xs
xsm
sm
md
lg

‘อ.เจษฎ์’ ยกกรณีศึกษาตอบข้อสงสัย ถังดับเพลิงสามารถระเบิดได้เองหรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อ.เจษฎาออกมาให้ความรู้หลังเกิดเหตุสลดถังดับเพลิงระเบิดในโรงเรียน ส่งผลให้นักเรียนเสียชีวิต 1 ราย ชี้เรื่องนี้ยังต้องรอข้อมูลอีกมาก พร้อมยกกรณีศึกษาทั้งในและต่างประเทศที่เคยเกิดเหตุคล้ายคลึง

จากกรณีเหตุถังดับเพลิงแบบคาร์บอนไดออกไซด์ระเบิด ระหว่างการซ้อมดับเพลิงภายในโรงเรียนราชวินิตมัธยม ย่านถนนพิษณุโลก กรุงเทพฯ และพบมีนักเรียนชายเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีกหลายราย ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบหน่วยงานที่เข้าทำการซ้อมแผนอพยพหนีไฟ และสาเหตุของอุบัติเหตุดังกล่าวตามที่นำเสนอข่าวไปแล้วนั้น

วันนี้ (23 มิ.ย.) เพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” ได้ออกมาให้ความรู้ถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุข้อความว่า “ถังดับเพลิงระเบิดได้หรือไม่ มีรายงานข่าวด่วนเข้ามาเมื่อกี้ ถึงอุบัติเหตุระหว่างการซ้อมดับเพลิงที่โรงเรียนแห่งหนึ่ง มี "ถังดับเพลิง" ระเบิดขึ้น และทำให้มีนักเรียนเสียชีวิตด้วย ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งครับ ในระหว่างที่รอข้อมูลรายละเอียดของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีนักข่าวติดต่อมาถามว่า คือมันเกิดขึ้นได้ยังไง ถังดับเพลิงระเบิดได้ด้วยเหรอ

ซึ่งขอออกตัวว่าเรื่องนี้ยังต้องรอข้อมูลอีกมาก โดยเฉพาะในเรื่องของวิธีการที่เขาซ้อมดับเพลิงกัน ปัญหาว่าเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้น และสภาพของถังดับเพลิงนั้น ว่าอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดีแค่ไหน ปกติแล้วในการผลิตถังดับเพลิงขึ้นมานั้น จะต้องทดสอบว่าถังดับเพลิงมีโอกาสระเบิดได้หรือไม่ โดยจะต้องทนทานต่อการนำไปเผาไฟให้ได้ที่ระดับ 64 องศาเซลเซียส เอาไปอัดความดันให้ได้ 4 เท่าของค่าปกติ และตกจากที่สูงระดับ 8 เมตร โดยที่ยังมีสภาพใช้งานได้เหมือนเดิม

แต่รายการ Mythsbuster รายการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์รายการดังของต่างประเทศ ก็เคยมีการทดลองเอาถังดับเพลิงไปเผาไฟ พบว่ามันสามารถระเบิดได้ครับ คลิกดูคลิป https://youtu.be/nxvdrge1q00

ซึ่งเครื่องดับเพลิงเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างยิ่ง จึงควรบำรุงรักษาเพื่อให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานต่อเหตุไม่คาดคิดได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอยู่เสมอ

สถานที่ติดตั้ง หลีกเลี่ยงการติดตั้งไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิสูง มีความชื้นสูง หรือเกิดความสกปรกได้ง่าย เช่น ตากแดด ตากฝน หรือติดตั้งใกล้จุดกำเนิดความร้อนต่างๆ เช่น เตาไฟ หรือเครื่องจักรที่มีความร้อนสูง

การบำรุงรักษา ทำความสะอาดตัวถัง และอุปกรณ์ (สายฉีด, หัวฉีด) เป็นประจำเพื่อตรวจดูสภาพตัวถังและอุปกรณ์อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และมีสภาพใหม่อยู่เสมอ

หากเป็นเครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง ควรยกถังพลิกคว่ำ-หงาย ประมาณ 5-6 ครั้ง ทุกๆ 3-6 เดือน เพื่อให้ผงเคมีมีการเคลื่อนตัวและไม่จับตัวเป็นก้อน

เครื่องดับเพลิงที่มีอายุเกิน 5 ปีขึ้นไป ควรส่งมาตรวจสอบที่บริษัทเพื่อตรวจเช็กสภาพของตัวเครื่องและทำการถ่ายเคมีออกและบรรจุใหม่

ถ้าแรงดันในถังเกิน (OVERCHARGE) สูงกว่าแรงดันปกติ (195 psi) สภาพถังอาจจะบวมหรือแตกออก หากแรงดันขึ้นสูงเกิน 1000psi อาจทำให้เกิดอันตรายเนื่องจากถังอาจระเบิดได้!!! ควรติดต่อบริษัทให้ดำเนินการแก้ไขโดยด่วน หมายเหตุ:

