xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผัสสะสู่ธรรมชาติ ในความทรงจำ ‘ธีรกุล ขวัญคำ’ นักกิจกรรมผู้โอบกอดโลกกว้างด้วยหัวใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘ธีรกุล ขวัญคำ’ นักกิจกรรมผู้หลงรักโลกธรรมชาติ กับการส่งต่อองค์ความรู้ให้เยาวชน
จากที่ไม่เคยรับรู้…ต่อเมื่อรับฟัง ศึกษาและสังเกตธรรมชาติรอบตัวให้มากขึ้น 
เธอพบว่าในหมู่บ้านของเธอ มีนกต่างๆ ไม่น้อยกว่า 30 ชนิด


นกใกล้บ้านที่ ธีรกุล ขวัญคำ บันทึกภาพไว้ได้
กิจกรรม ‘ออกเดทกับธรรมชาติ’ ที่เธอและเพื่อนๆ เคยร่วมกันจัดขึ้น คือโปรเจ็กต์อันเป็นส่วนหนึ่งของ ‘หลักสูตรการอบรม Nature Mentor : ผู้เปิดประตูสู่โลกมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ’ ซึ่งจัดโดยมูลนิธิโลกสีเขียว ที่ผู้เข้าร่วมอบรมต้องนำองค์ความรู้ที่ได้รับมาต่อยอด จัดกิจกรรม ส่งต่อความรู้ให้ผู้คนในสังคม

ธีรกุล ขวัญคำ ร่วมกับเพื่อนๆ จัดกิจกรรม ‘ออกเดทกับธรรมชาติ’ ให้ผู้สนใจ


‘ธีรกุล ขวัญคำ’ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมอบรมหลักสูตรดังกล่าวและร่วมจัดกิจกรรมออกเดทกับธรรมชาติร่วมกับผู้เข้าอบรมคนอื่นๆ
เธอได้แบ่งปันประสบการณ์อันน่าสนใจที่เปรียบเปรยได้อย่างเห็นภาพว่า เป็นการเปิดโลกใบใหม่ให้กับเธออย่างแท้จริง 
ราวกับว่าที่ผ่านมา ดวงตาของเธอมืดบอดก็มิปาน

ไม่เพียงประสบการณ์ เดินป่า ดูนก กับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ
ความน่าสนใจคือ ไม่ว่ากิจกรรมค่ายธรรมชาติที่เธอทำร่วมกับเพื่อน หรือประสบการณ์และองค์ความรู้ที่ได้รับจากการอบรม 
เธอล้วนนำมาต่อยอด ถ่ายทอดและบอกเล่าได้อย่างสนุกและสะท้อนถึงความรักความสนใจที่เธอมีต่อโลกธรรมชาติอย่างแท้จริง

ธีรกุล ขวัญคำ
ผู้จัดการออนไลน์ สัมภาษณ์ ‘ธีรกุล ขวัญคำ’ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Sriracha forest school นักกิจกรรมผู้หลงรักธรรมชาติ เพื่อให้เธอบอกเล่าถึงประสบการณ์และองค์ความรู้ที่ได้รับ เพื่อให้เราเข้าใจและเข้าถึงโลกธรรมชาติรอบตัวได้อย่างละเอียด แหลมคม ด้วยดวงตาและหัวใจที่อ่อนโยนกว่าที่เคย

การทำแผนที่เสียงคืออะไร
การมองด้วยตานกฮูก ทำแบบไหน
การหัดเดินแบบ Fox walk ทำอย่างไร
เสียงร้องของนกแต่ละชนิดบ่งบอกอะไรแก่เราบ้าง



Pattern ต่างๆ ที่ปรากฏในธรรมชาติ ลวดลายของใบไม้แต่ละใบ ใยแมงมุมแต่ละเส้นแต่ละสาย บอกกล่าวอะไรแก่เรา
ธรรมชาติสื่อสารอะไรกับเรา และเราจะสื่อสารกับธรรมชาติอย่างไร
ถ้อยความที่เธอบอกเล่า อาจทำให้เราเข้าใจและเข้าถึงความหัศจรรย์เหล่านั้นได้มากขึ้น


