xs
xsm
sm
md
lg

“ฝรั่งเศส” ต้นแบบม็อบ 3 นิ้วลุกเป็นไฟ จับตา NATO แตกเป็นเสี่ยง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สนธิ” ชี้เหตุจลาจลฝรั่งเศส มีรากเหง้าจากปัญหาภายใน ความเหลื่อมล้ำ การเหยียดเชื้อชาติ-สีผิว ไม่ใช่ดินแดนแห่งเสรีภาพ มีรัฐสวัสดิการดีเยี่ยม ตามอุดมคติของม็อบสามนิ้ว ซ้ำยังทำตัวเป็นเตี้ยอุ้มค่อม ทุ่มเงินงบประมาณไปช่วยยูเครน จนต้องปรับแผนจ่ายบำนาญประชาชนเพื่อลดรายจ่าย เป็นชนวนการประท้วงทั่วประเทศ ขณะที่สงครามยูเครนมาถึงจุดเปลี่ยนเมื่อรัสเซียส่งกลุ่มแวกเนอร์เข้าเบลารุส จ่อคอหอยโปแลนด์ แยกลิทัวเนีย ลัตเวีย เอสโตเนีย ออกจากวงโคจร จนชาติสมาชิกนาโตเริ่มเสียงแตก ประเทศขนาดเล็กขนาดกลางอยากให้หยุดสงครามโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นยุโรปแตกเป็นเสี่ยงๆ แน่



ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้กล่าวถึงเหตุจลาจลที่ประเทศฝรั่งเศสที่กกำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก รัฐบาลฝรั่งเศสต้องจัดกำลังตำรวจทหารกว่า 45,000 คน มาปราบปรามผู้ก่อการประท้วงหลายพันคน ที่ก่อเหตุเผาร้านค้า เผาโรงเรียน เผารถยนต์ ทุบกระจกต่างๆ บุกเข้าไปเผาบ้านนายกเทศมนตรี ปล้นร้านค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร ทุบตู้ ATM บุกเข้าไปโจรกรรมทรัพย์สินสาขาธนาคาร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเยาวชน อายุแค่ 12-18 ปีเท่านั้น


เหตุทั้งหมดมันเกิดขึ้นเมื่อวันอังคารที่ 27 มิถุนายน หลังจากเด็กหนุ่มชาวฝรั่งเศส เชื้อชาติแอลจีเรีย ชื่อ นายเฮล เอ็ม ทำงานขับรถส่งพิซซ่า อยู่ถนนย่านน็องแตร์ ชานเมืองกรุงปารีส ถูกตำรวจเรียกให้หยุดรถเนื่่องจากเขาทำผิดกฎจราจร รายงานว่าเจ้าหน้าที่นายหนึ่งยิงปืนใส่นายเฮล เอ็ม โดยอ้างว่าเขากำลังขับรถพุ่งเข้าหา แต่ขัดแย้งกับภาพวิดีโอที่แพร่สะพัดอยู่บนโซเชียลมีเดีย

“นาเอล เอ็ม” = จอร์จ ฟลอยด์ แห่งฝรั่งเศส?

เจ้าหน้าที่ที่ยิงนายเฮล เอ็ม ถูกตั้งข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา ซึ่งกรณีนี้คล้ายกับคดีนายจอร์จ ฟลอยด์ ที่อเมริกา ถูกจับแล้วตำรวจกดคอลงกัับพื้นจนขาดอากาศหายใจ เสียชีวิต


การเสียชีวิตของนายเฮล เอ็ม จุดปะทุให้กลุ่มสิทธิต่างๆ และชุมชนรอบเมืองใหญ่ในฝรั่งเศสที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติสูง ออกมาเรียกร้องอีกครั้งในการหยุดใช้ความรุนแรงของตำรวจและการเหยียดเชื้อชาติอย่างเป็นระบบ ภายในหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย


มีการนำไปเปรียบเทียบกับการเสียชีวิตของ จอร์จ ฟลอยด์ ชาวผิวสีที่ตายที่เมืองมินนิอาโปลิส โดยตำรวจผิวขาว เมื่อ 25 พฤษภาคม 2563 จุดกระแสที่เรียกว่า Black Lives Matter ปรากฏการณ์ของคำว่า "I can't breathe" หรือ ผมหายใจไม่ออก ประท้วงไปทั่วอเมริกา 140 เมือง และเมืองใหญ่ทั่วโลก


ในฝรั่งเศสเองมีผู้เสียชีวิต ได้รับบาดเจ็บหลายคนจากน้ำมือตำรวจ และได้มีการประท้วงต่อต้านการเหยียดผิวในฝรั่งเศสมากขึ้น

ประเทศฝรั่งเศสเป็นต้นฉบับ ต้นแบบ การพูดถึงความเสมอภาค เสรีภาพ และภราดรภาพ ที่นายปิยบุตร แสงกนกกุล เทิดทูนเอาไว้อยู่บนศีรษะ รวมทั้งประเด็นประชาธิปไตย สวัสดิการ ม็อบสามนิ้วเมืองไทย สมาชิกพรรคก้าวไกล อนาคตใหม่ ชอบหยิบยกเป็นสัญลักษณ์ ยกให้เป็นต้นแบบ


“ผมเอารูปให้ดู ไม่ว่าจะเป็นสามนิ้วของคุณปิยบุตร พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แม้แต่นายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 จากพรรคก้าวไกล ก็ยังชูสามนิ้ว แต่ท่านผู้ชมรู้ไหมครับ ในความเป็นจริง แม้จะเป็นประเทศต้นแบบของสามนิ้ว แต่สาเหตุปัญหาหนึ่งคือความไม่สงบ การจลาจลในฝรั่งเศส ณ ปัจจุบัน มันเกิดจากอะไร ? เกิดจากความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคม การเลือกปฏิบัติ ความตึงเครียดระหว่างตำรวจกับผิวสี โดยเฉพาะเชื้อสายแอฟริกา และอาหรับ หลายสิบปีที่ผ่านมา กว่าครึ่งศตวรรษ ได้เกิดเหตุการณ์ครั้งแล้วครั้งเล่า”


กล่าวโดยสั้นๆ รัฐบาลฝรั่งเศสมีแผนจะปฏิรูประบบบำนาญ ตอนนี้ก็เลยเกิดปัญหาขึ้นมา นายมาครง ประธานาธิบดี ผลักดันการปฏิรูประบบบำนาญผ่านรัฐสภา โดยไม่มีการลงมติของรัฐสภา พูดง่ายๆ ว่าจะปฏิรูประบบบำนาญผู้สูงอายุ ส่งผลให้คนต้องทำงานนานขึ้น ปรับเกณฑ์คนที่มีอายุรับบำนาญ จากเดิม 62 ปี เป็น 64 แต่กลับได้จำนวนเงินบำนาญน้อยลงเมื่อเกษียณอายุ

การกระทำดังกล่าวทำให้เกิดความรุนแรงของฝ่ายที่คัดค้าน ที่ถูกตัดทอนความชอบธรรมทางกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตย เพราะจากผลสำรวจความคิดเห็นมากกว่า 2 ใน 3 ของชาวฝรั่งเศส คัดค้านการยกเครื่องระบบบำนาญเกษียณอายุใหม่

ปัญหาในประเทศของฝรั่งเศส การเหยียดผิว ประเด็นเรื่องตำรวจลุแก่อำนาจ ใช้ความรุนแรง เลือกปฏิบัติ ปัญหาเรื่องผู้อพยพ ความไม่เท่าเทียมกัน เรื่องสวัสดิการ การศึกษา รักษาพยาบาล เรื่อยไปจนถึงปัญหาบำนาญ


