xs
xsm
sm
md
lg

ยากเย็น..เปลี่ยนจากแพทย์แผนไทยมาเป็นแผนตะวันตก! โรงพยาบาลที่สร้างขึ้นในสมัย ร.๕-ร.๖!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



การแพทย์แผนไทยดูแลสุขภาพคนไทยมานานนับพันปี โดยยกย่องว่า หมอชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งพระเจ้าพิมพิสารแต่งตั้งให้เป็นหมอประจำพระองค์พระพุทธเจ้า เป็นต้นตำรับของวิชานี้ ทั้งท่านยังได้ช่วยเหลือผู้คนได้เป็นจำนวนมากโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ

ในสมัยกรุงสุโขทัย ศิลาจารึกของขอมระบุข้อความว่า ประมาณ พ.ศ.๑๗๒๕-๑๗๒๙ พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ทรงสร้าง “อโรคยาศาลา” ขึ้น ๑๐๒ แห่งในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ปัจจุบันเหลืออโรคยาศาลาที่ยังสมบูรณ์อยู่ที่กู่บ้านเขว้า จังหวัดมหาสารคาม

ส่วนศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงบันทึกไว้ว่า ทรงสร้างสวนสมุนไพรขนาดใหญ่บนเขาหลวง หรือเขาสรรพยา ปัจจุบันอยู่ในอำเภอคีรีมาศ จังหวัดสุโขทัย ให้ราษฎรนำไปใช้รักษาตนเอง

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ที่มีชาวตะวันตกเข้ามามาก แต่แพทย์แผนไทยกลับรุ่งเรือง มีการรวบรวมตำรับยาต่างๆขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่า “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” และมีแหล่งจำหน่ายยาสมุนไพรหลายแห่งทั้งในและนอกกำแพงเมือง บาทหลวงฝรั่งเศสได้ตั้งโรงพยาบาลรักษาโรคแพทย์แผนตะวันตกขึ้นด้วย แต่ไม่ได้รับความนิยมจนต้องเลิกกิจการไป

การแพทย์แผนตะวันตกเริ่มได้รับความสนใจในสมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อ “หมอบรัดเลย์” นายแพทย์แดน บีช บรัดเลย์ เปิดคลินิกแพทย์แผนตะวันตกขึ้น และมีการผ่าตัดเป็นครั้งแรก ทำให้คนไทยตื่นเต้นที่เห็นว่าคนเราสามารถตัดอวัยวะออกได้โดยไม่ตาย มีการใช้ยาเม็ดควินินรักษามาเลเรียหรือไข้จับสั่น จนมีการปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษขึ้น สมัยรัชกาลที่ ๔ ทรงนำการแพทย์แผนตะวันตกมาใช้มากขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถเปลี่ยนศรัทธาของคนไทยที่เชื่อมั่นในวิถีไทยได้มากนัก

ในสมัยรัชกาลที่ ๕ มีการจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราชขึ้นในปี ๒๔๓๐ เป็นโรงพยาบาลแพทย์แผนตะวันตกแห่งแรกของประเทศไทย แต่มีการรักษาตามแพทย์แผนไทยควบคู่ไปด้วย และเปิดการสอนแพทย์แผนไทยกับแพทย์แผนตะวันตกขึ้นในปี ๒๔๓๒ นอกจากนี้ หน่วยราชการบางหน่วยได้จัดตั้งโรงพยาบาลของตนขึ้น เช่น โรงพยาบาลของกรมกองตระเวน โรงพยาบาลของกรมทหารบก เป็นต้น รักษาข้าราชการในหน่วยของตนและประชาชนทั่วไป โดยใช้การรักษาตามแพทย์แผนตะวันตกควบแพทย์แผนไทยเช่นกัน

