xs
xsm
sm
md
lg

‘สนามเด็กเล่น’ กับความทรงจำอันสวยงามของ ‘พลอยศิริ รังคดิลก’ ศิลปินงาน Crafts สู่โลก NFT ในนาม ‘wild so serious’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


‘พลอยศิริ รังคดิลก’ ศิลปิน NFT และนักปักผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เธอคือผู้นำผลงานศิลปะระดับ Masterpieces ของศิลปินชื่อดังทั่วโลก มายั่วล้อได้อย่างเปี่ยมสีสันและรุ่มรวยอารมณ์ขัน ได้รับเสียงตอบรับอย่างน่าชื่นชมจากผู้ชื่นชอบงานศิลปะ 

‘พลอยศิริ รังคดิลก’ ศิลปิน NFT และนักปักผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ไม่ว่า ผลงานของ leonardo da vinci, Vincent van Gogh, Frida Kahlo, Gustav Klimt, Claude Monet, Johannes Vermeer, Pablo Ruiz Picasso, Andy Warhol, Edvard Munch และศิลปินชื่อก้องโลกอีกมากมาย
ล้วนถูกนำมาประกอบสร้างใหม่อย่างอารมณ์ดี ผ่านผลงานศิลปะในโลก NFT ทั้ง 50 ภาพ ( หมายเหตุ : NFT คือ Non Fungible Token เหรียญที่ใช้ซื้องานศิลปะ NFT เป็นหลักคือ Ethereum ซึ่งเป็น Cryptocurrency สกุลหนึ่งและเป็นเงินดิจิตอล )

อาทิ ภาพ Catalisa,
Broken Heart Fox in Van Gogh Room, Sloth Gogh in Starry Night, Lollipop Monkey Gogh, Bunny Frida on Van Gogh Chair, Drunk at Cafe Terrace at Night, Lollipop Klimp, Slothcasso, Dog With 4 Earrings, Campbell's Soup Can, Yellow Bear Harmony, WSS in Dali's World, Look at the mirror and SCREAM












เหล่านี้ คือส่วนหนึ่งของ Collection ‘ Wild Art Museum’ ที่นำเสนอผลงานแนว ‘Parody’ เป็น 1 ในประจักษ์พยานว่าสไตล์และเอกลักษณ์ของเธอผู้นี้ ‘ไม่ธรรมดา’


‘พลอยศิริ รังคดิลก’ ศิลปิน NFT และนักปักผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เธอคือหญิงสาวเจ้าของรูปลักษ์สดใส ที่บอกเล่าการแสดงนิทรรศการผลงานศิลปะครั้งล่าสุดของเธอใน Concept ที่ชื่อว่า ‘Wild Playground’ ได้อย่างน่าสนใจ

“งานครั้งนี้เป็นการจำลองสนามเด็กเล่นในความรู้สึกของพลอยค่ะ เมื่อเรารู้ว่าเราจะได้เล่นกับ Public Space พลอยก็อยากให้งานย่อยง่าย เพราะอาจไม่ใช่ทุกคนที่มาเสพงานอาร์ตน่ะค่ะ บางคนเขาก็แค่อยากมาพักผ่อนวันหยุด หรืออาจจะแค่เดินผ่าน แล้วงานพลอยก็ย่อยง่ายๆ อยู่แล้ว ดังนั้น พลอยก็พยายามจะใส่เฟอร์นิเจอร์ลงไปด้วย เช่น Bean Bag, เก้าอี้ หรืออะไรที่คนสามารมาพักผ่อนอยู่ตรงนี้ได้ เหมือนเป็นสนามเด็กเล่นในวันหยุดหรือหลังเลิกงาน พลอยพยายามให้เล่นกับ Public Space มากขึ้น ให้คน enjoy อย่างเช่น เก้าอี้ ให้คนได้มาถ่ายรูปกัน” พลอยบอกเล่าถึงความสดใสและความสนุกจากนิทรรศการครั้งนี้ของเธอ

ก่อนสร้างสรรค์ผลงาน Digital Arts ในโลก NFT ที่รู้จักกันดีในนาม ‘wild so serious’ และสามารถขายผลงาน 50 ชิ้น ได้ภายในระยะเวลาเพียง 1 ปี ก่อนหน้านั้น เกือบทศวรรษ เธอทุ่มเทความรักให้กับศิลปะงานปักผ้า งาน Craft ที่เธอรัก และสร้างแบรนด์งานปักของตนเองในชื่อ ‘Need a New Needle’