เปิดประตูสู่โลกกว้าง

เมื่อขอให้ช่วยเล่าถึงที่มา จุดเริ่มต้นของการทำกิจกรรม ‘ออกเดทกับธรรมชาติ’ ที่คุณเคยทำ

ธีรกุลเล่าว่าการที่เธอได้เข้าร่วมกิจกรรมออกเดทกับธรรมชาติ เนื่องจากไม่นานปีผ่านมานัก 'มูลนิธิโลกสีเขียว' ได้จัดหลักสูตรอบรม ‘Nature Mentor : ผู้เปิดประตูสู่โลกมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ’ ซึ่งเธอสนใจ และได้มีโอกาสเข้าไปเรียนหลักสูตรดังกล่าวนี้ ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะยาว ใช้ระยะเวลาอบรมประมาณครึ่งปี โดยการจัดกิจกรรมออกเดทกับธรรมชาติที่เธอและเพื่อนๆในกลุ่มร่วมกันจัดขึ้นนั้น ก็เป็นส่วนหนึ่งในหลักสูตร ‘Nature Mentor’ นั่นเอง

บรรยากาศการอบรม ‘Nature Mentor : ผู้เปิดประตูสู่โลกมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ’ ที่จัดโดย มูลนิธิโลกสีเขียว





บรรยากาศการอบรม ‘Nature Mentor : ผู้เปิดประตูสู่โลกมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ’ ที่จัดโดย มูลนิธิโลกสีเขียว
ธีรกุลเล่าว่า “เมื่อครั้งที่เราจัดกิจกรรมออกเดทกับธรรมชาติ คืออยู่ในช่วงที่เราอบรม Nature Mentor กันมาครึ่งปีแล้ว โดยเราจัดกิจกรรมนี้ให้กับผู้สนใจเข้าร่วมคนอื่นๆ นะคะ สาเหตุที่เข้าร่วมอบรมนี้ เพราะเห็นมูลนิธิโลกสีเขียวประกาศรับสมัครคนทั่วไปที่สนใจธรรมชาติ"

“หลักสูตรอบรม Nature Mentor ที่เราอบรมในครั้งนั้น มูลธิธิโลกสีเขียวใช้คำภาษาไทยว่า ผู้เปิดประตูสู่โลกมหัศจรรย์แห่งธรรมชาติ ด้วยความสนใจ เราก็สมัครเข้าไป” ธีรกุลบอกเล่าถึงจุดแรกเริ่มและกล่าวเพิ่มเติมอย่างอารมณ์ดีว่า 

“เริ่มแรกได้ไปอบรม 3 วัน 2 คืนที่ อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นเหมือนการเปิดโลกใบใหม่ให้เราเลยค่ะ (หัวเราะ ) สมาชิกที่เข้าร่วมอบรมก็ไปพักรวมกันที่นั่น คนส่วนใหญ่ที่ไปคือคนที่สนใจในธรรมชาติอยู่แล้ว บางคนก็ทำงานด้านนี้โดยตรง บางคนก็เป็นครู และอีกหลายๆ อาชีพค่ะ

"สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการอบรมครั้งนั้นก็คือ เมื่อไปเรียนแล้วกลับมา เรารู้สึกว่า เอ๊ะ! ที่ผ่านมาทำไมเรารู้สึกเหมือนเราหูหนวกตาบอด ( หัวเราะ ) เพราะสิ่งรอบตัวที่เราเห็นอยู่ทุกๆ วันน่ะ เราไม่ได้รู้จักเค้ามากเท่าที่ควรจะรู้จัก
เช่น ที่ประทับใจเป็นพิเศษก็คือจะมีกิจกรรมดูนก"

ธีรกุลเล่าว่า กิจกรรมดังกล่าว มีวิทยากรคือ ‘นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์’ ( หมายเหตุ : อาจารย์แพทย์โรคหัวใจศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่มีอีกบทบาทสำคัญคือการเป็นนักสำรวจธรรมชาติ
เดินป่า ดูนก )
ร่วมด้วยวิทยากรอีกหลายคน อาทิ ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและประธานมูลนิธิโลกสีเขียว, วรพจน์ บุญความดี กรรมการชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา และผู้ร่วมก่อตั้งเพจเฟซบุ๊ก Bird Conservation Society of Thailand (BCST) เป็นต้น

