รายงานพิเศษ
“ผมอยากชวนฟังเสียงของคนที่เรามักไม่ค่อยได้ยิน เสียงเบาๆที่เป็นอาวุธของผู้อ่อนแอ ... มีข้อมูลที่บ่งขี้ว่า ไฟป่า มักเกิดขึ้นในหลายประเทศที่มีปัญหาความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากร อย่างพื้นที่ป่าในอดีตของประเทศไทย ก็เป็นพื้นที่ของสัมปทานป่าไม้ เรามองป่าเป็นสินค้ามาตลอด และผลักดันชุมชนที่เคยอยู่อาศัยดั้งเดิมให้เข้าสู่ความยากจน และพอเราเริ่มประกาศให้ป่าเป็นเขตอนุรักษ์ ก็ไปประกาศทับซ้อนกับที่อยู่อาศัยของพวกเขาอีก เราจึงควรตั้งคำถามว่า หากจะใช้แนวทางการพัฒนาทางเลือก ก็ต้องตอบด้วยว่า เป็นทางเลือกของใคร”
ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ขวนให้ตั้งคำถามต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิด PM 2.5 รุนแรงมาตลอดหลายปี ในวงพูดคุยของสมาชิกผู้เข้าอบรมหลักสูตร “หลักนิติธรรมและการพัฒนา หรือ RoLD (Rule of Law and Development) ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ในหัวข้อ “Transboundary Haze Pollution and Alternative Development Approach” โดยมีการนำเสนอ “การพัฒนาทางเลือก” ที่รัฐต้องเข้าไปร่วมมือกับชุมชนให้มีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เป็นทางออกของปัญหา
ดร.กฤษฎา เพิ่มเติมว่า นโยบายเช่นนี้ ทำให้มีชุมชนกว่า 4,000 แห่ง ที่อยู่ในป่ามาตั้งแต่ดั้งเดิม ถูกผลักให้เผชิญกับความยากจน เพราะไม่สามารถอยู่อาศัยตามวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมที่สอดคล้องกับระบบนิเวศได้ ดังนั้นเราจึงต้องใช้แนวทางการมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างจริงจังในการแก้ปัญหาที่มากไปกว่าเครื่องมือทางกฎหมาย เพราะที่ผ่านมาเรายังมีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างชุมชนดั้งเดิมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ยังแก้ไขไม่ได้ ซึ่งหมายความว่า เรายังไม่ได้มองถึง “ทางเลือก” ที่เหมาะสมกับชาวบ้านในพื้นที่จริงๆ
“ชุมชนที่อยู่อาศัยในป่าเหล่านี้ เขาเคยไม่ทน ไม่ยอมจำนนนะครับ เขารวมหลังกันปกป้องป่ามาตลอด ตั้งแต่การออกมาคัดค้านนโยบายสัมปทานป่าไม้ในอดีต และแม้แต่กฎหมายป่าชุมชน ก็เกิดขึ้นจากการที่กลุ่มชาวบ้านเหล่านี้ต้องต่อสู้ในอดีต และรวมตัวกันเป็นเครือข่ายป่าชุมชนครั้งแรกในปี 2531 สร้างกติกาการอยู่อาศัยในป่าอย่างยั่งยืนและสอดคล้องกับระบบนิเวศกันเอง แต่รัฐก็ยังถือเป็นการอยู่อย่างปิดกฎหมาย”
“ผมขอยกตัวอย่างรูปแบบการเกษตรที่เรียกว่า ไร่หมุนเวียน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาทำการเกษตรของชาวกะเหรี่ยงและชาวลั๊วะ เขาทำกันมานานโดยไม่ต้องใช้ยาปราบศัตรูพืช หมุนเวียนเป็นรอบปล่อยให้แปลงที่ทำไปแล้วฟื้นฟูความสมบูรณ์ได้เอง แต่รัฐกลับไปให้คำนิยามว่า เป็นไร่เลื่อนลอย ทำให้ถูกเข้าใจในเชิงไม่ดีและต้องถูกกำจัดทิ้ง สุดท้ายพื้นที่เหล่านี้ก็เปลี่ยนเป็นไร่ข้าวโพด ปลูกพืชเชิงเดี่ยว ใช้สารเคมีปราบศัตรูพืช ก็น่าคิดนะครับว่า ในขณะที่ชุมชนดั้งเดิมถูกควบคุมแต่อุตสาหกรรมปลูกพืชอาหารสัตว์กับเติบโตขึ้น”
เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ยังเปิดเผยข้อมูลจาก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ซึ่งศึกษาพื้นที่ป่าที่มีคุณภาพสูงทั่วโลก และพบว่า 80% อยู่ในการดูแลของชุมชนพื้นเมือง ซึ่งหากมาเทียบกับบริบทของประเทศไทย ก็จะพบว่า พื้นที่ป่าสมบูรณ์ของไทยอยู่ในภาคเหนือและภาคตะวันตก ซึ่งเป็นที่อยู่ของกลุ่มชนชาติพันธุ์ต่างๆเช่นกัน
จากข้อมูลเหล่านี้ ดร.กฤษฏา จึงเสนอแนวทาง “การพัฒนาทางเลือก” ที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ในภาคเหนือ โดยขอให้รัฐเปลี่ยนวิธีคิดในการจัดการป่าจากการใช้อำนาจทางกฎหมาย จากแนวคิดว่ารัฐต้องเข้าไปจัดการดูแลผู้อ่อนแอ เน้นการส่งเสริมกลไกตลาดเสรี เน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ให้เป็นวิธีคิดใหม่ คือ ยอมรับความแตกต่างหลากหลายในการจัดการป่าผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมให้ชุมชนพื้นเมืองมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางดูแลและพัฒนาพื้นที่อย่างเสมอภาคกับชุมชนอื่น ส่งเสริมและกำกับการตลาดที่เป็นธรรมให้ชุมชนเข้มแข็ง และต้องพัฒนาเศรษฐกิจโดยยอมรับข้อจำกัดทางนิเวศด้วย