หากถามว่าอะไรคือเอกลักษณ์ในงานของพลอย ไม่ว่าในงานปัก หรืองาน Digital Arts แห่งโลก NFT
พลอยตอบว่าเอกลักษณ์ในงานของเธอคือสีสัน และความกวนๆ ในอารมณ์ เป็นอารมณ์ขัน เสพง่าย
ในที่สุด ทั้งงานปักผ้าของเธอและงานวาดภาพ ล้วนเชื่อมโยงและส่งเสริมกัน

‘ผู้จัดการออนไลน์’ สัมภาษณ์พิเศษ ‘พลอยศิริ รังคดิลก’ ศิลปิน NFT และนักปักผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ถ้อยความนับจากนี้ ทำให้รู้จักเธอมากขึ้นในหลากหลายแง่มุม


‘พลอยศิริ รังคดิลก’ ศิลปิน NFT และนักปักผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ความสดใสในวัยเยาว์

อยากให้คุณเล่าย้อนให้ฟังถึงแรงบันดาลใจนับแต่แรกเริ่ม ว่าอะไรทำให้คุณสนใจศิลปะ และก้าวสู่หนทางของการเป็นศิลปิน
พลอยตอบว่า จุดเริ่มต้นจริงๆ น่าจะมีสองส่วนที่มีอิทธิพลกับเธอ ประการแรกคือ เธอชอบวาดการ์ตูน ชอบอ่านขายหัวเราะ มหาสนุก ชินจัง กล่าวคือชอบอ่านการ์ตูนมาตั้งแต่เด็กๆ และอีกส่วนก็คือ เมื่อได้อ่านการ์ตูนเยอะๆ ก็อยากวาดตามในสไตล์เด็กๆ วาดด้วยความชอบ กอปรกับพ่อแม่และพี่ชายของเธอก็ล้วนชอบวาดรูปกัน เพียงแต่อาจไม่ได้เป็นศิลปินกันเต็มตัว แต่พวกเขาเพียงชอบวาดรูป

“พลอยก็ได้เห็นกิจกรรมที่พ่อแม่พี่ชายทำ เขาวาดเล่น ใส่กรอบติดบ้าน ยิ่งแม่พลอย ชอบงานฝีมือ
ชอบเพนท์กระถาง ชอบอะไรที่เป็นงาน DIY สไตล์ผู้หญิงๆ แม่จะชอบมาก หรืออย่างเช่นชุดนักเรียนของพลอย แม่ก็จะปักชื่อให้ตลอด ไม่เคยไปให้ที่ร้านปัก ไม่เคยจ้างช่างปักเลยค่ะ” ความชื่นชอบในงานศิลปะและงาน DIY เหล่านี้ของบุคคลในครอบครัวจึงกลายเป็นอิทธิพลหลักๆ ที่ทำให้พลอยชอบงานศิลปะและชื่นชอบงานฝีมือหรืองาน Crafts





‘พลอยศิริ รังคดิลก’ ศิลปิน NFT และนักปักผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว








ค้นหาตัวตน

พลอยเล่าต่อเนื่องว่า ในช่วงที่เรียนชั้นมัธยมศึกษา เธอรู้สึกว่าตัวเธอเองไม่ใช่คนที่วาดรูปเก่ง รู้สึกว่าทำไม่ได้ดีเท่าเพื่อนที่วาดเก่งกว่า เธอจึงหันความสนในใจไปที่การเล่นดนตรีด้วย แต่ก็รู้ตัวว่าคงไม่สามารถไปเป็นนักร้องได้ เพราะไม่ได้เก่งขนาดนั้น เพียงแค่ชื่นชอบ พอดีกับในช่วงเวลานั้นมีเพื่อนไปเรียนติวศิลปะกัน เธอจึงไปด้วย เพราะมีความชอบในศิลปะอยู่เหมือนกัน เมื่อไปติวแล้วก็พบว่าชอบจริงๆ ในที่สุดเธอก็สอบติดคณะมัณฑนศิลป์ สาขาประยุกต์ศิลป์ศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร

ในช่วงที่เรียนมหาวิทยาลัยนี่เอง มีช่วงหนึ่งที่เธอและเพื่อนได้แสดงงานร่วมกัน โดยอาจารย์จะพาไปวาดรูปที่ทะเล เมื่อกลับมาก็มีการแสดงงานนิทรรศการเกิดขึ้น

“รูปที่พลอยวาดตอนนั้น ก็ขายออกหมด เราก็รู้สึกว่า เอ๊ะ! วาดรูปก็ขายได้นี่นา
ทีนี้ ต่อมาชีวิตพลอยก็เปลี่ยนไปหลายๆส่วน เมื่อเรียนจบ พลอยก็ไม่ได้วาดรูปเลย เพราะพลอยเริ่มสนใจสิ่งพิมพ์ ไปฝึกงานอยู่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่ง ทำ graphic design”

พลอยเล่าว่า ในช่วงที่เธอรับหน้าที่ทำ graphic design ทางสำนักพิมพ์ได้ทำหนังสือเล่มหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปักผ้าพอดี ซึ่งพลอยก็พอทำงานปักผ้าได้ เพราะตั้งแต่เด็กๆ ก็คอยช่วยแม่ทำงานฝีมืออยู่บ้าง รวมทั้งพี่ๆ ที่สำนักพิมพ์ก็ช่วยสอนทำด้วย ในที่สุด ทุกคนก็ช่วยกันปิดต้นฉบับหนังสือเล่มดังกล่าวได้อย่างสมบูรณ์

“หนังสือเล่มนั้นมีศิลปินที่เขาวาดภาพ แล้วคือเราต้องปักผ้าเป็นการ์ตูนที่ศิลปินวาด ก็จะมีพี่ๆ มาช่วยกันปักเป็นภาพวาดของศิลปินเค้า ซึ่งงานนึ้ พลอยคิดว่าเป็นจุดหลักเลยที่ทำให้พลอยคิดได้ว่า ‘รูปที่เราชอบวาด มันนำมาปักผ้าได้นี่นา!!’ ซึ่งเมื่อเรียนจบ พลอยก็ปักผ้ามาเรื่อยๆ จนมาทำแบรนด์เสื้อผ้าตัวเองค่ะ”




ความรักในงานปักที่ถ่ายทอดผ่าน ‘Need a New Needle’

ถามว่า คุณทำงานปักผ้านานแค่ไหน ชื่อแบรนด์อะไร เป็นงานแบบไหนบ้าง
พลอยตอบ งานที่เธอปัก เป็นงานทำมือทุกอย่าง โดยหลักแล้วจะเป็นเสื้อผ้าผู้หญิง แต่เอกลักษณ์คือจะ Keep ความเป็นเด็กที่สดใสเอาไว้

“ถ้าได้เห็นงานพลอยก็จะรู้ว่า สีสันของเสื้อผ้าและงานปักต่างๆ จะมีความเป็นเด็กแฝงอยู่ คนที่ชอบซื้องานของพลอยก็มักจะเป็นผู้ใหญ่ที่ชอบงานแนวนี้”

แบรนด์งานปักหรืองาน Crafts เป็นแบรนด์ที่พลอยทำมายาวนานถึง 8 ปีแล้ว ภายใต้ชื่อ ‘Need a New Needle’ ซึ่งเป็นที่รู้จักดีสำหรับผู้ที่ชื่นชอบงาน Crafts

หากถามว่าอะไรคือเอกลักษณ์ในงานของพลอย ไม่ว่าในงานปักสไตล์ ‘Need a New Needle’ หรืองาน Digital Arts แห่งโลก NFT ที่รู้จักกันดีในนามของ ‘wild so serious’ 
พลอยตอบว่าเอกลักษณ์ในงานของเธอ “คือสีสัน และความกวนๆ ในอารมณ์นิดนึงค่ะ ( หัวเราะ ) เป็นอารมณ์ขัน เสพง่าย ไม่อาร์ตมาก เห็นแล้วก็ Get เลย”
อย่างไรก็ตาม พลอยเล่าไว้ว่าทั้งงานปักผ้าของเธอ และงานวาดภาพ ล้วนเชื่อมโยงและส่งเสริมกัน

