xs
xsm
sm
md
lg

BRICS เดินหน้าสร้างสกุลเงินใหม่สู้ดอลลาร์ ลีลาชะชะช่าของแขกอินเดียไม่กระทบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สนธิ” เผยกลุ่ม BRICS เร่งสร้างเงินสกุลใหม่ ที่จะมีอิทธิพลต่อการค้าโลกแทนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยจะเริ่มคุยกันเดือนหน้าที่แอฟริกาใต้ คาดออกมาในรูปเงินดิจิทัล มีองค์กรดูแล อิงตระกร้าเงินสกุลหลักเดิม ขณะที่อินเดีย 1 ในสมาชิกแสดงท่าทีไม่เอาด้วย แต่ไม่ส่งผลกระทบ เพราะอีก 4 ประเทศแกนนำหลักจะเกินหน้าต่อ และมีอีกหลายประเทศที่กำลังขอเข้าเป็นสมาชิกให้การสนับสนุน



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงการจับมือของกลุ่ม BRICS ประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และอาฟริกาใต้ เพื่อสร้างระเบียบโลกใหม่ขึ้นมาท้าทายการผูกขาดของโลกแบบขั้วอำนาจเดียวที่นำโดยสหรัฐอเมริกามานานหลายปี

มีความคาดหมายว่า BRICS จะก้าวขึ้นมามีบทบาทสูงเกี่ยวกับการค้าโลก นั่นย่อมทำให้สกุลเงินที่ถูกนำมาใช้เพื่อค้าขายในกลุ่มประเทศเหล่านี้จะกลายเป็นเงินสกุลหลักที่มีบทบาทอย่างยิ่งในวงการค้าของโลก


สิบกว่าปีที่แล้ว ในเวลานั้นมีการทำนายว่าศูนย์กลางของโลกการค้าของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และเส้นทางสายไหมเส้นใหม่ ก็คือโครงการ "1 แถบ 1 เส้นทาง" ของ สี จิ้นผิง นั้นอยู่ที่ประเทศจีน บทบาทของประเทศเหล่านี้กำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่จีนเท่านั้นที่กระโดดไปทำธุรกิจที่ทวีปแอฟริกา เพื่อนสมาชิกในกลุ่ม BRICS อย่างบริษัทอินเดีย กับบราซิล ก็บุกเข้าไปในทวีปแอฟริกาเช่นกัน

ที่สำคัญ กิจกรรมการค้าและการลงทุนที่เพิ่มขึ้นมหาศาลในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่าง BRICS และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่นี้ จริงๆ แล้วไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเงินสกุลหลักของโลกที่มีอยู่เดิม ไม่ว่าจะเป็นดอลลาร์สหรัฐ หรือเงินยูโรของยุโรป หรือเงินเยนของญี่ปุ่น แต่อย่างใด ทำให้ตั้งแต่ตอนนั้นกลุ่มประเทศเหล่านี้เริ่มหันมาคิดกันว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะผลักดันให้มีเงินหยวน (จีน) รูปี (อินเดีย) หรือเงินเรอัล (บราซิล) ให้แพร่หลายกว่านี้ เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องต้นทุนการแลกเปลี่ยน


นับตั้งแต่แนวความคิดนี้ ประชุมกันครั้งแรกมาจนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 17 ปีแล้ว กลุ่มประเทศ BRICS มีบทบาทเพิ่มสูง ทวีความสำคัญอย่างมากต่อเวทีโลกในปัจจุบัน

อะไรบ้างที่ประเทศทางโลกตะวันตก หรือกลุ่มระเบียบโลกเก่า กลัวมาก เพราะว่าประเทศสมาชิกทั้ง 5 ของ BRICS มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ค่อนข้างสูงมาก

ล่าสุด แม้สื่อตะวันตกจะตีข่าวกันโครมๆ ว่าเศรษฐกิจจีนทำท่าจะแย่ แต่ในไตรมาสที่สองของปี 2566 (เมษายน-มิถุนายน 2566) เศรษฐกิจจีนโตถึง 6.3 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบปีต่อปี แทบจะเป็นอันดับแรกหนึ่งโลก แต่ยังบอกว่าเศรษฐกิจเขาย่ำแย่

กลุ่ม BRICS มีประชากรรวมกันแล้ว 42 เปอร์เซ็นต์ ของประชากรโลก ประมาณ 3,200 ล้านคน จากประชากรโลกที่มีประมาณ 7,000 ล้านคน