สังเกตไหมว่ามีประเด็นที่สื่อตะวันตกเกือบทั้งหมดและไทย ไม่เคยพูดถึง ก็คือประเด็นเรื่องปัญหาวิกฤตด้านเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ และปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ที่ต้นตอมาจากการเข้าไปล่มหัวจมท้ายของชาติต่างๆ ในยุโรป กับสงครามยูเครน ก่อนที่สงครามยูเครนจะเกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 รัสเซีย โดยประธานาธิบดีปูติน ได้ส่งสัญญาณหลายครั้งหลายครามาสิบๆ ปีแล้วว่าอย่าให้อเมริกา และนาโต ขยายอิทธิพลมาทางตะวันออก อย่าเพิ่มจำนวนสมาชิกนาโต อย่าเข้ามาแทรกแซงสถานการณ์ในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่ใกล้ชิดรัสเซีย เพราะว่ายุโรป และรัสเซียนั้นควรจะอยู่กันอย่างสงบ แต่ว่าประเทศยุโรป อียูส่วนใหญ่ยังไปเชื่ออเมริกา และนาโต ก็เลยมีการบุกยูเครน ตามด้วยความไม่มั่นคงทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ระบาดไปทั่วทั้งทวีป

ในอดีตหลายร้อยปีก่อนฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคม เป็นนักล่าเมืองขึ้น นำทรัพยากรต่างๆ ทรัพย์สินเงินทอง ของมีค่า กวาดต้านทาสแรงงานกลับมาฝรั่งเศสอย่างสบายใจ ด้วยเหตุนี้ กรรมตามสนอง ฝรั่งเศสจึงเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยผู้คนจากอดีตดินแดนอาณานิคม หรือดินแดนโพ้นทะเล พอเวลาผ่านล่วงไป ผนวกกับการที่ฝรั่งเศสยังไม่เลิกสันดานในการเป็นเจ้าอาณานิคม รับเอาผู้อพยพจากทั่วไปหมดเข้ามาในประเทศ เมื่อผู้อพยพพวกนี้ออกลูกออกหลาน กลายเป็นประเทศนี้ประกอบด้วยผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ภาษา และศาสนา กลับหาความสงบสันติไม่ได้เลย กระทบกระทั่งกันอยู่ประจำ เป็นปัญหาอย่างรุนแรง อย่างที่เราเห็นปัจจุบัน ผนวกกับปัญหาเศรษฐกิจ และความมั่นคงจากสงครามยูเครน ก็เลยกลายเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่ยากจะหยุดยั้ง


ปัญหาล่าสุด เดือนมีนาคม 2566 เคยยกเลิกกำหนดการเยือนฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการของสมเด็จพระราชาธิบดีชาร์ลส ที่ 3 แห่งอังกฤษ มาแล้วรอบหนึ่งจากเหตุประท้วงของม็อบปฏิรูประบบบำนาญ นายมาครง ต้องประชุมด่วนฉุกเฉิน ระดมเจ้าหน้าที่ทหารจำนวน 45,000 นาย ทั้งตำรวจปราบปราม ทหารหน่วยจู่โจม หน่วยปฏิบัติการก่อการร้าย กองกำลังความมั่นคงอื่นๆ รถหุ้มเกราะ กระจายกำลังทั่วประเทศ ปราบปราม สลายผู้ชุมนุมประท้วงบนถนน ผู้ชุมนุมก็ใช้อาวุธปืนหลายชนิดที่ลักลอบมาจากยูเครน นั่นคืออาวุธที่ทางตะวันตกส่งไปให้ยูเครนใช้ พวกยูเครนก็ส่งอาวุธนั้นไปขายในตลาดมืด ทำให้สื่อตะวันตกอ้างว่ารัสเซียอยู่เบื้องหลัง เพราะว่ามีอาวุธเข้ามา

ลามไปทางประเทศยุโรปอื่นๆ สวิตเซอร์แลนด์ ก็มีการจลาจลขึ้นมา ลุกลามไปยังเมืองซูริค เมืองที่ใหญ่ที่สุด ปล้นสะดม ทุบร้านค้าทั่วเมือง เบลเยียม มีการชุมนุมขนาดใหญ่ในประเทศเบลเยียม กำลังเลียนแบบฝรั่งเศสเช่นเดียวกัน