“วิธีทำงานของพลอยจะเป็นแบบนี้ค่ะ อย่างพลอยมีแบรนด์เสื้อผ้าอยู่ คือ ‘Need a New Needle’ ซึ่งพลอยก็ไปออกบูธที่ต่างประเทศบ่อยๆ แล้วเวลาพลอยวาดรูป พลอยก็คิดว่า เอ๊ะ! เราก็เอาของพวกนี้ไปวางขายข้างๆ ได้นี่นา พลอยก็เอาไปทำเล่นด้วย เช่น เอาภาพไปทำเสื้อเชิ๊ต ทำผ้าพันคอ ทำเข็มกลัด แต่อันนั้นเราไม่ได้คาดหวังกำไร แค่อยากเอารูปวาดเล่นๆ มาทำขายแบบง่ายๆ เป็นการสื่อสารงานของเราได้อีกแบบนึงค่ะ” พลอยระบุ

เมื่อถามถึงเสียงตอบรับของผลงานภาพวาดที่ทำออกขายในรูปแบบที่หลอมรวมไปกับงาน Craft ทั้งนำภาพที่วาดไปพิมพ์ลงบนผ้าแล้วก็ทำเสื้อเชิ๊ต ในงานออกบูธต่างๆ พลอยยอมรับว่าเธอไม่ได้ทำออกมาเยอะ แต่ก็ขายหมด เพราะสิ่งที่เธอให้ความสำคัญกว่านั้นคือการเน้นที่อารมณ์ขัน

“แค่ได้เห็นคนมาชี้ๆ กัน พากันมาดูงานเราแล้วหัวเราะชอบใจแล้วซื้อไป แค่นี้พลอยก็มีความสุขแล้วค่ะสำหรับคนทำของขาย” พลอยบอกเล่าอย่างถ่อมตัวและขยายความว่า

“พลอยไม่ใช่ Artist ตั้งแต่แรก พลอยมาสายแบบทำของขาย พลอยไม่ค่อยมีงานนิทรรศการ ถ้างานแสดงก็คือเป็นการแสดงงานปักฝ้าใน Tokyo Design Week อะไรแบบนั้น ไม่ใช่ในฐานะวาดรูปค่ะ”

พลอยเล่าเพิ่มเติมถึงการนำงาน Craft ไปออกบูธและ Exhibition งานดีไซน์หลายๆ ประเทศ
อาทิ consumer trade show Public garden in Singapore 2015, Tokyo Design Week 2016,
Pinkoi Market, Taiwan 2017, Pinkoi Market, Hong Kong 2018, JCCAC Handicraft, Hong Kong 2018, K-Handmade Fair, South Korea 2018, Semasa Di, Indonesia 2019

พลอยเล่าว่าเมื่อได้รับการเชิญหรือชักชวนจากงานเทศกาลนั้นๆ แล้ว พลอยก็ต้องส่ง Portfolio ไป จริงอยู่ แม้ได้รับเชิญ ได้รับคัดเลือก และต้องจ่ายค่าบูธเอง แต่งานเหล่านี้ก็จะคัดเลือกผู้เข้าร่วมงานออกบูธจาก Portfolio ว่าใครมีผลงานที่ Concept เข้ากับงานเทศกาลนั้นๆ อาทิ งานที่สิงคโปร์ พลอยไปบ่อยเป็นพิเศษ เพราะในมุมมองของเธอ งานเหล่านี้ เป็นเสมือนงานที่คัดสรรงานดีไซน์ และเป็นพื้นที่ซึ่ง Artist มาทำงานขายกันเอง
ไม่ต่างจากงานที่ฮ่องกง หรือเกาหลีใต้ ที่เหล่า Artist มาขายงานของตัวเอง

“มีศิลปินทั่วเอเชีย มา Join งาน มาขายงานกัน เวลาพลอยได้พางานตัวเองไปตามที่ต่างๆ เหล่านี้ พลอยรู้สึกเหมือนได้รับพลังงานดีๆ ที่ทำให้เราอยากมาทำงานต่อไปเรื่อยๆ ค่ะ” พลอยบอกเล่าด้วยน้ำเสียงแจ่มใส






‘wild so serious’ เครียดไปทำไม! : ความสนุกในโลก NFT

บทบาทการเป็นศิลปินของพลอย ไม่ใช่แค่ศิลปินงาน Craft เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเป็นศิลปิน NFT ที่มีผลงานเป็นเอกลักษณ์ด้วย

