขนาดใหญ่แห่งหนึ่งทางตอนเหนือ ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท โอราโน (Orano) ของฝรั่งเศส ซึ่งเป็นเหมืองหลักอีกแห่งที่ปิดตัวลงในปี 2564 และอยู่ในช่วงการซ่อมแซม พัฒนา ปรับปรุง
วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม 2566 เจ้าหน้าที่ของโอราโน กล่าวว่า ยังคงดำเนินการผลิตต่อไป แม้จะมีเหตุการณ์ด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากราวๆ 10 เปอร์เซ็นต์ ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในฝรั่งเศส จำเป็นต้องใช้ยูเรเนียมจากไนเจอร์
ขณะที่ฝรั่งเศสพลาดท่าเสียหายครั้งใหญ่ แต่ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย กลับชนะใจคนแอฟริกาท่วมท้น ดูจากการประชุมสุดยอดของรัสเซีย-แอฟริกัน ฟอรัม ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ระหว่างวันที่ 27-28 กรกฎาคม 2566 มีผู้นำกลุ่มประเทศแอฟริกาเข้าร่วมมากถึง 49 ประเทศ จากทั้งหมด 54 ประเทศ มี 5 ประเทศไม่ได้มาประชุม
งานนี้รัสเซียได้ตัดสินใจยกเลิกหนี้สินที่หลายประเทศแอฟริกาติดค้างอยู่ รวมเบ็ดเสร็จแล้ว 23,000 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 687,400 ล้านบาท อย่างเช่น ปลดหนี้เก่าค่าอาวุธที่แองโกลาซื้อจากรัสเซียจำนวนแสนกว่าล้านบาท ปลดหนี้เอธิโอเปีย 171,850 ล้านบาท ปลดหนี้แอลจีเรีย 195,000 ล้านบาท ปลดหนี้ลิเบีย 154,000 ล้านบาท ปลดหนี้โซมาเลีย 23,066 ล้านบาท
นอกจากนี้แล้ว รัสเซียยังให้เงินช่วยเหลืออีกประมาณ 3 พันกว่าล้านบาท แก่ประเทศในแอฟริกาที่ขาดแคลน ในปี 2565 รัสเซียส่งธัญพืช อาหาร 11.5 ล้านตัน ให้กับทวีปแอฟริกาโดยไม่คิดเงิน ต่อมาในช่วงปี 2566 ช่วง 6 เดือนแรก รัสเซียส่งธัญพืชไปแล้วเกือบ 10 ล้านตัน ให้ชาวแอฟริกาที่ยากจนด้วย มิหนำซ้ำยังช่วยเหลือด้านปุ๋ยหัวเชื้อพัฒนาการเกษตรด้วย
ไนเจอร์ และแอฟริกา ได้ปลดแอกตัวเอง หันมาค้าขายกับรัสเซีย และมีความร่วมมือทางการทหารเพื่อต่อสู้กับภัยก่อการร้ายที่ชาติมหาอำนาจหนุนหลังและนี่คือนิสัยของชาติมหาอำนาจทางตะวันตก
ผู้ก่อการร้ายที่ปรากฏในประเทศต่างๆ พวกนี้ทั่วโลก มีหลักฐานยืนยันได้ว่าคนที่อยู่เบื้องหลังคือประเทศทางชาติตะวันตกทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นไอเอสที่ก่อการร้ายในซีเรียนั้น อเมริกาคือคนที่อยู่เบื้องหลัง
กรณีไนเจอร์ และมาลีที่อยู่ใกล้เคียงไนเจอร์ มีทหารรับจ้างของรัสเซีย คือวากเนอร์ ประจำการอยู่ คอยติดอาวุธหนัก คอยช่วยเหลือรัฐบาลทหารต่อสู้กับกลุ่มผู้ก่อการร้าย
สามปีที่ผ่านมา ในหมู่ประเทศเพื่อนบ้านในแถบแอฟริกาตะวันตกของไนเจอร์ ทั้งมาลี และบูร์กินาฟาโซ ต่างเกิดเหตุการณ์ทำรัฐประหารหลายครั้ง มาลีเกิดรัฐประหาร 2 ครั้ง ในรอบ 3 ปี ส่วนบูร์กินาฟาโซ เกิดรัฐประหารถึง 2 ครั้ง รัฐประหารซ้อนกันในช่วงระยะเวลาเพียงปีเดียว คือปี 2565
สิ่งที่น่าสนใจคือรัฐประหารในมาลีนั้น ได้มีการเชิญกลุ่มวากเนอร์เข้าไปรักษาความปลอดภัยจากกลุ่มติดอาวุธอิสลามต่างๆ โดยการเข้ามาในมาลีในปี 2564 ของกลุ่มวากเนอร์ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ฝรั่งเศสตัดสินใจถอนทหารออกจากประเทศ
