“สนธิ” เปิดโฉมหน้าผู้ใหญ่ใจอำมหิต ปั่นหัว “น้องหยก” คือกลุ่ม “ไฟเย็น” กับ “ยัน มาฉัล” ผู้ต้องหา ม.112 ที่หลบหนีไปอยู่ฝรั่งเศส โดยผ่าน “บุ้ง” และกลุ่มทะลุวัง มีพรรคก้าวไกลคอยสนับสนุน ใช้เด็กเป็นเครื่องมือ เขียนบทให้ “หยก” เป็นผู้ต้องหาคดี 112 ที่อายุน้อยที่สุด
ในรายการ “คุยทุกเรื่องกับสนธิ” วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์เครือผู้จัดการ ได้เปิดเผยให้เห็นถึงขบวนการที่อยู่เบื้องหลัง “หยก ธนลภย์” เด็กวัย 15 ปีที่ออกมาเคลื่อนไหวให้ยกเลิก ม.112 และต่อต้านกฎระเบียบการแต่งกายและการไว้ทรงผมของโรงเรียนเตรียมอุดมพัฒนาการอยู่ในขณะนี้ ซึ่งทำให้หลายคนออกมาตั้งคำถามว่า พ่อ แม่ ของ “หยก” เป็นใคร ทำไมปล่อยให้ลูกออกมาต่อสู้ตัวคนเดียวตั้งแต่อายุยังน้อย
แหล่งข่าวเชิงลึกที่ลงพื้นที่หาข้อมูลพบว่า “หยก” มาจากครอบครัวที่พ่อกับแม่มักจะทะเลาะกัน โดยก่อนหน้านั้น ตัวพ่อมีภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมายอยู่แล้วและมีลูกสาวอยู่แล้ว 1 คน ปัจจุบันอายุ 19 ปี
ส่วนแม่ของ “น้องหยก” เป็นภรรยานอกสมรส มักจะมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง ทำร้ายร่างกายกันเอง ขึ้นโรงพักแจ้งความให้ตำรวจไกล่เกลี่ยเป็นประจำ แต่ปัจจุบันนี้พ่อกับแม่ของหยกแยกทางกันแล้ว โดยพ่อกลับไปอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ส่วนแม่ก็ขาดการติดต่อไปในช่วงหลัง ทำให้หยกต้องอาศัยอยู่กับป้า
ด้วยเหตุนี้เด็กแบบ “น้องหยก” จึงกลายเป็นเป้าหมายที่เหมาะสมที่สุดในการใช้เป็นหุ่นเชิด เป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มล้มสถาบัน
ถูกเขียนบทให้เป็น “ผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 ที่อายุน้อยที่สุด”
เพื่อนๆ ในวงการเรียก “น้องหยก” ว่า “สหายนอนน้อย” ซึ่งย้อนแย้ง กลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตย แต่แค่ชื่อเรียกขานในกลุ่มกลับเป็นการตั้งชื่อใน แนวคอมมิวนิสต์ คือ สหาย หรือ ภาษาอังกฤษคือ Comrade
นอกจากนี้การสร้างชื่อเรียกขานว่า “สหาย” ยังสอดคล้องกับการที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เคยให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้โดยระบุด้วยว่าอยากให้เลิกใช้คำเรียกว่า พี่ น้อง ลุง ป้า น้า อา เพราะต้องการจะยกเลิก “วัฒนธรรมอำนาจนิยม” ซึ่งก็เป็นชุดคำพูดเดียวกับที่ “น้องหยก” ใช้ในการปฏิเสธกฎระเบียบต่าง ๆ ของ รร.เตรียมอุดมพัฒนาการ
“หยก” เริ่มเคลื่อนไหวทำกิจกรรมต่อต้านสถาบันฯ ร่วมกับ “กลุ่มนาดสินปฏิวัติ (มิ้นต์ หรือ เจ๊เขียวกิโยติน)” และ กลุ่มทะลุวัง (ตะวัน แบม บุ้ง) โดยในโลกโซเชียลสหายนอนน้อยจะโพสต์ หรือแชร์เรื่องราวที่เกี่ยวกับสถาบันฯ ไปในทางเสื่อมเสีย ซึ่งได้รับอิทธิพลทางความคิดต่อต้านสถาบันฯ มาจาก "จอม ไฟเย็น" ที่หนีคดี 112 ไปทำงานเป็นเกษตรกรอยู่ที่ฝรั่งเศส) ซึ่งเชื่อมโยงกับ นายยัน มาร์ฉัล ติ๊กต๊อกเกอร์ชาวฝรั่งเศส ที่มีพฤติกรรมหมิ่นสถาบันฯ และ สนับสนุนกลุ่มหมิ่นสถาบันฯ
จนในที่สุดเมื่อสุกงอม ผู้ที่อยู่เบื้องหลังก็ดัน “หยก” ที่ตอนนั้นยังอายุเพียง 14 ปีออกมาเคลื่อนไหวเปิดตัว ในวันที่ 13 ตุลาคม 2565
