“ทุกวันนี้ ครูพลอยพยายามฝึกลูก ฝึกให้เขามี Survival skills …ลูกไม่ต้องเขียนชื่อตัวเอง แค่บอกชื่อตัวเองให้ได้ ลูกไม่ต้องเขียน A-B-C ถึง Z แต่สิ่งที่ลูกจะต้องท่องจำให้ได้คือ ชื่อพ่อ ชื่อแม่ ชื่อตัวเอง เพราะว่าวันใดที่ลูกเกิดหลงทาง เช่น เราไปเที่ยวแล้วลูกหลงทาง ลูกจะทำยังไง ดังนั้น ชื่อพ่อ ชื่อแม่ ชื่อตัวเอง ต้องจำให้ได้ แล้วไปหาคนช่วยเหลือหนูให้ได้ ให้พากลับมาหาแม่ให้ได้…”
“หนูไม่ต้องท่องจำตัวเลข หนูไม่ต้องท่อง แต่ครูพลอยให้ลูกท่องเบอร์โทรศัพท์คุณแม่ คือ คุณจะเอาเด็กไปท่อง เลข 1-50 ทำไม ในเมื่อเบอร์โทรศัพท์พ่อแม่ ลูกคุณยังจำไม่ได้เลย แล้วถ้าลูกหลงทาง หายตัวไป ลูกจะกลับบ้านยังไง แล้วที่อยู่บ้านตัวเอง บ้านเลขที่เท่าไหร่ ซอยอะไร ลูกคุณจำได้ไหม ลูกคุณจะกลับบ้านถูกไหม นี่คือ Survival skills ที่เด็กเมืองไทยในตอนนี้ขาดแคลนมาก…”
“ Art สำหรับครูพลอย คือ ‘ทุกสิ่ง’ นับตั้งแต่คุณลืมตาขึ้นมาจากที่นอน เช้านี้ทำไมคุณทำผมทรงนี้ ทำไมคุณแต่งตัวใส่เสื้อสีนี้ ทำไมคุณแต่งตัวด้วยกางเกงสีนี้ กับเสื้อสีนี้ ทำไมคุณขับรถออกไปข้างนอก ทำไมคุณเลือกที่จะฟังเพลงนี้ คือทุกอย่างในชีวิตของคนเรา ตั้งแต่ลืมตา ล้วนคือ Art ทั้งนั้นค่ะ…”
“จำนวนนักเรียนของเรา 10% เป็นเด็กพิเศษค่ะ กลุ่มเด็กพิเศษ ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี เรารู้เลยว่าสังคม การเลี้ยงดูของประเทศไทยผิดแปลกไปเรื่อยๆ จนมีผลกระทบกับเด็กกลุ่มนี้อย่างมาก…”
หลากหลายประโยคข้างต้น เป็นคำกล่าวของ‘พลอยทิพย์ อัศวราชันย์ ไชยศุภรากุล’ หรือ ‘ครูพลอย’
ผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง Premium Nanny Teacher Academy และ Scrambled Art
ที่ถ่ายทอดทัศนคติ หลักคิด แง่มุมประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กเล็กและเด็กพิเศษด้วยกระบวนการที่ละเอียดลออ พิถีพิถัน เปี่ยมด้วยความใส่ใจ ทักษะ จรรยาบรรณและองค์ความรู้อันน่าชื่นชม
เธอบอกเล่าในประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจ กับ ‘ผู้จัดการออนไลน์’ ด้วยถ้อยความอันชวนให้ขบคิดนับแต่ต้นกระทั่งจบบทสนทนา
ก่อตั้ง 2 สถาบันสำหรับเด็ก
ครูพลอยเล่าว่า เธอก่อตั้ง Premium Nanny Teacher Academy และ Scrambled Art ขึ้นมา
ปัจจุบัน เธอจึงเป็นผู้บริหารของทั้งสองบริษัท
บริษัทแรก คือ Scrambled Art ก่อตั้งมาปีนี้ขึ้นปีที่ 7 แล้ว เป็นสตูดิโอสอนศิลปะสำหรับเด็กเล็กและเด็กพิเศษ ซึ่งนักเรียนมีอายุเริ่มตั้งแต่ 1 ขวบเป็นต้นไป ถึง 12 ปี
“ที่สำคัญคือ จำนวนนักเรียนของเรา 10% เป็นเด็กพิเศษค่ะ หากถามว่าเด็กพิเศษด้านไหน ก็คือ ส่วนมาก เป็นน้องๆ ที่ต้องรับการดูแลอย่างพิเศษ เช่น เป็นโรคสมาธิสั้น เป็นลมชัก หรือว่า มีพัฒนาการล่าช้า ( LD : learning disorder ) หรืออีกกลุ่มนึงที่ครูพลอยดูแลอยู่ ก็คือเด็กออทิสติกที่เรามีความเชี่ยวชาญ
เหล่านี้ คือ Scrambled Art ที่ครูพลอยก่อตั้ง ส่วนการใช้ศิลปะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัด เราจะเน้นเป็นศิลปะ Process Art เป็นส่วนใหญ่”
