ในยุคที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานหลังการยึดอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ในกลางเดือนกันยายน ๒๔๗๖ มีข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับรายงานข่าวว่า นายถวัติ ฤทธิเดช ผู้ก่อตั้ง “สมาคมกรรมกรรถรางแห่งสยาม” และหนังสือพิมพ์ “กรรมกร” ได้ยื่นฟ้องพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในข้อหาหมิ่นประมาทตน โดยอาศัยช่องทางในกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับแรก ๒๗ มิถุนายน ๒๔๗๕ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖ ว่า
“กษัตริย์จะถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย”
นายถวัติจึงให้ ร้อยตำรวจตรีวาศ สุนทรจามร เป็นทนายความเขียนคำร้อง นำเรื่องไปยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายมังกร สามเสน เป็นผู้รับเรื่อง อ้างว่าใน “บันทึกพระบรมราชวินิจฉัยเค้าโครงเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐมนูธรรม” มีข้อความพาดพิงถึงผู้นำกรรมกรว่า
“การที่กรรมกรรถรางหยุดงานนั้น หาใช่เกิดการหยุดเพราะความเดือดร้อนจริงจังอันใดไม่ ที่เกิดเป็นดังนี้นั้นก็เพราะมีคนยุให้เกิดการหยุดงานขึ้น เพื่อจะเป็นโอกาสตั้งสมาคมคนงาน และตนจะได้เป็นหัวหน้า และได้รับเงินเดือนกินสบายไปเท่านั้น”
นายมังกรไม่ยอมรับเรื่องไว้ อ้างว่าทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ๑๐ ธันวาคม ๒๔๗๕ ที่กำลังใช้อยู่ มาตรา ๓ ระบุว่า
“องค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการ ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้”
แต่กระนั้นเรื่องนี้ก็เป็นข่าวเอิกเกริกไปทั้งเมือง สร้างความตระหนกตกใจให้คนไปทั่ว พระยาอุดมพงศ์เพ็ญสวัสดิ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รีบส่งหนังสือไปถึงพระยาพหลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรี ทันที มีข้อความว่า
“ด้วยมีหนังสือพิมพ์หลายฉบับลงข่าวเรื่อนายถวัติ ฤทธิเดช ฟ้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต่อสภาผู้แทนราษฎร ข้าพเจ้าเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เกิดขึ้นในบัดนี้ น่าจะเป็นทางเพาะภัยให้แก่พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดจนบ้านเมืองได้อย่างไม่เคยพบเห็น ระวางนี้ได้ให้กรมอัยการตรวจอยู่แล้ว ข้าพเจ้าขอโอกาสที่จะนำมากราบเรียนในวันนี้เวลาบ่าย”
เย็นวันนั้นจึงมีการประชุมสภาในญัตติด่วนของรัฐบาล แต่ไม่ทันจะได้เข้าเรื่องก็มีผู้เสนอให้เลื่อนการประชุมไป ๑ สัปดาห์ เพราะได้ทราบญัตติเมื่อบ่ายนี้เองอ่านไม่ทัน ที่ประชุมก็เห็นชอบด้วย โดยตกลงให้พิมพ์คำอธิบายมาตรา ๓ ของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่ให้ไว้เมื่อครั้งที่ทำร่างรัฐธรรมนูญเสนอต่อสภา มีข้อความว่า