วันที่ 13 ตุลาคม 2565 วันคล้ายวันสวรรคต ของในหลวงรัชกาลที่ 9 “หยก” เข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม “13 ตุลาหวังว่าสายฝนจะพาล่องไป” ที่บริเวณเสาชิงช้า หน้าศาลาว่าการ กทม. เขียนข้อความบนพื้นบริเวณเสาชิงช้า ซึ่งล้วนแต่มีเนื้อหาอันเป็นเท็จ เกี่ยวกับ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จาบจ้วงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยระหว่างทำการดังกล่าว “หยก” ได้สวมหมวกมีตรา “กลุ่มไฟเย็น” จนมีหมายเรียกของ สน.สำราญราษฎร์ และมีติดตัวคดี มาตรา 112ซึ่งในเวลานั้นมารดาของ “หยก” ก็ได้ตักเตือนเรื่องการชุมนุมเพราะไม่เห็นด้วย ทำให้แม่ลูกทะเลาะกัน
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 “หยก” ร่วมจัดกิจกรรมชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ฉีกหมายเรียกหน้า UN เมื่อตำรวจเพียงออกหมายเรียก ไม่ออกหมายจับเสียที
วันที่ 28 มีนาคม 2566 “หยก” จึงถูกส่งเข้าร่วมเหตุการณ์พ่นสีกำแพงวังกับ นายศุทธวีร์ สร้อยคำ หรือ บังเอิญ อายุ 25 ปี จนถูกควบคุมตัวตามหมายจับคดี 112 จากเหตุการณ์หมิ่นสถาบันเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2565
วันที่ 29 มีนาคม 2566 ศาลให้ควบคุมตัวหยก ที่สถานพินิจ บ้านปราณี จ.นครปฐม เนื่องจากหยกปฏิเสธอำนาจศาล
ตรงนี้มีประเด็นโดยตอนแรก มารดาของ “หยก” ได้มาทำการขอประกันตัวต่อศาล แต่ปรากฏว่า “ผักบุ้ง เนติพร” และกลุ่มทะลุวังพยายามคัดค้านว่าไม่ตรงกับเจตนารมณ์ของ“น้องหยก”มารดาของหยกก็เลยไม่ได้ประกันตัวและให้ทางกลุ่มไปดูแลหยกเอง แต่ไม่ได้มีคำสั่งศาลในการให้เป็นผู้ปกครอง และแม่แจ้งว่าไม่ขอยุ่งเกี่ยวอีก !
หลังจากนั้น ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนที่มีทนายความเป็นแกนนำม็อบ 3 นิ้วอย่าง นายอานนท์ นำภา และศูนย์ทนายฯ แห่งนี้รับเงินจากองค์กร/สถานทูตต่างชาติมาเคลื่อนไหว ก็รีบประโคมข่าวทันทีว่า หยก ยืนยันปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม ปฏิเสธที่จะมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย (ทนายความ) และไม่ขอเซ็นเอกสารใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึงจะไม่ขอยื่นประกันตัวระหว่างที่เธอนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดีของศาล หยกยังได้นั่งหันหลังให้กับบัลลังก์และผู้พิพากษาอีกด้วย
ช่วงระหว่าง วันที่ 8 เมษายน 2566 - 15 พฤษภาคม กลุ่มทะลุวัง และเครือข่ายต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงกันเช่น กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ก็ จัดกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัว “น้องหยก”
จนกระทั่ง วันที่ 18 พฤษภาคม 2566 ศาลสั่งปล่อยตัว “น้องหยก” และ วันที่ 19 พฤษภาคม 2566 ก็มีการมอบตัว “น้องหยก” เพื่อเข้าเรียนที่ รร.เตรียมอุดมพัฒนาการ
เปิดลับกลุ่มบุคคลที่“หยก”อยู่ด้วยเป็นประจำ
หลังออกจากบ้านปราณี“หยก” ก็มาอาศัยอยู่กับ “ผักบุ้ง เนติพร” แกนนำกลุ่มทะลุวัง
ทั้งนี้"กลุ่มทะลุวัง"เป็นชื่อกลุ่มนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในเรื่องการปฏิรูปสถาบัน โดยกลุ่มบุคคลที่มักปรากฏตัวว่า อยู่กับ “หยก” เป็นประจำ มีดังนี้
1) นายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ สายน้ำ อายุ 18 ปี กลุ่มทะลุวัง/มังกรปฏิวัติ ลูกชายของ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