ครูพลอยเล่าว่า บริษัทอีกแห่งหนึ่งที่ครูพลอยก่อตั้งและดูแลอยู่ คือ Premium Nanny Teacher Academy ซึ่งเหมาะกับกลุ่มเด็กเล็ก กลุ่ม Newborn กลุ่มเด็กที่ต่ำกว่า 1 ขวบเนื่องจากโดยส่วนตัว ครูพลอยมีลูกเล็ก จึงอยากจะสรรหาบุคลากรที่เข้ามาดูแลเด็กกลุ่มนี้ได้อย่างเหมาะสม เมื่อทำไปเรื่อยๆ อายุเด็กเริ่มโตขึ้น มีกลุ่มลูกค้าแล้วก็นักเรียนที่ดูแลอยู่ กลุ่มเริ่มเปลี่ยนไป
“ลักษณะการบริการของเราก็เติบโตไปตามอายุลูกครูพลอย เราก็จะเพิ่มคุณภาพการเลี้ยงดูให้มากขึ้น เราทำหน้าที่เหมือนเป็นสถาบัน เป็นโรงเรียนฝึกอบรม ฝึกสอนคุณครูพี่เลี้ยง แล้วก็จัดส่งคุณครูพี่เลี้ยงกลุ่มนี้ที่ได้มาตรฐานไปยังบ้านผู้ปกครองอีกทีหนึ่ง” ครูพลอยระบุ
ใส่ใจ เข้าใจในความแตกต่างของเด็กๆ
ทั้งนี้ กลุ่มลูกค้าของ Premium Nanny Teacher Academy แบ่งออกเป็นสามกลุ่มด้วยกัน
กลุ่มแรก เป็นกลุ่มเตรียมอนุบาล หรือกลุ่มนักเรียนอนุบาลที่ผู้ปกครองรุ่นใหม่ยังไม่อยากส่งลูกไปโรงเรียน ยังอยากมีเวลาอยู่กับลูกมากขึ้น อยากจะเลี้ยงดูที่บ้านเพื่อความใกล้ชิด และเพื่อคุณภาพในการเลี้ยงดู
ดังนั้น กลุ่มนี้ แทนที่น้องๆ จะไปโรงเรียน สถาบัน Premium Nanny Teacher Academy ก็จะจัดส่งคุณครูไปหาน้องที่บ้านแทน
กลุ่มที่สอง คือเด็กโฮมสคูล ( Home School ) ที่จดหลักสูตรขึ้นกับเขตการศึกษา ซึ่งผู้ปกครองต้องการให้ลูกมีวุฒิอนุบาล แต่ยังไม่พร้อมที่จะส่งลูกไปโรงเรียน ยังอยากให้อยู่ที่บ้านและเรียนอย่างมีหลักสูตร เด็กกลุ่มนี้ สถาบันของครูพลอยก็ดูแลอยู่เช่นกัน
กลุ่มที่สาม เป็นกลุ่มเด็กพิเศษ ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี
“เรารู้เลยว่าสังคม การเลี้ยงดูของประเทศไทยผิดแปลกไปเรื่อยๆ จนมีผลกระทบกับเด็กกลุ่มนี้อย่างมากๆ ครูพลอยจะเจอเด็กที่เป็นออทิสติกเทียมเยอะขึ้น แล้วก็จะเจอเด็กกลุ่มที่เมื่อถึงวัยพูดแล้ว แต่เขายังไม่พูด เพราะมีเทคโนโลยีและการใช้จอ ( โทรศัพท์ Smart phone ) ในการเลี้ยงดูเพิ่มขึ้น แล้วก็จะมีกลุ่มเด็กพิเศษเพิ่มขึ้น โดยครูพลอยก็ช่วยผู้ปกครองดูแลน้องๆ กลุ่มนี้เช่นกัน โดยในกลุ่มนี้ การดูแลจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
"ประเภทแรก เป็นน้องๆ ที่ครูพลอยสนับสนุนคุณครูให้เข้าไปดูแลน้องๆ ที่บ้าน เป็นกลุ่มที่น้องยังช่วยเหลือตัวเองได้ไม่ดีเท่าไหร่ หรือว่าเป็นกลุ่มที่เด็กอายุยังน้อย คือ 2-3 ขวบ แต่ว่ามีปัญหาด้านพัฒนาการ ยังไม่เหมาะกับการเข้าระบบโรงเรียน
“ประเภทสองของเด็กพิเศษ คือไม่ได้มีพัฒนาการล่าช้าขนาดรุนแรงมากนัก สามารถเข้าระบบโรงเรียนได้แล้ว แต่ยังต้องการคุณครูประกบ หรือที่เราเรียกว่า Shadow Teacher
สำหรับเด็กกลุ่มนี้ เราทำงานร่วมกับโรงเรียน เราจับมือกับโรงเรียน แล้วก็ดูแลน้องไปด้วยกัน ทำงานกันเป็นทีมค่ะ” ครูพลอยระบุ
‘เมล็ด’ ที่รอวันเติบโต
ครูพลอยบอกเล่าเพิ่มเติมว่าการดูแลเด็กจะมีความละเอียดอ่อน อาจเปรียบได้ว่า เด็กเหมือนกับเมล็ดถั่ว แต่ละเมล็ดไม่เหมือนกัน แม้จะได้น้ำ ได้แสงแดด ได้ดิน เหมือนกัน แต่ไม่ว่าอย่างไร แต่ละเมล็ดก็เติบโตไม่เหมือนกัน โตไม่เท่ากันอยู่ดี
“เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นศิลปะบำบัดของ Scrambled Art หรือว่าการจัดส่งคุณครูพี่เลี้ยงไปตามบ้านของ Premium Nanny Teacher Academy ก็ตาม การทำงาน หรือการบริการ ค่อนข้างละเอียดอ่อน และที่สำคัญ ระยะการเฝ้าดูแล ระยะการหวังผลพัฒนาการของเด็ก ใช้เวลาค่อนข้างนานและแตกต่างกัน เช่น น้องบางคนมีพัฒนาการค่อนข้างเร็ว 3 เดือนเห็นผลแล้ว บางคน 1 ปีจึงจะเริ่มเห็นผล เหล่านี้ เป็นการทำงานของสองบริษัทที่ครูพลอยดูแลอยู่ค่ะ”
อดถามไม่ได้ว่า ที่คุณพูดถึง ‘ออทิสติกเทียม’ นั้น มีลักษณะอย่างไร
ครูพลอยตอบว่า “ออทิสติกเทียม หรือที่ส่วนมากเราจะได้ยินว่า ‘ออเทียม’ นั้น มาจากออทิสติกซึ่งแบ่งเป็นสองประเภท ประเภทแรก คือเป็นออทิสติกตั้งแต่กำเนิด ซึ่งเราจะพบเจอจากความผิดปกติของโครโมโซม ตั้งแต่อยู่ในครรภ์แม่ หรือเป็นกรรมพันธุ์ที่ถ่ายทอดกันมาในครอบครัว กรณีนี้ จะเป็นออทิสติกโดยกำเนิด หรือโดยกรรมพันธุ์ ซึ่งจะทราบได้ก่อนคลอด เมื่อคุณหมอมีการตรวจโครโมโซมเด็กในท้อง
“ส่วน ‘ออทิสติกเทียม’ นั้น เมื่อใดที่ครูพลอยพบเด็กออทิสติกเทียม ยอมรับว่าครูพลอยค่อนข้างผิดหวังและใจสลาย เพราะการที่เด็กคนนึงจะเป็นออทิศติกเทียมได้นั้น เกิดจากการเลี้ยงดูที่ผิดธรรมชาติไม่ว่าผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลก็ตาม
“อย่างล่าสุด ครูพลอยคุยกับคุณหมอที่ศิริราช เด็กที่เป็นออทิสติกเทียม เด็กสุดที่เคยเจอเลยคือ 7-8 เดือนก็เริ่มออกอาการแล้ว ก็คือเด็กไม่สบตา มีพัฒนาการล่าช้า ไม่ชันคอ ไม่คลาน ไม่ขยับเขยื้อนร่างกาย กล้ามเนื้อมัดใหญ่ไม่ทำงาน เหล่านี้ เกิดจากผู้ปกครองไม่ได้ให้ความใส่ใจในการเลี้ยงดู หรือบางคน จากการที่ครูพลอยสอบถามผู้ปกครอง เขายอมรับว่าใช้จอ ( หมายเหตุ : จอสมาร์ทโฟนและเทคโนโลยีต่างๆ ) เลี้ยงลูกน่ะค่ะ คือให้น้องดูโทรศัพท์มือถือตั้งแต่ยังไม่ 1 ขวบ หรือบางกรณี ผู้ปกครองเลี้ยงลูกไปก็เล่นโทรศัพท์มือถือไปด้วย โดยไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูก เหล่านี้ ก็ล้วนเป็นสาเหตุของออทิสติกเทียม คือเกิดจากการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม” ครูพลอยสะท้อนปัญหาได้อย่างเห็นภาพ
‘ว่าที่’ นักเล่นบำบัด และความรักในศิลปะ
ถามว่า แรงบันดาลใจหรือสาเหตุอะไร ทำให้คุณอยากเป็นนักบำบัด
ครูพลอยตอบอย่างถ่อมตนว่า “จริงๆ แล้ว ถ้าเรียกครูพลอยว่าเป็นนักบำบัดหรือ Therapist ก็ยังไม่ถูกนะคะ
( หัวเราะ ) ใช้คำเรียก ‘ว่าที่’ ดีกว่าค่ะ เป็น ‘ว่าที่นักบำบัด’ เพราะตอนนี้ ครูพลอยยัง On Process เป็น Play Therapists อยู่ คือเป็นนักเล่นบำบัด แต่ยังไม่ใช่นักกิจกรรมบำบัด
“คำว่า Therapist มีหลายแบบ มีนักกิจกรรมบำบัด นักพูดบำบัด แต่ว่าครูพลอยเป็น ‘ว่าที่นักเล่นบำบัด’ ใช้คำนี้ก็แล้วกันนะคะ ( หัวเราะ )
“ส่วนแรงบันดาลใจก็คือ ด้วยความที่ครูพลอยมีลูกเล็ก แล้วเมื่อก่อนครูพลอยก็จะให้ความสำคัญกับศิลปะมาตั้งแต่เด็กๆ แล้วค่ะ เมื่ออายุ 7-8 ขวบ ครูพลอยก็เริ่มเล่นสี ปั้นดินน้ำมัน วาดรูปตามจินตนาการ เมื่อเราคลุกคลีอยู่กับศิลปะค่อนข้างเยอะ แล้วเมื่อเรามีลูก เราเลี้ยงลูกเอง แล้วก็ทำงานด้วย เป็น Full-time Working mom คือลูกก็อยู่กับเราในสถานที่ที่เราทำงาน ไปไหนไปด้วยกัน อยู่ด้วยกัน 24 ชั่วโมงค่ะ”ครูพลอยบอกเล่า และอธิบายเพิ่มเติมว่า
