รายงานพิเศษ
“ผลการศึกษาจุดความร้อนในพื้นที่ภาคเหนือของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ในช่วงระหว่างปี 2562 - 2566 ซึ่งพบว่า 80-90% ของจุดความร้อนที่พบมีแหล่งกำเนิดอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ คือ ในเขตอุทยานแห่งชาติและเขตป่าสงวนแห่งชาติ ไม่ใช่พื้นที่การเกษตร และหากดูย้อนหลังไปอีก 10 ปีก่อนหน้านั้น คือตั้งแต่ปี 2553 – 2562 จะพบอีกว่า มีพื้นที่ที่ถูกเผาไหม้ซ้ำเดิมอยู่ประมาณ 9.7 ล้านไร่ ซึ่งเกิดจาก ไฟในป่า 65% นาข้าว 22% ไร่ข้าวโพด 6% และไร่อ้อย 2%”
ข้อมูลนี้ถูกเปิดเผยโดย ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม และประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการเกี่ยวกับการส่งเสริมการบริหารงานภาครัฐระบบเปิดและการมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมที่ร่วมทำการศึกษาหาสาเหตุของการเกิด PM 2.5 อย่างจริงจังมาหลายปี พยายามชี้ให้เห็นว่า หากมีระบบเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่ดี ก็จะพบสาเหตุที่ทำให้หน่วยงานรัฐสามารถบูรณาการกันร่วมมือแก้ปัญหานี้ได้
“เราใช้คำว่า ไฟในป่า ไม่ใช่ ไฟป่านะครับ เพราะไม่ใช่ไฟที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่มันไปเกิดอยู่ในพื้นที่ป่า และยังเป็นปริศนาว่ามันเกิดจากอะไร”
“เราศึกษาเพื่อหาวิธีการจัดการกับฝุ่น PM 2.5 ไม่ใช่เพื่อทำให้การเผาไหม้กลายเป็นศูนย์ เมื่อเราศึกษาแล้ว เราพบว่า PM 2.5 เป็นปัญหาความไร้ประสิทธิภาพของระบบราชการ ตั้งแต่การวางแผน การจัดทำงบประมาณ และการทำงานข้ามหน่วยงาน ตัวอย่างเช่น ไม่มีระบบการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐที่ดีพอ”
ดร.บัณฑูร นำเสนอข้อมูลนี้ในเวทีพูดคุยเครือข่ายผู้เข้าอบรมหลักสูตร “หลักนิติธรรมและการพัฒนา หรือ RoLD (Rule of Law and Development) ซึ่งจัดขึ้นโดยสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ซึ่งได้เชิญหลายภาคส่วนที่สนใจปัญหานี้มาพูดคุยกันในหัวข้อ “Transboundary Haze Pollution and Alternative Development Approach” เพื่อหาทางออกจากปัญหานี้อย่างยั่งยืน โดยมี “การพัฒนาทางเลือก” เป็นแนวทางที่ถูกหยิบยกมาหารือ
ถ้าดูเฉพาะในประเทศไทย ซึ่งข้อมูลทางดาวเทียมชี้ชัดว่า พื้นที่ที่มีจุดความร้อนเกิดมากที่สุดถึง 65 % คือ ไฟในป่าอนุรักษ์ ดร.บัณฑูร ย้ำว่า จนถึงขณะนี้ก็ยังเป็นคำถามใหญ่ว่า สาเหตุที่เกิดไฟในเขตป่าอนุรักษ์คืออะไรกันแน่ แต่ก็มีตัวอย่างที่น่าสนใจ ที่บ้านต้นต้อง จ.ลำปาง ซึ่งทำเป็น “ป่าชุมชน” มีกติกาที่ชุมชนสร้างร่วมกันเพื่อจัดการการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน และทำให้ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยเกิดไฟไหม้ในป่าชุมชนที่หมู่บ้านนี้เลย ดังนั้นการบริหารจัดการป่าชุมชนที่ประกาศไปแล้ว 400-500 แห่ง การกำหนดกติการ่วมกันระหว่างรัฐกับชุมชนในการใช้ประโยชน์ในเขตป่าอนุรักษ์ อาจเป็นแนวทางหนึ่งที่ทำให้ชุมชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของทรัพยากร และกลายเป็นหูเป็นตาป้องกันการเกิดไฟป่าได้ดี