ฝรั่งเศสมีความกังวลว่ามหกรรมโอลิมปิกที่นครปารีส ปี 2024 หรือปีหน้า 2567 จะไปได้ดีหรือเปล่า จะเรียบร้อยไหม การชุมนุมแบบนี้จะต่อเนื่องไปหรือเปล่า

“ฝรั่งเศส” เตี้ยอุ้มค่อม ประชาชนลำบาก แต่ทุ่มงบประมาณไปช่วยยูเครน

ระบบการเมืองฝรั่งเศสนั้นเป็นกึ่งประธานาธิบดีกึ่งรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นคนชี้ขาด ไม่ต้องรับผิดชอบ มีอำนาจสูงสุด เป็นประมุข นายกรัฐมนตรีเป็นซีอีโอ ถ้ามีความไม่พอใจอะไร ประชาชนก็ลงถนน นี่เป็นวัฒนธรรมของฝรั่งเศส


การประท้วงใหญ่นั้น ไม่พอใจต่อการปฏิรูประบบบำนาญที่กระทบคนฝรั่งเศสที่เสียภาษี แต่ประธานาธิบดีมาครง กลับเอาเงินภาษีนี้ไปสนับสนุนให้ยูเครนทำสงครามกับรัสเซีย

ฝรั่งเศสมอบเงิน 630 ล้านยูโร หรือประมาณ 24,000 ล้านบาท เอาไปเป็นโครงการใช้จ่ายนอกงบประมาณในด้านการสนับสนุนความปลอดภัยทั่วโลกของสหภาพยุโรป แล้วยังมอบให้อีก 200 ล้านยูโร หรือราวๆ 7,600 ล้านบาท ช่วยเหลือยูเครนด้านมนุษยธรรม



นอกจากนี้ ฝรั่งเศสยังให้คำมั่นว่าจะเบิกจ่ายงบประมาณมากกว่า 1,000 ล้านยูโร หรือ 38,000 ล้านบาท ระหว่างกันยายน 2565 ถึงเมษายน 2566 เพื่อสนับสนุนยูเครน


เงินบริจาคของฝรั่งเศสนั้นคิดเป็น 20 เปอร์เซ็นต์ ของเงินบริจาคของอียูทั้งหมด ที่สนับสนุนให้ยูเครนทำสงครามกับรัสเซีย ประเทศฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ใหญ่อันดับสองของอียู เป็นชาติเดียวในอียูที่เป็นสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงฯ

นาโต-อียู ส่อแตกเป็นเสี่ยง

ประเทศฝรั่งเศสตอนนี้กำลังลำบากมาก รัสเซียได้ปรับหมากกลยุทธ์ด้วยการดันกลุ่มนักรบแวกเนอร์ไปจ่อคอหอยโปแลนด์ คาลินินกราด ตัดคั่นกลางแยกลิทัวเนีย ลัตเวีย เอสโตเนีย ออกจากวงโคจร แล้วยังเอาหัวขีปนาวุธไปติดตั้งที่เบลารุส


สถานการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นที่รัสเซียส่งแวกเนอร์ไปนั้น ทำให้วงประชุมนาโตเสียงแตก ประเทศขนาดกลาง ขนาดเล็ก อย่างตุรกี เซอร์เบีย กรีซ บัลแกเรีย ฮังการี เชก จับมือแสดงท่าทีว่าไม่อยากให้สงครามยูเครนยืดเยื้อต่อไปอีกแล้ว เหลือแค่ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี โปแลนด์ ที่มีปัจจัยกดดันจากความวุ่นวายและปัญหาเศรษฐกิจถูกพัวพันอย่างหนัก ในที่สุดแล้วก็มีการประเมินว่า ถ้าไม่ยุติสงครามยูเครนในเร็ววันนี้ นาโต และอียู มีสิทธิที่จะแตกเป็นเสี่ยงๆ