เมื่อเธอใช้ชีวิตอย่างใกล้ชิดกับลูกน้อย ทำให้เธอเห็นภาพว่าวันใดที่ไม่ได้ใส่ใจลูก ละเลย ทำให้ลูกรู้สึกเหมือนพ่อและแม่ไม่มีตัวตน คือแม้จะมีอยู่ แต่เหมือนไม่มีอยู่จริง วันนั้น เธอจะมีความรู้สึก เธอจะรับรู้ได้เลยว่าจิตใจของลูกโดนกระทบไปด้วย
“อย่างเช่น บางวันเราทำงานหนักจนลืมไปกอดเค้า ลืมไปชมเค้า ลืมไปเล่นกับเค้า วันนั้น เราจะรู้เลยว่าลูกเราโดนกระทบไปด้วยนะ เค้าจะหงุดหงิด เค้าจะงอแง ในใจเค้ามีบางอย่างขาดหายไป คือความอบอุ่นของคนเป็นแม่ ดังนั้น เมื่อเราเห็นความแตกต่าง ว่าลูกเราต่างกันเลยนะ ในวันที่แม่มีตัวตนและในวันที่แม่ไม่มีตัวตน ครูพลอยจึงเริ่มศึกษา ว่าเราจะทำยังไงให้งานที่เรารักและลูกที่เรารัก ไปด้วยกันได้ เพราะฉะนั้น ครูพลอยจึงนำเอาสองอย่างมารวมกัน คือ ‘ศิลปะ’ ที่เราให้ความสำคัญ แล้วก็ ‘จิตวิทยาเด็ก’ เนื่องจากการเลี้ยงลูกคือจิตวิทยาเด็กอย่างหนึ่ง ครูพลอยจึงนำเอาศิลปะกับจิตวิทยาเด็กมารวมกัน จึงออกแบบเป็นศิลปะแบบ Process Art ค่ะ”
Process Art เชื่อมโยงตัวตนและพัฒนาการ
ถามว่า Process Art มีกระบวนการอย่างไร
ครูพลอยตอบว่า กระบวนการ Process Art คือ Process หรือ กระบวนการ ซึ่งคำว่า Process ในที่นี้มาจากคำว่า ‘Process thinking’ การคิด การแปรผลแบบเป็นขั้นตอน
ส่วนคำว่า Art ก็ตรงตัว คือ ‘ศิลปะ’ แต่ศิลปะในที่นี้ ดังที่หลายๆ คนเคยมาอบรมศิลปะกับครูพลอยจะรู้ดีว่า เมื่อครูพลอยพูดถึง Art คือไม่ได้พูดถึงการวาดรูประบายสีเลยแม้แต่นิดเดียว
“ถ้าเป็นลูกศิษย์ครูพลอย เขาจะรู้ว่า Art สำหรับครูพลอย คือ ‘ทุกสิ่ง’ นับตั้งแต่คุณลืมตาขึ้นมาจากที่นอน เช้านี้ทำไมคุณทำผมทรงนี้ ทำไมคุณแต่งตัวใส่เสื้อสีนี้ ทำไมคุณแต่งตัวด้วยกางเกงสีนี้ กับเสื้อสีนี้ ทำไมคุณขับรถออกไปข้างนอก ทำไมคุณเลือกที่จะฟังเพลงนี้ คือทุกอย่างในชีวิตของคนเรา ตั้งแต่ลืมตา ล้วนคือ Art ทั้งนั้นค่ะ
“ครูพลอยจะไม่พูดเกี่ยวกับการวาดรูประบายสีเลย เราจะมองเด็กแบบนั้นเช่นกัน ทำไม เด็กถึงอยากจะเลือกที่จะทำกิจกรรมแบบนี้ นั่นเพราะเค้าชอบ มันคือความเป็นตัวตน ทำไมเค้าถึงอยากเลือกใส่เสื้อสีนี้เอง เพราะมันเป็นตัวตนของเค้า ทำไมเค้าถึงงอแง ที่จะ Fight กับคุณแม่ในสิ่งที่เค้าอยากจะได้ เหล่านี้คือความต้องการของเค้า คือ ‘ตัวตน’ ของเด็ก
“เพราะฉะนั้น เมื่อเรานำเอา Art มาบวกกับ Process thinking ก็คือกระบวนการคิดแบบเป็นขั้นตอน กระบวนการนี้ ทำให้เด็กมีพัฒนาการอย่างเร็วมากๆ เลยค่ะ เพราะว่าในคลาสที่ครูพลอยสอน ครูพลอยไม่ได้เน้นการวาดภาพระบายสี เราเน้นตรงที่ว่า ทำไมหนูถึงชอบสีนี้ ทำไมหนูถึงอยากได้แบบนี้ หนูต้องบอกเหตุผลให้ได้” ครูพลอยระบุ และเล่าตัวอย่างเพิ่มเติมว่า
