xs
xsm
sm
md
lg

โดนใจคนใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เปลี่ยนแบ็ตง่าย ไปได้เร็ว! : ‘แพล็ทฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยน’

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



หากให้นึกถึงยานพาหนะยอดฮิตมาทุกยุค ทุกสมัยแล้วนั้น ก็ต้องนึกถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘มอเตอร์ไซค์’ เป็นลำดับแรก เพราะสิ่งนี้จะทำให้ไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้นในทุกการเดินทาง และยิ่งในปัจจุบันนี้ด้วยแล้ว วิวัฒนาการความก้าวหน้าก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย แล้วบวกกับมีการเพิ่มสมรรถนะในเรื่องของพลังงานสะอาด นั่นจึงทำให้เกิดนวัตกรรมชิ้นใหม่ออกมา นั่นคือ “รถมอเตอร์ไซค์แบบไฟฟ้า” ที่มีแพล็ทฟอร์มแพ็คแบตเตอรี่ เป็นผู้ช่วยสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเดินทางผ่านทางพาหนะดังกล่าวในรูปแบบใหม่เพื่อสอดคล้องให้เข้ากับยุคสมัยนี้มากขึ้น

ซึ่งเรื่องที่ว่ามาดังกล่าวนี้เอง ก็สอดคล้องกับพิธีเปิด “การทดสอบภาคสนามจากผลงานโครงการวิจัยและพัฒนาแพล็ทฟอร์มแพ็คแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย” โดยมีความร่วมมือกัน ระหว่างทั้งทางหน่วยงานของรัฐ, หน่วยงานระดับมหาวิทยาลัย และ หน่วยงานภาคเอกชน เพื่อพัฒนาสิ่งประดิษฐ์แพ็คแบตเตอรี่ให้ยกระดับในการใช้งานมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าไปอีกขั้น โดยการแถลงข่าวและมีการทดสอบดังกล่าว จัดขึ้น ณ ลานจอดรถ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เมื่อช่วงวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา


ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม กล่าวว่า “สำหรับโครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะพัฒนาระบบแบตเตอรี่ที่จะใช้กับมอเตอร์ไซค์ที่เปลี่ยนระบบจากการชาร์จที่บ้าน ไปสู่การชาร์จที่อยู่ในระบบสถานี ซึ่งถ้าแบตเตอรี่ใกล้จะหมด ก็สามารถเข้าไปสู่สถานีชาร์จได้ และสามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้อย่างทันที แล้วก็เดินทางต่อไปได้ โดยมีเวลาเปลี่ยนที่ใช้เวลาน้อย และในปัจจุบันนี้ยังไม่มีมาตรฐานของสถานีและชนิดของแบตเตอรี่ที่ใช้ ดังนั้นมอเตอร์ไซค์แต่ละยี่ห้อ ก็มีการใช้แบตเตอรี่และการใช้ระบบการชาร์จที่แตกต่างกัน ซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากในการดำเนินงาน ประเทศไทยจึงได้มีการพัฒนาระบบและมาตรฐานในการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าครั้งนี้ ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์เอ็นเทค ร่วมกับมหาวิทยาลัยต่างๆเป็นจำนวนมาก โครงการลักษณะนี้จำเป็นจะต้องอาศัยในความร่วมมือกับผู้ประกอบการจริง ในอุตสาหกรรมทั้งหมด ซึ่งหน่วยงานต่างๆ ก็ได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

“และโครงการนี้เป็นที่น่าภูมิใจของระบบวิจัยและนวัตกรรมของประเทศไทย แสดงให้เห็นว่าความสำเร็จไม่สามารถจะเกิดขึ้นได้ หากดำเนินการเฉพาะการวิจัยและการพัฒนาเท่านั้น แต่จำเป็นจะต้องเชื่อมโยงไปสู่ผู้ผลิต ภาคเอกชนผู้ผลักดันนโยบาย ภาครัฐและผู้ใช้งาน ซึ่งจะทำให้เกิดการดำเนินงานอย่างสมดุลและเป็นไปตามเป้าหมายร่วมกัน โดยถือว่าเป็นการเริ่มต้นในการทดสอบการใช้งานจริง เพื่อที่จะใช้เวลาในการเก็บข้อมูลของสภาวะการใช้งานจริง ตามจุดสถานที่ชาร์จต่างๆ จากนั้นไปก็จะนำมาปรับปรุง การดำเนินงานต่างๆ และนำไปสู่มาตรฐานต่างๆของประเทศ และมาตรฐานของโลกต่อไป”