เครื่องดับเพลิงชนิด CO2 จะไม่มีมาตรวัดแรงดัน ผู้ใช้สามารถตรวจวัดก๊าซ ภายในถังได้โดยวิธีชั่งน้ำหนัก หากน้ำหนักก๊าซภายในถังลดลงต่ำกว่า 80% ควรติดต่อบริษัทเพื่อทำการดำเนินการบรรจุใหม่ในทันที

และในอดีตก็เคยมีข่าวกรณีที่ถังดับเพลิงระเบิดเกิดขึ้นเอง (ไม่ได้เอาไปเผาไฟ) ได้ด้วยครับ โดยเฉพาะในกรณีของถังที่เก่า มีการเสื่อมสภาพ หรือเคยนำมาเติมสารเคมีลงไป 

ดังบทความจากเพจ “The Safety Coach : BBS “ถังดับเพลิงระเบิดได้มั้ย? เร็วๆ นี้ หลายคนน่าจะได้ยินข่าว "การเสียชีวิต" ของเจ้าของร้านรับเติมเคมีดับเพลิงแห่งหนึ่งในจังหวัดระยองในขณะที่กำลังอัดก๊าซไนโตรเจนเข้าไปในถังดับเพลิง หลังเกิดเหตุพบว่าที่ก้นถังดับเพลิง "ทะลุเป็นรู" เนื่องจากแรงดันภายในที่เพิ่มขึ้น สาเหตุคาดว่าถังดับเพลิงดังกล่าว "มีสภาพเก่า เป็นสนิม" และได้รับแรงอัดจากก๊าซไนโตรเจนลงไปในขั้นตอนสุดท้าย ทำให้เกิดการระเบิด จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมในครั้งนี้ ภรรยาของผู้เสียชีวิตเล่าให้ฟังว่า เคยบอกสามีไปแล้วหลายครั้งว่า "ไม่ให้รับถังดับเพลิงเก่าๆ ที่เป็นสนิม หรือชำรุด" มาเติมเคมีดับเพลิง เพราะกลัวว่าจะเกิดอันตรายได้

ในอเมริกาเองก็เคยมีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการระเบิดของถังดับเพลิงหลายครั้ง ยกตัวอย่าง เกิดเหตุถังดับเพลิงระเบิดเนื่องจากเกจวัดแรงดันของถังก๊าซไนโตรเจนชำรุด ในขณะที่กำลัง recharge ถังดับเพลิง ทำให้ก๊าซไนโตรเจนที่มีแรงดันสูงถึง 2,500 ปอนด์ ถูกอัดเข้าไปในถังดับเพลิง ซึ่งรับแรงดันได้เพียงแค่ 150 ปอนด์ เท่านั้น จนเป็นเหตุให้เกิดการระเบิด และมีผู้เสียชีวิต

ส่วนอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากการ recharge ถังดับเพลิง แต่เกิดขึ้นใน "บ้านเรือน" เพราะการวางถังดับเพลิงเก่าๆ ไว้บนพื้นที่เปียกชื้น จนทำให้ก้นถังเป็นสนิม และก้นถังติดกับพื้น ในขณะที่เจ้าของบ้านกำลังจะยกขึ้น เพื่อไปจัดเก็บในที่อื่น ก็เกิดการระเบิดขึ้นทันที เพราะก้นถังที่เป็นสนิมทะลุ

ใน NFPA 10 section 7.1.2.1 (2018) กำหนดไว้ว่า ผู้ที่ทำการ maintenance หรือ recharge ถังดับเพลิง ต้องได้รับการรับรองการอบรมจากหน่วยงานที่ Authority Having Jurisdiction (AHJ) ให้การรับรอง

สิ่งที่ได้เรียนรู้
1. การส่งถังดับเพลิงกลับไป recharge หรือสั่งซื้อถังดับเพลิงต้องซื้อหรือใช้บริการจากผู้จัดจำหน่ายที่เชื่อถือได้เท่านั้น
2. ทุกครั้ง ก่อนทำการเติมเคมีลงในถังดับเพลิง ต้องสังเกตว่าถังดับเพลิงชำรุดหรือเปล่า โดยเฉพาะบริเวณที่ก้นถัง รวมถึงมี มอก.มั้ย
3. ในขณะที่กำลังเติมก๊าซไนโตรเจน ควรมีการ์ดป้องกันสำหรับวางถังดับเพลิงเข้าไปไว้ในกรง เพื่อป้องกันในกรณีที่เกิดการระเบิดเกิดขึ้น รวมถึงกระบังหน้า และแว่นตานิรภัยก็เป็นสิ่งที่จำเป็น
4. เกจวัดแรงดัน และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการ recharge ต้องตรวจสอบสม่ำเสมอ
5. การติดตั้งถังดับเพลิง ควรหลีกเลี่ยงความชื้น ความร้อน รวมถึงสารเคมีที่ก่อให้เกิดการผุกร่อน แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้ ต้องทำการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
6. ถังดับเพลิง ต้องทำการตรวจสอบเป็นประจำทุกเดือน ถังดับเพลิงที่ชำรุด หรือมีอายุการใช้งานมากกว่า 5 ปี ควรส่งทำการทดสอบ หรือไม่ควรนำมาใช้

คลิกโพสต์ต้นฉบับ


กำลังโหลดความคิดเห็น