สำหรับไฟที่เกิดขึ้นในภาคการเกษตร ดร.บัณฑูร อธิบายแนวทางการจัดการใหม่ โดยรัฐต้องใช้วิธีการใหม่ๆ คือ “การพัฒนาทางเลือก” เข้าไปจัดการในพื้นที่ ไม่ใช่แค่การประกาศห้ามเผา ซึ่งแนวทางนี้ถูกนำเสนอออกเป็น 3 แนวทาง คือ เปลี่ยนระบบการเกษตร เปลี่ยนวิธีการจัดการเศษวัสดุจากการเกษตรซึ่งเป็นที่มาของการเผา และเปลี่ยนวิธีการจัดการไฟ ซึ่งต้องเริ่มด้วยการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานรัฐ คั้งแต่จัดทำข้อมูลรายแปลง ระบุพิกัด ทำข้อมูลของเกษตรกร ทำระบบสร้างมาตรการเปลี่ยนระบบการเกษตรจากพืชเชิงเดี่ยวเป็นพืชยืนต้น จัดทำระบบน้ำให้เกษตรกรใช้น้ำได้อย่างทั่วถึง และสามารถใช้นวัตกรรมทางเศรษฐศาสตร์มาสร้างแรงจูงใจด้วยการจัดหาตลาดรับซื้อพืชผล สร้างตลาดคาร์บอนเครดิต เปลี่ยนเศษวัสดุที่เคยเผาให้เป็นของที่มีมูลค่า รวมทั้งยังต้องสร้างระบบการตรวจสอบย้อนกลับในแปลงการเกษตรเชิงเดี่ยวที่มีสัญญาร่วมกับภาคเอกชนว่ามีการเผาที่จุดไหนอยู่บ้าง สามารถลดการเผาได้มากน้อยแค่ไหนในแต่ละปี
“อย่างที่บอกไปว่า 22% ของการเผา มาจากนาข้าว เราจึงไปค้นหาสาเหตุที่ชาวนาต้องเผา ก็พบว่า มันมีสิ่งที่เรียกว่า ข้าวละมาน ซึ่งเกิดจากปะปนกันของพันธุ์ข้าวจากการที่ชาวนาจ้างรถเกี่ยวข้าวมาจากต่างถิ่น และทำให้ขายได้ราคาต่ำลงมาก ชาวนาจึงต้องทำลายพันธุ์ข้าวที่ปะปนนี้ด้วยการเผา เมื่อเรารู้ต้นตอแบบนี้ ก็จะสามารถช่วยเขาหาวิธีแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ต้องเผา” ดร.บัณฑูร กล่าว
แต่เมื่อไปดูข้อมูลการเกิด PM 2.5 ข้ามแดน ในช่วงระหว่างปี 2558 – 2563 พบข้อมูลว่า ทั้งสองประเทศมีอัตราการเผาที่เกิดจากการทำ “ไร่ข้าวโพด” ในลักษณะที่น่าสนใจ
โดยหากดูข้อมูลจุดความร้อนในประเทศเมียนมาในภาพรวม จุดความร้อนจะเกิดจากทั้งไฟในป่าและการเผาไร่ข้าวโพดในอัตราที่ใกล้เคียงกัน แต่ถ้าเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดชายแดนไทยจะเกิดจากการเผาไร่ข้าวโพดมากกว่า
ส่วนใน สปป.ลาว ในช่วงแรกมีอัตราการเกิดจุดความร้อนจากไฟในป่าและการเผาไร่ข้าวโพดใกล้เคียงกันเช่นกัน จนปี 2562 มีแนวโน้มเกิดจากการเผาไร่ข้าวโพดมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ตอนเหนือประเทศ
ดร.บัณฑูร อธิบายผลของการนำข้อมูลนี้มาวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้านมีแนวโน้มที่จะพัดข้ามแดนมาเสริมกับฝุ่นที่เกิดขึ้นในประเทศไทยสูงขึ้น แต่ยังระบุไม่ได้ว่า ฝุ่นในประเทศไทยเกิดการเผาจากในประเทศไทยเองหรือการเผาจากประเทศเพื่อนบ้านมีผลมากกว่ากัน ในขณะที่ทางฝ่ายเมียนมาและ สปป.ลาว ก็ตั้งสมมติฐานว่าเป็นฝ่ายได้รับผลกระทบจากประเทศอื่นด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงมีการจัดการประชุมร่วมในระดับเจ้าหน้าที่ระหว่างทั้ง 3 ประเทศเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 2566 และได้ข้อสรุปจะต้องเกิดความร่วมมือระหว่างทั้ง 3 ประเทศ เพื่อจัดทำแนวทางแก้ปัญหาร่สวมกัน คือ ทำแผนที่ประเมินความเสี่ยง ทำแพลตฟอร์มการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งสร้างเครือข่ายนักผจญเพลิง
ส่วนของประเทศไทยเองก็กำลังอยู่ระหว่างการรวมทีมจากหลายหน่วยงานและสถาบันการศึกษาเพื่อศึกษาให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนว่า ฝุ่นที่ลอยอยู่ในประเทศไทย มีปริมาณแค่ไหนที่เกิดขึ้นในไทยและมีแค่ไหนที่ลอยมาจากประเทศเพื่อนบ้าน