“คำว่าผู้ใดจะละเมิดมิได้นี้ เราหมายว่าใครจะไปละเมิดฟ้องร้องว่ากล่าวไม่ได้ ถ้าอาจจะมีใครสงสัยว่าถ้าฟ้องท่านไม่ได้แล้วจะทำอย่างไรเมื่อมีใครได้รับความเสียหาย ประการหนึ่งเราต้องนึกว่าที่ว่าเป็นประมุขนั้น ตามแบบเรียกว่า รัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ศาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิจารณาตัดสินความในนามของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพราะฉะนั้นถ้าจะพูดถึงหลักกฎหมายในบางประเทศแล้ว ฟ้องร้องท่านไม่ได้ทั้งทางอาชญาและประทุษร้ายส่วนแพ่ง แต่มีว่าถ้าท่านต้องทรงรับผิดชอบในเรื่องเงินแล้ว ก็ฟ้องร้องได้ทางพระคลังข้างที่ และที่เขียนมานี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิและความเสียหายของราษฎรใดๆเลย”
ต่อมาในวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๔๗๖ กรมอัยการได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายถวัติ ฤทธิเดชกับพวกต่อศาลโปริสสภา ในข้อหา หมิ่นพระบรมเดชานุภาพและเป็นกบฏ
ในวันที่ ๑๑ ตุลาคมต่อมา ได้เกิด “กบฏบวรเดช” ยกกำลังมาประชิดกรุงเทพฯ และได้ยกเอากรณีนายถวัติฟ้องพระปกเกล้ามาเป็นข้ออ้างด้วย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯซึ่งประทับอยู่ที่พระราชวังไกลกังวล หัวหิน จึงทรงประทับเรือพระที่นั่งล่องลงไปที่สงขลา เพื่อให้ห่างไกลเรื่องวุ่นวายทางพระนคร ปรากฏว่านายถวัติ ฤทธิเดชได้ตามไปเฝ้าถึงสงขลา ขอพระราชทานอภัยโทษ ทรงมีพระราชดำริว่า นายถวัติเข้าใจผิดในเรื่องรัฐธรรมนูญเพราะเป็นของใหม่ มิได้มีเจตนาร้าย จึงมีพระราชประสงค์ที่จะไม่เอาโทษแก่นายถวัติและพวก ทรงรับการขอขมา
หนังสือพิมพ์ประชาชาติรายงานว่า นายถวัติเล่าว่า ทรงรับขอขมาโทษ และยังทรงแสดงพระราชอัธยาศัยมีพระราชปฏิสันถานกับนายถวัติเกือบ ๑ ชั่วโมง
“ผมมีความปลาบปลื้มในน้ำพระทัยของพระเจ้าอยู่หัวอย่างที่สุด ท่านทรงขอโทษราษฎรของท่านเช่นนั้น แสดงว่าท่านทรงเป็นสปอร์ตแมนเต็มที่ ผมได้ก้มลงกราบที่ฝ่าพระบาทของพระองค์ท่าน”
อย่างไรก็ตาม แม้นายถวัติจะได้รับพระราชทานอภัยโทษแล้ว รัฐบาลก็ยังไม่ยอมเลิกล้มการดำเนินคดีต่อไป ที่ประชุมลงความเห็นว่า ถ้าถอนฟ้องจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีและอาจเกิดความไม่สงบได้ หากศาลพิพากษาลงโทษแล้ว ก็พระราชทานอภัยโทษให้ก็ได้
เมื่อนายถวัติทราบเรื่องก็ทำหนังสือกราบบังคมทูลอีกว่า เมื่อทรงให้อภัยโทษเขาแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่อภัยโทษเรื่องคดี ทำให้ต้องทรงรับสั่งให้กระทรวงวังแจ้งเรื่องไปยังรัฐบาลพร้อมสำเนาหนังสือของนายถวัติ และมีพระราชกระแสว่า การจะถอนฟ้องหรือดำเนินคดีต่อไป เป็นเรื่องของรัฐบาล ไม่ใช่พระราชธุระ
ในที่สุดคณะรัฐมนตรีได้ประชุมในวันที่ ๙ มกราคม ๒๔๗๖ ตัดสินใจที่จะยุติเรื่องนี้ ด้วยการให้นายถวัติทำฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษอย่างเป็นทางการ เพื่อจะได้ลงพระปรมาภิไธยประกาศให้อภัยโทษก่อนคดีจะสิ้นสุด เป็นการปิดคดีเรื่องอื้อฉาวในประวัติศาสตร์
ที่พระราชทานอภัยโทษให้นายถวัติ ฤทธิเดช ก็เพราะทรงมีพระราชดำริว่า นายถวัติเข้าใจผิดในเรื่องรัฐธรรมนูญเพราะเป็นของใหม่ แต่ตอนนี้ข้อความนี้มีอยู่ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับมาเกือบจะ ๑๐๐ ปีแล้ว อย่าไปทำผิดซ้ำซากกันอีกล่ะ จะหาเหตุผลอภัยโทษกันไม่เจอ