วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุสะพานยกระดับถล่ม ระบุได้ข้อมูลบางอย่างที่อาจเป็นสาเหตุหลักของการถล่มแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้เนื่องจากเป็นคดีอาญา เกรงกระทบรูปคดี พื้นที่สะพานถล่ม ด้านครอบครัววิศวกรทำพิธีเชิญดวงวิญญาณกลับภูมิลำเนา
วันนี้ (12 ก.ค.) รศ.ดร.วัชรินทร์ กาสลัก นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า เบื้องต้นทางตำรวจได้มีการทำเอกสารยื่นเรื่องไว้ยังวสท.เพื่อขอให้เข้ามาช่วยตรวจสอบในวันนี้
ซึ่งสิ่งที่ทำคือเก็บข้อมูลจากภาคสนามเพิ่มเติม มีความโชคดีที่ได้คลิปและภาพจากประชาชนหรือว่ากล้องหน้ารถประกอบกันเพื่อช่วยให้สามารถวินิจฉัยและประเมินการทำงานได้ง่ายขึ้น และขณะนี้สิ่งที่ต้องการคือรายละเอียดเรื่องแบบก่อสร้าง บันทึกรายงานประจำวันของการก่อสร้างโดยจะมีรายละเอียดทางวิศวกรรม เช่นการดึงลวดเหล็กด้วยแรงเท่าไหร่ หรือรายละเอียดของคอนกรีต จากนั้นจะนำรายละเอียดต่างๆ มาวิเคราะห์และประชุมกัน ไม่เกินเจ็ดวันทุกอย่างจะเรียบร้อย
ทั้งนี้ รศ.ดร.วัชรินทร์ มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นเรื่องของชีวิต ความปลอดภัยและเกี่ยวข้องกับกฎหมายอาญาด้วย ดังนั้นจึงต้องขออนุญาตเก็บข้อมูลให้ครบถ้วนก่อนจึงจะวิเคราะห์สาเหตุที่แน่ชัดได้ว่าเหตุสะพานถล่มเกิดจากอะไร และอยากจะขอความร่วมมือจากทุกคนที่มีคลิปหรือภาพถ่ายวิดีโอกล้องหน้ารถสามารถนำมาส่งเพื่อเป็นการช่วยทางเจ้าหน้าที่ทำงานได้อีกทางหนึ่ง
ส่วนสาเหตุเบื้องต้นหรือสมมติฐาน มองว่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจจะมองว่าเป็นเรื่องขั้นตอนการก่อสร้างไม่ถูกต้องหรือวัสดุไม่ดี ทั้งนี้ยังไม่ขอตั้งประเด็นใดก่อน เพราะต้องไปตรวจพิสูจน์ว่าแต่ละกระบวนการเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพหรือไม่ ประกอบกับต้องดูว่าโครงสร้างทุกส่วนที่อยู่ข้างๆ กันไม่ว่าจะเป็นเสาหรือสะพานยังคงสภาพสมบูรณ์อยู่หรือไม่ ถ้าได้รับผลกระทบก็ต้องรื้อถอน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องมีกระบวนการและขั้นตอน ส่วนที่ใครกังวลว่าหากดำเนินการก่อสร้างต่อหลังจากนี้จะมีความปลอดภัยหรือไม่ ในส่วนนี้ก็จะมีวิธีการตรวจสอบเรื่องความมั่นคงแข็งแรงอยู่แล้วไม่ต้องกังวลเกินเหตุ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์การทำงาน การควบคุมงานของบริษัทด้วยซึ่งหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศก็มองว่าเป็นเรื่องอุบัติเหตุที่สามารถจะเกิดขึ้นได้ยาก
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้อาจจะมีการสุ่มตรวจความแข็งแรงของตอม่อเพิ่มเติม เพื่อความสบายใจของประชาชน ซึ่งตนก็อยากจะแนะนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะวิศวกรควบคุมงานควรเอาใจใส่และรับผิดชอบในหน้าที่ของตนให้มากที่สุด ซึ่งผู้ที่ต้องรับผิดชอบอย่างปฏิเสธไม่ได้ก็คือวิศวกรที่ควบคุมงานที่จะต้องกลับไปดูว่ามาตรฐานวิชาชีพของวิศวกรในประเทศไทยดีพอหรือยังซึ่งเป็นหน้าที่ของสภาวิศวกรที่จะต้องดูแลตรวจสอบ ซึ่งทางวสท.คงจะเอาเรื่องนี้ไปช่วยส่งสัญญาณอีกครั้ง
สุดท้าย ฝากเตือนประชาชนอย่าเพิ่งเข้าใกล้พื้นที่หรือบริเวณที่มีจุดแตกหักและเสี่ยงต่อการจะเกิดการถล่มได้อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาเวลาประมาณ 09.20 น. นางซิรุด แสนสีมล อายุ 38 ปี ภรรยา พร้อมครอบครัวของนายฉัตรชัย ประเสริฐ วิศวกรโครงการก่อสร้างทางยกระดับอ่อยนุช ลาดกระบัง ที่เสียชีวิต ได้เดินทางมาที่จุดเกิดเหตุพร้อมนำเครื่องเซ่นไหว้และจุดธูปเชิญดวงวิญญาณสามีออกจากที่เกิดเหตุเพื่อกลับภูมิลำเนา ท่ามกลางความโศกเศร้า