ถามว่างาน Digital Arts ใน NFT ของพลอย ที่รู้จักกันดีในนามของ ‘wild so serious’ คนจะคุ้นชินกับสีสันที่สดใสรวมทั้งสีนีออน คุณมีเหตุผลอะไรไหม จึงใช้สีสดใสเหล่านั้น

พลอยตอบว่า เธอชอบสีสันมาตั้งแต่ตอนเล็กๆ แม่เธอก็เคยคิดที่จะตั้งชื่อเธอว่า ‘พลอยสี’ด้วย

“จริงๆ แล้ว เรื่องนี้ก็พูดยากนะคะว่าชอบได้ยังไง แต่พลอยก็ชอบมากๆ มาตลอด เมื่อนำสีมา Match กันแล้วรู้สึกสนุกค่ะ ตอนที่เรียนมหาวิทยาลัยพลอยเรียนเอกภาพพิมพ์ด้วย ต้องผสมสีใช้เอง แล้วก็สนุก ได้จับคู่สีกัน เหตุผลอีกอย่างคืออาจเพราะพลอยสายตาสั้น พลอยสายตาสั้นประมาณ 250 แล้วพลอยไม่ชอบใส่แว่น (หัวเราะ )” พลอยบอกเล่าอย่างอารมณ์ดีและกล่าวเพิ่มเติมว่า 

ในแง่มุมหนึ่ง งานศิลปะ Digital Arts ใน NFT ของพลอย ที่รู้จักกันดีในนามของ ‘wild so serious’ 
ซึ่งมีที่มาจากชื่อ IG ( Instagram ) ของพลอยที่ชื่อ ‘wild so serious’ เช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นช่องทางนำเสนอผลงานศิลปะของเธอนั้น มีส่วนเชื่อมโยงกับงานปักผ้าที่เธอทำมาอย่างยาวนานต่อเนื่องนับ 8 ปี

เพราะในช่วงที่ทำงานปักผ้า แม้จะเป็นสิ่งที่ชอบมาก แต่เมื่อถึงระยะเวลาหนึ่ง พลอยยอมรับว่า งานที่รักดังกล่าว ก็ทำให้เธอรู้สึก Burnout ได้ เช่นกัน ( หมายเหตุ* ภาวะหมดไฟ Burnout syndrome หรือ ความเหนื่อยล้าทางอารมณ์ (emotional exhaustion)

“สิ่งที่ทำอยู่ก็ทำให้พลอย Burnout ได้ เพราะว่ามันอาจจะเหนื่อย ไม่มีมุมพักมุมอื่นที่เราจะสนใจเรื่องอื่นเลย ดังนั้น ในช่วงประมาณปี ค.ศ. 2018 พลอยก็เริ่มนำภาพมาวาดเล่นแล้วค่ะ ช่วงนั้นพลอยรู้สึกอยากวาดรูปเล่น อยากมีพาร์ทที่เราได้ทำอะไร เล่นๆ โดยที่ไม่ใช่งาน

“ช่วงนั้นเอง ทำให้พลอยตัดสินใจเปิด IG ( Instagram ) แยกออกมา ในชื่อ ‘wild so serious’ ความหมายก็คือ ‘อย่าไปเครียดมันเลย!’ wild คำนี้ ก็เป็นการเล่นคำ กับคำว่า ‘Why’ ค่ะ พลอยชอบเล่นคำ” พลอยระบุ

ไม่เพียงเท่านั้น วลี ‘อย่าไปเครียดมันเลย!’ ‘why so serious’ ที่เป็นแรงบันดาลใจให้ ‘wild so serious’ คำนี้ก็มีที่มาจากวลีติดปากของวายร้ายคู่ปรับ Batman อย่าง ‘โจ๊กเกอร์’ (Joker) ด้วย

โดย ‘โจ๊กเกอร์’ ก็จะไป Link หรือเชื่อมโยงกับตัวน้องหมีสีชมพู ที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์ของพลอยและ ‘wild so serious’ ด้วย เพราะหากสังเกตจะพบว่าที่ดวงตาข้างหนึ่งของเจ้าหมีจะมีดวงตารูปดาว ทั้งนี้ ความตั้งใจของพลอย คือเพื่อให้ Relate กับโจ๊กเกอร์ ที่บ่อยครั้งมักมีสัญลักษณ์รูปดาวสี่เหลี่ยมอยู่บนใบหน้าบริเวณดวงตาเช่นกัน