ปี 2564 BRICS มี GDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศรวมกันคิดเป็น 26 เปอร์เซ็นต์ หรือ 1 ใน 4 ของ GDP ของโลก ราวๆ 24 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ



ในปี 2563 มีมูลค่าการค้า ทั้งนำเข้า-ส่งออก คิดเป็นสัดส่วนกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ แต่พอมาถึง 2564 จาก 3 ล้านล้านดอลลาร์ กลายเป็น 24 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

ในปี 2564 สมาชิก BRICS มีทุนสำรองระหว่างประเทศรวมกันคิดเป็นมูลค่าเกือบ 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

จากสถิติข้างต้นจะเห็นได้ว่า นานวันเข้า เมื่อ BRICS ขยายใหญ่โตขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง GDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ แซงหน้ากลุ่มประเทศ G7 ไปไกลแล้ว

ในปี 2566 GDP และ PPP กลุ่ม BRICS อยู่ที่ 63.91 ล้านล้านดอลลาร์ จาก 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ ขึ้นมาเป็น 36 เปอร์เซ็นต์ ของโลก กลุ่ม G7 นั้นมีอยู่แค่ 27 เปอร์เซ็นต์ ของโลก หรือ 48.18 ล้านล้านเหรียญ ต่างจากกลุ่ม BRICS ถึง 9 เปอร์เซ็นต์ 


เมื่อเกิดสงครามในยูเครน โดยเฉพาะกุมภาพันธ์ ปี 2565 กลุ่ม G7 รวมนาโต ได้ดำเนินการแซงก์ชัน คว่ำบาตรรัสเซียทุกวิถีทาง แล้วก็มาตรการคว่ำบาตรที่สุดลิ่มทิ่มประตู ไม่เคยมีประเทศไหนถูกคว่ำบาตรมากเท่ารัสเซีย ในประวัติศาสตร์โลกมนุษย์เลย มีการสั่งการให้ดำเนินการยึดทุนสำรอง ยึดทรัพย์สินของรัฐบาล นักธุรกิจ เศรษฐีรัสเซียในต่างประเทศ ตัดระบบการเงินรัสเซียออกจากระบบ SWIFT 

ด้วยเหตุนี้ก็เลยมีการสร้างเงินสกุลทางเลือกขึ้นมาใช้ทดแทนเงินดอลลาร์อเมริกา ในช่วงหลังนั้นได้มีเสียงเรียกร้องมากขึ้น และแนวทางการสร้างเงินสกุล BRICS มาทดแทนเงินดอลลาร์อเมริกาก็เริ่มดังขึ้นๆ

เมื่อบทบาทกลุ่ม BRICS มีความสำคัญเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ท่ามกลางกระแสของความเคลื่อนไหวเพื่อยกเลิกการใช้ดอลลาร์ ที่ภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า De-Dollarization นำโดยกลุ่ม BRICS และประเทศต่างๆ ที่เห็นความเสี่ยงในการยึดครองดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่อเมริกาใช้เงินดอลลาร์ของตัวเองเป็นอาวุธ อเมริกาจะใช้เงินดอลลาร์เป็นอาวุธโจมตีประเทศอื่นๆ ที่ไม่อยู่ในโอวาทของตัวเอง

เบื้องหน้าเบื้องหลัง เป็นข้อเท็จจริงที่เขารู้กัน การปฏิวัติที่ลิเบีย การฆ่านายมูอัมมาร์ กัดดาฟี เหตุผลเพราะว่านายกัดดาฟี เป็นคนริเริ่มคนแรกในประเทศทางอาหรับที่จะให้ใช้ทองคำเป็นฐานแทนดอลลาร์ในการซื้อขายน้ำมัน อเมริกาไม่ยอม ยุโรปไม่ยอม ก็เลยสร้างปฏิวัติขึ้นมาแล้วก็ฆ่านายกัดดาฟี

BRICS เล็งตั้งสกุลเงินร่วม


สิงหาคม 2566 นี้ ผู้นำกลุ่ม BRICS จำนวน 5 ประเทศ ประชุมซัมมิตที่ประเทศแอฟริกาใต้ มีหัวข้อที่จะพูดคุยตกลงกัน 3 เรื่อง คือ หนึ่ง เขาจะขยายจำนวนสมาชิกกลุ่ม BRICS สอง การใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อค้าขายกันเอง โดยไม่ใช้เงินดอลลาร์ และ สาม การใช้เงินสกุลร่วม (Common Currency) ของ BRICS ที่กำลังจะคิดขึ้นมาว่าจะใช้อะไรดี จะเป็นรากฐานที่สำคัญที่สุดในการสร้างระเบียบเศรษฐกิจและระเบียบการเงินใหม่ของโลก

