ไทยพีบีเอส จับมือ Documentary Club จัดฉายสารคดี 3 เรื่อง 3 ประเด็นปัญหาความเหลื่อมล้ำ ใน “VIPA Film Festival เทศกาลภาพยนตร์สะท้อนความเหลื่อมล้ำ” พร้อมฟังเสวนาผ่านวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ร่วมวิเคราะห์และชวนตั้งคำถามถึงชีวิตคนทำงานในโลกยุคใหม่, บทบาทมนุษย์แม่ และความเป็นอยู่ในเมืองใหญ่
นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส กล่าวในกิจกรรม VIPA Film Festival เทศกาลภาพยนตร์สะท้อนความเหลื่อมล้ำ ว่า VIPA แพลตฟอร์มวิดีโอสตรีมมิงของไทยพีบีเอส สื่อสาธารณะของไทย เปิดตัวครั้งแรกปี 2563 ทำหน้าที่ในการนำเสนอสาระบันเทิงหลากหลาย ทั้งละคร การ์ตูน และสารคดีทั่วทุกมุมโลก รวม 295 เรื่อง 2,510 วิดีโอ แบ่งเป็น 7 หมวดรายการ โดยมีรายการเกี่ยวกับสารคดีมากที่สุด และติด 5 อันดับแรกที่มีผู้นิยมเข้าชมมากที่สุด ทั้งสารคดีไทย ต่างประเทศ และแอนิเมชัน
ในปีที่ผ่านมา VIPA ได้จัดกิจกรรมเปิดประสบการณ์เวที Exclusive Talk ครั้งแรกในรูปแบบกิจกรรม VIPA ON STAGE ในหัวข้อ “สารคดีไทย เล่นใหญ่ได้นะวิ (VIPA)” เปิดพื้นที่ให้กับผู้สร้างสรรค์ผลงานที่มีฝีมือได้ผลิตเนื้อหาดี ๆ ออกสู่สายตาประชาชน โดยใช้พื้นที่ของ VIPA ซึ่งเป็นพื้นที่ของสื่อสาธารณะ
สำหรับปีนี้ VIPA ร่วมกับ Documentary Club ชุมชนสำหรับคนรักหนังสารคดี คัดสรรสารคดีคุณภาพจำนวน 3 เรื่อง ที่มีเนื้อหาสอดคล้องวาระหลัก “ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างสังคมเป็นธรรม” ที่ไทยพีบีเอสได้ประกาศเป็นวาระขับเคลื่อนนโยบายต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2565 - 2566 ได้แก่ After work, May I Quit Being a Mom , Push จัดฉายในกิจกรรม VIPA Film Fest ต่อเนื่องกัน 3 วัน เพื่อเปิดพื้นที่ขยายประเด็นจากในสารคดีภายใต้บริบทของสังคมไทย การขบคิด พูดคุย มองหาทางเลือก ช่วยให้เห็นทางออกของปัญหา
นายอนุพงษ์ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ด้านเทคโนโลยีการกระจายสื่อ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “โลกของ Streaming Platform กับพื้นที่สื่อสาธารณะเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ” สรุปใจความว่า ไทยพีบีเอสมีพันธกิจที่ต้องให้บริการคนทุกกลุ่มในสังคม การลดความเหลื่อมล้ำมองได้ 2 มิติ คือ ลดความเหลื่อมล้ำโดยสร้างโอกาสที่ทำให้ทุกคนเข้าถึง แอปพลิเคชัน VIPA หรือ เว็บไซต์ VIPA.me ไม่ว่าจะมีปัญหาด้านการได้ยิน พิการทางการเห็น ผู้ชม VIPA สามารถเข้าถึงคอนเทนต์ได้อย่างเท่าเทียม ทั้งคำบรรยายแทนเสียง (CC: Close Caption) เสียงบรรยายภาพ (AD: Audio Description) และ Big Sign หรือภาษามือใหญ่เต็มจอ ซึ่งปัจจุบันมีมากถึง 1,151 คอนเทนต์ ในมิติของการคัดสรรเนื้อหามีหมวดเปิดประตูสู่ความเหลื่อมล้ำ ไม่เฉพาะหนังสารคดี 3 เรื่องที่นำมาฉายในเทศกาลฯ เท่านั้น VIPA มีสารคดีหลากหลายพูดถึงความเหลื่อมล้ำในสังคม เช่น สารคดีชีวิตในเมืองแห่งความหวัง ในรายการสามัญชนคนไทย ที่เล่าเรื่องเด็กที่เดินเตร่ขายของที่ระลึก ไม่ได้เรียนหนังสือ ขาดโอกาส กระตุ้นให้สังคมตระหนัก มองเห็นเขา และเข้าไปจัดการปัญหาเพื่อสังคมที่ดีขึ้น หรือ สารคดี คนจนเมือง ที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำ ชีวิตในช่วงโควิด-19 ระบาด หรือ สารคดีเด็กแห่งโลกใบนี้ เปรโตร...เด็กน้อยคนงานแห่งเมืองโบลิเวีย
ทั้งนี้ สามารถติดตามสารคดีทั้ง 3 เรื่อง After Work , May I quit being a Mom และ Push ได้ทาง @VIPA.me และแอปพลิเคชัน VIPA หรือฟังเสวนาย้อนหลัง หัวข้อ “ความทุกข์ของคนทำงาน ในระบบทุนนิยม” http://youtu.be/miFaWWa31p0 หัวข้อ “วิถีมนุษย์แม่ ดิ้นรน ต่อสู้เพื่อลูก” http://youtu.be/QsLS7W2wzig หัวข้อ “ความหวังอยากมีบ้าน” http://youtu.be/BaEGYeMg5XI หรือติดตามความเหลื่อนไหวได้ที่ Facebook @VIPAdotMe