แม้โรงพยาบาลศิริราชจะไม่คิดค่ารักษา ค่ายา ค่าห้อง และค่าอาหาร แต่เปิดคอยอยู่หลายวันก็ไม่มีใครกล้ามา มีแต่เพียบหนักส่งไปที่ไหนไม่มีใครรับแล้วจึงหามมาให้ศิริราช พอมาถึงไม่ทันรักษาก็ตาย ทำให้โรงพยาบาลเป็นที่น่ากลัวเข้าไปอีก แม้จะไปต้อนขอทานที่แผลเต็มตัวแถวสะพานหันมารักษาก็ไม่ยอมมา กลัวว่าถ้าแผลหายแล้วจะหากินไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องไปขอพวกบ่าวไพร่ของขุนนางให้ไปรักษา ไปขอยา ความเชื่อจึงดีขึ้นตามลำดับ

ปัญหาต่อมาของโรงพยาบาลศิริราชก็คือ มีผู้ส่งคนป่วยโรคจิตไปรักษาอยู่เสมอ ซึ่งก่อปัญหาวุ่นวายให้อย่างมาก พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯให้สร้างโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาขึ้นที่ปากคลองสานในปี ๒๔๓๒ เพื่อรักษาผู้ป่วยโรคจิตโดยเฉพาะ

ในปี ๒๔๓๒ นี้ คอมมิตตีจัดการสร้างโรงพยาบาลยังจัดตั้งโรงพยาบาลขึ้นอีกแห่งที่ริมป้อมมหาไชย หน้าวังบูรพา มีชื่อว่า “บูรพาพยาบาล” แต่เปิดอยู่ไม่นานก็เลิกกิจการเพราะไม่ได้รับความนิยม

ผู้ป่วยอีกประเภทหนึ่งที่คนทั่วไปรังเกียจที่จะรักษาร่วมด้วย นอกจากคนโรคจิตแล้วยังมีหญิงโสเภณีด้วย พระยาเทเวศร์วงศ์วิวัฒน์ ผู้บัญชาการกรมสุขาภิบาล จึงจัดสร้างโรงพยาบาลสำหรับรักษาโสเภณีโดยเฉพาะขึ้นในปี ๒๔๔๑ เพื่อป้องกันโรคระบาด ที่หลังวัดพลับพลาไชย เรียกกันว่า “โรงพยาบาลหญิงหาเงิน” แต่สร้างเสร็จยังไม่ทันเปิดโรงพยาบาลกรมกองตระเวนของตำรวจซึ่งมีเตียงผู้ป่วยเพียง ๑๒ เตียงก็ขอเช่าเพื่อเป็นโรงพยาบาล

สำหรับพลตระเวน เพิ่มเตียงรับผู้ป่วยเป็น ๓๖ เตียง เปิดในปี ๒๔๔๓ มีชื่อว่า “โรงพยาบาลกรมกองตระเวน” นอกจากรักษาพลตระเวนและผู้ป่วยในคดีต่างๆแล้วยังมีประชาชนทั่วไปมารักษาด้วย ในปี ๒๔๕๘ จึงเปลี่ยนชื่อให้เหมาะสมว่า “โรงพยาบาลกลาง” รักษาโรคทั่วไป ปัจจุบันสังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร
ในปี ๒๔๔๕ มีโรงพยาบาลเกิดขึ้นอีกแห่ง คือ “โรงพยาบาลเทพศิรินทร์” ตรงข้ามวัดเทพศิรินทร์ โดยคอมมิตตีโรงพยาบาลนำวัสดุจากงานพระเมรุสมเด็จเจ้าฟ้าศิริราชกกุธภัณฑ์ที่เหลือจากสร้างโรงพยาบาลศิริราชมาสร้าง แต่เปิดได้ไม่นานกรมพยาบาล กระทรวงศึกษาธิการได้สร้างโรงพยาบาลสามเสนขึ้น จึงนำเครื่องมือแพทย์ทั้งหลายไปรวมกับโรงพยาบาลสามเสน ปิดกิจการในวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๔๔๕ เปิดเป็น “โอสถศาลา” ขายยาของรัฐบาลแทน ส่วนโรงพยาบาลสามเสนเปิดอยู่ไม่นานก็เลิกกิจการไปเช่นกัน