พลอยเล่าว่า เมื่อหันมาวาดรูปในช่วงประมาณปี ค.ศ. 2018 งานที่วาดล้วนเป็นงาน Digital Arts เพราะส่วนใหญ่พลอยวาดใน iPad ซึ่งวาดได้อย่างสนุกและมีความสุข เหมือนเป็นพื้นที่ให้พลอยได้เอาไว้ปลดปล่อยจินตนาการอย่างเต็มที่




เปิดโลกกว้าง NFT

ถามว่างานนิทรรศการของพลอยที่ MRT พหลโยธิน กับโลก NFT ของพลอยนั้น เชื่อมเข้าด้วยกันอย่างไร
พลอยตอบว่า จุดเริ่มต้น ของนิทรรศการดังกล่าวก็เริ่มมาจากงาน NFT
นั่นคือประมาณช่วงที่ 2 ปีที่แล้ว NFT ในไทยเริ่มเป็นที่นิยมมาก

“เพื่อนรอบตัวพลอย เขาก็เริ่มเข้าไป join กันแล้ว แต่พลอยไม่เคยคิดจะทำเลยค่ะ เพราะรู้สึกว่าตัวเองวาดรูปไม่เก่ง ก็เลยลองโทรไปปรึกษาพี่คนนึงที่เคารพ ตอนแรกพลอยคิดจะเอางานปักมาทำ เอามาทำเป็นดิจิตอลดีไหม เอามาถ่ายรูปให้เป็นดิจิตอลได้เหมือนกัน พี่คนนี้เขาก็บอกว่า ‘ไม่ต้องปักหรอกมันเสียเวลา มาวาดรูปเถอะ’

เพราะเขาก็รู้ว่าเราวาดรูปเล่นใน IG ชื่อ ‘wild so serious’ อยู่แล้ว งั้นก็เอา ‘wild so serious’ มาทำสิ พลอยก็เลยเริ่มทำ Collection แรก ที่ออกใน NFT เลย ชื่อ ‘Wild art museum’ ค่ะ เป็นการ Parody งานอาร์ต Masterpiece อย่างเช่น งาน Mona Lisa ของ Leonardo da Vinci และศิลปินอื่นๆ อะไรแบบนี้ค่ะ เป็นงานที่คนสนใจอาร์ตส่วนใหญ่รู้จัก เราก็นำมา Parody ในสไตล์กวนๆ ของเราค่ะ คนก็จะบอกว่า ‘โอ้! ตลกดี’ พลอยก็ขายไม่แพง และ Drop งานครั้งละ 5 ชิ้น พลอยกำกับไว้ทั้งหมดว่าจะทำแค่ 50 ชิ้น จบก็คือจบค่ะ เหมือนสร้างเป็น Limited ให้คนว่ามันมีแค่นี้นะ คนอาจจะอยากได้มากขึ้น เสียงตอบรับที่ได้ก็คือ งานขายหมดเลยนะคะ อาจเป็นเพราะพลอย Drop ทีละ 5 ชิ้น และเพิ่มราคาในทุกๆ Drop ค่ะ” พลอยระบุและบอกเล่าเพิ่มเติมว่า เธอขายงาน NFT ด้วยสกุล Ethereum (ETH หรือ Ethereum คือ เงินดิจิทัลเป็น Cryptocurrency สกุลหนึ่ง ) โดยค่าเงินในช่วงที่เธอขายงาน NFT นั้น 1ETH มีมูลค่าประมาณ 100,000 กว่าบาท แต่พลอยเริ่มขายจาก 0.02 ETH แล้วค่อยเพิ่มไปเรื่อยๆ จนถึงประมาณ 0.09 ETH
กระทั่งขายงานได้ครบทั้ง 50 ชิ้น โดยขายหมดภายในระยะเวลาเพียงปีเดียว

จากนั้น พลอยก็ยังทำงานศิลปะต่อไป ด้วยงานชิ้นใหญ่ที่มีไซส์ 1ต่อ 1 ไป ซึ่งนับเป็นงานชิ้นใหญ่ที่พลอยขายได้ในราคาสูงถึง 0.5 ETH หรือประมาณ 50,000 บาท

