xs
xsm
sm
md
lg

เพจดังแจงสายไฟลงดิน เมืองสวยแต่อาจใช้เงินเยอะ ชาวเน็ตถามชัชชาติยกเลิกทำไม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เข้าใจโลกเข้าใจชีวิต เพจลงทุนแมนแจงสายไฟลงดิน แม้จะทำให้เมืองสวย แต่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล และการดูแลรักษาสภาพสายไฟใต้ดินต้นทุนสูงกว่า เจอชาวเน็ตบอก "อยู่ดีๆ ก็เข้าใจโลกขึ้นมา" ถามไปถึงผู้ว่าฯ ชัชชาติ ไหนบอกศึกษามาแล้ว 2 ปี ยกเลิกโครงการสมัยผู้ว่าฯ คนเก่าทำไม

วันนี้ (31 พ.ค.) รายงานข่าวแจ้งว่า บนโซเชียลฯ แชร์เนื้อหาจากเฟซบุ๊ก "ลงทุนแมน" ที่เขียนบทความหัวข้อ "สายไฟลงดิน เมืองสวย แต่อาจใช้เงินเยอะ" ในตอนหนึ่งระบุว่า ระบบสายไฟฟ้าบนดินเป็นระบบสายไฟแบบขึงอากาศ แบ่งออกเป็นแถวบนสุด เป็นสายไฟฟ้าแรงสูง 22,000 โวลต์ แถวกลางเป็นสายไฟฟ้าแรงต่ำ 230 หรือ 400 โวลต์ สำหรับจ่ายไฟเข้าบ้านเรือนประชาชนทั่วไป และแถวล่างสุด เป็นสายหลายเส้นขดกัน คือสายสื่อสารโทรคมนาคม เช่น สายออปติกไฟเบอร์ คือสายอินเทอร์เน็ต สายเคเบิลโทรศัพท์ สายเคเบิลทีวี สายควบคุมสัญญาณจราจร สายสื่อสารกล้องวงจรปิด ข้อเสียหลักของระบบสายไฟบนดิน คือทัศนียภาพที่ดูไม่สวยงาม เพราะมีสายไฟโยงกันไปมาเต็มไปหมด มีโอกาสเกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับ จากการที่สัตว์ต่างๆ ขึ้นไปทำความเสียหายให้สายไฟ เพิ่มโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุต่างๆ เช่น ไฟไหม้ หรือรถชนเสาไฟฟ้าเสียหาย

ส่วนทำไมไทยถึงไม่เอาระบบสายไฟลงดิน ได้อธิบายว่า แนวคิดเรื่องการนำสายไฟลงดินมาใช้ในประเทศไทยนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ได้เริ่มดำเนินโครงการครั้งแรกในปี 2527 หรือเมื่อ 39 ปีที่แล้ว โดยเริ่มที่ถนนสีลม นับจนถึงปี 2565 ที่ผ่านมา โครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดิน ภายใต้โครงการ “มหานครไร้สาย” ก็ได้ดำเนินการแล้วเสร็จประมาณ 62 กิโลเมตร ในหลายพื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ โดยเป้าหมายของโครงการนี้จะมีระยะทางรวมทั้งหมดเท่ากับ 236.1 กิโลเมตร ภายในปี 2570 อยู่ในระหว่างดำเนินการอีกราว 174 กิโลเมตร

เพจดังกล่าวระบุว่า อุปสรรคสำคัญที่สุดในการนำสายไฟลงดิน ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ยกตัวอย่างรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ที่คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณสูงกว่า 1.4 ล้านล้านบาท เกินกว่างบประมาณที่รัฐจะจัดหามาได้ ถ้าให้ภาคเอกชนไปลงทุนเอง ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าถึง 2 เท่าในตอนนั้น สำหรับประเทศไทย ประเมินกันว่างบประมาณเฉลี่ยที่ใช้สร้างสายไฟใต้ดินจะอยู่ที่ประมาณ 300 ล้านบาทต่อ 1 กิโลเมตร สูงกว่าระบบสายไฟบนดินถึง 10 เท่า หมายความว่า จากปัจจุบันที่กรุงเทพฯ มีระบบสายไฟใต้ดินแล้วทั้งหมด 62 กิโลเมตร ส่วนที่กำลังดำเนินการเพิ่มอีก 174 กิโลเมตร ก็จะต้องใช้งบประมาณอีกไม่ต่ำกว่า 52,200 ล้านบาท นอกจากในกรุงเทพฯ แล้ว การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ก็มีโครงการ “ระบบเคเบิลใต้ดินสำหรับเมืองใหญ่” รวม 74 จังหวัดทั่วไทยด้วย ซึ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2546 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2570 เช่นเดียวกัน