2) น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน อายุ 21 ปี กลุ่มทะลุวัง/มังกรปฏิวัติ
3) น.ส.เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ ผักบุ้ง อายุ 26 ปี กลุ่มทะลุวัง
4) น.ส.วิชญาพร ตุงคะเสน (แฟนสาวสายน้ำ) อายุ 22 ปี กลุ่มทะลุวัง
5) น.ส.วีรดา คงธนกุลโรจน์ หรือ ทนายเฟิร์น อายุ 32 ปี
6) นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือ “เก็ท โมกหลวง” อายุ 23 ปี กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ซึ่งเป็นผู้ปกครอง “น้องหยก” ระหว่างอยู่ในบ้านปราณี และเคยมีปากเสียงกับแม่น้องหยก
7) น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ แบม อายุ 23 ปี กลุ่มทะลุวัง/มังกรปฏิวัติ
8) นายสิทธิชัย ปราศัย อายุ 25 ปี กลุ่มเพื่อนกัญปฏิวัติ
9) นายศุทธวีร์ สร้อยคำ อายุ 25 ปี กลุ่มภาคีสหาย
จากภาพ ที่ปรากฏตามสื่อโซเซียล มีคนตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของ หยก เหมือนเป็นละครฉากหนึ่ง ที่มีการวางแผนมาเป็นอย่างดี ทั้งตัวแสดงนำ ผู้กำกับ ช่างวีดีโอ ช่างภาพชาวไทย ชาวต่างชาติ
แหล่งข่าวความมั่นคงให้ข้อมูลเชิงลึกว่า ผู้สนับสนุน “หยก” คือกลุ่มไฟเย็น โดยเฉพาะ "แยม ไฟเย็น" กับ "ยัน มาฉัล" ชาวฝรั่งเศสซึ่งหนีคดี ม.112 ไปอยู่ต่างประเทศ
โดยกลุ่มไฟเย็น เป็นแบ็กอัปให้หยกสร้างกระแส โดยเชื่อว่าให้การสนับสนุนกับ “ผักบุ้ง” เพื่อให้ “ผักบุ้ง” รับ “หยก” ไปพักอาศัยอยู่ด้วย และใช้ “หยก” เป็นเครื่องมือในการสร้างกระแสข่าวหรือความวุ่นวายต่าง ๆ เพราะถ้า “หยก” มีกระแสข่าว “ผักบุ้ง” ซึ่งก็จะได้รับเงินสนับสนุนจากกลุ่มไฟเย็นต่อไป ถ้าไม่สร้างเรื่องราวให้กับตัวเอง กลุ่มไฟเย็นอาจจะไม่ให้เงินสนับสนุนต่อ ซึ่ง “หยก”ยังเป็นเยาวชน ยังอ่อนด้อยประสบการณ์ ไม่น่าจะคิดทำการเองได้ น่าจะเป็นเครื่องมือ ถูกชักจูงจากคนกลุ่มนี้
ย้อนรอย “ก้าวไกล” เคยสนับสนุน “หยก” ถึงกับนำนโยบายไปเป็นหนึ่งในนโยบายพรรค
“ตัวละครหลัก” ของเรื่องและ “มืออำมหิต” ที่ชักใยอยู่ข้างหลัง “หยก” จะขาดอีกตัวหนึ่งไม่ได้เลย นั่นก็คือ พรรคก้าวไกล
วันที่ 12 พฤษภาคม 2566 -ช่วงก่อนเลือกตั้งไม่กี่วัน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ยังพูดถึง“หยก” ที่ตอนนั้นยังไม่ได้รับการปล่อยตัวจากบ้านปราณีอยู่เลย ได้เอาเรื่องของ “หยก” มาพูดบนเวทีหาเสียงเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมายอาญามาตรา 112
นายพิธาบอกว่า “น้องหยกกลายเป็นผู้ต้องหามาตรา 112 ที่อายุน้อยที่สุดในประเทศไทย สิ่งที่ผมต้องการพูดในเวทีนี้อย่างมีวุฒิภาวะ อยากให้ตั้งสติ ไม่ได้อยากให้มาตัดสินว่า หยกผิด หรือแก้ไขมาตรา 112 ให้ส่งไปคนเห็นต่างว่าสังคมกำลังตั้งกำแพงหรือสายลมแห่งความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่หยกและคนรุ่นใหม่ต้องเผชิญมาจากการเอาประเด็นสถาบันมาโจมตีตลอดเวลา ฉะนั้น นายกรัฐมนตรีและผู้นำคนต่อไปต้องอยู่ภายใต้ประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและวางฐานะอย่างเหมาะสม”
นอกจากนี้ นโยบายพรรคก้าวไกล ซึ่งโพสต์ลงในเฟซบุ๊กของพรรคเมื่อ วันที่ 20 มีนาคม 2566 ก่อนวันเลือกตั้ง ก็ระบุชัดเจนว่า
- ไม่บังคับชุดนักเรียน ผู้ปกครองใช้งบกับอย่างอื่นได้