นอกจากงานศิลปะที่ทำส่วนตัวแล้ว พลอยยังทำงานประจำที่เกี่ยวข้องกับ NFT ด้วย
“ถ้าย้อนไปตอนที่พลอยเล่าถึงพี่ที่เค้าแนะนำให้พลอยนำ ‘wild so serious’ มาขายเป็น NFT คือพี่เขาชื่อ 3LAND นะคะ
( หมายเหตุ* 3Landboy ศิลปิน NFT )

เค้าก็ทำคอลเลคชั่นชื่อ 3Landers จนบูมมาก ทำเป็นหมื่นตัว แล้วช่วงประมาณปลายปีที่แล้ว พี่เขาต้องการผู้ช่วย พลอยก็มาทำงานประจำอยู่กับพี่เขาค่ะ
ดังนั้น NFT ก็เหมือนกับเปิดโลกเราไปทีละสเต็ป พลอยทำงาน
Full-time กับพี่เขา แต่พลอยก็ยังทำงานของตัวเองได้ด้วยเหมือนกัน ถือว่าเป็นอีกช่องทางนึงค่ะ”




สนามเด็กเล่น ‘Wild Playground’

พลอยบอกเล่าถึงที่มาของการจัดแสดงนิทรรศการ ณ Metro Art หรือพื้นที่ Art Space ในสถานีรถไฟฟ้า MRT พหลโยธิน ว่า ในแวดวงของศิลปิน NFT นั้น มักไม่ได้ขายงานตัวเองเพียงอย่างเดียว แต่ก็จะซื้อ NFT ของศิลปินคนอื่นเก็บไว้ด้วยเหมือนกัน
สำหรับพลอย NFT จึงเป็นเหมือน ‘ตั๋ว’ ในการเข้า Commune บางอย่าง ที่ไม่ใช่เพียงแค่ในรูปแบบดิจิตอล แต่ยังขยายไปสู่การเข้าสังคมจริงๆ ของคนที่รักและชอบอะไรเหมือนกันด้วย








พลอยเล่าถึงความสนุกว่า เมื่อชอบ Commune ไหน เราก็ไปซื้องานนั้นๆ เพื่อที่จะได้ไปเล่นกับ Commune นั้นจริงๆ เพราะถือคอลเลกชั่นงานเดียวกัน

คอลเลกชั่นงานที่ทำให้เธอได้พบกับ Commune แห่งหนึ่ง เจ้าของผลงานคอลเลกชั่นนั้นไม่เพียงเป็นศิลปิน NFT แต่ยังเป็น Curator ที่ curate งานศิลปะ มีส่วนร่วมในการคัดสรรงานและเสนอ Portfolio ผลงานศิลปินให้กับคณะผู้จัดงานนิทรรศการที่ MRT ด้วย เมื่อเขา curate งานที่ MRT ในเฟสล่าสุด เขาอยากให้งานมีความ Related กับ NFT พลอยจึงส่ง Portfolio ไปให้ Curator รายนี้เลือกดู อีกทั้งเขารู้ว่าพลอยไม่ได้ทำแค่รูปวาดแต่ยังทำงานปัก งาน Crafts งาน Textile มาก่อน จึงอาจจะปรับเปลี่ยนได้กว้างกว่างานอาร์ตปกติ นี่อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พลอยได้รับเลือกให้แสดงงาน

ผลงานการแสดงนิทรรศการที่ MRT พหลโยธิน ของพลอยในครั้งนี้
มีชื่อ Concept ว่า Wild Playground จัดแสดงในเดือนมิถุนายน ถึงช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2023

“งานครั้งนี้เป็นการจำลองสนามเด็กเล่นในความรู้สึกของพลอยค่ะ เมื่อเรารู้ว่าเราจะได้เล่นกับ Public Space พลอยก็อยากให้งานย่อยง่าย เพราะอาจไม่ใช่ทุกคนที่มาเสพงานอาร์ตน่ะค่ะ บางคนเขาก็แค่อยากมาพักผ่อนวันหยุด หรืออาจจะแค่เดินผ่าน แล้วงานพลอยก็ย่อยง่ายๆ อยู่แล้ว ดังนั้น พลอยก็พยายามจะใส่เฟอร์นิเจอร์ลงไปด้วย เช่น Bean Bag, เก้าอี้ หรืออะไรที่คนสามารมาพักผ่อนอยู่ตรงนี้ได้ เหมือนเป็นสนามเด็กเล่นในวันหยุดหรือหลังเลิกงาน พลอยพยายามให้เล่นกับ Public Space มากขึ้น ให้คน enjoy อย่างเช่น เก้าอี้ ให้คนได้มาถ่ายรูปกัน

