xs
xsm
sm
md
lg

เชื่อหรือไม่..ช้างเป็นสินค้าออกที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยา! ถึงกับไปตั้งสถานีขายในต่างประเทศ!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม ยนนาค



ช้างเป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาตลอดทั้งในยามสงครามและยามสงบ บาทหลวงตาชาร์ด ซึ่งเข้ามากับคณะทูตของฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้เขียนเล่าให้ชาวยุโรปฟังว่า ได้ไปดูโรงช้างรักษาพระองค์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้พระที่นั่งประทับ ต้องมีช้างเชือกหนึ่งผลัดเปลี่ยนกันมาเข้าเวร พร้อมเสมอเมื่อพระเจ้าแผ่นดินจะเสด็จทั้งกลางวันและกลางคืน
ก็เหมือนมีรถยนต์จอดอยู่ในสมัยนี้

การจับช้างป่ามาฝึกจึงเป็นงานความสำคัญอย่างหนึ่ง ในสมัยกรุงสุโขทัยมีกองคชบาลรับหน้าที่นี้แล้ว และพ่อขุนรามคำแหงก็ทรงออกคล้องเอง ดังมีข้อความในศิลาจารึกว่า

...กูไปตีหนังวังช้างได้ กูเอามาแก่พ่อกู กูไปท่บ้านท่เมืองได้ช้างได้ปั่ว ได้นาง ได้เงินได้ทอง กูเอามาเวนแก่พ่อกู ...

ในสมัยสุโขทัยช้างเป็นสินค้าอย่างหนึ่ง ค้าขายกันได้อย่างเสรี ดังข้อความในหลักศิลาจารึกว่า ...ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า... ซึ่งก็ค้ากันในวงแคบในฐานะเป็นสัตว์ใช้งานเช่นเดียวกับม้าวัวควายเท่านั้น แต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยเฉพาะตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระนเรศวรเป็นต้นมา บ้านเมืองว่างศึกไม่มีศัตรูกล้าเข้ามารุกราน การค้าขายจึงรุ่งเรือง พ่อค้าวาณิชรอบด้านต่างมุ่งมาค้า อีกทั้งเมืองมะริดและตะนาวศรี เมืองท่าสำคัญที่ตกเป็นของพม่าเมื่อครั้งเสียกรุง ทำให้สยามไม่มีเมืองท่าทางทะเลฝั่งตะพวันตก ได้กลับมาเป็นของไทยอีก จึงมีการขยายตลาดการค้าไปทางแถบนี้ และสินค้าส่งออกของสยามในย่านนี้ก็คือช้าง
แต่ที่น่าแปลกก็คือ ทุกประเทศในย่านนี้ต่างก็มีช้างกันทั้งนั้น อย่างอินเดียก็มีช้าง และที่ลังกาซึ่งอยู่ติดกันก็มีช้างมาก แต่อินเดียกลับเป็นผู้ซื้อช้างสยามรายใหญ่

 ทั้งนี้เพราะช้างสยามฉลาด ฝึกง่าย และมีขนาดใหญ่กว่าราวเกือบเท่าตัว อีกทั้งช้างที่ส่งออกของสยามยังเป็นช้างที่ผ่านการฝึกแล้ว สามารถรับคำสั่งของมนุษย์ได้ นำไปใช้งานได้ทันทีแล้ว ที่สำคัญยังสะดวกในการขนส่งด้วย หากเอาช้างป่าส่งไปและเกิดอาละวาดขึ้นกลางทาง โดยเฉพาะการขนส่งทางทะเล จะมีเรื่องใหญ่เกิดขึ้นแน่ ช้างที่ส่งไปถึงปลายทางจึงมีราคาสูงขึ้นอีก ๒-๓ เท่าตัว ช้างสยามมีราคาสูงเช่นเดียวกับกำยานและไม้กฤษณา
 
ฟรังซัว ตุรแปง นักเขียนฝรั่งเศส ได้เขียนถึงช้างไทยไว้ว่า

“...ช้างสยามเป็นช้างงามที่สุดในโลก เมื่อช้างนอนจะเอางวงใส่ปากแล้วยืนหลับ เพราะกลัวมดจะเข้าไปในงวง ช้างกินหญ้า กิ่งมะพร้าว ใบกล้วย งาช้างส่งไปขายถึงสุรัต (อินเดีย) และยุโรป มีการส่งตัวช้างลงเรือจากเมืองมะริดไปขายให้พ่อค้าจากฝั่งโคโรมังเดล และอาณาจักรโมกุล ปีละอย่างน้อยสิบเชือก ช้างรักลิงแต่เกลียดไก่ เห็นกันไม่ได้ต้องเหยียบไก่จนตาย ดังนั้นในเรือที่บรรทุกช้างจึงต้องระวังไม่ให้ไก่ออกจากกรง ช้างเกลียดเสือและจระเข้ พระเจ้าแผ่นดินสยามบางครั้งจัดให้ช้างสู้กับเสือหรือจระเข้ ซึ่งประชาชนนิยมมาชมกันมาก...”

