สำนักอนามัย กทม. เผยบทความ "ชุดสังฆทานยา เลือกอย่างไรให้ปลอดภัย" แนะควรเลือกซื้อยาสามัญประจําบ้าน ไม่ถวายยาในปริมาณมากเกินไป ตรวจสอบวันหมดอายุทุกครั้ง ไม่ควรถวายยาที่หมดอายุหรือใกล้หมดอายุ แนะส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุข นําไปกําจัดให้ถูกต้องตามมาตรฐาน
วันนี้ (27 พ.ค.) กลุ่มงานวิชาการและแผนงาน กองเภสัชกรรม สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ได้ออกบทความหัวข้อ "ชุดสังฆทานยา เลือกอย่างไรให้ปลอดภัย" ระบุว่า การถวายสังฆทานยาแก่พระสงฆ์ตามคติความเชื่อของชาวพุทธ จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง บรรเทาอาการ เจ็บป่วยได้ แต่สิ่งที่พุทธศาสนิกชนควรจะตระหนักคือ การเลือกยาเพื่อถวายเป็นสังฆทานแก่พระสงฆ์ ควรจะคํานึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก หากเลือกถวายยาไม่เหมาะสม แทนที่จะได้บุญตามความเชื่อ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อพระสงฆ์ที่ใช้ยาได้ หลักการเลือกยาเพื่อถวายเป็นสังฆทานเบื้องต้น มีดังนี้
1. ควรเลือกซื้อยาที่เป็นยาสามัญประจําบ้าน เนื่องจากเป็นยาที่มีความปลอดภัยสูง ประชาชนสามารถซื้อมาใช้ดูแลสุขภาพตนเองเบื้องต้นได้ โดยให้สังเกตที่ภาชนะบรรจุต้องมีคําว่า “ยาสามัญประจําบ้าน” ในกรอบสีเขียว ส่วนยาประเภทอื่นๆ เช่น ยาอันตราย ต้องให้แพทย์สั่งใช้ยา หรือให้เภสัชกรเป็นผู้ส่งมอบเท่านั้น เนื่องจากอาจเกิดอันตรายจากการใช้ยาได้ หากใช้ไม่ถูกวิธี หรือมีโรคประจําตัว ประวัติแพ้ยา
2. ไม่ถวายยาในปริมาณมากเกินไป เนื่องจากยาสามัญประจําบ้าน ใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยเท่านั้น หากใช้ยาระยะเวลาหนึ่งแล้วไม่หาย ควรไปพบแพทย์ เพื่อให้การรักษาที่เหมาะสม และการถวายยาจํานวนมากเกินไป อาจทําให้ยาอาจหมดอายุก่อนใช้
3. ตรวจสอบวันหมดอายุของยาทุกครั้ง และไม่ควรถวายยาที่หมดอายุ และใกล้หมดอายุให้พระสงฆ์ ทั้งยังควรสํารวจสภาพยาไม่ให้มียาเสื่อมสภาพ เช่น เม็ดยาแตก เม็ดยาเปลี่ยนสี ยาน้ำเกาะกลุ่มกันเป็นก้อน เขย่าแล้วไม่กระจายตัว เป็นต้น
ยาเหลือใช้ควรจัดการอย่างไร
1. สังเกตวันผลิต วันหมดอายุบนบรรจุภัณฑ์ ศึกษาเกี่ยวกับการคัดแยกประเภทยา การรวบรวมยาเหลือใช้ประเภทต่างๆ ก่อนส่งต่อยาเหลือใช้เพื่อนําไปกําจัด
2. รวบรวมยาเหลือใช้เก็บไว้ ณ จุดใดจุดหนึ่งที่ปิดมิดชิด อยู่สูงจากพื้น ห่างจากมือเด็กสามารถเอื้อมถึง อาจเก็บไว้ในภาชนะก่อนส่งต่อ
3. ส่งต่อให้เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นําไปกําจัดให้ถูกต้องตามมาตรฐาน หรือรวบรวมนําไปไว้ในบริเวณจุดศูนย์รวมยาเหลือใช้ในชุมชน หรือนํายาเหลือใช้ให้แก่สถานพยาบาล หรือโรงพยาบาลในวันนัดแพทย์ครั้งต่อไป
ข้อควรระวังในการจัดการยาเหลือใช้
1. ห้ามทําการส่งต่อยาเหลือใช้ให้แก่เพื่อนหรือผู้อื่นโดยเด็ดขาด เนื่องจากอาการป่วยของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน
2. ห้ามทิ้งยาเหลือใช้ลงในถังขยะทั่วไป หรือทิ้งในชักโครกหรือในระบบบําบัดน้ําเสีย หรือท่อระบายน้ำทิ้ง หรือแหล่งน้ำสาธารณะโดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนลงสู่สิ่งแวดล้อม
3. ยาเหลือใช้บางประเภทที่บรรจุในขวดอัดความดันสําหรับพ่นเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ เช่น ยาสูดพ่น ไม่ควรนํามาทิ้งรวมลงในขยะทั่วไป และห้ามเผาทําลายหรือเจาะตัวภาชนะบรรจุโดยเด็ดขาด เพราะอาจทําให้เกิดการระเบิด ก่อให้เกิดอันตรายทําให้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้
ศูนย์บริการสาธารณสุข สํานักอนามัย กรุงเทพมหานคร มีจุดบริการรับยาเหลือใช้ เพื่อรวบรวมยาเหลือใช้จากผู้รับบริการและประชาชนทั่วไปในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อส่งต่อยาเหลือใช้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนําไปกําจัดอย่างถูกต้องต่อไป