ข้อที่หนึ่งนั้น มีสมาชิกใหม่ขององค์กรเยอะมากที่สนใจเข้ามาร่วม นายเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เปิดเผยว่า มีอยู่ 12 ประเทศ ที่ต้องการเข้าร่วม BRICS เบื้องต้น เช่น แอลจีเรีย อาร์เจนตินา บาห์เรน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย อิหร่าน อียิปต์ เม็กซิโก ไนจีเรีย ปากีสถาน ซูดาน ซีเรีย ตุรกี ยูเออี และ เวเนซุเอลา

ประเด็นที่สอง จะมีการพูดคุยกันในการประชุมซัมมิตของ BRICS เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อค้าขาย ทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างกันของกลุ่มและกับประเทศนอกกลุ่มมากขึ้น เช่น ให้ใช้เงินรูเบิลของรัสเซีย ใช้เงินหยวนของจีน เงินเรอัลของบราซิล เงินรูปีของอินเดีย หรือเงินแรนด์ ของแอฟริกาใต้ ในการทำธุรกรรม การค้าขาย โดยไม่ต้องใช้ดอลลาร์สหรัฐ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเหมือนอย่างในช่วงที่ผ่านมา

ทั้งหมดนี้ทำเพื่อจะออกจากอิทธิพลของระบบดอลลาร์อเมริกา ซึ่งนอกจากทำให้มีความยุ่งยากแล้ว แลกเปลี่ยนสกุลเงินแล้ว แทนที่จะเอาเงินท้องถิ่นแลกกันเอง ยังเพิ่มค่าใช้จ่ายอีก

ประเด็นที่สาม ผู้นำ BRICS จะหารือลงในรายละเอียดเพิ่มเติมของแผนการสร้างเงินสกุลร่วมของกลุ่ม BRICS หลังจากที่มีการตกลงว่าจะสร้างเงินสกุลร่วมในการประชุมซัมมิตของจีน ปีที่แล้ว


เบื้องต้นเงินสกุลร่วมของ BRICS นั้นจะเป็นเงินดิจิทัล อาจจะมีระบบบล็อกเชน หรือระบบชำระอื่นๆ รองรับเพื่ออำนวยความสะดวกในการค้า หรือการชำระเงินระหว่างประเทศสมาชิก และหันหลังให้กับระบบดอลลาร์ที่ผูกขาดเป็นเงินสกุลหลักของโลกมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง

มันสมองที่อยู่เบื้องหลังเงินสกุลร่วม BRICS ในบรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก ในปัจจุบัน ได้รับการยอมรับว่าโดดเด่นที่สุด คือ นายเซอร์เก กลาซเยฟ (Sergei Glazyev) ชื่อของนายกลาซเยฟ ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง เขาเป็นชาวรัสเซีย และเป็นที่ปรึกษาของประธานาธิบดีปูติน ในการวางแผนทางการเงินและเศรษฐกิจ เพื่อสลัดอิทธิพลของโลกดอลลาร์


นายกลาซเยฟ อธิบายถึงการสร้างเงินสกุลร่วมของ BRICS มีขั้นตอนดังต่อไปนี้ เฟสแรก มีการเปลี่ยนถ่ายออกจากอิทธิพลของดอลลาร์อเมริกา โดยเรากำลังเห็นประเทศในกลุ่ม BRICS และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ หันมาใช้เงินสกุลของตัวเองในการค้าขาย หรือทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างกันมากขึ้น โดยจะมีกลไกระบบ Clearing ทางการเงิน การทำการ Swap ทางการเงินในรูปแบบทวิภาคี ประเทศกับประเทศ หรือทวิภาคีควบคู่ไปด้วย กระบวนการนี้เกือบเสร็จสมบูรณ์แล้ว

หลังจากที่รัสเซียถูกยุโรปและอเมริกายึดเงินทุนสำรองระหว่างประเทศไปถึง 300,000 ล้านดอลลาร์ ประเทศต่างๆ ตอนนี้มีแรงจูงใจน้อยลงในการถือครองเงินดอลลาร์ ยูโร ปอนด์ หรือ เยน เพราะเป็นสกุลเงินของมหาอำนาจตะวันตก เขากลัวกันว่าไม่รู้จะถูกยึดอีกเมื่อไร ถ้าทำอะไร ถ้าไอแรงๆ หน่อย โกรธปั๊บ จะยึดเงินเลย