“สิ่งที่ประทับใจก็คือเรื่องการดูนกนี่แหละค่ะ เพราะปกติแล้ว ที่บ้านเราก็มีนกเยอะแยะที่เราก็เห็นอยู่เป็นประจำ แต่ว่าเราจะไม่รู้จัก กระทั่งเมื่อได้อบรม เราก็รู้จักนกมากขึ้น แล้วก็ตื่นเต้นเวลาที่ได้เห็นเค้าใกล้ๆ นี่เป็นกิจกรรมที่อบรมที่อำเภอเชียงดาว

“นอกจากนั้นก็มีการเดินป่า โดยมีพี่อ้อย (ดร.สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์) คุณหมอหม่อง (นพ.รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์) เป็นผู้พาเดิน เขาก็จะชี้ชวนให้เราดูระหว่างทาง เราจะเห็นสิ่งเล็กๆ บ้าง ใหญ่ๆ บ้าง เมื่อจบจากการอบรมครั้งนั้นก็แยกย้ายกันไปช่วงหนึ่งก่อนจะพบกันในการอบรมครั้งต่อไป เราก็กลับมาบ้านที่จังหวัดชลบุรีค่ะ” ธีรกุลระบุ


ฝึก Fox walk – ตานกฮูก - แผนที่เสียง และหลากหลายทักษะอันแหลมคม

ถามว่า นอกจากการลงพื้นที่ดูนก เดินป่าที่เชียงดาวแล้ว หลักสูตร Nature Mentor นี้สอนอะไรอีกบ้าง

ธีรกุลตอบว่า กิจกรรมอบรมที่อำเภอเชียงดาว นอกจากมีการเดินป่ากับผู้ที่ชำนาญแล้ว ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอื่นๆ 
อาทิ มีกิจกรรมพาไปพบต้นไม้ หรือ Meet The Tree รวมทั้งพูดคุยกันเรื่องประสบการณ์ต่างๆ ที่ผู้ร่วมอบรมประทับใจ
จากนั้น กิจกรรมอบรมในเดือนถัดไปหลังกลับมาจากอำเภอเชียงดาว ได้มีนัดอบรมกันที่สวนสาธารณะลุมพินี ในกรุงเทพฯ

“วิทยากรเริ่มสอนเรื่อง SENSING การเปิดผัสสะต่างๆ เช่น การมองด้วยตานกฮูก, การฟังเสียงรอบๆ ตัว, การทำแผนที่เสียง, การหัดเดินแบบ Fox walk หรือการเดินแบบสุนัขจิ้งจอก รวมทั้งฝึกการใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 ค่ะ ทั้งการดู ฟัง สัมผัส รส รวมถึงกลิ่นต่างๆ โดยเหล่านี้เราฝึกที่สวนสาธารณะลุมพินีค่ะ”

อดถามไม่ได้ว่า การฝึกมองด้วยตานกฮูกคืออะไร ทำอย่างไร

ธีรกุลอธิบายได้อย่างน่าสนใจว่า “โดยปกติแล้ว นกฮูกจะตาโตๆ เปรียบแล้วก็คือการให้เรามองให้กว้างขึ้น เนื่องจากช่วงหลังๆ มนุษย์เราใช้ดวงตาไปกับการทำงานกับจอคอมพ์พิวเตอร์เยอะ ทำงานกับหน้าจอเยอะ บางทีเราจะมองแค่แคบๆ โฟกัสแค่ข้างหน้า ดังนั้น การมองด้วยตานกฮูกก็คือการที่เราจะมองให้กว้างขึ้น เช่น ลองกางแขนออกมา แล้วก็ลองดูซิว่าเรามองเห็นปลายนิ้วเราไหม เรามองเห็นได้ถึงประมาณไหน ทั้งด้านล่าง ด้านบน ด้านข้าง นี่คือ ตัวอย่างของการมองด้วยตานกฮูกค่ะ เนื่องจากเวลาเดินป่า บางครั้งเราต้องใช้ประสาทสัมผัสเหล่านี้ เช่น บางทีเห็นแว้บๆ บางทีเรานั่งอยู่ สมมติว่าใช้ตานกฮูกมอง แค่ใช้หางตามอง แม้แค่แว้บๆ เราก็เห็นแล้วว่ามีนกบินมาด้านนี้ แบบนี้เป็นต้นค่ะ”

