สงครามยูเครนใกล้จบแล้ว เมื่อการตีโต้ชิงพื้นที่คืนจากรัสเซียล้มเหลว สหรัฐฯ ไม่มีทางเลือก ต้องส่ง “ระเบิดพวง” ไปให้ แม้เป็นอาวุธต้องห้าม และถูกคัดค้านจากชาติตะวันตกด้วยกัน ขณะนาโตก็ยังไม่รับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก ขณะเดียวกันได้เกิดความขัดแย้งคู่ใหม่เมื่อตุรกีหักหลังรัสเซียไปเข้ากับฝ่ายตะวันตก หลังโดน “ไบเดน” ล็อบบี้และรับปากว่าจะขยายสินเชื่อ IMF และอนุมัติขายเอฟ-16 ให้ ส่อเกิดสงครามบทใหม่ที่สร้างความหายนะให้ตุรกี
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงสงครามในยูเครนที่ผ่านมาแล้วประมาณ 500 วันว่า ใกล้จะถึงจุดแตกหักแล้ว สถานการณ์สงครามที่สำคัญที่สุดทางภูมิรัฐศาสตร์ในรอบหลายทศวรรษที่อเมริกา และนาโต กับชาติตะวันตก หนุนหลังยูเครนทำสงครามกับรัสเซีย ชาติตะวันตกทุกชาติ รวมไปถึงญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ที่ฝักใฝ่ตะวันตก ทั้งหมดรวมหัวกันเพื่อสู้กับรัสเซียเพียงคนเดียว แต่ตอนนี้ทหารยูเครน หรือกลุ่มนายเซเลนสกี ซึ่งเป็นความหวังของพวกตะวันตกที่จะโค่นรัสเซียได้ ให้ทั้งเงิน ให้ทั้งอาวุธ ให้ทุกอย่าง แต่ตอนนี้กลายเป็นความอ่อนแอและความสิ้นหวัง
ยูเครนมีปฏิบัติการตีโต้กลับ ที่เรียกว่า COUNTER OFFENSIVE ปรากฏว่าพังพินาศหมดทุกอย่าง อาวุธยุทโธปกรณ์ถูกทำลายจนแทบจะไม่เหลืออะไร ทหารที่ไปฝึกที่ต่างประเทศทางตะวันตก ไปฝึกที่อังกฤษ ไปฝึกที่อเมริกา เยอรมนี ที่โปแลนด์ ตายเป็นเบือ จากประมาณ 30,000-40,000 คน ตอนนี้เหลือหมื่นกว่าคน ทหารรับจ้างที่รับจ้างเข้าไปรบในยูเครน เป็นตัวแทนตะวันตก ทิ้งอาวุธปืน ไม่สนใจรายได้ หนีกลับประเทศตัวเอง เพราะไม่อยากให้ตัวเองกลายเป็นศพ
พูดได้เลยว่ายูเครนแพ้แล้ว รัสเซียสกัดทุกจุดในสมรภูมิ รัฐมนตรีกลาโหมรัสเซีย เซียร์เกย์ ชอยกู (Sergei Shoigu) บอกว่าทหารหน่วยรบของยูเครนตายไปแล้ว 26,000 คน ยุทโธปกรณ์ 3,000 ชิ้น
เสนาธิการชาติตะวันตกประเมินหลังประชุมนาโตที่ลิทัวเนีย ว่า การปฏิบัติการของยูเครน COUNTER OFFENSIVE ถ้ามีการทำต่อไปจะสูญเสียทหารเพิ่มอีก 200,000 คน ผู้บัญชาการการรบของยูเครนก็เลยตัดสินใจหยุดชั่วคราวเพื่อทบทวนกลยุทธ์การรุกกลับของยูเครนที่ล้มเหลว
วันที่ 15 กรกฎาคม 2566 หนังสือพิมพ์ NEW YORK TIMES รายงานว่า น่าตกใจที่กองทัพยูเครนสูญเสียกำลังพลแนวหน้า ยุทโธปกรณ์หนักมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์ ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการรบ และในสัปดาห์ต่อมา แม้อัตราการสูญเสียจะลดเหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่สถานการณ์กลับแย่ลงๆ
NEW YORK TIMES รายงานว่า การปฏิบัติการโจมตีตอบโต้กลับของยูเครนยึดพื้นที่ได้ 8 กิโลเมตร เท่านั้น จาก 86 กิโลเมตร ตามที่ได้วางเส้นทางเอาไว้ เรื่องนี้ทำให้นายเซเลนสกี ต้องออกมายอมรับว่ามีการหยุดปฏิบัติการรบชั่วคราว