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การค้าช้างเป็นรายได้สำคัญของแผ่นดิน คณะทูตอิหร่านที่เข้ามากรุงศรีอยุธยาบันทึกไว้ว่า
 
“...ช้างเป็นสินค้าออกสำคัญอย่างหนึ่งของสยาม ทุกปีพระมหากษัตริย์จะทรงจัดให้มีการคล้องช้าง โดยแต่ละครั้งจะจับได้ราว ๒๐๐-๔๐๐ ตัว...”

แต่การค้าช้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ค้าขายกันได้เสรีเหมือนสมัยสุโขทัย พระมหากษัตริย์ทรงผูกขาดการค้าช้างแต่ผู้เดียว เพื่อนำเงินเข้าพระคลังใช้ในการทะนุบำรุงประเทศ แต่ราษฎรยังได้รับอนุญาตให้จับช้างป่ามาใช้งานได้ โดยต้องแจ้งจำนวนต่อทางราชการ และยังสามารถนำช้างมาจ่ายเป็นค่าภาคหลวงแทนภาษีก็ได้

ฟรังซัว ตุรแปงยังเล่าไว้อีกว่า

...พระเจ้าแผ่นดินและบรรดาเจ้านายจับช้างได้เป็นจำนวนมาก จึงทรงเลือกช้างงามๆไว้ใช้งาน และส่งช้างที่เหลือไปเมืองมะริด เพื่อขายให้แก่พ่อค้าที่มาจากฝั่งโคโรแมนเดลที่นำผ้างามๆจากเบงกอล เมืองสุรัต และเปอร์เซียมาแลกเปลี่ยน เกือบทุกปีมีการขายช้างอย่างน้อยห้าสิบเชือก ทำให้พระราชอาณาจักรสยามมีผ้าทุกชนิดมากมาย ซึ่งนำมาจากทุกภูมิภาคในเอเชีย นี่แหละความร่ำรวยอันแท้จริงของสยาม ซึ่งอาศัยการค้าช้างและค้างาช้าง...
ชาติที่ทำการค้าช้างกับสยามมากที่สุดก็คืออินเดีย นอกจากจะนำช้างไปลากไม้ออกจากป่าเช่นเดียวกับที่ใช้ในสยามแล้ว ระยะนั้นยังมีสงครามศาสนายืดเยื้อในอินเดีย และใช้ช้างติดปืนใหญ่บนหลังอย่างที่สยามใช้ พ่อค้าอังกฤษระบุว่า พระเจ้ากรุงสยามได้ไปตั้งสถานีค้าช้างและดีบุกถึงเมืองบะละซอร์ในอินเดีย และบรรทุกช้างโดยเรือหลวงจากเมืองตะนาวศรีไปเปิดตลาดที่นั่น
การค้าช้างของไทยซบเซาลงชั่วขณะในปลายสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะเจ้าพระยาวิชเยนทร์ อัครมหาเสนาบดีฝรั่งได้กีดกันพ่อค้ามุสลิมเพื่อเปิดทางให้พ่อค้ายุโรป จนเกิดการต่อต้านจากบรรดาพ่อค้ามุสลิมถึงขั้นปะทะกันเกือบเป็นสงคราม ทำให้การค้ากับอินเดียและเมืองต่างๆในด้านนี้ชะงักลง แต่ก็กลับคืนมาได้ในสมัยพระเพทราชา เมื่อเจ้าพระยาฝรั่งถูกกำจัด

การค้าช้างของกรุงศรีอยุธยาสิ้นสุดลงเมื่อเสียกรุงครั้งที่ ๒ และกลับมาฟื้นอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ใช้เมืองตรังเป็นเมืองท่าแทนมะริดและตะนาวศรีที่ถูกพม่ายึดกลับไปอีก และการค้าช้างต้องยุติลงในสมัยรัชกาลที่ ๔ หลังจากการทำสนธิสัญญาเบาริง ทำให้การค้าแบบผูกขาดต้องยกเลิกไป จนกระทั่งปัจจุบันการค้าช้างและส่วนต่างๆของช้างไม่สามารถทำได้เลยตามกฎหมาย




กำลังโหลดความคิดเห็น