ถามว่า เช่นนั้นแล้วในแง่มุมหนึ่ง การมองด้วยตานกฮูก ก็เหมือนการฝึกสายตาให้แหลมคม

ธีรกุลตอบว่า “ใช่ค่ะ ซึ่งจริงๆ แล้ว ทักษะนี้ มันก็เป็นสิ่งที่เรามีติดตัวมาอยู่แล้วเพียงแต่ว่า เราอาจจะไม่ได้ใช้มันเต็มที่ค่ะ”
เมื่อถามถึงการฝึกทักษะอื่นๆ อาทิ การฝึกฟังเสียงรอบตัว,การเดินแบบ Fox walk , การทำแผนที่เสียง ว่าคืออะไร
ธีรกุลตอบว่า กิจกรรมการฝึกอบรมในครานั้น มีทั้งการให้ผู้เข้าอบรมทำแผนที่เสียง เช่น ให้ลองหลับตาลง แล้วฟังว่าเราได้ยินเสียงอะไรบ้างที่อาจจะอยู่ใกล้ที่สุดตอนนี้ จากนั้นก็ฟังเสียงที่อยู่ไกลออกไป เป็นเสียงอะไร อยู่ด้านหน้า ด้านหลัง ซ้าย ขวา เพราะถ้าเราหลับตา เราจะได้ยินอะไรที่ชัดขึ้น

ในครั้งนั้น ธีรกุลเล่าว่า เธอได้ยินทั้งเสียงนกและอีกหลายเสียง ไม่ใช่นกเพียงชนิดเดียวแต่มีอีกหลายชนิด 
จากนั้นถัดออกไป ก็จะได้ยินเสียงรถ เสียงคล้ายมีการก่อสร้าง เสียงคนคุยกัน เสียงเพื่อนเดิน เธอรู้สึกว่าได้ยินเสียงต่างๆ ชัดเจนขึ้น นอกจากนั้น ยังมีการฝึกจดบันทึก เริ่มด้วยการฟัง แล้วทำเป็นแผนที่ โดยจะมีกระดาษแผ่นใหญ่ๆ แผ่นหนึ่ง 
โดยจุดศูนย์กลางก็คือจุดที่ตัวเราอยู่ แล้วหากได้ยินเสียงอะไร เช่น หากได้ยินเสียงรถจากด้านขวามือไกล ๆ เราก็จะบันทึกลงไปว่ามีเสียงรถจากทางด้านนี้

ส่วนการหัดเดินแบบ สุนัขจิ้งจอกหรือ Fox walk เป็นอย่างไร


ธีรกุลอธิบายวิธีการฝึกดังกล่าวว่า “เริ่มด้วยการเดินแบบธรรมดาค่ะ จากนั้น ให้ลองเอามือปิดที่หู แล้วก็เดิน เราก็จะได้ยินเสียงฝีเท้าของตัวเอง ซึ่งเราจะรู้สึกว่าดังมากกว่าปกติ นั่นก็คือ คนทั่วไปถ้าไม่ได้ฝึกการเดินแบบ Fox walk
จะเดินเสียงดัง แต่วิธีการเดินแบบสุนัขจิ้งจอกก็คือว่า เราจะถอดรองเท้า แล้วใช้ด้านข้างของฝ่าเท้า คือบริเวณด้านบนแถวๆ นิ้วก้อยแล้วต่ำลงมาหน่อย แล้วค่อยๆ เดินลงไป เราก็จะเดินเบาลงค่ะ อาจลักษณะเหมือนย่องๆ ค่ะ
เป็นการเตรียมพร้อมเพื่อที่เมื่อเราไปออกเดทกับธรรมชาติอีกครั้ง เราจะมีความละเอียดขึ้นค่ะ”