ดร.ไมค์ มาร์ติน นักวิชาการอาวุโสในภาควิชาสงครามศึกษา มหาวิทยาลัยคิงส์คอลเลจ ลอนดอน ให้สัมภาษณ์สื่อ DW News ของเยอรมนี วิเคราะห์ยุทธวิธีการรุกตอบโต้ของยูเครนไว้ว่า ยูเครนประเมินความแข็งแกร่งและแนวป้องกันของรัสเซียผิดพลาดอย่างมหาศาล เลยต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ เป็นการสอดแนมที่กำหนดตำแหน่งที่ตั้งข้าศึกก่อนจะโจมตีทำลายด้วยปืนใหญ่ ซึ่งอาจจะดูว่ารุกคืบค่อนข้างช้า
วันศุกร์ที่ 14 กรกฎาคม 2566 หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน เดินทางกลับจากการร่วมประชุมสุดยอดผู้นำนาโตที่ประเทศลิทัวเนีย เขาประกาศออกมาอย่างอหังการอีกแล้วว่า นาโตจะยืนข้างยูเครนตราบเท่าที่ยูเครนต้องการความช่วยเหลือ
ทั้งๆ ที่มตินาโตที่ลิทัวเนีย ระบุไว้ชัดเจนว่า ที่ประชุมไม่พร้อมที่จะรับยูเครนเข้ามาเป็นสมาชิก ทำให้เซเลนสกี ควันออกหู วิพากษ์วิจารณ์มตินี้ว่าโง่และไร้สาระ เขาต้องการกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน เพราะเซเลนสกี ต้องการให้ยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนาโตทันที เพื่อที่จะให้เข้าสู่มาตรา 5 ของสนธิสัญญานาโต คือ ถ้าประเทศใดที่เป็นสมาชิกนาโต ถูกรุกราน ก็เปรียบเสมือนกับรุกรานทุกประเทศที่เป็นสมาชิกนาโต
ขณะที่นายเจก ซัลลิแวน (Jake Sullivan) ที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติอเมริกา ก็ออกมาโต้แย้งและพูดทวงบุญคุณทันที ว่า ถ้าหากรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก มันจะทำให้เกิดสงครามใหญ่รบกันระหว่างนาโต กับรัสเซีย ทันที
งานนี้เซเลนสกี จึงต้องยืนอยู่อย่างโดดเดี่ยวกลางงานเลี้ยง โดยที่ผู้นำยุโรปยืนหันหลังให้ น่าสงสารมาก ไม่มีใครสนใจเลย กลายเป็นตัวตลกที่แท้จริง
นอกจากนี้แล้ว อเมริกาก็ตัดสินใจส่ง “ระเบิดพวง” หรือ Cluster Bomb ที่เป็นอาวุธต้องห้าม ไปให้ยูเครน แม้กระทั่งสมาชิกนาโตก็ไม่เห็นด้วย แต่มันเป็นเรื่องของหลังชนกำแพงแล้ว เพราะว่ากระสุนปืนไม่มี ทั้งๆ ที่ปีที่แล้วตอนเริ่มสงครามในยูเครน อเมริกาเตือนรัสเซียไม่ให้ใช้กระสุนปืนใหญ่ที่มีลักษณะเป็น "ระเบิดพวง" แต่วันนี้ ปีนี้ อเมริกากลับสั่งใช้ และอ้างอย่าหน้าด้านๆ ว่า ไม่ผิดศีลธรรม ทั้งๆ ที่อังกฤษ ประเทศสมาชิกนาโต เยอรมนี และอีกหลายประเทศ ไม่เห็นด้วยกับการใช้
ประธานาธิบดีปูติน ได้เตือนยูเครนและชาติตะวันตก กรณีที่อเมริกาจัดส่ง Cluster Bomb หรือระเบิดพวง ชุดแรก ให้ยูเครนสัปดาห์ที่แล้ว จริงๆ แล้วในข้อมูลข้อเท็จจริง รัสเซียมีระเบิด Cluster Bomb มากกว่าอเมริกาตั้งหลายเท่า แต่ปูติน พูดชัดเจน ถ้าอเมริกาใช้อันนี้ อเมริกาจะเสียใจ เพราะว่ารัสเซียจะตอบโต้อย่างหนักด้วยระเบิด Cluster Bomb
แล้วใครจะโชคร้าย ? ประชาชนยูเครนจะโชคร้าย ที่ประเทศลาวสมัยก่อนอเมริกาทิ้งระเบิดลงใส่ประเทศลาว โดยมีระเบิดพวงแบบนี้ ยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมายังเก็บไม่หมดเลย ประชาชนชาวลาวเดินไปเหยียบเอาระเบิดซึ่งเป็นลูกเล็กๆ ที่กระจายไปแล้วไม่ระเบิด ตายกัเป็นเบือ แล้วก็ยังเก็บไม่หมด
จับตา “รัสเซีย-ตุรกี” แตกหัก ?