ดร. สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลได้ประกาศนโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียน โดยหนึ่งในนโยบายในการผลักดันดำเนินการวิจัยและพัฒนาชิ้นส่วนสำคัญ รวมถึงการสร้างความสามารถในการผลิต ที่เป็นมาตรฐานและมีคุณภาพของยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้เกิดการใช้งานอย่างกว้างขวางในประเทศ ซึ่งจะต้องตอบสนองในการใช้งานที่สะดวกคุ้มค่า และมีราคาที่เหมาะสม ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการดำเนินการวิจัย ในโครงการวิจัยและพัฒนาแพล็ทฟอร์มแบตเตอรี่มาตรฐาน แบบสับเปลี่ยน สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างทั้งหน่วยงานในภาครัฐและภาคเอกชน ทั้ง 9 หน่วยงานที่ได้มาร่วมมือกัน

“และจากการดำเนินการข้างต้นเป็นการพัฒนาแบตเตอรี่แบบสับเปลี่ยนได้ แบบมาตรฐานของประเทศไทย ที่จะใช้งานกับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าหลายรุ่น หลายยี่ห้อ และสามารถที่จะชาร์จกับหลายๆ สถานีด้วย อันจะทำให้เกิดความสะดวก และคุ้มค่าในการใช้งาน ลดภาระในการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงง่ายต่อการจัดการหลังจากที่แบตเตอรี่เสื่อมสภาพ และต้องขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่มาร่วมมือกัน มา ณ ที่นี้"

"ในการนี้ก็หวังว่าโครงการนี้จะเป็นการจุดประกายเล็กๆ ให้เกิดการขยายผล เกิดความร่วมมือกันระหว่างภาคการศึกษา ภาครัฐและภาคเอกชน ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมการผลิต และให้บริการยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ ที่มีมาตรฐานโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มจักรยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อที่จะสร้างความเข้มแข็ง และความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมในประเทศไทยต่อไป”


ดร. พิมพา ลิ้มทองกุล หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า สำหรับบทบาทแต่ละส่วนนั้นในทาง สวทช. และ 2 มหาวิทยาลัย จะดูในส่วนของทางด้านวิชาการเทคนิค ที่จะต้องจัดการในเรื่องของผู้ผลิตแบตเตอรี่ ผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์และผู้ให้บริการสถานีและระบบ ซึ่งสุดท้ายเราก็มีการต่อสู้กันในกระดานทำงาน แต่ถ้าอยู่ข้างนอกเราสามารถร่วมมือกัน ทำแพลตฟอร์มจนมีวันนี้ ส่วนในเรื่องการดำเนินงานวิจัยและรวบรวมข้อมูล เราทำการวิเคราะห์แพ็คแบตเตอรี่ และความเป็นไปได้ ระดมความคิดจากผู้ผลิตมอเตอร์ไซค์

และเรื่องของสถานี มีการทดลองออกแบบและระดมความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องเมื่อปีก่อน จากนั้นเราก็กำหนดคุณสมบัติในเรื่องของการใช้งานร่วม หลังจากนั้นก็มีการผลิตต้นแบบทดลองในการใช้งาน แล้วเราก็ให้ผู้ทดลองที่เป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมจริงๆมาลองผลิตด้วย โดยให้ไปทำรูปแบบต่างๆว่าทำอย่างไรบ้าง จนกระทั่งปัจจุบันนี้เราอยู่ในขั้นตอนทดลองการใช้งาน