ธีรกุลบอกเล่าอย่างเห็นภาพและกล่าวเพิ่มเติมว่า การอบรมครั้งต่อไป จัดขึ้นที่บางกระเจ้า ( อ. พระประแดง จ. สมุทรปราการ

บ้างเรียกคุ้งบางกระเจ้า ปัจจุบัน อาจมีการกร่อนเสียง เรียก ‘บางกะเจ้า’ )


สัมผัสความละเอียดลึกซึ้งของธรรมชาติ

ธีรกุลเล่าว่า ในการอบรมที่บางกระเจ้า เป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับ Pattern ต่างๆ ในธรรมชาติ อีกทั้งเรียนเรื่องการฟังเสียงนก
โดย วรพจน์ บุญความดี ( กรรมการชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา และผู้ร่วมก่อตั้งเพจเฟซบุ๊ก Bird Conservation Society of Thailand (BCST) ) เป็นวิทยากรสอนการฟังเสียงนกแบบต่างๆ เช่น การร้องเตือนภัย การร้องแบบประกาศอาณาเขต การร้องแบบจีบกันหรือหาคู่เป็นอย่างไร ทำให้ผู้เข้าอบรมตระหนักว่าธรรมชาติพยายามจะสื่อสารกับมนุษย์ด้วยเช่นกัน ไม่ใช่เพียงแค่สื่อสารระหว่างกันเองเท่านั้น 


รวมทั้งยังมีกิจกรรมดูแมงมุม โดยผู้เชี่ยวชาญเรื่องแมงมุม เป็นวิทยากร ทำให้ได้รับรู้ว่า ธรรมชาติล้วนมี Pattern ต่างๆ ในแบบเฉพาะตัว

อาทิ Pattern ของพืช รูปแบบ ลวดลายของใบก็มีหลายรูปแบบ มีรายละเอียดต่างๆ เยอะมาก ที่อาจารย์ วิทยากรและผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ ซึ่งความรู้เหล่านี้เอง ธีรกุลกล่าวว่า

“เปรียบเสมือนเป็น ‘การเปิดประตูสู่ธรรมชาติ’ ที่เราก็ต้องไปศึกษาต่อเพิ่มเติมค่ะ และจริงๆ แล้ว รายละเอียดมีเยอะมากค่ะ จริงอยู่ ว่าเรื่องพวกนี้ เราก็เคยเรียนในวิชาชีววิทยา แต่ว่าด้วยความที่เป็นการเรียนในหนังสือ เราก็อาจเฉยๆ แต่เมื่อได้มาสัมผัสจริงๆ เราก็จะเห็นว่า ธรรมชาติมีรายละเอียดเยอะ ได้เห็นว่าพืชต่างๆ ที่โตขึ้นมานั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร

“หรือแม้แต่แมงมุม ก็มีการชักใยหลายชนิดมาก เช่นมีทั้งที่ทำเป็นรูปทรงแบบเต็นท์ ทำเป็นเส้นเส้นเดียวก็มี แมงมุมที่กระโดดก็มีค่ะ การชักใยที่แตกต่างกันเหล่านี้สื่อถึงการหาอาหารของเค้าด้วยค่ะซึ่งสอดคล้องกับในพื้นที่ แล้วแต่ละ Species ก็ทำรังไม่เหมือนกันค่ะ” ธึรกุลระบุ และบอกเล่าเพิ่มเติมว่า การอบรมหลังจากนั้น เป็นการฝึกเรื่องของทักษะในการเล่าเรื่อง หรือ Storytelling













นกหลากหลายชนิดในละแวกบ้าน ที่ธีรกุลบันทึกภาพไว้
ความประทับใจในโลกรอบตัว

ธีรกุลเล่าว่า หลังจากการฝึกอบรมในแต่ละครั้ง วิทยากรจะมีการบ้านให้ผู้เข้าอบรมด้วย
เช่น หาจุดนั่งเขียนบันทึกฝึกประสาทสัมผัสในการรับรู้
อาทิ หลังการอบรมที่เชียงดาวซึ่งมีนกหลายชนิด ทำให้รู้จักนกเยอะขึ้น เมื่อกลับมาบ้านที่จังหวัดชลบุรี ธีรกุลบอกเล่าพร้อมเสียงหัวเราะว่า

“เมื่อกลับมาบ้าน ทำให้เรารู้สึก ‘ว้าว’!มากค่ะ เพราะว่านกตัวนู้น ตัวนี้ จากที่เราไม่เคยเห็น แต่เมื่ออบรมกลับมาแล้ว เราก็ลองมองบ้างเพราะมีกล้องส่องอันเล็กๆ อยู่ก็พบว่า อ้าว! นกที่เราเห็นที่เชียงดาว ที่บ้านเราก็มีเหมือนกันนี่นา แต่ว่า 10 ปีที่ฉันอยู่มา ทำไมฉันไม่เคยรู้จัก ! ( หัวเราะ ) อันนี้คือตัวอย่างที่ทำให้เรารู้สึกว่า เรา ‘ว้าว’! เพราะจริงๆ แล้วที่บ้านเรามีนกเยอะมาก แล้วก็เหมือนกันหลายๆ ชนิดกับที่เชียงดาว เช่น นกกินปลีอกเหลือง พวกนกปรอท ซึ่งเค้าอยู่ที่นี่ประจำนะคะ เราก็เคยเห็นเพียงแต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้รู้จักจริงจัง”

ธีรกุลยกตัวอย่างการนำองค์ความรู้ที่ได้อบรมมาใช้ในชีวิตประจำวันว่า เธอเริ่มสำรวจนกแถวบ้าน โดยนั่งหน้าบ้านแล้วดูนกมากขึ้น ดูมาเรื่อยๆ กระทั่งผ่านไปประมาณ 1 ปี เธอจึงพบว่าในหมู่บ้านของเธอมีนกอยู่ประมาณ 30 ชนิด ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอไม่เคยรู้มาก่อน

“เราก็ค่อยๆ เรียนรู้ เมื่อครั้งที่กลับมาจากอบรมที่เชียงดาว เราก็ซื้อหนังสือคู่มือดูนกเมืองไทยมาอ่านด้วย ซื้อกล้องส่อง แล้วก็ค่อยๆ บันทึกเป็นอัลบั้มใว้ในเฟซบุ๊คด้วยค่ะว่านกมีกี่ชนิดบ้างที่เราได้เจอ”

ไม่เพียงเท่านั้น หลักสูตร ‘Nature Mentor ยังให้ผู้เข้าร่วมอบรมทำโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวกับธรรมชาติด้วย

กิจกรรม ออกเดทกับธรรมชาติ


ออกเดทกับธรรมชาติ

นั่นจึงเป็นที่มาของการทำโปรเจ็กต์ ‘ออกเดทกับธรรมชาติ’ ซึ่งธีรกุลเปรียบว่า เป็นเสมือนข้อสอบให้ผู้เข้าอบรมได้ลองจัดกิจกรรมโดยใช้องค์ความรู้จากสิ่งที่ได้เรียนรู้มา เพื่อส่งต่อสิ่งเหล่านั้นให้กับผู้ที่สนใจ

สำหรับรายละเอียดของโปรเจ็กต์ ‘ออกเดทกับธรรมชาติ’ ธีรกุลเล่าว่า
ผู้เข้าอบรม ‘Nature Mentor’ ที่มีทั้งหมดประมาณ 30 กว่าคนจะถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 10 กว่าคน
ในครั้งนี้ ธีรกุลและเพื่อนในทีม จัดกิจกรรมออกเดทกับธรรมชาติ ที่สวนรถไฟ (สวนวชิรเบญจทัศ) ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่มีต้นไม้ใหญ่ กว้างขวาง มีนกหลายชนิดพร้อมสำหรับการจัดกิจกรรมเพื่อให้ผู้สนใจได้สัมผัสกับธรรมชาติในเมือง