อีกทั้งยังมีประเด็นการดูแลรักษาสภาพสายไฟใต้ดิน ให้สามารถใช้งานได้อย่างเหมาะสม ปัจจุบันสายไฟบนดินจะมีอายุการใช้งานประมาณ 60-70 ปี ขณะที่สายไฟใต้ดินนั้นจะมีอายุสั้นกว่า โดยอยู่ที่ประมาณ 30-40 ปี และยังต้องมีฉนวนที่ทนต่อความชื้นได้ดีกว่าสายไฟบนดินด้วย เพื่อไม่ให้ความชื้นที่มีค่อนข้างมากในดิน เข้าไปถึงตัวนำที่เป็นอะลูมิเนียมหรือทองแดงด้านในสายไฟได้ นอกจากนี้ ในชั้นฉนวน ก็ควรต้องมีลวดเป็นเกราะหุ้มอยู่ก่อนที่จะถึงเปลือกชั้นนอกสุดท้ายด้วย เพื่อลดความเสียหาย เนื่องจากสัตว์กัดแทะหรือการสั่นสะเทือนจากการขุดเจาะถนน และการกัดเซาะของน้ำเนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วม ที่อาจสร้างความเสียหายแก่สายไฟได้ จึงทำให้ต้นทุนในการดูแล บำรุงรักษา จะสูงกว่าสายไฟบนดิน แต่หากโครงการนำสายไฟลงใต้ดินสำเร็จ ก็จะมีข้อดีคือ มีทัศนียภาพที่สวยงาม ลดการเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ ก็จะยังช่วยให้มีความมั่นคง มีเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า ช่วยลดจำนวนครั้งที่จะเกิดไฟฟ้าดับ และลดระยะเวลาต่อครั้งที่เกิดไฟฟ้าดับ รวมถึงรองรับการผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการในอนาคตด้วย

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เพจดังกล่าวตีพิมพ์บทความนี้ออกไป ได้มีชาวเน็ตแชร์และวิจารณ์ไปถึงผลงานของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่พบว่าก่อนหน้านี้สั่งยกเลิกโครงการนำสายไฟลงดิน เช่น

- อยากให้ผู้ว่าฯ กทม.เป็นคนชี้แจงเองมากกว่า ก่อนเลือกตั้งบอกทำได้และจะทำทันที แต่พอได้รับการเลือกตั้งแล้วข้ออ้างก็มาเพียบทั้งที่บอกว่าศึกษามาดีแล้ว ทุกวันนี้งานหลักเดินทางดูงาน ตปท.เพื่อจะมาใช้กับ กทม. สรุปไม่มีประสบการณ์ มีแต่วิชาการ

- ศึกษามาสองปีแล้วครับ ช่วงนี้ทดลองงานไปปีหนึ่ง เหลืออีกสามปีฮะ ก็ทนๆ เอาหน่อย

- ขอทราบความเสียหายที่ผู้ว่าฯ คนใหม่สั่งยกเลิกจากผู้ว่าฯ คนเก่าครับ ค่าความเสียโอกาส ค่าการเปิดถนนที่ยังทำไม่เสร็จ ค่าการดำเนินการต่างๆ ที่ค้างคา ค่าเสียเวลา ฯลฯ ไม่รวมที่บอกว่าจะลงเองภายใน 100 วัน และบอกว่า ถ้าทำไม่ได้ก็อย่ามาอาสาเป็นผู้ว่าฯ ด้วย

- อีกนโยบายที่หาเสียงไว้ แต่ทำได้ยาก

- หลังจากได้ผู้ว่าฯ ที่ถูกใจ ปัญหาลดหรือเปล่าไม่รู้ แต่ที่แน่ๆ คือ เสียงบ่น เสียงด่า เงียบกริบ ก็ดีไปอีกแบบนะ สงบดี

- อยู่ดีๆ ก็เข้าใจโลกขึ้นมา อืม

- ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 25 บาทตลอดสายก็เงียบเลย

- ตอนทำนโยบายคือไม่ทำข้อมูลก่อนเหรอว่าใช้งบเท่าไหร่ สมัยหน้าผู้ว่าฯ ทำนโยบายทำกรุงเทพฯ ลอยได้ก็ได้สิ แล้วก็บอกทีหลังว่าแพง 2 แสนเรื่องที่ทำ เยอะจนไม่อยากอ่านเนี่ย มีเรื่องไหนอยู่ในนโยบาย 200 กว่านโยบายไหม คลองภาษีเจริญตั๋วเฮีย (ตัวเงินตัวทอง) ลอยอืดเหม็นคลุ้งเลย น้ำเน่าจนตั๋วเฮียตายอะ หรือต้องรอให้แจ้ง ส.ก.ไม่สำรวจตามนโยบายผู้ว่าฯ เลยเหรอ ตอนหาเสียงนี่ซอยมีแต่น้ำเน่าก็ยังเสาะเข้าไป

อนึ่ง ก่อนหน้านี้หลังจากที่นายชัชชาติชนะการเลือกตั้งใหม่ๆ ด้วยคะแนนเสียงกว่า 1.3 ล้านเสียง ได้สั่งให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจของกรุงเทพมหานครยุติแผนนำสายไฟฟ้า-สายสื่อสารลงดิน 1.9 หมื่นล้านบาท อ้างว่าโครงการได้มีการทำไปแล้วในเฟสแรก แต่ยังไม่มีโอเปอเรเตอร์รายใดสนใจเช่าท่อสายสื่อสารใต้ดินนี้ จึงได้สั่งให้ชะลอโครงการและกลับไปทบทวนใหม่ แต่เมื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็อ้างว่าไม่ได้สั่งยกเลิกโครงการ แต่ให้กรุงเทพธนาคมไปทบทวนแผนธุรกิจ
กำลังโหลดความคิดเห็น