ซึ่งจากการทดสอบ ณ ขณะนี้ มีการผ่านมาตรฐานของยานยนต์ไฟฟ้าในระดับยูเอ็นอาร์ 136 ระดับ มอก. ในระดับยานยนต์ไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว ตอนนี้เหลือแค่ขั้นตอน แล้วทางการพัฒนาและสร้างข้อเสนอแนะ เผื่อจะมีข้อคิดเห็นในเรื่องของการทดสอบ เพื่อจะมีมาตรฐานในการทดสอบที่ดีกว่านี้ และ ณ ตอนนี้ มีแค่ 9 หน่วยงานที่ร่วมมือกัน ซึ่งหากไปอยู่ในระดับที่วงกว้างก็จะมีทั้งข้อเสนอแนะว่าอะไรที่เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม อย่างในตอนนี้เราก็อยู่ในระดับที่มีการทดลองหลายครั้งแล้ว เราก็เลยให้ผู้ขับขี่มาทดสอบดู


"ส่วนในเรื่องของตลาดแบตเตอรี่นั้นว่ามีการใช้อย่างไร ทางทีมวิจัยก็มีการรีวิวเป็นจำนวน 200 แบบเลยว่า แรงดันของแต่ละประเทศเขาทำกันกี่แรงดัน มอเตอร์ไซค์ในแต่ละประเทศมีสัดส่วนแรงดันเป็นอย่างไร และในอาเซียนมีสัดส่วนที่แตกต่างจากที่อื่นหรือเปล่า ซึ่งเราก็ค้นพบว่ามีแรงดันที่เหมาะสมกับประเทศเรา อีกครั้งยังศึกษาในเรื่องว่าแพ็คแบตเตอรี่ มีการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่มีอะไรบ้าง มีการใช้แรงดันไฟฟ้า แบบไหน และพลังงานเป็นอย่างไรซึ่งเราก็ค้นพบว่า อยู่ที่ประมาณ 150 วัตต์ต่อชั่วโมง ต่อกิโลกรัม"

"ด้านข้อมูลอื่นๆ ซึ่งทางทีมวิจัย เอาข้อมูลมากางดูร่วมกับผู้ผลิตทุกภาคส่วน อีกทั้งเรามาดูข้อมูลมอเตอร์ไซค์ในเมืองไทยแล้วนำมาประกอบกับการผลิตแพ็คแบตเตอรี่ว่าควรใช้แบบไหน ทั้งในเรื่องแพล็ทฟอร์มว่าเราจะทำลักษณะอย่างไร ในเรื่องของกายภาพ เรื่องระบบควบคุมและเรื่องการสับเปลี่ยน และได้รับฟังความคิดเห็นจากผู้ประกอบการทั้งหลาย ซึ่งก็มีผู้สนใจลงทะเบียนกว่า 300 ราย และได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ"


สิริกานดา นวลแสง ตัวแทนจาก บริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด หนึ่งในหน่วยงานที่ร่วมดำเนินการ ได้อธิบายว่า “อย่างตัวลักษณะสถานี ก็เป็นตู้ที่สับเปลี่ยนแบตเตอรี่ ทางเราก็ได้ดีไซน์ออกมาเป็น 9 ช่อง ซึ่งแบตเตอรี่หนึ่งลูกจะมีความจุอยู่ที่ 74 โวลต์ 20 แอมป์ จะสามารถวิ่งได้ที่ประมาณ 50 กิโลเมตรต่อหนึ่งการชาร์จเต็ม 1 ลูก เพราะฉะนั้นในโครงการไม่ว่าจะอยู่ในยี่ห้อที่ทางเราได้ออกแบบร่วมกัน ก็สามารถมาแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ หรือตู้อื่นๆได้ ซึ่งรถมอเตอร์ไซค์ 1 คันก็มีแบตเตอรี่ 2 ลูก สูงสุดอยู่ที่ 100 กมต่อ 1 การชาร์จ”

“เราสำรวจจากกลุ่มผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ส่งของและวินมอเตอร์ไซค์ ซึ่งเฉลี่ยการใช้งานก็อย่างที่บอก และมีการแลกเปลี่ยนแบตเตอรี่ในบริเวณสถานีใกล้เคียง สำหรับโครงการนี้ ทางเราออกแบบเพื่อที่จะให้มีการกระจายตู้ชาร์จหลายๆ จุดในกรุงเทพฯ แต่ในเบื้องต้นก็จะมีจุดสับเปลี่ยนแบตเตอรี่อยู่ 3 จุด ในเครือข่ายที่สามารถทำงานได้”