- ยกเลิกการบังคับใส่ชุดนักเรียนไปโรงเรียน
- เปลี่ยนงบประมาณรายหัวในหมวดเครื่องแบบนักเรียน ให้กลายเป็นงบที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้ (เช่น อุดหนุนเทคโนโลยีการศึกษา กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน)
แต่ทำไมพอได้รับเลือกตั้งแล้วกำลังจะเป็นนายกรัฐมนตรี นายพิธา ถึงได้ลืม“น้องหยก”เร็วเหลือเกิน หรือเป็นเพราะ กระแส ตีกลับ คนไม่เอาด้วย “กลุ่มทะลุวัง”ที่อยู่เบื้องหลัง “น้องหยก” และพวกพรรคก้าวไกลสนับสนุนมาตลอด ก็ทวงถามทางนายพิธา และพรรคก้าวไกลเหมือนกัน
ยิ่งพอ“หยก” ปีนรั้วโรงเรียน ต่อต้านกฎโรงเรียนเตรียมพัฒน์ฯ สร้างกระแสเรียกร้องความสนใจเป็นรายวัน ทำกระแสตีกลับ โซเชียลรุมด่า พรรคก้าวไกลก็เลยเงียบกริบ ถึงขั้น ให้ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล ออกมาบอกปัดว่า“เรื่องนี้เป็นการตัดสินใจของตัวหยกเอง และทุกการตัดสินใจไม่มีใครอยู่เบื้องหลังทั้งนั้น”
ต่อมาพอพรรคก้าวไกล ถูกทวงถามความรับผิดชอบ ถูกกดดันมากขึ้น ๆ จึงค่อยส่ง นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ลงพื้นที่ไปที่โรงเรียน แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ
“สรุปไม่ได้หรอก เพราะแฉไปแฉมา พวกคุณพรรคก้าวไกลนี่แหละที่อยู่เบื้องหลังการชักใย และหาประโยชน์จากความเคลื่อนไหวของน้องหยกอยู่” นายสนธิกล่าว
ม็อบเด็กสาดสี - บุกทำลายรูปปั้น สธ. ปี 64 ชัด“พรรคอีแอบ”ปั่นให้เด็กสู้แล้วลอยแพ
ยังมีกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับ “กลุ่มที่ชักใยน้องหยก” ตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งคดีความนั้นต่อเนื่องยาวนานมาถึงปัจจุบันปี 2566
ย้อนไปเมื่อปี 2564 อีกเหตุการณ์หนึ่งที่เป็นการปลุกปั่นให้เยาวชนออกมาใช้ความรุนแรง ก็คือเหตุการณ์ม็อบเด็กสาดสี – บุกทำลายรูปปั้นที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ผู้ชุมนุมกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มไพร่พล และ กลุ่มเด็กปากแจ๋ว นำโดย น.ส.ณิชกานต์ หรือมีมี่ และ น.ส.เบญจมาภรณ์ หรือ “พลอย แก๊งทะลุวัง” ซึ่งก็คือกลุ่มที่ชักใย “น้องหยก” อยู่ทุกวันนี้ได้รวมตัวกันที่บริเวณประตู 1 หน้าสำนักงานประกันสังคม กระทรวงสาธารณสุข เพื่อทำกิจกรรมที่เรียกว่า "บุกกระทรวงทวงวัคซีน" เรียกร้องให้นำวัคซีน mRNA ที่อ้างว่าเป็นวัคซีนคุณภาพดีและฟรีมาฉีดให้ประชาชนและเด็กทุกคน
โดยทางกลุ่มได้นำพวงหรีด เขียนชื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข พร้อมนำหุ่นจำลองศพผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 มาวางบนพื้นถนนก่อนนำสีแดงมาราด และพยายามที่จะราดน้ำมันเพื่อจุดไฟเผา เจ้าหน้าที่ต้องนำเครื่องดับเพลิงมาฉีดสกัดไว้ไม่ให้เกิดเปลวไฟ ต่อมาทางกลุ่มยอมยื่นหนังสือผ่านตัวแทนกระทรวงสาธารณสุข ก่อนขู่ว่าอีก 7 วันไม่ทำเจอแน่ แล้วจึงแยกย้ายกลับไป
อีก 6 วันต่อมา ในคืนวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ได้เกิดเหตุบุคคลเข้าไปพ่นสีและสาดสีแดงใส่อนุสาวรีย์ 3 แห่งภายในกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่
1) พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร หน้าอาคารสำนักงานปลัด สธ.
2) บริเวณพระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย” และพระบิดาของรัชกาลที่ 8, รัชกาลที่ 9 และพระอัยกาของรัชกาลที่ 10
3) ส่วน อนุสาวรีย์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือสมเด็จย่า ก็มีการสาดสี และกากบาทบนป้ายกระทรวงสาธารณสุข และยังมีการคล้องเชือกเพื่อดึงพระราชานุสาวรีย์ลงมา
สัปดาห์ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2566 นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึง ความคืบหน้าในกรณีดังกล่าว ซึ่งอยู่ในกระบวนการยุติธรรมว่า เรื่องนี้มีการดำเนินคดีหลายคดีไล่ ๆ กันมา มีการดำเนินคดีทั้งเรื่องของบุกรุก หมิ่นประมาท ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน และทำลายทรัพย์สิน
ทั้งนี้ของ “กลุ่มเด็กปากแจ๋ว” มีการขึ้นศาลไปนานแล้ว ซึ่งกลุ่มเด็กและเยาวชน ศาลท่านไม่ได้ลงโทษอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมาก็ให้กลุ่มเด็กและเยาวชนมาขัดห้องน้ำ ทำความสะอาดห้องน้ำในกระทรวง ทำความสะอาดอนุสาวรีย์ กล่าวคำขอโทษเรียบร้อยทุกคน
นพ.รุ่งเรือง ให้ข้อมูลกับทีมงาน “สนธิทอล์ก” ว่า “ในส่วนที่ผู้กระผิดเป็นเยาวชนศาลเยาวชนก็ได้ตัดสินลงโทษให้เยาวชน 4 ราย ที่ลงมือก่อเหตุ ทำบำเพ็ญประโยชน์เป็นเวลา 1 ปี ในพื้นที่กระทรวงสาธารณสุข โดยเงื่อนไขคือ บำเพ็ญประโยชน์ ทำความสะอาดทั่วบริเวณ ปัดกวาดเช็ดถู พร้อมทั้งให้ปฏิญาณตน พนมมือกล่าวคำของโทษ ต่อหน้าพระบรมรูปอนุสาวรีย์ทุกพระองค์ พร้อมกับต่อหน้า เจ้าหน้าที่บุคคลากรของกระทรวง แต่เด็กพวกนี้กับไปยอมปฏิบัติเงื่อนไขที่ศาลสั่ง พร้อมกับ คำพูดที่ว่า “ไม่มีธรรมเนียมยกมือไหว้” ซึ่งผมก็ตอบไปว่า “ถ้าไม่พนมมือไหว้ ก็ไปติดคุก” เด็กพวกนี้ถึงจะยอมทำตามเงื่อนไข”
“ผมในฐานะหนึ่งในบุคลากรทางการแพทย์ เจ็บช้ำน้ำใจที่สุด แค้นใจที่สุด ที่เห็นภาพที่พระบรมรูป หรือ อนุสาวรีย์ของทุกพระองค์ ถูกเด็กไทย คนไทย จำนวนไม่กี่ คน แอบบุกรุกเข้ามาในกระทรวงสาธารณสุข ฝั่งประตูโรงพยาบาลศรีธัญญา แล้วกระทำย่ำยี่ ใช้พฤติกรรมไม่บังควร กระทำสิ่งเลวร้าย ใช้สีแดงสาดใส่พระบรมรูปอนุสาวรีย์ สมเด็จพระราชบิดา สมเด็จย่า กรมหลวงชัยนาทนเรนทร
“อีกทั้งใช้เชือกทำเป็นบ่วง โยนคล้องคอกับ กรมหลวงชัยนาทนเรนทร จนร่วงลงมาจากพระแท่น จนเสียหาย ในคืน วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งทุกพระองค์มีความสำคัญกับบุคลากรทางการแพทย์ไทย เป็นอย่างมาก แต่ทางกระทรวงไม่อยากให้มันเป็นในช่วงนั้น เพราะมันจะทำลายขวัญกำลังใจของบุคคลากรทางการแพทย์ของเรา ที่ในเวลานั้น พวกเราต้องช่วยกันฝ่าวิกฤตโรคระบาด โควิด-19 ไปให้ได้
