กรมอุตุนิยมวิทยาอัปเดตเส้นทาง “พายุไต้ฝุ่นขนุน” เปลี่ยนทิศทางจากไทยเคลื่อนตัวไปทะเลทางใต้ของประเทศญี่ปุ่น ด้านสำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นยังคาดว่าอิทธิพลของไต้ฝุ่นขนุนอาจทำให้พื้นผิวการจราจรที่เป็นถนนหลักหลายสายได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากกระแสลมแรง
วันนี้ (31 ก.ค.) กรมอุตุนิยมวิทยาอัปเดตเส้นทาง “พายุไต้ฝุ่นขนุน” ล่าสุดทางการญี่ปุ่นได้ออกประกาศเตือนประชาชนในภูมิภาคโอกินาวา และอามามิ ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ให้ระวังลมพัดกระโชกแรงและคลื่นทะเลยกตัวสูง ดินถล่ม น้ำท่วมในพื้นที่ราบต่ำ และภัยอื่นๆ ตั้งแต่เช้าวันนี้ต่อเนื่องไปจนถึงวันอังคารที่ 1 สิงหาคม (31 ก.ค.-1 ส.ค.) ตามวันเวลาท้องถิ่น
ทั้งนี้ เนื่องจากไต้ฝุ่นขนุนกำลังพัดเคลื่อนตัวไปทะเลทางใต้ของญี่ปุ่น และอาจพัดเข้าใกล้ทั้งสองภูมิภาคข้างต้นของญี่ปุ่นในช่วงเวลาดังกล่าว และคาดว่าจะมีฝนตกหนักที่มีปริมาณน้ำฝนมากถึง 100 มิลลิเมตร จึงขอให้ประชาชนเฝ้าระวังและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด
สำนักงานอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่นยังคาดว่า อิทธิพลของไต้ฝุ่นขนุนอาจทำให้พื้นผิวการจราจรที่เป็นถนนหลักหลายสายได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากกระแสลมแรง ที่อาจทำให้รถบรรทุกพลิกคว่ำได้ และจะเกิดลมแรงมากพัดกระหน่ำภูมิภาคอามามิ ซึ่งคาดว่ากระแสลมจะกวาดล้างอย่างรุนแรง ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายจากพายุและคลื่นสูง
สำหรับพยากรณ์ฝนสะสมรายวัน ระหว่าง 31 ก.ค.-9 ส.ค. 2566 จากศูนย์พยากรณ์อากาศระยะกลางยุโรป (ECMWF) : 31 ก.ค.-4 ส.ค. 2566 ยังมีฝนต่อเนื่อง บริเวณภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบนและด้านตะวันออก ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออกด้านรับมรสุม (จันทบุรี ตราด) และภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา) ส่วน กทม.และปริมณฑล จะเริ่มมีฝนช่วงบ่าย-ค่ำ ส่วนใหญ่ยังเป็นฝนเล็กน้อยถึงปานกลาง และมีตกหนักบางแห่ง บริเวณภาคเหนือตอนบน และภาคอีสานตอนบน ใกล้หย่อมความกดอากาศต่ำ คลื่นลมในทะเลทั้งสองฝั่งมีกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรง ชาวเรือ ชาวประมงต้องเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือในระยะนี้
ทั้งนี้ เนื่องจากร่องมรสุมได้พาดผ่านบริเวณตอนบนของภาคเหนือ ภาคอีสาน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงพัดปกคลุม และมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมทางตอนบนของเวียดนาม ช่วง 5-9 ส.ค. 2566 ฝนน้อยลง แต่ยังมีเกิดขึ้นได้บริเวณภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน เนื่องจากมรสุมที่พัดปกคลุมมีกำลังอ่อนลง ในระยะนี้ในมหาสมุทรแปซิฟิก พายุไต้ฝุ่น 'ขนุน' (KHANUN) ได้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุไต้ฝุ่นแล้ว กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกเฉียงเหนือ ค่อนไปทางเหนือ ทิศทางไม่ได้มุ่งเข้าสู่ประเทศไทย จึงไม่มีผลกระทบต่อบ้านเรา (ข้อมูลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามข้อมูลนำเข้าใหม่ ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจ)