xs
xsm
sm
md
lg

นัย “คิสซินเจอร์” พบ “สี จิ้นผิง” สหรัฐฯ หมดท่า ส่งผู้เฒ่า 100 ปีง้อจีนช่วย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สนธิ” เผยนัย “คิสซินเจอร์” อดีต รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ อายุ 103 ปี หอบสังขารเยือนปักกิ่ง เพราะได้รับการร้องขอจากรัฐบาลอเมริกา ช่วยฟื้นความสัมพันธ์ 2 ชาติ หลังอเมริกาเจอวิกฤติหนี้ท่วมหัวขณะที่จีนกำลังเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ ทิ้ง แม้ฝ่ายจีนต้อนรับ “คิสซินเจอร์” แบบจัดเต็มในฐานะเพื่อนเก่า แต่จะยอมช่วยหรือไม่ยังเป็นคำถาม เพราะผู้นำอเมริกายังทำตัวเป็นลูกหนี้ผู้ยโสโอหัง



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงนัยของการเดินทางเยือนจีนของนายเฮนรี คิสซินเจอร์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ในสมัยประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน โดยเมื่่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีและเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้พบปะกับนายเฮนรี คิสซินเจอร์ ณ เรือนรับรองเตี้ยวหยูไถ กรุงปักกิ่ง

นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า นายคิสซินเจอร์ เพิ่งฉลองวันคล้ายวันเกิดอายุครบ 100 ปี (เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2563) เมื่อไม่นานมานี้ เขาเดินทางมาเยือนจีนตลอดหลายปีที่ผ่านมา กว่า 100 ครั้ง ซึ่งตัวเลข 100 ทั้งสองนี้ ทำให้การเยือนครั้งนี้มีนัยสำคัญเป็นพิเศษ


สี จิ้นผิง กล่าวว่า ขณะที่จีน และอเมริกา อยู่ในจุดพลิกผันสำคัญเมื่อ 52 ปีก่อน หรือปี 2515 ที่ประธานเหมา เจ๋อตง และนายกรัฐมนตรี โจว เอินไหล ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน และนายเฮนรี คิสซินเจอร์ ได้ตัดสินใจอย่างถูกต้องด้วยวิสัยทัศน์ในยุทธศาสตร์ของความร่วมมือกับจีน-สหรัฐฯ ดำเนินการปรับปรุงความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ กลับคืนสู่สภาวะปกติ ซึ่งการตัดสินใจนี้เป็นประโยชน์ต่อทั้งสองประเทศเป็นเวลาช้านาน


สี จิ้นผิง ชี้ว่า ประชาชนชาวจีนให้คุณค่ากับมิตรภาพ ใครเป็นเพื่อนเก่าจีน ใครเคยช่วยเหลือจีนมา จีนไม่เคยลืม ชาวจีนไม่เคยลืมเพื่อนเก่า หรือคุณูปการทางประวัติศาสตร์ของนายคิสซินเจอร์ ในการส่งเสริมความเจริญเติบโตของความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ และขยับขยายมิตรภาพระหว่างประชาชนสองประเทศนี้

นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ไม่เคยพานพบมาก่อนในรอบศตวรรษ และภูมิทัศน์ระหว่างประเทศกำลังก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยจีน และสหรัฐฯ กำลังมาถึงทางแยกอีกครั้ง ซึ่งทั้งสองฝ่ายจำเป็นต้องตัดสินใจอีกครั้งว่าจะก้าวไปทางไหน ก้าวอย่างไร

นายสี จิ้นผิง กล่าวว่า ถ้ามองไปข้างหน้า จีน และอเมริกา สามารถช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อประสบความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองด้วยกัน โดยกุญแจสำคัญคือการปฏิบัติตามหลักการ 3 ประการ ที่ตกลงกันมานานแล้ว คือ

1.การเคารพซึ่งกันและกัน
2.การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และ
3.การร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย



สี จิ้นผิง พูดว่า จีนพร้อมสำรวจหาแนวทางที่ถูกต้องร่วมกับสหรัฐฯ บนหลักการเหล่านี้ เพื่อผลักดันการพัฒนาความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศต่อไปในวันข้างหน้า ซึ่งจะเป็นผลดีต่อทั้งสองฝ่าย และก่อประโยชน์ต่อทั่วโลก

ผู้นำจีนยังกล่าวอีกว่า ตนหวังว่านายคิสซินเจอร์ และบุคคลอื่นๆ ที่มองการณ์ไกลในอเมริกา จะยังคงดำเนินการบทบาทเชิงสร้างสรรค์ ด้วยการฟื้นฟูความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ ให้กลับมาสู่เส้นทางที่ถูกต้อง

ส่วนนายคิสซินเจอร์ แสดงความขอบคุณประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่มาพบปะเขา ณ อาคารหลังที่ 5 ของเรือนรับรองเตี้ยวหยูไถ ซึ่งเป็นสถานที่ที่เขาเคยพบปะกับคณะผู้นำจีน ระหว่างการเยือนจีนครั้งแรก พร้อมกับเน้นย้ำว่า ความสัมพันธ์จีนและอเมริกานั้น เป็นความสัมพันธ์ต่อสันติภาพและความเจริญรุ่งเรืองของทั้งสองประเทศ และของโลก

นายคิสซินเจอร์ กล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน การรักษาหลักการที่กำหนดไว้ในการแถลงการณ์ร่วมเซี่ยงไฮ้ หรือ Shanghai Communique ซึ่งเป็นแถลงการณ์ที่รับรองร่วมกันว่าเกาะไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน ถือเป็นสิ่งที่มิอาจจะหลีกเลี่ยง


นายคิสซินเจอร์ บอกว่า เข้าใจที่จีนให้ความสำคัญสูงสุดกับหลักการจีนเดียว และการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ในทิศทางเชิงบวก เขาแสดงความมุ่งมั่นว่าจะพยายามอำนวยความสะดวกแก่การทำความเข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างชาวอเมริกัน และชาวจีน อย่างต่อเนื่อง

สำหรับข้อความที่สำคัญของ Shanghai Communique แถลงการณ์ร่วมจีน-สหรัฐฯ ที่ทำขึ้นเมื่อปี 2515 (ค.ศ.1972) มีดังนี้

ฝ่ายจีนมีจุดยืนว่า “จีนเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายของจีนแต่เพียงผู้เดียว ไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของประเทศจีน ซึ่งได้กลับมาสู่แผ่นดินมาตุภูมิมานานแล้ว การปลดปล่อยไต้หวันเป็นเรื่องภายในของจีน ไม่มีประเทศอื่นใดมีสิทธิที่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยว และกองกำลังสหรัฐฯ และหน่วยงานทางการทหารทั้งหมดจะต้องถอยตัวออกจากไต้หวัน รัฐบาลจีนคัดค้านกิจกรรมใดๆที่มุ่งแยก "หนึ่งจีน หนึ่งไต้หวัน" "หนึ่งจีน สองรัฐบาล" "จีนสอง" "ไต้หวันอิสระ" หรือการสนับสนุนให้ "สถานะของไต้หวันยังคงอยู่"

ส่วนฝ่ายสหรัฐอเมริการะบุว่า “สหรัฐฯ ยอมรับว่าชาวจีนที่ช่องแคบไต้หวันทั้งสองฝั่งมีจีนเพียงหนึ่งเดียวและไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน รัฐบาลสหรัฐไม่ท้าทายสถานะนั้น และยืนยันว่าปัญหาไต้หวันจะยุติอย่างสันติโดยชาวจีนเอง เมื่อคำนึงถึงความคาดหวังนี้ เป็นการยืนยันวัตถุประสงค์สูงสุดของการถอนกองกำลังสหรัฐฯ และฐานทัพทหารทั้งหมดออกจากไต้หวัน ในระหว่างนี้ จะค่อยๆ ลดกำลังและกำลังทหารในไต้หวันเมื่อความตึงเครียดในพื้นที่ลดลง"


“ก็คืออเมริกายืนยันมานานแล้ว ตั้งแต่ 2515 รัฐบาลสหรัฐฯ จะไม่ท้าทายสถานภาพนั้น ตรงกันข้าม ณ วันนี้ ทั้งโจ ไบเดน ทั้งอียู พยายามท้าทายสถานภาพดังกล่าว” นายสนธิกล่าว


เบื้องลึก “คิสซินเจอร์” ถ่อสังขาร วอนจีนช่วยกอบกู้สหรัฐฯ

การมาเยือนจีนของเฮนรี คิสซินเจอร์ ครั้งนี้ มีเบื้องลึกเบื้องหลัง ทำไมคนที่เป็นอดีตรัฐมนตรี อายุ 100 กว่าปี เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเล ข้ามทวีป มากรุงปักกิ่ง คนอายุ 100 ปี อย่าว่าแต่นั่งเครื่องบินนานๆ เลย แค่นั่งรถยนต์ประมาณสักจากกรุงเทพฯ ไปปทุมธานี ก็เหนื่อยตายแล้ว นี่ข้ามน้ำข้ามทะเลเป็นหมื่นกิโลเมตรมายังกรุงปักกิ่ง

เขาหวังกอบกู้ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับจีนที่ร้าวฉานที่สุดตั้งแต่สองชาติสถาปนาความสัมพันธ์กันเมื่อ 50 ปีก่อน ประชาชนชาวจีนก็ตื่นเต้นกับการเดินทางมาเยือนจีนครั้งนี้ของนายคิสซินเจอร์ อย่างมาก หลายคนบอกว่า นายคิสซินเจอร์ เป็นบุคคลคนเดียวกับที่อยู่ในหนังสือประวัติศาสตร์ที่มีส่วนช่วยให้สาธารณรัฐประชาชนจีนเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐอเมริกา ใช่หรือเปล่า


ข้อเท็จจริงคือ ในราวๆ 1 เดือนที่ผ่านมา มีนักการเมืองคนสำคัญของสหรัฐฯ เดินทางไปเยือนประเทศจีนหลายต่อหลายคน ตั้งแต่นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายจอห์น แคร์รี ทูตพิเศษด้านสภาพอากาศ

ล่าสุด เฮนรี คิสซินเจอร์ โดยการที่ผู้เฒ่าวัย 100 ปี ต้องมาถ่อสังขารข้ามทวีปมายังประเทศจีน เสี่ยงมากทางด้านสุขภาพ แต่ว่าคิสซินเจอร์ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญมากในการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอเมริกา กับประเทศจีน เมื่อกว่า 50 ปีก่อน ที่ต้องเดินทางไกลมาอีกครั้ง แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลขณะนี้ไม่มีใครอีกแล้วที่จะเจรจากับจีนได้ เพราะว่าจีนไม่คุยด้วยแล้ว แต่จีนจะคุยกับเฮนรี คิสซินเจอร์ เสมือนเป็นเพื่อนเก่า

จีนเป็นคนที่เคารพและให้เกียรติเพื่อนเก่า ภาษาจีนเป็นภาษาหนึ่งซึ่งมีความสำคัญมาก จีนจะเรียกเพื่อนเก่าว่า "เหล่าเผิงหยู่" (老朋友อ่านว่า lǎo péngyǒu) "เหล่า" คือ เก่าแก่ "เผิงหยู่" คือ เพื่อน

ถ้าสังเกตให้ดี การเดินทางเยือนประเทศจีนของนักการเมืองสหรัฐฯ แต่ละคนนั้น ได้รับการต้อนรับจากจีนแตกต่างกันมาก


แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ พบกับนายหวัง อี้ ซึ่งเป็นผู้นำสูงสุดด้านการต่างประเทศของจีน พบกับนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง และขอเข้าพบประธานาธิบดีสี จิ้นผิง

ส่วนนางเจเน็ต เยลเลน และ นายจอห์น แคร์รี พบกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และนายกรัฐมนตรีหลี่ เฉียง เท่านั้น

ขณะที่เฮนรี คิสซินเจอร์ ที่ตอนนี้ไม่มีตำแหน่งอะไรในรัฐบาลอเมริกา และเดินทางไปเยือนจีนในนามส่วนตัว เขากลับได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากจีน และยังได้พบปะกับบุคคลสำคัญในจีนเกือบครบ ไม่ว่าจะเป็นนายหวัง อี้ ประธานกรรมาธิการวิเทศสัมพันธ์พรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของนักการทูตของจีน ที่เหนือกว่ารัฐมนตรีต่างประเทศ


คิสซินเจอร์ ได้พบกับนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีของจีน พบกับ พล.อ.หลี่ ช่างฝู รัฐมนตรีกลาโหม รวมทั้งนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีน

การต้อนรับการเยือนของนายคิสซินเจอร์ ที่เหนือกว่ารัฐมนตรีสหรัฐฯ ที่อยู่ในตำแหน่ง ทำให้นายจอห์น เคอร์บี โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติ กล่าวว่า น่าเสียดายที่พลเมืองธรรมดาอย่างเช่นเฮนรี คิสซินเจอร์ สามารถพบกับรัฐมนตรีกลาโหมจีน และพูดคุยกันเป็นการส่วนตัวได้ แต่ผู้แทนอย่างเป็นทางการของอเมริกากลับทำไม่ได้ รัฐบาลสหรัฐฯ ทำได้แค่เพียงรอฟังข่าวจากนายคิสซินเจอร์ ตอนเขากลับมาเท่านั้น


“นายจอห์น เคอร์บี แสดงความโง่เง่าเต่าตุ่นออกมาอย่างชัดเจน ไม่ต้องพูดเลยแม้แต่นิดเดียว ถ้าโง่ ไม่พูด ก็ไม่มีใครเขาว่าโง่ เพราะว่าจีนเขาให้เกียรติเฮนรี คิสซินเจอร์ ในขณะซึ่งคุณ ลอยด์ ออสติน อยากจะเจอใจแทบขาด เขาก็ไม่ยอมให้เจอ คุณน่าจะเดาออกว่าทำไมเขาถึงรังเกียจรังชังคุณเช่นนี้” นายสนธิ กล่าว


ความหมายที่โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติของทำเนียบขาวพูดถึง ก็คือ พล.อ.หลี่ ช่างฝู รัฐมนตรีกลาโหมของจีน ปฏิเสธที่จะพบกับนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ในระหว่างที่ทั้งคู่เข้าร่วมประชุมเวทีความมั่นคง Shangri-La Dialogue ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2566 ที่สิงคโปร์ เนื่องจากอเมริกาใช้มาตรการคว่ำบาตร พล.อ.หลี่ ช่างฝู อ้างว่าเขาเกี่ยวข้องกับการซื้ออาวุธจากรัสเซีย ฝ่ายจีนก็บอกว่า สหรัฐฯ ต้องยกเลิกการคว่ำบาตรก่อน จึงจะเปิดช่องให้รัฐมนตรีกลาโหมทั้งสองประเทศพบปะหารือกันได้ แต่ว่านายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอเมริกา กลับทำอวดดีตีฝีปาก บอกว่ามาตรการคว่ำบาตรไม่ได้ห้ามรัฐมนตรีของสหรัฐฯ กับจีนพบปะกัน และอ้างว่า จีนตัดสินใจโดยเล่นการเมือง พร้อมโยนความรับผิดชอบว่าการติดต่อทางทหารระหว่างสองประเทศจะมีขึ้นได้หรือไม่ได้ ขึ้นอยู่กับจีน


“อ๋อ แน่นอนอยู่แล้ว จีนเขาทำตัวให้ยาก เดี๋ยวนี้จะมาสั่งจีนว่าข้าพเจ้าจะขอพบคนนั้นคนนี้ จีนเขาไม่ยอม มีสิทธิ์แค่ไหนจะมาได้พบ” นายสนธิกล่าว

ทำไม “คิสซินเจอร์” ต้องการพบรัฐมนตรีกลาโหมของจีน?

รายงานข่าวจากกรุงปักกิ่ง ระบุว่า นายคิสซินเจอร์ เป็นคนขอร้องเอง เพื่อขอพบรัฐมนตรีกลาโหมจีน ซึ่งฝ่ายจีนก็ตอบตกลง นายคิสซินเจอร์ อดีตเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และยังเป็นที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติ ทำไมเขาอยากพบรัฐมนตรีกลาโหมจีน?

นายคิสซินเจอร์ แสดงความกังวลว่า อเมริกา และจีน กำลังก้าวสู่สงครามเย็นครั้งที่ 2 อาจจะลุกลามไปสู่การเผชิญหน้าทางการทหาร ถ้าสหรัฐฯ กับจีนทำสงคราม ก็จะกลายเป็นหายนะภัยยิ่งกว่าสงครามโลกครั้งก่อนๆ ที่ทำลายอารยธรรมของยุโรปจนสูญสิ้น


50 กว่าปีก่อน คิสซินเจอร์ เป็นคนที่ทลายภูเขาน้ำแข็ง เปิดความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับจีน และเป็นนักการเมืองอเมริกันที่รู้จักและเข้าใจประเทศจีนอย่างดีที่สุดคนหนึ่ง นายคิสซินเจอร์ และกลุ่มอำนาจต่างๆ ในอเมริกาน่าจะตระหนักว่า สงครามระหว่างอเมริกา กับจีน อาจเกิดขึ้นได้จริงๆ และมีโอกาสจะเกิดได้อย่างสูง แต่ขณะนี้กลับไม่มีใครในรัฐบาลอเมริกาที่สามารถพูดคุยกับจีนได้เลย เหลือแต่เขาเพียงคนเดียว

จีนจัดเต็มต้อนรับ “เพื่อนเก่า”

การมาเยือนของนายคิสซินเจอร์ครั้งนี้ ประเทศจีนต้อนรับแบบจัดเต็ม ในฐานะเพื่อนเก่า "เหล่าเผิงหยู่" ข้อเท็จจริงเรื่องนี้ไม่มีใครปฏิเสธได้ เพราะการเดินทางมารอบนี้ คิสซินเจอร์ ได้พบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แบบเป็นกันเอง ขณะที่นางเจเน็ต เยลเลน และนายจอห์น แคร์รี ซึ่งเดินทางเยือนจีนก่อนหน้านั้น ไม่ได้พบ

ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เรียกขานนายคิสซินเจอร์ ว่า "เพื่อนเก่า" (เหย่าเผิงหยู่) ซึ่งเป็นคำที่แสดงความสนิทสนม ผู้นำจีนยังกล่าวว่า ชาวจีนให้ความสำคัญกับมิตรภาพ และจีนไม่มีวันที่จะลืมเพื่อนเก่าของจีนได้


การพบปะครั้งนี้ ได้พบปะกัน ณ อาคารหมายเลข 5 ของเรือนรับรองเตี้ยวหยูไถ อันเป็นสถานที่เดียวกับที่นายคิสซินเจอร์ ได้เคยพบอดีตนายกรัฐมนตรีโจว เอินไหล ตอนที่เขาเยือนประเทศจีนครั้งแรกเมื่อปี 2514 หรือกว่า 50 ปีก่อน

ปกติผู้นำ ผู้แทนต่างชาติจะเดินทางไปพบผู้นำจีน ณ ทำเนียบรัฐบาล เพราะเป็นพิธีการมาก หรือหารือกันที่มหาศาลาประชาชน แต่ครั้งนี้ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เป็นฝ่ายที่เดินทางมาพบนายเฮนรี คิสซินเจอร์ ที่เรือนรับรองเตี้ยวหยูไถ นี่แสดงว่าเป็นการต้อนรับในระดับสูงเป็นพิเศษ ซึ่งจีนจัดให้โดยเฉพาะ จัดชุดใหญ่ไฟกระพริบให้นายคิสซินเจอร์


นอกจากนั้นแล้ว ผู้นำจีนยังจัดงานเลี้ยงอาหารให้แก่นายคิสซินเจอร์ และคณะ ที่เรือนรับรองเตี้ยวหยูไถ แบบอลังการ เต็มไปด้วยนัยอันเป็นมงคล มีนัยของมิตรภาพอันยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นลูกท้ออายุยืน เทพซิ่ว หรือ โซ่ว คือเทพอายุวัฒนะ มีหมด คนจีนเป็นคนที่ชอบใช้สัญลักษณ์


ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่มีใครรู้ว่าเมื่ออยู่เบื้องหลังกล้องโทรทัศน์แล้ว เพื่อนเก่าอย่างนายคิสซินเจอร์ คุยอะไรกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง บ้าง

แต่ถ้าดูภูมิหลังจะรู้ว่าคิสซินเจอร์ เป็นนักการเมืองอเมริกาในยุคที่การต่อสู้ทางอุดมการณ์เข้มข้นอย่างยิ่ง แต่ว่านายคิสซินเจอร์ ได้มองการเมืองตามความเป็นจริงว่า การร่วมมือกับประเทศจีนจะเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ มากกว่าจะเป็นศัตรูกัน

แนวคิดนี้ศัพท์ทางรัฐศาสตร์เขาเรียกว่า Real Politics อันหมายถึงการดำเนินการทางการทูต และการวางตัวทางการเมืองให้สอดคล้องกับสถานการณ์และปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ในขณะนั้น โดยไม่ยึดติดกับอุดมการณ์ใดๆ อย่างชัดเจน ก็คือดูว่าข้อเท็จจริงในขณะนั้นเป็นอย่างไร ก็ดำเนินการทางการเมืองไปแบบนั้น

วันนี้ไม่มีอุดมการณ์อะไรอีกแล้ว อเมริกากลายเป็นเจ้าโลกทุนนิยม และโลกาภิวัตน์ แต่สองสิ่งนั้นกำลังหันกลับมาเล่นงานอเมริกาเอง เศรษฐกิจอเมริกากำลังเผชิญหน้าอย่างหนักกับหนี้สาธารณะที่กู้แล้วกู้อีกยังไม่พอใช้จ่าย ค่าดอกเบี้ยอย่างเดียวของหนี้สาธารณะอเมริกา ประมาณการว่าถึงสิ้นปีนี้ จะเท่ากับ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ และยังประสบภาวะเงินเฟ้ออย่างหนัก ในปี 2564 เงินเฟ้อ 7 เปอร์เซ็นต์ 2565 เงินเฟ้อ 6.6 เปอร์เซ็นต์

ทั้งหมดนี้ทำให้เฟด หรือ ธนาคารกลางสหรัฐฯ ต้องขึ้นดอกเบี้ยหลายครั้ง จาก 0 กลายเป็นประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์กว่า พันธบัตรของอเมริกาถูกเทขายอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจีน ตอนนี้ประเทศที่ถือครองพันธบัตรของอเมริกามากที่สุดคือประเทศญี่ปุ่น อยู่ที่ 1 ล้านล้านดอลลาร์ แม้กระทั่งญี่ปุ่นก็เริ่มเทขายพันธบัตรอเมริกาเช่นกัน ทั้งๆ ที่ญี่ปุ่นนั้นเป็นฝ่ายขวาจัดที่อยู่ในแคมป์เดียวกับอเมริกาที่ต้องการปิดล้อมจีนเช่นกัน


อันดับสอง คือประเทศจีน ถือครองอยู่ 846,000 ล้านดอลลาร์ ที่สำคัญคือจีนเทขายพันธบัตรอเมริกาออกมาโดยตลอด และก็มีสัดส่วนการถือครองพันธบัตรที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปีของจีน นี่อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ต้องเดินทางไปจีนด้วยท่าทางการอ่อนน้อมค้อมหัว แต่กลับไม่ได้พบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และนายเฮนรี คิสซินเจอร์ ต้องใช้สถานภาพเพื่อนเก่า ถ่อสังขารมายังปักกิ่ง


“ผมเชื่อว่ามีการพูดคุยอย่างลับๆ ส่วนตัว ขอให้สี จิ้นผิง อย่าเพิ่งละทิ้งพันธบัตรอเมริกา แน่นอนที่สุด” นายสนธิ กล่าว

มหาอำนาจทุนนิยม ขอให้คอมมิวนิสต์ช่วย

เป็นเรื่องตลกที่มหาอำนาจทุนนิยมอย่างสหรัฐอเมริกากลับมาขอให้คอมมิวนิสต์จีนช่วย นายคิสซินเจอร์ เป็นคนที่มีบทบาทสำคัญที่ทำให้อเมริกามีชัยชนะเหนือสหภาพโซเวียตในสงครามเย็น หรือกล่าวอย่างรวบรัดก็คือ ช่วยให้ทุนนิยมชนะคอมมิวนิสต์ แต่ความเป็นจริงวันนี้ อเมริกา เจ้าแห่งทุนนิยม กำลังพ่ายแพ้สงครามทุนนิยม และขอให้คอมมิวนิสต์อย่างจีนช่วยเหลือ

นายคิสซินเจอร์ บอกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับจีนตอนนี้อยู่ในช่วงสามแพร่ง เหมือนกับตอนที่ตัวเขาและประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ตัดสินใจที่จะสถาปนาความสัมพันธ์กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนเมื่อ 51 ปีก่อน เขายังบอกอีกว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอเมริกากับจีนจะส่งผลต่อสันติภาพและความรุ่งเรืองของทั้งโลก

คำพูดของคิสซินเจอร์ เป็นเรื่องจริง ความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดระหว่างอเมริกากับจีน ไม่เพียงทำให้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้รับผลกระทบ แต่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เมื่อช้างสารชนกันหญ้าแพรกก็แหลกราญ เป็นคำพังเพยโบราณซึ่งใช้ได้ตลอดเวลา


ที่ชัดเจนที่สุดคือการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการระบาดของโควิด-19 ที่โลกเผชิญความชะงักงัน ถ้าเป็นเช่นนี้ต่อไป ทั่วทั้งโลกจะพบกับความยากลำบากอย่างแน่นอน เพราะทั้งสหรัฐฯ และจีน เป็นคู่ค้ารายสำคัญของทุกประเทศทั่วโลก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากประเทศไทย คือ จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มายังประเทศไทยน้อยกว่าเป้าหมายอย่างมาก สาเหตุหนึ่งก็คือเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้า เพราะเผชิญกับอุปสรรคจากมาตรการตั้งกำแพงภาษีสินค้าส่งออกและกีดกันเทคโนโลยีของอเมริกา เมื่อเศรษฐกิจประเทศจีนยังมีความไม่แน่นอน ชาวจีนก็เลยลังเลที่จะใช้เงินเพื่อเดินทางเที่ยวต่างประเทศ

รัฐบาลจีนเคยประกาศว่า โลกนี้ใหญ่เพียงพอที่จะให้อเมริกาและจีนอยู่ร่วมกัน จีนไม่เคยคิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบต่างๆ ของอเมริกา และไม่เคยคิดจะช่วงชิงความเป็นเจ้ากับอเมริกา แต่อเมริกากลับมาปิดล้อมจีนในทุกทาง และนับวันยิ่งหนักข้อมากขึ้น

“อเมริกา” ลูกหนี้ผู้โอหัง

การมาเยือนประเทศจีนของนายเฮนรี คิสซินเจอร์ ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากจีน แต่ว่าจีนจะช่วยเหลือเพื่อนเก่ารายนี้หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับท่าทีของอเมริกา ประเทศบ้านเกิดของนายเฮนรี คิสซินเจอร์ เพราะก่อนหน้านี้นายแอนโทนี บลิงเคน ได้พบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แต่ยังไม่ทันก้าวเท้าออกจากเมืองจีน นายโจ ไบเดน ก็หลุดปากตำหนิติเตียน หรือด่าผู้นำจีนว่าเป็นเผด็จการ


ล่าสุด นายแอนโทนี บลิงเคน ยังกระทำตนเป็นลูกหนี้ผู้ยะโสโอหัง เขาให้สัมภาษณ์กับ CNN ว่า เราจะยังคงพูดและทำสิ่งที่จีนไม่ชอบต่อไป เหมือนกับฝ่ายจีนก็ยังพูดและทำสิ่งที่พวกเราไม่ชอบเหมือนกัน

“ด้วยท่าทีที่โอหังมมังการ หน้าไหว้หลังหลอก ของเหล่าผู้นำสหรัฐฯ ตั้งแต่นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดี เรื่อยไปจนถึงนายบลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เช่นนี้ แม้ว่าใครก็ตามที่ไหว้วานเฮนรี คิสซินเจอร์ ให้ถ่อสังขาร เสี่ยงชีวิต ทรมานคนแก่ ไปพบกับผู้นำจีน ณ กรุงปักกิ่ง ก็คงจะปวดหัวไม่น้อย เพราะสุดท้ายหนีไม่พ้นที่จะต้องคว้าน้ำเหลว เสียแรง เสียเวลาไปเปล่าๆ เพราะว่าคนที่มีอำนาจอยู่ในปัจจุบันนี้ ที่ทำเนียบขาว ล้วนแล้วแต่เป็นคนที่ปากเสีย ที่คนแต้จิ๋วเขาเรียกว่า พวกเฉาฉุ่ย” นายสนธิกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น