แม้โปรเจ็กต์กิจกรรมออกเดทกับธรรมชาติ จะจัดขึ้นเพียง 1 วัน แต่ก็ได้รับเสียงตอบรับที่น่ายินดีไม่น้อย โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกิจกรรมมากถึง 30 คน ซึ่งล้วนสนุกกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนั้น ไม่ว่า การมองด้วยตานกฮูก, การหัดเดินแบบ Fox walk รวมทั้ง มีการทำ Nature Mandala ด้วย ( หมายเหตุ* : กล่าวโดยย่อ Nature Mandala คืองานศิลปะรูปวงกลมที่สร้างจากวัสดุธรรมชาติหลากหลายแบบ ทั้งนี้ มันดาลา (mandala) เป็นภาษาสันสกฤต นิยามความหมายเดียวกับคำว่า “มณฑล” )




สรรค์สร้าง ‘Nature Mandala’ และโอบกอดต้นใม้ด้วยหัวใจ

ธีรกุลเล่าว่า “สำหรับ Nature Mandala เราก็ให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมหาวัสดุธรรมชาติที่อยู่ในบริเวณนั้นแล้วก็นำมาจัดเรียง สิ่งนี้จะช่วยให้เรามองธรรมชาติได้ละเอียดขึ้น ได้สัมผัสธรรมชาติ แล้วค่อยๆ นำมาจัดเรียง ซึ่งความรู้สึกของเราก็จะสื่อผ่านออกไปในมันดาลาของเราค่ะ และนำไปสู่การเปิดประเด็นพูดคุยกันด้วยค่ะ

"นอกจากนั้นในช่วงท้ายๆ ของกิจกรรมออกเดทกับธรรมชาติ ยังมีการกอดต้นไม้ด้วยค่ะ โดยเราจะปิดตาผู้เข้าร่วม แล้วให้ทีมผู้จัดพาไปหาต้นไม้ แล้วก็ให้เค้าอยู่ตรงนั้นโดยที่ยังถูกปิดตา แต่สัมผัสต้นไม้ได้ ให้เค้าอยู่กับต้นไม้ต้นนั้นประมาณ 5 นาที แล้วเราก็ไปรับเค้ากลับมา จากนั้น ก็จะเปิดตาเค้า แล้วให้พวกเค้าลองกลับไปหาต้นไม้ของตัวเองดูซิ ว่าเค้าจะกลับไปเจอต้นไม้ต้นเดิมของเค้ามั้ย ซึ่งโดยส่วนใหญ่หาเจอค่ะ ไม่ว่าจะทำกี่ครั้ง ส่วนใหญ่ก็จะหาเจอ เพราะแต่ละคน เค้าจะมีวิธีที่พบต้นไม้ของตัวเองต่างกัน บางคนอาจจะจำสัมผัส บางคนจำทิศทางในการเดิน ส่วนการทำ Nature Mandala ก็มีทั้งการทำเดี่ยวและการทำแบบกลุ่มค่ะซึ่งทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ของกลุ่มด้วยค่ะ” ธีรกุลระบุ

ธีรกุล กับการจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนเพื่อเรียนรู้ธรรมชาติ

ธีรกุล กับการจัดกิจกรรมค่ายเยาวชนเพื่อเรียนรู้ธรรมชาติ
บ่มเพาะเมล็ดพันธุ์ในดวงใจเด็กๆ

นอกจากกิจกรรมออกเดทกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรอบรม ‘Nature Mentor' แล้ว
ธีรกุล ยังเคยร่วมกับเพื่อนก่อตั้งกลุ่ม Sriracha forest school นัดกันรวมกลุ่มไปเดินป่า เดินเขา ดูนก ดูน้ำตก ณ สวนรุกขชาติหนองตาอยู่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

