xs
xsm
sm
md
lg

กรมทรัพย์สินทางปัญญาไขข้อข้องใจ ใช้ AI ทำภาพมีลิขสิทธิ์ไหม?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทรัพย์สินทางปัญญาชี้กรณีใช้ AI ทำภาพ มีกรณีศึกษาสำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐฯ ปฏิเสธจดแจ้งลิขสิทธิ์ภาพการ์ตูนชิ้นหนึ่ง ก่อนกำหนดแนวทางว่า งานที่สร้างสรรค์โดย AI ไม่สามารถจดแจ้งลิขสิทธิ์ได้ แต่ถ้าทำร่วมกับมนุษย์ต้องระบุให้ชัดเจนด้วย

วันนี้ (30 พ.ค.) เฟซบุ๊ก กรมทรัพย์สินทางปัญญา ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โพสต์บทความหัวข้อ "ภาพที่ AI ทำขึ้นมีลิขสิทธิ์ไหม?" ระบุว่า ปัจจุบันการใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ได้ก้าวเข้ามามีบทบาทอย่างเเพร่หลายในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะ เขียนโปรแกรม เขียนบทความ การตั้งคำถาม ตลอดไปถึงการสร้างสรรค์ภาพ ตัวอย่างเช่นเเพลตฟอร์มที่ใช้ AI และอัลกอริทึมการเรียนรู้มารังสรรค์ผลงานภาพตามคำค้นหาของผู้ใช้งาน เเล้วผลงานที่เกิดจากการสร้างสรรค์โดย AI นั้นถือเป็นงานที่มีลิขสิทธิ์หรือไม่?

เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานลิขสิทธิ์สหรัฐฯ (USCO) ได้ปฏิเสธการจดแจ้งลิขสิทธิ์รูปภาพการ์ตูนเรื่อง Zayra of the Dawn โดยให้เหตุผลว่าภาพดังกล่าวไม่ใช่ผลงานการสร้างสรรค์ของมนุษย์ แต่เป็นผลจาก AI และหลังจากนั้น USCO ก็ได้เผยแพร่ Guidance on copyright registration involving media crafted by artificial intelligence หรือแนวทางการจดแจ้งงานลิขสิทธิ์ที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของ AI ซึ่งกำหนดว่างานที่สร้างสรรค์โดย AI "ไม่สามารถจดแจ้งลิขสิทธิ์ได้" และหากงานลิขสิทธิ์ใดมีการสร้างสรรค์ร่วมกันทั้งโดยมนุษย์และ AI ก็จะต้องระบุให้ชัดเจนตอนยื่นขอจดแจ้งลิขสิทธิ์ด้วย

เคสนี้อาจจะคล้ายๆ กับกรณีภาพลิงเซลฟี ที่ชื่อว่า Naruto ที่ศาลได้ตัดสินไว้ว่า กฎหมายลิขสิทธิ์ไม่ได้ระบุให้สัตว์มีสิทธิในผลงานสร้างสรรค์ และกฎหมายลิขสิทธิ์มีผลเฉพาะสำหรับงานสร้างสรรค์ของมนุษย์เท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น