ท่ามกลางสถานการณ์สู้รบช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ใกล้แตกหัก ระหว่างนาโต ยูเครน และรัสเซีย ปรากฏว่าตุรกีใกล้จะมีเรื่องกับรัสเซีย กรณีที่ประธานาธิบดีเรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ของตุรกี เห็นชอบให้ประเทศสวีเดนเข้าร่วมนาโต หลังจากที่ฟินแลนด์ได้รับการตอบรับเข้าเมื่อเดือนเมษายน 2566
งานนี้ โจ ไบเดน สมหวัง ล็อบบี้จนสามารถเปลี่ยนท่าทีผู้นำตุรกี แอร์โดอัน ให้แข็งข้อต่อปูตินได้
ทำไมถึงมีเรื่องนี้เกิดขึ้น ? ทั้งๆ ที่ที่ผ่านมานายแอร์โดอัน เป็นพันธมิตรกับรัสเซียมาโดยตลอด
เบื้องหลังจริงๆ แล้ว นักข่าวพูลิตเซอร์ระดับตำนานอเมริกา นายซีมัวร์ เฮิร์ช (Seymour Hersh) บอกว่า นายไบเดน สัญญากับ แอร์โดอัน ว่า กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะขยายวงเงินสินเชื่อให้ตุรกี 11,000-13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นดีลข้อตกลงแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน และอนุมัติจะขายเครื่องบิน F-16 ของอเมริกา ให้กับตุรกี ซึ่งก่อนหน้านั้นอ้างว่าติดที่สภาคองเกรสไม่อนุมัติ
เจ้าหน้าที่ที่ดูแลด้านเงินช่วยเหลือ บอกกับ ซีมัวร์ เฮิร์ช ว่า ขณะที่ไบเดน ต้องการได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งปีหน้า และตุรกีกำลังเผชิญความตึงเครียดทางการเงินอย่างหนักหน่วง เมื่อชั่งน้ำหนักแล้ว อะไรจะดีกว่ากัน ระหว่างรัสเซีย กับ อเมริกา เขาก็เลยตัดสินใจที่จะดีกับฝั่งนาโต และฝั่งยุโรปตะวันตก
รายงานของ NEW YORK TIMES รายงานว่า โจ ไบเดน โทรไปหาแอร์โดอัน ขณะบินไปยุโรปในวันอาทิตย์ที่ 9 กรกฎาคม แต่ไม่ได้กล่าวตรงๆ เรื่องเงินทอง สอดคล้องกับบทวิเคราะห์เมื่อเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา ของนายแบรด เซตเซอร์ (Brad W. Setser) พูดเรื่องความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นในงบดุลตุรกีที่เน้นประโยคสำคัญว่า เมื่อแอร์โดอัน ชนะการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม กลับมามีอำนาจใหม่ ตอนนี้แอร์โดอัน กำลังเจอวิกฤตทางการเงิน
ตุรกีตอนนี้มีทางเลือก หนึ่ง ต้องขายทองคำเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ สอง ต้องกลืมยาเม็ดขมในการกลับนโยบายอย่างสิ้นเชิง ก็คือว่าต้องพลิกตัวเองเลย จากรัสเซีย แล้วมาเทตัวเองเข้าสู่ตะวันตก สาม ถ้าไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ ก็ต้องเข้าโครงการ IMF