เฟสที่สอง เขาก็จะสร้างกลไกทางด้านราคาใหม่ ที่ไม่เกี่ยวกับ US Dollar เลย ในตอนนี้ราคาของสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่างๆ ถูกกำหนดมาโดยตลาดรองต่างๆ ที่ quote ราคาเป็น US Dollar แม้ว่าการกำหนดราคาใหม่โดยใช้เงินสกุลท้องถิ่นจะมีค่าโสหุ้ยสูง แต่มันคุ้มค่ามากกว่าการพึ่งพาดอลลาร์ ซึ่งดอลลาร์เป็นเงินพิมพ์กระดาษที่พิมพ์จากเครื่องจักร ไม่มีทรัพย์สินอะไรหนุนหลัง รวมทั้งเงินยูโร เงินปอนด์ และ เงินเยน ไม่เหมือนกับเงินหยวน หรือเงินรูเบิลของรัสเซีย ที่มีทองคำหนุนหลัง รัสเซียยังมีพลังงานหนุนหลัง จีนยังมีอุตสาหกรรมการส่งออกทั่วโลกมาหนุนหลัง


อย่างไรก็ตาม เงินหยวนจะไม่ทำหน้าที่เป็นเงินสกุลหลักในโลกเหมือนดอลลาร์ เพราะว่าจีนยังคงไม่เปิดเสรีทางการเงิน เงินหยวนยังไม่สามารถแปลงค่าเป็นเงินสกุลอื่นอย่างเสรี เพราะรัฐบาลจีนยังควบคุมเงินนอกไม่ให้เข้าถึงตลาดทุนจีน เพื่อป้องกันการเก็งกำไรทางการเงิน


เฟสที่สาม ก็จะมีการสร้างเงินดิจิทัลใหม่ผ่านข้อตกลงของประเทศ BRICS เพื่อการชำระเงิน ทำให้เงินสกุลร่วมดิจิทัลของ BRICS จะเป็นเงินที่ใช้ในระบบการชำระเงิน หรืออาจจะเป็นเงินสำรองก็ได้ในอนาคต

การสร้างเงินสกุลร่วมเพื่อใช้ในระบบการชำระเงิน เขาจะอ้างอิงจากตะกร้าเงินของกลุ่ม BRICS ซึ่งแต่ละประเทศสมาชิกจะลงขันเอาเงินสกุลของตัวเองมากองรวมกันเป็นเงินกองทุน โดยที่ประเทศอื่นๆ อาจจะมาร่วมทีหลังก็ได้ จะมีการกำหนดสัดส่วนหรือน้ำหนักเงินตราของแต่ละประเทศที่จะใส่เข้าตะกร้าเงิน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดขึ้นมา เช่น ขนาด GDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศนั้น ส่วนแบ่งการค้าระหว่างประเทศ ขนาดประชากร หรือขนาดดินแดนของประเทศ แน่นอน เงินหยวนของจีนจะมีบทบาทสำคัญที่สุด เพราะว่าจีนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดใน BRICS พัฒนามากที่สุด

นอกจากนั้นแล้ว ตะกร้าของเงินสกุลร่วมของกลุ่ม BRICS จะมีดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่กำหนดโดยตลาดรองที่เป็นที่ยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นทองคำ โลหะที่มีค่า เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ธัญพืช หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ คอยหนุนหลังอยู่ ไม่เหมือนอเมริกาที่มีแค่แท่นพิมพ์แท่นเดียว หรือเงินยูโรก็เช่นกัน เงินเยนก็เช่นกัน เงินปอนด์ก็เช่นกัน ไม่มีอะไรหนุนหลังเลยแม้แต่นิดเดียว มันก็คือกระดาษ แล้วไปกำหนดราคาโดยประเทศตะวันตก แล้วทำให้ประเทศที่นอกเหนือจากประเทศตะวันตกแล้ว ต้องมายอมรับราคานี้

รูปแบบการบริหารจัดการเงินสกุลร่วม BRICS จะมีความจำเป็นในการสร้างสถาบันการเงินที่จะทำหน้าที่คล้ายๆ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ที่มีเงินในรูปบัญชี Special Drawing Rights (SDR) ใช้อยู่ในปัจจุบัน เงิน SDR นี้จะอิงตะกร้าเงินที่ประกอบด้วย ดอลลาร์ ยูโร หยวน เยน และ ปอนด์ ด้วยเหตุนี้ BRICS จะต้องตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่เพื่อดูแลการบริหารจัดการเงินสกุลร่วม