“ซึ่งจากการเก็บข้อมูลทดสอบที่ผ่านมาพบว่า ในตัวแบตเตอรี่นั้นสามารถทำงานได้ดี และรถสามารถวิ่งได้เต็มประสิทธิภาพ และผลทดสอบในห้องแลปก็ถือว่าผ่านหมด ซึ่งทางเราก็อยากจะเก็บข้อมูลในเชิงที่ว่าให้พี่ๆ มอเตอร์ไซค์เหล่านี้ทำการวิ่งอย่างในประสิทธิภาพ และสามารถวิ่งข้ามไปถึงเขตที่มีสถานีตั้งอยู่ได้ อีกอย่าง เราจะดูประสิทธิภาพในท่ามกลางอากาศในบ้านเราด้วย ต้องมาดูด้วยว่าแบตเตอรี่ที่ใช้นั้นจะสามารถรองรับกับการใช้งานไหนบ้านเราได้หรือเปล่า”

“หลังจากที่โครงการนี้ได้เริ่มระยะแรกและได้มีการเก็บข้อมูลเบื้องต้น สิ่งที่เราคิดว่าน่าจะนำไปพัฒนาต่อเพื่อไปสู่วงกว้าง ก็น่าจะเป็นในเรื่องของน้ำหนักแบตเตอรี่ ซึ่งอาจจะมีแนวคิดว่าลดขนาดตัวแบตเตอรี่ให้เล็กลง เพื่อที่จะทำการออกแบบได้ง่ายขึ้น อีกอย่างด้วยความที่เป็นรูปแบบกลาง ส่วนนี้อาจจะให้ผู้ประกอบการหลายๆรายสามารถทำแอพลิเคชั่น เพื่อรองรับว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนแบตเตอรี่ส่วนไหนก็ได้ตรงนี้ก็จะต้องทำให้มันมีความเสถียร และมีความสากลมากขึ้น เพราะรถยานยนต์อีวีในหลายๆ เจ้าต่างก็มีแอพลิเคชั่นของตัวเองทางเราก็มีความคิดว่าจะทำเป็นแอปฯ กลาง เพื่อที่จะใช้งานตรงไหนก็ได้ และเพื่อที่จะให้ข้อมูลมากขึ้นในเซอร์เวอร์กลาง และมีความแม่นยำเสถียรในส่วนตรงนี้ เพราะแต่ละผู้ให้บริการต่างก็มีแอปพลิเคชั่นเป็นของตัวเองในปัจจุบัน ส่วนในเรื่องอื่นๆ อย่างเช่นเรื่องความร้อน ก็ไม่ได้เป็นปัญหาหลักในการพัฒนา”


ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และ นวัตกรรม กล่าวว่า “งานนี้เป็นตัวอย่างของความร่วมมือของภาคส่วนต่างๆ ที่หลากหลายและที่จำเป็นทั้ง รวมถึงหน่วยงานต่างๆ ที่มาร่วมมือกันแบบหลากหลายมาก แต่ว่าเรามาร่วมมือกันได้สำเร็จ ซึ่งผมได้มีโอกาสพูดคุยกับทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังในโครงการนี้ โดยภาพรวมแล้วมีความรู้สึกว่าทำความสำเร็จเช่นนี้ขึ้นมาแล้วมีความสุข ซึ่งเราก็จะได้เห็นอุตสาหกรรมรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ถือว่ามีอนาคตมาก

