เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินเผยภาพวัวแดงทุกช่วงชั้นอายุ คือ ตัวผู้ ตัวเมีย และลูก ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรแห่งความหวังของวัวแดงในกลุ่มป่าลุ่มน้ำปาย-สาละวิน เนื่องจากพบการกระจายเพียงพื้นที่เดียว
วันนี้ (8 มิ.ย.) เพจ "เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน" ได้โพสต์ภาพ "วัวแดง" ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน พร้อมข้อความว่า “ในปัจจุบันวัวแดง (Bos javanicus) ในประเทศไทยมีประชากรประมาณ 2,300-2,500 ตัว พบกระจายมากในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตก และกลุ่มป่าตะวันออก
สำหรับวัวแดงในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน เป็นกลุ่มประชากรเล็กๆ ที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา แต่วัวแดงเหล่านี้ถือเป็นหนึ่งในกลุ่มประชากรแห่งความหวังของวัวแดงในกลุ่มป่าลุ่มน้ำปาย-สาละวิน เนื่องจากพบการกระจายเพียงพื้นที่เดียวจากพื้นที่ป่าอนุรักษ์หลายพื้นที่ในกลุ่มป่าดังกล่าว
โดยจากร่องรอยการกระจายในฐานข้อมูลลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (SMART PATROL) มีการพบร่องรอยของวัวแดงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการติดตามประชากรจากการตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera Trap) ปัจจุบันก็ยังคงพบกลุ่มประชากรวัวแดงที่มีพื้นที่อาศัยและสืบต่อเผ่าพันธุ์อยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ดังจะเห็นในภาพถ่ายจากกล้องดักถ่ายซึ่งปรากฏภาพวัวแดงทุกช่วงชั้นอายุ คือ ตัวผู้ ตัวเมีย (ตัวเต็มวัย) และลูก (ตัวไม่เต็มวัย)
ปัจจุบันนอกจากข้อมูลจากการสำรวจการกระจายของวัวแดงในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน จากฐานข้อมูลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพแล้ว ยังมีการศึกษาวิจัย "โครงการสำรวจสถานภาพและความหลากหลายทางพันธุกรรมของวัวแดง (Bos javanicus) ในประเทศไทยเพื่อการอนุรักษ์โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน" เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวินคือหนึ่งในพื้นที่ศึกษาวิจัยโครงการดังกล่าว โดยคณะผู้วิจัยจากคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมี รศ.ดร.รัตนวัฒน์ ไชยรัตน์ เป็นหัวหน้าโครงการ”
คลิกชมโพสต์ต้นฉบับ