ครั้งล่าสุดมีความเคลื่อนไหวของนายเยฟกินี พริโกซิน หัวหน้ากลุ่มวากเนอร์ที่ออกมากล่าวถึงรัฐประหารในไนเจอร์ ว่า กลุ่มวากเนอร์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับรัฐประหารดังกล่าว แต่เรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นข่าวดีที่ประชาชนชาวแอฟริกาจะได้ปลดแอกอย่างแท้จริงจากเจ้าอาณานิคมตะวันตก ซึ่งหมายถึงฝรั่งเศส นายพริโกซิน ยังเสนอที่จะยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือรัฐบาลทหารในไนเจอร์เพื่อดูแลความเรียบร้อย เหมือนกับที่กลุ่มวากเนอร์ทำในมาลี และบูร์กินาฟาโซ อยู่แล้ว
สิ่งที่เกิดขึ้นในไนเจอร์ไม่มีอะไรมากไปกว่าการต่อสู้ของชาวไนเจอร์กับเจ้าอาณานิคมของพวกเขา เจ้าอาณานิคมที่พยายามยัดเยียดกฎระเบียบและข้อบังคับต่างๆ เพื่อทำให้สภาพชีวิตของเขาในทวีปแอฟริกายังคงเป็นเหมือนเดิมเมื่อหลายร้อยปีก่อน
ฝรั่งเศสนั้นปล้นสะดมและขุดเอาทองคำในเหมืองทองคำของไนเจอร์ แล้วส่งกลับไปที่ฝรั่งเศส ทำให้ฝรั่งเศสมีทองคำสะสมอยู่ในอันดับที่สูง 1 ใน 10 อันดับของโลก ซึ่งแน่นอนที่สุด ทองคำที่เอามาสะสมนั้น ส่วนใหญ่แล้วเอามาจากประเทศไนเจอร์ ที่ฝรั่งเศสไปตั้งเหมืองขุดทองคำแล้วส่งกลับประเทศตัวเอง
สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้คือการได้รับอิสรภาพ ส่วนที่เหลือ แน่นอนต้องขึ้นอยู่กับพลเมืองชาวไนเจอร์ว่าจะทำให้รัฐบาลของพวกเขามีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน แต่ประเด็นหลักคือ พวกเขาได้กำจัดเจ้าอาณานิคมของพวกเขาไปได้แล้ว
ล่าสุด แม้ว่าประชาคมเศรษฐกิจของรัฐแอฟริกาตะวันตก ซึ่งรัฐบาลทางตะวันตกอยู่เบื้องหลัง ประกาศใช้มาตรการคว่ำบาตรการใช้กำลังทหารในประเทศไนเจอร์ ขณะที่อเมริกา ฝรั่งเศส และสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์ประณามการรัฐประหารในไนเจอร์ครั้งนี้อย่างรุนแรง เรียกมันว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ในความเป็นจริง โดยลึกๆ แล้วนี่คือการก่อรัฐประหารครั้งนี้ของกองทัพไนเจอร์เพราะต้องการจะไปขัดและล้มล้างผลประโยชน์ของชาติมหาอำนาจทางตะวันตกนั่นเอง
ทั้งนี้ทั้งนั้น แสงเงาและร่องรอยรัสเซีย ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน รวมทั้งนักรบวากเนอร์ที่ประกาศยื่นมือเข้ามาประคับประคองรัฐบาลทหารในไนเจอร์นั้น ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าสะพรึงกลัวอย่างยิ่งสำหรับชาติตะวันตก โดยเฉพาะอย่างยิ่งฝรั่งเศสที่หวังว่าสามารถจะยึดครองไนเจอร์ต่อไปเพื่อสูบทรัพยากรธรรมชาติจากอาณานิคมแห่งนี้ออกไปได้แบบไม่มีที่สิ้นสุด
“ในที่สุดแล้ว แอฟริกาทั้งหมด ตอนนี้มีค้างอยู่ 5 ประเทศที่ยังยืนอยู่ข้างตะวันตก ก็จะทยอยๆ ขับไล่อาณานิคมทั้งหลายของทางตะวันตกที่เข้ามาปกครองประเทศแอฟริกา แล้วสูบทรัพยากรธรรมชาติออกไปเพื่อส่งกลับไปประเทศตัวเอง มันควรจะจบได้แล้วนาย ระเบียบโลกใหม่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างที่เราไม่ได้คิดเลย” นายสนธิกล่าว