มีเด็กเข้ามาในคลาส 7 คน แต่ละคนทำศิลปะออกมาไม่เหมือนกันเลย เพราะเป็นตัวตนของเค้า คุณครูที่สถาบันฯ จะทราบดีว่าในการเข้าคลาสแต่ละครั้ง ห้ามมีตัวอย่าง Process Art ไม่มีตัวอย่างให้เด็กดู เพราะฉะนั้น เด็กจะเริ่มคิด เริ่มสร้างสรรค์จากเรื่องราวที่คุณครูเล่าหรือนำเสนอให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์รอบตัว หรือเรื่องราวที่คุณครูไปพบเจอมา แล้วเด็กๆ เค้าก็จะเริ่มสร้างสรรค์ผลงาน กรณีนี้เป็นเพียงเด็กเล็กวัย 3-4 ขวบเท่านั้น
“ถ้าเด็กสามารถจำเรื่องราวที่เราเล่าให้เค้าฟัง หรือทำอย่างที่เราบอกได้ เค้าเก่งมากเลยนะคะ แต่เราจะมีกระบวนการจัดความคิดให้เด็กอย่างไร นั่นคือ กระบวนการ Process Art
“คือการจัดกระบวนการความคิดให้น้องๆ ให้เป็นรูปเป็นร่าง ให้มีทีมาที่ไป
แล้วสิ่งสำคัญคือ เราจะไม่มีรูปร่างเรขาคณิต เด็กไม่จำเป็นต้องจับดินสอได้ เด็กอาจจะยังพูดไม่ชัด ยังบอกเรื่องราวได้ไม่ชัด เหล่านี้ก็สามารถมาเรียนได้ค่ะ” ครูพลอยระบุ
พร้อมเปิดกว้างอย่างเข้าใจ
จากที่ครูพลอยบอกเล่า อดถามไม่ได้ว่า เช่นนั้นแล้ว กระบวนการ Process Art ที่คุณเตรียมไว้ให้เด็กๆ ต้องเป็นกระบวนการที่เปิดกว้างอย่างมาก
ครูพลอยตอบว่า “ถูกต้องค่ะ ต้องมีที่มาที่ไป Process Art เปิดกว้างมากสำหรับเด็ก แต่ต้องมีที่มาที่ไป ดังนั้น ต้องมี Theme ขึ้นมาสักหน่อย เช่น ‘วันนี้ เราจะมาทำตัวละครจากแกนกระดาษทิชชู่’ เราก็จะเริ่มมีองค์ประกอบเข้ามาแล้ว มีแกนกระดาษทิชชู่นะ ครูก็เริ่มสร้างเรื่องราวว่าแกนกระดาษทิชชู่เป็นสีอะไร แล้วหนูคิดว่าแกนกระดาษทิชชูของหนูเป็นรูปร่างอะไรได้บ้าง ก็คือมี Theme การเรียนรู้ในแต่ละวัน”
ถามว่า ในกระบวนการ Process Art เด็กเล็ก 3-4 ขวบ สามารถอยู่ในกระบวนการได้นานกี่ชั่วโมง
ครูพลอยตอบว่า “1 ชั่วโมงครึ่งค่ะ สำหรับ เด็ก 3-4 ขวบ ถือว่านาน ถือว่าเก่ง เพราะว่า Process Art ไม่ใช่การนั่งโต๊ะ นั่งเก้าอี้ระบายสีอยู่กับที่ แต่มันคือการใช้จินตนาการในการเล่าเรื่อง แล้วบางทีเราก็มีเสริมเข้าไป คือมีเกมการละเล่นให้น้องฝึกคิด หรือว่าบางทีมีการเคลื่อนไหวในห้องเรียน ให้น้องได้ลุกจากเก้าอี้ ได้เดินไปรอบห้องเรียน ได้เล่นเกม ได้เปิดเพลง ได้ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ คน อื่นๆ ภายในคลาส เหล่านี้ก็จะช่วยให้เด็กๆ ได้ฝึกสมาธิ และจดจ่ออยู่กับสิ่งที่เค้าทำอยู่ข้างหน้าได้นาน เพราะว่า Process Art จะมีเทคนิคการสอนอยู่อย่างนึง ที่ผู้ปกครองสามารถนำไปใช้ได้
“หลายๆ คนถามว่า ‘ครูพลอยทำอย่างไร น้องๆ 3-4 ขวบ ถึงอยู่ได้นาน 1 ชั่วโมงครึ่ง’
คือเรามีวิธีการ ‘ดึงตัวตนเด็ก’ ออกมาค่ะ สำหรับ Process Art จริงๆ แล้ว ใน 1 กิจกรรม จะมี 5-6 ขั้นตอน แอบแฝงอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เด็กให้ความสนใจ ซึ่งเราวิเคราะห์ออกมาค่ะว่าเด็กชอบ เพราะมันดึงดูดและสนุก
เราทำการวิเคราะห์ว่า เด็กกลุ่มนี้ที่เราจะนำเข้าไปในห้อง เขามีสมาธิในวันนั้นๆ ได้นานเท่าไหร่ กี่นาที
สมมติว่า เด็ก 3-4 ขวบครึ่ง มีสมาธิตามวัยได้ 30-40 นาทีเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น เราจะนำ 30-40 นาทีนี้ ไปใส่ไว้ใน 5-6 ขั้นตอน ที่ครูพลอยได้กล่าวไว้
“ดังนั้น จริงๆ แล้ว เมื่อผ่านไปครึ่งชั่วโมงปุ๊บ! คุณครูจะมีการเปลี่ยนขั้นตอนทันทีค่ะ