อย่างในบ้านเรามีการใช้มอเตอร์ไซค์เป็นจำนวนมาก แถมยังปลีกย่อยเป็นรูปแบบต่างๆ ทั้งวินมอเตอร์ไซค์และมอเตอร์ไซค์ส่งของ โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ผ่านมา มอเตอร์ไซค์ถือว่าเป็นพระเอกเลย แล้วก็การขยายจำนวนคนที่ใช้มอเตอร์ไซค์ และความต้องการมอเตอร์ไซค์นั้นยังไม่หยุดง่ายๆ แต่แน่นอนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นตามมาก็คือการเกิดมลพิษพอสมควร ซึ่งเราสามารถใช้แบตเตอรี่แทนการใช้น้ำมัน ก็จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า ซึ่งจะทำให้มีการแข่งขันได้กับนานาชาติ ซึ่งการเริ่มต้นนั้นถือว่าดีทีเดียวในประเทศต่อไปก็จะสามารถ ส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคอาเซียนได้

นอกจากนี้ เราก็มีความสามารถนั่นคือทำแพ็คแบตเตอรี่ได้ ที่สามารถใช้ได้กับหลายๆ ยี่ห้อ ก็จะทำให้อุตสาหกรรมรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ก็จะทำให้เกิดการแข่งขันสูงขึ้น เพราะมันเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้ แล้วก็ทำให้เกิดอุตสาหกรรมแลกเปลี่ยนกันอีก ก็จะทำให้อุตสาหกรรมในด้านแท็ปแบตเตอรี่ก็จะสูงขึ้นอีก ก็เรียกว่าสิ่งนี้คือตัวอย่างว่าเราจะเข้าสู่ประเทศที่พัฒนาแล้วได้อย่างไร การจะก้าวไปสู่อย่างที่ว่ามามันจะต้องมีการขายความรู้ขายวิชาการและขายเทคโนโลยี


"ในขณะเดียวกัน การจะเป็นประเทศที่ขายจากที่ว่ามาก่อนหน้านี้ ก็จะมีรายได้ที่สูงขึ้นด้วย มูลค่าก็อาจจะเพิ่มเป็นหมื่นหรือแสนล้านบาทได้ไม่ยาก ซึ่งถ้าให้เราขายผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรอย่างเดียวก็จะไม่ไหว อาจจะทำให้สิ่งแวดล้อมไม่ดีด้วย เพราะว่ามีการใช้น้ำใช้ดิน และป่าเยอะ นอกจากนั้นผลิตภาพก็ไม่สูง ราคาก็อาจจะแข่งสู้กับนานาชาติไม่ได้ รัฐบาลต้องคอยอุดหนุนปีละแสนกว่าล้านบาท หมายความว่าในแต่ละปีทางรัฐบาลจะไปอุดหนุนเงินให้กับชาวนาที่ทำเรื่องพืช 5-6 ดิน แต่สิ่งนี้เรานำเงินมา 27 ล้านบาท และบวกกับทางภาคเอกชนสมทบไปอีก รวมกันก็ประมาณ 30 ล้านบาท ใช้เวลาประมาณ 1 ปี 6 เดือน ทำการผลิตแบตเตอรี่ส่วนนี้ขึ้นมา ซึ่งก็มีการทดสอบปรากฏว่าผ่านแต่ก็ยังจะต้องทดสอบต่อไป ซึ่งผมเชื่อว่าจะทำให้เกิดอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาอีก 2-3 อย่าง"

“ผมก็ทราบมาจากคนที่ทำงานตรงส่วนนี้ว่า ทางอาเซียนมีความสนใจมาก อาจจะเป็นเพราะว่าทางเขาก็มีการใช้มอเตอร์ไซค์มากเช่นเดียวกับบ้านเรา แล้วก็ประสบกับปัญหาในเรื่องของคาร์บอนไดออกไซด์เยอะเหลือเกิน ผมเคยไปประเทศกัมพูชาและเวียดนาม แล้วพบว่ามีการใช้มอเตอร์ไซค์ที่เยอะเต็มไป เพราะฉะนั้น เรื่องนี้มันจะไม่ได้มีผลแค่ในเมืองไทยเท่านั้น แล้วส่วนตัวผมในฐานะที่เป็นรัฐบาลก็ยินดีพูดว่าจะส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมเหล่านี้ไปสู่ต่างประเทศหมดเลย” ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ กล่าวทิ้งท้าย


กำลังโหลดความคิดเห็น