“แต่กลุ่มคนเหล่านี้ไปรับข้อมูลผิด ๆ รับรู้สิ่งผิด ๆ จากพรรคการเมือง พรรคการเมืองหนึ่ง และถูกหลอกใช้ มาทำสิ่งที่มิบังควร ซึ่งในหน้าประวัติศาสตร์ไทย ไม่เคยปรากฎเกิดการณ์การกระทำต่ำช้าแบบนี้มาก่อน นี่เป็นครั้งแรกที่ผมเห็น แล้วรับไม่ได้ ...”
ทั้งนี้ นพ.รุ่งเรือง ย้ำว่าในส่วนของผู้ใหญ่ที่ก่อการและปั่นหัวเด็ก ตนเห็นว่าควรมีการลงโทษจำคุก มิเช่นนั้นก็ไม่เป็นเยี่ยงอย่าง จะกลายเป็นว่ามาทำเสร็จ ขึ้นฟ้อง ฟ้องแล้วรอลงอาญา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของมือมืดที่แอบเข้ามาสาดสีพระราชานุสาวรีย์และยังมีการคล้องเชือกเพื่อดึงพระราชานุสาวรีย์ลงมานั้น แม้จะยังจับได้ไม่หมดแต่รู้ตัวทั้งหมดแล้ว กำลังไล่จับอยู่ แต่ที่เราพบคือ กลุ่มที่ทำคือกลุ่มเดียวกันทั้งหมดเพราะสีที่เอามาสาดในแต่ละครั้ง แต่ละเหตุการณ์ พิสูจน์หลักฐานแล้วคือสีเดียวกัน ชนิดเดียวกัน มีหลักฐานครบ
นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่าตนค่อนข้างเป็นห่วงเด็กและเยาวชน เพราะมองว่ามีกระบวนการปั่นหัวเด็กมาตลอด และใช้เด็กมาออกหน้า แต่เรื่องจริงที่ตนเจอก็คือ พอถึงวันที่ต้องขึ้นศาลไม่มีใครมาช่วยเลย พวกที่อยู่เบื้องหลังก็ไม่มีใครมาช่วย ถูกปล่อยลอยแพ มีแต่พ่อแม่ของเด็กมาไหว้ขอความเมตตา คิดว่าเหตุการณ์อื่นๆ ก็มีความคล้ายคลึงกันที่ให้เด็กและเยาวชนมาออกหน้าแทน
จะเรียกว่าความบังเอิญหรืออะไรดี ที่ในคดีสาดสีและพ่นสเปรย์ใส่อนุสาวรีย์และป้ายในกระทรวงสาธารณสุขช่วงกลางคืนวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 หนึ่งในผู้ต้องหา ก็คือ“ผักบุ้ง”เนติพร เสน่ห์สังคมคนเดียวกับที่บอกว่าชอบสนับสนุนเยาวชน คนเดียวกับที่สนับสนุนให้ “น้องหยก” ทำวีรกรรมต่างๆ นานา
สำหรับคดี “บุ้ง เนติพร” สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้แจ้งความใน 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ร่วมกันรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในเวลากลางคืน, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ และฝ่าฝืนเคอร์ฟิว
“คนในกระทรวงสาธารณสุขบอกว่า เบื้องหลังจริงๆ แล้วมีพรรคการเมืองพรรคหนึ่งสนับสนุนให้เด็กพวกนี้ก่อความวุ่นวาย แต่เขาไม่เอ่ยชื่อ ผมเอ่ยให้ก็แล้วกัน ก็คือพรรคก้าวไกลนั่นเอง ชัดเจนไหม” นายสนธิกล่าว