ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ได้ออกมาโพสต์อธิบายเหตุการณ์แพลงก์ตอนบลูมในอ่าวไทย เกิดจากกระแสน้ำ ลมพัดพาเซลล์แพลงก์ตอนมากองรวมกัน แล้วเคลื่อนที่เข้ามาจนทำให้น้ำเปลี่ยนสี เตือนโลกร้อนแรงขึ้น ทะเลใกล้เดือด
วันนี้ (31 ก.ค.) เฟซบุ๊ก "Thon Thamrongnawasawat" หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์อธิบายเหตุการณ์แพลงก์ตอนบลูมในอ่าวไทย โดยระบุว่า "ด้วยข้อมูลดาวเทียมจาก GISTDA เป็นภาพวัดคลอโรฟิลล์ในน้ำ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปริมาณแพลงก์ตอนพืชบลูม สีดำคือน้ำทะเลปรกติ สีเขียวคือเริ่มเกิดแพลงก์ตอนบลูม สีแดง/น้ำตาลเข้มคือบลูมเต็มที่ ปรกติแพลงก์ตอนบลูมจะเริ่มจากทะเลห่างฝั่ง จากนั้นพอเข้าใกล้ฝั่งด้วยกระแสน้ำ/คลื่นลม ปริมาณแพลงก์ตอนเพิ่มขึ้นเมื่อเจอธาตุอาหารสมบูรณ์ ประจวบกับแดดจ้า ปรกติเกิดที่ทะเลความลึก 8-10 เมตรหรือมากกว่า ในภาพจะเห็นในเขตสีเหลืองและสีแดงสุดท้ายจะเข้ามาจนถึงชายฝั่ง เป็นพัฒนาการขั้นเกือบสุดท้าย เป็นขั้นตอนที่เรียกว่า aggregation เกิดจากกระแสน้ำ/ลมพัดพาเซลล์แพลงก์ตอนมากองรวมกัน แล้วเคลื่อนที่เข้ามา
น้ำเปลี่ยนสีที่เข้าใกล้ฝั่งแล้วไม่นานจะสลายตัวไปด้วยสาเหตุต่างๆ แล้วแต่พื้นที่ เป็นขั้นตอนสุดท้ายของพัฒนาการการเกิดน้ำเปลี่ยนสี เรียกว่าขั้นตอนการยุติปรากฏการณ์ภาพจาก GISTDA แสดงให้เห็นชัดว่าแพลงก์ตอนบลูมในอ่าวไทยมากองรวมกันที่ชายฝั่ง EEC เพราะช่วงนี้เป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ลมพัดน้ำมารวมอยู่บริเวณนั้นยังมีแพลงก์ตอนบลูมอีกแบบที่เกิดจากกระบวนการบริเวณปากแม่น้ำ
ขอบคุณข้อมูลจาก ดร.ไทยถาวร พี่หวอยของผม ผู้เชี่ยวชาญด้านแพลงก์ตอนบลูม/แพลงก์ตอนพืชของไทย ความรู้เหล่านี้มีประโยชน์มาก แสดงให้เห็นว่าเราต้องใช้ทั้งเทคโนโลยีทั้งการศึกษาวิจัยเข้ามารวมกันเพื่อตอบคำถามต่างๆ หวังว่าในอนาคต เราจะเริ่มสร้างระบบที่สามารถแจ้งเตือนสิ่งที่กำลังจะเกิด และจะมีส่วนช่วยเป็นอย่างยิ่งในการดูแลปกป้องกิจการของผู้คน ทั้งประมง ทั้งเพาะเลี้ยง ทั้งท่องเที่ยว ซึ่งทั้งหมดนั้น จำเป็นต้องได้รับความสนับสนุนอย่างจริงจังจากรัฐบาล/ภาครัฐ/ภาคเอกชน เพื่อระดมสรรพกำลังในการสร้างและดำเนินการ โลกร้อนแรงขึ้น ทะเลใกล้เดือด เราคงเหลือเวลาอีกไม่นานแล้วครับ"