xs
xsm
sm
md
lg

นายกสมาคมแพทย์นิติเวชฯ วอนหน่วยงานตรวจสอบความยุติธรรมคดีหมอถูกเป็นนักโทษหนีคดี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หมอสมิทธิ์” นายกสมาคมแพทย์นิติเวช โพสต์วอนสภาทนายความ กับคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ให้ตรวจสอบความยุติธรรมกรณีแพทย์หญิงกลายเป็น “นักโทษหนีคดี”

จากกรณีแพทย์หญิงโรงพยาบาลของรัฐแห่งหนึ่งได้ออกมาโพสต์เล่าเรื่องราวของตนเองจากแพทย์ที่ตั้งใจทำงาน รับราชการมา 13 ปี ต้องกลายเป็น “นักโทษหนีคดี” พร้อมวอนขอความยุติธรรม

ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. เฟซบุ๊ก "Smith Fa Srisont" หรือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ สมิทธิ์ ศรีสนธิ์ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กรรมการแพทยสภา และนายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ได้ออกมาโพสต์ถึงประเด็นที่เกิดขึ้น ระบุว่า "เรื่องใหญ่ระดับหนึ่งเลยครับ อยากให้ช่วยแชร์ๆ กัน หมอเหมือนโดนกลั่นแกล้งจากระบบยุติธรรมครับ สรุปสั้นๆ “แพทย์โรงพยาบาลรัฐโดนหมายจับ เพราะมีหมายเรียกให้มาเป็นพยานในศาลกรณีคดีแพ่ง แล้วแพทย์ไม่ได้ไป โดยหมายเรียกถูกติดหมายที่บ้านซึ่งแพทย์คนนั้นไม่อยู่แล้ว ทั้งๆ ที่ตามกฎหมายควรส่งไปโรงพยาบาลที่ถือเป็นภูมิลำเนาของข้าราชการ”

รายละเอียดตามนี้ครับ แพทย์ที่ทำงานเป็นข้าราชการในโรงพยาบาลของรัฐได้ตรวจผู้ป่วยแล้วออกใบชันสูตรบาดแผลให้ ต่อมาเป็นคดีความทางแพ่ง แพทย์ได้รับหมายเรียกของคดีนี้ ครั้งแรกหมายเรียกถูกส่งไปโรงพยาบาล แต่แพทย์ไม่ว่างไป จึงทำหนังสือแจ้งต่อศาลจนผู้พิพากษารับทราบแล้ว

แต่หมายเรียกอีกสองครั้งกลับส่งแบบปิดหมายไปที่บ้านของแพทย์? ทั้งๆ ที่ครั้งแรกส่งไปโรงพยาบาล และตามกฎหมายจะถือว่าภูมิลำเนาของข้าราชการ ได้แก่ถิ่นอันเป็นที่ทำการตามตำแหน่งหน้าที่ (ประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา 46) นอกจากนี้ การส่งหมายเรียกครั้งที่ 3 ที่เป็นเหตุของการออกหมายจับต่อมา ยังปิดหมายผิดบ้านด้วย เพราะแพทย์ได้ย้ายออกจากบ้านที่ปิดหมายนั้นไปแล้ว แต่ทนายของโจทก์ในคดีไม่คัดทะเบียนราษฎรก่อน แต่ใช้เอกสารเก่าที่มีอายุเกินกว่า 6 เดือน

สุดท้ายแพทย์ก็โดนออกหมายจับในข้อหาจงใจขัดขืนไม่มาขึ้นศาล ผมอยากถามว่าการกระทำแบบนี้ถือว่าเป็นการให้หมายเรียกโดยชอบ จนออกหมายจับได้หรือไม่? แล้วมีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องออกหมายจับว่าขัดขืนไม่มาศาลกับแพทย์ที่มีที่ทำงานชัดเจน เพื่อให้มาเป็นพยานในคดีแพ่ง?

สุดท้ายแพทย์ทราบว่าตนเองโดนหมายจับ ในขณะเดินทางกับลูกเพื่อออกนอกประเทศ แล้วติด ตม. ทำให้เดินทางออกไม่ได้ จนสูญเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางของทั้งครอบครัว เป็นแสน และโชคดีที่ ตม.ใจดีไม่จับเข้าคุกด้วย หลังจากทราบแล้วแพทย์ได้ไปติดต่อกับทนายและศาล กลับไม่มีคำขอโทษใดๆ จากทั้งสองฝ่าย และระหว่างเพิกถอนหมายจับ เจ้าหน้าที่ศาลยังพูดกับแพทย์ว่า “สมควรถูกออกหมายจับแล้ว เพราะรับหมายเรียก 3 ครั้งก็ไม่มา”

แล้วคดีนี้ แพทย์ที่โดนหมายจับไม่ได้มีคนเดียว มีแพทย์อีกคนที่ทำงานโรงพยาบาลเดียวกันโดนหมายจับด้วย แต่โชคดีที่แพทย์คนแรกทำการตรวจสอบจนพบว่าแพทย์อีกคนก็โดนหมายจับ (หมายเรียกไม่ได้ส่งไปที่โรงพยาบาลเช่นเดิม) ไม่งั้นแพทย์อีกคนก็ติดที่ ตม.เหมือนแพทย์คนแรก เพราะมีกำหนดเดินทางไปประชุมที่ ตปท. ในอีกไม่นาน

ผมเศร้าใจครับ สักวันแพทย์ที่ทำหน้าที่โดยปกติ อยู่ดีๆ อาจโดนหมายจับ โดยไม่มีความจำเป็นแบบนี้ อยากเรียกร้องไปถึงสภาทนายความ กับ คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ให้ตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยครับ"




กำลังโหลดความคิดเห็น