นี่คือสถานการณ์และความจริงของฝรั่งเศส เยอรมนี รวมทั้งประเทศต่างๆ ในยุโรป ณ วันนี้ ประเทศพวกนี้เป็นต้นแบบสังคมภายใต้ระบบรัฐสวัสดิการของแกนนำพรรคก้าวไกล รวมทั้งกลุ่มสามนิ้วที่ใฝ่ฝันและยึดเป็นแบบอย่างในการนำพาประเทศไทยของเราให้ก้าวไปสู่รัฐสวัสดิการ ที่ในที่สุดเมื่อล้มสถาบันกษัตริย์ได้แล้ว ก็จะกลายเป็นระบอบสาธารณรัฐ เป็นความใฝ่ฝันของนายปิยบุตร แสงกนกกุล นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นางสาวพรรณิการ์ (ช่อ) วานิช ส่วนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หลังจากที่โค้ง 45 องศา ไปแล้ว และสัญญาว่าจะนำพระราชดำรัสมาทำนั้น ไม่แน่ใจว่าจะร่วมเป็นร่วมตายกับคนพวกนี้ต่อไปหรือเปล่า


“ยกตัวอย่างในส่วนของประเทศไทย นายพิธา และพรรคก้าวไกล พยายามกดดันให้มีการรับผู้อพยพชาวพม่า โรฮีนจา รวมทั้งให้สวัสดิการ รายได้ สิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล เท่ากับประชาชนคนไทย โดยอ้างอีกแล้วว่าเป็นหลักการสิทธิมนุษยชน ไม่นับถึงการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางใต้พยายามแยกรัฐปาตานีที่แหกตานักประวัติศาสตร์ เพราะไม่เคยมีรัฐปาตานีในโลกนี้ นอกจากพวกที่แยกดินแดนคิดตั้งขึ้นมา

“ท่านผู้ชมมองดูและจดจำภาพการจลาจล ความวุ่นวาย สิ่งที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส และหลายประเทศในยุโรป เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ หลายประเทศ ในวันนี้เอาไว้ให้ดี จำให้ดี เพราะในอนาคตท่านผู้ชมทุกท่านกับลูกหลานทุกคนอาจจะต้องประสบพบเจอ ซึ่งผมกลัวจริงๆ วันนั้นมาถึงแล้ว สิ่งที่พวกเราและลูกหลานต้องเผชิญจะเลวร้ายกว่าในยุโรปในวันนี้อีกหลายเท่าตัว แต่ช่างมันเถอะครับ พรรคก้าวไกล นี่คือความฝันอันสูงสุดของคุณปิยบุตร แสงกนกกุล หัวใจนักปฏิบัติฝรั่งเศสว่าอย่างไรครับ ตอนนี้ คุณหันกลับไปดูประเทศต้นแบบที่คุณลุ่มหลง หลงใหล และคลั่งไคล้ จะเอาหลักการของฝรั่งเศสมาใช้กับประเทศไทย”



“เรื่องฝรั่งเศสถึงแม้เป็นเรื่องไกลตัวเรา แต่ดูให้ลึกๆ แล้วมันหายใจรดต้นคอเรา เพราะว่าคนที่ต้องการเอาโมเดลฝรั่งเศสมานั้น ก็คือผู้ที่มีอิทธิพลในพรรคก้าวไกล คือคุณปิยบุตร แสงกนกกุล ภรรยาเขาเป็นคนฝรั่งเศส รวมทั้งคุณธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ คุณช่อ-พรรณิการ์ วานิช และบางส่วนก็คือคุณพิธา ที่ผมพูดไปบางส่วนว่าคุณพิธาเดี๋ยวนี้เริ่มจะเอนจอยกับอำนาจ ก็เลยพร้อมที่จะยอมรับความเป็นไปได้ความคงอยู่ของสถาบันกษัตริย์” นายสนธิกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น