อย่างไรก็ตาม BRICS จะต้องมีการยกเครื่องเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ถ้าหากต้องการจะสร้างระบบการเงินของโลกใหม่ ต้องทยอยขายทิ้งดอลลาร์ ยูโร ปอนด์ และ เยน แล้วหันมาถือเงินสกุลท้องถิ่นที่เป็นคู่ค้ากันและทองคำแทน


ล่าสุด จีนทยอยขายพันธบัตรดอลลาร์สหรัฐทิ้งไปแล้ว ตัวเลขล่าสุดที่ออกมาเผยแพร่ในเดือนเมษายน จีนลดการยึดครองพันธบัตรดอลลาร์ จาก 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ กลายเป็นแค่ 8 แสนกว่าล้านดอลลาร์ เท่านั้น

อินเดียเต้นชะชะช่า เมินเข้าร่วมสกุลเงินใหม่

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นในระยะเวลาข้ามคืน จะต้องมีอุปสรรคบ้าง ตัวอย่างเช่น นายไจแชงการ์ (Subrahmanyam Jaishankar) รัฐมนตรีต่างประเทศอินเดีย ที่แม้จะมีภรรยาเป็นคนญี่ปุ่น แต่เป็นคนที่มีแนวความคิดชาตินิยมมาก

นายไจแชงการ์ ออกมาปฏิเสธว่า จะยังไม่มีเงินสกุล BRICS ออกมาเร็วๆ นี้ อีกทั้งยังไม่มีแผนดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย เนื่องจากชาติสมาชิกต่างๆ ต้องการจะสร้างความเข้มแข็งในเงินสกุลของตัวเอง


อย่างไรก็ตาม การออกมาปฏิเสธเงินสกุล BRICS ของทางฝั่งอินเดียนั้น ไม่ได้ทำให้เรื่องนี้ถูกล้มเลิกไป เพราะแกนนำหลักของ BRICS นั้นมี 4 ชาติที่เหลือ คือ บราซิล รัสเซีย จีน และแอฟริกาใต้


“ผมเชื่อว่าเขายังเดินหน้าต่อ ยกตัวอย่างเช่น ปี 2565 ปีที่แล้ว ในการเลือกตั้งที่บราซิล ายลูอิส อีนาซียู ลูลา ดา ซิลวา ชนะการเลือกตั้ง ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งหนึ่ง นายลูลา เป็นผู้ที่สนับสนุนกลุ่ม BRICS มาอย่างยาวนาน ก่อนหน้านี้พยายามลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ของบราซิล พยายามผลักดันให้กลุ่ม BRICS ลดการผูกกับค่าเงินดอลลาร์ และพูดถึงการสร้างเงินสกุลใหม่ที่มีลักษณะคล้ายๆ ยูโรด้วย” นายสนธิ กล่าว


นอกเหนือจากจีน รัสเซีย บราซิล และแอฟริกาใต้ ที่ต้องการจะผลักดันเรื่องเงินสกุล BRICS แล้ว ถึงแม้ว่าอินเดียจะสับขาหลอกออกลีลาเต้นพลิ้วเหมือนหนังอินเดีย แต่ในความเป็นจริงแล้วมีประเทศน้อยใหญ่อีก 41 ประเทศ ที่สนับสนุนเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ อินโดนีเซีย อิหร่าน เบลารุส หรือแม้กระทั่งบังกลาเทศ

เพราะฉะนั้นทิศทางในการทิ้งเงินดอลลาร์สหรัฐ นั้น จะยังคงเดินหน้าอย่างแน่นอนที่สุด ส่วนสกุลเงินตราของโลกใหม่ที่เกิดขึ้น อาจจะเป็นเงิน BRICS ซึ่งก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้มากที่สุด ถึงแม้ว่าอินเดียซึ่งเป็นหนึ่งในชาติสมาชิก BRICS จะเอาหรือไม่เอาก็ตาม เพราะประเทศที่สำคัญที่สุดที่จะผลักดันเรื่องนี้ไม่ใช่อินเดีย แต่เป็นจีน รัสเซีย และอีกประเทศหนึ่งที่สำคัญคือ ซาอุดีอาระเบีย ผู้ผลิตน้ำมันระดับหัวแถว และผู้ส่งออกน้ำมันอันดับหนึ่งของโลก


กำลังโหลดความคิดเห็น