กระทั่ง เมื่อได้อบรม Nature Mentor แล้ว ในช่วงหนึ่ง เธอก็นำองค์ความรู้ที่ได้รับมาต่อยอด มาจัดค่ายให้เด็กๆ จากเดิมทีที่เคยจัดกิจกรรมพาเด็กเดินป่าอยู่แล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่สวนรุกขชาติหนองตาอยู่ร่วมเดินด้วย เพียงแต่ในช่วงแรกๆ กิจกรรมที่เธอจัด อาจไม่ได้ลงลึกในรายละเอียดมาก แต่เมื่อไปอบรม Nature Mentor แล้ว เธอก็กลับมาจัดค่ายช่วงปิดเทอม รับสมัครเด็กๆ ที่สนใจ











กิจกรรมสำรวจธรรมชาติและความอุดมสมบูรณ์ของสวนรุกขชาติหนองตาอยู่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี











บรรยากาศค่ายเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ธรรมชาติที่ธีรกุลและเพื่อนร่วมกันจัดขึ้น
“เด็กๆ สนุกกันมากค่ะ มีตั้งแต่อายุ 5-12 ขวบ กิจกรรมที่จัดก็ไม่ได้เป็นวิชาการมากนัก แต่เรามีสถานที่ที่ใกล้บ้านเรา เพราะเราพาลูกไปเดินป่าที่นั่นประจำ ก็ขออนุญาตกับทางสถานที่ว่าเราจะทำกิจกรรมค่ายเดินป่าซึ่งก็ได้รับอนุญาต

“นอกจากนั้น เราเชื่อว่าพ่อแม่ของเด็กๆ ที่มาเข้าค่าย มีศักยภาพในการทำค่าย เราจึงมีการรับสมัครผู้ปกครองอาสามาช่วยจัดกิจกรรมด้วยค่ะ พาเด็กเดินป่าด้วยกัน วิธีที่เราใช้ก็คือ ถ้าเป็นการส่งเด็กมาร่วมกิจกรรมโดยที่ผู้ปกครองไม่ได้มาร่วมด้วย เราคิดค่าร่วมกิจกรรม 2,000 บาท แต่ถ้ามีผู้ปกครองมาด้วย เราคิดเพียง 1,000 บาทค่ะ ( หัวเราะ ) เหมือนมาช่วยกันเลี้ยงเด็ก เพราะผู้ปกครองบางคนเค้าก็ไม่มีเวลามาค่ะ กิจกรรมครั้งนั้นก็สนุกดีค่ะ จัด 5 วัน แต่เป็นการจัดแบบไป-กลับนะคะ โดยมาติดต่อกัน 5 วัน”

“ในวันแรกเราสอนเรื่อง SENSING การเปิดผัสสะต่างๆ
วันที่สอง พาเดินป่าและให้เด็กทำแผนที่ซึ่งสนุกมากค่ะ ปล่อยให้เค้าเล่น แล้วเราก็จะเริ่มให้เด็กๆ ทำโปรเจ็กต์ส่วนตัว ทำอะไรก็ได้ แล้วมานำเสนอในวันสุดท้าย เค้าก็จะไปเล่น แล้วก็หาสิ่งต่างๆ มานำเสนอ” ธีรกุลระบุและกล่าวเพิ่มเติมว่า ค่ายดังกล่าวได้รับความสนใจไม่น้อย ยังคงจัดต่อเนื่องอีก 3-4 ครั้ง







กิจกรรมค่ายเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ธรรมชาติ



ธีรกุลและเพื่อนๆ ที่หลงรักในธรรมชาติไม่ต่างกัน




ทุกวันนี้ หากมีเวลา ธีรกุล ยังคงมีความสุขกับการดูนก เดินป่า และสิ่งสำคัญเหนืออื่นใด เธอและเพื่อนที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกันยังคงทำหน้าที่ส่งต่อองค์ความรู้ที่จะช่วยให้คนรอบตัวและผู้สนใจได้สัมผัสกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น

นับเป็นการส่งต่อความรัก ความเข้าใจเพื่อการเปิดรับและโอบกอดโลกกว้างด้วยดวงตา ดวงใจ และทุกประสาทสัมผัสที่มีอย่างแท้จริง


……….
Text By : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo By : ธีรกุล ขวัญคำ, เฟซบุ๊ค Teerakun Khwankham และแฟนเพจเฟซบุ๊ค A Balanced Living Room