ยังมีโรงพยาบาลสำคัญที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๕ อีกโรงพยาบาลหนึ่ง แต่ไปอยู่ในหัวเมือง ก็คือ “โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา” จากการที่เจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสง-ชูโต) ซึ่งทำโรงลื่อยที่ศรีราชา ได้สร้างเรือนไม้ยื่นลงในทะเล ถวายเป็นพระตำหนักสำหรับสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ประทับพักผ่อนรักษาพระองค์ แต่ตำหนักเรือนไม้คับแคบและไม่มั่นคง ราว ๑ ปีต่อมาจึงทรงย้ายมาสร้างพระตำหนักใหม่ขึ้นมาบนฝั่ง ต่อมามีพระกระแสรับสั่งให้สร้างพระตำหนักใหญ่ ๓ ชั้นขึ้นหลังหนึ่ง และเรือนย่อมๆขึ้นอีก ๓ หลัง เพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้อาศัยยามเจ็บไข้ นั่นก็คือที่มาของ “โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา” ในปัจจุบัน ในสังกัดสภากาชาดไทยเช่นเดียวกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์กำเนิดขึ้นก็เนื่องมาจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชประสงค์จะให้จัดให้มีสภาอุณาโลมแดง แต่ไม่ทันได้ดำเนินการก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน จากนั้น ๑ เดือนต่อมาในวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน ๒๔๕๓ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบริจาคเงินส่วนพระองค์ ๕,๘๐๐ บาทเพื่อจัดตั้งโรงพยาบาลสภาอุณาโลมแดง และพระราชโอรสพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯทุกพระองค์พร้อมพระทัยร่วมสมทบด้วยอีก ๑๒๒,๙๑๐ บาท และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯพระราชทานเงินของสภาอุณาโลมแดงที่มีอยู่ทั้งหมด ๓๙๑,๒๕๙ บาท ๙๘ สตางค์เข้าสมทบเพิ่ม โปรดเกล้าฯให้จอมพลพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เสนาบดีกระทรวงกลาโหม รับหน้าที่สร้างโรงพยาบาลจนสำเร็จสมบูรณ์ นับเป็นโรงพยาบาลใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเปิดในวันที่ ๓๐ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๗ พระราชนามว่า “โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

พร้อมกับที่สร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรับซื้อ “บ้านหิมพานต์” ของพระยาสรรพการ (เชย อิศรภักดี) ย่านสามเสน ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ พระราชทานให้เป็นสถานที่พยาบาลผู้ป่วยไข้ พระราชทานนามว่า “วชิรพยาบาล” เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดในวันที่ ๒ มกราคม ๒๔๕๕ ปัจจุบัน “วชิรพยาบาล” สังกัดสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร

ตั้งแต่มีการก่อตั้งโรงพยาบาลแห่งแรกคือโรงพยาบาลศิริราชขึ้นนั้น ทุกโรงพยาบาลมีการรักษาและการเรียนการสอนควบคู่ไปทั้งแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนตะวันตก ต่อมาแพทย์แผนไทยก็ค่อยๆหายไปทั้งการรักษาและการเรียนการสอน แต่เป็นที่น่ายินดีที่ในรัชกาลที่ ๙ การแพทย์แผนไทยได้กลับมามามีบทบาทในการดูแลสุขภาพคนไทยอีก กระทรวงสาธารณสุขได้ส่งเสริมการใช้ยาจากสมุนไพรไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๗ (พ.ศ.๒๕๓๕-๒๕๓๙) ระบุให้ส่งเสริมการพัฒนาภูมิปัญญาการแพทย์พื้นบ้าน เช่น แพทย์แผนโบราณ สมุนไพร และการนวด จากนั้นก็บรรจุอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติทุกฉบับตลอดมาจนถึงปัจจุบัน สอดคล้องกับ “แนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ที่ทรงมีพระราชดำรัสไว้ว่า

“การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้นหมายความว่า อุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง”




กำลังโหลดความคิดเห็น