“เก้าอี้ที่พลอยทำขึ้นมันก็คือตัวละครที่อยู่ในรูปวาดของพลอย แล้วพลอยเอามาทำเอง เอามาดีไซน์ให้มันเป็นเก้าอี้ที่คนสามารถนั่งได้ Bean Bag ก็เป็นน้องที่เป็นหมีสีชมพู พลอยก็ทำเอง หมาตัวยาวๆ ก็ทำเป็นม้านั่ง ด้านนอก ก็ทำเป็นตุ๊กตารูปหัวสัตว์มาแขวน เพิ่ม Mood ให้คนได้เล่นมากขึ้น” พลอยบอกเล่าถึงความสดใสและความสนุกของนิทรรศการครั้งนี้ของเธอ
และไม่ลืมที่จะบอกกล่าวเพิ่มเติมว่า Wild Playground แต่ละรูปล้วนมีเรื่องราว
“เป็นเหมือนเรื่องเล่าในชีวิตประจำวัน ส่วนงานปักของพลอยในนิทรรศการนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นตุ๊กตาค่ะ จริงๆ แล้วก็ไม่ใช่งานปักซะทีเดียวค่ะ ก็นำงานที่วาดไว้มาทำเป็นเก้าอี้ อะไรแบบนี้”



‘พลอยศิริ รังคดิลก’ ศิลปิน NFT และนักปักผ้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
จากตุ๊กตาที่รัก สู่ ‘Landmark Icon’ สุด cute

คำถามสำคัญที่ไม่ถามคงไม่ได้ อะไรคือแรงบันดาลใจ อันเป็นที่มาของสัญลักษณ์สำคัญของ พลอย ‘wild so serious’ กระทั่งกลายมาเป็น Landmark Icon ที่ติดตาติดใจของผู้คนไม่น้อย

นั่นก็คือ ‘เจ้าหมีสีชมพู’ แม้พลอยจะเล่าให้ฟังแล้วว่าล้อกับวลีและ Gimmick ที่เกี่ยวข้องกับ ตัวละคร The Joker
แต่ที่ยังคงเป็นเครื่องหมายคำถามคือ ทำไมต้องเป็น ‘ตุ๊กตาหมี’?

พลอยตอบว่า

“หมีตัวนี้เป็นหมีเน่าของพลอยเอง ที่อยู่ด้วยกันมานานมาก ตอนเด็กๆ พลอยจะไม่ค่อยมีเพื่อนผู้หญิง คือทั้งหมู่บ้านจะเป็นเด็กผู้ชายทั้งหมด แล้วถ้าเราจะเล่นอะไรแบบสาวๆ เราต้องเล่นคนเดียว พลอยก็จะมีตุ๊กตาเยอะมาก แม่ก็จะชอบเย็บตุ๊กตาให้เล่น พลอยก็จะเล่นตุ๊กตาเยอะ แต่ตัวนี้คือตัวโปรด เหมือนเพื่อนสนิทเลย ไปไหนก็ไปกัน

“เมื่อเรามาวาดรูป แค่เหลือบไปเห็นตุ๊กตาตัวนี้ เราก็รู้สึกว่าเอาตัวนี้มาวาดดีกว่า เป็นหมีสีชมพู รู้สึกเป็นเด็กเหงาๆ แล้วเจ้าตัวนี้เป็นเพื่อนที่อยู่กับเรามาตลอดไม่ว่าเล่นด้วยกันหรือเวลาที่เราร้องไห้ สำหรับเด็กเหงาๆ คนนึงแล้ว นี่คือเพื่อนของเราค่ะ” 
พลอยทิ้งท้ายด้วยเสียงหัวเราะสดใส สวนทางกับความเป็นเด็กขี้เหงา ที่ฉายให้เห็นผ่านผลงานทุกรูปแบบของเธอ ซึ่งล้วนแฝงไว้ด้วยไออุ่นแห่งรักในความทรงจำวัยเยาว์ที่งดงามรวมทั้งอารมณ์ขันกวนๆ ที่ล้วนทำให้ผู้คนอมยิ้มอย่างอารมณ์ดี

……..
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : พลอยศิริ รังคดิลก