สถานการณ์บีบบังคับให้แอร์โดอัน ยอมหักกับผู้นำรัสเซีย ตุรกีหักหลังรัสเซียมาแล้วรอบหนึ่งด้วยการปล่อยนักโทษที่มีหัวหน้ากองทัพทหารอะซอฟ (Azov) ที่รัสเซียฝากไว้ที่ตุรกี บอกว่าอย่าเพิ่งปล่อย ให้ส่งไปที่รัสเซีย แต่กลับมอบผู้บังคับการกองพันอะซอฟ คือพวกนีโอนาซี ให้กับเซเลนสกี ไป แล้วตัดสินใจขายโดรนของตุรกีให้ยูเครนเพื่อนำไปใช้ในสงครามรัสเซีย และกำลังคิดที่จะตั้งโรงงานผลิตโดรนในยูเครน อนุญาตให้ยูเครนส่งพืชผลตนเองผ่านทะเลดำ
ต้นเดือนตุลาคม 2565 รัสเซียเสนอต่อตุรกี ให้ตุรกีเป็นศูนย์กลางสำหรับส่งก๊าซไปยังยุโรปแทน หลังจากสายท่อลำเลียงก๊าซนอร์ดสตรีม ซึ่งลอดผ่านทะเลบอลติก ถูกวินาศกรรมระเบิดจนได้รับความเสียหาย เมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว
"การทำงานกับตุรกีนั้นง่ายกว่ามาก เพราะประธานาธิบดีแอร์โดอัน เป็นคนพูดคำไหนคำนั้น ยังสะดวกสำหรับเราในการควบคุมเส้นทางทะเลดำ" ปูตินกล่าวเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม ปีที่แล้ว
ประเด็นตุรกีนั้นต้องถือว่าเป็นการหักหลังแบบแทงข้างหลัง แทงทะลุหัวใจรัสเซีย คือกรณีที่ประธานาธิบดีตุรกี นายแอร์โดอัน ปล่อยตัวนักโทษอดีตผู้บังคับกองพันอะซอฟ 5 นาย ซึ่งเป็นหัวหน้าต่อต้านการบุกโจมตีอย่างดุเดือดของรัสเซียภายในโรงงานเหล็ก Azov Steel ในเมืองมารีอูปอล เมื่อพฤษภาคม ปีที่แล้ว พวกนี้ถูกรัสเซียจับเป็นเชลยได้ โดยมอสโกกล่าวหากองพันพวกนี้เป็นพวกนีโอนาซี ก่อเหตุฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวรัสเซียในแคว้นโดเนสตก์ และลูฮันสก์ เป็นต้นตอที่ทำให้รัสเซียต้องเปิดฉากปฏิบัติการพิเศษในยูเครน ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565
ภายใต้ข้อตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษที่มีตุรกีเป็นตัวกลาง รัสเซียมีเงื่อนไขว่า พวกหัวหน้ากองพันอะซอฟจะต้องถูกจำคุกอยู่ในตุรกี จนกว่าสงครามยูเครนจะสิ้นสุด แต่เพียงปีเดียว ผู้นำตุรกีก็ตระบัดสัตย์ รัสเซียไม่ได้รับแจ้งเรื่องปล่อยหัวหน้ากองพันทหารอะซอฟ ไม่ว่าจะจากยูเครน หรือตุรกี และประณามว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการละเมิดข้อตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษ และระบุว่า ความเคลื่อนไหวนี้เชื่อมโยงกับความล้มเหลวในการปฏิบัติการตอบโต้ของยูเครน
“การที่ผู้นำตุรกีตีสองหน้ากับรัสเซีย และคบคิดกับอเมริกา และนาโต ซึ่งเป็นศัตรูกับรัสเซียอย่างชัดเจน โดยตุรกีเองเอาตัวรอดก่อน อาจจะเป็นชนวนความขัดแย้งเพิ่มเติมขึ้นนอกเหนือจากสงครามยูเครน อาจจะขยายไปสู่ประเด็นข้อขัดแย้งที่ซีเรีย ระหว่างตุรกี กับ ชาวเคิร์ด ที่รัสเซียหนุนหลังอยู่ จะกลายเป็นบริบทใหม่ที่ในที่สุดแล้วจะเป็นหายนะต่อตุรกีอย่างแน่นอนที่สุด” นายสนธิกล่าว