เพื่อให้เด็กได้มีกระบวนการคิดถัดไปได้โดยที่เขาไม่รู้ตัว เหมือนนำเอาจิ๊กซอว์ หลายๆ ชิ้น มาต่อกันให้เป็นรูป นี่แหละค่ะ คือเทคนิคการสอน ของ Process Art เพราะฉะนั้น เด็กจะมีสมาธิอยู่ได้นานมากกว่าการวาดรูประบายสีทั่วไป” ครูพลอยอธิบาย
ถามว่า เช่นนั้นแล้ว คุณต้องมีทักษะที่เฉียบคมมากในการสังเกตว่าเด็กๆ เริ่มสมาธิหลุดแล้ว
ครูพลอยตอบว่า “ใช่แล้วค่ะ เพราะฉะนั้น คุณครูของเราจะเก่งในการดูอากัปกริยาของเด็ก เช่น เด็กเริ่มยุกยิกแล้ว เริ่มซนแล้ว หรือเริ่มจะลุกจากเก้าอี้แล้ว งั้น ‘เอาล่ะ เรามาเริ่มกิจกรรมต่อไปกันนะคะ’ คือ อะไรก็ว่าไป เราจะมีกระบวนการการสอนโดยใช้จิตวิทยาเข้ามาช่วยด้วยค่ะ
“เช่น มีหลายๆ อย่าง ที่ครูพลอยจะสอนครูที่โรงเรียนก็คือ เราจะต้องมีความละเอียดในการอธิบายขั้นตอน เช่น ครูส่วนมาก เวลาจะให้เด็กๆ นั่งที่ หรือเด็กๆ นั่งไม่เรียบร้อย ครูก็มักจะบอก ‘นั่งดีๆ สิคะ’ ใช่มั้ยคะ
แต่สำหรับเด็กกลุ่มวัย 3-4 ขวบ คำว่า ‘ดีๆ’ มันหมายถึงอะไร เขายังไม่เข้าใจ ดังนั้น คุณครูเราจะมีความใจเย็น คำที่มีความหมายรวบแบบนั้น ครูเราจะไม่ใช้ แต่เราจะใช้ไปเลยว่า ‘น้องเอ นั่งตัวตรงๆ นะคะ เดี๋ยวเราจะเริ่มระบายสีกันแล้ว’ อะไรแบบนี้ค่ะ
นี่คือ ‘จิตวิทยาในการพูด’ หรืออาจจะมีการเล่นเกมสอดแทรก เพื่อให้มีความน่าดึงดูดมากขึ้น ให้สนุก ให้ห้องเรียนมีสีสัน เพื่อให้เด็กไม่ได้รู้สึกว่าเขามาเรียน แต่วันนี้หนูมาเล่นบ้านคุณครูนะ” ครูพลอยระบุ
ความใส่ใจต่อกลุ่มเด็กพิเศษและทำงานอย่างบูรณาการกับผู้เชี่ยวชาญ
ถามว่า พ่อแม่ที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ ออทิสติก หรือ ออทิสติกเทียม หากสนใจพาลูกมาเข้าคลาสครูพลอย ใช้หลักเดียวกันไหมกับเด็กทั่วไป ในกระบวนการ Process Art
ครูพลอยตอบว่าต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง เนื่องจาก เด็กทั่วไปเราใช้ความพร้อมของเด็กเป็นหลัก นั่นคือ เคสที่เด็กสามารถสื่อสารได้ พูดได้ บอกว่าชอบหรือไม่ชอบ อยากมา หรือไม่อยากมา เหล่านี้คือกลุ่มเด็กปกติ ที่สามารถบอกความต้องการของตัวเองได้
ส่วนเด็กพิเศษ มีหลายแบบ เด็กออทิสติกก็มีหลายเลเวล มีหลายอาการ มีหลายพฤติกรรม บางคนไม่พูดเลย ใช้การแสดงออกอย่างเดียว บางคนก็พูด แต่สื่อสารไม่รู้เรื่อง บอกความต้องการที่แท้จริงของตัวเองไม่ได้ หากเจอกรณีแบบนี้เราจะใช้วิธีคนละแบบ
เช่น ถ้าในกรณีเด็กพิเศษที่พ่อแม่พามาให้ครูพลอยดูแล ครูพลอยไม่ปฏิเสธ หากครูพลอยประเมินแล้วว่ารับมือไหว เด็กไม่มี Condition อันตรายใดๆ ทางร่างกาย ( หมายเหตุ : อาทิ เด็กบางคนอาจมีสายฉีดสารอาหารเข้ากระเพาะอาหารผ่านทางหน้าท้อง, มีสายช่วยหายใจ ) ส่วนมากครูพลอยรับ แต่การเริ่มต้นจะเป็นคนละแบบ เนื่องจากกระบวนการการสอนของเด็กพิเศษ จะเริ่มจากการสร้างความสัมพันธ์
“นั่นคือ เราจะไม่พูดถึงศิลปะเลยค่ะ เราจะมาเริ่มทำความรู้จักกัน เช่น ถ้าพูดถึงการสร้างความสัมพันธ์ เด็กกลุ่มเด็กออทิสติกบางคนจะกลัวคนแปลกหน้า กลัวสถานที่ที่มีแสงเยอะ มีสีเยอะ เสียงเยอะ เพื่อนเยอะ เป็นเด็กกลุ่ม Sensory Sensitive เด็กกลุ่มนี้ เขาจะเกิดความระแวง ความหวาดกลัว เราก็ต้องเริ่มสร้างความสัมพันธ์กับเด็กกลุ่มนี้ก่อน ให้เค้าคุ้นเคยกับเรา คุ้นเคยกับสัมผัสของเรา คุ้นกับเสียงของเรา คุ้นกับสถานที่ คุ้นกับการที่มีเพื่อนเดินเข้าเดินออก คือเริ่มต้นจากศูนย์เลย เริ่มจากการใช้ชีวิตอยู่ในสตูดิโอเลย จึงจะเริ่มบำบัดต่อได้ ซึ่งเด็กแต่ละคน ก็เป็น Case-by-Case เลยค่ะ ใช้ระยะเวลาไม่เหมือนกัน ไม่สามารถตอบได้เลยว่าต้องใช้เวลาเท่าไหร่ กว่าจะเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้น เด็กบางคนใช้เวลา 4 ปี 5 ปี
“ตัวอย่างเช่นน้องคนนึงที่ครูพลอยดูแลอยู่ น้องเป็นโรคลมชัก ต้องมีการรับประทานยาควบคู่ด้วย และมาทำกิจกรรมศิลปะบำบัดควบคู่ด้วย ซึ่งเห็นผลค่อนข้างเร็ว แล้วเราก็ต้องทำงานเป็นทีมกับคุณหมอ กับนักกิจกรรมบำบัด นักพูดบำบัด เราก็ต้องคอยติดต่อสื่อสารกัน ว่าเคสนี้ต้องให้ครูพลอยทำการบ้านอะไรบ้างที่เราสามารถสอดแทรกเข้าไประหว่างคลาส เพื่อให้เด็กมีพัฒนาการที่ดีขึ้น” ครูพลอยระบุถึงการทำงานอย่างเป็นองค์รวมหรือบูรณาการกับนักวิชาชีพในหลายส่วน
ข้ามผ่านยุคสมัย ด้วย ‘Survival skills’
ถามว่ามีอะไรอยากฝากถึงพ่อแม่ ผู้ปกครอง ในยุคสมัยที่อาจมีหลายครอบครัวใช้เทคโนโลยี เช่น Tablet, โทรศัพท์มือถือ-Smartphone เลี้ยงลูก
ครูพลอยตอบว่า “อยากฝากถึงผู้ปกครองทุกท่านที่มีการให้น้องๆ ดูจอ มีการเลี้ยงดูภายในบ้านที่ไม่เหมาะสม เราอาจใช้วิธีการศึกษาข้อมูลก็ได้ค่ะ ว่ามีวิธีใดบ้างที่ทำให้ลูกเราใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์
อย่างเช่น ใช้กิจกรรมง่ายๆ ภายในบ้าน เปลี่ยนวิธีการเลี้ยงดูใหม่ แต่กรณีนี้ก็ไม่ใช่ความผิดของใครนะคะ คุณพ่อคุณแม่อาจปรึกษาคุณหมอด้านพัฒนาการ หรือปรึกษาคุณหมอด้านการเลี้ยงดูได้ ในเวลาที่พาน้องๆ ไปฉีดวัคซีนที่โรงพยาบาล ก็สามารถสอบถามเทคนิคการเลี้ยงดูลูกจากคุณหมอก็ได้ค่ะ
“ถ้าเราย้อนกลับไป สมัยที่โทรศัพท์มือถือยังไม่มีหน้าจอแบบทุกวันนี้ เราเล่นหมากเก็บ เล่นขายของ เล่นกระโดดยาง กระโดดเชือก เล่นมอญซ่อนผ้า สิ่งเหล่านี้ อย่างการเล่นหมากเก็บ เป็นการฝึกสมาธิที่ดีมาก หมากเก็บตอบโจทย์มาก ( หัวเราะ ) เราอาจต้อง Back to Basic และอีกสิ่งหนึ่งที่ครูพลอยอยากจะฝากถึงผู้ปกครองหลายๆ ท่าน และผู้บริหารโรงเรียนต่างๆ คือ อย่าให้เด็กมุ่งเน้นแต่การท่องจำมาก
“ลูกครูพลอย เรียนแบบ ‘Home School’ นะคะ คนโต 5 ขวบ คนเล็ก 3 ขวบ Home School ทั้งคู่ค่ะ ครูพลอยยังไม่ให้ลูกเข้าระบบการศึกษาไทย สำหรับครูพลอย มีเหตุผลเดียวคือ การศึกษาไทย ยังไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่สำหรับเด็กเล็ก ครูพลอยเองก็เตรียมจะเปิด Home School นะคะ
ครูพลอยเห็นว่าก่อนจะเข้าโรงเรียน บางโรงเรียนบอกว่าเด็กต้องเขียนชื่อตัวเองได้ นับ 1-50 ได้ อันนี้ ครูพลอยไม่ค่อยเห็นด้วย
สิ่งที่เราอยากมุ่งเน้นให้เด็กกลุ่มนี้และพ่อแม่ของเด็กกลุ่มนี้หันมาใส่ใจมากขึ้น คือเรื่องของการใช้ชีวิต และเอาตัวรอด หรือ Survival skills ซึ่งเด็กสมัยใหม่ไม่มี หรือมีต่ำมาก"
“ทุกวันนี้ ครูพลอยก็พยายามฝึกลูก ฝึกให้เขามี Survival skills อย่างเช่น
ครูพลอยจะบอกลูกเลยว่า ลูกไม่ต้องเขียนชื่อตัวเอง แค่บอกชื่อตัวเองให้ได้ ลูกไม่ต้องเขียน A-B-C ถึง Z
แต่สิ่งที่ลูกจะต้องท่องจำให้ได้คือ ชื่อพ่อ ชื่อแม่ ชื่อตัวเอง เพราะว่าวันใดที่ลูกเกิดหลงทาง เช่น เราไปเที่ยวแล้วลูกหลงทาง ลูกจะทำยังไง ดังนั้น ชื่อพ่อ ชื่อแม่ ชื่อตัวเอง ต้องจำให้ได้ แล้วไปหาคนช่วยเหลือหนูให้ได้ ให้พากลับมาหาแม่ให้ได้ หนูไม่ต้องไปท่อง A-B-C หรือ ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก เพราะเวลาหนูหลงทาง A-B-C หรือ ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ก็ช่วยหนูกลับมาหาแม่ไม่ได้
“ครูพลอยจะบอกลูกเสมอว่าหนูจำชื่อจริงพ่อ จำชื่อจริงแม่ จำชื่อจริงตัวเองให้ได้ แล้วจะฝึกให้เขาจำชุดยูนิฟอร์ม ว่าชุดนี้ เป็นชุดพี่ยามนะ ชุดนี้ชุดตำรวจนะ ยูนิฟอร์มแต่ละอาชีพที่หนูไปหาและขอความช่วยเหลือได้มีใครบ้าง บอกเค้าไว้แบบนี้ตลอด
“หนูไม่ต้องท่องจำตัวเลข หนูไม่ต้องท่อง แต่พลอยให้ลูกท่องเบอร์โทรศัพท์คุณแม่ คือ คุณจะเอาเด็กไปท่อง 1-50 ทำไม ในเมื่อเบอร์โทรศัพท์พ่อแม่ ลูกคุณยังจำไม่ได้เลย แล้วถ้าลูกหลงทาง หายตัวไป ลูกจะกลับบ้านยังไง แล้วที่อยู่บ้านตัวเอง บ้านเลขที่เท่าไหร่ ซอยอะไร ลูกคุณจำได้ไหม ลูกคุณจะกลับบ้านถูกไหม นี่คือ Survival skills ที่เด็กเมืองไทยในตอนนี้ขาดแคลนมาก แล้วระบบการศึกษาประเทศไทยไม่ได้ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้เลย เวลาคัดเลือกเด็กอนุบาล ก็ถามว่าหนูเขียนชื่อได้ไหม, ท่อง ก ไก่ ถึง ฮ นกฮูก ได้ไหม, ท่อง A-Z ได้ไหม, นับ 1- 50 ได้ไหม คือสิ่งเหล่านี้ ช่วยให้เด็กเอาตัวรอดได้ไหม ดังนั้น ครูพลอยไม่ให้ลูกนับบวกเลข แต่ให้เขาฝึกใช้เครื่องคิดเลข และให้เขาเรียนรู้คุณค่าของเงิน ฝึกใช้เงินให้เป็น ฝึกให้เขาจ่ายตลาดให้เป็น เช่น วันนี้ หนูมีเงิน 50 บาท หนูอยากทานอะไร ในตลาดมีอะไร หนูไปซื้อ เขาจะเรียนรู้คุณค่าของเงิน รู้จักมูลค่าของเงิน”
ถามทิ้งท้ายในภาพที่เห็นอย่างแจ่มชัดว่า สิ่งที่ครูพลอยกล่าวมา ล้วนฝึกทักษะการใช้ชีวิตให้แก่เด็กๆ
ครูพลอยตอบอย่างชัดเจนว่า “ถูกต้องค่ะ”
นับเป็นการสนทนาที่ฉายชัด สะท้อนภาพ ให้แง่คิดที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งทั้งต่อพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู ผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม เพื่อให้หันกลับมามองและฉุกคิดว่าในท่ามกลางยุคสมัยที่เทคโนโลยีกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตอย่างแยกไม่ขาด เช่นนั้นแล้ว ชีวิตน้อยๆ Generation ใหม่ ไม่ว่าเด็กพิเศษหรือเด็กปกติ พวกเขาได้รับความรัก ความเอาใจใส่ โดยมิได้ถูกหน้าจอสมาร์ทโฟนแย่งชิงห้วงเวลาอันมีค่าไปหรือไม่
และหากเติบโตขึ้นมาไม่กี่ขวบปี เจ้าเด็กน้อยจะมี Survival skills เพียงพอหรือยัง
เป็นคำถามที่น่าขบคิด ไม่ว่าพวกเขาจะเติบโตมาในยุค Generation Alpha หรือยุคหลัง Alpha ก็ตาม
………….
Text by : รพีพรรณ สายัณห์ตระกูล
Photo by : พลอยทิพย์ อัศวราชันย์ ไชยศุภรากุล